ผู้มีปัญญา

คำถาม: นักวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นบุคคลผู้มีปัญญาใช่ไหมครับ แต่ทำไมพวกนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก จึงล้วนแต่นับถือศาสนาอื่น ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญญา แล้วทำไมคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธจึงไม่มีปัญญาถึงขนาดเป็นนักวิทยาศาสตร์ ระดับโลกกับเขาบ้างล่ะครับ?

คำตอบ: เขาจะนับถือศาสนาอะไรหรือไม่นั้นไม่สำคัญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า คนเราจะทำอะไรสำเร็จได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

๑. ฉันทะ มีความพอใจรักใคร่ในการงาน คือมีใจรักที่จะทำงานนั้น
๒. วิริยะ มีความตั้งใจจะทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร
๓. จิตตะ มีใจทั้งหมดจดจ่อในการงานนั้น คือ เต็มใจทุ่มเททำงาน ไม่วอกแวก เผื่อใจไปคิดงานอื่นด้วย
๔. วิมังสา มีความพยายามปรับปรุงงานนั้นๆ แก้ไขให้ดีขึ้นอยู่เรื่อยไป คือเข้าใจวิธีทำงานให้ประสบผลสำเร็จ

ใครทำอย่างนี้จะได้รับความสำเร็จในสิ่งที่ตนต้องการ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม ถามว่าคุณสมบัติ ๔ ประการนี้ในคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ มีกันมากน้อยแค่ไหน เป็นต้นว่า

๑. ฉันทะ ความรักในงาน คนไทยจำนวนไม่น้อยเป็นประเภทเช้าชามเย็นชาม หรือเช้าช้อนเย็นช้อน ทำตามหน้าที่พอให้เวลาผ่านไปวันๆ เพราะฉะนั้นพอให้ไปทำงานยากๆ จึงยากที่จะทำสำเร็จได้

๒. วิริยะ ความขยัน ความขยันของเรายังไม่ถึงขั้นมุมานะ คนไทยไม่ใช่ประเภทคนขยัน นี่กล้าพูดได้เต็มปาก เพราะว่าสิ่งแวดล้อมของฟรีตามธรรมชาติมีมาก ทำให้เราสบายกันมาจนเคย

๓. จิตตะ ความเอาใจจดจ่อ คนไทยไม่ใช่คนทำงานแบบจดจ่อหรอก หลวงพ่อก่อนบวชเคยไปนั่งทำงานอยู่กับชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นพวกทำงานวิจัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ไปทำอยู่กับเขา ๒ ปี พบว่ามีอยู่คนหนึ่ง อยู่กันมาเป็นปีๆ แต่เราแทบจะไม่ได้พูดกันเลย เขาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องแบคทีเรีย บางทีเดือนทั้งเดือนหมอนี่ไม่กลับบ้านเช้าขึ้นมาก็นั่งอยู่กับหลอดแก้วทดลอง เดี๋ยวก็เขี่ยเชื้อเอาจากหลอดโน้นมาใส่หลอดนี้ เอาเชื้อจากหลอดนี้ไปใส่หลอดนั้น เดี๋ยวก็ไปนั่งส่องกล้อง

พอนึกอะไรได้ก็รีบจดๆ พอติดอะไร คิดไม่ออกเข้า ก็ยืนเอามือไพล่หลัง ลอยหน้าลอยตาคิด บางทีตั้ง ๒–๓ ชั่วโมง พอคิดได้ก็จดๆ กับใครแกก็ไม่อยากพูดด้วย นักวิจัยคนนี้แต่ละปีๆ มีงานค้นคว้าทดลองออกมาเป็นสิบๆ ชิ้น

คนไทยมีไหมที่จดจ่อจ้องทำงานแบบนี้ ที่จ้องมีเหมือนกันคือจ้องอยู่แต่ที่หน้าจอทีวี ส่องกล้องเหมือนกัน แต่ส่องกล้องเล่นม้า กล้องดูแบคทีเรีย กล้องดูดาวไม่ชอบดู มีเหมือนกันบางคนที่ตั้งใจทำงาน แต่ก็มักจะทำหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เลยเอาดีไม่ได้สักอย่าง

เรามักเป็นกันอย่างนี้ แล้วจะเอานักวิทยาศาสตร์ที่ดีมาจากไหน นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลก แม้เขาไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ได้อ่านพระไตรปิฎก แต่เขาใช้หลักธรรมในพุทธศาสนาเอาไปปฏิบัติงานโดยไม่รู้ตัว ส่วนของเราแม้จะประกาศตัวว่าเป็นพุทธศาสนาเอาไปปฏิบัติงานโดยไม่รู้ตัว ส่วนของเราแม้จะประกาศตัวว่าเป็นพุทธศาสนิกชนแต่ก็เป็นพุทธโดยทะเบียน ในชีวิตประจำวันเราปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันเราปฏิบัติตามหลักธรรมน้อยมาก

ก็ไม่เป็นไร วันใดวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเราช่วยกันประกาศพระพุทธศาสนาไปได้ทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญๆ ที่นับถือศาสนาพุทธก็มีขึ้นมาเอง เพราะพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์แท้อยู่แล้ว

๔. วิมังสา การปรับปรุงงาน คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างใหม่ ดูตามข่าวหนังสือพิมพ์ก็แล้วกันจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรที่ไหน พอกระทบความเป็นอยู่เดิมๆ เข้าสักหน่อย ชวนกันเดินขบวนต่อต้านกันเป็นเรื่องราวใหญ่โต

ส่วนใครที่ชอบประดิษฐ์คิดค้นอะไรใหม่ๆ ออกมา ทั้งๆ ที่มีประโยชน์มาก แต่ออกข่าวไม่เท่าไรก็เงียบ เพราะขาดการสนับสนุนให้เอาไปทำประโยชน์ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

พวกเราคนไทยนับถือพระพุทธศาสนากันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด สติปัญญาก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่าชนชาติใด ท่านที่ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ จนได้รับรางวัลระดับโลกก็มีอยู่ แต่ผลงานของท่านไม่แพร่หลายไม่มีคนสานต่อ เพราะคนไทยเราตั้งแต่ระดับผู้บริหารประเทศลงมา ปฏิบัติคุณธรรมในพระพุทธศาสนาไม่จริงจัง ปฏิบัติขาดๆ เกินๆ ไม่ครบสูตร ไม่เป็นไปตามขั้นตอน งานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อมนุษยชาติจึงมักไม่สำเร็จ น่าเสียดายจริงๆ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘