หุ้นคืออะไร เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนต้องรู้

นอกจากเจ้าเฟอร์บี้แล้ว ใครที่หูตาไวเรื่องรอบตัวหน่อย ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนจะรู้เลยว่าช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายตอนพักเที่ยง หรือเพื่อนสมัยเรียน (อันนี้ประสบการณ์ตรง) ต่างก็พูดถึง “หุ้น” กันทั้งนั้น คนที่ไม่เคยสนใจก็เริ่มที่จะอยากรู้ อยากที่จะเข้ามาสัมผัสกับความเร้าใจของตลาดตัวเลขเขียวๆ แดงๆ กันทั้งนั้นเลยทีเดียว


กระแสฮิตที่ไม่มีวันจาง
ถ้าจะพูดถึงคำว่ากระแสฮิตแล้ว ผมก็อดคิดไม่ได้ว่ามนุษย์เราส่วนใหญ่ อาจจะมียีนด้อยอะไรซักอย่างแฝงอยู่ในตัว ที่ทำให้เรามีความรู้สึกอยากได้ อยากมี “อินเทรนด์” กันเป็นกิจวัตร ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ที่มีของเล่นเยาวชนออกมาล่อให้พวกเราฮิตกันได้มากมาย ตั้งแต่เลโก้ ทามิย่า ดิจิม่อน โปเกม่อน ยันสารพัดการด์ การ์ดยูกิ การ์ดเมจิก และเกมออนไลน์ต่างๆ
เรียกได้ว่าเห็นเพื่อนมีเล่นเป็นไม่ได้ ต้องตามไปหามาครอบครองให้เหมือนกัน กระทั่งเราโตเป็นผู้ใหญ่ ความ “ฮิต” นี้ก็ยังไม่หายไป ^^” เรายังตามเทรนด์สมาร์ทโฟน เฟอร์บี้ บลายธ์ หรือจตุคามฯ กันอยู่เป็นนิจ
แต่กระแสเหล่านี้ไม่ว่าใครก็คงทราบว่า มาเร็ว เคลมเร็ว ไปไว หายแว้บกันเป็นเรื่องปกติ เพราะของฮิตเหล่านี้ เป็นสินค้าที่มีอายุสั้นมาก โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่มีฟีเจอร์ที่จำเป็นต่อชีวิต เรียกได้ว่าพอเข้า ขาลง แล้วก็ไม่ต้องนับวันรอ ขาขึ้น กันเลยทีเดียว /ทุกวันนี้มีใครอยากได้บลายธ์ จตุคาม หรือหินทิเบตไหม?
แต่กับหุ้นนั้นแตกต่างไปครับ เพราะผมมองว่ากระแสการ “ฮิต” ในครั้งนี้ น่าจะยังยั่งยืนต่อไป และต่อไปเรื่อยๆ ตราบจนประเทศล่มสลาย หรือเจอภัยพิบัติโน่นเลยล่ะนะ ^^

หุ้นคืออะไรกันหนอ
Stock_Gift_Pix
หลาย คนมองเห็นตัวเลขเขียวแดง ที่ไหลไปมาบนหน้าจอแล้วอาจมึนบ้าง /ผมก็เป็น และเข้าใจผิดไปว่านี่มันคือสูตรคณิตศาสตร์ หรือเกมอะไรซักอย่างหรือเปล่าเนี่ย? จริงๆ แล้วหุ้นมันมีความหมายที่ง่ายกว่านั้นครับ
ความหมายที่แท้จริงของ หุ้น ก็คือคือ ความเป็นเจ้าของ แล้วเจ้าของอะไรล่ะ? ก็คือเจ้าของอะไรก็ได้ครับที่เราสามารถเป็นเจ้าของได้ ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ รถยนต์ ที่แคะหู แปรงสีฟัน สากเบือและเรือรบ รวมไปถึง “บริษัท” ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการต่างๆ
ว่ากันให้ง่ายขึ้นอีก ก็คือของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ที่เราครอบครองได้ สามารเป็น หุ้น ได้ทั้งหมดเลยล่ะ!

หุ้นคือความเป็นเจ้าของแล้วไง? มีอะไรพิเศษ?

ความพิเศษของหุ้น ก็คือ การที่เราสามารถแบ่ง “ความเป็นเจ้าของ” ได้ไงครับ
เอาง่ายๆ เราต้องการจะซื้อขนมถุงนึงราคา 100.- โดยหุ้นกับเพื่อนออกตังค์คนละครึ่ง เรากับเพื่อนก็จะกลายเป็น “หุ้นส่วนขนมถุงนี้” และมีสิทธิ์ในขนมถุงนั้นกันคนละครึ่ง ซึ่งเราจะทำอะไรกับขนมที่เราเป็นเจ้าของก็ได้ จะกินซะ หรือจะเอาไปขายต่อ ก็ย่อมได้ เพราะเราคือเจ้าของไง!
สิทธิในการทำอะไรกับของที่เราหุ้นอยู่ มันก็อยู่ที่เรา และการตกลงใช้คุณสมบัติของสิ่งของชิ้นนั้นๆ นั่นเอง
แล้วถ้าเราเป็นหุ้นส่วนของบริษัทล่ะ? ใช่แล้วครับ เราก็จะได้สิทธิ์ในการควบคุมบริษัทนั้นๆ ได้ตามใจชอบนั่นเอง

บริษัทคืออะไร? ทำไมต้องไปเป็นเจ้าของด้วย?
ถ้าจะพูดกันแบบซิมเปิ้ลๆ ที่สุด นะครับ บริษัท ก็คือ บุคคลสมมติที่เป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อนำไปขายทำกำไรนั่นเอง ไม่ต่างจากการที่เราหุ่นกับเพื่อนแล้วเปิดร้านขายของซักเท่าไหร่
เพียงแต่บริษัทนั้น จะเป็นการสร้าง “บุคคลสมมุติ” จากกลุ่มคนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (หรือที่เรียกกันว่า นิติบุคคล นั่นแหละ) ซึ่งคนๆ นี้ หรือบริษัทนี้ จะสามารถทำทุกสิ่งอย่างได้คล้ายกับคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสิ่งของและเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ หรือจะไปจ้างใครทำอะไรก็ย่อมได้
โดยใช้เงินในบัญชีของบริษัทเองแบบไม่ต้องกังวลว่าจะติดหนี้จนไม่สามารถชำระได้แต่อย่างไร
เพราะจุดเด่นสุดยอดของ เจ้าคน (บริษัท) นี่ก็คือ บริษัทๆ นี้ไม่สามารถเสียหายด้านจำนวนเงิน ได้เกินกว่าที่กำหนดไว้ตอนตั้งบริษัทบริษัทนั่นเอง!
shutterstock_108076214
ลองยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติเรากับเพื่อน 5 คนตั้งนิติบุคคล ที่ชื่อบริษัทดุ๊กดิ๊ก จำกัด ขึ้นมา /เห็นไหมว่าต้องมีคำว่า “จำกัด” ต่อท้ายทุกบริษัท เพราะมันจำกัดความเสียหายเอาไว้ไง
โดยกำหนดให้บริษัทดุ๊กดิ๊กนี้ มีเงินในกระเป๋าสตางค์เป็นของตัวเอง จำนวน 1 ล้านบาท เท่ากับทั้งห้าคนลงเงินเป็นหุ้นให้บริษัทคนละ 200,000 บาท ทำให้ทั้งห้าคนนี้มีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของบริษัทเท่ากัน โดยบริษัทนี้สามารถนำเงิน 1 ล้านนี้ไปใช้ทำอะไรก็ได้ ตามแต่ที่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของทั้งห้านั่นเอง
และสมมุติอีกว่าในขณะที่ถ้าบริษัทนี้ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ไม่เอาไปทำให้เกิดกำไรแก่บริษัท แถมยังบริหารห่วยจนบริษัทติดหนี้ จำนวนเงินที่ต้องชำระได้ทั้งหมดก็เท่ากับ 1 ล้านบาทตามที่ตั้งต้นเอาไว้เท่านั้นครับ ไม่มีการลามไปยังเงินส่วนตัวของผู้ก่อตั้งทั้ง 5 ใดๆ
นี่แหละความหมายและข้อดีของการเป็นบริษัท ก็เพราะมันจะช่วยเป็น ตัวแทนในการทำเรื่องต่างๆ พร้อมกันชน ให้กับเจ้าของนั่นเอง สบายไปเล้ย

ดังนั้นการซื้อหุ้นก็คือการเข้าเป็นเจ้าของบริษัทนั่นเอง

ที่ผมเอ่ยถึงบริษัทมายืดยาว นั่นก็เพื่อเน้นย้ำว่า “หุ้น” นั้นก็คือการเป็นเจ้าของบริษัท ซึ่ง ผู้ถือหุ้น ก็คือผู้ควบคุมบริษัท ซึ่งเป็นบุคคลสมมุติที่ทำธุรกิจต่างๆ อีกทอดหนึ่งนั่นแหละครับ ;) เพียงแต่สิทธิ์ในการควบคุมบริษัทนั้น จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนของหุ้นที่เราถือครับ
ดังนั้นต่อจากนี้หารเราคิดถึงคำว่า “หุ้น” ทุกครั้ง เราต้องไม่มองเพียงแค่มันคือตัวเลขที่วิ่งขึ้นๆ ลงๆ เขียวๆ แดงๆ บนหน้าจอ แต่ควรมองมันให้เป็นความเป็นเจ้าของบริษัททุกครั้ง
และแน่นอนว่าถ้าเราคิดจะเข้าเป็นหุ้นส่วนของบริษัทนั้นๆ แล้วล่ะก็ เราก็คงอยากจะรู้จักว่าบริษัทนั้นๆ ทำอะไรอยู่ และประสบความสำเร็จ รวมถึงเก่งในการสร้างกำไรมากแค่ไหนไปด้วย จริงไหมเอ่ย?
ซึ่งพอเราเข้าไปเป็นหุ้นส่วนในบริษัทนั้นๆ แล้ว เราก็ย่อมต้องการติดตามผลการทำงาน รวมถึงควบคุมวิธีการทำงานต่างๆ ของบริษัทนั้นๆ อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ยกเว้นว่าเราจะเชื่อใจคนที่เข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารบริษัทนั้นๆ มากพอ (ซึ่งเราก็ต้องตื้นลึกหนาบางของคนนั้นที่มาเป็นผู้บริหารมากด้วยไง) เราก็สามารถทิ้งให้เขาหรือเธอควบคุมบริษัท และทำให้มันเติบโตได้ โดยที่เราไม่ต้องยุ่งเกี่ยว ซึ่งถ้าบริษัทเติบโต สร้างกำไรได้มากพอ เราก็จะมีสิทธิ์ได้รับ “ผลตอบแทน” ที่เรียกว่าเงินปันผล จากบริษัทนั้น ได้ในที่สุด
นี่แหละครับความหมายที่ซิมเปิ้ลที่สุดของความเป็นหุ้น และความเป็นบริษัทล่ะ!
คราวหน้าผมจะมาว่ากันต่อในเรื่องของการซื้อขาย สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของบริษัท ด้วยหนึ่งในนวัตกรรมที่เจ๋งที่สุดของมนุษยชาติ นั่นก็คือ “ตลาดหุ้น” กันนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘