ความในใจ แม่ทัพ "อินทัช" สมประสงค์ บุญยะชัย




ยังปักหลักใน 4 ธุรกิจ "โทรคมนาคม, ไอที, มีเดีย และดิจิทัลคอนเทนต์"สำหรับกลุ่ม "อินทัช" หรือชิน คอร์ปอเรชั่น หลังประกาศขยายธุรกิจใหม่ พร้อมประกาศตัวเข้าประมูล "ทีวีดิจิทัล"

การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปยังธุรกิจใหม่ช่วงที่ผ่านมา มีแต่บทบาทในฐานะ Venture Capital (VC) ใส่เงินลงทุนในบริษัทต่าง ๆ เช่น "อุ๊คบี" ผู้ให้บริการช่องทางการนำเสนอสิ่งตีพิมพ์ดิจิทัล (Digital Publication Platform) และอีบุ๊ก เป็นต้น

"ดิจิทัลทีวี" จึงน่าจะเป็นอะไรใหม่ ๆ ไม่มีใครคาดคิดว่า "อินทัช" จะเพลี่ยงพล้ำ ทั้งที่ 2 แม่ทัพ "สมประสงค์ บุญยะชัย" อินทัช และ "วิเชียร เมฆตระการ" เอไอเอสนำทีมมาด้วยตนเอง

เรื่อง "เงิน" ไม่น่าใช่ปัญหา ยิ่งเทียบกับคู่แข่งรายอื่นด้วยแล้ว ยิ่งไม่น่าเชื่อแผนขยายธุรกิจใหม่ไปยัง "ทีวีดิจิทัล" เป็นอันต้องปิดฉากลงไปโดยปริยาย ?

คงไม่มีใครตอบข้อสงสัยข้างต้นได้ดีไปกว่า "สมประสงค์ บุญยะชัย"

- คนเซอร์ไพรส์ที่แพ้ประมูล

ไม่ได้แพ้ ตัดสินใจไม่เอา ราคาประมูลขึ้นไปเร็วมาก แค่สิบกว่านาทีเองพันกว่าล้านบาท คือเคาะนาทีละสิบสองครั้ง ครั้งละ 5 วินาที สิบสองครั้งก็หกสิบล้านบาทแล้วประมูลสิบนาทีก็หกร้อยล้านแล้ว และไม่มีท่าทีว่าจะหยุดด้วย

- ตั้งราคาในใจไว้เท่าไร

ขอไม่บอกนะครับ แต่ในการทำวิจัยครั้งแรกของเราบอกว่า ใน 5 ปีข้างหน้า ขนาดของอุตสาหกรรมโฆษณาจะขยายจาก 60,000 ล้านบาท เป็นแสนล้าน ถ้า เราได้แชร์ 10% หมื่นล้านบาทก็พอไหว แต่ใน 24 เจ้าไม่ได้แชร์กันหมดทุกคนนะ บางคนเท่านั้นที่ได้เยอะ ของเราแค่กลาง ๆพอ บางคนอาจได้แค่ 2-3 พันล้าน/ปี

- มือถือยังมีได้แค่ 3 เจ้า

มือถือใช่ แต่ทีวีคิดว่าไม่เหมือนกัน เพราะจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นได้เมื่อช่องมากขึ้น นาทีที่โฆษณาสูงขึ้น บาทต่อนาทีลดต่ำลง จำนวนสินค้าเพิ่มมากขึ้น เพราะสินค้าปัจจุบันที่จะเข้าไปโฆษณามีอีกมาก แต่เข้าไม่ได้เพราะแพงเกินไป

สถิติถอยหลัง 20 ปี ปรากฏว่าสินค้าและบริษัทที่โฆษณาเกือบจะเหมือนเดิม แสดงว่าช่องทีวีมีอิทธิพลต่อบริษัท ต่อสินค้า เคยเป็นยังไงก็เป็นอย่างนี้ ถ้าตรงนี้ลดลงจะเป็นยังไง เราดูพฤติกรรมในประเทศที่มีช่องเยอะ คนไม่เหมือนเมืองไทย ของไทยวนช่องเพราะมีไม่กี่ช่อง ช่องเยอะจะเริ่มพัฒนาพฤติกรรม คือฉันผูกกับช่องนี้ แต่ละช่องจะพัฒนาแคแร็กเตอร์ของตนเอง

คำถามคือ ไทยต้องใช้เวลาเท่าไร เชื่อว่าสัก 3-5 ปี แปลว่า 3 ปีนี้ในแง่การลงทุนต้องใช้เงินอย่างเดียว จนกว่าผู้ทำรายการ ผู้ชมจะปรับ ในมุมผู้ผลิตรายการขึ้นค่าตัวแน่ ๆ เพราะมีช่องแค่นี้มาหลายสิบปี เปลี่ยนเป็น 24 ช่อง ทำให้เกิดผู้ผลิตรายการหน้าใหม่ ๆ พวกเจนวายจะมีโอกาสขึ้นมา แต่คงต้องใช้เวลาสักพัก

- ในมุมคนซื้อสื่อล่ะ

เราต้องดู จะเกิดธุรกิจใหม่มาแทน เอซี นีลเส็น หรือเป็นอีกทางเลือก การให้สถิติว่าเรตติ้งที่แท้จริงคืออะไร เราต้องไปตามตรงนั้น จะเกิดเซ็กเมนเตชั่น เราต้องดูว่าเราต้องการอะไร ถ้าต้องการกลุ่มเป้าหมายเป็นแมส ไม่เกี่ยวกับโปรดักต์คงเลือกอย่างหนึ่ง ถ้าออกโปรโมชั่นย่อยลงไปก็อาจเลือกอีกอย่าง

- บ้างก็ว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ดูจอทีวี

จริงถามว่ามากไหม เร็วไหม สิ่งที่จะตอบได้คือรีเสิร์ช นี่คือยุคเปลี่ยนผ่าน

ขณะนี้ดีไวซ์รุ่นใหม่เพิ่งเข้ามาในชีวิตมนุษย์ไม่กี่ปีนี้ และมีแฟกเตอร์อื่นอีก เช่น แซทเทลไลท์ทีวี ต้องตั้งประเด็นให้ถูกต้อง และรีเสิร์ช พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปมาก ไม่ได้ยึดติดอยู่กับเวลา ถึงบอกว่า 24 ช่องคงแข่งกันน่าดู เมื่อจำนวนช่องเปลี่ยนอย่างมีสาระสำคัญ ผมเชื่อว่าเราอยู่ในวิวัฒนาการของการพัฒนาพฤติกรรม ลองถามคนอายุ40 ลงไปถึง 30 กว่า พบว่าคนที่ซื้อบ้านแล้วจะมีจอทีวีในห้องรับแขก ถามว่าทำไมถึงซื้อ บางทีบางคำตอบหมายถึงความเป็นเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น ไม่ได้ต้องการใช้จริง ๆ

- คนที่ประมูลทีวีแล้วพลาด บางรายบอกจะไปรอเสียบคนที่ได้ทีหลัง

เป็นไปได้ ผมเชื่อว่าคงต้องใช้เวลาสัก 2 ปี คนที่มีฐานโปรแกรม มีบุคลากรในมือคงโอเค แต่รายใหม่ต้องลงทุนมาก ต้องมีสายป่านยาวพอ เรื่องทีวีดิจิทัลยังอยู่ในแผนขึ้นอยู่กับโอกาส และการประมูลถือเป็นโอกาสหนึ่ง ผมถึงบอกบอร์ดว่า เราไม่ได้ไลเซนส์ตอนนี้แต่โอกาสในอนาคตมีต้องติดตามตอนต่อไป

- แผนปีนี้ของอินทัช

ยังอยู่ในอุตสาหกรรมเทเลคอม, มีเดีย, ไอที และดิจิทัลคอนเทนต์ แต่ยกระดับไปอีกขั้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ 1.กฎระเบียบ2.เทคโนโลยี และ 3.พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน การยกระดับขึ้นไปอีกขั้นต้องทำลายกำแพงกีดขวางต่าง ๆ ที่มีอยู่ สร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ

เอไอเอสจะลงทุนขยายโครงข่าย 3G ภายใต้ระบบใบอนุญาต, ไทยคมจะมีดาวเทียมดวงใหม่ภายใต้ไลเซนส์, มีการลงทุนในบริษัทใหม่ในบทบาทของ VC ต่อ, เปิดคลาวด์, ตั้งบริษัททำดิจิทัลคอนเทนต์แพลตฟอร์ม, ประมูล 4G และเข้าสู่ธุรกิจบรอดแบนด์แบบมีสาย

- ไม่ได้ช่องทีวีเลยโฟกัสดิจิทัลคอนเทนต์

ใช่แต่ไม่ได้ผลิตคอนเทนต์ จะทำหน้าที่แปลงคอนเทนต์ให้อยู่ในรูปดิจิทัลฟอร์ม บริษัทเรามีความรู้ความสามารถด้านไอทีและเทเลคอม คนที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์ถ้าได้รับความสามารถนี้เข้าไปจะเปลี่ยนเป็น เรดดี้ฟอร์มที่พร้อมใช้งานได้ เราจะเป็นฟาซิลิเตเตอร์ คือเป็นแพลตฟอร์ม และทรานส์ฟอร์มคอนเทนต์ทั้งหลายเป็นดิจิทัล แล้วส่งสิ่งนั้นมาบนเน็ตเวิร์กของเอไอเอสเพื่อให้บริโภคได้

- งบฯลงทุนปีนี้

5 หมื่นล้านบาท หลัก ๆ อยู่ที่เอไอเอส 80% ที่เหลือเป็นไทยคม 7, ไวด์บรอดแบนด์, ดิจิทัลคอนเทนต์ และคลาวด์

- ไวด์บรอดแบนด์จะทำอะไรบ้าง

เริ่มจากวิจัยและสำรวจเพื่อให้รู้ว่า ลูกค้าอยู่ที่ไหน คือใคร อาคารสำนักงานต่าง ๆ, หมู่บ้าน, คอนโดมิเนียม ฯลฯ คอนโดฯชัดเจนคนรุ่นใหม่ต้องการใช้ทุกห้อง แต่จะเป็นที่ไหนอย่างไร ต้องสำรวจซึ่งกิน

เวลามาก ลงทุนไม่เยอะมาก เพราะมีสายไฟเบอร์อยู่แล้ว แต่เดินสายต่อจากตรงไหนไปไหนต้องดูสถานที่จริงเราไม่ต้องการให้ไวด์ บรอดแบนด์ไปเป็นคู่แข่งหรือกินเนื้อไวร์เลสมนุษย์จะอยู่กับบรอดแบนด์แน่ ๆ ต้องหาแอปพลิเคชั่นเซอร์วิส และคอนเทนต์เพื่อให้คนได้รับประโยชน์ ไวด์บรอดแบนด์ที่คนอื่นทำ เขาเริ่มมาจากฟิกซ์ไลน์ แต่เรามาจากไวร์เลส เมื่อ 3G 2.1 GHz เกิด ถึงมองเห็นว่ามีโอกาสตรงนี้ จริง ๆ เราก็ทำมาพักหนึ่ง เริ่มจากบริษัทเอดีซีมาเป็นบัดดี้ แต่อยู่ในสเกลเล็กมีลูกค้าหลักหมื่น แต่เป้าหมายนี้คือขยาย เพราะอยากให้เอไอเอสเป็นไวด์บรอดแบนด์โพรไวเดอร์ ขาหนึ่งไวร์เลส อีกขาไวด์บรอดแบนด์ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้คนในองค์กรมีโอกาสเติบโตต่อไปในอนาคต วิชั่นที่ผมมองให้เอไอเอสในอนาคต คือการเป็นโทเทิ่ลเทเลคอมเซอร์วิสโพรไวเดอร์

- ความยากอยู่ตรงไหน

การที่ทำให้เกิดขึ้นจริง ในอดีตคนนึกถึงแผนงาน 3-5 ปี ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาก และสปีดออฟเชนจ์เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาเปลี่ยน ดังนั้น 1.เราต้องสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ 2.รู้ว่าถ้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ควรทำยังไง 3.ต้องวางแผน และ 4.ทำได้ตามแผนนั้นให้สำเร็จ ข้อนี้ยาก ข้อ 1-3 คนส่วนใหญ่ทำได้ แต่ 4.ต้องทำให้บอร์ดเห็นด้วย ผู้บริหารเห็นด้วย ทำให้คนเป็นนายทุนเห็นด้วยกับเรา ยากที่สุดคือข้อนี้ เพราะ Knowing กับ Doing ไม่เท่ากัน ทำยังไงจะให้ Doing รู้ผลให้ได้ ผมเชื่อว่า Knowing ผมรู้ แต่ Doing ให้เกิดขึ้น ทำยังไงให้คนในบริษัทและคนที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยไปด้วยกัน เพราะไม่เคยทำมาก่อน และประสบการณ์เก่าก็ไม่มี

- ยังคงโดนหางเลขจากการเมือง

คนอื่นคิดอย่างไรต่อเรา เราไม่อาจห้ามได้ กาลิเลโอยังใช้เวลา 300 กว่าปี กว่าที่วาติกันจะขอโทษ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘