ปิรามิดวางแผนทางการเงิน

ความสำคัญของการวางแผนการเงิน ฐานต้องแน่นแข็งแกร่ง โดยเฉพาะผู้ที่กำลังคิดและเริ่มต้นเก็บเงินเก็บทอง จำเป็นต้องทำให้ฐานแน่นหนา คล้ายๆ กับว่าถ้าเริ่มต้นดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

ถ้าเราหลับตานึกถึงปิรามิด เห็นว่าฐานของปิรามิดจะกว้าง ซึ่งก็เพื่อรับน้ำหนักและทำให้ ปิรามิดตั้งอยู่ได้นานแสนนาน ดังนั้นยิ่งยอดปิรามิดอยู่สูงเท่าไหร่ ฐานปิรามิดต้องแข็งแรงแบบสุดๆ เหมือนกับร่างกายของคนเราที่ร่างกายจะแข็งแรงได้ ต้องทานอาหารที่ดีเหมาะสม ออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ เป็นต้น
การวางแผนการเงินก็เช่นเดียวกัน หากต้องการแข็งแรง (มีเงินเก็บ) ก็ต้องมีพื้นฐานเรื่องการออม การลงทุนที่เข้าใจ แล้วก็สามารถนำไปใช้กับตัวเองได้อย่าง และแน่นอนการมีปิรามิดการลงทุนที่แข็งแกร่ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทุนสำหรับการเริ่มต้นวางแผนการเงินในระยะยาว

Money & Wealth ฉบับนี้ ผมจะสร้างปิรามิดเพื่อการวางแผนการเงินให้กับนักลงทุนมือใหม่ เพื่อให้เข้าใจก่อนจะลงมือเก็บเงินเก็บทอง และเมื่อลงมือแล้วจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

ปิรามิดการวางแผนการเงิน ประกอบไปด้วย 6 ระดับ

1.เป้าหมาย (Goal) เป็นฐานแรกและเป็นพื้นฐานของการวางแผนการเงินที่นักลงทุนทุกคนที่ต้องมี นั่นคือ เป้าหมายการวางแผนการเงิน อย่าลืมว่าระหว่าง “เป้าหมาย” กับ “ความฝัน” มีความแตกต่างกัน คนเราสามารถฝันว่าอยากจะมีเงินหลายล้านบาท อยากมีบ้านหลังใหญ่โต อยากไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือฝันอยากเป็นอะไรก็ได้ตลอดเวลา แต่ความฝันไม่สามารถเป็นจริงได้

แต่หากมีเป้าหมาย หมายถึง การมีเป้าหมายในชีวิตที่จะเดินไปให้ถึง ซึ่งหากเป็นการลงทุน ก็คือ Financial Goal นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น อยากมีบ้านในอีก 5 ปีข้างหน้า อยากมีเงินเก็บ 10 ล้านบาทให้ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าการวางแผนการเงินมีแค่เป้าหมายเดียวเท่านั้น แต่ความจริงแล้วเป้าหมายนี้ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายเดียว แต่สามารถวางเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไปได้ในแต่ละจังหวะเวลา ขอเพียงแค่ให้วางแผนว่าเป้าหมายไหนเป็นเป้าหมายแรก เป้าหมายไหนเป็นเป้าหมายรองๆ ถัดไป
เมื่อมีเป้าหมายแล้วก็ลงมือทำเพื่อให้ได้ตามที่เป้าหมาย ซึ่งแต่ละคนก็มีเป้าหมายแตกต่างกัน แต่ขออย่างเดียวอย่าวางเป้าหมายให้ไกลเกินเอื้อม เพราะบางคนมีเป้าหมายสวยหรูมาก เช่น ตอนนี้อายุ 30 ปี เงินเดือน 30,000 บาท อยากมีบ้านราคา 20 ล้านบาท บ้านพักตากอากาศอีก 1 หลัง รถสปอร์ต 2 คัน เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศปีละ 2 ครั้ง

2.รู้จักออม (Save) เมื่อมีเป้าหมายแล้ว และต้องการไปให้ถึงก็ต้องรู้จักออม รู้จักใช้จ่าย ยกตัวอย่างเช่น ต้องการมีบ้านในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็ต้องรู้ว่านับจากวันนี้จะต้องออม ลงทุนเดือนละ ปีละเท่าไหร่ จะต้องใช้จ่ายอย่างไรบ้าง เพื่อให้มีเงินออม บางคนมีเป้าหมายอีก 5 ปีอยากมีบ้านสักหลัง แต่วันนี้ยังใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเหมือนเดิม ไม่ปรับพฤติกรรมการวางแผนการเงิน เป้าหมายอาจจะไปไม่ถึง

3.การจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) เมื่อรู้จักการออมแล้ว ก็ต้องรู้ว่าจะต้องมีการจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเองอย่างไร ซึ่งการจัดพอร์ตนี้จะมีความสัมพันธ์กับเป้าหมายที่เราวางแผนเอาไว้ เช่น อีก 5 ปีข้างหน้าต้องมีบ้าน ก็ต้องมาจัดพอร์ตลงทุนแล้วว่าจะต้องลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินอะไรบ้าง เพื่อให้เงินไปซื้อบ้าน บางคนมีเป้าหมายแต่จัดพอร์ตการลงทุนไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย เช่น อีก 5 ปีข้างหน้าต้องมีบ้าน แต่วันนี้เงินลงทุนจำนวน 1 ล้านบาท กลับไปอยู่ในรูปเงินฝากออมทรัพย์และตราสารหนี้อย่างละครึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าด้วยผลตอบแทนอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าการลงทุนที่จะประสบความสำเร็จได้ เกินครึ่งหนึ่งเกิดจากปัจจัยการจัดพอร์ตลงทุนที่เหมาะสม และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการวางแผนการเงินที่เราได้วางเอาไว้ การจัดพอร์ตลงทุนก็ต้องมีการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลาย ถือเป็นการกระจายความเสี่ยง และสร้างผลตอบแทนให้เป็นไปตามความคาดหวัง ดังนั้นการจัดพอร์ตลงทุน ก็ต้องดูว่าเรามีวัตถุประสงค์การวางแผนการเงินอย่างไร รับความเสี่ยงได้แค่ไหน และหวังผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน

4.วินัย (Discipline) เมื่อรู้ว่าจะจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไรแล้ว จะต้องมีวินัยในการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนที่ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายทางการเงิน ส่วนหนึ่งมาจากขาดวินัยในการลงทุน

5.ภาษี (Tax) ใครที่ไม่มีหน้าที่เสียภาษีทุกๆ เดือนไม่รู้ว่าเจ็บปวดขนาดไหนที่เห็นเงินบางส่วนถูกหักเป็นภาษี แต่หากมีการวางแผนเพื่อเสียภาษีจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เพราะทุกวันนี้มีเครื่องมือทางการเงินที่ถูกกฎหมายในการลดหย่อนภาษีได้ อย่างเช่น กองทุนรวม LTF และกองทุนรวม RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิต เงินบริจาค ดอกเบี้ยจากสลากออมสิน, ดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลประเภทฝากเผื่อเรียก, ดอกเบี้ยจากสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำรายเดือน ตั้งแต่ 24 เดือนขึ้นไปนับตั้งแต่วันที่เริ่มฝากเงินเป็นรายเดือน โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 600,000 บาท ดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่ผู้ฝากต้องมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ที่สำคัญเมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทแล้วต้องมีจำนวนทั้งสิ้น ไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น

6.การลงทุน (Investment) เป็นเรื่องยากที่สุด เพราะบางคนไม่รู้ว่าเครื่องมือทางการเงินแบบไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง ดังนั้นหากไม่รู้ควรปรึกษานักวางแผนการเงินเพื่อหาเครื่องมือทางการเงินอะไร ที่เหมาะสมที่สุด หาความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ผมมั้นใจว่าหากนักลงทุนหน้าใหม่เดินตามปิรามิดนี้ จะมีเงินเก็บเอาไว้ใช้ตลอดชีวิต

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘