กฐิน

   รวบรวมและเรียบเรียงโดย
                                                                               พระมหา ดร.วรัญญู วรญฺญู  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ กทม.


---คำ ว่า “กฐิน” เป็นคำที่คุ้นหูในสังคมไทย เป็นชื่อของประเพณีบุญที่นิยมกันในระยะเวลา ๑ เดือน โดยเริ่มต้นที่วันถัดจากวันออกพรรษาไปถึงวันลอยกระทง ถือเป็นประเพณีบุญที่สำคัญของสังคมไทยมาแต่โบราณ

---แต่ อย่างไรก็ตาม ชีวิตและสังคมที่เร่งรีบในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบมาถึงประเพณีการทอดกฐิน ให้กลายเป็นประเพณีที่เร่งรีบ และทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความประสงค์ที่แท้จริงของประเพณี ดังกล่าว ทั้งอาจจะทำให้ไม่ได้บุญจากการทอดกฐินเลยก็ได้  แล้วทำอย่างไรให้ได้บุญจากการทอดกฐิน นั่นคือประเด็นที่มุ่งหมายของบทความ นี้

*ความหมาย

---คำว่า กฐิน  คำนี้ มาจากภาษาบาลีแปลว่า "ไม้สะดึง" หรือ "กรอบไม้ที่ใช้สำหรับขึงผ้าให้ตึง เพื่อประโยชน์ในการตัดเย็บ"

---ในทางพระพุทธศาสนา คำว่า กฐิน ใช้ใน ๒ ความหมาย คือ 

---๑.เป็นชื่อผ้า และสังฆกรรม หรือ พิธีกรรมของสงฆ์

---๒.เป็นชื่อการทำบุญของชาวพุทธ โดยมีผ้าเป็นสื่อกลาง

*มีอรรถาธิบายเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติม ในทั้งสองกรณี ดังนี้ 

---กรณีแรก  กฐิน เป็นชื่อของผ้าที่ถวายพระสงฆ์ให้เป็นกฐิน ภายในกำหนดกาล ๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

---ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ ผ้าฟอกสะอาด ผ้าเก่า ผ้าบังสุกุล (ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว) หรือผ้าที่ขายตามท้องตลาดก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์หรือเป็นพระภิกษุสามเณรก็ได้ ถวายแก่พระสงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้    จากนั้น พระสงฆ์จะต้องทำสังฆกรรม หรือขั้นตอนพิธีทางสงฆ์ มีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง และอนุโมทนากฐินเป็นขั้นตอนสุดท้าย

---กรณีที่สอง กฐิน เป็นชื่อของบุญกิริยา หรือ การทำบุญ ด้วยการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่ขาดหรือจะขาด

---การทำบุญถวายผ้ากฐิน นิยมเรียกกันว่า ทอดกฐิน หมายถึง ทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์  

---เมื่อ กล่าวคำถวายจบแล้ว พระสงฆ์ก็รับว่า  "สาธุ"  พร้อมกัน เจ้าภาพจะต้องนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์เฉยๆ ไม่ประเคนด้วยมืออีก ดังนั้น กิริยาที่นำผ้าไปวางไว้นั้น จึงนิยมเรียกกันสืบๆ มาว่า ทอดกฐิน

---การ ทอดกฐิน  เป็น กาลทาน มีเวลาจำกัด คือ การถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน มีเงื่อนไขที่ต้องให้ความสำคัญทุกขั้นตอน จึงถือว่าหาโอกาสทำได้ยาก
 
*ความเป็นมา

---ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก มหาวรรค กฐินขันธกะได้ กล่าวถึงความเป็นมาว่า ในสมัยที่พระบรมศาสดายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ครั้งหนึ่งพระภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ ๓๐ รูป ซึ่งถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล

---จึง พากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้น พอถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ ๖ โยชน์  ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปมิได้ ต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตตามพระวินัยบัญญัติ ขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต เกิดความกระวนกระวายใจ  อยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ดังนั้น  พอถึงวันออกพรรษาปวารณาแล้ว  จึงรีบเดินทาง แต่ระยะนั้นมีฝนตกมากหนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม พื้นดินเต็มไปด้วยหล่มเลน ต้องบุกต้องฝ่าหล่มฝ่าเลนมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าสมความ ประสงค์

---พระ พุทธองค์ทรงมีปฏิสันถารกับพระภิกษุเหล่านั้นเรื่องการจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกตและการเดินทาง พระภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจ ความร้อนรนกระวนกระวายใจและการเดินทางที่ลำบากให้ทรงทราบทุกประการ

---พระ พุทธองค์ทรงทราบและเห็นความลำบากของพระภิกษุ จึงทรงยกเป็นเหตุและมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้ว กรานกฐิน“ขึง” หรือ “ทำให้ตึง”

---กฐิน เป็นภาษาบาลี แปลว่า “ไม้สะดึง” กรานกฐิน ก็คือ “ขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าที่ไม้สะดึง โดยมีกำหนด ๑ เดือน  ดังกล่าวคือ ให้เอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่พระภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันทำจีวรนั้น  ยกผ้าให้พระภิกษุผู้ฉลาดรูปหนึ่งในนามของสงฆ์  เพื่อจะได้อนุโมทนาร่วมกัน ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่า  "ผู้กรานกฐิน"   (กราน เป็นภาษาเขมร แปลว่า หลักการ)

---การที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาแล้ว  ได้กรานกฐินนี้ ทำให้ภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำอาวาสอย่าง น้อยเป็นเวลา ๑ เดือนหลังจากออกพรรษา ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝน ยังมีฝนตกอยู่ และทางสัญจรเต็มไปด้วยหล่มเลน หลังจาก ๑ เดือนผ่านไปแล้ว ถ้าภิกษุสงฆ์ประสงค์ ก็สามารถจะหลีกจาริกไปได้โดยสะดวก ในเวลาไม่มีฝนตก และพื้นดินไม่เป็นหล่มเลน

*พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธานุญาตผ้ากฐิน  ด้วยมีพุทธประสงค์ 

---จะผ่อนผัน  ให้ความสะดวกในพระธรรมวินัยแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน  

---เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด

*โดยในเบื้องต้นทรงมีพระพุทธานุญาตพร้อมกับทรงแสดงอานิสงส์ไว้ ๕ ประการ ดังนี้

---“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว กรานกฐิน ภิกษุทั้งหลายผู้กรานกฐินแล้วจะได้อานิสงส์ ๕ อย่าง คือ

---๑.เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา                

---๒.ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ

---๓.ฉันคณะโภชนะได้       
                 
---๔.ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามความต้องการ

---๕.พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น

*ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ ๕ อย่างนี้แล

---จาก นั้น  ได้ทรงชี้แจง  วิธีกรานกฐินและขั้นตอนการขอความเห็นชอบจากคณะสงฆ์  ที่เรียกว่า  "ญัตติทุติย"  กรรมวาจา คือ การตั้งเรื่องหรือญัตติขึ้น จากนั้นก็ลงความเห็นรับรู้ร่วมกัน โดยมีพระเถระที่ฉลาดเป็นผู้ดำเนินการประชุม หรือ ภาษาพระเรียกว่า  "สวดกรรมวาจา"   ๑ ครั้ง หากไม่มีภิกษุรูปใดทักท้วงก็เป็นการลงมติเห็นชอบร่วมกัน เป็นอำนาจของสงฆ์ ที่พระทุกรูปต้องถือปฏิบัติ

*ต่อไปนี้เป็นคำประกาศที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแนวทางไว้

---“ท่าน ผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้กรานกฐินแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐินนี่เป็นญัตติ

---นี้ เพื่อกรานกฐิน ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผ้ากฐินนี้แก่ภิกษุชื่อนี้  เพื่อกรานกฐิน ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง

---ผ้ากฐินนี้อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุนี้เพื่อกรานกฐิน สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้” 

---ลำดับ เหตุการณ์หรือขั้นตอนต่อจากนั้น ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงลักษณะต่างๆ ที่จัดเป็นกฐิน  แล้วได้รับอานิสงส์ข้างต้น และลักษณะใด  ที่ทำให้กฐินเดาะหรือไม่สำเร็จประโยชน์ คือ  ไม่ได้อานิสงส์ ในหนังสือนี้จะขอไม่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว เพราะมีข้อปลีกย่อยมาก

*คุณสมบัติของพระที่จะรับกฐิน

---คุณสมบัติของพระภิกษุรูปที่สมควรจะรับผ้ากฐินได้ มี ๘ ประการ คือ

---๑.รู้จักบุพพกรณ์ คือ หน้าที่ๆ จะต้องทำในเบื้องต้นแห่งการกรานกฐิน ๗ อย่าง คือ  

          *๑) ซักผ้า          *๒) กะผ้า

          *๓) ตัดผ้า          *๔) เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว

          *๕) เย็บเป็นจีวร          *๖) ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว

          *๗) ทำกัปปะ     คือ     พินทุ (แต้มให้เปื้อน)

---๒.รู้จักถอนไตรจีวร

---๓.รู้จักอธิษฐานไตรจีวร

---๔.รู้จักการกราน

---๕.รู้จักมาติกา หรือ หัวข้อแห่งการเดาะกฐิน 

---๖.รู้จักปลิโพธกังวลเป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน

---๗.รู้จักการเดาะกฐิน

---๘.รู้จักอานิสงส์กฐิน

---ใน บุพพกรณ์ ๗ ประการนั้น  ข้อแรกต้องทำให้เสร็จในวันนั้น แต่ในปัจจุบัน นิยมใช้ผ้าสำเร็จรูป จึงไม่ต้องทำการซัก, กะ,  ตัด, เนา, เย็บ, ย้อม เพียงแต่ทำ  "กัปปะ" คือ พินทุ เท่านั้น

---พระ ภิกษุผู้ได้รับผ้ากฐิน  ต้องถอนจีวรสำรับเดิม อธิษฐานจีวรสำรับใหม่ แล้วกล่าวคำกรานกฐิน ด้วยผ้าผืนใดผืนหนึ่ง จะเป็นจีวร, สังฆาฏิ, หรือสบง  ก็ได้เพียงผืนเดียว ด้วยคำว่า

---“ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสังฆาฏิ (หรือ จีวร หรือ สบง)นี้”
     
---จากนั้นท่านจะออกไปครองผ้า แล้วกลับเข้ามาในมณฑลพิธีสงฆ์ แล้วกล่าวคำอาราธนาให้สงฆ์อนุโมทนากฐินว่า 

---“อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินํ, ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทถ”

---แปลว่า “ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินชอบธรรม ขอท่านทั้งหลายอนุโมทนาเถิด”

---ขั้นตอนสุดท้าย พระสงฆ์จะกล่าวคำอนุโมทนากฐิน โดยให้ผู้มีอายุพรรษาแก่กว่าพระภิกษุรูปที่ครองผ้ากฐิน กล่าวก่อนว่า

---“อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ, ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทาม”

---แปลว่า “ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินชอบธรรม เราทั้งหลายขออนุโมทนา”

---จากนั้นจึงให้พระภิกษุที่มีอายุพรรษาน้อยกว่ากล่าวคำอนุโมทนาว่า
---“อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินํ, ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทาม”

---แปลว่า “ท่านผู้เจริญ กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินชอบธรรม เราทั้งหลายขออนุโมทนา”

---เป็นอันเสร็จพิธีกฐินของพระสงฆ์ และด้วยอาศัยพระพุทธบัญญัติมีมาฉะนี้ จึงได้ถือเป็นประเพณีทำกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้  
 
    *กฐินมีอานิสงส์ทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้สำหรับผู้รับ หรือ พระสงฆ์

---หาก พระสงฆ์ ได้ปฏิบัติตามพระพุทธานุญาตทุกประการ  ก็ย่อมได้รับอานิสงส์ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ทุกประการ  ขอขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้  การที่พระภิกษุจะรับกฐินได้นั้น  มิใช่รูปใดจะรับกันได้   ดังที่กล่าวว่ากฐินมีเงื่อนไข ทุกขั้นตอน และทำได้ยาก กฐินจะเป็นกฐินหรือไม่      มีองค์ประกอบที่พึงให้ความสนใจ  ๖  ประการ คือที่ต้องให้ความสำคัญ

---๑.พระสงฆ์อยู่จำพรรษาในวัดนั้นครบ ๓ เดือน ไม่พรรษาขาด

---๒.ใน วัดนั้นต้องมีพระที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๑ อย่างน้อย ๕ รูป จำนวนพระที่ต่ำกว่านี้รับกฐินไม่ได้    แม้ไปนิมนต์พระวัดอื่นมาให้ครบจำนวน ๕ รูปก็ไม่จัดเป็นกฐินตามพระพุทธานุญาต

---๓.พระในวัดนั้น จะไปชักชวนให้เขามาถวายผ้ากฐินในวัดของตนเองไม่ได้

---๔.ต้องดำเนินการเรื่องผ้ากฐินให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น

---๕.พระภิกษุรูปที่ครองกฐินต้องรู้จักและเข้าใจขั้นตอนและวิธีปฏิบัติต่อผ้ากฐิน

---๖.พระสงฆ์ในวัดนั้น ต้องพร้อมเพรียงกัน

---อานิสงส์ จากการรับผ้ากฐิน และการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาต ทำให้ได้รับการผ่อนปรนหรือไม่ต้องอาบัติ หรือโทษ ใน  ๕  เรื่อง คือ 

---๑.อนามันตะจาโร   เที่ยวสัญจรไปโดยไม่ต้องบอกลาภิกษุที่มีอยู่ในที่นั้น  ไม่ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ไม่ถือว่าล่วงละเมิดจาริตตสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค

---๒.สมาทานะจาโร  จะ เดินทางไปที่ไหน ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ จะฝากหรือเก็บไว้ในที่เหมาะสมแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ ไม่ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ไม่ถือว่าล่วงละเมิดอุทโทสิตสิกขาบที่ ๒ แห่งจีวรวรรค

---๓.คณะโภชนัง   ฉันคณะโภชนะได้ คือ แม้จะมี ๔ รูป หรือมากกว่า ก็สามารถรับนิมนต์ไปรับประเคนฉันพร้อมกันได้ หรือออกปากขอภัตตาหารมาฉันพร้อมกันได้ ไม่ต้องอาบัติปาจิตตีย์  เพราะฉันคณะโภชนะ คือเพราะฉันโภชนะที่เป็นของคณะ ซึ่งคณะได้มา ไม่ถือว่าล่วงละเมิดคณะโภชนสิกขาบทที่ ๒ แห่งโภชนวรรค

---๔.ยาวะทัตถะจีวะรัง   เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ คือ สามารถเก็บผ้านอกเหนือจากผ้าที่ตนอธิษฐานและวิกัปไว้ได้ แม้จะเกินกำหนด ๑๐ วัน ก็ไม่ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์เพราะเก็บอติเรกจีวร ไม่ถือว่าล่วงละเมิดกฐินสิกขาบทที่ ๑ แห่งจีวรวรรค

---๕.โย จะ ตัตถะ จีวะรุปปาโท  โส  เนสัง  ภวิสสะติ  จีวรลาภอันใด  ที่เกิดขึ้นมีขึ้นในสีมาที่กรานกฐินนั้น  จีวรลาภนั้น  จักเป็นสิทธิ์ของภิกษุทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้วนั้น

---อานิสงส์ ทั้ง ๕ ประการนี้ พระภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว จะได้รับตลอดเขตอานิสงส์กฐิน ๕ เดือน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ของปีถัดไป

*สำหรับผู้ให้ หรือผู้ถวาย

---ก่อน อื่นพึงทราบว่า กฐินเป็นพระบรมพุทธานุญาตโดยตรง การถวายทานอย่างอื่นมีทายกเป็นผู้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝน  แต่ผ้ากฐินนี้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระพุทธประสงค์โดยตรง

---เกี่ยวกับอานิสงส์ของการถวายผ้ากฐินนั้น  ในปัจจุบันมีปรากฏในคัมภีร์และตำราหลายเล่ม บางตำรา กล่าวว่า มีอานิสงส์ถึง ๖๓ ประการ ขอยกตัวอย่างสัก ๔ ประการ ดังนี้

---๑.ชื่อว่า   ได้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญวัฒนาดำรงเสถียรภาพอยู่ตลอดกาลนาน

---๒.ชื่อว่า  ได้เพิ่มกำลังกาย กำลังใจ ให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นศาสนทายาท  สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อๆ ไป

---๓.ชื่อว่า  ได้ถวายอุปการะ อุปถัมภ์พระภิกษุสามเณร เป็นมหากุศลอันสำคัญ     อย่างยิ่ง

---๔.ชื่อว่า  เป็นผู้ไม่ประมาทต่อมหากุศลของตน  ฯลฯ

---แต่ในวรรณกรรมโบราณทางพระพุทธศาสนา ก็ได้ปรากฏการยกย่องกฐินทาน และพรรณนาอานิสงส์ของกฐินทานไว้เป็นพิเศษ ดังนี้

*อานิสงส์ของผู้ถวายกฐินเอง

---ในชาดก ซึ่งเป็นเรื่องเล่า  ถึงการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ ทำให้เราเห็นภาพความสำคัญของบุญกฐินอย่างน่าอัศจรรย์

---โดยกล่าว ว่า อำนาจบุญกุศลที่ได้ถวายผ้ากฐิน เป็นกุศลผลบุญที่ใหญ่หลวง ผู้ถวายจะปรารถนาความสำเร็จใด ๆ ในภพชาติใหม่  ก็จะให้สำเร็จได้ดังมโนรถความปรารถนา  หรือถ้าจะปรารถนาพุทธภูมิก็ดี   ปัจเจกภูมิก็ดี  สาวกภูมิก็ดี สาวิกาภูมิก็ดี   เมื่อมีวาสนาบารมีแก่กล้าแล้วก็จะได้สำเร็จดังมโนปณิธาน หรือความปรารถนาที่ตั้งไว้  

---ในอติเทวราชชาดก ได้เล่าเรื่องพระเจ้าจิตรราชบรมโพธิสัตว์เจ้า ทรงถวายคู่แห่งผ้าเพื่อกฐินแก่พระภิกษุสงฆ์  มีองค์พระโกณฑัญญพุทธเจ้าเป็นประธาน  แล้วทรงเปล่งพระดำรัสว่า   “ข้าพเจ้าขอถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุสงฆ์”

---ดัง นี้  เมื่อเสร็จจากพิธีถวายผ้ากฐินแล้ว ก็ทรงประทับอยู่ ณ บนราชอาสน์อันสมควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงทรงประเคนอาหารถวายพระภิกษุสงฆ์  มีองค์พระโกณฑัญญพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยภัตตาหารมีรสเลิศต่าง ๆ มีข้าวยาคู เป็นต้น

---ใน ลำดับนั้น สมเด็จพระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เสด็จประทับ ณ ท่ามกลางแห่งพระภิกษุสงฆ์ ฝ่ายพระเถรเจ้าผู้เป็นธรรมเสนาบดีชื่อว่า พระภัททานิกรรมก็ได้กรานกฐินนั้น  ครั้นเสร็จจากการกรานกฐินแล้ว พระโกณฑัญญพุทธเจ้าก็เสด็จประทับในท่ามกลางพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

---ส่วนสมเด็จพระเจ้าจิตรราชบรมจักรพรรดินั้น  ก็ได้เสด็จเข้าไปสู่ที่ใกล้พระโกณฑัญญพุทธเจ้า ถวายบังคมด้วยพระเบญจางคประดิษฐ์  แล้วได้ทรงตั้งพระราชปณิธานความปรารถนาขึ้นว่า   
 
---อิมินา  กฐินทาเนน      พุทฺโธ   โหมิ   อนาคเต   ยทา  สพฺพญฺญุตปตฺโต         ตารยิสฺสามิ  ปาณินํ 
    
---แปลว่า “ด้วย อำนาจกฐินทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาลโน้นเถิด ข้าพเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูญุตญาณเจ้าแล้วในกาลใด ก็จะรื้อขนสัตว์ให้พ้นจากสังสารวัฏฎ์ในกาลนั้น”

---ครั้นจบคำอธิษฐานลง พระ โกณฑัญญพุทธเจ้า จึงทรงพิจารณาดูไปในอนาคตกาล  ก็ได้ทรงทราบด้วยพุทธจักษุญาณว่า   ความปรารถนาของบรมกษัตริย์องค์นี้จักสำเร็จสมพระประสงค์ จึงได้ทรงพยากรณ์ ว่า ในที่สุดแห่ง ๓ อสงไขยแสนกัลป์  นับแต่กัลป์นั้น พระเจ้าจิตรราชบรมจักรพรรดินี้ จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า “โคดม” ได้แก่ พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในบัดนี้ 
 
---ขณะ เดียวกัน ผู้ที่ถวายผ้ากฐินแล้วบังเกิดความปีติ ความสุขใจ แม้มิได้อธิษฐานคุมวงบุญไว้ ก็ได้รับอานิสงส์ไปเกิดเป็นเทวดาและอานิสงส์ที่จะต่อเนื่องไปในภพหน้า ดังคำประกาศบุพพกุศลของท้าวสักก    เทวราช ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ว่า

---“คราว หนึ่ง  เราเกิดเป็นกุฎุมพีผู้มีทรัพย์อยู่ ณ เมืองพาราณสี ได้ถวายผ้าพระกฐินจีวร    (แก่พระปทุมุตรสัมพุทธเจ้า) เราจุติจากอัตตภาพเป็นมนุษย์แล้ว ได้เกิดเป็นภูมิเทวดามีศักดาเดชอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์ เสวยทิพยสมบัติอยู่นาน  ครั้นจุติจากอัตตภาพเป็นภูมิเทวดาแล้ว ได้เกิดเป็นสักกเทวราช         ผู้มเหศราธิบดีแห่งเทวดาทั้งหลาย  ครั้นจุติจากอัตตภาพแห่งสักกเทวราชแล้ว  จักเกิดเป็นจักรพรรดิ มีกำลังเดชานุภาพมากในทวีปทั้งสี่  และจักเสวยมนุษย์และเทวสมบัติสิ้นแสนกัลป์ ด้วยอำนาจผลแห่งกฐินทาน ด้วยประการฉะนี้”
 
*ผู้มีส่วนร่วมในกฐินย่อมได้อานิสงส์

---ใน สมัยพระศาสนาของพระกัสสปสัมพุทธเจ้า บุรุษชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง  เป็นคนเข็ญใจไร้ที่พึ่ง ไปอาศัยเศรษฐีสิริธรรมผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์ โดยยอมตนเป็นคนรับใช้ มีหน้าที่ดูแลรักษาหญ้า จึงได้ชื่อว่า  "ติณบาล"  แปลว่า ผู้ดูแลรักษาหญ้า ตั้งแต่บัดนั้น

---วันหนึ่งเขาคิดว่า “ตัวเรานี้เป็นคนยากจนเช่นนี้  เพราะไม่เคยทำบุญอันใดไว้ในชาติก่อนเลย มา ชาตินี้จึงตกอยู่ในฐานะผู้รับใช้คนอื่น ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีสมบัติติดตัวแม้แต่น้อย” เมื่อคิดดังนี้แล้วเขาได้แบ่งอาหารที่ท่านเศรษฐีให้ ออกเป็น ๒ ส่วน

---ส่วน หนึ่งถวายแก่พระสงฆ์ที่มาบิณฑบาต อีกส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับตนเองรับประทาน ด้วยเดชกุศลผลบุญอันนั้น ทำให้ท่านเศรษฐีเกิดสงสารเขา แล้วให้อาหารเพิ่มอีกเป็น ๒ ส่วน เขาได้แบ่งอาหารเป็น ๓ ส่วน ถวายแก่พระสงฆ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งให้แก่คนจนทั้งหลาย ส่วนที่สามเอาไว้บริโภคสำหรับตนเอง เขาทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลาช้านาน

---ต่อ มาเป็นวันออกพรรษา เหล่าชนผู้มีศรัทธาต่างพากันทำบุญกฐินเป็นการใหญ่  แม้ท่านเศรษฐีสิริธรรมก็เตรียมจะถวายกฐิน  จึงประกาศให้ประชาชนทั้งหลายทราบโดยทั่วกัน เมื่อนายติณบาลได้ยินก็เกิดความเลื่อมใสขึ้นในใจทันที  จึงเข้าไปหาท่านเศรษฐีถามอานิสงส์ของกฐิน เศรษฐีตอบว่า “มีอานิสงส์มากมายหนักหนา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสยกย่องสรรเสริญว่าเป็นทานอันประเสริฐ”

---เมื่อ เขาได้ทราบดังนี้แล้ว ก็มีความโสมนัสปลาบปลื้มเป็นอันมาก แสดงความประสงค์ที่จะร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญทานครั้งนี้ด้วย จึงได้กลับไปที่อยู่ของตน แล้วเกิคความคิดขึ้นว่า “เรา ไม่มีอะไรเลย แม้แต่ผ้าดีๆ สักผืน เราจะทำบุญร่วมกับท่านเศรษฐีได้อย่างไร” เขาครุ่นคิดอยู่เป็นเวลานาน หาสิ่งที่จะร่วมอนุโมทนากฐินกับท่านเศรษฐีไม่ได้ ในที่สุดเขาได้เปลื้องผ้านุ่งของตนออกพับให้ดี แล้วเย็บใบไม้นุ่งแทน เอาผ้านั้นไปเร่ขายในตลาด    
  
---ชาว ตลาดทั้งหลายเห็นอาการเช่นนั้น  ก็พากันหัวเราะกันลั่น เขาชูมือขึ้นแถลงว่า "ท่านทั้งหลายหยุดก่อน อย่าหัวเราะข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้ายากจนไม่มีผ้าจะนุ่ง จะขอนุ่งใบไม้แต่ในชาตินี้เท่านั้น ชาติหน้าจะนุ่งผ้าทิพย์"

---ครั้น พูดชี้แจงแก่ประชาชนชาวตลาดดังนี้แล้ว  เขาได้ออกเดินเร่ขายเรื่อยไป   ในที่สุดเขาได้ขายผ้านั้นในราคา ๕ มาสก (๑ บาท) แล้วนำไปมอบให้ท่านเศรษฐี   เศรษฐีได้ใช้เงินนั้นซื้อด้ายสำหรับเย็บไตรจีวร

---ใน กาลครั้งนั้น  ได้เกิดโกลาหลทั่วไปในหมู่ชน ตลอดถึงเทวดาในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นฟ้า และล่วงรู้ไปถึงพระกรรณของพระเจ้าพาราณสี  จึงรับสั่งให้นำนายติณบาลเข้าเฝ้า แต่เขาไม่ยอมเข้าเฝ้าเพราะละอาย จึงได้ตรัสถามความเป็นไปของเขาโดยตลอดแล้ว ทรงให้ราชบุรุษนำผ้าสาฎกราคาแสนตำลึงไปพระราชทานแก่เขา  

---นอก จากนั้นได้พระราชทาน  บ้านเรือนและทรัพย์สมบัติ เป็นอันมาก แล้วโปรดให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีในเมืองพาราณสี  มีชื่อว่า "ท่านติณบาลเศรษฐี"  เมื่อเขาดำรงชีวิตอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ตายไปเกิดเป็นเทพบุตรในดาวดึงส์พิภพ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานแก้ว สูงได้ ๕ โยชน์ มีนางเทพอัปสรหนึ่งหมื่นเป็นบริวาร ส่วนเศรษฐีสิริธรรม ครั้นตายจากโลกมนุษย์แล้วได้ไปเกิดในดาวดึงส์สวรรค์ มีนางฟ้าเป็นบริวาร เช่นเดียวกันกับท่านติณบาลเศรษฐี

*ผู้ชักชวนให้ทอด  กฐินก็ได้อานิสงส์

---กฐิน มิได้มีอานิสงส์เฉพาะเจ้าของกฐินเท่านั้น แม้ผู้ชักชวนให้ผู้อื่นทอดกฐิน ถ้ารู้จักวิธีในการอธิษฐานบุญ  ก็ย่อมได้รับอานิสงส์เหมือนกัน

---ดังในนรชีวกฐินทานชาดก  ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญญาสชาดก ได้เล่าเรื่องที่พระพุทธองค์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเกิดเป็นนายนรชีวะ อยู่ในครอบครัวยากจน แต่เป็นลูกกตัญญูเลี้ยงดูมารดา ได้ชักชวนเศรษฐีที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าพระนามว่า "ปทุมุตตร"  ชวนให้เศรษฐีมีศรัทธาถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เศรษฐีมีความยินดีได้จัดกฐินไปถวายพระภิกษุสงฆ์ จึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้าถึงผลหรืออานิสงส์แห่งการถวายผ้ากฐิน พระปทุมุตตรสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

---เย ชนา สุขมิจฺฉนฺตา        ทตฺวาน กฐินจีวรํ  เตปิ ทุกฺขา ปมุญฺจเร    เทวมนุสฺเสสุ ปตฺวา  นรกาทิมฺหิ น ชายนฺติ     กฐินทานสฺสิทํ ผลํ

---แปลว่า  “บุคคล เหล่าใด  ปรารถนาหาความสุขนั้น ได้ถวายผ้ากฐินจีวรไว้ บุคคลเหล่านั้นจะพ้นจากความทุกข์  เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมจะถึงความสุขในหมู่เทวดาและมนุษย์ และจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น นี้เป็นผลแห่งกฐินทาน”

---เมื่อ เศรษฐี  ได้ฟังอานิสงส์กฐินทานเช่นนั้น ก็มีใจชื่นบานยิ่งนัก ส่วนนายนรชีวะ ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ได้หมอบกราบแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า ได้กราบทูลถึงเหตุที่ตนเป็นผู้ชักชวนให้เศรษฐีมาทำบุญสำเร็จด้วยกายวาจาใจ จึงขอตั้งวาจาธิษฐานว่า

---อิมินา ภนฺเต ปุญฺเญน                   ปโพธิโต กฐินํ เทมิ  อนาคเต พุทฺโธ โหมิ                   ยาว พุทฺธตํ นานุปตฺโต  มา ทลิทฺโท ภวามหํ

---แปลว่า “ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยกุศลผลบุญที่ข้าพระองค์ได้ชักนำกุฎุมพี (เศรษฐี) ให้ถวายผ้ากฐินนี้ ขอให้ข้าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในกาลภายหน้า แม้ข้าพระองค์ยังไม่ไปถึงความเป็นพระพุทธเจ้าตราบใด ชื่อว่าความเข็ญใจอย่าได้มีแก่ข้าพระองค์เลย พระเจ้าข้า”

---พระ ปทุมุตตรสัมพุทธเจ้า ได้ทรงพยากรณ์ว่า ด้วยผลแห่งกฐินทานนั้น นายนรชีวะจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าศากยมุนีในอนาคตกาล ก็คือพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในบัดนี้

*ขั้นตอนทำบุญกฐิน

---การทำบุญทอดกฐินในประเทศไทยเรา ซึ่งนิยมปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้  มีอยู่ ๒ ประเภท คือ 

---๑.กฐินหลวง  หมายถึง กฐินที่มีพระราชพิธีเป็นทางการในพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง ที่เรียกว่า “พระกฐินหลวง”

---แต่ในกรณีที่เสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ ในวัดต่างจังหวัด จะเรียกว่า “พระกฐินต้น”

---ส่วน กฐินที่พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์กระทรวง ทบวง กรม กองต่าง ๆ ไปถวายผ้าพระกฐินแทนพระองค์ เรียกว่า “พระกฐินพระราชทาน”

---๒.กฐินราษฎร์  หมายถึง กฐินที่จัดขึ้นในวัดราษฎร์โดยชาวบ้านจัดการทอดกันเอง หรือบางทีก็ร่วมกันทอด ซึ่งเรียกว่า “กฐินสามัคคี”  
 
---ในบทความนี้จะไม่กล่าวถึงกฐินประเภทที่ ๑ จะกล่าวเฉพาะกฐินประเภทที่ ๒ เท่านั้น

*ใครควรจะถวายผ้ากฐิน

---ทายก ผู้ทอดกฐินนั้น จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต เป็นพระภิกษุหรือสามเณร ก็เป็นเจ้าภาพถวายผ้ากฐิน หรือทอดกฐินได้ทั้งนั้น จะทอดคนเดียว หรือรวมกันหลายคนเป็น “กฐินสามัคคี” ก็ได้ มีพระพุทธานุญาตไว้

---แต่ มีข้อพึงระวัง ในกรณีที่ผู้ทอดกฐินเป็นพระภิกษุ เมื่อถวายผ้ากฐินในอุโบสถแล้ว พระสงฆ์ในวัดนั้นจะเริ่มสวดญัตติทุติยกรรมวาจา ต้องอาราธนาให้พระภิกษุที่เป็นเจ้าภาพนั้น  ออกไปอยู่นอกเขตสีมาก่อน หรือ   มิฉะนั้นก็นิมนต์ให้เข้าไปนั่งร่วมภายในหัตถบาสกับพระสงฆ์ที่จะสวดนั้น ก็เป็นอันใช้ได้ ไม่เสียพิธี

*ต้องจองกฐินก่อน

---เมื่อ สาธุชนผู้มีกุศลจิต  ประสงค์จะนำกฐินไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่ง ซึ่งตนมีศรัทธาเป็นการเฉพาะ ต้องจองกฐินที่วัดนั้นล่วงหน้าเสียก่อน การจองมี ๒ วิธี คือ

---๑.จองด้วยปาก ได้แก่ แจ้งด้วยวาจาแก่เจ้าอาวาส หรือ ประกาศในที่ประชุมสงฆ์ของวัด ให้ทราบว่า ตนจะนำกฐินมาทอดที่วัดนั้น

---๒.จองด้วยหนังสือ ได้แก่ เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ชื่อที่อยู่ของตนและความ จำนงที่จะนำกฐินมาทอดในวันนั้นวันนี้ แล้วนำไปติดประกาศในที่เห็นได้ง่าย เช่นศาลาการเปรียญ ศาลาหน้าวัด หรือมอบให้กับเจ้าอาวาส ไว้

---และ ก่อนที่จะทอดกฐินนั้น  ก็ควรปิดป้ายไว้หน้าวัด หรือที่ศาลาการเปรียญ ซึ่งป้ายปิดประกาศนี้ นิยมปิดไว้ตั้งแต่ในพรรษา เพื่อจะให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้พบเห็น   แล้วจะได้มาเข้าร่วมทำบุญด้วย  

*องค์กฐิน

---เมื่อ ถึงเวลากำหนดก็นำผ้ากฐิน บางครั้งเรียกว่า "ผ้าที่เป็นองค์กฐิน"  ซึ่งจะเป็นผืนเดียวก็ได้ หลายผืนก็ได้ ถ้าเป็นผ้าขาวซึ่งยังมิได้ตัด ก็ตัดออกเป็นชิ้นๆ  พอที่จะเย็บประกอบเข้าเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ทำเสร็จแล้วยังมิได้ย้อมหรือย้อมแล้วก็ได้  อย่างใดอย่างหนึ่ง  จัดเป็นองค์กฐิน นำไปทอด ณ วัดที่ได้จองไว้นั้น
  
---แต่ ในปัจจุบันเจ้าภาพนิยมซื้อผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปมาจากร้านจำหน่ายเครื่องสังฆ ภัณฑ์ เนื่องจากสะดวกและประหยัดเวลา ก็เป็นอันใช้ได้เหมือนกัน

---นอกจากองค์กฐินแล้ว เจ้าภาพบางรายอาจศรัทธาถวายของอื่นๆ ไปพร้อมกับองค์กฐินเรียกว่า     "บริวารกฐิน" 

---ตาม ที่นิยมกัน ประกอบด้วยปัจจัย ๔ คือ  เครื่องอาศัยของพระภิกษุสามเณร  มีไตรจีวร บริขารอื่นๆ   ที่จำเป็น เครื่องใช้ประจำปี มีมุ้ง หมอน กลด เตียง ตั่ง โต๊ะ เก้าอี้ โอ่งน้ำ กระถาง กระทะ กระโถน เตา ภาชนะสำหรับใส่อาหารคาวหวาน
---เครื่อง ซ่อมเสนาสนะ มีมีด ขวาน สิ่ว เลื่อย ไม้กวาด จอบ เสียม เครื่องคิลานเภสัช มียารักษาโรค ยาสีฟัน แปรงสีฟัน อุปกรณ์ซักล้าง เป็นต้น หรือจะมีสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวมานี้ก็ได้ ขอให้เป็นของที่สมควรแก่  พระภิกษุ สามเณร จะใช้อุปโภคบริโภคเท่านั้น หากจะมีของที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายแก่คนที่อยู่ในวัดหรือคนที่มาร่วมงานกฐิน ด้วยก็ได้สุดแต่กำลังศรัทธาและอัธยาศัยไมตรีของเจ้าภาพ

---นอก จากนั้น  ยังมีธรรมเนียมที่เจ้าภาพผู้ทอดกฐิน  จะต้องมีผ้าห่มพระประธานอีกหนึ่งผืน เทียนสำหรับจุด  ในเวลาที่พระภิกษุสวดปาติโมกข์ ที่เรียกสั้นๆ ว่า  "เทียนปาติโมกข์" จำนวน ๒๔ เล่ม  และมีธงผ้ารูปจระเข้ หรือสัตว์น้ำอย่างอื่น เช่น ปลา นางเงือก สำหรับปักหน้าวัด เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว การปักธงนี้เป็นเครื่องหมายให้ทราบว่าวัดนั้นๆ ได้รับกฐินแล้ว และให้อนุโมทนากฐินร่วมกัน

*การถวายผ้ากฐิน

---เมื่อ เจ้าภาพมาถึงวัดที่จะทอดกฐิน ต้องกำหนดดูว่า วัดนั้นๆ จะให้ทำพิธีทอดกฐิน ณ สถานที่ใด โดยมากนิยมทำในอุโบสถ เพราะพระสงฆ์สามารถจะสวดญัตติทุติยกรรมวาจา ให้ เสร็จในคราวเดียวไปเลย แต่บางวัดอาจให้ทำพิธีถวายที่ศาลาการเปรียญในเบื้องต้นก่อน แล้วพระสงฆ์จะพากันไปสวดญัตติทุติยกรรมวาจาในอุโบสถในภายหลัง

---หาก เป็นสมัยโบราณ  เมื่อภิกษุซึ่งจำพรรษาครบสามเดือนในวัดเดียวกัน  (ต้องมีจำนวน ๕ รูปขึ้นไป) ประชุมกันในอุโบสถ พร้อมใจกันยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ภิกษุรูปนั้นทำกิจ ตั้งแต่ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วบอกแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้าให้เพื่ออนุโมทนา และภิกษุนั้นอนุโมทนาแล้ว ที่เรียกว่า "กรานกฐิน" ก็เป็นการสำเร็จประโยชน์

---แต่ ถ้าผ้ากฐินเป็นจีวรสำเร็จรูป กิจที่จะต้อง ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม ก็ไม่มี ให้ภิกษุรูปนั้นทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วบอกแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้าให้เพื่ออนุโมทนา เมื่อภิกษุสงฆ์พาอนุโมทนาแล้ว ก็เป็นการสำเร็จประโยชน์เหมือนกัน

---ในปัจจุบัน เมื่อเจ้าภาพได้ตระเตรียมพร้อมแล้ว พระสงฆ์พร้อมแล้ว ก่อนถวายกฐิน ให้อาราธนาศีล รับศีล เมื่อรับแล้ว ทายกประกาศให้รู้พร้อมกัน ประธานผู้ทอดกฐินหันหน้าไปทางพระพุทธรูป ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์  กล่าวถวายเป็นภาษาบาลี ภาษาไทย หรือทั้งสองภาษาก็ได้ ว่าคนเดียวหรือว่านำแล้วคนทั้งหลายว่าตามพร้อมกันก็ได้ การกล่าวคำถวายจะกล่าวเป็นคำๆ หรือจะกล่าวรวมกันเป็นวรรคๆ แล้วแต่ความสะดวกของผู้กล่าวนำและผู้กล่าวตาม คำถวายมีดังนี้

---“อิ มัง  ภันเต  สะปะริวารัง  กะฐินะทุสสัง  สังฆัสสะ  โอโณชะยามะ  สาธุ  โน  ภันเต สังโฆ   อิมัง  สะปะริวารัง  กะฐินะทุสสัง  ปะฏิคคัณหาตุ   ปะฏิคคะเหตตะวา  จะ  อิมินา  ทุสเสนะ   กะฐินัง  อัตถะระตุ  อัมหากัง   ทีฆะรัตตัง  หิตายะ  สุขายะ” 

---แปลว่า  “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ    ข้าพเจ้าทั้งหลาย   ขอน้อมถวาย   ซึ่งผ้ากฐินกับทั้งผ้าบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้ากฐินกับทั้งผ้าบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ ฯ”    
 
---เมื่อ จบคำถวายแล้ว พระสงฆ์รับสาธุพร้อมกัน องค์กฐินพร้อมทั้งบริวารนั้น ถ้าเจ้าภาพปรารถนาถวายเป็นของสงฆ์ทั้งหมด  ก็ไม่ต้องประเคน แต่ถ้าจะประเคน ก็อย่าประเคนแก่สมภาร หรือองค์ที่รู้ว่าจะต้องครอง ให้ประเคนองค์อื่น องค์ที่เหมาะสม  ก็คือองค์รองลงมา เฉพาะองค์กฐินนั้นไม่จำเป็นต้องประเคน จากนั้นประธานผู้ทอดกฐินกลับเข้าประจำที่นั่งของตน

---ขั้นตอนจากนี้พระสงฆ์จะทำพิธีอปโลกน์ คือ การแจ้งให้ทราบ หรือ การขอความเห็นชอบ มีลำดับขั้นตอนดังนี้

*พระรูปที่ ๑ จะกล่าวว่า

---“ผ้า กฐินทานกับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้  เป็นของ ....(ระบุชื่อเจ้าภาพ)...พร้อมด้วยญาติมิตรและสัมพันธชน ผู้ประกอบด้วยศรัทธา อุตสาหะพร้อมเพรียงกันนำมาถวาย แด่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้

---ก็ แลผ้ากฐินทานนี้ เป็นของบริสุทธิ์ ดุจเลื่อนลอยมาโดยนภากาศแล้ว แลตกลงในที่ประชุมสงฆ์ จะได้จำเพาะเจาจงลงว่าเป็นของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หามิได้ มีพระบรมพุทธานุญาตไว้ว่า ให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง  เพื่อจะทำซึ่งกฐินนัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาต  และมีคำพระอรรถกถาจารย์ ผู้ รู้พระบรมพุทธาธิบายสังวรรณนาไว้ว่า ภิกษุรูปใดประกอบด้วยศีลสุตาธิคุณ มีสติปัญญาสามารถ     รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพพกิจ เป็นต้น ภิกษุรูปนั้นจึงสมควร เพื่อจะกระทำกฐินนัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตได้

---บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งปวง จะเห็นสมควรแก่ภิกษรูปใด จงพร้อมกันยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปนั้น เทอญฯ

*ในลำดับนี้ พระสงฆ์ทั้งหมดนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง พระรูปที่ ๒ จะกล่าวต่อไปว่า

---“ผ้า กฐินทาน กับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้  ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นสมควรแก่...(ระบุชื่อผู้ที่จะเป็นองค์ครองกฐิน)... เป็นผู้มีสติปัญญาสามารถ  เพื่อกระทำกฐินัตถารกิจให้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตได้ ถ้าพระภิกษุรูปใดเห็นไม่สมควร  จงทักท้วงขึ้นในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ (หยุดนิดหนึ่ง)  ถ้าเห็นสมควรแล้วไซร้ จงให้สัททสัญญาสาธุการขึ้นให้พร้อมกัน เทอญฯ”

---พระสงฆ์ทั้งหมดรับว่า สาธุ พร้อมกัน

---เมื่อ พระสงฆ์ทำพิธีเบื้องต้นของท่านเสร็จ ในตอนนี้เจ้าภาพจะประเคนบริวารกฐินก็ได้ จากนั้นพระสงฆ์อนุโมทนา  เจ้าภาพทั้งหมดตั้งใจฟังคำอนุโมทนา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล 
      
---เพียงเท่านั้น  ก็เสร็จพิธีถวายกฐินสำหรับทายกผู้มีศรัทธา ต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์จะได้ดำเนินการในเรื่องกรานกฐินต่อไป

---ประเพณีการทอดกฐินนี้  ยังมีอีกวิธีหนึ่ง  ซึ่งเราเรียกว่า “จุลกฐิน”  และได้นิยมกันมาแต่โบราณกาล   ถือกันว่า ถ้าผู้ใดมีความสามารถทอด “จุลกฐิน” นี้ได้ จะเป็นผู้ได้รับอานิสงส์มาก

---วิธี ทอด “จุลกฐิน”  นี้ ต้องทำอย่างนี้ คือ ต้องไปเก็บเอาฝ้ายมาปั่นเป็นด้ายแล้วทอให้เป็นผืนผ้ากฐินให้เสร็จในวัน เดียว  แต่การทอด “จุลกฐิน”  นี้  ต้องช่วยหลายคนจึงจะเสร็จในวันเดียวได้ จะต้องให้ทันกับเวลาอีกด้วย  คือต้องช่วยกันหลายๆ แรง  แบ่งหน้าที่กันทำอย่างชุลมุนวุ่นวาย  เมื่อทำเสร็จ  พอที่จะทำเป็นผ้ากฐินได้ ก็รีบนำไปทอด คงจะเป็นเพราะเหตุนี้เอง จึงได้เรียกว่า “จุลกฐิน” 

---"จุลกฐิน"  คือ  เป็นผ้าที่สำเร็จขึ้นได้ด้วยการช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ เช่น เมื่อเก็บฝ้ายแล้วก็เอาฝ้ายนั้นมาปั่น มากรอ  มาสาง  เมื่อเสร็จเป็นเส้นด้ายแล้ว  ก็เอามาทอเป็นผ้า แล้วเอามาตัด  มาเย็บ  มาย้อม ให้เสร็จเรียบร้อยวันเดียวกันนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง

*กฐินตกค้าง

---กฐิน ประเภทนี้  มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  "กฐินตก"  " กฐินโจร" ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงเหตุผลที่เกิดกฐินชนิดนี้  ตลอดจนชื่อเรียกที่ต่างกันออกไปว่า (จากเรื่องเทศกาลออกพรรษา)

---แต่ ที่ทำกันเช่นนี้ ทำกันอยู่ในท้องถิ่นที่มีวัดตกค้าง  ไม่มีใครทอดก็ได้ จึงมักมีผู้ศรัทธาไปสืบเสาะหาวัดอย่างนี้  เพื่อทอดกฐินตามปกติในวันใกล้ๆ จะสิ้นหน้าทอดกฐิน  หรือในวันสุดท้ายของกาลกฐิน (คือวันก่อนวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒)

---การ ทอดกฐินอย่างนี้เรียกว่า  "กฐินตกค้าง" หรือเรียกว่า "กฐินตก"  บางถิ่นก็เรียก "กฐินโจร"  เพราะกิริยาอาการที่ไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จู่ๆ ก็ไปทอด ไม่บอกกล่าวเล่าสิบล่วงหน้าให้วัดรู้ เพื่อเตรียมตัวกันได้พร้อมและเรียบร้อย

---การทอดกฐินตก  ถือว่าได้บุญอานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินตามธรรมดา  บาง คนเตรียมข้าวของไปทอดกฐินหลายๆ วัด แต่ได้ทอดน้อยวัด เครื่องไทยธรรมที่ตระเตรียมเอาไปทอดยังมีเหลืออยู่ หรือบางวัดทอดไม่ได้ (อาจเป็นที่ไม่ครบองค์สงฆ์) ก็เอาเครื่องไทยธรรมเหล่านั้นจัดทำเป็นผ้าป่า เรียกกันว่า ผ้าป่าแถมกฐิน”

---กฐิน ประเภทนี้  เรื่ององค์กฐิน  บริวารกฐิน  ยังคงเป็นเช่นเดียวกับกฐินอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว ส่วนข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ ไม่มีการจองวัดล่วงหน้า การทอดก็ทอดได้เฉพาะวัดที่ยังไม่มีใครทอด และเจ้าภาพเดียวอาจจะทอดหลายวัดก็ได้ ตลอดจนสามารถนำเอาของไทยธรรมที่เหลือทำเป็นการบุญชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ผ้าป่าแถมกฐินหรือบางท่านเรียกว่า “ผ้าป่าหางกฐิน” นั่นเอง

*ปริศนาธรรม

---ใน ประเพณีทอดกฐิน บรรพบุรุษไทยได้แฝงภูมิปัญญาและปริศนาธรรมไว้กับธงรูปจระเข้และธงรูปนาง มัจฉา ที่มองเห็นกันดาษดื่นในเทศกาลกฐิน เบื้องหลังธง ๒ ผืนนี้ มีวิสัชนา ๓ นัย คือ

---๑.วิสัชนาตามแนวนิทานพื้นบ้าน

---๒.วิสัชนาตามแนวหลักธรรม

---๓.วิสัชนาตามแนวภูมิปัญญาไทย

---ตามแนวแรก  มี นิทานพื้นบ้านที่เล่าต่อๆ กันมาว่า  กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง เป็นคนตระหนี่อย่างเหนียวแน่น ไม่เคยทำบุญกุศลใด  เมื่อเวลาที่มีชีวิตอยู่เลย มุ่งแต่เก็บสะสมทรัพย์สินเงินทองซ่อนไว้มิให้ใครรู้   สถานที่ซ่อนทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ที่หัวสะพานท่าน้ำหน้าบ้านตน 

---ครั้น ต่อมาเศรษฐีได้สิ้นชีวิตลง ขณะที่จิตใจเป็นห่วงถึงทรัพย์ที่ซ่อนไว้  ทำให้ไปเกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติ จระเข้อดีตเศรษฐีระลึกชาติเก่าของตนได้  รู้สึกทรมานกับชีวิตที่ไปเกิดเป็น สัตว์เดรัจฉาน ได้ไปเข้าฝันภรรยาและลูกให้ไปขุดสมบัติเอาไปทำบุญ ภรรยาและลูกได้ไปขุดสมบัติ  จัดเป็นองค์กฐินเพื่อจะนำไปถวายวัดในฤดูทอดกฐิน

---ฝ่าย จระเข้อดีตเศรษฐีก็ดีใจ ว่ายน้ำตามขบวนเรือแห่กฐิน แต่เนื่องจากวัดอยู่ไกล จระเข้หมดแรงว่ายน้ำต่อไปไม่ไหว ภรรยาและลูกจึงให้ช่างวาดรูปจระเข้ใส่ธงไปแทน เมื่อทอดกฐินเสร็จ ภรรยาก็อุทิศส่วนกุศลให้ว่า  "บัดนี้เศรษฐีผู้ล่วงลับได้เอาทรัพย์มาทอดกฐินถวายพระแล้ว" 

---ขณะ นั้นจระเข้ก็จะโผล่หัวขึ้นมาจากน้ำ พอทอดกฐินเสร็จ พระอนุโมทนาให้พรจบ จระเข้นั้นก็มุดน้ำหายไปเลย  ทุกวันนี้ก็เลยมีธรรมเนียมอันนั้นขึ้นมา จระเข้คาบดอกบัวได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการทอดกฐิน ส่วนรูปนางสุวรรณมัจฉา พบแต่เพียงเล่าว่า ใช้ประดับเพื่อนำทางเบิกทางในทางน้ำ และเรียกผู้คนให้มาร่วมงานกัน

---ตามแนวที่สอง มีผู้อธิบายโดยอิงหลักธรรมว่า เป็นปริศนาจากธรรมของพระพุทธเจ้าที่ท่านกล่าวถึง  ภัยของภิกษุใหม่ โดยยกอุปมากับสิ่ง ๔ ชนิด คือ

           *๑. วังวน                 *๒. คลื่นลม

           *๓. จระเข้                *๔. ปลาร้าย

---ที่จะทำให้ภิกษุทั้งหลายไม่สามารถตั้งอยู่ในพรหมจรรย์ได้

---วังวน  คือ  กามคุณ ๕ ความยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

---คลื่นลม  คือ  คำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ถ้าทนคำสั่งสอนไม่ได้ก็เหมือนกับเรือที่ล่มลงกลางทะเล     วัฏสงสาร

---จระเข้  คือ  ความเห็นแก่กิน เห็นแก่นอน ไม่ปฏิบัติธรรม

---ปลาร้าย  หมายถึง  เพศตรงข้าม ที่จะมาเอาไปกินเสียก่อนที่จะบรรลุมรรคผล เขาก็เลยสร้างรูปนางมัจฉาขึ้น

---นาง มัจฉา  เป็นตัวแทนของปลาร้าย ในขณะเดียวกัน  บางทีก็มีรูปคลื่นอยู่ข้างล่าง บางทีก็มีน้ำวนอยู่ด้วย เมื่อรวม ๆ กันแล้วให้มันตรงกับภัยของภิกษุใหม่ หากพูดกันตามความเป็นจริง ภัย ๔ อย่างนี้ ไม่ว่าพระใหม่หรือพระเก่าเจอเข้าก็เดี้ยงเหมือนกัน สำคัญตรงที่ว่า  มีสติสัมปชัญญะที่จะต่อสู้สักแค่ไหน

---หากกล่าว ถึง  ตามแนวภูมิปัญญาไทย อาจกล่าวได้ว่า ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาว  ช่วยประกอบ เหมือนเช่นการยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้ เพราะดาวจระเข้นี้  ขึ้นในตอนจวนจะสว่าง การทอดกฐินมีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน

---ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขึ้น ก็เคลื่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้นก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงามทั้งที่องค์กฐิน  ทั้งที่บริเวณวัด

---และ ภายหลังคงหวังจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน   ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าวัดนั้นวัดนี้ทอดกฐินแล้ว ผู้ที่ประสงค์จะทอดกฐินตกค้างจะได้ไปหาวัดอื่นๆ

---แต่ ว่าพอมารุ่นหลัง  เนื้อหามันเปลี่ยน เรื่องของธงกฐินตอนแรก  เกิดจากเรื่องเศรษฐีตระหนี่ พอตอนหลัง  เนื้อหามันเปลี่ยนไป คนตีความไปอีกอย่าง ก็เลยมีธงนางมัจฉาเพิ่ม

---มาระยะ หลัง ๆ นี้  ก็มีครูบาอาจารย์เอาธงมาลงอักขระ เลขยันต์คาถาอาคม  เอาไว้สำหรับการค้าขาย เพราะฉะนั้นสมัยหลัง ๆ ธงกฐินไม่ค่อยได้อยู่ติดวัดแล้ว พอทอดกฐินเสร็จชาวบ้านก็ล้มเสาที่ประดับธง เอาธงไปให้หลวงปู่หลวงพ่อท่านเจิม เจิมเสร็จก็เอาไปติดบ้านเป็นสิริมงคล ให้ค้าขายดี เป็นอนุสรณ์ไว้ตรึก ระลึกนึกถึงบุญกฐินที่ได้ไปบำเพ็ญมา

*ส่งท้าย

---บุญกฐินมีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่นตรงที่มีข้อจำกัดมาก พอสรุปได้ ๗ ประการ คือ

---๑.จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น  จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  เหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้

---๒.จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา ๑ เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป

---๓.จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน

---๔.จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้

---๕.จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา  และจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป

---๖.จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น

---๗.จำกัดสถานที่ คือ เมื่อเวลาพระสงฆ์จะสวดญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าด้วยเรื่องกฐิน จะต้องทำในเขตสีมาเท่านั้นด้วยเหตุจำกัดทั้งหมดนี้ บุญกฐิน จึงมีอานิสงส์มาก....



.............................................................................. 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘