นักธรรมศึกษาชั้นเอก เนื้อหาวิชาเรียงความแก้กระทู้

นักธรรมศึกษาชั้นเอก  เนื้อหาวิชาเรียงความแก้กระทู้  
วิชา เรียงความแก้กระทู้
ธรรมศึกษาชั้นเอก
คำอธิบาย
วิธีเรียงความแก้กระทู้ธรรมแนวใหม่
ความเบื้องต้น
                วิธี เรียงความแก้กระทู้ธรรม จัดเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรนักธรรมตรี โท เอก นักเรียนผู้สอบกลัวตกวิชานี้มากกว่าวิชาอื่นๆ  เพราะการแต่งกระทู้ธรรม  หากนักเรียนยังจับหลักฐานไม่ได้  จะทำให้มึนงงสับสนในเมื่อแม่บทหรือกระทู้ที่ท่านตั้งไว้  ยิ่งเป็นชั้นเอกก็ยิ่งทวีความยากขึ้นตามส่วน ฉะนั้น การแต่งกระทู้ธรรมจึงจัดว่าสำคัญยิ่งกว่า ๓ วิชานั้น  เพราะเท่ากับว่าได้ฝึกหัดเทศนาวิธีไปด้วยนั่นเอง เมื่อผู้ใคร่ต่อการศึกษาพยายามเรียนหลักการแต่ง ทำความเข้าใจวิธีการแต่งดีแล้วจะกลับเห็นว่าการแต่งกระทู้ก็คือการแสดง ภูมิความรู้ในวิชาทั้ง ๓ นั้นว่า นักเรียนมีความเข้าใจแจ่มแจ้งดีเพียงไร  ถ้าเข้าใจแล้ว  ก็สามารถที่จะหยิบยกข้อธรรมมาอธิบายได้โดยไม่ยากนักส่วนหลักการและแนวในการ แต่งนั้น  จะได้ชี้ให้เข้าใจในลำดับต่อไปดังจะได้ชี้แจงหลักและแนวการแต่ง  ซึ่งทางสนามหลวงท่านได้วางไว้พอเป็นปทัฏฐานนักเรียนพึงทราบต่อไปนี้ ฯ
แนวการแต่ง
                การ แต่งกระทู้ธรรมนั้น  พึงพยายามเรียบเรียงถ้อยคำให้สละสลวย  พูดสั้น ๆ แต่ให้ได้ใจความมาก ใช้ถ้อยคำสำนวนที่สุภาพอ่อนโยนให้เหมาะแก่กาลเทศะ บรรยายข้อความให้ติดต่อกลมกลืนกัน  เมื่อจะอ้างหรือยกอีกกระทู้ประกอบประหนึ่งช่างภาพระบายสี  เช่นเหลืองกับเขียวเป็นต้น ระบายตอนที่เหลืองจะเปลี่ยนเป็นเขียวให้กลมกลืนกันฉะนั้น  การอ้างกระทู้ประกอบก็เช่นเดียวกัน  คือต้องอธิบายข้อความให้เชื่อมสนิทสนม จู่ ๆ จะอ้างขึ้นมาเฉย ๆ ไม่ได้ เพราะจะผิดหลักแห่งการแต่งไปและจะกลายเป็นคนละรูปเรื่อง อ่านแล้วไม่ได้ใจความ ขาดความสละสลวยด้วยประการทั้งปวง ไม่สมภูมิที่เป็นนักธรรมเอกเลย พึงพยายามแต่งให้เหมาะสมกับความหมายของกระทู้  ซึ่งจะได้ชี้แจงเป็นลำดับไป ฯ
ความหมายของกระทู้
ความหมายของคำว่า เรียงความแก้กระทู้ธรรม  ซึ่งท่านเรียกรวมเป็นคำเดียวกัน เมื่อนักเรียนพิจารณาให้รอบคอบแล้ว จะเห็นว่าแยกออกเป็นคำ ๆ ได้ ๓ คำ คือเรียงความ แก้กระทู้ธรรม จะได้ชี้แจงให้เห็นความหมายของคำทั้ง ๓ นั้น ดังต่อไปนี้ คือ
คำว่า เรียงความ  ได้แก่ การเก็บถ้อยคำหรือข้อความต่าง ๆ มาเรียบเรียงให้เป็นระเบียบเรียบร้อยถูกต้องตามหลักไวยากรณ์  และภาษาศาสตร์ อ่านและฟังได้ความชัดเจนแจ่มแจ้ง สมแก่รูปเรื่องของธรรมนั้น ๆ ประหนึ่งนายมาลาการผู้ฉลาด มีความเชี่ยวชาญนำดอกไม้ซึ่งมีสีสัณฐานแตกต่างกัน มาร้อยกรองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยในภาชนะอันเดียวกันฉะนั้น คือเก็บข้อความในที่ต่าง ๆ เช่นใน ธรรม พุทธ วินัย (โดยมากเป็นธรรม) แล้วแต่หัวข้อธรรมนั้นจะเพ่งถึงอะไร  พึงบรรยายไปในแนวนั้นตามหลักโวยากรณ์  คือเรียบเรียงถ้อยคำสำนวนให้สละสลวยสมแก่เหตุผล สมแก่บริษัท ประชุมชนและกาลเทศะ  ให้มีความหมายตรงกับจุดประสงค์ของแม่บทหรือกระทู้ที่ตั้งไว้ ดังนี้เรียกว่า  เรียงความ
คำว่า  แก้ ได้แก่การทำให้คลายหรือขยายออก คือกิริยาที่คลายหรือขยายสิ่งที่มัดไว้ออกไป ก็เรียกกันว่า แก้ แม่บทหรือกระทู้ที่ตั้งไว้ เป็นเพียงหัวข้อธรรมอันหนึ่ง ซึ่งมีความหมายที่จะพึงขยายความออกไปอีกได้มากมาย นักเรียนผู้มีความสามารถ จึงควรอธิบายขยายความของบทธรรมหรือภาษิตที่ท่านตั้งไว้นั้น ให้กว้างขวาง  ได้ความไพเราะถูกต้องตามจุดมุ่งหมายของกระทู้ พูดง่าย ๆ ก็คือขยายความประสงค์ของกระทู้หรือถ้อยคำที่ท่าน กล่าวไว้โดยย่อ  ให้พิสดาร เรียกว่า  แก้
คำว่า  กระทู้ธรรม  ได้แก่ธรรมที่เป็นแม่บท หรือบทธรรมย่อ ๆ ที่ท่านตั้งไว้เป็นหลัก  แม่บทหรือกระทู้ที่ย่อ ๆ แต่มี ใจความที่จะพึงอธิบายขยายออกไปอีกได้มาก เรียกว่า  กระทู้ธรรม
เมื่อนักเรียนทราบความหมายของคำว่า  เรียงความแก้กระทู้ธรรม  โดยสังเขปดังนี้แล้ว  พึงวางโครงเรื่องที่จะยกขึ้นอธิบายต่อไป  แต่การอธิบายจำต้องมีหลักเกณฑ์ปฏิบัติในการแต่งอีก  ซึ่งเรียกว่าองค์ประกอบการเรียงความมี  ๓  ประการ  คือ
อุเทศ  ได้แก่ บทตั้งหรือแม่บท  ซึ่งตรงกับคำว่า  กระทู้
นิเทศ  ได้แก่ การขยายความอุเทศนั้น ให้กว้างขวางออกไปตามแนวของกระทู้นั้นๆซึ่งตรงกับคำว่า แก้
ปฏินิเทศ  ได้แก่  การกล่าวทบทวนข้อความเบื้องต้น คือย่อเอาความในนิเทศมากล่าวสั้น ๆ  เพื่อให้เข้าใจและจำง่าย  ซึ่งตรงกับคำว่า  สรุปความ
โวหาร ๔ 
นัก เรียนนอกจากจะทราบองค์ประกอบเรียงความ  ๓ ประการ ดังกล่าวเบื้องต้นแล้ว จะต้องมีความเข้าใจในหลักของการขยายความอีก  ท่านเรียกว่า โวหาร  ซึ่งจักว่าเป็นความจำเป็นที่ผู้แต่งผู้เยียนจะต้องดำเนินในโวหาร ๔ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง  เพราะตามธรรมดาการแต่งการเขียนหนังสือ สำนวนโวหารย่อมแตกต่างกันตามความคิดเห็น  แต่เพื่อให้เหมาะสมกับเรื่องที่กล่าวถึง และตรงกับความประสงค์ของผู้แต่งในอันจะโน้มน้าวใจผู้อ่านผู้ฟังให้มีความ เห็นความเข้าใจ  ตามกระบวนความที่ตนแต่งที่ตนเขียนไปในแนวไหนก็ตาม  ก็คงอยู่ในลักษณะแห่งโวหาร  ๔ นี้ คือ
พรรณนาโวหาร  ได้แก่ การพรรณนาความ คือเล่าเรื่องที่ได้เห็นมาแล้วหรือคิดประพันธ์ขึ้น ด้วยมุ่งความไพเราะ หรือความบันเทิง โดยเข้าใจว่า อาจเป็นไปได้เช่นนั้น เช่น การเขียนนวนิยาย หรือการเล่าความจริงจากหลักฐานที่ได้ฟังมา เช่นการเขียนตำนาน เป็นต้น  เรียกว่า  พรรณนาโวหาร
บรรยายโวหาร  ได้แก่  การอธิบายข้อความที่ย่อซึ่งยังเคลือบคลุมอยู่ให้เกิดความกระจ่าง เพื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย  การแต่งในทำนองนี้มุ่งไปในทางไขปัญหาอันลึกซึ้งสุขุมคัมภีรภาพ  ดังเช่นปัญหาว่า  พระพุทธศาสนาคืออะไร ศีลธรรมคืออะไร สติคืออะไร ? สัมปชัญญะคืออะไร ? ดังนี้เป็นต้น  แต่ละอย่าง ๆ ต้องอธิบายขยายความออกไปให้ผู้ฟังเห็นเงื่อนงำคำถามและข้อธรรมนั้น ๆ โดยแจ่มแจ้ง  เรียกว่า  บรรยายโวหาร
เทศนาโวหาร  ได้แก่  การแต่งทำนองการสอน  คือชี้แงหลักธรรมนั้น ๆ ให้ผู้อ่านผู้ฟังยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ เช่น เทศนา หรือกฎหมายเป็นต้น  เพื่ออบรมนิสัยให้ประณีตงดงามขึ้น  โดยได้ฟังและตรึกตรองพิจารณาเห็นคุณและโทษของสิ่งนั้น ๆ การแต่งทำนองนี้มุ่งให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดฉันทะ  อุตสาหะ  อันจะนำมาปฏิบัติตาม เรียกว่า  เทศนาโวหาร
สาธกโวหาร  ได้แก่ การบรรยายข้อเปรียบเทียบคือนำข้ออุปมาอุปไมยมาเทียบเคียง  เพื่อให้ข้อความที่อธิบายนั้นแจ่มแจ้งดีขึ้น  อันได้แก่การยกข้อความอื่นมาเปรียบเทียบกับข้อความที่กล่าวมทาถึงนั้น  ชี้แจงให้ชักเจน แสดงข้อความที่เปรียบเทียบนั้นให้เห็นเป็นความจริงยิ่งขึ้นซึ่งมีกิริยาการ คล้ายคลึงกัน  ดังตัวอย่างว่า  คนที่ขาดสติย่อมเป็นเสมือนเรือที่ขาดหางเสือเครื่องคัดวาดฉะนั้น  โดยอธิบายว่า ธรรมดาคนเราทุกๆ คนจะทำจะพูด จะคิดอะไร  ต้องมีสติระลึกไว้ก่อนแล้วจึงทำ  จึงพูด  จึงคิด  เมื่อระลึกไว้ก่อนแล้ว  สิ่งที่ทำ  คำที่พูด  และเรื่องที่คิดนั้นก็ไม่ผิดพลาด  ย่อมได้รับผลสมประสงค์  เหมือนเรือที่มีหางเสือเครื่องคัดวาดให้หัวเรือแล่นตรงไปสู่จุดหมายปลายทาง ฉะนั้น  หากบุคคลผู้จะทำ  จะพูด  จะคิด  ขาดสติ  แล้วไซร้  การที่ทำ  คำที่พูด  และเรื่องที่คิด ก็จะผิดพลาด ไม่ได้ผลสมประสงค์เหมือนเรือที่ขาดหางเสือ  แล่นเปะปะ ไม่ตรงไปถึงจุดหมายหลายทาง และมีแต่จะกระทบกระทั่งสิ่งต่าง ๆ  ซึ่งจะเป็นอันตราย ฉะนั้น  หรือจะยกเรื่องอื่น ๆ เช่นนิทานชาดกเป็นต้น มาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นตัวอย่าง ดังเรื่องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญ ทุกรกิริยา  เพื่อแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณอันเป็นตัวอย่างแห่งการบำเพ็ญความเพียรเป็น ต้น  เรียกว่า  สาธกโวหาร
การแต่งกระทู้ธรรมทุกชั้น  ท่านกำหนดให้แต่งด้วยเทศนาโวหาร  เทศนาโวหารนั้นประกอบด้วยลักษณะ  ๔  ประการ  คือ
ชี้แจงเหตุผลให้เห็นตามความเป็นจริง  แสดงไปตามลำดับข้อความให้เหมาะแก่กาลเทศะ  แก่บุคคลและเรื่องราว  ไม่ให้ลักลั่นกัน
.  โน้มน้าวให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดความเชื่อถือในข้อความตามที่ตนกล่าวนั่น
ให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดฉันทะอุตสาหะที่จะปฏิบัติตาม เช่นตั้งในละชั่วประพฤติดีและให้มีอุตสาหะที่จะทำดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดความกล้าหาญร่าเริงในการทำดีที่ได้ทำอยู่แล้วนั้น
ดัง นั้น  การแต่งหรือเรียงความทั่ว ๆ ไปจะใช้โวหารอะไรเป็นหลักก็ตามจำต้องมีโวหารอื่นแทรกเข้ามาอีกตามควร  แม้การเรียงความแก้กระทู้ธรรมก็เช่นเดียวกันใช้เทศนาโวหารเป็นหลัก  และต้องแทรกโวหารอีก ๓ นั้นประกอบด้วย  เพื่อให้ข้อความพิสดารและเด่นชัดขึ้น  การแต่งในทำนองนี้ต้องอธิบายลักษณะของธรรมให้แจ่มแจ้งซึ่งเรียกว่า บรรยายโวหารก่อน  ต่อจากนั้นจึงหาเหตุผลอื่นมาประกอบต่อไป เพื่อโน้มน้าวใจผู้ด่อนผู้ฟังให้เกิดฉันทะอุตสาหะขึ้นในตน  ตอนนี้เป็นหน้าที่ของเทศนาโวหาร  หากเห็นว่าข้อความที่กล่าวนั้นยังเคลือบคลุมหรือไม่มีหลักฐานเพียงพอ  จึงนำเอาข้อเปรียบเทียบมาแสดงอีก  เพื่อให้ความที่กล่าวมานั้นแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  ตอนนี้ เรียกสาธกโวหาร  รวมความว่าการแต่งการเขียนจะต้องอาศัยโวหาร  ๔  เสมอไป
วิธีเรียงความ
                เมื่อนักเรียนเห็นบทธรรมหรือกระทู้ที่ท่านตั้งไว้  พึงตีความหมายของกระทู้ ให้ถูกต้องก่อน แล้วจึงวางโครงเรื่องที่จะอธิบายต่อไป  ด้วยการพิจารณาว่ากระทู้นี้กล่าวถึงอะไร  เกี่ยวกับธรรมหมวดไหน  และจะอธิบายอย่างไรจึงจะให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดศรัทธาปสาทะได้  ดังนี้เป็นต้น  จะอธิบายควบกันไปหรือแยกอธิบายเป็นตอน ๆ ก็ได้  ให้รู้จักส่วนที่เป็นเหตุและเป็นผลว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร  พึงอธิบายให้ประสานกัน  เมื่อจะยกภาษิตประกอบอีก  ๓  ภาษิต  พึงอธิบายท้าวความให้เชื่อมกันหรือในที่อื่น ๆ อย่างน้อย  ๓  สุภาษิต  ตามกฎเกณฑ์ของสนามหลวงซึ่งได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันแล้วนั้น .

(ตัวอย่างเรียงความแก้กระทู้ธรรม ๑)
เรียงความแก้กระทู้ธรรม ธรรมศึกษาชั้นเอก
สอบในสนามหลวง  พ.. ๒๕๔๐
สีลเมว  อิธ  อคฺคํ                    ปญฺญวา  ปน  อุตตโม
มนุสฺเสสุ  จ  เทเวสุ                 สีลปญฺญญาณโต  ชยํ
ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลก  ส่วนผู้ที่มีปัญญาเป็นผู้สูงสุด
ความชนะในหมู่มนุษย์และเทวดาย่อมมีเพราะศีลและปัญญาฯ
บัดนี้  จักได้อธิบายความแห่งกระทู้ธรรมภาษิต  ที่อัญเชิญมาตั้งเป็นอุเทสคาถาข้างต้นนี้พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นลำดับไป
กระทู้ ธรรมคาถานี้  แสดงถึงความชนะเป็นที่ยอมรับเป็นที่ยินดีในหมู่มนุษย์และเทวดาว่า  ต้องเป็นความชนะที่ได้มาเพราะศีลและปัญญา  ฟังแล้วออกจะเป็นเรื่องที่แปลกหูแปลกใจของผู้ที่ห่างจากพระพุทธศาสนา  ไม่เคยสนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรม  เพราะความชนะในทางคดีโลก  ส่วนใหญ่มุ่งแต่ความชนะผู้อื่นเป็นที่ตั้ง  เรื่องการชนะตนเองไม่ค่อยคำนึงถึง  เมื่อมุ่งแต่จะเอาชนะผู้อื่น  ก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องการต่อสู้ทุกๆด้าน  ทั้งด้านกำลัง  ด้านชั้นเชิง  ด้านเชาว์ไวไหวพริบ เป็นต้น เพื่อให้เหนือกว่า  ยิ่งกว่าคู่ต่อสู้  ในการบางครั้งมุ่งหวังเพื่อผลคือ ความชนะแก่ตนเองและแก่หมู่คณะของตนจนเกินไป  ถึงกับพริกผันปัญญาความพริบไหวที่ถูกต้องยุติธรรมเป็นทุปปัญญาไป  ก็จำต้องทำอย่างนี้ก็มี  ทุปปัญญานั้นได้แก่  ปัญญาที่เจือด้วยเล่ห์เหลี่ยม  กลโกง  เอารัดเอาเปรียบ  ไม่สุจริตมีประการต่างๆ ความชนะที่ได้มาด้วยวิธีการเช่นนี้  แม้จะยินยอมกันได้  ก็เป็นแต่เพียงเพื่อยุติเท่านั้น  แต่หาหยุดสุดสิ้นยินยอมที่แท้จริงไม่  ยังจะต้องมีการต่อสู้ขับเคี่ยวกันต่อไป  ไม่มีที่สิ้นสุด  ฝ่ายที่พ่ายแพ้ย่อมไม่พอใจ  เป็นทุกข์เป็นโศก  มีความเคืองแค้น  หมายมั่นจองเวรกันต่อไปนานเท่านาน  ฝ่ายที่ชนะเป็นฝ่ายก่อเวร  ฝ่ายแพ้เป็นฝ่ายจองเวร  ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีเวรทั้ง ๒ ฝ่าย  ขึ้นชื่อว่าผู้มีเวรแล้ว  ย่อมจะมีความสุขที่แท้จริงไม่ได้  และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ความไม่เป็นที่ยอมรับ  ไม่เป็นที่ปราบปลื้มอนุโมทนาสาธุการในหมู่มนุษย์และเทวดาโดยทั่วหน้า  ดังที่กล่าวถึงตามกระทู้ข้างต้นนี้
ความ มุ่งหมายของกระทู้นี้  เป็นความมุ่งหมายในทางคดีธรรม  หมายถึงความชนะที่บริสุทธิ์ยุติธรรม  และมุ่งถึงความชนะตนเองเป็นที่ตั้ง  เพราะความชนะเช่นนั้น เป็นความชนะที่ปราศจากเวรภัย  ทั้งเป็นที่ยอมรับของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายทั้งปวง  ความชนะเช่นนั้นย่อมเกิดมีขึ้นได้ก็เพราะศีลและปัญญา  ดังเช่นที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานและท่านได้รับรองและ ยืนยันว่า  ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลก  เพราะศีล  ไม่ว่าจะเป็นศีลประเภทใด  มีศีล ๕ เป็นต้น  ล้วนแต่เป็นข้อปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินของชีวิต  ทำชีวิตให้เป็นอยู่อย่างปกติ  ที่นั้นก็เป็นสุข  ศีลนั้นนอกจากเป็นเลิศในการทำผู้ปฏิบัติให้มีความเป็นอยู่อย่างปกติสุขแล้ว  ศีลยังเป็นเลิศในด้านปรับปรุงรากฐานของชีวิตให้มั่นคง  เป็นที่พึ่ง  เป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมน้อยใหญ่ให้ตั้งมั่นและเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป  สมตามเทศนานัยเถรภาษิต  ที่มาในขุททกนิกาย  เถรคาถาว่า
อาทิ  สีลํ  ปติฏฺฐา  จ                               กลฺยาณนญฺจ  มาตุกํ
ปมุขํ  สพฺพธมฺมานํ                 ตสฺมา  สีลํ  วิโสธเย
ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น  เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย
เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง  เพราะเหตุนั้น  ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์.
ศีลจะมีคุณค่า  มีประสิทธิภาพ  เป็นที่พึ่ง  เป็นมารดา  เป็นประมุขของความดีทั้งปวงได้  ก็อยู่ที่ผู้ปฏิบัติคอยพิจารณาสำรวจตรวจตรา  ชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ  ไม่ให้ขาดไม่ให้ด่างพร้อย  ศีลที่บริสุทธิ์จึงเป็นเลิศในการเป็นเกราะคุ้มครองเวรภัย  ทำความระแวงหวาดกลัวให้สลายไป มีความเป็นอยู่เป็นสุขสดใสในโลกสันนิวาสนี้  สมจริงตามพระคาถาบาลี  ที่มาในขุททกนิกาย  ธรรมบทว่า
สุสุขํ  วต ชีวาม                       เวริเนสุ  อเวริโน
เวริเนสุ  มนุสฺเสสุ   วิหาราม  อเวริโน
ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวรกัน  เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่  ในหมู่มนุษย์
ผู้มีเวรกัน  เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่  เราจึงเป็นอยู่อย่างเป็นสุขดีหนอ.
                การ รักษาศีลให้บริสุทธิ์  เป็นที่มั่นใจในศีลของตนก็ต้องอาศัยปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องชำระศีลให้บริสุทธิ์  ศีลนั้นแม้จะเป็นเลิศ  ทำให้ปลอดเวรปลอดภัย  มีความสุขกายสุขใจได้  ก็อยู่ในระดับของศีลเท่านั้น  เพราะศีลเป็นเพียงเบื้องต้น  เป็นเครื่องป้องกัน  กำจัดได้เฉพาะกิเลสอย่างหยาบ  มีทุจริตทางกาย  ทางวาจา  ปิดกั้นทุคติภูมิ  เปิดทางนำไปสู่ทุคติภูมิเท่านั้นศีลเป็นเครื่องอบรมจิตเบื้องต้น  ทำจิตให้มีหลัก  หนักแน่นเป็นสมาธิที่จะดำเนินไปสู่ระดับสูงยิ่งๆ ขึ้นไป    ผู้มีศีลสมบูรณ์  มีสมาธิ  มีปัญญาพอประมาณ  เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอริยคุณขั้นสูงสุด  คือพระอรหันต์  ปัญญาจึงเป็นคุณขั้นอุดม  สามารถกำจัดกิเลสาสวะทั้งอย่างหยาบ  อย่างละเอียดให้หมดสิ้นไป  ไม่มีส่วนเหลือ  เมื่อกล่าวถึงความชนะกันแล้ว  ผู้ที่กำจัดกิเลสของตนได้  ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส  ไม่ถูกกิเลสฉุดคร่าพาไป  ผู้นั้นชื่อว่า  เป็นผู้ชนะตนเอง  ผู้ที่ชนะตนเองได้  ได้ชื่อว่าเป็นจอมแห่งผู้ชนะ  ความข้อนี้ สมกับพระพุทธวจนะคาถาที่มาใน  ขุททกนิกาย  ธรรมบทว่า
โย  สหสฺสํ  สหสฺเสน             สงฺคาเม  มานุเส  ชิเน
เอกญฺจ  ชยมตฺตานํ                ส  เว  สงฺคามชุตฺตโม
บุคคลใด  พึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพันในสงคราม  บุคคลนั้น
(ยังหา) ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงครามไม่  ส่วนบุคคลใด  พึงชนะ
ตนผู้เดียวได้  บุคคลนั้นแล (ชื่อว่า) เป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม.
                ความ ข้อนี้  พึงเห็นได้จากพระปฏิปทาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงชนะศัตรูหมู่มารคนพาล ทั้งปวงเป็นอุทาหรณ์  พระองค์ทรงใช้คุณธรรม คือ ศีลและปัญญา  เป็นเครื่องปราบ  ทำเหล่าพาลให้สงบราบคาบ  โดยไม่รู้สึกตัวว่า  ตนเป็นผู้ได้รับความเจ็บช้ำระกำใจ  ไม่คิดจองเวรจองภัย  เพราะความพ่ายแพ้  มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย  และเป็นที่ชื่นชมแซ่ซ้องสาธุการกันทั่วหน้า  ปราชญ์ผู้มีปัญญาในอดีตจึงได้บันทึก  จารึกเป็นพุทธชยมงคลอัฏฐคาถา สรรเสริญพุทธปฏิปทาที่ทรงมีชัยแก่เหล่าหมู่มารพาลร้ายครั้งยิ่งใหญ่รวม ๘ หน พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธา ใช้เป็นข้อสวดร้องท่องบ่น  จำทรงสืบๆ กันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
                สรุป ความตามที่ได้บรรยายมา  จะเห็นจริงได้ว่า  ศีลและปัญญาเป็นปฏิปทาที่ล้ำเลิศประเสริฐสูงสุด  ใช้ได้ทั้งเป็นเกราะและอาวุธรักษาตน  ทั้งเป็นเครื่องต่อสู้กับเหล่าพาลชนประสบผลคือความมีชัย  เป็นที่พึ่งพอใจของมนุษย์และเทวดา  สมตามกระทู้ธรรมคาถาที่ตั้งไว้ตอนต้น  ซึ่งมีอรรถาธิบายตามที่บรรยายมา  ด้วยประการฉะนี้ ฯ
(ตัวอย่างเรียงความแก้กระทู้ธรรม ๒)                  หมวดไม่ประมาท
เอวํวิหารี สโต อปฺปมตฺโต
ภิกฺขุ จรํ หิตฺวา มมายิตานิ
ชาติชฺชรํ โสกปริทฺทวญฺจ
อิเธว วิทฺวา ปชเหยฺย ทุกฺขํ
ภิกษุมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติไม่ประมาท เป็นผู้รู้ละความถือมั่น
ว่าของเราได้แล้วเที่ยวไป พึงละชาติ ชรา โสกะ ปริเทวะและทุกข์ ในโลกนี้ได้
บัดนี้จักได้อธิบายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิต ที่ได้ลิขิตไว้เป็นข้ออุเทศเบื้องต้นนั้น พอเป็นแนวทางศึกษาและปฏิบัติของสาธุชนพุทธมามกบริษัททั้งหลายผู้ฝักใฝ่ใคร่ต่อพระสัทธรรม ของพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์ เพื่อยึดถือเอาพระสัทธรรมเหล่านั้นเป็นเครื่องอบรมบ่มนิสัยของตน และผู้อื่นให้บรรลุถึงความสุขอันเกิดจากการข้ามชาติชราโสกะปริเทวะทุกข์ทั้งหลายเป็นลำดับไป
เนื้อความแห่งกระทู้นี้มีอยู่ว่า ภิกษุคือผู้ละเพศคฤหัสถ์ถือเพศสมณะมีสมณธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีศีลเป็นเครื่องรักษากายวาจา และใจ ให้สงบเรียบร้อยปกติสุข มีสมณสัญญาอยู่เสมอ มีสติ ความระลึกได้อยู่ทั้งที่คิด ทั้งที่พูด ทั้งที่ทำ แม้ตนเองคิดดี คอดชั่ว คิดผิด คิดถูกก็ดี พูดดี พูดผิด พูดถูกก็ดี ทำดี ทำชั่ว ทำผิด ทำถูกก็ดี ก็ระลึกได้อยู่ กล่าวคือกำหนดรู้อยู่เสมอในเหตุนั้น มีความไม่ประมาทคือไม่ปล่อยให้สติเผลอไปในอารมณ์แห่งการคิด การพูดและการกระทำนั้นๆ กล่าวคือยั้งสติไว้ในอารมณ์นั้นๆ ให้มั่นคงไม่หวั่นไหว เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาย่อมเกิดปัญญาความรู้แจ้งขึ้นว่าเขาคิดผิดคิดถูก พูดผิดถูกหรือกระทำผิดกระทำถูกอย่างไร จึงยอมละความคิดผิด พูดผิด ทำผิดอย่างนั้นเสีย ยึดเอาการคิดถูก พูดถูก และทำถูกเป็นเกณฑ์ รู้เท่าทันธรรมดาของทุกสิ่งในโลกนี้ว่าตกอยู่ในลักษณะอาการทั้ง ๓ ประการ คือ อนิจฺจตา ความเป็นสภาพไม่เที่ยง ทุกฺขตา ความเป็นสภาพลำบากยากแค้นไม่สบายต่างๆ นานา อนตฺตตา ความเป็นสภาพไม่ใช่ตัวตน เพราะไม่เป็นไปในอำนาจของใคร เมื่อรู้เช่นนี้ เขาย่อมละความยึดมั่นถือมั่นว่ารูปของเรา เสียงของเราเป็นต้นเสียได้ เขามีปหานธรรมเป็นเครื่องละ ชาติ คือความเกิด ชรา คือความแก่คร่ำคร่า ปริเทวะ คือความพิไรรำพัน และทุกข์คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ ในโลกนี้เสียได้
คำว่า ภิกษุแปลว่าผู้ขอ คือกุลบุตรได้รับอุปสมบทแล้วในพระพุทธศาสนย่อมยึดถือเอาเพศแห่งสมณะ มีสมณกิจเป็นเครื่องประกอบกิจที่สมณะประกอบนั้น ย่อมเป็นกิจที่ถูกต้อง ไม่ผิดทั้งทางคดีธรรมคือระเบียบแบบแผนแห่งธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญิติไว้แล้ว ตรงกับคำพระบาลีว่า สมณีธ อรณา โลเก แปลว่า สมณะไม่เป็นข้าศึกในโลก การขอของบรรชิตนี้ไม่ได้ขอด้วยการเอ่ยปากว่า ท่านจงให้สิ่งนั้นแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการสิ่งโน้นดังนี้ แต่ว่าขอด้วยกาย คือ แสดงความประสงค์หรือความต้องการให้รู้ได้ด้วยกิริยาอาการ แม้ผู้ถูกขอจะให้หรือไม่ก็ตามที บรรพชิตผู้เป็นสมณะนั้น ย่อมไม่แสดงอาการโกรธฉุนเฉียวหรือไม่พอใจแต่ประการหนึ่งประการใด เรียกว่าการขอด้วยอาการสงบเสงี่ยมเรียบร้อยและบรรพชิตนั้นจะต้องประพฤติตัวให้เป็นผู้อันเขาเลี้ยงง่าย ชาวบ้านเขาบริโภคอาหารกันจะดีเลว ละเอียด ประณีต ร้อน เย็น ประการใดก็ตาม ชื่อว่าย่อมสมควรแก่บรรพชิตทั้งสิ้น อนึ่ง บรรพชิตย่อมถึงการเที่ยวไปบิณฑบาตตามตรอกน้อยและใหญ่ถึงความมานะว่าหากเท้าทั้งสองยังเดินไปได้ จักเป็นผู้เดินไปด้วยเท้า และจักยืนที่ประตูเรือนเท่านั้นรับภิกษา ต้องตามภาษิตกถาในธรรมบทขุททกนิกายว่า
ปจฺจติ มุนิโน ภตฺตํ                                 โถกํ โถกํ กุเล กุเล
ปิณฺฑิกาย จริสฺสามิ                                อตฺถิ ชงฺฆพลํ มม
ภัตรในทุกๆ สกุลละนิดละหน่อย       อันชนหุงไว้เพื่อมุนี เรา
จักเที่ยวไปด้วยปลีแข้งเพราะกำลังปลีแข้งของเรายังมีอยู่ ดังนี้
แม้เป็นความจริงอยู่แล้ว บรรพชิตจะต้องอาศัยบิณฑบาตลี้ยงอัตภาพให้เป็นอยู่ การเที่ยวสู่ตรอกน้อยใหญ่ที่มีภัตรตระกูลละนิดละหน่อยเพื่อรับภิกษานั้น ย่อมถูกต้องตามประเพณีของสมณะบรรพชิต ผู้มีศีลเป็นเครื่องรักษากายวาจาและใจให้ปกติสงบจากบาปอกุศลทั้งหลาย ย่อมมีความเป็นอยู่ด้วยอาหารอันชาวบ้านเขาถวาย บรรพชิตผู้ประกอบด้วยสมณกิจดังกล่าวนี้ชื่อว่าภิกษุ
ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของภิกษุนั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลคือธรรมที่ปรกติจากการประพฤติชั่วทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง และทางใจบ้าง ทางกาย เช่น เว้นจากการฆ่ามนุษย์และสัตว์  เว้นจากการขโมยสิ่งของผู้อื่นหรือถือเอาสิ่งของ ของผู้อื่นด้วยอาการแห่งขโมย การเว้นจากเสพเมถุนธรรมเป็นต้น เหล่านี้ชื่อว่าการประพฤติเว้นจากกรรมชั่วทางกาย ทางวาจา เช่นเว้นจากพูดโกหกอวดอุตตริมนุษยธรรม คือธรรมอันยิ่งแห่งมนุษย์ที่ไม่มีอยู่ในตนเป็นต้น ชื่อว่าการประพฤติเว้นจากกรรมชั่วทางวาจา ทางใจ เช่นการคิดเว้นจากการเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์คิดเว้นจากการลักสิ่งของ ของผู้อื่น เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่าการเว้นจากกรรมชั่วทางใย และให้กลับประพฤติดีทางกาย วาจา และใจ แม้ผู้อื่นก็มีชีวิตจิตใจ รู้สึกเจ็บปวดเมื่อถูกประทุษร้ายและมีความไม่อยากตาย มีความอยากเป็นอยู่ ทุกคนต่างก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน การไม่ผลาญชีวิตหรือไม่ทำร้ายกันและกันนั้น จึงเป็นการประพฤติดีทางกายมีวาจาพูดแสดงให้คนรู้จักความมุ่งหมายของกันและกัน การพูดไพเราะก็ทำให้ผู้ฟังสุขหูและทำให้เกิดประโยชน์ได้ ถ้าเป็นวาจาที่จริงต่ออรรถต่อธรรม วาจานั้นเป็นสำเนียงบอกภาษาทำให้คนรู้จักได้ดังภาษิตว่า สำเนียงบอกภาษา กิริยาบอกสกุลแต่วาจาที่จะให้สำเร็จประโยชน์ได้นั้น ก็ต้องเป็นวาจาที่จริงต้องตามพระบาลีว่า สจฺจํ เว อมตา วาจา แปลว่า คำสัตย์เท่านั้นเป็นวาจาที่ไม่ตาย ทุกคนต้องการวาจาคือการพูดจาปราศัยที่จริงต่อเหตุผล และชอบวาจาที่ไพเราะเสนาะโสตด้วยกันทั้งสิ้น การไม่โกหกอวดอุตตริมนุษยธรรมอันไม่มีมูลความจริงต่อกันและกันนั้น  จึงเป็นการประพฤติที่ดีทางวาจา มีใจเป็นเครื่องรับรู้อารมณ์ต่างๆ และยึดเอาอารมณ์ที่คิดแล้ว บังคับให้แสดงออกทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง กรรมชั่วทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นทางกายและวาจานั้นคือจะปรากฎประจักษ์แก่มือ แก่เท้า แก่หู แก่ตา แก่ปากทั้งตนและผู้อื่นได้นั้นต้องมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจทั้งสิ้น ต้องตามนัยธรรมภาษิตที่มีมาในธรรมบทขุททกนิกายว่า
มโนปุพฺพงฺคม ธมฺมา             มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏเฐน                  ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ               จกฺกํว วหโต ปทํ.
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นสภาพถึงก่อน มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐ สำเร็จด้วยใจ
หากชนมีใจรายแล้ว กล่าวอยู่ก็ดี กระทำก็ดี ทุกข์ย่อมไปตามเขาเพราะทุจริตทั้ง
๓ ประการนั้น ประดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้นำธุระไปอยู่ฉะนั้น
นี่พอจะชี้ให้เห็นแล้วว่าธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสำเร็จด้วยใจ คือใจเป็นสภาพของเจ้าเรือน มือจะทำอะไร ปากจะพูดอะไร เนื่องจากใจเป็นหัวหน้าเป็นใหญ่ สำเร็จเพราะใจ เมื่อชนมีใจดี การกล่าวและการกระทำทั้งสองประการนี้ก็ดีไปตาม ถ้าใจชั่วร้าย การกล่าวและการกระทำก็ชั่วร้าย เขาย่อมลำบากเพราะผลกรรมอันเป็นกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ย่อมติดตามเขาไป ล้อแห่งเกวียนหมุนไปตามรอยเท้าแห่งโค ลากเกวียนไปอย่างไม่ลดละจนไปถึงที่หมายได้ข้อนี้ฉันใด บาปกรรมอันชั่วร้ายก็ย่อมติดตามคนชั่วไปจนถึงที่นั่นฉันนั้น เมื่อคนมีใจดีการกล่าวและการกระทำก็ดีไปตามกัน ธรรมที่เป็นกุศลทั้งหลายก็ยังมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นสภาพประเสริฐ สำเร็จแล้วด้วยใจ สุขเท่านั้นย่อมตามเขาไป เพราะสุจริตทั้ง ๓ ประการ คือ กายก็เป็นกายสุจริต วาจาก็เป็นสภาพที่สุจริต และใจก็เป็นธรรมชาติที่สุจริต เงาย่อมติดตามตัวคนไปทุกวิถีก้าว แม้คนจะยืนมันก็ยืนตาม จะนอนมันก็นอนตาม จะนั่งมันก็นั่งตาม จะทำอะไรต่ออะไรมันก็ทำตามเราได้ทุกวิถีทาง ข้อนี้ฉันใด บุญกุศลคือความสุขก็ย่อมติดตามชนผู้มีใจดี กล่าวดี กระทำดี ไปฉันนั้น จึงต้องตามวจนประพันธ์ธรรมภาษิตที่มาในธรรมบทขุททกนิกายว่า
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา            มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน                 ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ สุขมเนฺวติ                  ฉายาว อนุปายินี.
ธรรม (ที่เป็นกุศล) ทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐ สำเร็จด้วยใจ
หากคนมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ดี กระทำอยู่ก็ดี สุขย่อมไปตามเขาเพราะสุจริต
๓ ประการนั้น ประดุจเงามีปกติตามตัวฉะนั้น
ชี้ให้เห็นว่าคนกล่าวดีก็เพราะใจดี ทำดีก็เพราะใจดี สุขอันเป็นผลแห่งกรรมดีนั้น ย่อมติดตามเขาไป แม้เขาจะยืนเดินนั่งนอนก็ได้รับความสบาย คนทั่งหลายย่อมชอบการคิดดี ไม่คิดพยาบาทปองร้ายกันเป็นต้น จึงไม่ควรทำความเดือดร้อนให้ต่อกันและกัน เช่นนี้จึงชื่อว่าเป็นการประพฤติดีทางใจ การรักษาตัวคือสังวรระวังตัวให้ปรกติจากการประพฤติผิดทางกาย วาจา และใจ ทั้ง ๓ ทวารนี้ ชื่อว่า ศีล ความจริงพระพุทธพจน์มีอยู่ว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว สีลํ วทามิ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นศีล ดังนี้ หมายความว่า ความจงใจเว้นจากการกระทำชั่วเว้นจากการพูดชั่ว เว้นจากการคิดชั่ว จึงจะชื่อว่าเป็นปรกติ เป็นตัวศีลได้
สมาธิ คือการทำใจให้นิ่ง แม้ใจจะนิ่งได้ก็เพราะศีลเป็นเบื้องต้น ศีลจึงเป็นที่ตั้งคือเป็นบาทวิถีเบื้องต้นของสมาธิ การทำใจให้นิ่งที่เรียกว่าสมาธินั้นแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทบ้าง ๓ ประเภทบ้าง ตามกิจแห่งอารมณ์นั้นๆ ที่แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทนั้น คือ อุปจารสมาธิ สมาธิเป็นแต่เฉียดๆ ประการหนึ่ง อปฺปนาสมาธิ  สมาธิอันแน่วแน่ประการหนึ่ง การทำใจให้นิ่งชั่วครั้งชั่วคราว คือมีอารมณ์เดียวชั่วขณะใดขณะหนึ่ง ไม่ดิ่งลงไปแท้ เป็นแต่เพียงเฉียดๆ ชื่อว่าอุปจารสมาธิ การทำใจให้แน่วแน่ลงไป คือมีอารมณ์เดียวให้ตลอดไป ดิ่งลงไป สุขุมลงไปกว่าอุปจารสมาธิ ชื่อว่าอัปปนาสมาธิ ที่แบ่งออกเป็น๓ ประเภทนั้นคือ  (๑) สุญฺญตสมาธิ การทำใจให้นิ่งจากความว่างเปล่า ได้แก่ว่างเปล่าจากราคะ ความกำหนัดยินดี ว่างเปล่าจากโทสะ ความโกรธประทุษร้าย ว่างเปล่าจากโมหะความหลงใหล (๒) อนิมิตฺตสมาธิ  การทำใจให้นิ่งจากเรื่องหมายได้แก่ไม่มีเครื่องหมายกล่าวคือ ราคะ โทสะ โมหะ (๓) อปฺปณิหิตสมาธิ การทำใจให้นิ่งจากที่ตั้ง กล่าวคือ การไม่มีราคะ โทสะ และโมหะเป็นที่ตั้ง สมาธิดังกล่าวนี้ย่อลงได้เป็น ๒ ประการคือ สมาธิของสามัญชนประการหนึ่ง สมาธิของอริยชนประการหนึ่ง
ปัญญา แปลว่าความรู้ทั่ว กล่าวคือการรู้เหตุและผลตามความเป็นจริงรู้ว่ามีเหตุดี จึงมีผลดี หรือรู้เหตุเป็นมาแล้วว่าไม่ดี ผลจึงไม่ดี หรือเหตุเป็นเช่นนั้นผลจึงเป็นเช่นนี้ ผลเป็นเช่นนี้เหตุจึงเป็นเช่นโน้นเป็นต้นอย่างถูกต้อง ปัญญานั้นก็แบ่งได้เป็น ๒ ประเภทคือ โลกิยปัญญา ปัญญาอันเป็นวิสัยของโลกิยมหาชนประเภทหนึ่ง โลกุตตรปัญญา ปัญญาอันพ้นวิสัยของโลกิยมหาชน คือเป็นปัญญาของพระอริยเจ้าประเภทหนึ่ง ดังกล่าวมานี้ชื่อว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่ของภิกษุทั้งหลาย
คำว่า สติแปลว่าสภาพที่ระลึกได้ แม้คนจะทำงานอะไรที่จะให้เป็นไปโดยถูกต้อง หรือพูดอะไรที่จะไม่ให้ผิดพลาด และคิดอะไรที่จะไม่ให้ผิดได้นั้น ต้องอาศัยสติเป็นเครื่องควบคมอยู่เสมอ การกระทำ การพูด การคิด เหล่านี้จึงจะเป็นไปโดยถูกต้องได้ สติเป็นประดุจหางเสือของเรือ เรือจะวิ่งตรงไปได้ ก็เพราะหางเสือ หรือประดุจนายท้าย เรือจะตรงไปได้ก็เพราะนายท้ายที่ดีฉันใด คนจะทำจะพูดจะคิดถูกต้องให้ได้นั้นก็ต้องอาศัยสติฉันนั้น เพราะสติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่เสมอ ต้องตามนัยธรรมภาษิตที่มาในสคาถวรรคสังยุตตนิกายว่า
สติ โลกสฺมิ ชาคโร
สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก
เป็นความจริงอยู่เอง บรรดามนุษย์ทั้งหลายบนพื้นพิภพโลกนี้ ย่อมมีสติเป็นเครื่องควบคุมอยู่ทุกคน แต่ว่าสติของพวกเขาเหล่านั้นย่อมมีเหลื่อมล้ำต่ำสูงมากน้อยยิ่งหย่อนกว่ากันอยู่บ้าง การทำ การพูด การคิดของคนเราแต่ละคนจึงไม่เสมอเหมือนกัน กล่าวคือย่อมยิ่งหย่อนมากน้อยผิดถูกต่างๆ กัน ผู้ใดมีสติตลอดกาล ผู้นั้นก็ทำ พูด คิด เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องเสมอ ผู้มีสติบางครั้งบางคราว การทำ พูด คิด ก็ย่อมมีพลั้งเผลอและเป็นไปด้วยความไม่สม่ำเสมอกัน ผิดบ้างถูกบ้าง จะอย่างไรก็ดี ผู้กระทำพูดคิดนั้น จะทำอะไร จะพูดอะไรและคิดอะไรให้ถูกต้องได้นั้น ต้องอาศัยสติคือธรรมเป็นเครื่องตื่น สตินั้นย่อมปลุกให้คนระลึกได้ให้ตื่นขึ้นอยู่เสมอ
ความไม่ประมาท ก็คือความเป็นผู้ไม่อยู่ปราศจากสตินั่นเอง กล่าวคือมีสติอยู่เสมอ ความไม่ประมาทนั้น ท่านกล่าวว่าเป็นรากเหง้าแห่งกุศลทั้งหลาย เป็นที่ประชุมหรือเป็นที่รวมลงแห่งกุศลธรรมทั้งหลายคนผู้ประกอบด้วยความไม่ประมาทชื่อว่าย่อมยังกุศลธรรมทั้งปวงให้เกิดขึ้น เขาย่อมไม่เลินเล่อในการทำ พูด คิด ทั้งต่อหน้าหรือลับหลัง เขาทำอะไร พูดอะไร หรือคิดสิ่งไหน ย่อมล้วนแต่เป็นกุศลธรรมคือธรรมอันเป็นสภาพที่ดี เป็นสภาพที่หลีกธรรมที่ชั่วที่เป็นบาปอกุศลออกไป น้อมนำเอาแต่ธรรมที่ดีเท่านั้นเข้ามา ฉะนั้น สภาพแห่งธรรมที่เป็นบุญกุศลทั้งหลาย จึงมีความไม่ประมาทเท่านั้นเป็นที่รวมลง เป็นที่ประชุมลงต้องตามพระพุทธนิพนธ์ภาษิตว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว ยานิ กานิจิ ชงฺคลานํ ปาณานํ ปทชาตานิ สพฺพานิ ตานิ หตฺถิปเท สโมธานํ คจฺฉนฺติ หตฺถิปทํ เตสํ อคฺคมกฺขายติ ยทิทํ มหนฺตตฺเตน เอวเมว โข ภิกฺขเว เยเกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อปฺปมาทมูลกา อปฺปมาทสโมสรณา อปฺปมาโท เตสํ ธมฺานํ อคฺคมกฺขายติแปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายรอยเท้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งของสัตว์ทั้งหลายผู้สัญจรไปบทแผ่นดิน รอยเท้าทั้งปวงเหล่านั้นย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าแห่งช้าง รอยเท้าช้างอันชาวโลกย่อมเรียกว่าเป็นยอดแห่งรอยเท้าทั้งหลายเหล่านั้น เพราะรอยเท้าช้างนี้เป็นของใหญ่แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีความไม่ประมาทเป็นรากเหง้า มีความไม่ประมาทเป็นที่ประชุมลง ความไม่ประมาทอันเรา (ตถาคต) กล่าวว่าเป็นยอดแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกันแล
ดังนี้ ที่เป็นดังนี้ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายบนโลกนี้ คือที่เห็นมีอยู่ในปัจจุบันนี้ ช้างชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ใหญ่ เท้าของช้างนั้นก็ใหญ่ สัตว์ทั้งหลายสัญจรไปมาในที่ไหนๆ รอยเท้าย่อมปรากฏในที่นั้นๆ เสมอ เมื่อสัตว์ทั้งหลายเดินไปมาขวักไขว่อยู่เช่นนั้น มนุษย์ผู้ที่สังเกตตรวจตราหรือผู้ที่ไปมาอยู่บนโลกนี้ ย่อมจะเห็นรอยเท้าของสัตว์เหล่านั้น เมื่อเขาเห็นแล้วย่อมเทียบเคียงดู แล้วเขาก็จะเห็นประจักษ์ได้อย่างแน่ชัดว่า รอยเท้าบรรดาที่มีอยู่ในโลกนี้ มีรอยเท้าช้างเท่านั้นเป็นรอยเท้าที่ใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งปวง รอยเท้าสัตว์ทั้งปวงจึงชื่อว่ามีรอยเท้าช้างเป็นยอดทั้งหมด เพราะรอยเท้าช้างนั้นใหญ่ บรรดากุศลธรรมทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมดย่อมมีความไม่ประมาทเป็นรากเหล้า มีความไม่ประมาทเป็นที่ประชุมลงเพราะความไม่ประมาทนั้นเป็นยอด คือเป็นธรรมที่ดีเลิศส่วนใหญ่ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ยังได้ตรัสไว้อีก เมื่อจวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งมาในโอวาทปาฏิโมกข์บาลี เป็นปัจฉิมวาจาว่า หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สังฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถแปลว่า เอาเถอะภิกษุทั้งหลายเราย่อมตรัสเรียกพวกเธอมาในกาลบัดนี้ (เพราะว่า) สังขารทั้งหลายเป็นสภาพมีความเลื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ปรมาทให้ถึงพร้อมเถิดดังนี้ จะทราบได้ว่าพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นห่วงพุทธเวไนยนิกรเพียงไร แม้สังขารทั้งหลายมีเหตุปรุงแต่งขึ้นย่อมเป็นไปในคติธรรมดา คือ อนิจจตา ความเป็นสภาพไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นสภาพที่ลำบากแสนเข็ญ อนัตตตา ความเป็นสภาพที่ไม่ใช่ตน เพราะไม่เป็นไปในอำนาจของใคร เป็นไปตามปัจจัย คือ มีเกิดในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง และย่อมสลายไปในที่สุด ได้ความว่าธรรมทั้งหมดย่อมเกิดขึ้นแต่เหตุ เมื่อจะดับไปก็เพราะเหตุดังนี้ เหล่านี้เป็นธรรมของสังขารทั้งหลาย เมื่อรู้คติแห่งธรรมแล้ว คนเราจึงควรไม่ประมาท คือ ไม่ปล่อยสติให้เพลิดเพลินในอารมณ์ต่างๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลธรรม อย่าอยู่ปราศจากสติ คือให้มีสติประจำอยู่เสมอทุกเวลาและนาที
เป็นผู้รู้นั้น คือรู้ว่าบรรดาสัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะมนุษย์เป็นสัตว์มีใจสูงกว่าสัตว์ทั้งหมด จึงรู้ว่าเมื่อทำกรรมดีก็ย่อมมีผลเป็นสุข เมื่อทำกรรมที่เป็นต้นเหตุชั่ว ก็ย่อมมีผลเป็นทุกข์ แม้คนจะดีได้ก็เพราะกรรมดี คนจะเลวได้ก็เพราะกรรมชั่ว เกตุดีก็มิได้พลาดไปจากผลดี หากแต่ว่ากรรมเป็นไปด้วยความสม่ำเสมอกันหรือรู้สภาวธรรมทั้งหลายที่มีจิตใจครองก็ดี หาจิตใจครองมิได้ก็ดี รูปธรรมก็ดี นาธรรมก็ดี รูปธาตุก็ดี ซึ่งประชุมกันเข้าแล้ว แม้สภาพที่ยังมีปัจจัยปรุงแต่งอยู่คือ ยังมีกรรม กิเลส วิบาก หมุนเวียนกันอยู่นั้น ยังเป็นสภาพที่ต่ำอยู่ ย่อมมีความเกิดขึ้นแปรปรวนไป ทรุดโทรมไป สลายไป เป็นลำดับ ส่วนสภาพที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้น คือเป็นสภาพที่อยู่เหนือบาปและบุญ ย่อมไม่มีความเกิด ไม่มีความเปลี่ยนแปลงไม่มีความทรุดโทรม และไม่มีความเลื่อมสลาย สภาพที่เป็นเช่นนี้คือพระอมตมหานิพพาน กล่าวคือสภาพดับจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือจากสรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย สรรพอันตรายทั้งหมด อนึ่งรู้ว่า กรรมที่ทำในอดีตชาติที่ล่วงแล้วนั้น ย่อมให้ผลในอนาคตชาติก็มี กรรมที่ทำแล้วในปัจจุบันชาตินี้ ย่อมให้ผลในชาตินี้ก็มี เป็นต้น เป็นลำดับกัน
ภิกษุผู้มีธรรม มีสติ มีความไม่ประมาท มีความรู้ดังกล่าวแล้วนั้น ย่อมละความยึดมั่นต่อสภาพธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ต่อสภาพธรรมที่เกิดในเบื้องต้นแปรปรวนในท่ามกลาง หมดลงในที่สุดนั้น คือไม่ยึดถือว่าเป็นของ ของเรา เพราะเป็นธรรมดาแห่งสภาวธรรมที่เกิดจากเครื่องปรุงแต่ง อันสิ่งที่ธรรมสร้างขึ้นมาเป็นสังขารหาใจครองมิได้ ย่อมเป็นสภาพที่สวยสดงดงามก็มี สิ่งที่เป็นสังขารมีใจครองย่อมเป็นผู้แต่งเขาเองให้สวยสดงดงามบ้างก็มี สิ่งสวยงามจากธรรมชาติก็ดี จากสัตว์ทั้งหลายก็ดี ย่อมเป็นสิ่งที่ตรึงตาตรึงใจ เป็นเครื่องผูกมัดจิตใจให้เข้าไปผูกพันไว้ เมื่อมีจิตใจผูกพัน เขาย่อมยึดว่าสิ่งที่ตนได้สมปรารถนานั้นเป็นของข้าพเจ้าทั้งหมด ชื่อว่าความยึดมั่นถือมั่น ภิกษุผู้มีธรรม มีสติ มีความไม่ประมาท มีความรู้เป็นเครื่องรักษาตนแล้วย่อมละความยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าเขา ว่าของเรา ว่าของเขา เหล่านี้เสียได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาก็ย่อมชื่อว่าพึงละชาติ คือ ความเกิด ชราคือความแก่เฒ่าคร่ำคร่าทรุดโทรม โสกะคือความเศร้าโศกเสียใจ ปริเทวนาคือการคร่ำครวญและทุกข์คือความไม่สบายกายสบายจิตในโลกนี้เสียได้เรื่อยไป สมดังนัยธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า
เอวํวิหารี สโต อปฺปมตฺโต
ภิกฺขุ จรํ หิตฺวา มมายิตานิ
ชาติชฺชรํ โสกปริทฺทวญฺจ
อิเธว วิทฺวา ปชเหยฺย ทุกขํ
ภิกษุมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติไม่ประมาท
เป็นผู้รู้ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้วเที่ยวไป
พึงละชาติ ชรา โสกะ ปริเทวะ และทุกข์ในโลกนี้ได้.

ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้ฯ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘