สร้างสภาวะสบาย ด้วยการติดตั้งฉนวนกันความร้อน

สร้างสภาวะสบาย ด้วยการติดตั้ง ฉนวนกันความร้อน
การปรับ ปรุงบ้านให้เกิดสภาวะน่าสบายโดยการเลือกใช้วัสดุกันความร้อน ก็จะช่วยทำให้ประหยัดพลังงานได้ ปัจจุบันเกือบทุกอาคารหรือในบ้านพักอาศัยใช้ฉนวนกันความร้อน เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารหรือในบ้านให้อยู่ในช่วงที่ต้องการ ซึ่งการเลือกใช้ฉนวนควรพิจารณาจากความสามารถในการป้องกันความร้อน ลักษณะของฉนวน เช่น เป็นม้วน , เป็นแผ่น หรือเป็นฝอย เป็นต้น ต่อมาคือ ความหนาแน่นและน้ำหนัก กรณีฉนวนที่มีความหนามาก ราคาก็จะแพงกว่า ถ้าใช้ติดตั้งทำให้พื้นที่ใช้สอยน้อยลง แต่จะประหยัดพลังงานได้มาก ดังนั้น การเลือกใช้ควรจะคำนึงถึงความจำเป็นในการติดตั้งเป็นสำคัญ และการเลือกใช้ฉนวนควรพิจารณาจากช่วงอุณหภูมิของการใช้งาน การยืดหดตัวเมื่อได้รับความร้อน การกันน้ำและความชื้น และความสามารถต่อแรงอัดและความทนทาน ซึ่งฉนวนกันความร้อนแต่ละประเภทก็จะมีคุณสมบัติ และลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนี้
        ฉนวนใยแก้วหรือไฟเบอร์กลาส ที่ส่วนใหญ่นำมาใช้และเป็นที่รู้จักกันดีนั้น ลักษณะเด่นคือ เป็นเส้นใยสีเหลืองทำเป็นแผ่นหรือเป็นม้วน บางชนิดก็ทำติดไว้กับแผ่นแข็ง ๆ หรือมีแผ่นฟอยล์อยู่ด้านใดด้านหนึ่ง หรือไม่ก็มีแผ่นฟอยล์หุ้มอยู่ทุกด้านคล้ายกับการบรรจุอยู่ในถุง ฉนวนประเภทนี้ นอกจากจะกันความร้อนได้ และมีค่าการกันไฟได้สูงถึง 300 องศาเซลเซียสแล้ว ยังกันเสียงได้อีกด้วย แต่ก็มีข้อเสียคือ แพ้ความเปียกชื้นหากเส้นใยถูกความชื้นหรือหยดน้ำ ก็จะยุบตัวแบนติดกัน ทำให้ไม่สามารถป้องกันความร้อนได้ และหากคนที่แพ้เส้นใยสัมผัสหรือแตะถูกโดยตรง อาจเกิดอาการคันและระคายเคืองได้ ดังนั้น การเลือกใช้ฉนวนใยแก้วหากไม่ต้องการให้เส้นใยโดนตัว ก็อาจจะเลือกใช้ชนิดที่มีฟอยล์หุ้ม
        ฉนวนร็อควูล มีรูปร่างเป็นแผ่น หรือก้อนทึบ การกันความร้อนนั้นเหมือนฉนวนใยแก้ว แต่สามารถทนไฟได้ดีกว่า และที่เด่นอีกอย่างคือ ความสามารถในการดูดซับเสียง บางครั้งมีการนำไปติดกับผนังห้องที่ต้องการควบคุมเสียงและใช้ผ้าบุด้านหน้า เพื่อตกแต่งให้สวยงาม ข้อเสียก็เช่นเดียวกับฉนวนใยแก้วคือแพ้ความเปียกชื้น
        ฉนวนประเภทเซลลูโลส เป็นฉนวนที่ทำมาจากเยื่อไม้หรือเยื่อกระดาษ ซึ่งต้องมีการใส่สารป้องกันการลุกไหม้หรือการลามของไฟ ที่พบเห็นส่วนใหญ่มักเป็นชนิดพ่นในช่องว่างหลังคาหรือฝ้าเพดาน การกันความร้อนดีพอๆ กับฉนวนใยแก้วและฉนวนร็อควูล แต่การทำงานในลักษณะที่เราต้องพ่นเข้าไปในหลังคา ค่อนข้างยาก เนื่องจากความหนาที่ต้องการมักจะหนากว่า 2 นิ้ว ทำให้ควบคุมการพ่นฉนวนให้หนาตามที่ต้องการทำได้ลำบาก
        ฉนวนอลูมินั่มฟอยล์ คือ ฉนวนสะท้อนความร้อนประเภทที่มีผิวมันวาว มีลักษณะเป็นแผ่นอลูมินั่มฟอยล์ ที่ใช้วางใต้หลังคา สามารถป้องกันความร้อนได้โดยการสะท้อนรังสีความร้อนออกไปก่อนที่ความร้อนจะ เข้ามาสะสมในเนื้อวัสดุ อีกทั้งลักษณะของฉนวนที่เป็นแผ่นบางทำให้ฉนวนไม่เกิดการสะสมความร้อน ดังนั้น หากผิวฉนวนหมดความเป็นมันวาว เช่น มีฝุ่นเกาะ ก็จะทำให้ไม่เกิดการสะท้อนความร้อน และส่งผลให้ฉนวนไม่สามารถป้องกันความร้อนได้ และคุณสมบัติของฉนวนประเภทอลูมินั่มฟอยล์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การที่ฉนวนสามารถแผ่รังสีความร้อนออกมาได้น้อย ซึ่งหากติดตั้งฉนวนใต้หลังคา ก็จะทำให้ความร้อนถ่ายเทลงมาในบ้านน้อยด้วย และหากต้องการให้ป้องกันความร้อนได้ดียิ่งขึ้น ควรจะติดตั้งให้มีช่องว่างอากาศ
( แอร์ ) ระหว่างแผ่นฟอยล์กับฝ้าเพดานไม่น้อยกว่า 1 นิ้วด้วย
        ฉนวนประเภทโฟม มีทั้งชนิดที่เป็นแผ่นเช่น โพลีเอทิลีน หรือชนิดที่ใช้ฉีดพ่น เช่นโฟมโพลียูรีเธน ซึ่งเป็นฉนวนที่สามารถป้องกันความร้อนได้ดีเหมือนฉนวนใยแก้วและฉนวนร็อควูล แต่ฉนวนประเภทโฟมจะมีข้อดีกว่าตรงที่โฟมสามารถป้องกันน้ำและกันความชื้นได้ แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือ ฉนวนประเภทโฟมจะแพ้รังสีอุตตร้าไวโอเลต หรือรังสียูวีของดวงอาทิตย์ ดังนั้น หากนำไปใช้ต้องไม่ให้ถูกแสงแดดโดยเด็ดขาด ที่สำคัญคือ ฉนวนประเภทโฟมหากโดนความร้อนสูงหรืออยู่ในที่ ที่มีอุณหภูมิสูงนานๆ ก็จะบิดงอหรืออาจลุกไหม้ได้ เนื่องจากจุดหลอมเหลวของโฟมนั้นมักจะต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียล
        สุดท้ายคือ ฉนวนประเภทอื่น ๆ ที่สามารถนำมาเป็นฉนวนป้องกันความร้อนได้ แต่มีคุณภาพไม่ดีเท่าประเภทที่ทำมาจากใยแก้ว เช่น ประเภทอิฐมวลเบา และแผ่นยิบซั่มบอร์ด เป็นต้น
        ดังนั้น หากจะเลือกใช้ฉนวนจึงควรพิจารณาเลือกใช้ให้ถูกประเภทและลักษณะการใช้งาน เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับ ที่สำคัญช่วยให้ผู้อยู่อาศัยเกิดสภาวะสบายได้โดยไม่ต้องเปิดพัดลมหรือเปิด แอร์ให้เปลืองค่าไฟ ช่วยประหยัดประพลังงาน แถมประหยัดเงินให้กระเป๋าของคุณด้วย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘