ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร

วัดป่าจันทรังสี (วัดป่านาสีดา)
ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี



๏ อัตโนประวัติ

“หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร” มีนามเดิมว่า จันทร์โสม ปราบพลพาล เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พุทธศักราช 2465 ตรงกับวันแรม 3 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ ณ ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายกรม และนางอาน ปราบพลพาล ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทำไร่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 6 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5 มีชื่อตามลำดับดังนี้

1. นางบุญชม ใจหาญ
2. ด.ญ.คำ ปราบพลพาล (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
3. ด.ญ.อ่ำ ปราบพลพาล (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
4. ด.ญ.ไอ่ ปราบพลพาล (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
5. หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร
6. นายกองแก้ว ปราบพลพาล

ณ บ้านนาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี มีวัดป่าวัดหนึ่งอยู่กลางทุ่งกว้าง ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นป่าไม้ตะเคียนหนาทึบ บัดนี้ป่าหายหลังจากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ตัดถนนเข้าไป กลายเป็นหมู่บ้านชาวไร่ชาวนา วัดนี้ชื่อ “วัดป่าจันทรังสี” วัดสาขาของวัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ของพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) อดีตสมภารเจ้าวัดคือ “หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร” พระเถระสายวิปัสสนากรรมฐานศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่ จันทร์โสม กิตฺติกาโร ท่านเป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวบ้าน คณะศรัทธาญาติโยม และคณะสงฆ์อรัญวาสี โดยเป็นพระวิปัสสนาจารย์รูปที่ 3 แห่งภาคอีสานตอนเหนือ รองจากท่านเจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) แห่งวัดศรีเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย และพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) แห่งวัดอรัญญบรรพต ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

๏ ชีวิตในวัยเด็ก

วัยเด็กคลุกคลีอยู่กับวัด เพราะโยมบิดาเป็นมัคนายกวัดบ้านนาสีดา อายุ 10 ขวบ ก็เข้ารับการศึกษาประชาบาลที่วัดบ้านกลางใหญ่ ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ระยะแรกที่เรียนหนังสือนั้นต้องไปๆ มาๆ ระหว่างวัดกับบ้าน ผลที่สุดได้ไปอยู่วัดเป็นประจำ จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่ออายุ 14 ปี หลังจากออกจากโรงเรียนแล้วก็ได้กลับมาอยู่บ้าน ด้วยเหตุที่วัดไม่มีพระอยู่ประจำ ต่อเมื่อมีพระเณร โดยเฉพาะพระกรรมฐานเดินธุดงค์มาพัก ก็จะเข้าไปปฏิบัติรับใช้ท่านอยู่ที่วัดเป็นประจำ จนกว่าจะออกเดินทางหาวิเวกไปที่อื่นต่อไป

พออายุ 15 ปี ได้ไปอยู่กับท่านพระอาจารย์เกตุ ขนฺติโก พระพี่ชายของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสระวารี อ.บ้านผือ และได้รับการสอนให้เขียนหนังสือขอม

เมื่ออายุได้ 16 ปี ใน พ.ศ.2481 ได้ย้ายไปอยู่ที่ถ้ำพระนาผักหอก อ.บ้านผือ กับท่านพระอาจารย์วารี เรี่ยวแรง (ขณะนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว) ท่านพระอาจารย์วารี มีแต่พระอยู่ไม่มีเณรรับใช้ จึงจำเป็นต้องไปอยู่รับใช้จนตลอด 3 เดือนจึงได้กลับบ้าน กระทั่งปี พ.ศ.2482

๏ การอุปสมบท

จากนั้นอายุ 17 ปี โยมบิดาเสียชีวิตลงไม่มีใครช่วยทำนาทำไร่ มีแต่โยมมารดา พี่สาว และพี่เขยเท่านั้น หลวงปู่จันทร์โสม จึงจำเป็นต้องอยู่บ้านช่วยพี่สาวและพี่เขยทำนาทำไร่เลี้ยงครอบครัว เพราะน้องชายก็ยังเป็นเด็กเล็กทำงานอะไรไม่ได้ ในสมัยที่โยมบิดายังมีชีวิตอยู่ การทำนาก็ยังต้องอาศัยการจ้างแรงงานช่วยทำทุกปีกว่าจะแล้วเสร็จ ท่านจึงได้ช่วยครอบครัวทำนาอยู่จนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และได้พิจารณาถึงความศรัทธาที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา กับระลึกถึงกุศลเจตนาของโยมบิดา จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดอรัญญวาสี ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2485 เวลา 15.23 นาฬิกา

โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง จ.หนองคาย ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูวิชัยสังฆกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (ซึ่งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านมีศักดิ์เป็นพี่ชายโยมมารดาของหลวงปู่จันทร์โสม) ท่านได้รับนามฉายาว่า “กิตฺติกาโร” สังกัดธรรมยุตติกนิกาย

๏ ลำดับการจำพรรษา

หลังจากพรรษาแรกผ่านพ้น ท่านออกวิเวกไปในสถานที่ต่างๆ อาทิ บ้านน้ำอ้อม อ.วังสะพุง จ.เลย และวัดหนองขาม อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ก่อนที่จะกลับมาเกณฑ์ทหารในปี พ.ศ.2486 ในปีนั้น ท่านได้พำนักจำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี จ.หนองคาย เข้าเรียนนักธรรมชั้นตรี ปรากฏว่าสอบได้ ทางการจึงยกเว้นไม่ต้องไปเป็นทหาร ต่อมาท่านจึงไปพำนักกับท่านพระอาจารย์เกตุ ขนฺติโก ที่วัดป่าช้าบ้านสว่าง

ปี พ.ศ.2487 กลับมาจำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี เรียนนักธรรมโท ออกพรรษาสอบได้แล้วก็ออกรุกขมูลมาตามริมแม่น้ำโขง บุกป่าผ่าดงมาจนถึงวัดพระพุทธบาทคอแก้ง (เวินกุ่ม) ก่อนจะกลับไปบ้านนาสีดาในปี พ.ศ.2488

ปี พ.ศ.2498 จำพรรษาที่วัดศรีชมชื่น (วัดป่านาสีดา) เดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดอรัญญวาสี จ.หนองคาย และได้รับการฝากให้เป็นศิษย์รับใช้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อยู่ปฏิบัติอาจริยวัตรกับหลวงปู่มั่น เป็นเวลา 2 พรรษา คือ ปี พ.ศ.2490-2491 ก็กราบลาไปเที่ยววิเวกที่บ้านห้วยหวายกับหลวงปู่อุ่น ชาคโร

ปี พ.ศ.2492 กลับมาอยู่กับหลวงปู่เทสก์ และช่วยงานถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จนเสร็จสิ้น ก็เที่ยววิเวกไปกับหลวงปู่หล้า เขมปัตโต แห่งวัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร และหลวงปู่อรุณ อุตฺตโม แห่งวัดพระบาทนาสิงห์ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ต่อมาได้ติดตามหลวงปู่เทสก์ไปเผยแผ่ธรรมที่ภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2495-2499 และกลับมาอยู่วัดศรีชมชื่น ถึงปี พ.ศ.2514 ย้ายออกมาอยู่บริเวณป่าช้าดงบ้านเลา ซึ่งเป็นสถานที่กว้างขวางร่มรื่นเงียบสงบ ก่อสร้างกุฏิ เสนาสนะต่างๆ โดยลำดับ โดยตั้งชื่อสถานที่นี้ว่า “วัดป่านาสีดา” และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2531

๏ การเผยแผ่พระธรรมและกรรมฐานที่ภูเก็ต

หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร ท่านมีศักดิ์เป็นหลานลุงแท้ๆ ของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จึงได้รับการอบรมบ่มสอนมาตั้งแต่เด็ก แม้บวชเรียนแล้วก็อยู่ในสายตา คอยแนะนำทางที่ถูกให้ประพฤติปฏิบัติไม่เคยทอดทิ้ง จนกระทั่งตัวท่านละสังขารจากไป เหตุการณ์สำคัญในชีวิตก็คือ การไปใช้ชีวิตกับหลวงปู่เทสก์นานถึง 8 ปี ในการเผยแผ่พระธรรมและกรรมฐานที่จังหวัดภูเก็ต สมัยนั้น “พระป่า” ยังไม่แพร่หลาย จึงเกิดปัญหาขัดแย้งจนถึงขับไล่ไสส่งกัน แต่คณะของหลวงปู่เทสก์ก็ต่อสู้แก้ไขจนสถานการณ์ลุล่วงไปด้วยดี

นอกจาก นี้ จากการได้อยู่ปรนนิบัติหลวงปู่มั่นอย่างใกล้ชิดถึง 2 ปี จึงได้รับ “ของดี” มาอย่างเต็มๆ ทั้งข้อวัตรปฏิบัติ การสำรวมกาย วาจา ใจ ปฏิปทาและหลักธรรมนานาของพระอาจารย์ใหญ่ ซึบซาบเข้าในสายเลือด สมัยนั้นการเข้าไปขอสมัครเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการกลั่นกรองเป็นขั้นเป็นตอน พระเณรที่ขาดการสำรวมทำอะไรไม่ถูกต้อง จะโดนดุว่าตรงๆ แรงๆ เป็นการถากถางกิเลส คนจิตไม่แกร่ง ไม่ทน จึงพากันถอย สำหรับหลวงปู่จันทร์โสม ท่านสอบผ่านโดยง่ายดาย เพราะอุปนิสัยเป็นคนที่มีความอดทนสูงมาแต่เยาว์วัย


๏ หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ภัย

ท่าน จึงเป็นพระผู้ใหญ่ ที่ชาวบ้านชาวเมืองกราบไหว้ยกย่องนับถือในวัตรปฏิบัติและปฏิปทา รวมทั้งการเทศนาสอนธรรมกรรมฐานแก่ญาติโยม ท่านบริหารวัดตามแนวของหลวงปู่เทสก์ ด้วยการสร้างศรัทธาปสาทะให้ญาติโยมรอบวัดเลื่อมใสก่อน ส่วนการปฏิบัติธรรมได้ยึดตามแนวหลวงปู่มั่น เทศนาหรือบทธรรมของท่าน ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องหลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ภัยในชีวิตประจำวันของ ผู้คน อาทิ

“คนทุกคนสามารถสร้างคุณงามความดีได้ทุกคน แต่ที่เขาไม่อยากทำ เพราะเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง อย่าว่าแต่ฆราวาสเลย พระที่บวชในพุทธศาสนา ถ้าเชื่อจริงๆ จังๆ แล้ว ทำอะไรก็ได้ผล เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง เรียกว่า สงสัยลังเล ก็เลยเดินไม่ถูก ไม่ว่าสมัยใด ทำเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้น”

ใครก็ตามที่ต้องการปฏิบัติให้จิตสงบ ท่านให้คำแนะนำง่ายๆ ว่า

“ให้ เลือกยึดอนุสติ 10 มาเป็นหลักพิจารณาเพียงหนึ่งอย่าง โดยเลือกให้ถูกกับอุปนิสัยของตนเอง และเลือกข้อที่นำมาปฏิบัติแล้ว เกิดความสลดสังเวช เกิดความเบื่อหน่ายเพื่อที่จะแก้ไขตัวเองได้ ลูกศิษย์ลูกหาที่ได้รับโอสถธรรมจากท่าน สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้มากมาย”

“เมื่อคนเราเกิดมามีวาสนาไม่ เหมือนกัน วาสนาที่ว่าก็เกิดจากบุญกุศลที่เราได้ทำกันมา คนที่ยากจนในชาตินี้ก็เพราะชาติที่แล้วทำบุญมาน้อย ลงทุนน้อย พอเกิดมาชาตินี้ทุนก็เลยน้อยตามมา แต่ถ้าใครยากจนในชาตินี้ก็ต้องลงทุน ตั้งใจทำงานอย่างทุ่มเทให้มากโดยไม่ไปโกงใคร ในวันหนึ่งก็จะรวยได้เอง”

ใน วัย 80 ปี หลวงปู่จันทร์โสม ผิวพรรณวรรณะท่านยังผ่องใส สุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมกับเป็นพระปฏิบัติ และไม่เคยละเว้นการสอนศีลสอนภาวนาแก่ญาติโยมที่สนใจ โดยจะย้ำถึงอานิสงส์แห่งการภาวนาอยู่เสมอ

“การภาวนา นอกจากให้ผลทางจิตใจแล้ว ความเอ็นดู เมตตาสงสารคนอื่นก็เกิดขึ้น ที่เราโกรธเกลียดพยาบาทก็หายไป เห็นโทษก็สงสารเขา มีธรรมะในใจ ความอิจฉาพยาบาทเบียดเบียนก็ไม่เกิดขึ้น อยู่หมู่คณะใดก็ไม่เกิดขึ้น”

“ขอ อย่าประมาท อย่าละทิ้งการภาวนา ทำเป็นไม่เป็นก็ช่างเถอะ ขอให้ได้ทำอย่างเดียว นานๆ เข้าก็ติดจิตไปด้วย สะสมวันละนิด งานก็ใหญ่ขึ้น ทำให้จิตใจเราสบายเป็นอานิสงส์ จิตใจสบาย มันก็คลุกคลีทุกสิ่งทุกอย่าง มันเดือดร้อน เราภาวนาก็ทำให้จิตใจเย็น” ฯลฯ

ผู้อยากพบแสงสว่างทางใจ หมั่นภาวนาตามมรรคาที่ท่านวางไว้โดยพลัน !!

๏ การมรณภาพ

สัจธรรมแห่งชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครหนีได้พ้น หลวงปู่จันทร์โสม ในวัยชราเริ่มอาการเจ็บป่วยเข้ามาแผ้วพาน วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา หลวงปู่จันทร์โสม ได้มีอาการปวดท้องเจ็บหน้าอก คณะศิษยานุศิษย์ได้รีบนำตัวส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

กระทั่ง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2549 หลวงปู่มีอาการกำเริบหนักขึ้น ปวดท้องแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยสะดวก คณะแพทย์ได้รีบช่วยกันปั๊มหัวใจรักษาอาการอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถยื้ออาการไว้ได้

ในที่สุด หลวงปู่จันทร์โสม ได้ละสังขารอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริรวมอายุ 84 พรรษา 63 ท่ามกลางความเศร้าสลดของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ และคณะสงฆ์ เป็นยิ่งนัก


๏ งานพระราชทานเพลิงศพ

สมเด็จ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ไปในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านาสีดา ณ เมรุชั่วคราววัดป่านาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2550 เวลา 17.00 นาฬิกา

กำหนดการ

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2550 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5
เวลา 07.00 น. พระสงฆ์รับบิณฑบาตและถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
เวลา 10.00 น. เชิญหีบศพเวียนรอบเมรุ แล้วเชิญขึ้นตั้งบนจิตกาชาน
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
เวลา 13.00 น. พระสงฆ์ 84 รูป สวดมาติกา-บังสุกุล
เวลา 18.00 น. ทำวัตรเย็น
เวลา 19.00 น. พระสงฆ์ 4 รูปสวดพระอภิธรรม, แสดงพระธรรมเทศนา

วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2550 ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5
เวลา 07.00 น. พระสงฆ์รับบิณฑบาตและถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
เวลา 09.00 น. พระราชาคณะแสดงพระธรรมเทศนา
เวลา 10.00 น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ถวายพรพระ, ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
เวลา 13.00 น. พระสงฆ์ทั้งนั้น สวดมาติกา-บังสุกุล
เวลา 17.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2550 ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5
เวลา 06.00 น. พิธีสามหาบเก็บอัฐิ ฉลองอัฐิ

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
1. หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด
วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2545 และวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2549
2. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก คอลัมน์พระเครื่อง คมชัดลึก
วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2550

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘