คำถาม : ธรรมกายเป็นภูมิของสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา จึงไม่มีทางขจัดทุกข์ไปนิพพานได้

คำตอบ : ที่ว่าเป้าหมายของพุทธศาสนาให้กำจัดทุกข์ อันนี้ถูกต้องที่สุดครับ แต่อยากทิ้งให้เป็นข้อคิดนิดนึงว่า ถ้าเราไม่เห็นกิเลส เราจะกำจัดทุกข์ได้อย่างไรกัน เหมือนเราเดินๆ มีนกมาขี้ใส่หลังถ้าเราไม่รู้ตัว ไม่เห็นขี้นกเราก็เอาขี้นกออกไม่ได้ใช่ไหมครับ นอกจากเห็นแล้ว รู้แล้ว ต้องเอาออกเป็น และมีเครื่องมือด้วย มันถึงจะสะอาดได้ กิเลสในใจก็เหมือนกัน หากเรามองไม่เห็น ไม่รู้จัก ไม่มีเครื่องมือ เอาออกไม่เป็น ก็ขจัดกิเลสไม่ได้เหมือนกัน

ความทุกข์ เกิดจากกิเลส จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องกำจัดกิเลสให้ได้ กิเลสของมนุษย์ก็แบบหนึ่ง กิเลสของเทวดา พรหม อรูปพรหม ก็อีกแบบหนึ่ง หยาบละเอียดไปตามลำดับ จะไปนิพพานแค่นี้ยังไม่พอ ต้องละสังโยชน์ที่เหลืออีก 10 ประการอีก กิเลสพวกนี้เรารู้จักแต่ชื่อ รู้จักแต่อาการของเขาเท่านั้นแต่ตัวจริงๆ น่ะเราไม่รู้จักเลย ที่เราไม่รู้จักเพราะตามนุษย์ (มังสจักษุ) เราเห็นแค่เฉพาะในภพมนุษย์ ตาทิพย์ก็เห็นแค่ในภพทิพย์ ไม่สามารถเห็นเลยไปนอกภพสามได้ การมองออก เหมือนตาที่มองไม่เห็นขี้ตาของตัวเอง ต้องอาศัยตาของคนอื่นมาช่วยมอง ซึ่งเป็นแบบการมองเข้าจึงจะเห็น เพราะกิเลสนั่นมันก็อยู่ในตัวเรา อยู่ในใจเรา อยู่ในตาเรา เราจึงไม่สามารถมองเห็นได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

ดังนั้นการเห็นที่วิเศษหรือเห็นแจ้ง ที่เรียกว่าวิปัสสนานั้น จึงต้องเกิดธรรมจักขุ ที่เราเรียกว่ามีดวงตาเห็นธรรมหรือใช้ตาของธรรมกาย จึงจะเห็นกิเลสและความทุกข์ในภพสามได้ เพราะตัวธรรมกายนั้นเป็นกายที่อยู่นอกภพสามแล้ว ความสว่างของธรรมกายมีมาก เมื่อความสว่างมีมากส่องไปที่ไหนก็เห็นได้หมดจึงไม่มีความลับใดๆสำหรับธรรมกาย

นอกจากนั้นการเห็นของธรรมกายก็ไม่เหมือนการเห็นของตามนุษย์ที่เห็นด้านเดียว เห็นหน้าก็ไม่เห็นหลัง จะมองหลังต้องเหลียวมอง แต่ของธรรมกายจะเห็นได้รอบตัว อย่างที่บาลีเรียกการเห็นของพระพุทธเจ้าว่าเป็น "สมันตจักษุ-เห็นโดยรอบ (360 องศา)" นี่ก็คือลักษณะการเห็นของธรรมกายนั่นเอง แต่ในพระไตรปิฎกฉบับแปลไปแปลว่าพระพุทธเจ้าท่านรอบรู้ ซึ่งเป็นการให้ความหมายผิด ผิดเพราะผู้แปลเขาไม่เข้าถึงธรรมกายจึงไม่เข้าใจการเห็นแบบรอบตัวนี้

นอกจากนี้การเห็นของธรรมกายซึ่งเป็นกายที่เป็นใหญ่ในตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ (อัตตา) เมื่อเป็นตัวของตัวเอง แสดงว่าไม่มีอะไรมาบังคับได้ ญาณรู้ของท่านจึงเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงไปด้วย ไม่เหมือนกายมนุษย์ที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง(อนัตตา) การเห็นจึงถูกบังคับได้ด้วยอวิชชา (ความไม่รู้) เมื่อถูกบังคับก็ถูกปิดบังได้ เมื่อถูกปิดบังก็เห็นไม่ถูก เห็นไม่ถูกจึงรู้ไม่ถูก การวิปัสนาจึงใช้ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ของกายมนุษย์หรือกายที่ยังอยู่ในภพสามหรือกายที่ยังเป็นสังคตธรรมพิจารณาไม่ได้เลย เช่นของที่ไม่สวยก็จะเห็นว่าสวย เช่นร่างกายของเรา ของที่ไม่เที่ยงก็ว่าเที่ยง ของที่ทุกข์ก็ไม่รู้ว่าทุกข์ เป็นต้น

ผู้ที่เข้าถึงธรรมกายหรือศึกษาวิชชาธรรมกายเท่านั้นจึงจะเข้าใจ และกล้าพูดได้ว่าถ้ายังไม่เข้าถึงธรรมกายแล้ว เป็นได้แค่วิปัสสนึก (นึกๆ เอา) เท่านั้น หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นแค่การพิจารณา "ปลงอนิจจัง หรือ ปลงธรรมสังเวช" เท่านั้น ซึ่งก็พอมีประโยชน์ในการระงับกิเลสชนิดหยาบๆ ได้(เพราะรู้ตัว) แต่กิเลสที่ละเอียดๆ ซ่อนอยู่ก็ไม่ได้หายไปใหน ยังรอวันที่จะแสดงตัวออกมาเสมอ

ที่กล่าวอย่างนี้ไม่ได้เป็นการยกตนข่มท่านหรือพูดเอาดีเข้าตัว แต่อยากเชิญชวนให้ทุกท่านเข้ามาศึกษา ลองดู ว่าเป็นจริงดังกล่าวหรือไม่ เพราะถ้าไม่จริง ก็คือของเก๊ ของแหกตา มันก็เหมือนสินค้าที่ไม่ดีแม้ทำการตลาดดีอย่างไร เชิญชวนอย่างไรก็ตาม สุดท้ายเมื่อทุกคนรู้ว่าเป็นของปลอม การตลาดที่ทุ่มเทไปก็เหมือนน้ำพริกที่ตำละลายแม่น้ำเหมือนกันฉะนั้น พึงระลึกไว้เสมอว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าของแท้นั้น เป็นของรู้ได้เฉพาะตน (ปัจจตัง) ไม่ล้าสมัย (อกาลิโล) และท้าให้พิสูจน์ (เอหิปัสสิโก) ถ้าเป็นของแท้ต้องกล้าให้พิสูจน์

ขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง สมมุติเราเลี้ยงพ่อนกแม่นกซึ่งจับมาจากธรรมชาติไว้กลุ่มหนึ่ง เลี้ยงดูให้อาหารอย่างดีแต่เลี้ยงไว้ในกรงที่มืด แคบ และเตี้ย เลี้ยงไปเลี้ยงมา จนนกพวกนี้ออกลูกออกหลานไปหลายชั่วรุ่น ถามว่านกรุ่นหลังๆ มันจะรู้ไหมว่ามันมีตามีปีกหรือไม่ ถึงรู้ว่ามีแต่มันจะรู้ไหมว่าตากับปีกมีเอาไว้ทำไม เพราะมีก็เหมือนไม่มี ใช้ประโยชน์ตาม หน้าที่ จริงๆของอวัยวะนั้นไม่ได้

แต่เมื่อเราจับนกในนั้นซักตัวออกมาข้างนอก นกมันก็จะมองเห็นเพราะตามันไม่ได้เสีย เดิมที่ไม่เห็นเพราะขาดปัจจัยคือแสงสว่าง มันจะเริ่มหัดบินเพราะรู้ว่าปีกมีไว้สำหรับบินเมื่อเห็นนกตัวอื่นบินได้ สุดท้ายมันก็จะรู้ว่าโลกภายนอกกรงขังนั้นมันดีกว่าในกรงมาก มันก็จะรังเกียจชีวิตในกรงไปเองโดยไม่ต้องไปสอนอะไร เห็บปุ๊บก็รู้เลย

ตัวอย่างนี้ผมคิดขึ้นจากความเข้าใจของผมเองอาจจะไม่ตรงทีเดียวนักแต่ก็คล้ายกับชีวิตมนุษย์มาก มนุษย์เราเดิมแท้จริงแล้วมีธรรมกายทุกคน เปรียบเหมือนมีธรรมจักษุอันปกติเห็นอริยสัจจ์ 4 ได้ มีอภิญญา 6 เหมือนนกที่เคยบินได้ แต่เมื่อมนุษย์มีอวิชชาที่เปรียบเหมือนความมืดครอบงำ มีอวิชชาก็เกิดภพ เกิดชาติ (ตามปฏิจสมุปบาทธรรม) ตามมา

เมื่อเกิดภพ ซึ่งก็คือภพทั้งสาม มีกามภพ รูปภพ อรูปภพ เปรียบเหมือนกรงขังที่ขังสัตว์ไว้ในวัฏสงสาร เมื่อถูกขังไว้นานๆ หลายชาติ หลายชั่วอายุเข้า ก็เลยไม่รู้ว่า นอกภพนอกกรงขังนั้น มันเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าความสามารถเดิมของตัวมีอะไร ไม่รู้ว่าชีวิตที่เป็นแบบเดิม (ตามธรรมชาติเดิม) เป็นอยู่อย่างไร เมื่อรู้แต่ข้างในไม่รู้ข้างนอก ก็ไม่เกิดการเปรียบเทียบว่าอะไรดีกว่าอะไร เมื่อไม่รู้ว่ามีของที่ดีกว่าก็ไม่แสวงหาสิ่งที่ดีกว่า เกิดความเคยชินแต่ความใฝ่ดีอยากสุขสบายก็ยังมีอยู่ แต่ก็แสวงหาทำได้เฉพาะในภพเท่าที่ตัวมีความรู้เท่านั้น เช่นรู้ว่ามีเงินมาก ร่ำรวยแล้วจะสบายก็หาเงินกันใหญ่หวังจะสุขสบาย ไม่รู่ว่ามีสุขอื่นที่ดีกว่า ละเอียดกว่า ปราณีตกว่า จึงไม่ยอมละสุขน้อยเพื่อแสวงหาสุขใหญ่ มนุษย์จึงคล้ายนกในตัวอย่างอย่างนี้

การใช้ความรู้ในภพพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เหมือนกัน เหมือนนกในกรง ต่อให้นกตัวที่เคยออกนอกกรงมาบอกว่านอกกรงดีกว่ายังไง ซึ่งก็อาจมีบางตัวเชื่อ บางตัวอาจไม่เชื่อ ตัวไม่เชื่อก็ไม่พยายามหาทางออกไป ตัวที่เชื่อแม้เชื่อตามคำบอกก็เป็นเพียงแค่รู้จำ (สุตตมยปัญญา) ดีหน่อยก็รู้จริง (จินตมยปัญญา) แต่ไม่มีทางรู้แจ้งเข้าใจจริงๆ (ภาวนามยปัญญา)ได้เลย นกตัวแรกที่ออกไปได้หากเปรียบแล้วก็อาจเปรียบได้กับพระพุทธเจ้า ส่วนพวกเราก็คือนกที่ยังอยู่ในกรงขังอยู่

จากตรงนี้ไม่ทราบยังสงสัยหรือเปล่า ดังนั้นการจะเห็นให้วิเศษหรือวิปัสสนาได้นั้นจึงต้องใช้ ความรู้ความเห็นหรือญาณทัศนะที่อยู่นอกภพสามเท่านั้น เพราะเมื่อเราเห็นความวิเศษของอสังคตธรรม (นิพพาน) เราก็จะรังเกียจของที่อยู่ในภพสามหรือสังคตธรรมไปเอง โดยไม่ต้องไปใคร่ครวญหรือพิจารณาให้เสียเวลาเลย เหมือนนกที่เห็นโลกภายนอกแล้วรังเกียจชีวิตในกรงมืดไปเอง เพราะหากไม่เห็นจนสามารถเปรียบเทียบได้ แม้จะบังคับใจให้เชื่ออย่างไรก็ตาม ใจที่ยังยึดมั่นกับภพอยู่ก็ไม่มีทางปล่อยวางได้นั่นเอง

ดังนั้นการบรรลุธรรมของพระอริยะเจ้า เวลาบรรลุจึงไม่ได้ใช้การใคร่ครวญพิจารณาเลย การใคร่ครวญเป็นแค่ขั้นตอนให้เกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็จะปล่อยวาง เมื่อปล่อยวางก็เป็นอุเบกขา เมื่ออุเบกขาจึงเกิดสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิจึงเข้าถึงธรรมกาย พอเมื่อเข้าถึงธรรมกาย ธรรมกายนี้แหละเป็นเครื่องมือขจัดทุกข์ตามที่กล่าวไว้ตอนแรก เมื่อมีเครื่องมือ และ รู้วิธี ก็ใช้ธรรมกายตามวิธีที่พระพุทธเจ้าสอนคือพิจารณาอริยสัจจ์ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 อินทรีย์ 22 ธาตุ 18 ปฏิจสมุปบาท 12 ฯลฯ ส่วนวิธีการจริงๆ ผมเองก็ยังไม่รู้ แต่รู้ว่าด้วยญาณของธรรมกายจะเร็วมาก พระอรหันต์ที่บรรลุธรรมดังตัวอย่างในพระไตรปิฎกจึงบรรลุธรรมเร็วมาก บางองค์บรรลุแค่ฟังธรรมบทเดียว บางองค์บรรลุขณะเชือดคอตัวเอง บางองค์บรรลุขณะปลงผม บางองค์บรรลุขณะกระโดดลงเหว พระอานนท์บรรลุขณะกำลังจะนอน ฯลฯ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าทุกคนที่เข้าถึงธรรมกายจะบรรลุอรหันต์ทุกคน อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่าธรรมกายเองก็มีหลายระดับ หากเป็นแค่ธรรมกายโคตรภูก็เป็นแค่โคตรภูบุคคล (กึ่งปุถุชนกึ่งพระอริยะเจ้า)เท่านั้น การจะเป็นพระอรหันต์ต้องมี factor อื่นด้วย เช่น บารมีต้องเต็ม 10 ทัศ เป็นต้น การเข้าถึงธรรมกายโคตรภู แค่ไปถูกทางและแค่ครึ่งทางเท่านั้น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘