"กฎการลงทุนของ “เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน”

“เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน” หนึ่งในนักลงทุนระดับตำนานของโลก เริ่มเข้าสู่การลงทุนใน Wall Street เมื่อปี ค.ศ. 1937 และหลังจากนั้นท่านได้ก่อตั้งกองทุน “เทมเพิลตัน” ที่บุกเบิกการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก และประสบความสำเร็จสูงจนเป็นที่ยอมรับในวงการลงทุน ในปี ค.ศ. 1999 นิตยสาร Money Magazine ได้ขนานนามท่านว่าเป็น “นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษในการคัดสรรสินทรัพย์จากทั่วโลกเพื่อการลง ทุน”

ในหนังสือ “คัมภีร์ VI : ลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่า” ซึ่งเขียนโดย คุณมนตรี นิพิฐวิทยา และ คุณวิบูลย์ พึงประเสริฐ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่กล่าวถึง “กฎการลงทุน” ของ “เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน” ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านที่เป็นนักลงทุน จึงขอหยิบยกมากล่าวถึงแบบย่นย่อไว้ ณ ที่นี้ครับ

1. ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนรวมที่แท้จริงสูงสุด : การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่แท้จริงให้สูงที่สุด นั่นคือ ผลตอบแทนจากการลงทุนหลังหักภาษีและผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อแล้ว “เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน” กล่าวว่า “วัตถุประสงค์หลักที่แท้จริงของการลงทุนระยะยาว คือ การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ” เพื่อเป็นการรักษามูลค่าของเงินในวันนี้ให้ทรงคุณค่าต่อไปในวันข้างหน้า ผู้ใดที่ไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของอัตราเงินเฟ้อและผลกระทบของมันนั้น จะส่งผลเสียต่อการลงทุนอย่างแท้จริง

2. ให้ลงทุน…อย่าซื้อๆ ขายๆ เก็งกำไร : “เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน” เตือนนักลงทุนว่า “ตลาดหุ้นหรือตลาดสินทรัพย์อื่นๆ ไม่ใช่บ่อนการพนัน แต่ถ้าคุณกำลังวิ่งเข้าวิ่งออกจากหุ้นตัวนั้นตัวนี้หลังจากที่ราคามีการ เคลื่อนไหวอยู่นั้น หรือคุณกำลังซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอย่างเอาเป็นเอาตาย ตลาดที่คุณกำลังทำสิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นบ่อนการพนันสำหรับคุณ…และชะตา ชีวิตของคุณจะเหมือนกับนักพนันทั่วไป…คุณจะพ่ายแพ้ในที่สุด”

3. ความยืดหยุ่นและเปิดใจกว้างสำหรับการลงทุนใหม่ๆ : “เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน” กล่าวไว้ว่า ในการลงทุนนั้นมันมีช่วงเวลาสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ช่วงเวลาในการซื้อหุ้นขนาดใหญ่ (Blue chip), หุ้นวัฏจักร (Cyclical), หุ้นกู้, และพันธบัตรรัฐบาล และมีช่วงเวลาที่เราจะต้องถอนเงินลงทุนส่วนใหญ่มาไว้ที่เงินสด เพราะว่าการมีเงินสดในช่วงเวลาที่การลงทุนประเภทอื่นๆ ไม่ดีนั้น สร้างโอกาสในการลงทุนได้อย่างมหาศาล

4. อย่าจับจังหวะตลาด : การจับจังหวะเข้าซื้อหรือขายนั้น หากทำได้จะสร้างผลตอบแทนได้อย่างมหาศาล แต่ในความเป็นจริงทำได้ยากมาก และโอกาสถูกต้องนั้นก็น้อยมากๆ เช่นกัน ดังนั้นไม่ต้องไปใส่ใจกับตลาด เพราะเราไม่ได้ซื้อหุ้นทั้งตลาด เราซื้อหุ้นรายบริษัทที่เราวิเคราะห์แล้วว่าดีและใช้วิธีรอราคาถูกๆ หรือเฉลี่ยซื้อไปเรื่อยๆ ขายก็เช่นกัน เกินราคาที่ประเมินไว้แล้วก็ทยอยขาย

5. เมื่อจะซื้อหุ้น ให้เฟ้นหาหุ้นคุณภาพดีที่ราคาไม่แพง : หุ้นที่มีคุณภาพ หรือ สุดยอดหุ้น (Super Stock) ในมุมมองของ “เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน” คือหุ้นของ…
- บริษัทที่เป็นผู้นำในด้านยอดขายในตลาดที่กำลังเติบโต
- หรือเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี เป็นบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถประยุกต์ใช้ในธุรกิจได้ตลอดเวลา
- หรือเป็นบริษัทที่มีคณะผู้บริหารที่ยอดเยี่ยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
- หรือเป็นบริษัทที่สามารถนำเงินทุนที่มีอยู่มาสร้างความเติบโต และผลการดำเนินงานที่ดีได้ตลอดเวลา
- หรือบริษัทที่มีตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและสามารถสร้างกำไรจากตราสินค้านั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
คุณสมบัติของหุ้นคุณภาพดีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เราไม่สามารถหยิบเอาคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งมาพิจารณาเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาทั้งหมดโดยรวม หากพิจารณาเพียงข้อใดข้อหนึ่งอาจทำให้มีโอกาสพลาดสูง

6. ซื้อหุ้นที่มูลค่าของมัน ไม่ใช่จากแนวโน้มตลาดหรือสภาพเศรษฐกิจ : การที่ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายความว่าหุ้นทุกบริษัทมีราคาเพิ่มขึ้นทั้งหมด ในทางกลับกันเมื่อดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ลดลงก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้น ทุกบริษัทมีราคาลดลง และตลาดหุ้นก็ไม่ได้มีทิศทางสอดคล้องไปทางเดียวกับสภาพเศรษฐกิจเสมอไปทุก ครั้ง สภาพตลาดหุ้นที่ย่ำแย่ไม่ได้หมายถึงการที่เศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ดีแต่ดัชนีราคาหุ้นก็อาจลดลงได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น “ซื้อหุ้นเพราะมูลค่าสูงกว่าราคา ไม่ใช่เพราะแนวโน้มตลาดหรือสภาพเศรษฐกิจ” แล้วท่านจะเป็นผู้ชนะระยะยาว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘