ตลาดหุ้น อันที่จริงก็ไม่ต่างจากตลาดสด!?

ในบทความที่ผ่านมา ผมได้แย๊บๆ พูดถึงเรื่องความหมายของหุ้นไปแล้ว ว่าหุ้นนั้นไม่ใช่แค่ตัวเลขบนกระดานสีดำ (ดูน่ากลัว) แต่มันหมายถึงการแบ่งความเป็นเจ้าของในสิ่งต่างๆ ให้กระจายออกไปยังคนอื่นได้ แน่นอนว่ารวมถึงธุรกิจและบริษัทด้วย! แต่เดิมก่อนที่มนุษย์เราทุกคนใช้ระบบแลกเปลี่ยนครับ
คนนึงปลูกผักเก่ง แต่อยากกินเนื้อ ก็เอาผักมาแลกกับคนเลี้ยงวัว ส่วนคนเลี้ยงวัวอยากได้เก้าอี้ซักตัว ก็เอาเนื้อไปแลกกับช่างทำเก้าอี้ วนไป เวียนไป
แต่ปัญหามันเกิดก็คือ เมื่อคนเลี้ยงวัวไม่อยากได้ผัก หรือช่างทำเก้าอี้ไม่อยากได้เนื้อ จะทำไง? มันก็เลยต้องมี “เงินตรา” มาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ระหว่างผู้ที่ทำประโยชน์ได้ระหว่างกันนั่นเองครับ
และแหล่งที่สามารถนำเอาเงินตราไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าต่างๆ ตามที่ต้องการได้นั้น ก็ต้องเป็นศูนย์รวมสินค้า หรือที่เราเรียกว่า “ตลาด” (Market) นี่ไง
ตลาดหุ้น มันก็ไม่ต่างจากตลาดสดเท่าไหร่
stock-market
ครับ ที่ผมบอกว่ามันต่างจากตลาดสดนั้น จริงๆ แล้วตลาดหุ้นมันก็ไม่ต่างกับตลาดทุกชนิดบนโลกเท่าไหร่หรอก :D เพราะตลาด ก็คือแหล่งรวมตัวของผู้ที่ต้องการซื้อ VS ผู้ที่ต้องการขาย ให้มาประสบพบเจอกันในพื้นที่ๆ ตกลงกันไว้
โดยการซื้อขายในตลาดนั้น จะใช้สิ่งที่เรียกว่าเงินตรา เป็นตัวกลางในการซื้อขาย ส่วนของที่นำมาขายนั้นก็เป็นได้ทุกอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่จับต้องได้ หมูเห็ดเป็ดไก่ เครื่องใช้ไม้สอยมะม่วง แม้แต่มนุษย์ก็เอามาขายกันในช่วงยังไม่เลิกทาสนะเออ
ซึ่งนอกจากการนำเอาสิ่งที่จับต้องได้มาขายแล้ว มนุษย์เราก็แสนฉลาดครับ ที่สามารถนำเอาของที่ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้อย่าง “สิทธิความเป็นเจ้าของ” (หรือหุ้นนั่นแหละ) มาซื้อขายกันได้ด้วยล่ะ โดยใช้สัญลักษณ์และระบบการจัดการที่ยอดเยี่ยมเป็นตัวแทนในการนำเอา คนอยากซื้อ (Demand) มาพบกับ คนอยากขาย (Supply) พอตกลงราคา (Price) กันได้เท่าไหร่ ก็ดีล! ขายส่งเงินแลกสินค้ากันไป
เรียกได้ว่านี่คือพื้นฐานของระบบหมุนเวียนเงินในสังคม หรือเรียกเก๋ๆ ว่าระบบเศรษฐกิจของโลกเรานี่เอง
แล้วทำไมบริษัทต่างๆ ต้องเอาตัวเองมาเสนอขายในตลาดหุ้นด้วย?
stock-market-capitalization
ง่ายๆ เลยครับ ก็เพราะเจ้าของบริษัท เขาต้องการเงินทุนไปขยายกิจการให้ยิ่งใหญ่ต่อกันไป เพราะตลาดหุ้นนั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ตลาดทุน” หรือตลาดที่สามารถหาต้นทุน ในการนำไปต่อยอดในสิ่งต่างๆ ได้
ซึ่งเจ้า เงินทุน ที่เจ้าของบริษัทต่างๆ ต้องการเนี่ย มันก็มีที่มาอยู่ไม่กี่ทางเท่าไหร่ นั่นคือ
1. เงินกู้ ไม่ว่าจะมาจาก เพื่อนฝูง พี่น้อง เจ้าหนี้รายวัน ธนาคาร  ฯลฯ โดยใช้ตัวบริษัทเองนั่นแหละประกันไว้ว่ามีเงินจ่ายคืนแน่ๆ
2. การแบ่งส่วนบริษัท แล้วนำไปเสนอขาย เพื่อหาเงินทุน
ซึ่งวิธีที่ 2. นี่แหละ ที่เป็นการนำเอาบริษัทตัวเอง มาขึ้นเขียง หั่นเป็นส่วนๆ แล้วก็เอาไปขายในตลาดหุ้น เพื่อจะได้เงินมาลงทุนทำกิจการต่อยอดไปเรื่อยๆ นั่นเอง ซึ่งบริษัทที่เข้าไปขายตัวเองในตลาดหุ้น ก็จะเปลี่ยนจากบริษัทที่มีเจ้าของคนเดียวหรือบริษัทส่วนตัว กลายเป็น “บริษัท (ของ) มหาชน” นั่นเอง
แน่นอนว่า ในเมื่อมันเป็นบริษัทของเขา (เจ้าของ) เขาก็ย่อมที่จะต้องการรักษา สิทธิ์ในการควบคุมบริษัทสูงสุดเอาไว้  ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติครับ ดังนั้นหุ้นจำนวนมากจึงมักจะอยู่ในมือของเจ้าของนั่นแหละ ส่วนอื่นๆ ที่แบ่งขายออกมาก็ให้คนทั่วไปเข้ามาซื้อแบ่งกันตามสะดวก
ข้อดีอีกอย่างก็คือ การนำเอาบริษัทตัวเองออกไปขายในตลาดหุ้นนั้น เจ้าของมีสิทธิที่จะได้กำไร (Capital Gain) จากการขายหุ้นของตัวเองอีกด้วยนะ! ซึ่งจะส่งผลที่ทำให้กิจการที่ดี ทำกำไรได้ร่ำรวยอยู่แล้ว สามารถยกระดับความยิ่งใหญ่ของตนเองได้มากขึ้นไปอีกขั้น!
Ex. สมมุติบริษัท ก๋อย มีมุลค่า 100 ล้านบาท แบ่งขายหุ้นละ 1 บาทเข้าตลาดหุ้น ก็เท่ากับมีหุ้นอยู่ 100 ล้านหุ้น แน่นอนเจ้าของถือครอง 50% ก็เท่ากับเหลือ 50 ล้านหุ้น ให้ทุกคนได้ซื้อขาย ซึ่งไอ้ที่ราคา 1 บาทเนี่ยแหละครับ เขาเรียกว่าราคาตั้งต้น ที่มีมูลค่าตามจริงของเจ้าของธุรกิจ หรืออีกชื่อว่าราคาพาร์ (PAR)
แต่เมื่อจะเริ่มซื้อขายหุ้น บริษัท ก๋อย จะมีราคาที่มากกว่าราคาตั้งต้นขึ้นไปอีก โดยเขาจะเรียกว่า ราคาจองซื้อ หรือ IPO (initial public offering) ซึ่งเจ้าราคาจองเนี่ย บริษัท ก๋อย จะกำหนดมาเลยว่า ต้องการให้บริษัทของตนเอง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ก็ว่ามา~
อย่าง บริษัทก๋อย ต้องการให้ IPO ทั้งหมด หุ้นละ 2 บาท จากเดิมที่ราคาจอง 1 บาท ถ้าเข้าตลาดไปแล้วมีคนซื้อหุ้นไปทั้งหมด ก็เท่ากับว่าบริษัทนี้จะมีเงินทุนเพิ่มขึ้น 100% ขยับจากบริษัท 100 ล้าน เป็นบริษัท 200 ล้าน เลยทันที เห็นไหมว่ามันง่าย (!?) เอ่อ.. อันที่จริงมันก็ไม่ง่ายขนาดนั้นหรอกครับ เพราะการทำให้บริษัทแต่ละแห่งเข้าไปอยู่ในตลาดหุ้นได้นั้น ต้องผ่านการบวนการที่ซับซ้อนและมาตรฐานมากๆ
แต่ที่มาเล่าสู่กันฟัง ก็เพราะจะได้ให้พวกเราเห็นว่า ตลาดหุ้น นั้นมันเป็นโอกาสดีสำหรับบริษัทต่างๆ ในการระดมทุนนั่นเองแหละครับ
แล้วทำไมเราต้องไปซื้อบริษัทล่ะ?
เหตุผลก็คือ การที่เราได้เป็น หุ้นส่วน หรือเป็น “เจ้าของ” บริษัทที่ดี มีคนทำงานเก่งๆ มีระบบที่ดี สร้างสินค้าหรือบริการซึ่งเป็นที่ต้องการของคนส่วนใหญ่ บริษัทนั้นๆ ก็ย่อมที่จะ ผลิตเงินสด ออกมาให้กับกิจการได้เรื่อยๆ
ไม่เชื่อก็ลองมองไปรอบตัวดูสิครับ ว่าทุกวันนี้เราใช้บริการ หรือซื้อสินค้ายี่ห้อไหนอยู่บ้าง ตื่นเช้ามาเรากินกาแฟยี่ห้ออะไร เพื่อนๆ ชอบทานด้วยไหม เราเข้าร้านสะดวกซื้ออะไร ชอบกินขนมนมเนยยี่ห้ออะไร
12189452-stock-market-price-abstract
ส่วนใหญ่ บริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าที่เรา หรือคนส่วนใหญ่นิยมนั่นแหละ ที่มักจะเป็นบริษัทที่ดี *ในขั้นต้นนะ เพราะการจะวัดว่า บริษัทไหนดี อันนี้มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องมาว่ากันยาวๆ ทีหลังครับ ;)
อย่างที่กล่าวไปนั่นแหละครับ ถ้าเราได้เข้าไปช้อปหุ้นของบริษัทที่ดี เราก็จะได้เป็นเจ้าของบริษัทที่ดีนั้นๆ ไปด้วย โดยที่เราไม่ต้องไปปวดหัวเลยว่า เราจะทำงานในบริษัทนั้นๆ ได้ไหม แค่เราเข้าไปนั่งเป็นเจ้าของเท่านั้
เราก็สามารถที่จะรับ “เงินปันผล” ซึ่งมาจากกำไรของกิจการหรือบริษัทนั้นได้ แบบสบายๆ เลยล่ะ! /แน่นอนว่าบริษัทนั้นต้องขายดี กำไรดีด้วยนะ
นอกจากเงินปันผลที่จะได้รับแล้ว หากเราไม่พอใจบริษัทที่เราถือหุ้นไว้เมื่อไหร่ เราก็สามารถขายต่อหุ้นนั้นให้กับคนอื่นที่อยากซื้อได้ทันทีอีกต่างหาก! แถมบางคนอาจจะอยากได้หุ้นที่เราถือ ในราคาที่สูงกว่าที่เราซื้อไว้อีกต่างหาก! นี่แหละครับ ที่เราเรียกว่า กำไรจากการซื้อขายหุ้น (Capital Gain) ของผู้ถือหุ้นรายย่อย
แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกบริษัทที่ดีเอย การตัดสินใจเลือกซื้อ หุ้น (ความเป็นเจ้าของ) ในช่วงเวลาไหน ที่ราคาอะไร สิ่งเหล่านี้สามารถแตกยอดออกมาเป็นเคล็ดวิชาต่างๆ ได้อีกมากมายก่่ายกอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘