นักธรรมศึกษาชั้นเอก เนื้อหาวิชาธรรม

นักธรรมศึกษาชั้นเอก  เนื้อหาวิชาธรรม 
บทนำ
ความลึกซึ้งแห่งธรรมระดับชั้นเอก
            การ ศึกษาวิชาธรรมในชั้นเถรภูมินี้ นักศึกษาส่วนมากมีความหนักใจอย่างยิ่งเพราะหลักสูตรได้บรรจุเนื้อหาสาระซึ่ง เป็นหลักวิชาไว้มาก และเรื่องที่จะต้องกำหนดจดจำก็มีมาก ข้อนี้ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปในหมู่นักศึกษา เมื่อเป็นเช่นนั้น นักศึกษาจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจโดยรู้จักเลือกเฟ้นข้อธรรมซึ่งมีเนื้อ ความสุขุมลึกซึ้ง ให้รู้อรรถ คือผล รู้ธรรมคือเหตุอย่างถูกต้องโดยตลอดว่า อย่างไหนเป็นสัทธรรมแท้ อย่างไหนเป็นสัท ธรรมปฏิรูป แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็ย่อมบรรลุผลอันเป็นสิ่งที่ประสงค์ได้โดยไม่ลำบากนัก เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้ก็จะชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม  ดังพระบาบีว่า อตฺตมญฺญาย ธมฺมญฺญาย ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน โหติ  รู้อรรถทั่วถึงแล้ว รู้ธรรมทั่วถึงแล้ว ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ดังนี้
ข้อควรจำ
ธรรมวิจารณ์ คือ การเลือกเฟ้นข้อธรรมโดยใช้โยนิโสมนสิการ พิจารณาสอดส่องให้ถ่องแท้ว่า ธรรมประเภทไหนเป็นสัทธรรมแท้ ธรรมประเภทไหนเป็นสัทธรรมปฏิรูปโดยหาหลักฐานมาประกอบอ้างอิง เพื่อให้ทราบว่า เรื่องนั้นท่านผู้กล่าวมีความมุ่งหมายอย่างไร กว้างแคบ ตื้นลึกแค่ไหนเพียงไร
            ในกัสสปสังยุต นิทานวรรค กล่าวไว้มีใจความว่า สัทธรรมปฏิรูป ยังไม่มีเพียงใด พระสัทธรรมก็ยังทรงอยู่เพียงนั้น เมื่อสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้น พระสัทธรรมย่อมอันตรธานไป โมฆบุรุษ คือคนเปล่าในพระศาสนานี้เอง เป็นผู้ยังพระสัทธรรมให้อันตรธาน
ธรรมส่วนปรมัตถปฏิปทา
            ธรรมวิจารณ์ส่วนปรมัตถปฏิปทา ท่านยกข้อธรรมที่เป็นกระทู้ตั้งไว้ ๖ ประการ คือ นิพพิทา๑ วิราคะ๑
วิมุตติ๑  วิสุทธิ๑  สันติ๑  นิพพาน๑
นิพพิทา ความหน่ายในสังขาร
            นิพพิทา  คือความหน่ายในเบญจขันธ์ซึ่งเกิดด้วยปัญญาโดยพิจารณาเห็นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายในทุกขขันธ์ ไม่มัวเมาเพลิดเพลินยึดมั่นหมกมุ่นอยู่ในสังขารอันยั่วยวนเสน่หา เพื่อให้สัตว์ทั้งหลายพ้นจากความทุกข์นี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสภาษิตบทหนึ่งว่า
เอถ  ปสฺสถิมํ  โลกํ          จิตฺตํ  ราชรถูปมํ
ยตฺถ  พาลา  วิสีทนฺติ        นตฺถิ  สงฺโค  วิชานตํ.
สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ อันตระการดุจราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่. (ธรรมบท หมวดโลกวรรค)
            ภาษิตนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกให้คนทั่วไปมองดูสิ่งวิจิตรพิสดารอันงดงามที่ถูกตบแต่งขึ้นโดยมนุษย์หรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของวิจิตรอย่างแท้จริง ที่เที่ยงแท้อยู่อย่างนั้นตลอดไป ย่อมเปลี่ยนแปลงไป หาสาระแก่นสารไม่ได้ แต่พวกคนผู้ที่ยังไม่รู้ความจริงหรือถึงรู้แล้วแต่สลัดกิเลสไม่ได้ ก็ยังหลงเพลิดเพลินอยู่ หลงไหลอยู่ ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งเหล่านั้นว่ามีแก่นสารสาระ
            โลกในความหมายที่พระพุทธเจ้า ตรัสเรียกให้คนมาดูนี้ มีความหมายอยู่ ๒ อย่าง คือ
            . โลก คือแผ่นดิน หรือพื้นโลกที่เราอาศัยอยู่ในขณะนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็นทวีปต่างๆ ๗ ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอนตาร์กติกา ถ้าจะแยกออกเป็นส่วนย่อยๆ ก็เป็นประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งพื้นดินนี้ด้วย รวมอยู่ในความหมายว่า แผ่นดินในความหมายที่หนึ่งนี้ทั้งหมด
            . โลก  คือหมู่สัตว์ผู้อาศัยอยู่บนพื้นดินนี้ทุกจำพวกที่มีบนผิวโลก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำก็ตามเช่น ปลา มด ปลวก ช้าง ม้า มนุษย์ เป็นต้น นับรวมอยู่ในความหมายว่า หมู่สัตว์ทั้งหมด
            พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชวนเราให้พิจารณาดูโลกนี้ อันมีความวิจิตรพิสดารสลับซับซ้อนสวยงามทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ ตบแต่งขึ้นมามีสีสรรสวยงามเพื่อชักชวนให้คนติด และลวดลาย ประดับประดาไปด้วยไฟแสงสี มีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ จึงทำให้มนุษย์หลงยึดติดอยู่ในรูปแบบนั้น เช่น ชอบเที่ยวตามสวนสนุก ตามภัตตาคาร ไนท์คลับ ตามสถานที่เริงรมย์ต่างๆ หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น เพลิดเพลินไปด้วยของที่ประสบนั้น แต่แท้จริงแล้ว สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นแก่นสาร พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกให้เรามาดูว่า ทุกอย่างนั้น มีความสวยงามเหมือนราชรถ ซึ่งพวกคนที่ไม่รู้ความจริง(เขลา) เท่านั้น ที่ยังหลงเพลิดเพลินอยู่ด้วยกิเลส อันเป็นไปตามอินทรีย์ ๖ ที่รับอารมณ์มา คือ
            ตา  ชอบการละเล่น การแสดง ชอบดูหนังภาพยนตร์ โทรทัศน์ วีดิโอ ไม่เป็นอันทำการงานอย่างอื่น หรือชอบท่องเที่ยวไปหาชมถิ่นต่างๆ จนเสียการเสียงาน
            หู  ก็ชอบฟังเพลง ฟังลำ เปิดวิทยุดังลั่นจนอาจจะนำไปเป็นข้อขัดแย้งกับคนข้างเคียงก็ได้
            จมูก  ก็เช่นเดียวกัน ชอบเที่ยวหาสูดดมแต่ของที่หอม สด แพงเท่าไรก็ไปหาซื้อมาใช้ ขวนขวายหามาใช้
            ลิ้น  ก็ชอบแต่ของดีๆ รสอร่อยๆ แพงเท่าไรก็ไม่ว่า หามา ซื้อมา เงินหามาโดยสุจริตไม่พอใช้ ก็ต้องหาด้วยทางทุจริตผิดศีล ค้ายาบ้า ยาอี ยาเค เฮโลอีน ฝิ่น กัญชา ค้าของเถื่อน เพื่อหาเงินมาบำรุงบำเรอตนเรื่องที่เกี่ยวกับปากกับลิ้นนี้ต้องระมัดระวังให้จงมาก มีแต่กินไม่รู้จักเลือกกิน(พิจารณาเสียก่อน) จะลำบาก อันจะก่อให้เกิดโรคต่างๆตามมา เช่น เป็นโรคขาดไวตามิน เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น
            กาย  ชอบแต่ให้เขาบีบเขานวดให้ เที่ยวออกไปในสถานที่อาบอบนวด ชอบของนุ่มๆ ที่นอนหมอนหนุน มีแต่นิ่มๆเลยทำให้เป็นโรคปวดกระดูก ปวดสันหลังกันอยู่บ่อยๆ  แต่ก็ยังหาซื้อมาใช้กันอยู่
            ใจ  เป็นส่วนสำคัญที่สุด ในกระบวนการที่เป็นอายตนะภายในและภายนอก ที่เป็นทางรับอารมณ์ทั้งหลาย ถ้าเราปล่อยใจไปในสิ่งที่พบประสบมา ก็จะทำให้เพลิดเพลินหลงไปตามสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นโลกสมมติ โลกสมัญญา ไม่พบทางแห่งพระนิพพานกลายเป็นคนเขลาที่หมกอยู่ในโลกอันไร้สาระนี้ต่อไป เพราะการปล่อยใจไปตามกิเลสเหล่านี้เป็นเหตุ
            ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสภาษิตอีกบทหนึ่งว่า
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา
ผู้ใดจักระวังรักษาจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร.
            การสำรวมจิต เพื่อให้พ้นจากบ่วงแห่งมารนี้ ท่านจำแนกวิธีการสำรวมออกเป็น ๓ วิธี คือ
            . สำรวมอินทรีย์ มิให้ความยินดีและความยินร้ายครอบงำในเมื่อเห็นรูป เป็นต้น
            . สำรวมด้วยการเจริญสมถกรรมฐาน  อันเป็นปฏิปักข์ต่อกามฉันทะ คือ อสุภะและกายคตาสติ หรือมรณัสสติ
            . สำรวมด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน  พิจารณาสังขารแยกออกเป็นขันธ์แล้วสันนิษฐานให้เห็นเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
            ในความหมายที่ว่า สำรวมแล้ว จิตก็จักหลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร บ่วงแห่งมารในที่นี้ ท่านหมายถึง วัตถุเป็นเหตุให้ปรารถนา(วัตถุกาม) ส่วนมารนั้น ท่านหมายเอากิเลสที่ทำให้จิตเศร้าหมอง(กิเลสกาม) ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ อิจฉา เป็นต้น
ปฏิปทาแห่งนิพพิทา
            หลักพิจารณาไตรลักษณ์เพื่อนำไปสู่ความหน่ายในทุกข์ อันเป็นหนทางไปสู่ความหมดจด คือ พระนิพพาน
            ตามที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกมหาชนมาดูโลกนี้ เพื่อให้เกิดความหน่าย คลายกำหนัด ดังในบทที่แล้วนั้น ยังไม่แจ่มแจ้งชัดเจนพอ ในบทนี้ท่านจำแนกหลักที่จะให้พิจารณาลงไปให้เห็นความจริงแท้ของของสรรพสิ่งทุกอย่างว่า เป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วได้มีความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด อันเป็นเหตุให้ดำเนินไปในทางที่ถูก คือความหลุดพ้นจากกิเลสาสวะต่อไป
            ข้อแห่งการใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นความจริงของสังขารนั้น ท่านจำแนกออกเป็น ๓ อย่าง คือ
            . สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา  สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
            ก่อนจะได้อธิบายถึงความไม่เที่ยงของสังขารทั้งปวง ก็ขอให้ทราบเป็นรายละเอียดเสียก่อนว่า อะไร หมายถึงสังขาร คำว่าสังขารในที่นี้ หมายถึงขันธ์ ๕ ทั้งหมด คือ
            รูป                    คือร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔
            เวทนา               คือการเสวยอารมณ์
            สัญญา               คือความรู้ความจำ
            สังขาร               คือการปรุงแต่งของจิตให้เกิดอารมณ์
            วิญญาณ คือความรู้แจ้งทางอายตนะ ๖
            คำว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง นี้ ท่านหมายถึงสิ่งประกอบกันขึ้นเป็นรูปร่าง สังขารอันเป็นสิ่งที่เป็นอุปาทินกสังขารและอนุปาทินกสังขารด้วย ซึ่งเป็นสังขตธรรมอันเป็นปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ซึ่งสิ่งนั้นมีการปรากฏเป็น ๓ ลักษณะ คือ มีการเกิดขึ้น(อุปาท) ตั้งอยู่(ฐิติ) ดับไป(ภังค)
            . สพฺพ สงฺขารา ทกฺขา  สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
            ความทุกข์นั้น  หมายถึง  สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ เพราะความขัดแย้งบีบคั้นด้วยการเกิดและการดับสลายไปตามเหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้น สังขารทุกอย่างที่ประกอบกันขึ้นแล้ว เมื่อสิ่งที่ประกอบนั้นขัดกัน ก็ส่งผลไปเป็นอนิจจัง คือการเปลี่ยนแปลงไป
            สังขารที่เป็นทุกข์นี้ ก็หมายเอาสิ่งที่เป็นสังขตธรรม อันประกอบด้วยอุปาทินกสังขาร และอนุปาทินกสังขารเหมือนกันกับอนิจจัง แต่ในทุกข์นี้ ท่านแยกออกเป็นทุกข์ต่างๆ ๑๐ ลักษณะดังนี้
            . สภาวทุกข์  ทุกข์ประจำสังขาร คือความเกิด ความแก่ ความตาย
            . ปกิณณกทุกข์  ทุกข์ที่จรมาเป็นบางขณะ คือ ความโศกเศร้า เสียใจ คับแค้นใจ
            . นิพัทธทุกข์  ทุกข์ประจำที่มีตลอด คือ หนาว ร้อน หิว ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ
            . พยาธิทุกข์  ความป่วยไข้
            . สันตาปทุกข์  ทุกข์ที่ใจเร่าร้อน กระวนกระวายไป เพราะถูกไฟคือกิเลส(ราคะ โทสะ โมหะ)แผดเผา
            . วิปากทุกข์  ผลของกรรมที่ทำให้เร่าร้อน เช่น ตกนรก ถูกลงโทษ
            . สหคตทุกข์  ทุกข์อันกำกับไปด้วยกัน
            . อาหารปริเยฏฐิทุกข์  ทุกข์เพราะการหาเลี้ยงชีพ เช่นหางานทำในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ(ฟองสบู่แตก) ถูกนายจ้างเลิกจ้าง หรือทำงานหนักตลอดทั้งวัน แต่ก็มีเงินไม่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต เป็นต้น
            . วิวาทมูลกทุกข์  ทุกข์เพราะความทะเลาะวิวาทกัน
            ๑๐. ทุกขขันธ์  คือทุกข์รวบยอด ได้แก่ อุปาทาน ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
            . สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา  ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
            ในข้อนี้ คำว่า ธรรม หมายถึงสิ่งที่เป็นสังขตธรรม และอสังขตธรรม รวมกัน เพราะสภาวะทุกอย่าง เมื่อแยกออกจากกันเป็นส่วนย่อยๆลงไปแล้ว ย่อมไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ที่คงอยู่ได้อย่างแยกกันไม่ออก เพราะทุกอย่างนั้น เกิดมีขึ้นมาได้เพราะอาศัยสิ่งต่างๆมารวมกัน ประกอบกันเข้า(ปฏิจจสมุปบาท) เมื่อปัจจัยต่างๆ แยกกันออกไป จึงหาสิ่งที่คงทนอยู่ไม่ได้ ดังนั้นทุกอย่างจึงเป็นอนัตตา
            สังขตธรรม ที่ท่านจัดเป็นอนัตตานี้ เพราะมีลักษณะที่จะพึงรู้ได้ด้วย ๕ วิธี คือ
            . ไม่อยู่ในอำนาจ  เช่นร่างกายของมนุษย์เรา ถ้าหากเป็นตัวตน(อัตตา)แล้วเราจะสามารถบังคับมันได้ แต่ตรงกันข้าม เราไม่สามารถบังคับได้เลย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวกฟัน หรือเป็นโรคต่างๆ เป็นต้น เราทำได้อย่างมากเพียงบำบัดความเจ็บปวดเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะมันเป็นอนัตตา จึงไม่อยู่ในอำนาจของเรา
            . ขัดแย้งต่ออัตตา  คือ เพราะเป็นอนัตตานั่นเองร่างกายเรา หรือวัตถุสิ่งของอย่างอื่น จึงไม่คงทนอยู่เป็นรูปร่างอย่างเดียวได้ตลอดไปชั่วนิรันดรได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปร่างอาการเป็นไปอย่างอื่นเสมอ เช่น เป็นเด็กแล้วเปลี่ยนมาเป็นหนุ่มๆสาวๆ แล้วกลายเป็นคนแก่เฒ่าชราและตายไปหาอัตตาที่คงทนอยู่ไม่ได้
            . หาเจ้าของที่แท้ไม่มี (เนตํ มม) ทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่ตัวเราเองนั่นแหละ เมื่อพูดโดยปรมัตถ์แล้ว ไม่มีใครเป็นเจ้าของๆตัวเราได้ เพราะเราไม่เคยบังคับมันได้เลย เมื่อหิวห้ามมันไม่ให้หิว เราก็ห้ามไม่ได้ ปวดหัว ปวดท้อง เป็นโรคต่างๆ ก็ตาม เราสั่งมันไม่ให้ปวดไม่ได้  มีแต่เราเท่านั้นที่คอยปรนนิบัติร่างกายนี้อยู่เสมอ เหมือนทาสผู้ซื่อสัตย์ คอยปรนนิบัติเจ้านายฉะนั้น
            . เป็นสภาพที่สูญหรือว่างเปล่า  สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เรามองเห็นอยู่นี้ หากแยกออกเป็นส่วนย่อยๆจากกลุ่มก้อน(ฆน) ที่มองแยกส่วนลงไปเรื่อยๆ จะหาสิ่งที่เป็นรูปร่างนั้นๆไม่พบเลย ร่างกายเรานี้ หากแยกธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ออกเป็นอย่างๆแล้ว ก็หาอะไรไม่พบ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นสูญ
            . เป็นไปตามเหตุปัจจัย  ไม่มีใครบังคับอะไรได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ


ข้อควรจำ
 
 


สัพเพ สังขารา อนิจจา                              สังขตธรรม ไม่เที่ยง
สัพเพ สังขารา ทุกขา                               สังขตธรรม เป็นทุกข์
สัพเพ ธัมมา อนัตตา                                สังขตธรรมและอสังขตธรรม เป็นอนัตตา
วิราคะ  ความสิ้นกำหนัด
            ความสิ้นกำหนัดราคะ หรือความหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา อันจะทำให้ติดข้องและอยู่กับการมารมณ์  ซึ่งเป็นมารและบ่วงแห่งมาร การถึงซึ่งความสิ้นกิเลสตัณหาที่เป็นวิราคะนี้ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ ก็คือการบรรลุถึงนิพพานนั่นเอง ทั้งนี้เพราะวิราคะ เป็นไวพจน์(คำแทนชื่อ หรือชื่อที่ใช้เรียกแทนกันได้) ของนิพพานหรือของอรหัตต ผล
            อย่างไรก็ตาม คำแทนชื่อ(ไวพจน์) ที่ใช้เรียกแทนวิราคะนั้น มีมากมายหลายชื่อ ซึ่งมีทั้งหมด ๘ ชื่อดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
            . มทนิมฺมทโน  ธรรมที่ยังความเมาให้สร่าง หมายถึงหมดความเย่อหยิ่งในชาติ วรรณะ ตระกูล ว่า ตนเองเลิศกว่าคนอื่น หรือหมดความมัวเมาเพราะยศตำแหน่ง หลงอำนาจไม่เพลิดเพลินไปตามวัย ตามความมั่งมีด้วยเครื่องอำนวยความเพลิดเพลิน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องสุขภัณฑ์อื่นๆ จนทำให้เสียการงาน เป็นต้น
            . ปิปาสวินโย  ความนำเสียซึ่งความกระหาย คือการหมดความกระหายที่เป็นไปด้วยเพราะอำนาจของตัณหา
            . อาลยสมุคฺคาโต  ความถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย คือการถอนอาลัย คือตัณหาได้อย่างเด็ดขาด เช่น ตัณหาที่อยากในกามคุณเป็นต้น
            . วฏฺฏูปจฺเฉโท  ความเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ คือการตัดขาดซึ่งการเวียนว่ายตายเกิดหรือวนเวียน เพราะอำนาจกิเลสกรรมและวิบาก เช่น เมือเกิดกิเลสขึ้น ย่อมให้ทำกรรมลงไป และก็จะได้รับผลกรรมนั้น และแล้วกิเลสก็กลับเกิดมีขึ้นมาอีก เป็นเหตุให้ทำกรรมและรับผลของกรรมนั้น หมุนเวียนอยู่อย่างนั้นตลอดไป จนกว่าจะตัดวัฏฏะได้
            . ตณฺหกฺขโย  ความสิ้นแห่งตัณหา ตัณหาในที่นี้ก็หมายเอาตัณหา ๓ อย่างคือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
            . วิราโค  ความสิ้นกำหนัด ปราศจากกามราคะหรือเป็นที่สิ้นไปแห่งราคะ วิราคะ นี้เป็นไวพจน์แห่งนิพพานเหมือนกัน
            . นิโรโธ  ความดับ คือการดับตัณหาได้สิ้นเชิง ปราศจากความทุกข์
            . นิพฺพานํ  ธรรมชาติหาเครื่องเสียดแทงมิได้ คือการดับกิเลสาวะและกองทุกข์ทั้งปวงได้เสียแล้ว เป็นโลกุตตรธรรม
วิมุตติ  ความหลุดพ้น
วิมุตติ  หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสาสวะที่ผูกมัดสัตว์ให้ติดอยู่ในสงสาร เวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไม่รู้จักหมดสิ้น การหลุดพ้นในที่นี้ หมายเอาการหลุดพ้นจากอาสวะ คือกิเลสที่หมักดองอยู่ในจิตใจ ทำให้จิตใจหลงซึมซาบไปตามอารมณ์ที่ประสบ อาสวะนั้นมีอยู่ ๓ อย่าง คือ
            . กามาสวะ  อาสวะคือกาม
            . ภวาสวะ  อาสวะคือภพ
            . อวิชชาสวะ  อาสวะคืออวิชชา
วิมุตติ ๒ ตามบาลี
            . เจโตวิมุตติ  ความหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งใจ เป็นปฏิปทาของพระอรหันต์ผู้สำเร็จอริยมรรคด้วยการบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนามาโดยลำดับ
            . ปัญญาวิมุตติ  ความหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งปัญญา เป็นปฏิปทาของพระอรหันต์ผู้สำเร็จอริยผล ด้วยการเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว
            อย่างไรก็ดี วิมุตตินี้ท่านยังจำแนกออกไปอีก ซึ่งเป็นได้ทั้งวิมุตติแบบปุถุชนคนธรรมดา และวิมุตติแบบพระอรหันต์ ซึ่งทั้งหมดมี ๕ อย่าง คือ
            . ตทังควิมุตติ  พ้นด้วยองค์นั้นๆ ได้แก่ พ้นจากกิเลสด้วยองค์ธรรมที่เป็นคู่ปรับตรงกันข้ามกับธรรมนั้นๆ เช่นเกิดความโกรธ ก็แก้ด้วยเมตตา เป็นต้น
            . วิกขัมภนวิมุตติ  พ้นด้วยการข่มไว้ ได้แก่ท่านผู้บำเพ็ญฌานสมาบัติใด เมื่อเข้าฌานก็สามารถข่มนิวรณ์ที่ทำให้จิตเศร้าหมองไว้ได้ ด้วยองค์แห่งฌานนั้น
            . สมุจเฉทวิมุตติ  พ้นได้เด็ดขาด คือดับกเลสได้อย่างสิ้นเชิงด้วยโลกุตตรมรรค
            . ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ  พ้นด้วยความสงบระงับ คือด้วยการที่โลกุตตรธรรมนั้นดับกิเลสได้โดยสิ้นเชิงไปแล้ว จึงทำให้บรรลุโสดาปัตติผล กิเลสเป็นอันดับไปหมด
            . นิสสรณวิมุตติ  พ้นด้วยการสลัดออก  ได้แก่ การดับกิเลสได้โดยสิ้นเชิงแล้ว เป็นการพ้นตลอดไป คือดำรงในพระนิพพาน เป็นโลกุตตรวิมุตติ
ข้อควรจำ
 
 


ตทังควิมุตติ                   
วิกขัมภนวิมุตติ                  เป็นโลกิยวิมุตติ           
สมุจเฉทวิมุตติ
ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ    เป็นโลกุตตรวิมุตติ
นิสสรณวิมุตติ
วิสุทธิ  ความหมดจด
            วิสุทธิ  ความบริสุทธิ์หรือความหมดจดด้วยการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ให้บริบูรณ์ ด้วยการบำเพ็ญโดยลำดับ จนได้บรรลุถึงพระนิพพาน ในที่นี้ยกตัวอย่างทางบริสุทธิ์มาไว้เพียง ๒ ทาง คือ
            . บริสุทธิ์ด้วยทางปัญญา (ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ)
            . บริสุทธิ์ด้วยทางปฏิบัติ (เอสะ มคฺโค วิสุทฺธิยา)
            การปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์หมดจดด้วยปัญญานั้น ท่านจัดขั้นตามลักษณะที่ใช้ปัญญาพิจารณา เป็นขั้นๆไปเป็น ๙ อย่าง(วิปัสสนาญาณ ๙) ดังนี้
            . อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ  ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดดับของขันธ์ ๕
            . ภังคานุปัสสนาญาณ  ปัญญาเห็นชัดเข้าไปอีกว่า สังขารทั้งปวงล้วนแต่จัต้องดับสลายไปหมด
            . ภยตูปัฏฐานญาณ  ปัญญาพิจารณาเห็นสังขารว่า เป็นของน่ากลัว
            . อาทีนวานุปัสสนาญาณ  ปัญญาเห็นโทษของสังขาร ที่ต้องแตกสลายไป เพราะความทุกข์
            . นิพพิทานุปัสสนาญาณ  ปัญญาเมื่อพิจารณาเห็นโทษแล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่าย
            . มุญจิตุกัมยตาญาณ  ปัญญาที่คำนึงถึงความใคร่ที่จะพ้นไปเสีย จากสังขารเหล่านี้
            . ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ  ปัญญาพิจารณาหาทาง กำหนดสังขาร เป็นไตรลักษณ์
            . สังขารุเปกขาญาณ  ปัญญาญาณที่มองโดยเป็นกลางต่อสังขาร ยึดเอาพระนิพพานเป็นที่สุด
            . สัจจานุโลมิกญาณ หรืออนุโลมญาณ  ปัญญาญาณที่หยั่งรู้ถึงอริยสัจ ๔ ไม่ยึดมั่นในสังขาร มีญาณอันมุ่งตรงไปสู่พระนิพพาน อันเป็นขั้นสุดท้าย แล้วสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลต่อไป
            ส่วนวิธีที่บริสุทธิ์ด้วยการปฏิบัตินั้น หนทางที่จะปฏิบัติตามได้เพื่อให้บรรลุอริยผล ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ
            . สัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ
            . สัมมาสังกัปปะ  ความดำหริชอบ
            . สัมมาวาจา  การเจรจาชอบ
            . สัมมากัมมันตะ  การงานชอบ
            . สัมมาอาชีวะ  การเลี้ยงชีวิตชอบ
            . สัมมาวายามะ  ความพยายามชอบ
            . สัมมาสติ  ความระลึกชอบ
            . สัมมาสมาธิ  ความตั่งใจมั่นชอบ
            ผลจากการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ประการนี้ หรือด้วยวิธีเจริญปัญญาตามแบบวิปัสสนาญาณ ๙ ที่กล่าวมาแล้วก็ตาม ผลที่สุดก็คือต้องการบรรลุถึงความบริสุทธิ์ สะอาดปราศจากกิเลสาสวะที่หมักหมมอยู่ในสันดานของตนทั้งนั้น ความบริสุทธิ์ที่บรรลุถึงพระอรหันต์แล้ว คงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง แต่เมื่อกำลังปฏิบัติเพื่อบรรลุอยู่ ท่านก็จำแนกความบริสุทธิ์ออกไว้เป็นขั้นๆของการปฏิบัติ ไปเป็นลำดับ จนได้บรรลุถึงพระนิพพานมี ๗ ขั้น คือ
            . สีลวิสุทธิ  ความหมดจดแห่งศีล
            . จิตตวิสุทธิ  ความหมดจดแห่งจิต
            . ทิฏฐิวิสุทธิ  ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
            . กังขาวิตรณวิสุทธิ  ความหมดจดขั้นที่กำจัดความสงสัยเสียได้
            . มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ  ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่า เป็นทางหรือมิใช่ทางที่จะตรัสรู้ได้
            . ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ  ความหมดจดแห่งญาณ อันรู้จักทางที่ควรดำเนินไป
            . ญาณทัสสนวิสุทธิ  ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ
มรรค ๘ เทียบกับวิสุทธิ ๗ ดังนี้
            - สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ  สงเคราะห์เข้าในสีลวิสุทธิ
            - สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ                    สงเคราะห์เข้าในจิตตตวิสุทธิ
            - สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ได้ในวิสุทธิ ๕ เป็นลำดับ โดยที่สัมมาสังกัปปะทำกิจพิจารณา สัมมาทิฏฐิ ทำกิจสันนิษฐาน
ข้อควรจำ
สีลวิสุทธิ                                                สีลสิกขา
จิตตวิสุทธิ                                              จิตตสิกขา
ทิฏฐิวิสุทธิ
กังขาวิตรณวิสุทธิ
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ                      ปัญญาสิกขา
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
ญาณทัสสนวิสุทธิ
สันติความสงบ
            สันติ  ความสงบหรือความบริสุทธิ์ที่เป็นทางจะทำให้ผู้มีสันติอยู่ในโลกอันวุ่นวายนี้ ด้วยความสงบสุข ระงับ ไม่วุ่นวายไปตามโลก ในบทนี้ท่านแบบการปฏิบัติไปสู่สันตินั้น เป็น ๓ ลักษณะด้วยกัน คือ
            . ทางไปสู่สันติ คือ สนฺติ มคฺเคว พฺรุหย  แปลว่า ท่านจงเพิ่มพูนทางสงบนั้นแล
            . วิธีการเข้าถึงสันติ คือ โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกโข  แปลว่า ผู้ต้องการความสงบพึงละโลกามิสเสีย
            . ผลแห่งสันติ คือ นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ  แปลว่าไม่มีสุขอื่นที่ประเสริฐกว่าความสงบ
            ทางที่จะนำไปสู่ความสงบนั้น ซึ่งมุ่งถึงความสงบภายนอกอันจะเป็นเหตุทำให้สังคมหรือเรากับผู้อื่น อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขร่มเย็น ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะความขัดแย้งกัน ท่านได้สอนวิธีการปฏิบัติต่อกันด้วยคุณธรรม ๖ ประการ คือ
            . ไม่เบียดเบียนกัน
            . ชักนำเพื่อความสามัคคี
            . ไม่ทะเลาะวิวาทกัน
            . กล่าวแต่ถ้อยคำสุภาพ
            . มีจิตเมตตากรุณา
            . ทำจิตให้ผ่องใส
            เมื่อว่าถึงความสันติภายในแล้ว ก็เป็นเรื่อง ที่เกี่ยวกับจิตใจ  ถ้าหากจิตใจมีความสงบไม่คิดฟุ้งซ่านไปตามอำนาจแห่งกิเลส ก็จัดเป็นความสุขภายใน การจะบังคับจิตให้ไปสู่สันติภายในได้นั้น ก็คือพึงละอามิสในโลกเสีย
            อามิสที่พูดถึงนี้ หมายถึง กามคุณ ๕ ประการ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ถ้าหากมีจิตยินดีเพลิดเพลินไปตามกามคุณนั้นอยู่ ชอบเที่ยวตามคลับตามบาร์ ฟังเพลงเที่ยวเริงรมย์ต่างๆไม่ขาด ย่อมทำให้จิตใจพัวพันอยู่ด้วยกามคุณ มีจิตยินดีเมื่อได้ เสียใจเศร้าโศกเมื่อเสียไป ร่ำไห้คร่ำครวญเมื่อของรักจากไป เมื่อเป็นเช่นนี้ใจย่อมไม่สงบ เพื่อจะให้ถึงซึ่งสันติสุขภายใน ท่านจึงสอนให้ละโลกามิสเหล่านี้เสีย เมื่อละได้แล้วใจย่อมสงบเป็นเหตุทำให้บรรลุถึงสันติหรือนิพพานอันเป็นบรมสุขต่อไปได้
            ในสันติข้อสุดท้ายนี้ มีความหมายเท่ากันกับนิพพาน คือ หมายถึงการดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นบรมสุขเช่นกัน
            สันติตามที่อธิบายมาทั้ง ๓ ลักษณะนี้ เป็นได้ทั้งส่วนที่เป็นโลกิยะ และโลกุตตระตามแต่ขั้นตอนของสันติ ที่จะละบาปธรรมได้มากน้อยกว่ากันเพียงนิด
นิพพาน  การดับกิเลสและกองทุกข์
พระนิพพาน  เป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา คือการดับกิเลสตัณหาให้สิ้นเชิง ไร้ทุกข์เป็นบรมสุข เพราะพระพุทธศาสนา ไม่ได้นับถือพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นนอกเหนือจากตนเอง ไม่ถือว่าความสุขจะได้มาจากเทพเจ้าหรือเทวดาประทานให้ แต่กลับมองเห็นว่า สงสาร การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไปเช่นนี้เป็นความทุกข์ การพ้นไปจากความทุกข์ คือการละกิเลสาสวะให้หมดไป เพื่อบรรลุพระนิพพาน เพราะการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ต้องปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น จะพึ่งคนอื่นในการทำให้ตนเองบรรลุถึงความพ้นทุกข์ไม่ได้
พระนิพพานในที่นี้ ท่านแยกออกเป็น ๓ ลักษณะ คือ
. ภาวะของนิพพาน คือภาษิตที่ว่า  นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา  พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสนิพพานว่าเป็นยอด
. วิธีการเข้าสู่พระนิพพาน มีภาษิตว่า นิพฺพานคมนํ มคฺคํ ขิปฺปเมว วฺโสธเย  พึงรีบชำระหนทางไปสู่พระนิพพานโดยเร็ว
. ผลแห่งพระนิพพาน มีภาษิตว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ  พระนิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง
ความหมายของแต่ละลักษณะ ดังมีรายละเอียดจะอธิบายเป็นลำดับดังนี้
ภาวะของนิพพาน
            นิพพานเป็นชื่อของความสุขขั้นปรมัตถ์ ซึ่งได้จากการที่ดับกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว ไม่มีอาสวะหมักดองอยู่ในจิตใจ เป็นกานสิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิด พระนิพพานนี้จะปรากฏขึ้นต่อเมื่ออวิชชา ตัณหา อุปาทานดับไป มนุษย์ปุถุชนทุกคน ย่อมถูกอวิชชา ตัณหา อุปาทานเหล่านี้ครอบงำจิตใจอยู่ตลอดเวลา ปิดบังปัญญาไว้ เป็นตัวชักใยนำเอากิเลสต่างๆให้ไหลเข้าสู่จิตใจ ทำให้ใจวุ่นวายขุ่นหมองไปตามกิเลสที่เข้ามานั้น บางครั้งก็ยินดีเพลิดเพลิน บางครั้งก็เศร้าโศก เมื่อใดที่อวิชชา ตัณหา และอุปาทานดับไป เมื่อนั้นปัญญาจึงจะเกิด วิชชาจึงจะเกิด ทำให้จิตใจผ่องใสสะอาดสงบ ละเอียดอ่อน ประณีต แจ่มใส
            อย่างไรก็ตาม พระนิพพานนี้ จะมีลักษณะเป็นอย่างไรแน่ เราปุถุชนก็เพียงแต่คาดคะเนเอาหรือรู้ตามที่ท่านสอนต่อๆกันมา ผู้ที่จะรู้นิพพานได้ดีที่สุดก็คือ ผู้บรรลุถึงนิพพานเอง จะรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง เพราะพระนิพพานเป็นธรรมที่ประณีตมาก ยากที่ปุถุชนซึ่งหนาไปด้วยกิเลสจะรู้ตามได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าเมื่อทรงตรัสรู้แรกๆ จึงท้อแท้ใจในการประกาศธรรม เพราะทรงดำริเห็นว่า ธรรมที่พระองค์ได้บรรลุแล้วนั้นเป็นธรรมอันลึกซึ้ง รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่งลงสู่ตรรก(ไม่อยู่ในวิสัยของวิชาตรรกศาสตร์) ละเอียดอ่อน เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง
            นิพพานนี้ เมื่อว่าโดยประเภทแล้ว ท่านจำแนกออกเป็น ๒ ประเภท คือ
            . สอุปาทิเสสนิพพาน  ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์(ขันธ์๕) เหลือ หรือพระนิพพานของพระอรหันต์ ในเวลาที่เสวยอารมณ์ต่างๆทั้งสุขและทุกข์ทางอินทรีย์ ๕ แต่การรับอารมณ์หรือเสวยอารมณ์ของจิตพระอรหันต์นี้ ไม่มีราคะ โทสะ และโมหะ ไปตามอารมณ์นั้น เป็นการเสวยอารมณ์ด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งเป็นอิสระ หรือจะอธิบายความว่า สอุปาทิเสสนิพพาน นี้ได้แก่ภาวะจิตของพระอรหันต์ ซึ่งปลอดโปร่งเป็นอิสระ ไม่ถูกปรุงแต่งบังคับด้วยราคะ โทสะ โมหะ ทำให้พระอรหันต์นั้นผู้มีอินทรีย์สำหรับรับรู้อารมณ์ต่างๆบริบูรณ์ดีอยู่ตามปกติ เสวยอารมณ์ทั้งหลายด้วยจิตอิสระด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันตามธรรมชาติของมัน การเสวยอารมณ์หรือเวทนานั่น ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือชักจูงได้ จึงไม่ทำให้เกิดตัณหาทั้งในทางยินดี ยินร้าย ชอบหรือชัง ติดใจหรือขัดใจ พูดอีกอย่างว่า ไม่มีตัณหาที่ปรุงแต่งภพหรือนำไปสู่ภพ
            . อนุปาทิเสสนิพพาน  ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือหรือนิพพานของพระอรหันต์ที่พ้นจากการเสวยอารมณ์ด้วยอินทรีย์ ๕ หรือเป็นภาวะของพระนิพพานล้วนๆที่พระอรหันต์ประสบในเมื่อการสิ้นสุดการรับอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ แล้ว หรือหลังจากที่พระอรหันต์ตายแล้วนั่นเอง
มรรควิถีเข้าสู่นิพพาน
            การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุพระนิพพานนั้น มีหลายอย่างตามที่นักเรียนได้เรียนมาแล้ว เช่นปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ การประกอบความเพียรโดยไม่ประมาท, การทำสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน, การละอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน, การละสังโยชน์ และอีกหลายอย่าง หลายชื่อ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็ล้วนแต่เป็นหนทางไปสู่พระนิพพานเหมือนกันทั้งนั้น เหมือนประเทศไทย หนทางที่จะมุ่งตรงมายังกรุงเทพฯนั้น ก็มีหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ, อีสาน, ใต้ ก็มีหนทางเหมือนกันทั้งทางบกทางน้ำทางอากาศ แล้วแต่คนจะสมัครใจมาทางไหน ทางไปสู่นิพานก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นตามประวัติพระอริยสาวกในอดีตที่บรรลุพระอรหันต์ จึงมักจะไม่เหมือนกัน บางท่านบรรลุเพราะใช้สมถะและวิปัสสนา,บางท่านบรรลุเพราะความสังเวชสลดใจ,บางท่านบรรลุเพราะฟังธรรม เป็นต้น
            ในที่นี้จะแสดงทางเข้าสู่พระนิพพานด้วยมรรคมีองค์ ๘ ประการ มรรคมีองค์ ๘ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง อันเป็นอริยสัจข้อสุดท้าย คือ มรรค ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ประมวลเอาคำสอนภาคปฏิบัติ อันจะช่วยให้ดำเนินไปสู่จุดหมายสูงสุด  คือพระนิพานได้ง่ายขึ้น
            มรรคมีองค์ ๘ นี้ท่านเรียกว่า มรรค ๘ เลย อาจจะทำให้เข้าใจกันผิดไปว่า ทาง ๘ สาย ที่ถูกคือทางสายเดียวกัน แต่ทีองค์ประกอบอยู่ด้วยกัน ๘ อย่าง เหมือนกับตาข่ายหรือแห หรือสวิง มันจะเป็นตาข่าย หรือสวิงได้ ก็เพราะมีด้ายหลายเส้นมาผูกต่อร้อยรัดรึงกันไว้ จึงได้ชื่อว่า ตาข่าย เป็นต้นได้ มรรคมีองค์ ๘ นี้ก็เช่นเดียวกัน มีองค์ธรรม ๘ อย่างนี้อาศัยเกาะกันเป็นทางเดียวกัน จึงเรียกว่ามรรค ซึ่งเรียกชื่อเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือ อริยอัษฏางคิกมรรค  แปลว่า ทางที่มีองค์ประกอบอันประเสริฐ ๘ อย่าง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบ
องค์ประกอบ ๘ ประการของมรรคนั้น มีดังนี้
สัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ
            สัมมาทิฏฐิ มีองค์ธรรม ๔ ประการ คือ
            . การเข้าใจความทุกข์
            . การเข้าใจเหตุเกิดแห่งทุกข์
            . การเข้าใจความดับแห่งทุกข์
            . การรู้จักหนทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์
            สัมมาทิฏฐินี้ แยกออกเป็น ๒ อย่าง คือ
            . โลกิยสัมมาทิฏฐิ  คือความเห็นว่า ทานและการบูชาไม่เป็นของที่ไร้ผล กรรมดีกรรมชั่วก็มีผล มีวิบาก โลกนี้และโลกหน้ามีอยู่ มารดาบิดามีคุณ สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมีอยู่ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ดำเนินในทางที่ถูกแล้วประกาศโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งท่านได้เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วแก่ชาวโลกยังมีอยู่
            . โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ  คือปัญญาที่แทงตลอด พรั่งพร้อมไปด้วยมรรค มีจิตไกลจากข้าศึกกิเลส ไม่มีอาสวะ พรั่งพร้อมไปด้วยอริยมรรค เป็นองค์แห่งมรรค
สัมมาสังกัปปะ  ความดำริชอบ
            สัมมาสังกัปปะนี้มีองค์ธรรม ๓ ประการ คือ
. ความดำริออกจากกาม
. ความดำริในความไม่พยาบาท
. ความดำริในความไม่เบียดเบียน
            สัมมาสังกัปปะนี้ แยกออกเป็น ๒ อย่าง คือ
            . โลกิยสัมมาสังกัปปะ  คือ ความดำริออกจากกาม ออกจากพยาบาท และออกจากการเบียดเบียน ซึ่งเป็นส่วนแห่งบุญ นำวิบากผลอันดีงามมาให้
            . โลกุตตรสัมมาสังกัปปะ  คือ สิ่งที่เป็นความตรึกตรอง การใคร่ครวญ ความดำริการพินิจ การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ จิตที่เป็นอริยะ เหินห่างจากโลกและเกิดร่วมกับอริยมรรค ดำเนินตามอริยมรรค วจีสังขารเหล่านี้ เรียกว่า โลกุตตรสัมมาสังกัปปะ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยงในโลก แต่เป็นของที่พ้นจากโลกและเป็นองค์แห่งมรรค
สัมมาวาจา  การเจรจาชอบ
สัมมาวาจานี้ มีองค์ธรรม ๔ ประการ คือ
. การเว้นจากการพูดเท็จ
. การเว้นจากการพูดส่อเสียด
. การเว้นจากการพูดคำหยาบ
. การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ  คือพูดถูกกาลถูกสมัย พูดตามความจริง พูดคำที่มีประโยชน์ พูดถูกธรรมถูกวินัย คำพูดของเขาเป็นประดุจขุมทรัพย์ พูดในขณะที่สมควร พรั่งพร้อมไปด้วยเหตุผล พอเหมาะพอควร และมีความหมาย
สัมมาวาจานี้ แยกออกเป็น ๒ อย่าง คือ
. โลกิยสัมมาวาจา  คือการงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ อัน ได้แก่ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด ยุให้เขาแตกกัน เว้นจากคำพูดคำหยาบ และเว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหล่านี้
. โลกุตตรสัมมาวาจา  คือ เป็นความรังเกียจต่อการพูดมิจฉาวาจา ๔ อย่างนั้นแล้ว การละ การงด การมีเจตนายับยั้งจากวจีทุจริต ๔ นั้น มีจิตเป็นอริยะ หาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค และดำเนินตามอริยมรรค
สัมมากัมมันตะ  การงานชอบ
            สัมมากัมมันตะนี้ มีองค์ธรรม ๓ ประการ คือ
            . การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
            . การงดเว้นจากการขโมย
            . การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
            สัมมากัมมันตะนี้ ยังแบ่งเป็นอีก ๒ ประการ คือ
            . โลกิยสัมมากัมมันตะ  คือการเว้นจากการประพฤติเป็นกายทุจริต ๓ อย่างที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งอันเป็นผลและนำวิบากผลอันดีมาให้อย่างโลกๆ
            . โลกุตตรสัมมากัมมันตะ  คือการละทุจริต ๓ อย่างนั้นแล้ว ยับยั้งไม่กระทำ มีใจเป็นอริยะ เหินห่างจากโลก และพรั่งพร้อมไปด้วยมรรค ดำเนินตามอริยมรรค นี้แลเป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค
สัมมาอาชีวะ  อาชีพที่ชอบธรรม
สัมมาอาชีวะนี้ มีองค์ธรรม ๒ ประการ คือ
. เว้นจากวิชาการหาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด เช่น การหลอกลวง หักหลังกัน คดโกง ทุจริตคอรัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น
. หาเลี้ยงชีพในทางถูกต้อง เช่น ไม่คดโกงหลอกลวง ไม่ทุจริตคอรัปชั่น ไม่ค้าของผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมอันดีของมนุษย์เป็นต้น
สัมมาอาชีวะนี้ ยังแบ่งเป็นอีก ๒ อย่าง คือ
. โลกิยสัมมาอาชีวะ  คืออริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ เช่นนี้ เป็นวิธีดำเนินการเลี้ยงชีพแบบโลกๆ จะทำให้เกิดผลวิบากที่ดี
. โลกุตตรสัมมาอชีวะ  คือการงดเว้นและยับยั้งจากการกระทำ เช่น มีใจเป็นอริยะ เหินห่างจากโลก มีจอตปราศจากอาสวะพรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค ดำเนินตามอริยมรรค เช่นนี้เป็นการพ้นจากโลกและสัมปยุตด้วยมรรค
สัมมาวายามะ  ความพยายามชอบ
            สัมมาวายามะ มีองค์ธรรม ๔ ประการ คือ
            . สังวรปธาน  คือพระอริยสาวกเกิดความพอใจเพื่อระวังการเกิดขึ้นแห่งบาปธรรม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น หมายความว่า เมื่อพระอริยสาวก เห็นรูป หรือได้ฟังเสียง เป็นต้น แล้วระวังไม่ให้ยินดียินร้ายไปตาม คุ้มครองอินทรีย์สำรวมอินทรีย์ไว้ได้
            . ปหานปธาน  คือพระอริยสาวก เกิดฉันทะเพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น ท่านย่อมละ ย่อมขับไล่ หรือทำลายและกำจัดอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้อันตรธานไปได้
            . ภาวนาปธาน คือพยายามยังกุศลธรรมอันดีที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น มีความเพียรพยายามประคับประคองตั้งจิตไว้ พยายามเจริญองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ กล่าวคือสติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา เป็นต้น
            . อนุรักขนาปธาน  คือ เพียรพยายามเพื่อรักษากุศลธรรมทีเกิดขึ้นแล้วเอาไว้ไม่ให้กุศลธรรมเหล่านั้นสูญไป แต่ทำให้กุศลธรรมเหล่านั้นเจริญ ทำให้แก่กล้า ให้เจริญยิ่งไพบูลย์ เต็มเปี่ยมอยู่เสมอ เช่น รักษาสมาธิที่เจริญได้ ไม่ให้เสื่อม เป็นต้น
            สัมมาวายามะนี้ สามารถเกิดขึ้นร่วมกับมรรคมีองค์ ๘ ได้ทุกหัวข้อ
สัมมาสติ  ความระลึกชอบ
สัมมาสติ มีองค์ธรรม ๔ ประการ หรือที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง คือ
            . กายานุปัสสนา  การพิจารณากายให้รู้เท่าทันอาการของกาย
            . เวทนานุปัสสนา  การพิจารณาให้รู้เท่าทันเวทนา
            . จิตตานุปัสสนา  การพิจารณาให้รู้เท่าทันจิต
            . ธัมมานุปัสสนา  การพิจารณาให้รู้เท่าธรรม
            สัมมาสตินี้ ก็เกิดร่วมกับมรรคมีองค์ ๘ ข้ออื่นได้ทุกข้อ
สติปัฏฐาน ๔ สัมพันธ์กับขันธ์ ๕ ดังนี้
. กายานุปัสสนา                                                รูปขันธ์
. เวทนานุปัสสนา                                             เวทนาขันธ์
. จิตตานุปัสสนา                                               วิญญาณขันธ์
. ธัมมานุปัสสนา                                              สัญญาขันธ์และสังขารขันธ์
สัมมาสมาธิ  ความตั้งใจมั่นชอบ
            สัมมาสมาธินี้เป็นองค์ สุดท้าย และเป็นข้อที่มีเนื้อหาสำหรับศึกษามาก เพราะเป็นเรื่องของกาฝึกอบรมในขั้นลึกซึ้ง เป็นเรื่องละเอียดประณีต ทั้งในแง่ที่เป็นเรื่องของจิต และในแง่ปฏิบัติ ซึ่งมีรายละเอียดกว้างขวางซับซ้อน เป็นจุดและเป็นสนามรวมของการปฏิบัติ
            สัมมาสมาธินี้ มีแบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือ
            . อุปจารสมาธิ  ความสงบแน่วแน่ที่ใกล้ต่อการที่จิตจะได้องค์ฌาน
            . อัปปนาสมาธิ  ความสงบแน่นิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว เป็นสมาธิในองค์ฌาน
ผลแห่งนิพพาน
            พระนิพพาน  คือภาวะที่สิ้นกิเลสหมดตัณหา หรือสิ้นราคะ โทสะ โมหะ (รากเง่าแห่งอกุศลธรรมทุกอย่าง) เป็นเหตุให้ผู้บรรลุ มีชีวิตสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างไม่เป็นทุกข์ ไร้ความทุกข์ มีแต่ความสุข อำนวยประโยชน์เกื้อกูลให้ ดังคำภาษิตที่อ้างไว้ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
            อย่างไรก็ตาม ความสุขอันเกิดจากผลแห่งนิพพานนี้นั้น ยากที่จะอธิบายได้ ผู้ที่ประสบแล้วหรือบรรลุแล้วเท่านั้น จึงจะรู้ได้แน่ว่าเป็นเช่นไร เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน
สังสารวัฏ  การเวียนว่ายตายเกิด
            สังสารวัฏ  การเวียนว่ายอยู่ในโลก หรือภพที่เวียนเกิดเวียนตายของสรรพสัตว์ ผู้ที่มีอาสวกิเลสหมักหมมหมักดองอยู่ในจิตใจ ตราบใดที่จิตไม่บริสุทธิ์สะอาดจากอาสวกิเลส ก็จะมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป
            การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในที่นี้ ท่านแสดงเป็นปุคคลาธิษฐาน ถึงสถานที่จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่มี ๒ สถาน คือ
            . ที่ไม่ดีหรือทุคติ  มีภาษิตว่า จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้
            . สถานที่ดีหรือสุคติ มีภาษิตว่า จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา  เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้
ทุคติ ๓ ประการ
            . นิรยะ  หรือ นรก ได้แก่สถานที่เสวยทุกข์ของคนผู้บาปกรรมแล้วตายไปเกิดยังสถานที่ไม่ดี อันได้ชื่อว่า นิรยะ หรือนรก เพราะผู้ไปเกิดแล้ว จะหาความสุขความเจริญไม่ได้เลย มีแต่ความทุกข์นานาประการ
            บาปที่จะทำให้คนไปเกิดในนรกนั้น มีตั้งแต่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ผิดลูกเมียคนอื่น ชอบลักเล็กขโมยน้อยอยู่เสมอ เป็นต้น จนกระทั่งสร้างบาปกรรมที่หนัก คือ อนันตริยกรรม ผลแห่งการกระทำกรรมชั่วเหล่านั้น ที่ทำลงไปแล้วนั้น ย่อมชักนำให้ไปเกิดในนรกหรืออบาย สถานที่หาความเจริญไม่ได้
            สถานที่จะทรมานสัตว์ที่ทำกรรมไปต่างๆ กัน หนักเบาต่างกันนั้น ก็คือมหานรก ๘ ขุมใหญ่ คือ
            .๑ สัญชีวนรก 
            .๒ กาฬสุตตนรก
            .๓ สังฆาตนรก
            .๔ โรรุวนรก
            .๕ มหาโรรุวนรก
            .๖ ตาปนนรก
            .๗ มหาตาปนนรก
            .๘ อวีจินรก
และยังมีขุมนรกน้อยๆที่เป็นบริวารแห่งขุมนรกใหญ่ๆเหล่านั้นอีกมากมาย
            . ติรัจฉานโยนิ  กำเนิด สัตว์ดิรัจฉาน เหตุที่สัตว์ทั้งหลาย ยกเว้นมนุษย์ที่ได้ชื่อว่า ติรัจฉาน นั้น ก็เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายมีการเคลื่อนไหวไปมา ด้วยทางขวางมีร่างกายยาวไปกับพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า หรือมากกว่านั้นก็ตาม แม้แต่ลิงซึ่งบางครั้งก็เดิน ๒ ขาได้คล้ายๆคน แต่ลิงก็ยังจัดเป็นพวกสัตว์ดิรัจฉานอยู่ ผิดกับมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ประเภทเดิน ๒ ขา มีกระดูกสันหลังตรง มีส่วนสูงขึ้นไปในอากาศ
            สัตว์ดิรัจฉานที่ท่านจัดเป็นทุคตินั้น เพราะสัตว์ดิรัจฉานนี้ จะหาความเจริญไม่ได้ แม้แต่อาหารจะกินก็ลำบาก ได้กินบ้างไม่ได้กินบ้าง เป็นวันๆไป โดยที่สุดแม้แต่ได้ฟังธรรมก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้
            . เปตติวิสัย  แดนเปรต คำว่า เปรต นั้น ได้แก่ ผี ยักษ์หรือ เปรต  เป็นต้น ตามภาษาชาวบ้านใช้พูดจากันอยู่ทั่วไป และเปรตนี้ก็มีกันอยู่หลายจำพวก บางพวกก็มีรูปร่างเล็ก บางพวกก็มีร่างใหญ่ และยังสามารถเนรมิตตัวเองให้สวยงามก็ได้ ให้น่าเกลียดน่ากลัวก็ได้ ที่สวยงาม เช่น เนรมิตให้คนเห็นเป็นรูปเทวดา อินทร์ พรหม เป็นผู้ชายผู้หญิงที่สวยงาม เป็นดาบส ฤๅษี พระ สามเณร แม่ชี เป็นต้น ส่วนที่น่ากลัวเช่นนั้น เนรมิตเป็นวัว เป็นควาย เป็นสุนัขที่มีรูปร่างน่ากลัว ตัวใหญ่ตาโต  บางทีก็มองเห็นเป็นสีดำ สีแดง เป็นต้น บรรดเปรตพวกนี้ บางพวกก็ได้รับความทุกข์ต่างๆ นานา เช่นอดข้าวอดน้ำ กินแต่ของสกปรกโสโครก กินเลือดกินหนอง กินอุจจาระปัสสาวะ กินน้ำลายเป็นต้น
            บรรดาเปรตทั้งหมดที่มีอยู่จัดเป็น ๑๒ พวกบ้าง ๔ พวกบ้าง ๒๑ พวกบ้าง ทั้งหมดนี้ เปรตที่จะมีโอกาสได้รับส่วนบุญจากญาติที่อุทิศไปให้ ก็มีแต่ปรทัตตุปชีวีเปรต จำพวกเดียวเท่านั้น เพราะเปรตพวกนี้อยู่ใกล้ และชีวิตอยู่ด้วยผลทานที่ญาติอุทิศส่วนกุศลไปให้เท่านั้น ถ้าญาติไม่อุทิศไปให้ก็อด
สุคติ ๒ ประการ
            . มนุษย์ หรือคน เป็นสัตว์ที่มีใจสูง รู้จักคิดด้วยเหตุด้วยผล ดำรงชีวิตด้วยการใช้สติปัญญา เป็นสัตว์ที่มีจิตใจกล้าแข็ง เป็นไปได้ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี
            จิตใจฝ่ายดีนั้น เช่น มนุษย์สามารถอบรมจิตใจตนเองให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสาวกก็ได้ สามารถทำฌานสมาบัติให้เกิดก็ได้ ทำอภิญญาก็ได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ได้
            จิตในฝ่ายไม่ดีนั้น เช่น สามารถฆ่าบิดามารดาของตนเองก็ได้ ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตุปบาท หรือ ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน แบ่งแยกสงฆ์ให้แตกออกไปเป็นนิกายต่างๆ ก็ได้ หรือทำความชั่วที่ต่ำกว่านั้นลงมาทุกอย่าง บางคนก็อาจทำเป็นอาจิณเลย เช่น ฆ่าสัตว์ขายเป็นอาชีพ เป็นต้น
            การเกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งถือว่า เป็นการเกิดในสุคตินั้นก็ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีธรรมประจำใจไว้ประพฤติปฏิบัติ เช่น พรหมวิหาร อิทธิบาท อินทรีย์ พละ เป็นต้น เป็นผู้ที่ตัดสินปัญหาด้วยปัญญา มีเหตุมีผล รู้จักคุณของผู้ที่ทำอุปการะมาก่อน ไม่ตัดสินปัญหาด้วยกำลังเหมือนสัตว์เดรัจฉานทั่วไป
            . เทวดาหรือเทพผู้ประเสริฐ ผู้เกิดในสถานที่ดี เทวดาหรือเทพในที่นี้ หมายถึง ผู้ที่เกิดในสวรรค์พร้อมทั้งเทวโลกด้วยในสถานที่เหล่านี้ ผู้ไปเกิดได้ ต้องเป็นผู้มีบุญทำกุศลกรรมไว้มาก จึงได้ไปเสวยผลของกรรมดีที่ตนสร้างไว้ในสวรรค์นั้น ซึ่งเมื่อว่าโดยละเอียดแล้ว สวรรค์มีทั้งหมด ๖ ชั้น และพรหมโลกอีก ๑๖ ชั้น
            อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพวกเทวดาหรือพรหมนี้จะได้รับความสุขในสุคติภูมิของตน แต่ความสุขนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ถาวร ยังจะต้องกลับมาเป็นทุกข์ ตราบเท่าที่ตนยังไม่บรรลุนิพพาน ดังมีบาลีตอนหนึ่งว่า
ทีฆายุกาปิ พฺรหฺมาโน                 อิทฺธมนฺโต ชุตินฺธรา
ปตนฺติ ยถากมฺมํ เต                       จวนฺติ อปราปรํ
แม้พรหมทั้งหลาย ที่มีอิทธิฤทธิ์มาก มีรัศมีรุ่งเรือง มีอายุยืนเหล่านี้ ก็ต้องค่อยก้าวไปสู่ความตายทั้งสิ้น พรหมเหล่านั้น ก็ต้องตกอยู่ในความเวียนว่ายตายเกิดไปตามยถากรรมของตน(เรื่อยไป)”
            ชีวิตของสรรพสัตว์ที่ไปเกิดในอบายนั้น ได้รับความทุกข์หาประมาณมิได้ แม้แต่พวกพรหม ซึ่งมีอายุยืน มีชีวิตที่ประกอบไปด้วยสุขโดยตลอด เมื่อถึงเวลาครบกำหนดแล้ว ก็ต้องตายเคลื่อนจากพรหมโลก หากยังไม่เป็นอริยบุคคลแล้ว ก็ไม่มีวันจะพ้นไปจากความทุกข์ไปได้ ต้องเวียนมาได้รับกรรมชั่วที่ยังมีอยู่ การที่จะพ้นจากอบายได้นั้น ก็คือการพ้นจากภาวปุถุชนเข้าสู่ความเป็นพระอริยบุคคลโดยทางเดียว ความทุกข์จึงจะดับลงได้
ข้อควรจำ
ทุคติ ๒                                      นิรยะ + ดิรัจฉานโยนิ
ทุคติ ๓                                      นิรยะ + ดิรัจฉานโยนิ + เปตตวิสัย
ทุคติ ๓                                      อบาย + ทุคติ + วินิบาต                           
ทุคติ ๔                                      อบาย + ทุคติ + วินิบาต + นิรยะ
สมถกรรมฐาน  วิธีฝึกจิตใจให้สงบ
            สมถกรรมฐาน  คืออุบายฝึกใจ วิธีอบรมจิตให้สะอาด สว่าง สงบ ผ่องใสจากนิวรณ์ ไม่เศร้าหมองหรือขุ่นมัวที่ติดข้องอยู่ในจิตใจ เรียกว่าปราศจากนิวรณ์ ข้อปฏิบัติต่างๆที่มุ่งในทางการอบรมจิตให้เกิดความสงบ จนตั้งมั่นเป็นสมาธิ แน่วแน่อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ถึงขั้นได้ฌานในระดับต่างๆ คือระดับที่กำหนดรูปธรรมเป็นอารมณ์ เรียกว่ารูปฌาน มี ๔ ขั้นและระดับที่กำหนดรูปธรรมเป็นอารมณ์ เรียกว่า อรูปฌาน มี ๔ ขั้นเหมือนกัน ซึ่งรวมเรียกว่าสมาบัติ ๘ ภาวะจิต ขณะที่อยู่ในฌานนั้น เป็นจิตที่ปราศจากกิเลสรบกวนตลอดเวลาที่ยังอยู่ในองค์ฌานนั้นๆ แต่ถ้าหากออกจากฌานแล้ว กิเลสก็กลับมีได้ตามเดิม อาการเช่นนี้เรียกว่า เอาฌานข่มกิเลสไว้ ท่านจึงเรียกว่า เป็น วิกขัมภนนิโรธ หรือ วิกขัมภนวิมุตติ
            การเจริญสมถะที่เป็นการฝึกจิตนี้ ทำให้มีผลพลอยได้เนื่องมาจากฌานนั้นอีกอย่างหนึ่ง คือ สามารถทำให้ได้ตามความสามารถพิเศษ เรียกว่า อภิญญา ๕ อย่าง คือ
            ) แสดงฤทธิ์ได้
            ) อ่านใจคนอื่นได้
            ) ระลึกชาติได้
            ) มีหูทิพย์
            ) มีตาทิพย์
            สมถกรรมฐานนี้ คือวิธีการหรือขั้นตอนในการฝึกจิต เครื่องมือในการฝึกนี้ เราเรียกว่า อารมณ์ของสมถะ ซึ่งท่านจัดไว้เพื่อให้เหมาะสมกับอารมณ์ของแต่ละท่าน แล้วแต่ผู้ฝึกจะเลือกเอาวิธีใดก็ได้ ที่เห็นว่าตนทำแล้วจิตใจสงบลง อารมณ์ของสมถะนี้ มีทั้งหมด ๔๐ อย่าง คือ
            ) กสิณ ๑๐
            ) อสภะ ๑๐
            ) อนุสสติ ๑๐
            ) พรหมวิหาร ๔
            ) อรูปกรรมฐาน ๔
            ) อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
            ) จตุธาตุววัตถาน ๑
            . กสิณ  คือ สิ่งที่จูงใจให้ไปติดกับวัตถุนั้น เพื่อให้จิตหยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่คิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ที่ประสบเข้า กสิณนี้เมื่อแยกออกไปมี ๑๐ อย่างด้วยกัน โดยแยกออกเป็นภูตกสิณ ๔ อย่าง และวรรณกสิณ ๔ อย่าง คือ
ภูตกสิณ ๔
                        .๑ ปฐวี  ดิน
                        .๒ อาโป  น้ำ
                        .๓ เตโช  ไฟ
                        .๔ วาโย  ลม
วรรณกสิณ ๔
                        .๕ นีละ  สีเขียว
                        .๖ ปีตะ  สีเหลือง
                        .๗ โลหิตะ  สีแดง
                        .๘ โอทาตะ  สีขาว
            .๙ อาโลกะ  แสงสว่าง
                        .๑๐ อากาสะ  ที่ว่าง
            . อสุภะ  คือสภาพแห่งสิ่งของอันไม่สวย ไม่งาม   ไม่เป็นที่ชอบใจเจริญใจสำหรับท่านที่พบเห็นสิ่งเหล่านี้ ท่านใช้เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน เพื่อให้ผู้เจริญอสุภะนี้ ไม่ยึดมั่นในร่างกายตนเองและผู้อื่นว่า เป็นของสวยงาม วิธีการหรือขั้นตอนในการเจริญนั้น ให้เจริญหรือพิจารณาคนที่ตายแล้ว โดยแยกออกพิจารณาเป็น ๑๐ อย่าง คือ
            . อนุสสติ  คือ การระลึกถึงหรืออารมณ์ที่ควรระลึกถึงอยู่เนืองๆ เพื่อให้จิตไม่ฟุ้งซ่านด้วยการคิดอย่างมีระบบ ไม่ใช่คิดแบบวาดวิมานในอากาศ ซึ่งมีหลักของการระลึก หรือการคิดนี้เป็น ๑๐ อย่าง คือ
            .๑ พุทธานุสสติ  ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
            .๒ ธัมมานุสสติ  ระลึกถึงคุณของพระธรรม
            .๓ สังฆานุสสติ  ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์
            .๔ สีลานุสสติ  ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
            .๕ จาคานุสสติ  ระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว
            .๖ เทวตานุสสติ  ระลึกถึงคุณที่ทำให้เป็นเทวดา
            .๗ มรณัสสติ  ระลึกถึงความตาย ที่จะต้องประสบเป็นเป็นธรรมดา
            .๘ กายคตาสติ  ระลึกทั่วในกายให้เห็นว่าไม่งาม
            .๙ อานาปานสติ  ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
            .๑๐ อุปสมานุสสติ  ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับกิเลส และความทุกข์คือนิพพาน
            พรหมวิหาร คุณธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่ประจำใจของท่านผู้ที่มีความยินดี ผู้ที่เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั่วไป ๔ อย่าง คือ
            . เมตตาพรหมวิหาร  มีจิตคิดให้สัตว์ทั้งปวงเป็นอยู่ด้วยความสุขทั่วกัน
            . กรุณาพรหมวิหาร  คิดให้สัตว์ที่ได้รับความทุกข์ ได้พ้นจากทุกข์นั้น
            . มุทิตาพรหมวิหาร  มีจิตพลอยยินดีกับผู้ได้สุขสมบัติ ขอให้เขาเสวยสุขสมบัตินั้นตลอดไป อย่าได้พลัดพราก
            . อุเบกขาพรหมวิหาร  ความวางเฉยได้ ไม่ยินดียินร้ายเมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ
            อรูปกรรมฐาน  ฌานที่มีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ที่เรียกว่า อรูปฌาน ๔ คือ
            . อากาสานัญจายตนะ  กำหนดที่ว่างหารที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ (อนันโต อากาโส)
            . วิญญานัญจายตนะ  กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ (อนันตัง วิญญาณัง)
            . อากิญจัญญายตนะ  กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆเป็นอารมณ์ (นัตถิ กิญจิ)
            . เนวสัญญานาสัญญายตนะ ภาวะมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ (สันตัง ปณีตัง)
            อาหาเรปฏิกูลสัญญา  กำหนดหมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล พิจารณาให้เห็นว่าเป็นของปฏิกูลแต่อย่างเดียว น่าเกลียดโดยลักษณะต่างๆ ซึ่งท่านให้พิจารณาด้วยอาการ ๘ คือ
            . ปฏิกูล                       โดยบริโภค
            . ปฏิกูล                       โดยที่อยู่ของอาหาร
            . ปฏิกูล                       โดยการสั่งสมอยู่นาน
            . ปฏิกูล                       โดยกาลเมื่อยังไม่ได้ย่อย
            . ปฏิกูล                       ในกาล เมื่อย่อยแล้ว
            . ปฏิกูล                       โดยผล คือไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้เจริญขึ้น
            . ปฏิกูล                       โดยอันหลั่งไหลออกมา
            . ปฏิกูล                       โดยทำให้แปดเปื้อน
            จตุธาตุววัตถาน  การกำหนดธาตุ ๔ คือพิจารณาร่างกายนี้แยกออกให้เห็นเป็นส่วนย่อยๆออกไป อันประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันจะทำให้ภาวะที่แท้จริงของสังขารร่างกายว่า เป็นเพียงธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเท่านั้น มิใช่สัตว์บุคคลที่เที่ยงแท้ถาวรตามที่คนทั่วไปเข้าใจ
จริตของคนในโลกมี ๖ คือ
            . ราคจริต         ประพฤติไปตามราคะ (มีราคะเป็นเจ้าเรือน)
            . โทสจริต       ประพฤติไปตามโทสะ (มีโทสะเป็นเจ้าเรือน)
            . โมหจริต       ประพฤติไปตามโมหะ (มีโมหะเป็นเจ้าเรือน)
            . สัทธาจริต      ประพฤติไปตามความเชื่อ (มีความเชื่อเป็นเจ้าเรือน มักเชื่องมงาย)
            . พุทธิจริต       ประพฤติไปตามความรู้ (มีพุทธิเป็นเจ้าเรือน)
            . วิตักจริต         ประพฤติไปตามความตรึก (มีความวิตกเป็นเจ้าเรือน)
กรรมฐานเป็นที่สบายแก่จริตของคน
            . คนที่มีราคจริตเป็นเจ้าเรือน ควรเจริญกรรมฐาน ๑๑ ประการ คือ อสุภะ๑๐ และกายคตาสติ๑
            . คนที่มีโทสจริตเป็นเจ้าเรือน ควรเจริญกรรมฐาน ๘ ประการ คือ วรรณกสิณ ๔ และพรหมวิหาร๔
            . คนที่มีโมหจริตเป็นเจ้าเรือน ควรเจริญกรรมฐาน คือ อานาปานสติ
            . คนที่มีสัทธาจริตเป็นเจ้าเรือน ควรเจริญอนุสสติ ๖ ประการ คือ ๑) พุทธานุสสติ  ๒) ธัมมานุสสติ  ๓) สังฆานุสสติ  ๔) สีลานุสสติ  ๕) จาคานุสสติ  ๖) เทวตานุสสติ
            . คนที่มีพุทธิจริตเป็นเจ้าเรือน ควรเจริญกรรมฐาน ๔ ประการ คือ ๑) มรณัสสติ  ๒) อุปสมานุสสติ  ๓) อาหาเรปฏิกูลสัญญา  ๔) จตุธาตุววัตถาน
            . คนที่มีวิตกจริตเป็นเจ้าเรือน ควรเจริญอานาปานสติ
กรรมฐานเป็นที่สบายแก่จริตทุกอย่าง
            . ภูตกสิณ๔ คือ ๑. ปฐวีกสิณ ๒. อาโปกสิณ ๓.เตโชกสิณ ๔.วาโยกสิณ
            . อรูปกรรมฐาน ๔ คือ ๑.อากาสานัญจายตนะ ๒.วิญญาณัญจายตนะ ๓. อากิญจัญญายตน
 ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ผลของสมถะ
            อารมณ์ของกรรมฐาน ๔๐ อย่างนั้น ผลมุ่งหมายของสมถะก็คือให้ได้สมาธิ  หวังให้จิตเป็นสมาธินิ่งอยู่ในอารมณ์ ทำให้ปราศจากนิวรณ์ เมื่อจิตเป็นสมาธิก็เป็นเหตุให้ได้ฌาน ซึ่งฌานนั้นก็เป็นผลแห่งการปฏิบัติกรรมฐาน
วิปัสสนากรรมฐาน
            วิปัสสนากรรมฐาน  กรรมฐานเป็นเหตุให้เกิดปัญญา รู้เท่าทันสภาวธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง หรือข้อปฏิบัติต่างๆ ในการฝึกฝนอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งชัดสิ่งทั้งหลาย ตรงต่อสภาวะของมัน รู้แจ้งชัดอย่างแท้จริง จนสามารถเพิกถอนความหลงผิดที่หลงยึดถือในสิ่งทั้งหลายเสียได้ จนยกจิตของตนเองขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เพื่อพ้นจากอำนาจของกิเลส เพื่อมุ่งจุดสูงสุดคือวิมุตติ (ความหลุดที่แท้จริง)
            วิปัสสนานี้ เป็นข้อที่สืบเนื่องมาจากสมถกรรมฐาน เพราะผู้ที่จะใช้วิปัสสนาพิจารณาสังขารในขั้นละเอียดลึกถึงขั้นจะต้องอาศัยสมถะเป็นรากฐาน เป็นบาทฐานของวิปัสสนาเสียก่อน บางครั้งอาจจะเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว  หรือจะเจริญพร้อมกันไปเลยก็ได้ สำหรับผู้ที่เจริญเฉพาะวิปัสสนาล้วนๆ โดยไม่ทำสมถะเลย คือไม่ทำสมถะจนได้ฌานแล้วจึงเจริญวิปัสสนา เมื่อสำเร็จผลแห่งวิมุตติ หรือเมื่อบรรลุมรรคผลแล้วก็ย่อมไม่ได้อภิญญาอะไร ส่วนผู้ที่ทำสมถะมาแล้วจนได้ฌาน เอาฌานนั้นมาเป็นบาทในการเจริญวิปัสสนา เมื่อบรรลุมรรคผลแล้ว ย่อมมีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เช่น แสดงฤทธิ์ได้ รู้ใจคนอื่น เป็นต้น
ข้อควรจำ
  - ผลที่มุ่งหมายของสมถะ คือ ฌาน
 - ผลที่มุ่งหมายของวิปัสสนา คือ ญาณ
ธรรมอันเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
อวิชชา              เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด               ตัณหา
ตัณหา               เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด               อุปาทาน
อุปาทาน            เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด               กรรมคือภาวะ
กรรม                เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด               ชาติคือนามรูป
เหตุปัจจัยให้เกิดนามรูป คือเบญจขันธ์
            . อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร    เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดรูป
            . อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ผัสสะ    เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
            . อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ผัสสะ     เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสัญญา
            . อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ผัสสะ     เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
            . อวิชชา ตัณหา  อุปาทาน กรรม นาม และรูป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ.
ความสงสัยในส่วนอดีต ๕ คือ
            . เราได้มีแล้วหรือหนอในชาติก่อน
            . หรือว่าเราไม่ได้มีแล้ว
            . เราได้มีแล้วในชาติก่อน เราเป็นอะไรหนอ
            . เราได้มีแล้วในชาติก่อน เราเป็นผู้มีสุขทุกข์เป็นอย่างไรหนอ
            . เราได้เป็นอะไรแล้วจึงได้เป็นอะไรอีกเล่าในชาติก่อน
ความสงสัยในส่วนอนาคต ๕ คือ
            . เราจักมีหรือหนอในชาติหน้า
            . หรือว่าเราจักไม่มี
            . เราจักมีในชาติหน้า เราจักเป็นอะไรหนอ
            . เราจักมีในชาติหน้า เราจักเป็นผู้มีสุขทุกข์เป็นอย่างไรหนอ
            . เราจักเป็นอะไรแล้ว จึงจักเป็นอะไรในชาติหน้าต่อไปอีกเล่าหนอ
ความสงสัยในส่วนปัจจุบัน ๖ คือ
            . เดี๋ยวนี้เรามีหรือหนอ
            . หรือว่าเราไม่มี
            . เรามีอยู่เดี๋ยวนี้ เราเป็นอะไรหนอ
            . เรามีอยู่เดี๋ยวนี้ เราเป็นอย่างไรหนอ
            . เราเป็นสัตว์มาแต่ไหนหนอ
            . เราจะเกิดที่ไหนอีกเล่าหนอ
อานิสงส์การเจริญวิปัสสนา
            . มีสติมั่นคง ไม่หลงทำกาลกิริยา (ตาย)
            . มีสุคติภพ คือ มนุษย์และโลกสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
            . เป็นอุปนิสัยมรรคผลนิพพาน ติดสันดานต่อไปในภพหน้าด้วย
            . ถ้ามีอุปนิสัยจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในปัจจุบันชาตินี้ ก็ย่อมจะได้บรรลุมรรคผล ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานในปัจจุบันชาตินี้ทีเดียว
พุทธคุณ  คุณความดีของพระพุทธเจ้า
            คุณของพระพุทธเจ้า หรือ ลักษณะแห่งคุณของพระพุทธเจ้า ที่ทรงเป็นบุคคล ที่เป็นที่พึ่งของโลก มีลักษณะคุณพิเศษเป็นหลายประการ ตามที่พุทธบริษัทได้สรรเสริญพระองค์นั้น มีทั้งหมด ๙ ประการ
            . อรหัง  เป็นพระอรหันต์  คือ ผู้ที่ห่างไกลจากกิเลสาวะ และบาปธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์จากอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องหมักหมมอยู่ในจิตใจสรรพสัตว์ ทรงทำลายและหักกรรมแห่งสังสารวัฏเสียได้ อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ได้แล้ว ควรเป็นผู้แนะนำสั่งสอนมหาชนให้รู้ตามได้ ควรแก่การได้รับทักษิณาทานจากมหาชน
            . สัมมาสัมพุทโธ  เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง  ไม่มีผู้ใดเป็นครูเเป็นศาสดา การตรัสรู้นี้ คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ซึ่งไม่มีใครทราบ ไม่เคยได้ยินมาก่อน พระองคเป็นผู้ทรงประกาศเป็นครั้งแรก
            . วิชชาจรณสัมปันโน  ผู้ประกอบไปด้วยความรู้ และความประพฤติ  คือประกอบด้วยวิชชา ๓ หรือวิชชา ๘และจรณ ๑๕ อันเป็นปฏิปทาเป็นเครื่องให้บรรลุถึงวิชชานั้น
            . สุคโต  เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว  ทรงเสด็จไปด้วยหนทางแห่งอริยมรรค สู่ที่หมายอันเป็นแดนบรมสุข คือ พระนิพพาน  เสด็จไปสู่สถานอันจะไม่มีวันที่จะตกลงสู่ที่ต่ำอีก และทรงสอนให้คนอื่น เดินตามมรรคนั้นไปทั้งพระองค์และพระสาวก ได้เสด็จเที่ยวไป (สู่ที่จาริก) ตามชนบทน้อยใหญ่ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่มหาชนผู้เกิดในภายหลังด้วย
            . โลกวิทู  เป็นผู้รู้แจ้งโลก  รู้แจ้งสภาวะอันเป็นธรรมดาของโลก ได้แก่ สังขาร และโลกอันเป็นที่หลงอยู่แห่งสรรพสัตว์ พร้อมทั้งอารมณ์ที่ทำให้หลงติดอยู่ ทรงชี้แจงให้ชาวโลกเห็นจริง รู้เท่าทันเหตุการณ์ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งกิเลส มีจิตอันพ้นเป็นอิสระแล้วจากคติโลก
            . อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ  เป็นผู้ที่สามารถฝึกใครต่อใครได้  ไม่มีคนอื่นเท่าเทียมได้ พระองค์ทรงฝึกพราหมณ์ ฝึกกษัตริย์ ฝึกคนธรรมดาสามัญ หรือกระทั่งฝึกมหาโจร เช่นโจรองนคุลิมาล ก็ทรงฝึกให้กลับมาเป็นคนดีได้ เป็นต้น
            . สัตถา เทวมนุสสานัง  เป็นศาสดา เป็นครูผู้สอนของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  เป็นที่พึ่งของเหล่าเทวดาทั้งหลาย คือ ในตอนกลางคืน เหล่าเทวดาจะมาทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้าเป็นประจำ ดังนั้นพระองค์จึงได้นามว่า เป็นศาสดาของเหล่าเทวดา
            . พุทโธ  เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว  คือตื่นจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติที่พากันปฏิบัติตามกันมาอย่างผิดๆ และซ้ำยังทรงปลุกให้ผู้อื่นตื่นตามมาด้วย ทรงชี้แนะในข้อปฏิบัติแบบใหม่ที่ทรงค้นพบ อันเป็นธรรมที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ด้วยตนเอง
            . ภควา  เป็นผู้มีโชค  หรือผู้ทรงจำแนกธรรมให้เหมาะกับอุปนิสัยของผู้จะรับรสพระธรรมนั้น เพราะความสามารถของพระองค์ ทำให้คนอื่นผู้ยังไม่พอจะบรรลุก็บรรลุได้ เพราะได้ฟังธรรมที่ถูกกับอุปนิสัย เหมาะกับจริตของตัวเอง
            พุทธคุณทั้ง ๙ ประการดังที่ได้พรรณนามานี้ เป็นพระคุณทั้งที่เป็นประโยชน์ส่วนพระองค์ คือ บำเพ็ญประโยชน์ส่วนพระองค์เสร็จสิ้นแล้ว (อัตตหิตสมบัติ) และทั้งที่เป็นประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพื่อส่วนรวม (ปรหิตปฏิบัติ) รวมอยู่ในพระพุทธคุณทั้ง ๙ นี้ทั้งสิ้น
            พุทธคุณ ๙ นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นวารหาทิคุณ หรือ นวรหคุณ หรือ นวารหคุณ ซึ่งทั้งหมดนี้ แปลว่า คุณพระพุทธเจ้า ๙ ประการ เหมือนกันหมด
วิปลาส ความสำคัญผิด หรือความเข้าใจผิด
            วิปลาส หรือพิปลาสนี้ หมายถึง กริยาที่ถือเอาโดยอาการที่ผิดไปจากความเป็นจริงคลาดเคลื่อนจากความจริงของสภาวธรรมที่มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมดาของโลก ความเข้าใจผิดนี้ แยกเป็น ๓ ประเด็น คือ
            . ด้วยสำคัญผิด  สัญญาวิปลาส
            . ด้วยความคิดผิด          จิตตวิปลาส
            . ด้วยความเห็นผิด        ทิฏฐิวิปลาส
            ความสำคัญผิด ๓ ประการนี้ เป็นการสำคัญผิดในเหตุ ๔ ลักษณะ คือ
            . เห็นของไม่เที่ยง ว่าเที่ยง
            . เห็นของที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข
            . เห็นของที่ไม่ใช่ตน ว่าเป็นตน
            . เห็นของที่ไม่งาม ว่างาม
            บุคคล ผู้หลงผิด สำคัญผิดในของเหล่านี้ ย่อมมองไม่เห็นทางที่จะพ้นไปจากความทุกข์ได้ เพราะภาพมายาเหล่านั้น การที่มนุษย์ไม่พิจารณาเห็นสังขาร เป็นไปตามความจริง ก็เพราะความไม่เที่ยงนั้น มีสันตติ ความสืบต่อของสังขารมาบังไว้ ความทุกข์ก็มีอิริยาบถความเคลื่อนไหวแห่งร่างกายเข้ามาบังไว้ ส่วนอนัตตานั้น ก็มีฆนสัญญาความสำคัญเห็นเป็นกลุ่มก้อนแยกออกให้เห็นได้ยากมาบังไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็หลงไปกับสิ่งที่ประสบเข้า ถ้าชอบใจก็เห็นว่าสวยงาม หลงยึดติดในสิ่งนั้น
            วิปลาสนี้ โดยแท้แล้วก็คือ การหลงผิด ไม่เข้าใจในไตรลักษณ์นั่นเอง จึงเป็นเป็นเหตุให้หลงยึดติดในสิ่งที่ชอบว่า สวย
มหาสติปัฦฏฐานสูตร
            สติปัฏฐานสูตรนี้ หมายถึงการตั้งจิตพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆตามลักษณะของมัน การพิจารณาตามสติปัฏฐานนี้ เป็นทางสายเอก หรือสายตรงที่จะให้เข้าถึงนิพพานได้ ดังพระพุทธเจ้าตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางสายเอก เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสรรพสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน๔ดังนั้น สติปัฏฐาน ๔จึงเป็นทางสำหรับนักปฏิบัติธรรม เพื่อบรรลุนิพพานเป็นเป้าหมายจะต้องใช้ปฏิบัติ ท่านได้แยกออกแสดงเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
            . กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การตั้งสติพิจารณากายเป็นอารมณ์ให้เห็นเป็นเพียงสักว่า กายเท่านั้น ไม่ใช่มนุษย์ บุคคลหรือสัตว์ไรๆทั้งนั้น โดยจำแนกออกพิจารณาเป็นลักษณะต่างๆ ดังนี้
            .๑ กำหนดลมหายใจมีสติรู้อยู่ทุกขณะ (อานาปานสติ)
            .๒ กำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถของร่างกาย เช่น กำลังยืน เดิน นั่ง  หรือนอน เป็นต้น (อิริยาบถ) ให้รู้ตัวอยู่ทุกขณะ
            .๓ กำหนดชัดลงไปที่ร่างกายทุกอย่าง ให้รู้ตัวตลอดเวลาในการก้าวไป ถอยกลับ มองซ้าย แลขวา การคู้เข้า การเหยียดออก การถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง การนุ่งห่มเสื้อผ้า เป็นต้น (สัมปชัญญะ)
            .๔ พิจารณาร่างกายนี้ ว่าเป็นของไม่สะอาด อวัยวะ ๓๒ ล้วนแต่เป็นของสกปรกปฏิกูล ต้องอาบน้ำชำระ ขัดสีอยู่เป็นประจำ (ปฏิกูลมนสิการ)
            .๕ พิจารณาเห็นร่างกายว่า เป็นเพียงธาตุ แต่ละอย่างๆ คือ  แบ่งร่างกายออกเป็นธาตุ คือธาตุดิน ธาติน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม (ธาตุมนสิการ)
            .๖ พิจารณาร่างกาย หรือซากศพที่น่าขยะแขยง เช่น ศพที่กำลังขึ้นอืด ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไป หรือซากศพอีกต่างๆแล้วน้อมเข้ามาเปรียบเทียบกับร่างกายของเราเอง ให้เห็นเป็นของที่มีลักษณะเหมือนๆกันกับซากศพนั้น
(นวสีวถิกา)
            . เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้ตามเป็นจริงว่า เป็นเพียงเวทนาเท่านั้น ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา ที่ไหน คือ เราเสวยเวทนาอะไรอยู่ก็รู้ เช่น เรากำลังได้รับ(เสวย) ทุกขเวทนา สุขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ว่าตนกำลังได้รับหรือประสบกับอารมณ์นั้นๆ อยู่
            . จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การกำหนดพิจารณาให้เห็นจิตใจจิต เป็นเพียงจิตเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา คือ ในขณะนั้นจิตมีราคะ  ก็รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ มีจิตปราศจากราคะโทสะ โมหะ ก็รู้ว่า มีจิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะ หรือจิตฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ หรือแม้แต่จิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่าตนมีจิตหลุดพ้นแล้ว คือ รู้จิตตามที่มันเป็นอยู่ในขณะนั้นๆ
            . ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การตั้งสติพิจารณาธรรมที่เกิดกับจิต ให้เห็นว่าเป็นแต่สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา คือเมื่อธรรมเกิดกับจิต ก็กำหนดรู้ทันในหมวดนี้ ท่านจำแนกธรรมที่เกิดขึ้นเป็น ๕ ลักษณะ คือ
                        .๑ กำหนดรู้นิวรณ์ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ หรือวิจิกิจฉา อย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นก็กำหนดรู้
                        .๒ กำหนดรู้ อุปาทานขันธ์ ๕ เช่น รูปเกิดหรือ รูปดับก็รู้ ในส่วนของเวทนา สัญญา สังขาร หรือวิญญาณ ก็เหมือนกัน ถ้าอันไหนเกิดหรือดับ ก็กำหนดรู้เท่าทัน
                        .๓ กำหนดรู้อายตนะภายในและอายตนะภายนอก เช่น กำหนดรู้ นัยน์ตา และรูป เมื่อกระทบกันเข้าแล้ว ย่อมก่อให้เกิดสังโยชน์ เมื่อรู้แล้ว ก็กำหนดละสังโยชน์เหล่านั้นเสีย เป็นต้น
                        .๔ กำหนดรู้รู้โพชฌงค์ ๗ ว่ามีอยู่ในจิตหรือไม่มี หรือโพชฌงค์นี้ เกิดขึ้นอย่างไร ก็รู้หรือบริบูรณ์ด้วยอาการอย่างไร ก็กำหนดรู้ ตามอาการที่มันบริบูรณ์
                        .๕ กำหนดรู้อริยสัจ ๔ ตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ และนี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา รู้ชัดแยกออกเป็นส่วนตามความเป็นจริงว่า ธรรมแต่ละอย่างนั้น คืออะไรเป็นอย่างไร เป็นอยู่อย่างไร มีอยู่ในตนหรือไม่มี เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามเป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ
            เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ตามสติปัฏฐานตามที่พรรณนามานี้ แต่ละอย่างๆ ย่อมเป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิ ไม่หมักหมมหมักดองอยู่ในจิต ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอะไรๆ ย่อมบรรลุถึงแดนอันเกษม คือพระนิพพานเสียได้
คิริมานนทสูตร
            ครั้งหนึ่ง ท่านพระคิริมานนท์ป่วยหนัก ได้รับทุกขเวทนามาก พระอานนท์จึงไปทูลพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปโปรดดูอาการของท่านบ้าง พระพุทธองค์ไม่ได้เสด็จไปตามคำทูลของพระอานนท์ แต่ได้บอกให้พระอานนท์นั้น กลับไปแสดงสัญญา ๑๐ ประการให้พระคิริมานนท์ฟัง เมื่อฟังแล้ว ท่านก็จะหายเป็นปกติเอง แล้วพระองค์ก็ทรงบอกสัญญา ๑๐ อย่างนั้นให้แก่พระอานนท์ทราบ คือ
            . อนิจจสัญญา  กำหนดสังขารนี้ว่าเป็นของไม่เที่ยง
            . อนัตตสัญญา  กำหนดธรรมทั้งปวงว่า เป็นอนัตตา
            . อสุภสัญญา  กำหนดกายนี้ว่า เป็นของไม่งาม
            . อาทีนวสัญญา  กำหนดกายนี้ว่า มีโรคต่างๆ ประจำอยู่ หรือเป็นรังของโรคนั่นเอง
            . ปหานสัญญา  กำหน4ดเพื่อจะละ อกุศลวิตก และบาปธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
            . วิราคสัญญา  กำหนดถึงสวิราคธรรม คือ อริยมรรคว่าเป็นธรรมที่ปราศจากอาสวกิเลสทั้งปวง
            . นิโรธสัญญา  กำหนดหมายเอานิโรธ คือ อริยผลอันปราศจากกิเลสตัณหาได้สิ้นเชิง
            . สัพพโลเก อนภิรตสัญญา  กำหนดจิตไม่คิดเพลิดเพลินไปตามโลก ละอุปาทาน ความถือมั่นเสีย
            . สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา กำหนดจิตไม่คิดปรารถนาในสังขารทั้งปวง วางอุเบกขา เห็นด้วยปัญญา ซึ่งสังขารทั้งปวงอันเป็นของที่ตกอยู่ภายใต้หลักแห่งไตรลักษณ์
            ๑๐. อานาปานสติ  มีสติกำหนดลมหายใจเข้าออก เพื่อรักษาจิตไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน
ข้อควรจำ
            อัตตสมบัติ
                        - อรหัง
                        - สัมมาสัมพุทโธ
                        - วิชชาจรณสัมปันโน
                        - โลกวิทู
ปรหิตปฏิบัติ
                        - อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ
                        - สัตถา เทวมนุสสานัง
อัตตสมบัติ + ปรหิตปฏิบัติ
                        - สุคโต
                        - พุทโธ
                        - ภควา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘