แกะรอยขุมทรัพย์ 2 แสนล้าน หุ้นน้ำดี-ฟรีโฟลตต่ำ

แม้ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ในตลาดหุ้นไทยจะมีจำนวนถึง 585 บริษัท ให้นักลงทุนรายย่อยได้เลือกลงทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีอีกหลายบริษัทที่นักลงทุนไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจาก "ขาดสภาพคล่องของหุ้นบนกระดาน" (ฟรีโฟลต) และบางแห่งอยู่ในสภาพนี้นานกว่า 10 ปี ทั้งที่เป็นหุ้นดีที่น่าลงทุน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ปี 2557 มีบริษัทที่กระจายการถือหุ้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเป็นปีที่ 2 ขึ้นไป มีจำนวน 13 บริษัท คิดเป็นมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 จำนวน 2.24 แสนล้านบาท (ไม่นับรวม บมจ.วีรีเทล ซึ่งอยู่ในกลุ่มแก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด)

ในจำนวนของ "หุ้นฟรีโฟลตต่ำ" ดังกล่าวมีสาเหตุแตกต่างกัน อาทิ เป็น บจ.ที่เรียกได้ว่าต้องการจะถอนตัวจากตลาดหลักทรัพย์ฯ (ดีลิสต์) อยู่แล้ว ได้แก่ บมจ.สมิติเวช (SVH) ซึ่งผู้บริหารได้ประกาศมาตั้งแต่ปี 2550 ว่าจะให้ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) ที่ตอนนี้ถือหุ้นใน SVH อยู่ 95.76% เข้าไปรับซื้อหุ้น SVH จากผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งหมด และถอนตัวออกจากตลาด เป็นต้น

แต่บางรายก็เป็นหุ้นประเภท "ไข่ทองคำ" จนทำให้ทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารงาน (Strategic Shareholder) อาทิ กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจควบคุมและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ยอมปล่อยหุ้นที่ถือออกมาให้ซื้อขายในตลาดนานนับสิบปี ทั้งที่ยังไม่มีแผนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIF) ที่ฟรีโฟลตไม่ผ่านเกณฑ์ คือน้อยกว่า 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วมานานกว่า 12 ปี

หากวิเคราะห์ถึงพื้นฐานทางธุรกิจ นับว่า SCBLIF เป็นหุ้นคุณภาพอย่างมาก เพราะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2553-2556) อัตราการเติบโตของรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2556 รายได้อยู่ที่ระดับ 5.15 หมื่นล้านบาท จากปี 2553 อยู่ที่ระดับ 2.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 90.74% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 4.73 พันล้านบาท จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 2.12 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 123% แถมยังมีอัตราส่วนเงินปันผลสูงถึง 4.22%รวมทั้ง บมจ.แชงกรี-ลา โฮเต็ล (SHANG) ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คือขาดสภาพคล่องของหุ้นมานาน 12 ปี แต่มีรายได้เติบโตดี โดยช่วงในปี 2556 สร้างรายได้สูงถึง 4.13 พันล้านบาท จากปี 2553 ที่อยู่ราว 1.32 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 212.88% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.05 พันล้านบาท อัตราส่วนเงินปันผล ณ วันที่ 3 มีนาคม สูงถึง 6.12%

นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งมีส่วนในการตัดสินใจบริหารยอม ที่จะให้บริษัทจ่ายค่าปรับจากการกระจายหุ้นไม่ถึงเกณฑ์ และมีจำนวนผู้ถือหุ้นไม่ครบตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนดก็ได้

ในมุมมองของนักวิเคราะห์ "เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส มีความเห็นว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้บริหารไม่ต้องการขายหุ้นที่ถือ ออกมา จนทำให้หุ้นขาดสภาพคล่องนั้น อาจเป็นเพราะผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นดังกล่าวอยู่ในระดับที่ดีมากจึงต้องการ ที่จะเก็บความมั่งคั่ง (Wealth) ไว้เอง เพียงแต่กลุ่มบุคคลที่การกระทำดังกล่าวก็ต้องยอมรับด้วยว่าจะมีผลทำให้หุ้น นั้น ๆ หลุดจากเรดาร์การลงทุนของนักลงทุนในภาพรวมไปในที่สุด

ทั้งนี้ จากข้อมูลย้อนหลังพบว่าประเด็นดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วกับ บมจ.เสริมสุข (SSC) ซึ่งต้องเสียโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มหุ้น SET50 ในปี 2555 เนื่องจากมีฟรีโฟลตไม่ถึงเกณฑ์ จึงทำให้ไม่สามารถอยู่ในกลุ่มหุ้น "น้ำดี" ทั่วไปได้ ถือเป็นการสูญเสียโอกาสในการยกระดับภาพลักษณ์ให้สูงขึ้นทั้งที่แม้ไม่ต้อง เอื้อมก็ไปถึง

อย่างไรก็ตาม ในฟากของ "จรัมพร โชติกเสถียร" กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้พยายามสื่อสารไปยัง บจ.หลายแห่งที่ตกอยู่ในสภาพฟรีโฟลตต่ำเกณฑ์แล้ว และในช่วงปี 2553-2556 สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งสิ้น 19 บริษัท

ส่วน บจ.ที่เหลือในปัจจุบันนี้ ยอมรับว่าตลาดหลักทรัพย์ฯยังไม่มีมาตรการใดที่จะนำมากระตุ้นให้ผู้ถือหุ้น ใหญ่ออกมากระจายหุ้นให้แก่นักลงทุนรายย่อยได้ซื้อขายบนกระดานมากขึ้น นอกเสียจากจะใช้มาตรการค่าปรับที่มีอยู่เท่านั้น

หากนักลงทุนรายย่อยต้องการจะได้หุ้นดีประเภท "ไข่ทองคำ" คงจะต้องลองควานหาเท่าที่มีให้ซื้อขายได้ในตลาดเท่านั้น เพราะหุ้นดี ๆ เหล่านี้อาจถูกนักลงทุนบางกลุ่มฟูมฟักกกไว้ในรัง หวังแค่จะสร้างภาพลักษณ์การเป็น บจ. แต่ไม่ต้องการให้ใครร่วมเชยชมก็เป็นได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘