กัณฑ์ที่ ๓๓ กรณียเมตตสูตร(ต่อ) วันที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๗

กัณฑ์ที่ ๓๓ กรณียเมตตสูตร(ต่อ) วันที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๗

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

เย เกจิ ปาณภูตตฺถิ วา มชฺฌิมา รสฺสกา อณุกถูลา 
ทิฏฐา วา เย จ อทิฏฐา เย จ ทูเร วสนฺติ วิทูเร        
ภูตา วา สมฺภเวสี วา    สพฺเพ สตฺตา ภวนฺตุ สุขิตตฺตา
น ปโร ปรํ นิกุพฺเพถ    นาติมญฺเญถ กตฺถจิ นํ กิญฺจ
พฺยาโรสนา ปฏีฆสญฺญา    นาญฺญฺญฺสฺส ทุกฺขมิจฺเฉยฺย
มาตา ยถา นิยํ ปุตฺตํอายุสา เอกปุตฺตมนุรกฺเข     
เอวมฺปิ สพฺพถูเตสฺ  มานสมฺภาวเย อปริมาณํ        
เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ มานสมฺภาวเย อปริมาณํ    
อุทฺธํ อโธ จ ติริยญฺจ อสมฺพาธํ อเวรํ อสปตฺตํ         
ติฏฺฐญฺจรํ นิสินฺโน วาสยาโน วา ยาวตสฺส วิคตมิทฺโธ
เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย    พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ     
ทิฏฺฐิญฺจ อนุปคมฺม สีลวาทสฺสเนน สมฺปนฺโน        
กาเมสุ วิเนยฺย เคธํน หิ ชาตุ คพฺภเสยฺยํ ปุนเรตีติ ฯ

ณ  บัดนี้อาตมภาพจักได้แสดง กรณียเมตตสูตร ซึ่งยังค้างอยู่ในสัปดาห์ที่ล่วงไปแล้วนั้น  กรณียเมตตสูตรนั้นที่แสดงไปแล้วเพียงแต่ส่วนเบื้องต้น  ยังขาดส่วนที่ ๒ อยู่  วันนี้จะแสดงในส่วนเบื้องปลายในกรณียเมตตสูตร ตามวาระพระบาลี เพื่อปฎิการสนองประคองศรัทธา ประดับสติปัญญาคุณสมบัติของท่านผู้พุทธบริษัท ทั้งคฤหัสถ์ บรรพชิต บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า

เริ่มต้นตามวาระพระบาลีว่า
เย เกจิ ปาณภูตตฺถิ ตสา วา ถาวรา วา อนวเสสา
สัตว์มีชีวิตทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ ยังสะดุ้งอยู่หรือว่ามั่นคงแล้ว ทั้งสิ้นไม่เหลือเลย
ทีฆา วา เย มหนฺตา วา
เหล่าใดตัวยาว เหล่าใดตัวใหญ่ เหล่าใดเป็นปานกลาง เหล่าใดตัวสั้น เหล่าใดผอม เหล่าใดพี
เหล่าใดที่เราเห็นแล้วก็ดี หรือยังไม่เห็นก็ดี
เหล่าใดอยู่ในที่ไกลก็ดี  อยู่ในที่ไม่ไกลก็ดี
เกิดแล้วหรือว่ายังจะพึงเกิดต่อไป หรือว่ากำลังเกิดอยู่
ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้นจงเป็นผู้มีตนอยู่เป็นสุขเถิด
น ปโร ปรํ นิกุพฺเพถ
สัตว์เหล่าอื่นอย่าข่มเหงสัตว์เหล่าอื่นเลย
นาติมญฺเญถ กตฺถจิ นํ กิญฺจ
ไม่ควรดูถูกอะไรๆ เขา ในที่ใดๆ เลย มารดาผู้ถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดแล้วในตน  ด้วยยอมพร่าตนในบุตรนั้น  ผู้มีเมตตาพึงตั้งสติอันนั้นไว้ ผู้มีเมตตาควรตั้งสติอันนั้นไว้
เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย
ผู้มีเมตตาควรตั้งสติอันนั้นไว้ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวแล้ว นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ควรให้ทุกข์แก่กันและกัน
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวแล้วว่า กิริยาอันนั้นแหละเป็นพรหมวิหารในพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า
เอวมฺปิ สพฺพถูเตสฺ มานสมฺภาวเย อปริมาณํ
ควรพึงเจริญเมตตาที่มีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งหลาย แม้ฉันนั้น
เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ    มานสมฺภาวเย อปริมาณํ
บุคคลเจริญเมตตาที่มีในใจไม่มีประมาณในเบื้องบน หรือในเบื้องต่ำ หรือในเบื้องขวาง
อสมฺพาธํ อเวรํ อสปตฺตํ
เป็นธรรมอันไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู
ติฏฺฐญฺจรํ นิสินฺโน วา สยาโน วา ยาวตสฺส วิคตมิทฺโธ
ผู้มีเมตตายืนอยู่ก็ดี เดินไปก็ดี นั่งแล้วก็ดี นอนแล้วก็ดี เป็นผู้ปราศจากความง่วงนอน ฉันใด
เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย
ผู้มีเมตตาพึงตั้งสติไว้ฉันนั้น เพราะสติที่ไม่ง่วงนอนนั่นมันแจ่มใสดี พึงตั้งสติอันนั้นไว้ พึงรักษาสติอันนั้นไว้ไม่ให้คลาดเคลื่อน ผู้สงบระงับ ผู้ถึงพร้อมด้วยทัศนะ  คือ พระโสดาปัตติมรรค  พึงนำความหมกมุ่นในกามทั้งหลายออก
กาเมสุ วิเนยฺย เคธํ
พึงนำความหมกมุ่นในกามทั้งหลายออก เป็นผู้ไม่ถึงในความนอนภพต่อไปอีกโดยแท้ทีเดียว

นี้เนื้อความของพระบาลีคลี่ความเป็นสยามได้ความเท่านี้ ต่อแต่นี้จะอรรถาธิบายในกรณียเมตตสูตรนี้เป็นลำดับลงไปว่า ในเบื้องต้นที่แสดงมาแล้วในสัปดาห์ก่อนโน้น

การเจริญเมตตาว่า  ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจตั้งอยู่เป็นสุขเถิดนี้  ต่อหัวว่าสัตว์มีชีวิตทั้งหลายเหล่าใด ให้คิดอยู่แต่ในใจกรณียเมตตสูตร สัตว์มีชีวิตทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีอยู่ยังสะดุ้งอยู่ ยังมีตัณหาเครื่องสะดุ้ง หรือว่ามั่นคงแล้ว

นี่ไม่สะดุ้ง หรือเรียกว่าไม่มีตัณหา อนวเสสา ทั้งสิ้นไม่เหลือเลยทั้งหมด สัตว์มีเท่าไรทั้งหมดปรากฏไม่เหลือเลย  ให้วางใจ  ตั้งใจลงไปดังนั้น

สัตว์เหล่าใดมีตัวยาว ยาวเท่าไรก็ช่าง อย่างพญานาคที่ตัวยาวๆ  หรืองูตัวยาวๆ  ชนิดใดก็ช่างที่มีตัวยาวๆ

ทีฆา วา เย มหนฺตา  หรือเหล่าใดมีตัวใหญ่ ใหญ่เท่าไรก็ช่าง จนกระทั่งสุดใหญ่   มชฺฌิมา วา  หรือว่าปานกลาง มีตัวปานกลาง

รสฺสกา หรือมีตัวสั้น อณุกถูลา หรือว่ามีร่างผอมหรือพี ผอมและอ้วนมีมากน้อยเท่าไร ให้ตั้งใจรู้สึกในใจ ดังนี้

ทิฏฐา วา เย จ อทิฏฐา ที่เราเห็นอยู่แล้ว หรือมิได้เห็นก็ดี ให้ตั้งใจดังนี้

เย จ ทูเร วสนฺติ อวิทูเร เหล่าใดอยู่ในที่ไกล หรือว่าอยู่ในที่ไม่ไกล ไกลจนกระทั่งเราไม่เห็น หรือว่าไม่ไกล  อ้ายไม่ไกลอยู่ที่ใกล้  หรือว่าเกิดแล้วก็ดี หรือว่ากำลังจะเกิดก็ดี  ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้นจงเป็นผู้มีตนอยู่เป็นสุขเถิด

ให้ตั้งใจอย่างนี้ เป็นเมตตาในธรรมวินัยของพระบรมศาสดา ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้นจงเป็นผู้มีตนอยู่เป็นสุขเถิด  ให้ตั้งใจอย่างนี้  ที่เราเป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ให้ตั้งใจเมตตาในสัตว์เหล่านี้ดังนี้

เมื่อตั้งใจอย่างนี้แล้ว อีกท่อนหนึ่ง    
น ปโร ปรํ นิกุพฺเพถ สัตว์เหล่าอื่นอย่าข่มเหงสัตว์อื่นเลย
นาติมญฺเญถ กตฺถจิ นํ กิญฺจิ  อย่าดูหมิ่นอะไรๆ เขา ในที่ใดๆ เลย
การดูหมิ่นเขาน่ะมันมีอยู่ทุกคน
ภิกษุก็ดูหมิ่นภิกษุ                                                สามเณรก็ดูหมิ่นสามเณร
ภิกษุดูหมิ่นสามเณร                                             สามเณรดูหมิ่นภิกษุ
ดูหมิ่นกัน  ดูหมิ่นกันต้องเกิดเรื่อง  ไม่ได้รับความสุข
หรืออุบาสกอุบาสิกาก็ดูหมิ่นกัน    
อุบาสกก็ดูหมิ่นอุบาสกในอุบาสกซึ่งกันและกันเอง
หรืออุบาสิกาดูหมิ่นอุบาสก
หรือชนชาวบ้านดูหมิ่นชาววัด
หรือชาววัดดูหมิ่นชาวบ้าน
การดูหมิ่นกันอย่างนี้แหละปราศจากเมตตาในกันและกัน ให้กลับใจเสียใหม่
ภิกษุก็ไม่ดูหมิ่นภิกษุ  ในชั้นสูง  ชั้นกลาง ชั้นต่ำ
สามเณรก็ไม่ดูหมิ่นสามเณร  ในชั้นสูง  ชั้นกลาง  ชั้นต่ำ
หรือภิกษุไม่ดูหมิ่นสามเณร สามเณร ไม่ดูหมิ่นภิกษุ
หรือคนมั่งมีดูหมิ่นคนจน หรือคนจนดูถูกคนมี
หรือคนชั้นสูงดูถูกคนชั้นต่ำ  คนชั้นต่ำดูถูกคนชั้นสูง  อย่างนี้ต้องมีอยู่เป็นธรรมดา
ส่วนเมตตาพรหมวิหารให้เลิกดูหมิ่นกันเสีย ไม่ให้ดูหมิ่นอะไรๆ ในที่เขาหรือในที่ใดๆ ไม่ดูหมิ่นทั้งนั้น
ถ้าเลิกดูหมิ่นเสียเช่นนี้นั่นแหละ จะกลับเป็นคนดีกับเขาได้
บางทีดูหมิ่นเขาไม่รู้ตัวว่าดูหมิ่นเขา  ดูหมิ่นเป็นอย่างไร?
คำดูหมิ่นนะ เขาเล็กกว่าสู้ไม่ได้ พูดเอาตามชอบใจ ว่าเอาตามชอบใจ ไม่ไพเราะ  พูดอย่างกักขฬะๆ หยาบช้า กล้าแข็ง บ้างด่าว่าเขาต่างๆ ชอบอกชอบใจ  เหล่านี้เรียกว่าดูหมิ่นเขาอยู่แล้ว
ถึงเขาจนก็ดูหมิ่น พูดไม่เคารพ คารวะในกันและกัน
พูดใช้เสียงกระด้างไม่น่าฟัง ถ้อยคำเหล่านั้น ตวาด  ขู่ด้วยประการต่างๆ  เหล่านี้ดูหมิ่นเขา

อ้ายลักษณะดูหมิ่นเป็นข้อสำคัญนัก เขาจึงได้ยืนยันไว้ว่า เรือนยอดที่จะทำลายลงด้วยไฟไหม้น่ะ  เพราะไหม้แต่เรือนย่อยขึ้นไป กระต๊อบกระท่อมที่ปลูกอยู่ข้างๆ เรือนยอดนั่นแหละ  ไหม้เรือนเล็กๆ ขึ้นก่อน  แล้วก็ไปไหม้เรือนยอดนั่น  ฉันใดก็ดี

แง่นี้แหละความร้อนเกิดจากชั้นน้อยขึ้นมาไหม้เรือนยอดได้
เจ้าครองประเทศ หรือผู้ครองประเทศจะได้รับความอับปาง เกิดปฏิวัติขึ้น  ก็เพราะผู้ใหญ่ดูหมิ่นผู้น้อย
หรือไม่ฉะนั้นผู้น้อยเมื่อถูกดูหมิ่น ดูถูกด้วยประการใดประการหนึ่ง ก็จำเอาไว้  ได้สมัครพรรคพวกมากขึ้น  ก็ลงโทษผู้ใหญ่

เหมือนในคอมมิวนิสต์บัดนี้ ที่จะเกิดลุกลามกันใหญ่โตเช่นนี้ เพราะผู้ชั้นสูงดูหมิ่นผู้ต่ำ  คนมั่งมีดูถูกคนจน  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดเข้าปล้นกัน  เกิดเป็นคอมมิวนิสต์ขึ้น  นี่เพราะเหตุพูดจาไม่เพราะ  ดูถูกดูหมิ่นกัน  จึงได้เกิดรบราฆ่าฟันกันเช่นนี้

ถ้าแม้ไม่ดูถูกดูหมิ่นซึ่งกันและกันแล้ว ไหนเลยจะเกิดรบราฆ่าฟันกันเช่นนี้
เหตุนี้ถ้าภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา รู้จักเช่นนี้แล้วให้เลิกดูหมิ่นกันเสีย  ไม่ดูหมิ่นใครๆ ละ  เลิกดูหมิ่นเสีย  ตั้งอยู่ในเมตตา
เมื่อเจอผู้ใหญ่ ก็ตั้งอยู่ในเมตตารักใคร่ปรารถนาจะให้เป็นสุข
เมื่อเจอผู้ปานกลาง ก็ตั้งอยู่ในเมตตารักใคร่ปรารถนาจะให้เป็นสุข
เมื่อเจอผู้ต่ำ ก็ตั้งอยู่ในเมตตารักใคร่ปรารถนาจะให้เป็นสุข
เมื่อตั้งอยู่เช่นนี้  ตามบาลีว่า
น ปโร ปรํ แปลว่า ไม่ดูถูกดูหมิ่นในกันและกัน
นาติมญฺเญถ กตฺถจิ นํ กิญฺจิ นี้เรียกว่าไม่ดูถูกดูหมิ่นในกันและกัน

มารดาผู้ถนอมกล่อมเกลี้ยงแต่บุตรที่เกิดในตนผู้เดียว ยอมพร่าชีวิตของตนได้ด้วยความรักลูกแม้ฉันใด  บุคคลผู้ประกอบเมตตา บุคคลผู้ตั้งอยู่ในเมตตา บุคคลผู้เจริญเมตตา  พึงตั้งจิตดวงนั้นไว้  จิตดวงของมารดาที่พร่าชีวิตแทนบุตรของตนได้น่ะ บุคคลผู้ประกอบด้วยเมตตา พึงตั้งจิตดวงนั้นไว้

นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า กิริยาของจิตเช่นนั้นแหละ ชื่อว่าเป็นพรหมวิหารในพุทธศาสนาทีเดียว

ตรงนี้ต้องจำ  มารดาผู้ถนอมบุตรของตน ผู้เกิดในตนผู้เดียว ด้วยยอมพร่าชีวิตของตนได้ ผู้ประกอบด้วยจิตเมตตาพึงรักษาจิตดวงนั้นไว้

บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่ากิริยาของจิตเช่นนั้นแหละเป็นพรหมวิหารในพุทธศาสนานี้  จิตดวงนั้นให้รักษาไว้

รักษาอย่างไร?  จิตที่รัก รูป เสียง อิ่มเอิบซาบซึ้งในใจนั่นแหละ อย่าใช้จำเพาะลูกของตัว  เมื่อใช้ในลูกของตัว จิตสงบดีแล้ว ใช้จิตที่ซาบซ่านอย่างชนิดนั้นให้ทั่วไปแก่คนอื่นไม่จำเพาะลูก  ให้ทั่วไปแก่คนอื่น

เหมือนอยู่ในวัดนี้ ถ้าจะแผ่เมตตาก็เหมือนกันหมด เห็นหญิงก็ดี ชายก็ดี ภิกษุ สามเณร เอาใจของตัว จิตของตัวที่เอิบอาบ ซึมซาบในลูกที่เกิดในอกของตนนั่นแหละ จำได้รสชาติใจนั้นแน่ เอาใจดวงนั้นแหละ เอาไปรักใคร่เข้าในบุคคลอื่นทุกคนเหมือนกับลูกของตน  ให้มีรสมีชาติอย่างนี้ ถ้ามีรสมีชาติอย่างนั้นละก็  เมตตาพรหมวิหารของตนเป็นแล้ว

เมื่อเมตตาพรหมวิหารเป็นขึ้นเช่นนี้แล้วอัศจรรย์นัก ไม่ใช่พอดีพอร้ายให้ใช้อย่างนี้  ใช้จิตของตนให้เอิบอาบ

ถ้าว่าทำจิตไม่เป็น ก็แผ่ได้ยาก  ไม่ใช่แผ่ได้ง่าย  แต่ลูกของตนแผ่ได้ ลูกออกใหม่ๆ น่ะ เอิบอาบ ซึมซาบ รักใคร่ ถนอมกล่อมเกลี้ยงบุตรของตน กระฉับกระเฉงแน่นแฟ้นเพียงใด

ให้เอาจิตดวงนั้นแหละมาใช้  เรียกว่า เมตตาพรหมวิหาร  เอาไปใช้ในคนอื่นเข้า  เห็นคนอื่นเข้าก็รักใคร่อย่างนั้นแหละ เมตตารักใคร่อย่างนั้นแหละ

เมตตารักใคร่อย่างบุตรน่ะ เมตตารักใคร่อย่างไร? มีอะไรให้หมด ถ้าว่ามีนม  ก็รับให้นมทีเดียว มีของอะไรให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง รักใคร่จริงๆ อย่างนั้น เอิบอาบซึมซาบรสชาติสำคัญทีเดียว ลูกอ่อนน่ะ

อ้ายจิตดวงนั้นสำคัญทีเดียว จำไว้ ตั้งจิตดวงนั้นแหละไว้ พรหมวิหาร แต่ว่าให้ทั่วไปแก่สัตว์โลก โอกอ่าววัฏสงสาร  ไม่ว่าสัตว์ชนิดใดๆ ๔ เท้า ๒ เท้า เท้าเหี้ยน เท้ามากไม่เข้าใจ

จะเป็นสัตว์ตัวใหญ่ หรือสัตว์ตัวยาว หรือสัตว์ตัวปานกลาง
หรือสัตว์ตัวสั้นหรือพี หรือผอม หรืออ้วน ชนิดอะไรก็ช่าง ผอมหรืออ้วนก็ช่าง
ที่เห็นแล้ว หรือยังไม่ได้เห็นก็ช่าง อยู่ใกล้หรืออยู่ไกลก็ช่าง ตั้งจิตให้มั่นหมายในสัตว์อย่างนั้น  ตั้งจิตลงไปเช่นนั้น อ้ายนี่ให้จำไว้

เมตตาพรหมวิหารให้รักษาเอาไว้ นี่พวกทำจิตให้เป็นน่ะทำได้อย่างนี้
ให้จำแม่ลูกอ่อนรักลูกไว้  ถ้าไม่เป็นแม่ลูกอ่อน ไม่รู้รสชาติของจิตนี้ ไม่รู้จักรสชาติของจิตดวงนี้

ถ้าเป็นแม่ลูกอ่อน จึงจะรู้จักรสชาติของจิตดวงนี้
ถ้าเป็นพ่อลูกอ่อนก็รู้จักรสชาติของจิตดวงนี้
ถ้าไม่เป็นพ่อลูกอ่อนก็ไม่รู้จักรสชาติของจิตดวงนี้ จิตดวงนี้เป็นจิตดวงสำคัญ  เมื่อรู้จักใช้แล้วละก็  ใช้จำเพาะลูกของตนก็ไม่ได้ผล  มีฤทธิ์นัก
ถ้ารู้จักใช้ถูกส่วนแล้วละก็ มีฤทธิ์มีเดชมากมายนักนะ จะมีคนรักใคร่มากมายนับประมาณไม่ได้  ถ้าใช้ถูก

ส่วนถ้าว่าผู้ทำจิตเป็น ทำใจหยุดนิ่งได้ก็แก้ไขใจของตัวได้   ไปแค่ไหนก็แก้ไขแค่นั้น  แก้ให้รักใคร่สัตว์โลก เหมือนอย่างกับแม่ลูกอ่อนที่รักลูกที่เกิดใหม่ๆ   โคก็ดีรักลูกที่เกิดใหม่น่ะ

สัตว์เดรัจฉานลูกที่เกิดใหม่ๆ น่ะ  ใครเข้าไปขวิดทีเดียว ไก่ป่าก็ดี เปรียวนักกลัวมนุษย์นัก แต่พอลูกอ่อนออกมาละก็ ออกจากไข่ใหม่ๆ พาลูกเดินต๊อกแต๊กละก็  เอาละใครเข้าไปละก็  ปราดตีใส่ทีเดียว  ไก่เถื่อนนะ  ไก่ป่านะ กลัวมนุษย์นัก แต่ว่ามนุษย์เข้าใกล้ตีทีเดียว ร้องทีเดียว แผ่ปีกทีเดียว เพราะรักลูก ออกห่างจากลูกไม่ได้

จิตดวงนั้นสัตว์ดิรัจฉานก็ยังใช้ในลูก สัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า เท้าเหี้ยน ใช้ในลูกเหมือนกันหมด  แม่ลูกอ่อนใช้ในลูกละก็  ให้จำจิตดวงนั้นไว้  นั่นแหละทำให้เป็นขึ้นเถอะ

จิตดวงนั้นน่ะให้เป็นแก่มนุษย์ทั่วไปละก็ บุคคลนั้นแหละจะทำอะไรละก็  ในมนุษย์โลกสำเร็จหมด สำเร็จหมดทีเดียว  จะสร้างประเทศก็สำเร็จหมด สร้างวัดสร้างวาเป็นสำเร็จหมด  ใช้อย่างนั้นแหละคนต้องมาช่วยทำให้สำเร็จทุกประการ

เหมือนอย่างกับแม่ลูกอ่อน รักลูกเอิบอาบดึงดูดกระฉับกระเฉงแน่นแฟ้นในลูก  ลูกจะแอะก็ไม่ได้ละ แม่ก็ต้องควักละ นั่นแหละฉันใด ลูกนั่นก็ทำใจหยุดดีมั่นคงดี แม่มีความกระสันแน่นแฟ้นในลูกยิ่งนักหนา

จิตดวงนั้นแหละผู้เจริญเมตตาให้รักษาไว้ อย่าให้คลาดเคลื่อน ถ้ารักษาไม่ได้แล้ว ขอสะกิดใจว่านั่นแหละ  พรหมวิหารในพระพุทธศาสนาจะทำอะไรในพระพุทธศาสนาสำเร็จทุกสิ่งทุกประการ

นี่ให้รู้จักหลักฐานพุทธศาสนาแน่นอนอย่างนี้
เมื่อรู้จักเช่นนี้แน่นอนเข้าใจแล้ว ท่านจึงได้ยืนว่า
เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ    มานสมฺภาวเย อปริมาณํ
บุคคลผู้เจริญเมตตาที่มีในใจไม่มีประมาณไปในสัตว์ทั้งสิ้น เจริญอย่างนี้แหละ  ในเบื้องบน  อุทฺธํ  ในเบื้องบน ในเบื้องบนก็ตลอดขึ้นไปจะมีสัตว์เท่าไรในอากาศ  ในเบื้องต่ำในแผ่นดินมีมากน้อยเท่าไร ทั่วไปหมดแบบเดียวกัน  สัตว์ในแผ่นดิน

อุทฺธํ อโธ จ ติริยญฺจ ในเบื้องขวาง ในเบื้องขวางตลอดไปหมด พ้นจากเบื้องบน  เบื้องต่ำ   เบื้องขวาง  ตลอดหมด  ให้แผ่ไปอย่างนี้ทั่วไป
อสมฺพาธํ      เป็นธรรมไม่คับแคบ
อเวรํ  ไม่มีเวร  หาเวรมิได้ ไม่มีเวรมีภัย ไปข้างไหนก็สบาย ไม่ต้องมีศัสตราอาวุธ ไม่มีเวรไม่มีภัยกับใคร
อสปตฺตํ ไม่มีศัตรู ไปไหนไม่มีศัตรู ไม่มีใครทำร้ายเพราะเมตตาพรหมวิหารเป็นเสียแล้ว  เพราะมีแต่เขารักใคร่เท่านั้น
ติฏฺฐญฺจรํ        เมื่อเจริญเมตตาถึงขนาดนั้นแล้ว ยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี เดินไปก็ดี
นิสินฺโน วา      นั่งแล้วก็ดี
สยาโน วา   นอนแล้วก็ดี เป็นผู้ปราศจากความง่วงนอนทีเดียว เป็นผู้ปราศจากความง่วงนอน  ไม่มีง่วงเหงา  หาวนอน ฉันใด
เอวมฺปิ สพฺพภูเตสุ มานสมฺภาวเย อปริมาณํ
ผู้ประกอบด้วยเมตตามีในใจไม่มีประมาณเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้มีตนเป็นสุขโดยส่วนเดียว  ไม่มีทุกข์

เหตุนั้นผู้ที่ประกอบด้วยเมตตาเห็นสภาวะปานฉะนี้ ย่อมประกอบด้วยทัศนะความเห็นคือ  เข้าถึงซึ่งความเป็นพระโสดาปัตติมรรคทีเดียว เมื่อเข้าถึงซึ่งความเป็นพระโสดาปัตติมรรคเช่นนี้

กาเมสุ วิเนยฺย เคธํ    ควรนำความหมกมุ่น เคธํ แปลว่าตัวกิเลส ควรนำความหมกมุ่นในกามทั้งหลายไปเสีย อย่าไปเกี่ยวข้องด้วยกามนัก มันทำให้พรหมวิหารเสีย
ถ้าไม่เกี่ยวข้องด้วยกามแล้ว พรหมวิหารไม่เสีย
ถ้าเกี่ยวข้องด้วยกามเสียแล้ว  เสียพรหมวิหาร มีความปรารถนาในกามเสียแล้ว  ไม่เป็นพรหมวิหาร

พรหมวิหารไม่ปรารถนาในกาม ปรารถนาเหมือนอย่างกับมารดารักลูกออกใหม่ๆ  ดังนั้น มารดารักลูกออกใหม่ๆ ด้วยกรุณาอย่างเดียว เมตตา กรุณา มุทิตา มารดาบิดารักลูกออกใหม่ๆ

มีเมตตา  รักใคร่จะให้เป็นสุข  ไม่ต้องการอะไรเลยในลูก

กรุณา  อยากจะช่วยลูกให้พ้นทุกข์

มุทิตา  เมื่อลูกเดินได้นั่งได้คลานได้ ไปในทิศานุทิศได้ เลี้ยงตัวได้ก็ยินดีด้วย  โมทนาด้วย

หรือถึงความวิบัติพลัดพรากที่เหลือวิสัยที่จะช่วยได้ก็อยู่ในอุเบกขา

อย่างนั้นมารดาที่รักลูกน่ะรักใคร่ลูกน่ะ ถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูก  ไม่ประกอบด้วยกาม  ประกอบด้วยพรหมวิหารแท้ๆ  ถึงได้กล่าวว่ามารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร

พระพุทธเจ้าก็เป็นพรหมของบุตร เป็นพุทธเจ้าด้วย เป็นพรหมด้วย
มารดาบิดาเป็นบุรพาจารย์ของบุตร เพราะสอนบุตรและธิดามาก่อนใคร
มารดาบิดาเป็นพระอรหันต์ของบุตร
บุตรจะเพาะเลี้ยงมารดาบิดาด้วยประการใด ก็ได้เชื่อว่าเลี้ยงพระอรหันต์แท้ๆ
เหตุนี้แล เมตตาพรหมวิหารนี้ ท่านทั้งหลายผู้เป็นเมธี พึงมนสิการกำหนดไว้ในใจของตนทุกถ้วนหน้า

ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้ในเมตตาพรหมวิหารดังกล่าวแล้ว นี้ ไม่เข้าถึงซึ่งความนอนในครรภ์อีก  ย่อมไม่เข้าถึงซึ่งความนอนในครรภ์อีกโดยแท้ทีเดียว  แตกกายทำลายขันธ์แล้ว

ถ้าเป็นพระโสดาบัน ไม่เข้าถึงซึ่งความนอนในครรภ์อีกก็ชาติเดียวเท่านั้น  ได้ไปเป็นพระสกทาคา  อนาคา  อรหันต์ทีเดียว  เรียกว่า เอกพีชี ชาติเดียวตายทีเดียว  ไม่กลับมานอนในครรภ์  ในกามภพอีกต่อไป

อันนี้ก็ได้ชื่อว่าพระอานิสงส์เมตตาส่งให้ ถ้าว่าผู้ใดทำใจได้เช่นนี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นที่ไหว้ที่บูชาของมหาชนคนทั้งหลาย

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ครั้งในตอนไม่สู้ช้านัก เขาเล่าลือในตอนเชียงใหม่ พระศรีวิชัยประกอบเมตตาพรหมวิหารเป็นอย่างนี้แหละ แกจะทำอะไรเป็นสำเร็จหมดทุกประการ  ผู้มีปรีชาญาณเช่นนั้น  มนสิการกำหนดไว้ในใจของตนทุกถ้วนหน้า

วัดปากน้ำถ้าจะพลิกวิชานี้  ก็จะใช้จิตอย่างชนิดนี้ก็ไม่สู้ยาก มีจำนวนรู้ในทางธรรมปฏิบัติ  ใช้จิตเป็น ๑๕๐ กว่าคนแล้ว ในพวกเหล่านี้พอทำเข้าก็เป็นทุกคน  ไม่สู้ยากนัก

ถ้าว่าทำจิตยังไม่เป็นแล้ว  ก็ทำยากอยู่
ในเมตตาพรหมวิหารนี้ไม่ใช่เป็นของทำง่าย  พุทธศาสนาต้องประสงค์อย่างนี้นะ

ถ้าเราเป็นผู้มีปัญญาฉลาดมาพบพุทธศาสนาเป็นหลักของวิชชา เช่นนี้แล้ว  จับเอาหลักเสียให้ได้ ได้สักอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ ได้ธรรมกายก็ใช้ได้

ได้ธรรมกายแล้วจะให้อัศจรรย์อย่างไร  ก็เมตตาพรหมวิหารตั้งเข้าไปซิ จะเป็นอัศจรรย์นัก  ตั้งเมตตาพรหมวิหารดังกล่าวแล้วทุกประการ  นั่นแหละจะเลิศประเสริฐเป็นมหัศจรรย์นัก

แต่ว่าพึงรู้พรหมวิหารนี้จะทำสักเท่าหนึ่งเท่าใด แค่ที่สุดก็เป็นพระโสดาบันเท่านั้น จะเกินพระโสดาบันไปไม่ได้

ท่านวางหลักไว้เท่านั้น  ถ้าจะทำไปทางอื่นสูงขึ้นไปกว่านี้   ก็ยังเป็น สกทาคา อนาคา อรหันต์ขึ้นไปได้สูงกว่านี้  จะมัวเพลินอยู่ไม่ได้

พระพุทธศาสนาท่านอุปมาเหมือนต้นไม้ใหญ่ สมบูรณ์ด้วยใบแก่ อ่อน ดอก ผล ที่นก ประชุมชนต้องการได้ทั้งนั้น

ถ้าว่าคนไม่มีปัญญาเข้ามาในพระธรรมวินัยของพระศาสดา ก็มัวรับประทานใบไม้น่ะ  อ่อนแก่ตามประสงค์ของตัว  นี่คนมีปัญญา  น้อยคนไม่มีปัญญา

ถ้าคนมีปัญญาแล้วก็ อ้อ..เป็นตามธรรมดาพระพุทธศาสนาสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยลาภสักการะต่างๆ เต็มอยู่ในพุทธศาสนานี้ ใครมาอยู่ในพระพุทธศาสนานี้ไม่ต้องทำนา ทำเรือกทำสวน ค้าขาย แต่อย่างหนึ่งอย่างใด

ในพุทธศาสนามีบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาธัญญาหารทั้งนั้น ไม่ขาดตกบกพร่องอย่างใด ถ้ามัวเพลินแต่กินแต่นอนเสียเช่นนี้  มรรคผลก็ไม่ได้  เสียเวลาไป

นี่ทำให้มีให้เป็นธรรมกายขึ้น  นั่นน่ะเป็นแก่นเป็นสาระของต้นไม้นั้น
ในพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นแก่นแน่นหนาทีเดียว ได้ชื่อว่ายึดไว้ได้ซึ่งแก่นสารของตนทีเดียว
อาทยิ สารเมว อตฺตโน ยึดไว้ได้ซึ่งแก่นสารของตนทีเดียว ได้ธรรมกายเสีย   ได้ธรรมกายแล้ว
ทำธรรมกายนั่นให้เป็นพระโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
สกทาคามิมรรค  สกทาคามิผล
อนาคามิมรรค  อนาคามิผล
อรหัตมรรค อรหัตผล เป็นลำดับขึ้นไป อย่างนี้พบแก่นสารในธรรมวินัยของพระศาสดาแท้ๆ

เหตุนี้แลที่ได้ชี้แจงแสดงมาในท้ายของกรณียเมตตสูตรนี้ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษาตามมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา

เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้

สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วน หน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมุติว่ายุติธรรมกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้

เอวํ  ก็มีด้วยประการฉะนี้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘