การดูพื้นฐานหุ้น เปรียบเทียบกับราคา

การเล่นหุ้น หรือ ลงทุนในหุ้น มีอยู่ 2 หลักใหญ่ คือ

1. เล่นเก็งกำไรเป็นหลัก โดยใช้เทคนิค ใช้การดูกราฟ
2. เน้นซื้อแบบลงทุน โดยดูพื้นฐาน
จะเล่นแบบไหน ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน
ไม่ควรเล่นแบบเดาสุ่ม ซื้อตามข่าว ตามบทวิเคราะห์ที่เขามาเขียนเชียร์

การใช้เทคนิค

เป็นการดึงข้อมูลราคาหุ้นในอดีต มาเขียนเป็นกราฟ โดยใช้โปรแกรมทางคอมพิวเตอร์
ก็ต้องไปศึกษาวิธีการ และซื้อโปรแกรมมาติดตั้ง รวมทั้งการดึงข้อมูลราคา
หลังจากนั้นก็ดึงกราฟหุ้นแต่ละตัวที่ต้องการดูออกมา หรือกราฟของดัชนีก็ได้
แล้วก็ต้องศึกษาวิธีการอ่านกราฟ มีเส้นกราฟราคา เส้นสัญญาณต่างๆที่จะบอกถึง
แนวรับและแนวต้าน รวมทั้งดูว่า อยู่ในเขตซื้อหรือขายมากไป และวิเคราะห์ดูว่า
แนวโน้มข้างหน้า จะขึ้น หรือ จะลง เพื่อตัดสินใจจะซื้อหรือจะขาย
ผมไม่ได้ศึกษาเทคนิคนะครับ รู้แต่เพียงหลักการ ถ้าจะศึกษาแบบจริงจัง
ก็ต้องไปเรียนใช้เวลาพอควร

คนที่เล่นหุ้นวิธีนี้ ส่วนใหญ่จะไม่ดูข้อมูลของบริษัทนั้น ดูกราฟเป็นหลัก
เมื่อดูว่า มีสัญญาณน่าซื้อ ก็จะซื้อ สัญญาณระบุว่า ควรขาย ก็จะขาย
แม้จะขายขาดทุน คือ Cut Loss ก็ขาย ลักษณะจะเป็นแบบ ชาวไล่ คือ
มักจะซื้อเมื่อหุ้นตัวนั้นขึ้นทะลุแนวต้าน ยิ่งมี New High เขามักจะซื้อ
แบบว่า ไล่ซื้อตาม ซื้อสูงเพื่อไปขายสูงกว่า

แต่การอ่านหรือวิเคราะห์ก็ไม่แน่นอน
หลายครั้ง นักเทคนิคแต่ละคน ก็วิเคราะห์แตกต่างกันในเรื่องเดียวกัน
การเล่นวิธีนี้ จะเล่นได้บ่อย มีกำไรและขาดทุน
เรียกว่า Take Profit และ Cut Loss
ผมไม่ได้ศึกษาเทคนิค อาจจะมีบางอย่างเขียนผิดไป
ใครศึกษาเทคนิคมา จะมาให้ความเห็น ก็ยินดีครับ

การดูพื้นฐาน

เป็นการดูว่า ควรจะซื้อหุ้นตัวหนึ่งตัวใด โดยดูราคาเปรียบเทียบกับพื้นฐาน
การซื้อหุ้นของผม จะใช้วิธีนี้ และไม่เคยดูกราฟ
มีเข้าไปดูกราฟและการวิเคราะห์ดัชนีไทยของเวบต่างประเทศ
ก่อนจะซื้อหุ้นตัวใด ที่ผมยังไม่เคยดูข้อมูล จะต้องเข้าไปดูข้อมูลก่อนจะตัดสินใจซื้อทุกครั้ง
วิธีการก็ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องไปวิเคราะห์อะไร แค่ดูข้อมูลของหุ้นตัวนั้นก็พอ คือ

1. ดูว่าราคาสูงเกินพื้นฐานปัจจุบันหรือไม่ ก็ดูจาก P/E (Price/Earing) Ratio
2. ดูผลประกอบการที่ผ่านมา ย้อนหลังไป 4 ปี และผลประกอบการล่าสุด
3. ดูราคาที่ผ่านมา ย้อนหลังอย่างน้อย 4-6 เดือน
4. ดูอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ผ่านมา
5. ดูสถานะทางการเงิน โดยดูจากงบการเงิน
ถ้าเป็นหุ้นที่ผมจะซื้อถือเป็นหลัก ไม่ใช่ถือลุ้น Turn Around ซึ่งผมมักจะไม่ซื้อเลย
ตัวไหนมีผลประกอบขาดทุน หรือยังมีขาดทุนสะสมอยู่ ไม่ซื้อ
รวมทั้งถ้าผลประกอบล่าสุดขาดทุน หรือมีกำไรลดลงมาก
ถ้าจะซื้อต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

การดูข้อมูล

ก็เข้าไปดูที่เวบของตลาดหลักทรัพย์ ได้ตลอดเวลา ไม่ต้องไปดูที่อื่น
http://www.set.or.th
จะเล่นหุ้น ควรเข้าไปดูข้อมูลทุกเช้าและบ่ายก่อนตลาดเปิด
เพราะจะมีข้อมูลแจ้งผลประกอบการล่าสุด การเพิ่มทุน/ลดทุน
การประกาศจ่ายเงินปันผล และอื่นๆ

การดู P/E

Price/Earning Ratio เป็นการดูว่า ราคาหุ้นสูงเกินไปหรือไม่
คำนวณได้จาก เอาราคาหารด้วยผลกำไรต่อหุ้น ออกมาเป็นกี่เท่า
ถ้าสูง ก็แสดงว่า ราคาสูง P/E ควรจะอยู่ 10-12 เท่า
หุ้นที่มี P/E สูงมากเช่น มากกว่า 30 เท่า ให้ประเมินในเบื้องต้น
ได้เลยว่า เป็นหุ้นปั่น แม้จะเป็นตัวที่เขามาวิเคราะห์ว่าผลประกอบการจะเติบโต
แบบก้าวกระโดด ผมก็ไม่เสี่ยงซื้อครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิด
ข้อมูลในอดีตและปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจน ไม่ต้องคาด ไม่ต้องเดา
หุ้นมีหลายร้อยตัวในตลาด เราเลือกได้ หาดูให้ดี

แต่ผลประกอบการในอนาคต ก็ไม่แน่นอน
การจะดู P/E ก็เข้าไปที่เวบของตลาด แล้วไปที่แถบ [ข้อมูลบริษัท/หลักทรัพย์]
ไล่ลงมาที่ [ตราสารทุน] ตามด้วย [ข้อมูลรายบริษัท/หลักทรัพย์]
ไปที่รายชื่อบริษัท ซึ่งเรียงตามตัวอักษร แล้วเลือกบริษัทที่ต้องการ
แล้วไปคลิกที่แถบ [งบการเงิน/ผลประกอบการ] ก็จะได้ข้อมูลออกมา


การดูผลประกอบการที่ผ่านมา

ก็ดูที่เดียวกัน แต่ดูด้านบน ให้ดูที่ [กำไรต่อหุ้น]
จะเห็นกำไรต่อหุ้น ในปีที่ผ่านมา ก่อนหน้า
และขวาสุด จะเป็นกำไรต่อหุ้น งวดล่าสุด อาจจะเป็น 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน หรือทั้งปี

การดูราคาย้อนหลัง

ก็ไปดูในส่วนที่เดิม คลิกที่แถบ [ราคาย้อนหลัง]
จะมีราคาให้ดูย้อนหลังไป 6 เดือน
และมียอดซื้อขาย ในแต่ละวัน


การดูอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ผ่านมา

ก็ดูที่เดิม จะเห็นอัตราการจ่ายเงินปันผลเป็น %

เปรียบเทียบกับราคาหุ้นในขณะนั้น

การดูสถานะทางการเงิน

สิ่งสำคัญหลังสุดที่ควรดู ก็ไปดูจากงบการเงิน
งบการเงินที่สำคัญก็มีงบดุลกับงบกำไรขาดทุน
แต่สถานะทางการเงินก็ดูจากงบดุลหรืองบแสดงฐานะการเงิน
ในส่วนของ [งบการเงิน/ผลประกอบการ] ก็คลิกที่ [งบการเงินล่าสุด]
อยู่ด้านบนขวา ใต้ [ราคาย้อนหลัง]

สิ่งสำคัญที่ควรดู
ในงบแสดงฐานะการเงิน ได้แก่
เงินสดคงเหลือ มีเงินสดมากน้อยเพียงใด
สินทรัพย์รวม
หนี้สินรวม มีหนี้สินมากหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับทุน
ทุนที่ออกและชำระเต็มมูลค่าแล้ว
กำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรร มีกำไรหรือขาดทุนสะสม
ในงบกำไรขาดทุน
ที่สำคัญ ได้แก่ ต้นทุนทางการเงิน ก็คือค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย



โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าจะใช้เทคนิคหรือดูราคาเปรียบเทียบกับพื้นฐาน

ต่างมีความไม่แน่นอน แต่โดยปกติ ผลประกอบการข้างหน้าจะเป็นตัวกำหนดราคาหุ้นครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘