คำถาม : ธรรมกายเป็น อัตตา ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ให้ละอัตตา

คำตอบ : ก่อนมาดูเรื่องธรรมกายเป็นอัตตา ขอให้ลองมาดูเรื่องนิพพานกันก่อนว่า นิพพานนี่เป็น อัตตาหรืออนัตตา เพราะอาจมีบางท่าน คิดว่านิพพานเป็นอนัตตาเหมือนดังที่พระอาจารย์หลายๆท่านสอน เพราะแนวคำสอนเรื่องนิพพานเป็นสุญตา หรือเป็นอนัตตา มีมากในปัจจุบัน สาเหตุจากการตีความเรื่องไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) สัพเพ สังขารา อนิจจา (สังขารทั้งหมดไม่เที่ยง) สัพเพ ธรรมมาอนัตตา (ธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน) อยู่ในบทสวดทำวัตรเช้า และจากพุทธพจน์ ที่ว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง จากตรงนี้เลยเข้าใจว่าอะไรๆ ก็ไม่ใช่ตัวตน และนิพพานคงจะสูญไปทั้ง กาย จิต วิญญาณ แบบอัตรธานหายไปเหลือแต่ความว่างเปล่า(สุญตา)

แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ มีหลักฐานแสดงไว้ในพระไตรปิฎกมากมายแสดงลักษณะนิพพานไว้ เรียกนิพพานว่าเป็นแดนบ้าง เป็นอายตนะบ้าง แสดงถึงกิจในนิพพานบ้าง(ไม่มีกิจใดอีก) ฯ ซึ่งแสดงว่านิพพานก็เป็นมิติ (space) อีกมิติหนึ่ง ที่ไม่ใช่ภพ 3 โลกันต์ก็เป็นที่อีกที่หนึ่งที่ไม่ใช่ภพ 3 เช่นกัน เพราะไม่ปรากฏว่าโลกันตนรกเป็นนรกหนึ่งในแปดขุม นอกจากนี้หากเราเชื่อว่านิพพานแล้วสูญไปหมด แล้ว พุทธพจน์ที่ว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานสุขอย่างยิ่ง จะสุขได้อย่างไรกัน จะเอาอะไรมาเป็นตัวรับความสุข ดังนั้นที่ว่าสูญไปจึงหมายถึงสูญไปแต่กิเลส ขันธ์ 5 (รูปกับนาม)

ส่วนประเด็นว่า ธรรมทุกอย่างล้วนอนัตตา ตรงนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ธรรมนั้นมีหลายอย่าง สังคตธรรม ๑ อสังคตธรรมมีอีก ๑ สังคตธรรมเป็นธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ อสังคตธรรมเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ ธรรมทั้งสองนี้พระพุทธเจ้ายกย่องอสังคตธรรมว่าดีกว่า แต่นอกจากนี้ท่านยังบอกว่า วิราคธรรมดีเลิศที่สุด พระนิพพานเป็นวิราคธาตุวิราคธรรม ตรงนี้จะเข้าใจได้ว่า ถ้าอสังคตธรรมและวิราคธรรม ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์อีก พระพุทธเจ้าจะยกย่อง ธรรมทั้งสองนี้ทำไมกัน

ตรงนี้มักจะเกิดความสับสนเพราะมีคนไปแปลความว่า "อนัตตา" ว่าไม่มีตัวตน ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ หากไปแปลว่า "ไม่มีตัวตน" ก็จะกลายเป็น อุจเฉททิฏฐิ ไปเสีย เพราะเมื่อตัวตนไม่มี แล้วจะมี อะไร เป็นตัวไปแบกบุญกับบาป หรือ อะไร จะมาคอยรับวิบากในภพถัดไป การสั่งสมบารมีข้ามภพข้ามชาติก็จะเป็นไปไม่ได้ ตายแล้วก็สูญกันไปเท่านั้น ก่อนจะผ่านประเด็นนี้ไป อยากให้วิเคราะห์ บาลี ที่ว่า "สัพเพ ธรรมมา อนัตตา" ธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัว เพราะ "ธรรม" ก็อย่างหนึ่ง "ตน" ก็อีกอย่างหนึ่ง คนละอย่างกัน ได้อธิบาย "ธรรม" ไว้แล้วว่ามีสองอย่าง คือ สังคตธรรม กับอสังคตธรรม

เมื่อกล่าวว่า ธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัว ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีธรรมใหนเลยเป็นตัว (แต่มีบางธรรมเท่านั้นที่เป็นตัว) อาจจะเข้าใจยาก ขอยกตัวอย่างดังนี้ สมมุติผมกล่าวว่า " มนุษย์ทั้งหมดไม่ใช่ผู้ชาย" ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนไม่ใช่ผู้ชาย แต่หมายความว่า ผู้ชายไม่ใช่ทุกคน หรือ มนุษย์บางส่วนเท่านั้นที่เป็นผู้ชาย ต่างหาก ตรงนี้อาจเข้าใจยาก เพราะหลักไวยากรณ์ของภาษาบาลีกับภาษาไทยไม่ใคร่จะตรงกับเท่าไหร่ สรุปว่า ตัวตน(อัตตา)ไม่ใช่ทุกธรรมนั่นเอง ต่อไปจึงจะได้อธิบายต่อไปว่า ธรรมใดที่เป็นอัตตา

คราวนี้วกมาที่วิชชาธรรมกายหน่อยนึง ในวิชชาธรรมกาย กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ทั้งสี่กายนี้เป็นกายที่มีขันธ์ 5 ซึ่งเป็นสังคตธรรมอยู่ จึงยังอยู่ในไตรลักษณ์และยังอยู่ในภพสาม ไม่ใช่ตัวตน (อัตตา) ที่แท้จริง พอพ้นกายอรูปพรหม ขั้นต่อไปจะถึงกายธรรมหรือธรรมกาย เป็นธรรมกายโคตรภู ธรรมกายโสดาบัน ธรรมกายสกิทาคามี ธรรมกายอนาคามี สี่กายนี้แหละพ้นจากไตรลักษณ์ เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา ซึ่งตรงข้ามกับไตรลักษณ์แล้ว

กายแรกเป็นกึ่งปุถุชนกึ่งอริยะหรือครึ่งทางพระนิพพาน สามกายหลังเป็นอริยะบุคคลแล้ว แต่ทั้งหมดก็ยังเป็นแค่อสังคตธรรมยังไม่ดีเลิศที่สุด เพราะยังละสังโยชน์ได้ไม่หมด แต่สามารถรู้เห็นพระนิพพานได้ (ได้แค่รู้เห็น แต่ยังไม่เป็น) ส่วนกายสุดท้ายจึงเป็นกายธรรมอรหัตเป็นอสังคตธรรมที่เป็นวิราคธรรมที่ พระพุทธเจ้าสรรเสริญว่าเป็นเลิศ กายที่ทั้งรู้ทั้งเห็นทั้งเป็นพระนิพพาน

วิชชาธรรมกายตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ มี milestone และ indicator ที่ชัดเจน ธรรมกายแต่ละระดับนี่แหละที่เป็นสัญลักษณ์บอกว่าใครเป็นพระอริยะบุคคลระดับใด จิตละเอียดถึงระดับใด เพราะกายภายนอกไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยเมื่อเป็นพระอริยะบุคคลแล้ว เหมือนการเรียนทางโลกใครมีวุฒิบัตรชั้นใหนเราก็รู้ได้ว่าเขาสำเร็จชั้นนั้นคล้ายกันอย่างนี้ ธรรมะจึงเป็นเรื่องรู้ได้เฉพาะตนอย่างในบทสวดสรรเสริญธรรมคุณนั่นเอง

ดังนั้นเมื่อเข้าใจว่านิพพานเป็นอัตตาแล้ว เมื่อเราหมดกิเลส ธรรมกายซึ่งเป็นอัตตาเป็นตัวตนที่แท้จริงนี่แหละจะเป็นตัวตนที่ไปอยู่ในอาย ตนนิพพาน จิตของธรรมกายก็จะรับซึ่งความสุขได้เต็มที่ ซึ่งตรงกับพุทธพจน์ที่ว่า "นิพพานสุขอย่างยิ่ง" ซึ่งจะตรงกับทั้งบาลีและความเข้าใจเริ่องนิพพานและธรรมกายของมหายานด้วย

สรุปพระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราละ ไม่ให้ยึดถือในอัตตาเทียม อันคือขันธ์ 5 (กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม) เพื่อให้ไปยึดถืออัตตาแท้ ซึ่งอัตตาแท้ก็คือธรรมกายนั่นเอง ดังนั้นความเข้าใจว่าธรรมกายเป็นอัตตาจึงถูกต้องและเป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วย

ปล. การที่ "อัตตา" เป็นที่จงเกลียดจงชัง ของหลายๆท่าน ผมว่า เราน่าจะเข้าใจคำว่า "อัตตา" ผิดไปจากความเป็นจริง เพราะมีอาจารย์บางท่าน สอนให้ปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่นใน "ตัวกู-ของกู" ซึ่งที่ท่านสอนก็ถูกแล้ว แต่สิ่งที่เราควรรังเกียจ คือ ตัว "อุปาทาน" ต่างหาก อุปาทาน เป็น กิริยาอาการ ที่เข้าไปยึด ว่าเป็นโน่นเป็นนี่ ส่วนอัตตา นั้น โดยความหมาย เป็นคำนาม ที่ยังไม่ได้แสดงอาการกิริยาอันใดเลย ยกตัวตัวอย่างเป็นภาษาไทย เหมือนกล่าวว่า "ฉันอยาก...." ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ "ฉัน" แต่ปัญหาอยู่ที่ อาการ "หยาก" ต่างหาก เพราะหากเรา รังเกียจ "อัตตา" หรือ คิดว่า "อัตตา" ไม่มี เวลา พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ใช้คำว่า "ตถาคต" หรือ "อาตมา" หรือ "เรา" ก็ย่อมไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะตราบใดที่เรายังใช้ คำว่า เรา ฉัน ฯ หรืออะไรก็แล้วแต่แทนตัว นั่นแสดงถึงความมี "อัตตา" ทั้งนั้นครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘