เส้นทางเศรษฐีหุ้นหนุ่ม

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งในแวดวงของนักลงทุน ที่ผมเห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ มีคนหนุ่ม (ที่เป็นสาวมีน้อยมาก) จำนวนไม่น้อย

เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่หรือก่อนที่จะเรียนจบมหาวิทยาลัย คนหนุ่มเหล่านี้ บางคนแทบจะไม่เคยทำงานเป็นพนักงานของหน่วยงานใด บางคนอาจจะทำงานกับธุรกิจ "ที่บ้าน" ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก หลายคนก็ "ทำงานไปอย่างนั้นเอง" แต่ชีวิตจิตใจอาจจะอยู่กับการลงทุนในตลาดหุ้น

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าทึ่ง ก็คือ คนหนุ่มบางคน หลังจากที่ผ่านการลงทุนมาไม่กี่ปี ด้วยเงินที่น้อยมาก บัดนี้พวกเขาได้กลายเป็น "เศรษฐี" มีเงินหลายสิบล้าน หรือบางคนเป็นร้อยล้านบาทตั้งแต่อายุยังไม่ครบ 30 ปี ผมพยายามวิเคราะห์หาว่า พวกเขาทำอย่างไรจึงสร้างตนเองให้ร่ำรวยได้เร็วขนาดนั้น และต่อไปนี้คือเส้นทางของพวกเขา ที่ผมจินตนาการขึ้น โดยอิงจากการที่ผมได้สัมผัสกับพวกเขาหลายๆ คน นำมาร้อยเรียงเป็นนิยาย "ร่วมสมัย"

คุณไว (มาจากภาษาอังกฤษว่า VI) เริ่มต้นด้วยเงินเพียง 250,000 บาท ด้วยความทุ่มเทเขาศึกษาการลงทุนอย่างหนัก ทั้งการลงทุนแบบพื้นฐาน และความคิดแบบนักเทคนิค เขาเข้าร่วมอบรมและสัมมนาจำนวนมาก เขาได้รู้จักนักลงทุนร่วมอุดมการณ์ทั้งผ่านเว็บไซต์การลงทุน และการเข้าร่วมในกิจกรรมการลงทุนต่างๆ เช่น ในงานแนะนำหรือเยี่ยมชมบริษัทจดทะเบียน เขาเริ่มเห็นว่า มีบริษัทที่มี "คุณภาพดี" จำนวนไม่น้อยที่อยู่ๆ ก็มีราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นมาก หลายตัวมีราคาขึ้นไปหลายเท่าตัวในเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่เดือน เขาเริ่ม "จับได้" ว่า หุ้นเหล่านี้มักมีคุณสมบัติและ "พฤติกรรม" อย่างไร และเมื่อเขาเห็น เขาก็ทุ่มเงินทั้งหมดซื้อหุ้นตัวนั้นพร้อมๆ กับการใช้ มาร์จิน หรือกู้เงินจากโบรกเกอร์อีกเท่าตัวมาซื้อหุ้น ครั้งแรกด้วยเม็ดเงิน 500,000 บาท

หุ้นที่ซื้อมีราคาเพิ่มขึ้นตามคาดจาก 500,000 บาท เป็น 750,000 บาทในเวลาเดือนเดียว เขาสั่งซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นตามกำไรที่ได้ด้วยเงินมาร์จินที่เพิ่มขึ้น ราคาหุ้นยังเพิ่มขึ้นอีกและเขาสั่งซื้อหุ้นเพิ่มอีกตามวงเงินมาร์จินที่ เพิ่มขึ้นอีก ในบางช่วงเมื่อหุ้นขึ้นไปแรง เขาก็ขายไปบ้างและก็กลับไปซื้อใหม่เมื่อหุ้นปรับตัวลง พอผ่านไป 3 เดือน เมื่อหุ้น เริ่ม "นิ่ง" นั่นคือ การวิ่งขึ้นลงของราคาและหรือปริมาณการซื้อขายเริ่มลดน้อยลง เขาก็ขายหุ้นทิ้งทั้งหมด เม็ดเงินที่เหลือของเขา คือ 1 ล้านบาท เขาทำกำไร 300% หรือ 3 เท่าภายในเวลา 3 เดือน

หลังจากนั้น เขาสังเกตเห็นหุ้นตัวใหม่ที่มีคุณสมบัติและพฤติกรรมคล้ายๆ กับหุ้นตัวเดิม ซึ่งเขาได้รับรู้ผ่าน "เครือข่าย" และเช่นเดิม เขาทุ่มเงิน 1 ล้านบาทที่มีอยู่พร้อมๆ กับการใช้มาร์จินเต็มอัตราอีก 1 ล้านบาทเข้าซื้อหุ้นตัวใหม่ และก็เช่นเคย หุ้นวิ่งตามคาด แต่เขาใช้เวลายาวกว่าหุ้นตัวเดิมในการทำเงินจาก 2 ล้านบาทเป็น 3 ล้านบาท หลังจากหักเงินกู้มาร์จิน เขาเหลือเงิน 2 ล้านบาท เมื่อลงทุนมาครบปีแรก เงิน 250,000 บาท กลายเป็นเงิน 2 ล้านบาท หลังจากลงทุนเพียง 1 ปี ผลตอบแทน คือ 700% ในหนึ่งปี เงินโตขึ้นมาเป็น 8 เท่า เขาเห็นแล้วว่านี่คือ "มหัศจรรย์" ของการลงทุน ในแบบ "ของเขา"

เงิน 2 ล้านบาทของเขายังคงถูกใช้ในการลงทุนตาม "สูตรเดิม" แต่ปรับเปลี่ยนบ้าง เขาเริ่มมีหุ้นเล่น 2-3 ตัวในเวลาเดียวกัน การใช้เงินมาร์จินก็ปรับลดลง จากเดิม 100% ก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็น 80% เหตุผลก็เป็นเพราะเขาไม่เจอหุ้นตัวที่ "ใช่" อย่างปีก่อน เขาเริ่มกลัวบ้างว่า การเล่นหุ้นตัวเดียวและใช้มาร์จินเต็มที่นั้นอันตราย เขาอาจจะพลาดได้ ว่าที่จริง เขาก็เคยพลาดจากหุ้นบางตัวแต่โชคดีที่เขา "ออก" ได้ทัน ปีที่สองนี้ พอร์ตของเขาเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านบาท ผลตอบแทน 100% แต่เขา รู้สึก "ผิดหวัง" เพราะเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของปีก่อนแล้ว น้อยลงมาก นั่นก็คือ ผลตอบแทนของเขาแพ้เพื่อนในกลุ่มอย่าง "ยับเยิน"

ปีที่สามของเขาผ่านไปอย่าง "ยากลำบาก" เพราะเกิด "ภาวะวิกฤติ" ผลตอบแทนติดลบถึง 25% เงินในพอร์ตเหลือ 3 ล้านบาท สูตรที่เคยใช้การได้ดีกลับกลายเป็นตรงกันข้าม หุ้นที่เขาเข้าลงทุนมีราคาลดลงมาก โชคยังดีที่เขาไม่ถูก "บังคับขาย" เพื่อรักษาอัตรามาร์จินไว้ พอขึ้นปีที่สี่ ทุกอย่างกลับมาสดใสดังเดิม เขามีความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้นมาก บางครั้งเขาไม่ใช่แค่เป็น "ผู้ตาม" แต่เขาเป็น "ผู้นำ" ในการค้นหาหุ้นที่จะลงทุนและ "ผลักดัน" ราคาหุ้นให้ขึ้นไปด้วย สิ้นปีที่สี่ พอร์ตของเขาผ่านหลัก 10 ล้านไปได้เหมือน "ฝัน" เขาเริ่มได้รับการยอมรับว่าเป็น คนที่มีความสามารถสูงแม้อายุยังน้อย

ปีที่ห้าของคุณไว เขาเริ่มมีหุ้นหลายตัวมากขึ้น การใช้มาร์จินลดลง เฉลี่ยแล้วเขาใช้เพียง 50% เขาเริ่มเห็นว่าการรักษาเงินต้นไว้ เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การทำเงินมากๆ แต่มีความเสี่ยงสูง ด้วยภาวะตลาดหุ้นที่ยังสดใสและ "สูตร" การลงทุนของเขายังทำงานได้ดี ในช่วงหลังๆ นี้ สื่อสมัยใหม่ช่วยให้มีการเผยแพร่สูตรสำเร็จ ในการลงทุนรวมถึงตัวหุ้นที่น่าสนใจได้มากและเร็วขึ้น ทำให้พอร์ตลงทุนของเขาโตขึ้นอีก 100% เขามีเงิน 20 ล้าน และถือว่าเป็นเศรษฐีน้อยๆ คนหนึ่ง พ่อแม่เขาภาคภูมิใจมากที่ลูกหาเงินได้มาก และกลายเป็น "เศรษฐี" คนแรกของ "เครือญาติ" เพื่อนฝูงและคนรู้จักยอมรับในฝีมือของเขา บางคนถือว่าเขาเป็น "กูรู" คนหนึ่งของวงการหุ้น

ปีที่หกเริ่มต้นด้วยตลาดหุ้นที่ไม่สดใสนัก พอร์ตของคุณไวไม่ใคร่จะไปไหน ขณะนี้ เขาเริ่มรู้สึกว่าหุ้นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด เงิน 20 ล้านของเขา หมายถึง ชีวิตที่ดีๆ ที่เขาต้องรักษาไว้โดยให้มีความเสี่ยงน้อยลง แน่นอน เขาอยากได้ผลตอบแทนมาก แต่ถ้ามันเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไป เขาไม่อยากรับ มาร์จินที่เขาเคยใช้เต็ม ขณะนี้ลดลงมาก บางช่วงเขาไม่ได้ใช้เลย หุ้นที่เคยมีอยู่เพียง 2-3 ตัวก็กลายเป็น 7-8 ตัว เขายังใช้สูตรเดิมในการลงทุน แต่ผลกำไรที่ได้จากหุ้นแต่ละตัว เมื่อคิดเทียบกับพอร์ต 20 ล้านแล้วไม่มากนัก ซึ่งหุ้น 7-8 ตัวนั้น โอกาสที่เขาจะได้กำไรโดดเด่นทุกตัวดูเหมือนจะยาก จบปีที่หก ผลตอบแทนของเขาลดลงเหลือ 20% เมื่อเทียบกับอดีตแล้วลดลงมาก แต่เป็นผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ที่หุ้นแทบไม่ให้ผลตอบแทน เลย

ปลายปีที่หก คุณไวแต่งงานกับสาวสวยที่มีดีกรีเป็นแพทย์ ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเขา เพราะเพื่อนๆ นักลงทุนของเขาที่ "ลงทุนเป็นอาชีพ" และไม่ได้ทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ที่ "มีหน้ามีตา" หลายคน ต่างแต่งงานหรือมีแฟนเป็นผู้หญิงที่ผู้ชายต่างหมายปอง บางทีการเป็น "เศรษฐี" ตั้งแต่อายุน้อย อาจจะลบล้างค่านิยมเก่าๆ ว่า คุณต้องมีงานการเป็นหลักเป็นฐานที่แน่นอนได้

ความสำเร็จในแบบของคุณไว ผมคิดว่าไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายถ้ามองไปในอนาคต บางที คุณไวอาจจะโชคดีที่เริ่มต้นช่วง "โอกาสทอง" ที่หุ้นบางประเภท ปรับตัวขึ้นมาก คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้เจอแบบนั้น การใช้มาร์จินและลงทุนในหุ้นน้อยตัวเกินไป เป็นความเสี่ยงที่สูงเกินไป และอาจทำให้เรา "ติด" จนในที่สุดวันหนึ่งเราอาจจะพลาดอย่างร้ายแรงจนทำให้เกิดหายนะได้ ผมคิดว่า การลงทุนโดยยึดหลักการที่เหมาะสม น่าจะเป็นทางเดินที่ดีกว่าสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีความสามารถพิเศษในการลงทุน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘