บิดาแห่งตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ

ในการวิเคราะห์หุ้นเพื่อที่จะหาว่าตัวไหนน่าลงทุนหรือไม่นั้น ในบางครั้งผมก็มักจะดูข้อมูลของบริษัทสองแห่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
และอาจจะแข่งขันกันด้วย เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้านเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ การหาหุ้นที่คล้ายคลึงกันนั้น บางครั้งก็ง่ายเนื่องจากทั้งสองบริษัททำ
ธุรกิจแบบเดียวกันและมีฐานลูกค้าใกล้เคียงกัน ตัวอย่างเช่น บริษัททั้งสองต่างก็เป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำและมีฐานลูกค้าที่เป็นคนมีราย ได้สูงและชาวต่างประเทศ
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งอาจจะเป็นธุรกิจที่เป็นเครือข่ายโรงแรมชั้นนำและขาย อาหารภัตตาคารและจานด่วนหลากหลาย เป็นต้น แต่ในหลาย ๆ กรณีการที่จะหาคู่บริษัทที่จะมาเปรียบเทียบก็อาจจะไม่ง่ายนัก ในกรณีแบบนี้ผมก็มักจะหาทางเปรียบเทียบแบบอื่น ๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะใช้ในการ “ปิดท้าย” การวิเคราะห์แบบจับคู่ก็คือเรื่องของมูลค่าของกิจการที่ตลาดให้กับแต่ละ บริษัท นั่นก็คือ ดูว่า Market Cap. ของแต่ละบริษัทเป็นเท่าไร สมเหตุผลหรือไม่? โดยทั่วไปผมจะดูว่าหุ้นตัวไหนน่าจะถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกันทุกด้านแล้ว จากนั้นก็อาจจะตัดสินใจ บางครั้งก็อาจจะไม่เลือกทั้งสองตัว บางครั้งเลือกตัวที่เด่นและคุ้มค่ากว่า น้อยครั้งที่จะเลือกทั้งสองตัว วิธีการจับคู่วิเคราะห์หุ้นนี้ ที่จริงคนที่ใช้เป็นเรื่องเป็นราวก็คือ เบน เกรแฮม ที่เขียนไว้ในหนังสือ The Intelligent Investor อันโด่งดังนั่นเอง




ถ้ามีบริษัทที่คล้ายกันอยู่แล้ว การวิเคราะห์แบบจับคู่ก็ง่าย เริ่มต้นนั้นผมจะดูที่ความสามารถในการแข่งขันก่อน สิ่งที่ผมจะพิจารณาก็คือ บริษัทไหนแน่หรือเก่งกว่ากันซึ่งก็จะต้องดูว่าอะไรเป็นปัจจัยที่สำคัญของการ แข่งขันในธุรกิจ เช่นถ้าเป็นเรื่องของโรงพยาบาล แน่นอนว่าความสามารถหรือชื่อเสียงของแพทย์ก็ต้องเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนั้นเรื่องของสถานที่และอุปกรณ์รวมถึงการบริการก็มีความสำคัญเป็น ลำดับตามกันมา เสร็จแล้วผมก็จะให้เรทติ้งว่าใครเหนือกว่าใครและเหนือกว่ามากไหม จากนั้น ผมก็จะต้องวิเคราะห์ตัวเลขผลประกอบการต่าง ๆ ที่ผ่านมาเพื่อที่จะ “ยืนยัน” ว่าสิ่งที่ผมคิดนั้นจริงไหม โดยปกติ ผลประกอบการเช่น อัตราการทำกำไรเมื่อเทียบกับยอดขายก็มักจะเป็นตัวบอกถึงความเข้มแข็งทางด้าน การตลาดหรือความสามารถในการแข่งขันได้พอสมควร



นอกจากการวิเคราะห์สิ่งที่เป็นอยู่แล้ว ผมยังต้องดูถึงอนาคตว่าบริษัทไหนจะดีขึ้นหรือแย่ลงโดยเปรียบเทียบ สิ่งสำคัญก็คือ เราจะต้องดูถึงกลยุทธ์ที่แต่ละบริษัทใช้ในการแข่งขันและการเติบโต ดูว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นนั้น ใครกำลังโดดเด่นและใครกำลังถดถอย ข้อมูลชิ้นนี้มีความสำคัญไม่น้อยโดยเฉพาะถ้าบริษัทหนึ่งโดดเด่นขึ้นในแง่ของ การขายและการตลาดและแสดงออกให้เห็นจากผลประกอบการในช่วงเร็ว ๆ นี้ที่ดีขึ้นมากกว่าคู่เทียบอย่างเห็นได้ชัด เพราะนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าอย่างแท้จริงในอนาคต

หลังจากการวิเคราะห์ตัวกิจการหรือบริษัทแล้ว สิ่งที่เราจะต้องดูต่อไปก็คือ ราคา นั่นก็คือ ดูว่าค่า PE ค่า PB อัตราผลตอบแทนปันผล Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นของบริษัท และอื่น ๆ ที่จะบอกว่าหุ้นตัวไหนคุ้มค่ามากกว่ากัน ในกรณีที่ใช้ค่า PE เป็นตัวดูความถูกแพง ผมก็จะเปรียบเทียบ “คุณภาพ” กับ “ราคา” หรือค่า PE ว่าแต่ละตัวเป็นอย่างไร ถ้าคุณภาพสูงกว่าแต่ค่า PE ต่ำกว่า แบบนี้ก็ชัดเจนว่าผมคงจะเลือกมัน แต่ถ้าพบว่าคุณภาพสูงกว่าแต่ค่า PE ก็สูงกว่าด้วย ในกรณีแบบนี้ เราก็ต้องใช้วิจารณญาณว่า คุณภาพสูงกว่าแค่ไหน และ PE สูงกว่าแค่ไหน ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะบอก เพราะนี่เป็นศิลปะและก็คงต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน เป็นไปได้สูงเหมือนกันที่บางทีเราก็บอกไม่ใคร่ได้ว่าตัวไหนดีกว่า



นอกจากการใช้ PE แล้ว ผมก็มักจะต้องพิจารณาถึงมูลค่าตลาดของหุ้นว่าบริษัทไหนมากกว่ากันและมาก เท่าไร นี่เป็นการดูแบบ “ภาพใหญ่” ว่า หุ้นที่เปรียบเทียบกันนั้น ใครมีค่ามากกว่ากันและมากกว่าเท่าไร ถ้าพบว่าบริษัทหนึ่งที่มีคุณภาพด้อยกว่าหรือพอ ๆ กันและมีขนาดของธุรกิจใกล้เคียงกันแต่กลับมีมูลค่าตลาดสูงกว่ามาก แบบนี้ผมก็อาจจะมองได้ว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งน่าสนใจกว่าและควรจะเป็นตัวเลือก ถ้าเราจะลงทุนระยะยาว



ในกรณีของหุ้นที่หาคู่วิเคราะห์เปรียบเทียบกับคู่แข่งไม่ได้เนื่องจากไม่มี บริษัทที่ใกล้เคียงในด้านของอุตสาหกรรมและขนาดที่เหมาะสม การจับคู่วิเคราะห์สำหรับผมก็มักจะเน้นไปทางด้านของ Market Cap. เสียเป็นส่วนใหญ่ ในกรณีแบบนี้บ่อยครั้งก็มักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือค่อนข้างใหญ่ที่ธุรกิจ หรือยอดขายของบริษัทนั้นมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม บางบริษัทอาจจะเกือบผูกขาดด้วยซ้ำ หลักคิดของผมก็คือ ถ้าอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่บริษัททำนั้น เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หรือจะใหญ่มากในอนาคต บริษัทที่ใหญ่หรือยิ่งใหญ่ก็จะต้องมีมูลค่าตลาดที่มากตาม แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้น เราอาจจะบอกได้ยาก ดังนั้น วิธีที่ดีกว่าก็คือ เปรียบเทียบกับอีกบริษัทหนึ่งที่ใหญ่หรือยิ่งใหญ่แบบเดียวกัน แต่อยู่ในอีกธุรกิจหนึ่งที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศเราเหมือนกัน พูดง่าย ๆ เปรียบเทียบกับบริษัทที่มีมูลค่าพอ ๆ กัน –ข้ามอุตสาหกรรม



ถ้าบริษัทที่เราดูอยู่นั้น อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่น่าจะโตเร็วกว่ามากและจะโตไปอีกมากจนมีขนาด ที่ใหญ่กว่าอีกอุตสาหกรรมหนึ่งมาก โอกาสที่บริษัทจะมีมูลค่าในอนาคตที่สูงกว่าบริษัทที่เราเปรียบเทียบก็จะมาก ดังนั้น เราก็จะบอกว่าหุ้นตัวนี้น่าจะมีมูลค่าสูงกว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งโดยเปรียบเทียบ และถ้าให้เราเลือกที่จะลงทุน เราก็คงเลือกบริษัทนี้



การเปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรมนั้น เป็นเรื่องที่ทำไม่ง่าย ส่วนใหญ่แล้วเราก็จะเห็นไม่ชัดว่าหุ้นที่เราดูอยู่นั้นถูกหรือไม่ แต่ในบางครั้ง เราก็อาจจะพบว่าหุ้นบางตัวมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเปรียบเทียบกับ หุ้นตัวอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นที่มีคุณสมบัติทางด้านการแข่งขันในตลาด พอ ๆ กันแต่มีศักยภาพที่จะเติบโตน้อยกว่ามาก ในกรณีแบบนี้ หน้าที่เราก็คือ ซื้อหุ้นและก็ถือไว้ให้ยาวนาน ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามคาด หุ้นก็จะปรับตัวขึ้นจนมี Market Cap. หรือมีมูลค่าตลาดของหุ้น “สมกับศักดิ์ศรี” ของมัน



การจับคู่ หรือบางทีจับหุ้นหลายตัวโดยเฉพาะที่มีธุรกิจคล้ายคลึงกัน มาวิเคราะห์ร่วมกันนั้น ผมคิดว่าเป็นการวิเคราะห์เสริมที่มีประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ มันช่วยให้เราเข้าใจบริษัทมากขึ้นไปอีกจากการวิเคราะห์หุ้นตัวเดียว มันทำให้เรารู้ว่าคุณภาพของหุ้นดีระดับไหนและมันแพงหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบ กับอีกตัวหนึ่ง ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ถ้าเราอยากซื้อหุ้นแบงค์ขนาดใหญ่ เราก็ควรศึกษาเทียบกับแบงค์ใหญ่ที่คล้ายกัน เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากซื้อแบงค์เล็ก เราก็ควรต้องเปรียบเทียบกับแบงค์เล็กด้วยกัน และบางทีเราก็อาจจะเปรียบเทียบกับแบงค์ใหญ่ไปด้วย หรือถ้าเราต้องการซื้อหุ้นบันเทิง “ครบวงจร” เราก็ควรจะเปรียบเทียบกับหุ้นอีกตัวหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับหุ้นที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เราสามารถจะเปรียบเทียบ ได้อย่างชัดเจนเพราะพวกเขาทำธุรกิจที่ใกล้เคียงกันมากและแข่งขันกันตลอดเวลา ถ้าจะสรุปก็คือ หุ้นจำนวนมากนั้น หาคู่ที่จะมาเปรียบเทียบได้เสมอ และ VI ผู้มุ่งมั่นก็ควรจะทำทุกครั้งที่มีโอกาส

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘