10 ข้อควรรู้หลุดพ้นมนุษย์เงินเดือน ตอนจบ

6. รู้จักใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
รู้ไหมครับ ว่า ดร.นิเวศน์ เหมวชิรากร หนึ่ง ในไอดอลสุดเท่ห์ของผม ผู้เป็นต้นแบบของนักลงทุนสายคุณค่า (Value Invester) ของคนไทยรายแรกที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนด้วยเงินต้นแค่ 10 ล้าน จนกลายเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเป็นหุ้นล้วนๆ กว่า 5 พันล้านบาท นั้น
ชีวิตของ ดร.นิเวศน์ ท่านเป็นคนมัธยัสถ์มากครับ เพราะท่านคิดว่า
“ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ก็จะไม่ซื้อ”
ทุกวันนี้ท่านก็ยังขับรถญี่ปุ่นคันเดิมๆ ไม่มีบ้านเป็นของตัวเองเพราะอาศัยอยู่กับบ้านแม่ยาย /อันนี้ท่านบอกมาเองในงานสัมมนา ^^” และไม่ทำตัวร่ำรวยแต่อย่างใด อาจมีบ้างที่ใช้เงินซื้อความสุขให้กับครอบครัว แต่ส่วนใหญ่ท่านเองก็มีความสุขกับการทำงานเป็นนักลงทุน และเห็นผลสำเร็จของงานที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป
เรียกได้ว่า ดร.นิเวศน์ ไม่ได้เลือกซื้อของเพื่อหน้าตาหรือเพื่อคนอื่น แต่ซื้อเพราะความจำเป็นและประโยชน์ของตนเอง รวมถึงเลือกของ (ลงทุนหุ้น) ที่มีราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างมั่นคง
มีคนมากมายเหลือเกิน ใช้เงินที่เขาไม่มี ไปซื้อสิ่งของที่เขาไม่ได้ต้องการ เพื่อเอาไปอวดคนที่เขาไม่ได้ชอบ
by Chris Gardner เจ้าของเรื่องราวในภาพยนตร์ The Pursuit of Happyness (2006)
ถ้าเราสามารถหลุดจากการวังวนของการนับหน้าถือตาได้ เราก็จะไม่ใส่ใจในสายตาของผู้อื่น รวมทั้งไม่เลือกซื้อของที่เกินจำเป็นต่อชีวิตของตัวเราเองด้วย
ผมมีหลักง่ายๆ มาแนะนำสำหรับการเลือกซื้อสิ่งที่จำเป็นกับตัวเอง แค่เราถามตัวเองก่อนที่จะควักกระเป๋าสตางค์ก่อนว่าเรา “Want” อยากได้ของชิ้นนั้น หรือเรา “Need” ต้องการของชิ้นนั้นจริงๆ กันแน่ครับ

7. รู้จักคาดคะเนอนาคต
ที่จั่วหัวมาไม่ได้หมายความว่าให้ไปทำนายอนาคตอย่างหมอดูหมอเดานะ ^^ แต่หมายความถึงการมีวิสัยทัศน์ (Vision) ที่ดีต่างหาก
ซึ่งการมีวิสัยทัศน์ที่ดี ก็คือความสามารถในการคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างใกล้เคียง > ทำยังไงถึงจะเดาใกล้เคียงเหรอ? ก็ต้องเป็นการเดาโดยมีข้อมูลมารองรับน่ะสิครับ ไม่ใช่จู่ๆ ก็โพล่งขึ้นมาเลย ความแม่นยำและความน่าเชื่อถือก็ต่ำน่ะสิ
เอาง่ายๆ เลยก็คือ เราสามารถคาดคะเนได้ไหมว่า ตัวเรา ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้านั้น จะเป็นยังไง? /อันนี้ง่ายที่สุดแล้วนะ เพราะมันคือตัวเราเอง เราก็ต้องรู้ข้อมูลเยอะที่สุดอยู่แล้วใช่ไหมครับ? เอ๊ะๆ แต่ระวังไว้นิดนึงว่า การคาดเคะเนน่ะมันต่างกับ ความคาดหวัง เพราะอย่างหลังเนี่ยมันคือการฝันลมๆ แล้งๆ ครับ
อย่างที่บอกว่าการคาดคะเนที่ดี ก็คือการที่มีข้อมูลรองรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เพียงพอ อย่างเราหวังว่าอีก 5 ปี ชั้นจะมีคอนโดซักหลังเป็นของตนเองนะ! /ถึงผมจะแนะนำว่าซื้อบ้านดีกว่าก็เถอะ
  • คนที่คาดคะเนได้ดีก็จะประเมินแล้วว่า ราคาคอนโดปัจจุบันเท่าไหร่?
  • อีก 5 ปีข้างหน้ามันจะขึ้นเท่าไหร่?
  • ความสามารถในการผ่อนชำระในปัจจุบันของเราเท่าไหร่?
  • หรือเราคิดจะเก็บค่าเช่าเท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน?
  • แล้วทำเลคอนโดแถวนั้นจะมีคนเช่าประเภทไหน? หาง่ายไหม?
ซึ่งพอเราประเมินทั้งสิ่งที่เราต้องการได้ พร้อมกับรู้แล้วว่าเรายังขาดเหลืออะไรอยู่ อาจจะขาดเงินต้นที่จะไปดาวน์ฯ อีกหน่อย ต้องเก็บเงินเดือนละ … อีกหนึ่งปี ฯลฯ ซึ่งเรามี % ทำสำเร็จสูงนะ ชัวร์แน่ คอนโดนี้ต้องเป็นของเรา! วะ ฮะ ฮ่า
นี่แหละครับ ตัวอย่างของการคาดคะเนอนาคตที่ดี ^^

8. รู้จักช่องทางและผู้คนที่เหมาะสม
ผมเชื่อว่าต้องเคยได้ยินกันมาก่อนแน่ๆ ว่าผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จจะต้องมี “คอนเน็กชั่น” แต่ผมไม่ได้หมายความถึงการเล่นเส้นสายนะครับ /โอเคถึงมันจะเอี่ยวกันก็เถอะ
แต่คอนเน็กชั่นที่ผมพูดถึงนี่ หมายถึงคอนเน็กชั่นจากความสามารถหรือประสบการณ์ อุดมการณ์ วิสัยทัศน์ ฯลฯ ต่างหาก เอาง่ายๆ ว่าถ้าเราได้เจอคนที่รักในการออมเงินเหมือนกัน รักในการทำให้เงินออมงอกเงยเหมือนกัน หรือรักโน่นนั่นนี่เหมือนกัน เราจะได้คุยกันอย่างสนุกมากแค่ไหน และสิ่งที่เราเมาท์กันนั่นก็มีประโยชน์เสียอีกนะ!
บางคนอาจจะถามว่า แล้วชั้นจะไปหาคนเหล่านั้นได้จากที่ไหนล่ะ? อ่า.. เราอ่านบล็อกกันได้แบบนี้แล้ว คงไม่ต้องเอามะพร้าวห้าวมาขายคนปลูกแล้วล่ะครับ Webboard ก็มี Facebook ก็โพส Twiiter ก็เล่น วันไหนใจกล้าพอก็ลองไปร่วมมีทติ้งดูครับ แล้วทุกคนจะรู้ว่าโลกนี้มันไม่ได้กว้างเกินมือเอื้อมเลย
เพราะโลกนี้มีทฤษฏีบวมๆ ที่แม้จะไม่ได้รับการพิสูจน์อยู่ว่า คนเหมือนกัน ย่อมมีแรงดึงดูดกัน~ ซึ่งเป็นความจริงสุดๆ ครับ /ยืนยันได้ เพราะลองมาแล้ว

9. รู้จักการลงทุนให้ถูกที่ ถูกเวลา
พอพูดเรื่องการลงทุน หลายคนอาจจะร้องยี้! แล้วก็ส่ายหน้าว่า กู (กระผม) ไม่รวยขนาดนั้นหรอกโว้ย แค่ออมเงินเดือนละ 20% ของที่หาได้ก็รากเลือดแล้ว! ขอให้ทำความเข้าใจเสียใหม่นะครับ ว่า
“การลงทุน” ก็คือการออมเงินรูปแบบหนึ่งนั่นแหละครับ มีน้อยก็ลงน้อย มีมากก็ลงมากได้
หลักของการลงทุนโดยย่อและง่ายที่สุด ก็คือ การนำเอาเงินไปซื้ออะไรก็ได้ ที่มันจะมีราคาสูงขึ้นในอนาคต
อย่างบางคนชอบ งานศิลปะ ไปเดินเจองานระดับโลกแต่ราคาถูกในร้านของเก่า ก็เลยซื้อมาขายต่อได้แพงขึ้น
หรือบางคน ชอบสะสมฟิกเกอร์ที่มันผลิตแบบมาจำกัดจำนวน (Limited) แล้วดันมีคนอยากได้ พร้อมเสนอราคาสูงกว่าที่ซื้อมามากมาย
ทั้งหมดนั่นคือการลงทุนไงครับ ^^” มันคือการซื้อของดีๆ มาเก็บไว้ แล้วรอให้ราคาขึ้น จากนั้นก็ขายทำกำไรนั่นเอง ง่ายมั้ย? ง่ายโครตๆ
ซึ่งการออมในรูปแบบการลงทุนนี้ ก็คือการเก็บสะสมเงินที่งอกได้นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยงอยู่ เพียงแต่ความเสี่ยงนี่เป็นอะไรที่เราสามารถควบคุมได้ครับ
อันที่จริงการลงทุนก็มีวิธีย่อยๆ อีกมาก โดยเฉพาะการลงทุนซื้อ “หุ้น”
เอาไว้ผมจะมาขยายความให้ฟังกันง่ายๆ รวมถึงความเสี่ยงกันแบบไม่ต้องกลืนลงไปย่อยด้วยตัวเองในวันหลังนะครับ ^^

10. รู้จักเตรียมพร้อมรับการตัดสินใจสำคัญ
การตัดสินใจที่สำคัญที่สุด จะเวียนมาหาเราอย่างน้อย 4 ครั้งต่อหนึ่งชีวิต
มิตรสหายท่านหนึ่ง ไม่ได้กล่าวไว้

ถึงเราจะคาดคะเนอนาคตได้บางอย่าง และพยายามแสวงหาหนทางไปสู่จุดหมายแล้ว แต่ “โชค” นั้นก็ยังถือเป็นปัจจัยส่วนสำคัญที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เราเตรียมพร้อมที่จะรับมันได้นะ! ซึ่งมันก็จะเชื่อมโยงกับ อีก 9 ข้อที่ผ่านมานั่นเองครับ
  • ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการเงิน => เตรียมเงินไว้ลงทุนในช่วงจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม (ส่วนจะเหมาะสมยังไง เอาไว้เราค่อยมาขยายความกันอีกทีนะครับ)
  • การเตรียมความพร้อมด้านประสบการณ์ในการทำงาน ความรู้ในการทำงานเอาไว้ => เพื่อจะได้คว้าโอกาสในการก้าวหน้าทางการงานที่มักจะลอยเข้ามาอย่างไม่คาดฝัน เป็นต้น
อันที่จริงการเตรียมความพร้อมนี่ นอกจากการเตรียมตัวทั้งด้านการเงินและความรู้แล้ว ยังควรที่จะเตรียมจิตใจเอาไว้สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝันด้วย
เผื่อเวลาที่เกิดอะไรขึ้นจริง เราจึงจะสามารถตัดสินใจ ได้อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมตามสถานการณ์ที่สุดครับ!

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘