ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

หลวงพ่อเงิน
วัดหิรัญญาราม (วัดวังตะโก) บางคลาน จ.พิจิตร
คัดลอกจาก http://www.tumnan.com/father_nerng/history.html

หลวงพ่อ เงิน ท่านเกิดเมื่อ วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๓ ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๑๐ ปีฉลู บิดาชื่อ อู๋ มารดาชื่อ ฟัก ท่านเกิดที่บ้านบางคลาน อำเภอโพธิ์ทะเล จังหวัดพิจิตร บิดาเป็นชาวบางคลาน มารดาเป็นชาวบ้านแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี (แสนตอ) จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่อายุ ๓ ขวบ ได้ไปอยู่กับลุง ชื่อนายช่วง ที่กรุงเทพฯ และได้เข้าเรียนที่ บ้านตองปุ (วัดชนะสงคราม) จังหวัดพระนคร เมื่ออายุได้ ๑๒ (พ.ศ. 2365) ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรได้ศึกษาธรรมวินัย เวทย์วิทยาการต่างๆ จนแตกฉาน พออายุใกล้อุปสมบทท่านได้สึกจากสามเณรและหลังจาก ได้อุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดตองปุ (วัดชนะสงคราม) ได้ร่ำเรียนวิปัสสนาอยู่ ๓ พรรษา แล้วมาอยู่วัดคงคาราม (วัดบางคลานใต้) ได้ ๑ พรรษา ขณะนั้นหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ให้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ท่านเป็นพระเรืองวิชา ชอบเล่นแร่ แปลธาตุ แต่หลวงพ่อเงินท่านเคร่ง ธรรมวินัย ชอบความสงบ ท่านจึงได้ย้ายไปอยู่หมู่บ้านวังตะโก ลึกเข้าไปทางลำน้ำเก่า
กล่าวกันว่า....เดิมที่ท่านจากวัดคงคารามไปแล้ว ก็มาปลูกกุฏิด้วยไม่ไผ่มุงหลังคาด้วยแฝกอยู่องค์เดียว และพร้อมกันนั้นได้นำกิ่งโพธิ์มาปักไว้ที่ริมตลิ่ง (หน้าพระอุโบสถ) แล้วอธิษฐานว่าถ้าท้องถิ่นนี้จะเจริญรุ่งเรืองเป็นอารามต่อไป ก็ขอให้โพธิ์ต้นนี้งอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาเป็นนิมิตดีต่อไปด้วย และเหตุการณ์ก็เป็นจริงดังอธิษฐานไว้ ซึ่งต่อมาพื้นที่แถบนั้นก็ได้ปรากฏเป็น "วัดวังตะโก" เกิดขึ้น พระอารามแห่งนี้ "หลวงพ่อเงิน" ได้เป็นผู้สร้างไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2377 ต่อมาวัดวังตะโก หรือวัดหิรัญญารามก็เจริญอย่างรวดเร็ว มีผู้คนเคารพนับถือและถวายตัวเป็นศิษย์ ขอมาฟังธรรม ขอเครื่องรางของขลัง และขอให้หลวงพ่อช่วยรักษาโรคให้ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์และสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณฝ่ายวิปัสสนา
"หลวงพ่อเงิน" นับเป็นพระเกจิอาจารย์ ผู้เลื่องชื่อ ด้านไสยเวทเยี่ยมยอดที่สุดของเมืองพิจิตร จนเมื่อมาอยู่วัดวังตะโดและได้พัฒนาวัดจนรุ่งเรือง เป็นที่รู้จักกันไปทั่วว่า
หลวงพ่อเงินสามารถรู้ผู้มาเยือนด้วยญาณ วิเศษได้อย่างมหัศจรรย์ และยังเป็นหมอเชี่ยวชาญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ชาวบ้านได้อย่างชะงัด อีกด้วย เคยมีผู้ไปลองดีกับท่าน ท่านก็แอ่นอกให้ยิง แต่กระสุนไม่ยอมออกจากลำกล้อง ความศักดิ์สิทธิ์เยี่ยงอัจฉริยะของ "หลวงพ่อเงิน" บางคลาน นับว่าร่ำลือกันไปไกลมาก จนถึงขนาดเสด็จในกรม "กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์" ก็ยังเสด็จไปฝากตัวเป็นศิษย์ด้วย
ผลงานที่สำคัญ
๑. ด้านการก่อสร้าง หลวงพ่อมักเป็นธุระในเรื่องการสร้างถาวรวัตถุ ท่านเป็นนักก่อสร้าง ท่านควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง ท่านรวบรวมปัจจัยได้จากการสร้างวัตถุมงคล เงินบริจาค สิ่งที่ท่านชอบสร้างอีกอย่างหนึ่งนอกจากโบสถ์ วิหาร ศาลา ก็คือ ศาลาพักร้อนเพื่อคนสัญจรไปมา
๒. ด้านการรักษาโรคด้วยวิชาแพทย์แผนโบราณ หลวงพ่อเงิน เป็นหมอแผนโบราณ ทางด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยยาสมุนไพรหรือบางครั้งก็ใช้น้ำมนต์ ซึ่งก็ให้ผลในด้านกำลังใจ ปัจจุบันยังมีตำรายาและสมุดข่อย ของท่านที่เก็บรักษาไว้ที่วัดบางคลาน
๓. เป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนา เป็นศิษย์รุ่นเดียวกันกับหลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ซึ่งท่านได้ แนะนำให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้มาเรียนวิชาทางวิปัสสนากับหลวงพ่อ รวมทั้งสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็เสด็จมาประทับที่วัดวังตะโก อยู่หลายวัน เพื่อเรียนทางด้านวิปัสสนา
๔. พระเครื่องหรือพระพิมพ์ หลวงพ่อไม่นิยมสร้างพระเครื่อง เพราะท่านบอกว่า คงกระพันชาตรีเป็นเรื่องเจ็บตัว พระเครื่องรุ่นที่ หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่จึงมีน้อย และมีพระคุณานุภาพทรงคุณทางแคล้วคลาดคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม

ท่าน มีโรคประจำตัว คือโรคริดสีดวงทวาร ท่านรักษาตัวเองบางครั้งก็หาย บางครั้ง ก็กลับเป็นอีก ท่านเคยกล่าวว่า "คนอื่นร้อยพันรักษาให้หาย แต่ผงเข้าตาตัวเองกลับรักษาไม่ได้" ท่านมรณภาพเมื่อวันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม ตรงกับ พ.ศ.๒๔๖๒ อายุได้ ๑๐๙ ปี
คำบูชาหลวงพ่อเงิน
วัดบางคลาน จ.พิจิตร

นโม ๓ จบ


อะกะ อะธิ อะธิ อะกะ ธิอะ กะอะ

วันทามิ อาจาริยัญจะ หิรัญญะ นามะกัง ถิรัง สิทธิ ทันตัง มหาเตชัง อิทธิ มันตัง วะสาทะรัง
( สิทธิ พุทธัง กิจจัง มะมะ ผู้คนไหลมา นะชาลี ติ สิทธิ ธัมมัง จิตตัง มะมะ ข้าวของไหลมา นะชาลี ติ สิทธิ สังฆัง จิตตัง มะมะ เงินทองไหลมา นะชาลี ติ ฉิมพลี จะ มหาลาภัง ภะวันตุ เม )
หมายเหตุ ในวงเล็บ จะสวดหรือไม่ก็แล้วแต่ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘