ข้อจำกัดของ EPS

นักลงทุนจำนวนไม่น้อยมักจะใช้กำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share: EPS) เป็นตัวแปรที่สำคัญในการประเมินมูลค่าหุ้นหรือความสามารถในการทำกำไรของ บริษัท แม้ว่า EPS จะสามารถนำไปใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้นได้ แต่ก็มีข้อจำกัดในการนำไปใช้ซึ่งนักลงทุนอาจมองข้ามไปเช่นกัน

โดยทั่วไปแล้ว EPS แบ่งออกได้หลายประเภท นักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจก่อนว่า EPS แต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร และการนำไปใช้นั้นมีข้อจำกัดอะไรบ้าง
EPS สามารถคำนวณได้โดยการนำกำไรสุทธิหลังหักภาษีหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญของบริษัท EPS แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่

Basic EPS สามารถคำนวณได้โดยการนำกำไรหลังหักภาษีและเงินปันผลหุ้นบุริมสิทธิ์ของบริษัท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญของบริษัท

Diluted EPS มีวิธีการคำนวณที่มีความซับซ้อนกว่า Basic EPS และมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ Basic EPS เสมอ เพราะเป็นกำไรที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับต่อหุ้น ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นของบริษัทได้ เช่น ออปชั่น (Option) ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Notes) ถูกแปลงสภาพเป็นหุ้นจนหมด (กรณีมากที่สุด) ซึ่งจะทำให้ EPS มีค่าลดลงจากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ Diluted EPS จะแสดงให้เห็นถึงกำไรต่อหุ้นขั้นต่ำที่บริษัทสามารถสร้างแก่ผู้ถือหุ้นได้

Adjusted EPS เป็นอัตราส่วนที่มักใช้ในการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทผ่านทางงบการเงิน หรือสื่อต่างๆ Adjusted EPS เป็นการคำนวณ EPS โดยใช้เฉพาะตัวเลขกำไร(ขาดทุน)จากการดำเนินงานหลักตามปกติของบริษัทเท่านั้น ไม่นับรวมกำไร(ขาดทุน)จากกิจกรรมอื่นซึ่งมิใช่การดำเนินงานหลักของบริษัท (รายการพิเศษ: Extraordinary items) เช่น ค่าเสียหายจากภัยธรรมชาติ กำไร(ขาดทุน)จากการขายบริษัทในเครือ เป็นต้น มาหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญของบริษัท การไม่นับรวมกำไร(ขาดทุน)เพื่อคำนวณ Adjusted EPS นี้จะมาจากการตัดสินใจจากฝ่ายผู้บริหารว่ารายได้หรือค่าใช้จ่ายใดควรจะเป็น รายการพิเศษของบริษัทบ้าง กล่าวในอีกแง่ก็คือ บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนค่า EPS ได้ ทำให้ EPS อาจมิได้สะท้อนถึงตัวเลขที่มาจากมาตรฐานทางบัญชีในงบการเงิน ดังนั้นนักลงทุนควรจะทำความเข้าใจถึงที่มาและข้อจำกัดของการใช้ Adjusted EPS และตัดสินใจเองว่าค่าใช้จ่ายเหล่านั้นควรจัดเป็นรายการพิเศษนอกเหนือจากการ ดำเนินงานหรือไม่ก่อนตัดสินใจลงทุน

ข้อจำกัดของ EPS ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการประเมินผลการดำเนินงานของบริษัท
การที่บริษัทเปลี่ยนแปลงนโยบายทางบัญชี อาจทำให้มีผลกระทบต่อกำไรของบริษัท ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ EPS เปลี่ยนแปลงได้แม้ว่ากิจกรรมการดำเนินงานจะไม่ได้เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางบัญชีจากเดิมที่เคยมีนโยบายการบันทึกต้น ทุนแบบ LIFO (Last In, First Out) มาเป็นนโยบายการบันทึกต้นทุนแบบ FIFO (First In, First Out) ย่อมทำให้กำไรของกิจการเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ EPS เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน แม้ว่าบริษัทจะมีรายได้ และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตคงที่ก็ตาม

การที่นักลงทุนพิจารณาเพียงแค่อัตราการเติบโตของ EPS อย่างเดียว โดยไม่พิจารณาปัจจัยอื่น เช่น มูลค่ากิจการในตลาด และกลุ่มอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน สามารถทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตัวเลขปีก่อนหน้าที่นำมาเปรียบเทียบมีค่าน้อยหรือเป็น ค่าติดลบ ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีการเติบโตของ EPS 0.10 บาท เป็น 0.20 บาท ค่า EPS ในรูปตัวเงินเพิ่มขึ้นไม่มากแต่ให้ค่าการเติบโต EPS เป็น 100% เป็นต้น


หากบริษัทมีการซื้อหุ้นคืน จะทำให้จำนวนหุ้นที่บริษัทมีอยู่ในตลาดจำนวนลดลง จำนวนหุ้นที่ลดลงนี้เอง เป็นเหตุให้ EPS มีค่าเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากพิจารณาเพียงแค่ EPS แล้วการซื้อหุ้นคืนอาจเป็นผลดีเพราะทำให้ EPS มีค่าสูงขึ้น แต่นักลงทุนควรจะมองให้ลึกลงไปอีกขั้นหนึ่งว่าบริษัทซื้อหุ้นคืนเพราะอะไร และก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นมากน้อยเพียงใด

นักลงทุนบางกลุ่มอาจมองว่า แค่บริษัทสามารถทำกำไรให้ค่า EPS เพิ่มขึ้นจากปีก่อนก็พอแล้ว แต่ที่จริงแล้วต้องอย่าลืมว่าแม้แต่การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา ผู้ฝากก็ยังได้รับเงินที่เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยออมทรัพย์ในแต่ละปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ค่า EPS ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น การเพิ่มขึ้นของ EPS ไม่ได้แปลว่ากิจการดีเสมอไปแต่เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่เราใช้คัดกรองหุ้น ที่เหมาะสมในการลงทุนเท่านั้นเอง

EPS มิได้สะท้อนถึงภาวะหนี้สินและโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ต้องพิจารณาเพื่อวิเคราะห์สุขภาพทางการเงิน ของบริษัท เช่น บริษัทที่มีแหล่งเงินทุนมาจากการก่อหนี้สูง ความเสี่ยงก็จะสูงตามไปด้วย

การควบรวมหรือซื้อกิจการ (Merger & Acquisition: M&A) จะส่งผลโดยตรงกับ EPS ของกิจการหลังควบรวมแล้ว ซึ่งสามารถเกิดได้ 2 กรณีคือ EPS เพิ่มขึ้นเนื่องจากการซื้อกิจการเป้าหมายที่มีค่า P/E ต่ำกว่าบริษัทที่เสนอซื้อ และ EPS ลดลงจากการซื้อกิจการเป้าหมายที่มีค่า P/E สูงกว่าบริษัทที่เสนอซื้อ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของ EPS นี้เกิดจากการคำนวณทางตัวเลขเท่านั้นโดยไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์อื่นที่อาจ เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ นักลงทุนควรพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆซึ่งมีผลต่อความสามารถในการทำกำไรของ บริษัทควบคู่ไปด้วย เช่น โอกาสในการเติบโตของธุรกิจ กลยุทธ์ด้านการบริหารที่เปลี่ยนแปลงไปหลังควบรวมกิจการ การประหยัดต้นทุนทั้งในด้านการขยายสายการผลิตและการดำเนินงาน เป็นต้น

จากข้อจำกัดของ EPS ที่ได้กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนไม่ควรใช้ EPS เป็นเครื่องมือในการประเมินมูลค่าหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องนำปัจจัยอื่นมาใช้วิเคราะห์ร่วมด้วย เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ EPS และช่วยให้การตัดสินใจของนักลงทุนนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘