เล่าเรื่องหมากล้อม อ้อมมาธุรกิจ

ใครที่เคยเกิดทันในช่วงประมาณปี 2543 (13 ปีก่อน… นับตัวเลขแล้วตกใจ) คือช่วงที่ผมอยู่ในวัยมัธยมต้น สดใส และสุดจะเกรียน ในช่วงนั้นถือเป็นยุคทองแห่งเกมกีฬาในร่มชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า “โกะ” หรือหมากล้อม เนื่องจากช่วงนั้น เด็กๆ แทบจะทั่วทุกพื้นพิภพ กทม. ล้วนแล้วแต่เสพมังงะจากนิตยสารโชเน็นจัมป์ของญี่ปุ่น ที่ชื่อว่า Hikaru no go หรือชื่อไทย ฮิคารุ เซียนโกะ เกมอัจฉริยะ กันจนติดงอมแงมเลยทีเดียว

วัยเกรียนมันต้องอินเทรนด์!
ใครเคยอ่าน The Talent ยกมือ! ใครเคยอ่าน C-Kids ยกมือ! ใครเคยอ่าน KCweekly ยกมือ! ใครเคยอ่าน Boom ยกมือ!
เกิดเป็นวัยรุ่นชายทั้งที ถ้าไม่เคยผ่านตานิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ ที่อัดแน่นอนไปด้วยการ์ตูนโชเน็นสุดเร่าร้อน เปี่ยมไปความฝัน เจิดจรัสด้วยความหวัง และปลุกพลังแห่งมิตรภาพ (ที่ไม่มีกลิ่นชายรักชาย / ภาษาเทคนิค Y) มาเจือปน ก็ราวกับจะไม่ได้เกิดมาเป็นวัยรุ่นชายยุค ’90 เป็นแน่
และไอ้การที่เราเติบโตมากับการ์ตูน เสพมังงะจากโชเน็นจัมป์กันอย่างหนักหน่วงเหล่านี้นั่นแหละ ที่ทำให้เด็กๆ ต้องตกเป็นทาสแห่งการตลาดอย่างปลาบปลื้มใจ เท่าที่ผมจำได้ ผมเคยเสียตังค์ที่เด็ก ม.ต้น วัย 13 ขวบ มีอย่างน้อยนิด ให้กับหลายสิ่งหลายอย่าง อันเป็นผลมาจากการอ่านการ์ตูนโดยตลอด ไล่เรียงมาตั้งแต่
- สติ๊กเกอร์ดราก้อนบอล ที่แถมจากขนมโอเด็งย่า เอาไว้แลกรางวัลที่ 1 ที่ใครมีจะเทพมาก นั่นก็คือกบเหลาดินสอไฟฟ้า
- ดิจิมอน หรือทามาก็อตขั้นแอดวานซ์ เพราะเลี้ยงแล้วยังเอามาสู้กันได้ด้วย เป็นอะไรที่ศักดิ์ศรีลูกผู้ชายเปี่ยมล้นมาก ถ้าตัวเราสู้ชนะเพื่อน
- โปเกม่อน อันนี้ต้องพวกไฮโซมีเกมบอยในครอบครองจะได้เล่น ถ้าใครมีสายดาต้าลิงก์จะถูกยกเป็นเทพแห่งกลุ่มเพื่อน
- ทามิย่า ต้องยอมแพ้ให้แก่ความมุ่งมั่นของพี่น้อง เล็ทสึ โก จริงๆ ที่ทำให้เราเสียเงินแต่งรถได้ขนาดนี้
- การ์ดยูกิ สุดยอดแห่งเกมกลยุทธ์! คลั่งขนาดอ่านการ์ตูนแล้วอยากเล่นจัด ตัดกระดาษวาดการ์ดเล่นกับเพื่อนเองเบย
- การ์ด Magic The Gathering ต้นแบบของการ์ดยูกิ สุดยอดลึกซึ้ง ศาสตร์แห่งความลึกล้ำ! เปิดดิกอ่านเนื้อเรื่องภาษาอังกฤษกันเลย
และ
หมากล้อม” หรือ โกะ จาก Hikaru no Go : ฮิคารุ เซียนโกะ เกมอัจฉริยะ เรื่องนี้นี่เอง ที่ทำให้ชีวิตผมสมัยเรียน (สมัยเกรียน) ได้เปลี่ยนไปตลอดกาลเลยล่ะ
HikaruNoGo(9)
จากมังงะสู่ความคลั่งไคล้ในชีวิตจริง
เมื่อการ์ตูนเรื่อง Hikaru no Go มีการตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยในช่วงประมาณปี 2541 – 2546 ส่วนเนื้อเรื่องแบบ ย้อ ย่อ สำหรับคนที่ไม่เคยอ่านก็คือ
พระเอกที่ชื่อตรงกับชื่อเรื่อง ไปโดนผีโบราณตัวหนึ่งสิง ซึ่งเจ้าผีตัวนี้ชอบเล่นหมากล้อมเป็นชีวิตจิตใจ แถมยังเก่งกาจระดับเทพประทาน ซึ่งเจ้าฮิคารุก็ไม่ได้สนใจหมากล้อมเท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็ค่อยๆ ซึมลึก จากเด็กธรรมดาก็สู้ หัด เรียน ฝ่าฟัน พัฒนาจนกลายเป็นมืออาชีพในที่สุด ในขณะที่ก็ต้องคอยปกปิดความเก่งกาจของเจ้าผีโกะสุดเก่งตัวนี้เอาไว้เรื่อยๆ ฟังดูไม่น่าสนุก แต่เชื่อผมเถอะว่ามันโครตสนุก!
แถมมังงะเรื่องนี้ ได้สร้างปรากฏการณ์ในระดับประเทศไทยเลยล่ะครับ! ผมจำได้ว่าช่วงนั้น ชมรมหมากล้อม (โกะ) แห่งประเทศไทยที่ก่อตั้งมาก่อนแล้ว ด้วยฝีมือของคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (CPALL) ได้อาศัยมังงะเรื่องนี้ ในการโหมกระแสความนิยมหมากล้อมของเด็กไทยจนแทบถึงจุดพีค
เรียกได้ว่าปกติการแข่งหมากกระดานจะไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่ แต่ช่วงนั้นจะไปที่ไหนก็มีแต่กระแสของการแข่งขันหมากล้อมกันทั่วบ้านทั่ว เมืองเลยทีเดียว โดยเฉพาะเด็ก ม.ต้น ที่โรงเรียกมักจะจัดแข่ง Crossword หรือ A-Math อยู่เสมอ ก็หันมาจัดแข่งหมากล้อมกับเขา ด้วยเหตุผลที่ว่า มันพัฒนาสมองและการวิเคราะห์ ซึ่งก็จริงอย่างเขาว่า
แต่ที่สำคัญก็คือหมากกระดานเกมนี้มันสนุก และมีเสน่ห์ รวมถึงเล่นยากมากกว่าหมากรุกเป็นร้อยเท่าครับ! ซึ่งทำให้เด็กอย่างเราท้าทายที่จะเอานิ้วคีบไปสัมผัสเม็ดหมาก แล้ววางเพี๊ยะ ลงไปบนกระดานให้เท่ห์ๆ เหมือนอย่างในมังงะเลยทีเดียวเชียว
หมากล้อม02
บรรยากาศการแข่งหมากล้อมของเด็กมัธยมสมัยนั้น
ซึ่งแน่นอนว่าผมและเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ก็ตกเป็นเหยื่อของกระแสหมากล้อมเช่นกัน… ถึงขั้นรวมตัวตั้งกลุ่มโกะ แถมอาจารย์คณิตฯ สมัยเรียนยังให้ท้าย (แกอาศัยช่วงพักเที่ยงมาซ้อมให้) แน่นอนว่าเป้าหมายก็ขึ้นเข้าแข่งขันงานต่างๆ ที่จัดขึ้นยุ่บยั่บในช่วงนั้น และแน่นอนว่าไม่ได้แชมป์เลยซักกะรายการ T_T แต่ก็ถือว่าดีที่ได้สัมผัสกับประสบการณ์ความกดดันในการแข่งขันเป็นทีมเหมือน กับในมังงะแบบเด๊ะๆ
และก็อย่างที่คาดกัน สุดท้ายแล้วความไม่จีรังของเทรนด์หมากล้อมก็พัดผ่านไป เมื่อมังงะ Hikaru no Go อวสานลง กระแสความนิยมของหมากล้อมก็ตกฮวบ จนปัจจุบันหลายคนก็อาจจะลืมไปแล้ว ว่าเราเคยมีการจัดแข่งขันหมากล้อมกันอย่างยิ่งใหญ่ตามฮอลล์ในห้าง หลายร้อย หลายพันคนในทีเดียว
แต่ถึงคนไทยส่วนใหญ่จะหมดความสนใจ แต่ศาสตร์แห่งหมากล้อมที่ยั่งยืนมาเป็นพันปี ก็คงจะไม่ล้มหายไปง่ายๆ ปัจจุบันสมาคมโกะแห่งประเทศไทยยังคงตั้งอยู่อย่างยั่งยืน และยังคงให้บริการคนที่สนใจจะเรียนรู้มันต่อไป
โกะกับชีวิต(ผม)  ”เอาชนะโดยไม่คิดเอาชนะ”
หมากล้อม ถือเป็นเกมกระดานที่ค่อนข้างประหลาดครับ เพราะดูเหมือนจะเล่นง่ายก็ง่าย แต่จริงๆ แล้วช่างลึกซึ้ง ลึกล้ำมากเกินจะบรรยายได้ถูก
หลักเกณฑ์ของหมากล้อมก็ง่ายมาก แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝั่ง คนนึงถือหมากขาว คนนึงถือหมากดำ ผลัดกันวางหมากลงบนรอยตัดเส้นบนกระดานได้คนละ 1 ตา หนึ่งตัวหมาก จะวางตรงไหนของกระดานก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจำรูปแบบการเดินเหมือนกับหมากรุก
เป้าหมายของหมากล้อมก็ไม่ใช่การ “ฆ่าตัวขุน” แต่เป็นการ “ล้อมพื้นที่ให้ได้มากกว่าอีกฝ่าย” ซึ่งการแข่งแต่ละกระดานจะจบลงก็ต่อเมื่อไม่มีตาให้เดินอีกแล้ว (งงไหม?) และตัดสินกันด้วยการนับคะแนนพื้นที่ๆ เว้นว่างอยู่ในกระดาน
Go-Equipment-Narrow-Black
และด้วยขนาดของกระดานมาตรฐานที่กว้างใหญ่ 19 x 19 เส้น ที่ตัดกัน ทำให้หลายคนเปรียบหมากล้อมนั้น เหมือนกับหมากรุกหลายสมรภูมิ ที่รบพุ่งกันอยู่ในสงครามขนาดใหญ่
ดังนั้นในเกมหมากล้อม เราอาจจะพ่ายแพ้ในบางสมรภูมิ แต่ก็สามารถเอาชนะ “สงคราม” ได้ หากภาพรวมแล้วเรายังล้อมพื้นที่ได้มากกว่าคู่ต่อสู้
พอจะเข้าเค้าไหมครับ? เพราะโลกแห่งการแข่งขันทางธุรกิจ ส่วนใหญ่มักจะเป็นเกมของการพยายามแย่งชิง พื้นที่ หรือส่วนแบ่งทางการตลาดเช่นกัน ใครที่ได้ส่วนแบ่งมากกว่าคือผู้ชนะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้พ่ายแพ้จะต้องล่มสลาย ม้วนเสื่อกลับบ้านเสมอไป
เรียกได้ว่าศาสตร์แห่งหมากล้อม ก็เปรียบเสมือนกับหลักการบริหารธุรกิจอย่างประนีประนอม หรือเป็นการแบ่งสรรผลประโยชน์กันแบบ WIN-WIN ไม่มีผู้แพ้ มีแต่คนที่ได้ประโยชน์เยอะ  VS คนที่ได้ประโยชน์น้อยลงนั่นเอง
อย่างเจ้าของธุรกิจ 7Eleven คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เองที่แทบจะเรียกได้ว่า เป็นผู้บุกเบิกวงการหมากล้อมในไทย ก็น่าจะเป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ที่ใช้กลยุทธ์ “เดินหมาก” วางเอาไว้ตามจุดต่างๆ ที่มีความสำคัญมาก – น้อย ของกระดานเล็กที่ชื่อว่าเมืองหลวง /ส่วนกระดานใหญ่ก็เรียกว่าประเทศได้อย่างครบถ้วน
ในภาษาของหมากล้อมจะมีสิ่งที่เรียกว่า สูตรมุม (Joseki) ให้ได้เรียนรู้กัน เพราะว่ามุมกระดานนั้นถือเป็นจุดที่ยึดพื้นที่ได้ง่ายที่สุด ดังนั้นการวางหมากแต่ละเม็ดลงไป จะต้องคิดคำนวนให้ดีว่า หมากเม็ดนี้จะสามารถยึดพื้นที่ ในจุดยุทธศาสตร์แสนสำคัญนี้ได้มากแค่ไหน
และที่สำคัญ คู่แข่งก็ต้องมองเห็นความล้ำค่าของตำแหน่งนี้ และจะต้องเข้ามาขอส่วนแบ่งแย่งพื้นที่ๆ เราไปจับจองไว้ก่อนแน่นอน ก็เปรียบกับการที่เราเข้าไปริเริ่มขายสินค้าใหม่ล่าสุด สมมุติว่าเป็นเฟอร์บี้ ซึ่งเราอาจได้เอาเข้ามาขายเป็นรายแรก แต่แน่นอนว่าคู่แข่งเราก็ต้องเข้ามาแย่งลูกค้าประจำของเรา เพื่อขายเจ้าเฟอร์บี้ได้เช่นกัน
ปัญหาสำคัญมันก็เลยอยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้แบ่งพื้นที่ หรือแบ่งลูกค้ากับเขาแล้ว เราได้มากกว่า?
นี่แหละครับ ศาสตร์แห่งการ  ”เอาชนะโดยไม่คิดเอาชนะ”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘