10 ข้อเพื่อหลุดพ้นมนุษย์เงินเดือน ตอนแรก

เบื่อหัวหน้า เซ็งลูกค้า กัดกับหมาหน้าออฟฟิศ หลับสนิทคาห้องน้ำ ตื่นมาแล้วไม่อยากออกจากบ้านไปทำงานเลยฮว๊ากก! อาการเหล่านี้ช่างเป็นเรื่อง สามัญเสียเหลือเกินสำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือน 95 (ไม่ใช่ Windows โบราณ แต่เป็นเข้างาน 9 ออกงาน 5 โมง) ทั้งหลาย ที่เชื่อเลยว่าหลายๆ คนน่าจะมีเป้าหมายที่จะหลุดพ้นวัฏสงสารเหล่านี้เหลือเกิน มา เรามาดูกันดีกว่า ว่าสิ่งที่ควรรู้ 10 อย่าง ก่อนจะนิพพานทางการเงินได้นั้นมีอะไรบ้าง?


1.  รู้จักว่าอิสรภาพทางการเงินคืออะไร?
หลุดจากมนุษย์เงินเดือนแล้วไปไหน? แหม อย่างกับคำถามยอดฮิต “ตายแล้วไปไหน?” เลยนะครับ เสียแค่ว่าเรายังไม่ตายซะหน่อย ที่ว่าหลุดนี่คือการที่เราได้รับฟรีด้อม หรืออิสระภาพทางการเงิน ไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อเงินอีกต่อไป อยู่เฉยๆ นั่งเล่นนอนเล่นก็มีเงินเข้าบัญชีมา โอว ฟินนาเล่ นี่มันฝันไปหรือจริง
แต่อยากจะบอกว่าที่เล่าไปนั่น มันเป็นจริงได้นะครับ!
เพียงการที่จะทำเช่นนั้นได้ เราไม่สามารถที่จะนั่งๆ นอนๆ แล้วรอให้เงินบินเข้ามาก็เท่านั้น และถึงจะทำสำเร็จแล้ว ก็ใช่ว่าเราจะอยู่ในสถานะนั้นได้เสมอไป เรายังคงต้อง “ทำงาน” เพื่อให้เงินสามารถเหาะมาหาเราได้เสมอ เพียงแต่จะต่างกับการที่เราอยู่บนวงจรมนุษย์เงินเดือน หรือที่ Robert Kiyosaki  ให้คำนิยามว่า “สนามแข่งหนู” (Rat Race) ที่วกวนไร้ที่สิ้นสุด เพราะเราจะต้องออกมาทำงานนอกสนามแห่งนี้อยู่ดีนั่นเอง
ดังนั้นต้องเปลี่ยนแนวคิดของ ฟรีด้อม เสียใหม่ก่อน เข้าใจให้ถูกทาง แล้วคุณก็จะเดินไปถูกทางนั่นเองครับ

2. รู้ว่าสิ่งที่เราทำแล้วไม่เบื่อ แถมยังได้เงินคืออะไร?
ใช่ครับ การที่เราจะไปถึงจุดที่มีอิสรภาพได้นั้น เราต้องใช้แรงกายและแรงความคิดของเรา ทำในสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้คนอื่น จนเราได้ค่าตอบแทนกลับมาคืออะไร? และที่สำคัญก็คือ
“เราชอบมันหรือเปล่า?”
ถ้าเราชอบ ก็มั่นใจได้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นจะสามารถไปได้ดีแน่นอน ก็เราชอบหนิ? เราคงไม่ทำสิ่งที่เราชอบออกมาให้ห่วยๆ จนเจ็บใจเล่นใช่ไหมล่ะ และในเมื่อมันเป็นสิ่งที่เจ๋ง ไม่ห่วย ที่เหลือก็เราก็แค่นำเสนอสิ่งที่เราทำแล้วเจ๋ง ให้คนอื่นได้รู้ และจ่ายเงินซื้อความเจ๋งนั้นของเรานั่นเอง
ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนก็คือการ “ขายตัว” ฟังดูแย่ไปเหรอ ^^a งั้นเปลี่ยนเป็น “ขายความสามารถ” ก็แล้วกัน
คุณอาจจะถามย้อนมาว่า อ้าว งั้นเราก็ยังไม่หลุดไปจากมนุษย์เงินเดือน เป็นลูกจ้างรับใช้คนอื่นเขาอยู่ดีน่ะสิ ใช่ครับ! โลกนี้จะให้ผลตอบแทนเราได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ว่าเราสามารถ “รับใช้” คนอื่นได้มากแค่ไหน
เป็นมนุษย์เงินเดือนก็รับใช้นายจ้าง
เป็นเจ้าของร้าน หรือเจ้าของกิจการก็รับใช้ลูกค้า หรือคนที่ให้ทุนเรามาทำ
ดังนั้นใครที่สามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้มาก แก้ปัญหาให้ผู้อื่นได้ลื่นไหล คนผู้นั้นแหละครับที่จะสามารถสร้างรายได้ ที่จำเป็นต่อการมีอิสรภาพทางการเงิน ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นก็จะนำไปสู่ข้อ 3 มีเงินเยอะแล้วทำอย่างไร?

3. รู้จักกันเงินส่วนนึงเพื่อตัวเองก่อนนำไปใช้
ฟังดูง่ายไหมล่ะ? เราเรียนรู้วิธีการเก็บออมเงินหยอดกระปุกหมูกันมา ตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาลกันแล้ว แต่ก็ทำกันยากเหลือเกิน อย่างสมัยผมได้เงินกินหนมวันละ 40.- เก็บไปซื้อการ์ตูนเล่มละ 30-35.- ก็หมดตูดแล้ว /สมชื่อเว็บเลย
แหม พูดแล้วก็นึกถึงอดีตที่บางครั้งผมก็ยอมอดข้าวเพื่อการ์ตูนกันเลยทีเดียว แถมต้องแอบแว้บไปซื้อหน้า รร. ที่มียามรักษากฏออกนอกรั้ว รร. แล้วห้ามกลับเข้าไปอีกต่างหาก ต้องอาศัยช่วยจังหวะชุลมุน เอาการ์ตูนยัดใส่พุงครึ่งเล่ม (จะได้เนียนๆ) แล้วเร้นกายกับฝูงชนเข้า รร. ราวกับเจสัน บอร์น ก็มิปาน
ออกนอกเรีื่องเสียยาว ^^” เอาเป็นว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ หามาได้เท่าไหร่ ตามหลักของการเก็บออมทั่วไป ควรหักเงินที่หามาได้ก่อนที่จะนำไปใช้จ่ายในเรื่องอื่น 20% เก็บไว้ทันทีเลยแบบห้ามยุ่งเด็ดขาดเป็นประจำทุกเดือน
หรือจะใช้วิธีแบบผม ที่หักเงินที่ได้มาประมาณ 40% ให้ตัวเองเก็บออมไว้ก่อน จากนั้นอีก 60% ที่นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันถ้าเหลือเกินกว่าใช้อีก ผมก็จะเอาเงินส่วนที่เหลือสมทบเข้าในส่วนเงินออมเข้าไปอีกที่ทำอย่างนี้ได้ ก็เพราะผมรู้และประเมินได้ว่า แต่ละวันผมใช้เงินขั้นต่ำเท่าไหร่ MIN-MAX เท่าไหร่ จากนั้นก็ จดบันทึกค่าใช้จ่าย เพื่อควบคุมตามที่วางแผนไว้ได้ครับ
เท่านี้ก็พอจะมีเงินออม เพื่อนำไปต่อยอดสู่ฟรีด้อม ที่เราแสวงหาแล้ว!

4. รู้จักวางแผนภาษี รวมทั้งวิธีเลี่ยงไม่ต้องจ่ายภาษี
มนุษย์เงินเดือน คืออาชีพที่เสียเปรียบที่สุดในโลกครับ! เพราะ Rat Race แห่งนี้มันโหดสัส ต้องเก็บเงินค่าวิ่งวนๆ ในสนามมนุษย์เงินเดือนปีละครั้ง แถมแพงอีกต่างหาก ลำพังเอาเงินไปกินฟูจิหรือซื้อแมนซั่มในเซเว่นกินก็โดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ยังต้องจ่ายภาษีอากรรายปีอีกต่างหาก โหดร้ายจริงๆ T_T
แต่โลกนี้มันก็ยังไม่โหดร้านเสียทีเดียว ทางรอด ทางเลี่ยงมันยังมีอยู่ครับ เพราะการเก็บภาษีนั้น ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะต้องควักเนื้อให้รัฐไปเข้าคลัง และเบิกจากคลังไปพัฒนาประเทศ อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะร้อง อ้าว! แล้วที่บอกให้เลี่ยงภาษีนี่มันก็ผิดอ่ะดิ!?
คำตอบคือผิดครับ เพราะการเลี่ยงภาษีที่ผมพูดถึง ก็คือวิธีการเล่นแร่แปรเงินของภาครัฐนั่นแหละ เพียงแต่เราจะไม่ได้ควักเนื้อจ่ายภาษีให้ประเทศโดยตรง แต่เราจะควักให้แบบอ้อมๆ ผ่านรูปแบบของ กองทุน LTF, RMF ยอดฮิตที่เราเคยได้ยินกัน ซึ่งรายละเอียดตรงนี้มีเพิ่มเติมอีกมากมาย ทั้งเงื่อนไข และข้อควรระวัง
ไว้ผมจะมาย่อยให้ทราบกันคราวหน้าอีกเช่นเคย เอาเป็นว่ารู้และจำชื่อนี้ไว้ก่อนนะครับ

5. รู้จักเลือกซื้อของที่มูลค่า
ในเมื่อเรายังใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเงิน เราก็ยังคงต้องใช้จ่าย อันนี้ทุกคนก็คงเข้าใจดี และสิ่งที่ทุกคนน่าจะยิ่งทราบดีกว่านั้น ก็คือเราควรซื้อของที่ให้ประโยชน์กับเรามากที่สุด ในราคาที่เราคิดว่ามัน “คุ้มค่า” กับเราที่สุดถูกไหมครับ?
ในนิยามของผมนั้น ของดี ของคุ้มค่า ไม่จำเป็นต้องเป็นของราคาถูก ถ้าเราสามารถนำของสิ่งนั้นไปสร้างรายได้ หรือเพิ่มราคาของมันให้มากขึ้นเรื่อยๆ ได้ /แน่อนว่าในอุดมคติก็คือ ถูกและดี แต่น่าเสียดายที่ของแบบนั้นมัน Ultra Rare เหลือเกิน
ทุกวันนี้ก่อนที่ผมจะควักกระเป๋าเอาเงินออกมาซื้ออะไรซักอย่างหนึ่ง ผมจะคิดแล้วคิดอีกตามเสต็ปที่ว่า
มันทำให้เราเก่งขึ้นไหม?
มันทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นหรือเปล่า?
มันทำให้เราอิ่มอร่อยและแข็งแรงขึ้นมั้ย?
และ มันทำให้คนที่เรารักมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่?
นี่แหละครับ คือสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัว ก่อนที่จะควักเงินซื้อหนังสือซักเล่มหนึ่ง ไม่ว่าหนังสือเล่มนั้นจะเอาไว้อ่านเพื่อเรียนรู้ อ่านแบบหนุกๆ หรืออ่านเพื่อเอาสิ่งดีไปปฏิบัติกับคนรอบข้าง คนที่ผมรัก และหากพิจารณาแล้วว่า มูลค่าของหนังสือเล่มนั้น เทียบกับสิ่งที่ผมจะได้ข้างต้นแล้ว “ไม่แพงเกินลิมิตที่วางไว้” ผมก็จะควักเงินซื้อได้เลย
นี่แหละครับ ความคุ้มค่า ในนิยามของผม ถือเป็นการเล่าให้ฟังก็แล้วกันนะครับ เพราะความคุ้มค่าของแต่ละคนเราไม่เหมือนกัน เนื่องจากความจำเป็นนั้นต่างกันไป เอาเป็นแค่เรารู้จักเลือกซื้อสิ่งที่ให้ ประโยชน์แก่เรามากที่สุดก็พอ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘