ฎีกา (คัมภีร์)

ฎีกา คือวรรณกรรมภาษาบาลี ที่แต่งเพื่ออธิบายความในคัมภีร์อรรถกถาของอรรถกถาจารย์ที่ได้ไขความในพระ ไตรปิฎกไว้ คัมภีร์ชั้นฎีกาจัดเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญรองลงมาจากคัมภีร์อรรถกถาที่ ขยายความในพระไตรปิฎก เรียกว่า คัมภีร์ชั้นสาม คัมภีร์ฎีกามีความแตกต่างกับคัมภีร์อรรถกถา (คัมภีร์ชั้นสอง) ที่วัตถุประสงค์ในการแต่งฏีกานั้นทำเพื่ออธิบายเนื้อความในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา หรือฏีกาด้วยกันเอง

คัมภีร์ฎีกามีผู้แต่งจำนวนมากและมีหลายคัมภีร์ ส่วนใหญ่ชื่อคัมภีร์ชั้นฎีกาจะมีคำว่า ฎีกา และตามด้วยชื่อคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายความ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีคำ ทีปนี โชติกา ปกาสินี หรือ คัณฐิ ลงท้าย1 ซึ่งคำลงท้ายเหล่านั้นรวมแปลว่า ให้ความกระจ่าง (อธิบายความในอรรถกถาให้กระจ่าง) คัมภีร์ชั้นฎีกาจัดเป็นแหล่งความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญรองลงมา จากคัมภีร์ชั้นอรรถกถา[1]

ประวัติ

ฏีกาบางคัมภีร์อาจมีสืบกันมาแต่ครั้งโบราณ และถูกนำมาเรียบเรียงอีกครั้งในยุคราว พ.ศ. 1400 - 1800 ซึ่งเป็นยุคที่มีฏีกาเกิดขึ้นมาก ซึ่งหลายคัมภีร์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ยังคงได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน. พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) จะได้แสดงความเห็นไว้ว่า คัมภีร์หลังยุคฏีกามานั้นควรจะจัดอยู่ในประเภทอัตตโนมติ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่ประเทศสหภาพพม่ายัง พบว่ามีอาจารย์บางท่านจัดคัมภีร์ของตนไว้ในชั้นนี้อยู่ และในยุคหนึ่งประเทศพม่าเคยมีการเขียนฏีกาออกมามากจนมีคำว่า "ฝนฏีกา" เกิดขึ้น และบางคัมภีร์ก็แต่งขึ้นเพื่อค้านมติของพระฏีกาจารย์ ในยุคฏีกา จนมีกระแสต่อต้านเกิดขึ้นมากมาย เช่น คัมภีร์ปรมัตถทีปนีฏีกา ของพระแลดี สยาดอ ชาวพม่า ซึ่งแต่งค้านคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีของพระสุมังคลมหาสามีผู้เป็น 1 ใน 10 ของพระเถระที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในเกาะลังกายุค พ.ศ. 1700 เป็นต้น

คุณสมบัติของผู้แต่ง

ผู้แต่งคัมภีร์ฏีกา เราเรียกว่า พระฏีกาจารย์ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ทรงความรู้ความสามารถมากไม่น้อยไปกว่าพระอรรถกถาจารย์ เพราะนอกจากพระฏีกาจารย์จะต้องสามารถทรงจำ และเข้าใจพระไตรปิฎกอย่างแตกฉานเพื่อนำมาเขียนอธิบายได้แล้ว ยังจะต้องแตกฉานในคัมภีร์อรรถกถาและคัณฐีต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังจะต้องมีความชำนาญในไวยากรณ์ทั้งบาลีและสันสกฤต ในคัมภีร์สัททาวิเสสต่าง ๆ, รอบรู้ศัพท์และรูปวิเคระห์ต่าง ๆ เป็นอย่างดี, ฉลาดในการแต่งคัมภีร์ให้สละสลวย ไพเราะ มีลำดับกฎเกณฑ์ ตามหลักอลังการะ, ต้องมีความสามารถในการแต่งคัมภีร์ตรงตามหลักฉันท์อินเดียซึ่งมีอยู่นับร้อยแบบ, และเข้าใจกรรมฐานจนถึงพระอรหันต์แตกฉานเชี่ยวชาญในข้อปฏิบัติเป็นอย่างดี

ฏีกาจารย์บางท่านอาจมีฐานะเป็นอรรถกถาจารย์ด้วย เนื่องจากรจนาทั้งอรรถกถาและฏีกา ซึ่งเท่าที่พบในประวัติศาสนาพุทธมี 2 ท่าน คือ พระธรรมปาลาจารย์ วัดพทรติตถวิหาร และพระโจฬกัสสปเถระ ผู้อยู่ในแคว้นโจฬรัฐ ทางตอนใต้ของชมพูทวีป

ฏีกาจารย์และคัมภีร์ฏีกาที่มีใช้แพร่หลายในประเทศไทย

ฏีกาจารย์และคัมภีร์ฏีกาที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่นักศึกษาอภิธรรมของประเทศไทย ได้แก่ พระสุมังคลมหาสามี ผู้รจนาอภิธัมมตถวิภาวินีฏีกา อธิบายคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหอรรถกถา และ อภิธัมมัตถวิกาสินีฏีกา อธิบายคัมภีร์อภิธัมมาวตารอรรถกถา นอกจากนี้พระฏีกาจารย์ที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักเปรียญธรรมก็มีอยู่หลายท่านด้วยกัน เช่น พระสิริมังคลาจารย์ ผู้รจนามังคลัตทีปนี อธิบายมงคล 38, พระธรรมปาลาจารย์ ผู้รจนาปรมัตถมัญชูสา วิสุทธิมรรคมหาฏีกา, พระสารีบุตรเถระ2 ผู้รจนาสารัตถทีปนีฏีกา อธิบายอรรถกถาพระวินัย และสารัตถมัญชูสาฏีกา อธิบายอรรถกถาอังคุตตรนิกาย, พระโจฬกัสสปเถระ ผู้รจนาวิมติวิโนทนีฏีกา อธิบายอรรถกถาพระวินัย และอนาคตวังสอรรถกถา, พระวชิรพุทธิเถระ ผู้รจนาวชิรพุทธิฏีกา เป็นต้น

เชิงอรรถ

คัมภีร์หลักในพระพุทธศาสนา
พระไตรปิฎก
๔๕ เล่ม

พระวินัยปิฎก
สุตฺ คัมภีร์
ขันธกะ
ปริ
พระสุตตันตปิฎก
ที สํ องฺ ขุ
พระอภิธรรมปิฎก
สงฺ วิภงฺ ธา
ปุ.
กถา ย. ปัฏฐานปกรณ์



หมายเหตุ 1: คำลงท้ายดังกล่าวบางคำนำมาจากคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งคัมภีร์ชั้นฎีกาใดที่ไม่ได้แต่งชื่อคัมภีร์ขึ้นใหม่ ก็จะใช้คำว่า ฎีกา นำหน้าตามด้วยชื่อคัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่นำมาขยายความ เช่น ฎีกาสารัตถทีปนี เป็นต้น หมายเหตุ 1: พระสารีบุตรรูปนี้ มีชีวิตอยู่ราว พ.ศ. 1700 ไม่ใช่พระสารีบุตรผู้เป็นอัครมหาสาวกในครั้งพุทธกาล

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘