ธรรมกาย คือ อัตตา

ก่อนจะถึงเรื่อง "ธรรมกายคืออัตตา" ขออธิบายเรื่อง "อัตตา" กับ "อนัตตา" กันก่อน เพราะหากไม่เข้าใจตรงนี้ เรื่อง "ธรรมกาย" ก็จะยิ่งยากที่จะเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นอัตตา แล้วอัตตานั้นดีอย่างไร

หลายๆท่านพูดกัน สอนกันแต่ อนัตตา สอนให้รังเกียจ "อัตตา" โดยยังไม่เข้าใจเลยว่า "อนัตตา" กับ "อัตตา" แท้จริงคือ อะไร "อัตตา" แปลได้ว่าคือ "ตัว" หรือ "ตน" สรรพนามที่ใช้แสดงว่าเป็น "อัตตา" เช่น คุณ ผม I You เธอ ฉัน เอ็ง ข้า ฯลฯ ล้วนเป็นคำที่แสดงถึงความเป็นตัวตนทั้งสิ้น เพราะหากไม่มีตัวตนแล้ว ก็ไม่รู้ว่าใครพูดกับใคร เพราะไม่มีตัวตนที่ดำรงอยู่

ทุกคน ล้วนมีตัวตนอยู่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนาย ก นาย ข ฯ แม้เป็นเพียงชื่อสมมุติ แต่ก็มีตัวตนอยู่ ตัวตนที่ คอยรับความทุกข์ ความสุข เป็นตัวเก็บบุญ บาป และวิบาก ที่จะต้องไปรับกันในภพชาติต่อๆไป เพราะหากทุกคนไม่มีตัวตนอยู่แล้ว การสั่งสมบารมีก็ไม่อาจเป็นไปได้เพราะไม่รู้ว่าบารมีจะไปเก็บอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนทำ ใครเป็นผู้ได้รับ การระลึกชาติก็จะทำไม่ได้ เพราะตัวตนไม่มีไม่รู้ไประลึกชาติของใครกัน

และคำว่า "อัตตา" แปลว่า "ตัวตน" เฉยๆ ไม่ได้แปลว่า "มีตัวตน" คราวนี้เมื่อรู้ว่า อัตตา คือ อะไรแล้ว ก็มาดูที่ "อนัตตา" ซึ่งเป็นคำตรงข้ามกับ "อัตตา" เหมือน "อนิจจัง" ตรงข้ามกับ "นิจจัง" อนัตตา หรือ อนิจจัง เป็นคำปฏิเสธ ที่ปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่ง คราวนี้ คำที่ปฏิเสธ เราควรจะแปลอย่างไรดี หากต้องการจะปฏิเสธ "ตัวตน" ก็ต้องบอกว่า "ไม่ใช่ตัวตน" ไม่ใช่ "ไม่มีตัวตน" เพราะอัตตาแปลว่า "ตัวตน" ไม่ได้ แปลว่า "มีตัวตน" เช่นกันหากปฏิเสธ "เที่ยง" ก็คือ "ไม่เที่ยง" ปฏิเสธ "แท้" ก็คือ "ไม่แท้(ปลอม)" ปฏิเสธ "ถูก" ก็คือ "ไม่ถูก(ผิด)" ฯลฯ หรืออาจยกตัวอย่างได้ดังนี้ เข่น มีคนถามว่านี่ใช่(รูป) "คุณ" หรือเปล่า (คุณแสดงความเป็นตัวตน) หากไม่ใช่ เราจะตอบ "ไม่ใช่ฉัน" ไม่มีใครตอบว่า "ไม่มีฉัน" หรือ "ฉันไม่มี" กัน หรือหากใครอุตริ ตอบ ก็ไม่ได้หมายความว่า ฉันไม่มีเลยในโลกนี้ แต่หมายถึง ฉันไม่มีในรูปนั้นต่างหาก ซึ่งอาจมีในรูปอื่น หรืออย่างน้อยก็มีตัวจริงยืนอยู่ที่นั่น

และการที่จะแปล "อนัตตา" ว่า "ไม่มีตัวตน" นอกจากจะผิดแล้วยังเป็นสิ่งที่ล่อแหลมเป็นอย่างมาก เพราะจะนำไปสู่ความเชื่อ เรื่องบุญ บาป ไม่มีจริง กฎแห่งกรรมไม่มี ภพชาติไม่มี นรก-สวรรค์ไม่มี ตายแล้วก็สูญ เพราะ คัวตนไม่มี ร่างกายเป็นแค่ที่ประชุมของธาตุทั้งสี่ แค่นั้นเอง ความตายกับ "นิพพาน" แทบมีความหมายไม่ต่างกัน เป็น อุทเฉททิฏฐิ เป็น มิจฉาทิฏฐิ ชนิดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามอย่างยิ่ง เพราะหากเป็นมิจฉาทิฏฐิมากๆ นอกจากจะขวางทางมรรคผลนิพพานแล้ว ยังอาจตกนรกอเวจี หรือ นรกโลกันต์ไปเลยได้

เราจะแปล "อนัตตา" ว่า ไม่มีตัวตนไม่ได้ เพราะตัวตนนั้นมีมาอยู่ก่อน ขอยกตัวอย่างดังนี้ หากเราจะกล่าวปฏิเสธสิ่งใด ว่า "ไม่ใช่" หรือ "ไม่มี" ก็ตาม สิ่งที่ "ใช่" หรือสิ่งที่ "มี" นั้นต้องมีมาอยู่ก่อน เพราะไม่อย่างนั้น การปฏิเสธ จะเกิดขึ้นไม่ได้ (การปฏิเสธ เกิดหลัง สิ่งที่ถูกปฏิเสธเสมอ) หากจะแปลว่า "ไม่มี" ก็ต้องตอบให้ได้ว่า "มี" อยู่ที่ไหน ไม่ใช่ บอกว่า "มี" ก็ไม่มี เพราะมีแต่ "ไม่มี" อ่านแล้วสับสนใช่ไหมครับ ความผิดพลาดคือ เราไปยึดแต่คำ "ปฏิเสธ" แต่ละเลยคำ "รับ" ไปเสีย เลยเลื่อนลอยเหลวไหลไป ในตอนต่อไปจึงจะอธิบายให้ทราบว่าทำไมพระสัมสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงสอนเรื่อง ไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ค่อยกล่าวถึง นิจจัง สุขัง อัตตา ซึ่งเป็นคำรับ ที่ตรงข้ามกัน

สรุปว่า "อนัตตา" ต้องแปลว่า "ไม่ใช่ตัวตน" ไม่ใช่ "ไม่มีตัวตน" อย่างที่หลายท่านเข้าใจกัน คราวนี้ถามว่า ทำไมพระพุทธเจ้า บอกว่า ร่างกายเราซึ่งเป็น "เบญจขันธ์" เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หากแปลได้ง่ายๆ ท่านก็ชี้ว่า " นี่แน่ะ ร่างกายเรานะ มันไม่เที่ยง มันคงสภาพอยู่ไม่ได้ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นะ" ซึ่งตามปกติ คนทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ก่อนเกิดพระพุทธศาสนา ก็ล้วนเข้าใจว่า ร่างกายขันธ์ห้าเรานั้น เป็นตัวตนของตัวเองทั้งสิ้น เพราะทั้งรักทั้งหวงแหน เอาอกเอาใจ คอยปรนนิบัติ พัดวี สารพัด ใครมาว่าอะไร มาทำอะไรก็ไม่ได้ เป็นต้องโกธรเคืองกันไป เพราะคิดว่า นั่นเป็นตัวตนของตน

หากอยู่ๆ พระพุทธเจ้า เดินไปหาแล้วไปบอกว่า ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ซิ ปกติคนเรา มักไม่ชอบให้ใครมาสั่งบังคับ กันทั้งนั้น หากจะทำก็อยากทำด้วยตัวตัดสินใจเองเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งควรทำ ทำแล้วเกิดผลดีกับตัว ดังนั้น ศิลปะ ในการเผยแผ่ ธรรมะ ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงใช้วิธีสอนด้วยการกล่าวปฏิเสธก่อนทั้งสิ้น เช่น เจอพราหมณ์ กำลังอาบน้ำล้างบาปในแม่น้ำคงคาอยู่ ก็ถามว่าพราหมฌ์ทำอะไร เมื่อพราหมฌ์ตอบว่า ล้างบาปอยู่ ท่านจึงค่อยสอนว่า ทำอย่างนั้นล้างบาปไม่ได้หรอก ธรรมะของท่านซิชำระล้างให้บริสุทธิ์ได้ แล้วค่อยสอนหมวดธรรมต่างๆไป หรือ ตอนเจอสิงคาลกมาณพ กำลังบูชาเทพเจ้าทั้งหกทิศอยู่ ท่านก็เริ่มด้วยการถามว่าทำอะไร แล้วค่อยบอกว่าทำอย่างนั้นไม่ใช่การบูชาที่ถูกต้องหรอก ที่ถูกต้องบูชาทิศทั้งหกอย่างนี้อย่างนั้น

หากสังเกตวิธีการเผยแผ่ธรรมของพระองค์จะใช้วิธีนี้ทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นการหักดามพร้าด้วยเข่าหรือข่มเขาโคให้กินหญ้า และไม่ได้ไปเปลี่ยนความเชื่อเขาโดยสิ้นเชิงในทันทีทันใด แต่ค่อยๆตะล่อม โดยเริ่มให้ใจของผู้ฟังพร้อมที่จะรับฟังก่อนแล้วจึงค่อยแนะนำสั่งสอน โดยการชี้ให้เห็นก่อนว่าสิ่งที่เคยคิดเคยปฏิบัตินั้นไม่ถูกต้องอย่างไร แล้วจึงเทศน์สอน กรณีไตรลักษณ์ ก็เช่นกัน เมื่อบอกปฏิเสธสิ่งที่เขาเคยยึดถือว่าไม่ใช่ คำถามก็ย่อมเกิดขึ้นในใจว่า แล้วอะไรที่มันใช่ล่ะ เพราะคงไม่มีผู้รู้ท่านใด ไปเที่ยวชี้นิ้ววิจารณ์คนอื่นว่า ไม่ใช่ ไม่ถูก แต่บอกไม่ได้ว่า สิ่งที่ถูกคืออะไร ถ้าเป็นอย่างนั้น คงจะเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เป็นแค่คนชอบติคนหนึ่งเท่านั้น คราวนี้เมื่อผู้ฟังมีใจยอมรับฟังแล้ว ท่านจึงค่อยชี้ในสิ่งที่ถูก สอนวิธีที่จะให้ได้ สิ่งที่เป็น นิจจัง สุขัง อัตตา (จริงๆ) ให้ ซึ่งก็คือ ธรรมะ ต่างๆ ที่เป็นอริยมรรค เส้นทางสู่มรรคผลนิพพานนั่นเอง

อีกสาเหตุหนึ่งที่ชาวพุทธ ตั้งข้อรังเกียจ "อัตตา" เป็นหนักหนา เพราะพระท่านสอนให้ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น หรือที่ชอบเรียก "ตัวกู-ของกู" นั่นล่ะ คราวนี้ ปัญหา มันไม่ได้อยู่ที่ "กู" หรอก แต่มันอยู่ที่ "ของ" (กู) กับ "เป็น" (กู) ใน "กู" ที่ไม่ใช่ "กูจริง" ซึ่งก็คือ "อุปาทาน" คือการเข้าไปยึดมั่นยึดถือ ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นฉัน เป็นของเรา ในสิ่งที่ไม่ได้เป็นของเราจริงๆ ต่างหาก ลำพัง "กู" เฉยๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเข้าไปยึดในสิ่งที่ไม่ใช่เป็นของตัวว่าเป็นของตัว เมื่อของสิ่งนั้นจากเราไป เราเลยเป็นทุกข์ เพราะ "กู" หรือ "อัตตา" นี่ มันมี "อัตตาแท้" กับ "อัตตาเทียม" หรือ ตนแท้ กับตนสมมุติ ซึ่งก็ใช้ "ตน" เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน ซึ่ง "อัตตา" นี้ ไม่ว่าจะเป็น อัตตาแท้ หรือ อัตตาเทียม มันก็มีอยู่ของมันมาก่อนแล้ว หลักสำคัญต้องไปยึดหรือพึ่งให้ถูกว่า "ตน" ไหนพึ่งได้ "ตน" ไหนพึ่งไม่ได้ พึ่งผิดก็ทุกข์ พึ่งถูกก็สุข หลักมีแค่นี้ เอง

นอกจากนี้ มักจะเข้าใจผิด ว่า "อัตตา" มีความหมายเดียวกับ "Ego" ในภาษา อังกฤษ จึงยิ่งรังเกียจอัตตา เข้าไปใหญ่ ทั้งๆ ที่ Ego น่า จะใกล้เคียงกับ คำว่า "ทิฏฐิ" กับ "มานะ" เสียมากกว่า ซึ่งแน่นอน ทิฏฐิมานะ เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ที่ควรจะต้องละอย่างแน่นอน

เวลาแทนตัวเองว่า ผม คุณ ฯ ของกายมนุษย์ซึ่งเป็นขันธ์ 5 นี่แสดงถึงตนสมมุติ ในทางวิชชาธรรมกาย ตนสมมุติ คือ กายที่อยู่ในภพทั้งหมด ตั้งแต่กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม เป็นอัตตาสมมุติทั้งสิ้น ส่วนอัตตาแท้ คือ กายที่อยู่นอกภพ 3 ไปแล้ว คือ ธรรมกาย ที่เป็น ธรรมขันธ์ ไม่ใช่ เบญจขันธ์ อีกต่อไป เป็น อสังขตธรรม ไม่ใช่ สังขตธรรม เป็น วิสังขารธรรม ไม่ใช่สังขารธรรม มีความบริสุทธิ์ เป็นธาตุธรรมที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ไม่มีการปรุงแต่ง เป็นตัวของตัวเอง ธรรมกาย จึงเป็น อัตตา นับตั้งแต่ ธรรมกายโคตรภู ธรรมกายโสดาบัน ธรรมกายสกิทาคามี ธรรมกายอนาคามี และ ธรรมการอรหัตต์ ล้วนเป็นอัตตา เป็นตัวตนที่แท้จริงเป็นตัวของตัวเองทั้งสิ้น

เหมือนคนที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครมาคอยบังคับ ย่อมมีอิสรภาพ ที่จะคิดจะทำสิ่งใดก็ได้ ที่คิดอยากจะทำ พระธรรมกาย ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นตัวของตัวเอง จึงมีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก จะทำอะไรก็ได้ อยากจะรู้อะไรก็รู้ได้ มีแต่ความสุขอย่างเดียว ไม่มีความทุกข์หรือกิเลสเจือปนเลย

ดังนั้นเวลาพระพุทธเจ้าแทนตัวเอง ตถาคต พระอรหันต์แทนตัวเองว่า อาตมา จึงเป็นการแทน "อัตตาแท้" เพราะท่านเข้าถึงธรรมกายอรหัตต์ บรรลุนิพพานแล้ว หากจะมาบอกกันว่า อัตตาไม่มีเมื่อนิพพาน การที่พระพุทธเจ้ามาแทนตัวท่านเองว่า อาตมาหรือตถาคต ก็ย่อมมีไม่ได้เช่นกัน เพราะพระพุทธเจ้าย่อมกล่าวแต่สัจจธรรมเท่านั้น คำที่ไม่เป็นธรรมจะไม่กล่าวเลย สิ่งที่ไม่มีจะมาบอกว่ามีย่อมไม่ได้ ไม่ใช่วิสัยของพระพุทธเจ้า ดังนั้น นิพพานแล้วไม่ใช่ไม่มี อัตตา แต่ไม่มี "อุปาทาน" หรือความยึดมั่นในขันธ์ 5 ต่างหาก

นอกจากนั้น ยังมีบาลีอีกมากมาย ที่แสดงว่า มี "อัตตา" เช่น ที่เราคุ้นๆ กันก็คือ "อัตตาหิ อัตโนนาโถ" หรือ ที่แปลว่า ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน คาถานี้ คนที่ไม่เข้าใจเรื่องธรรมกายจะเข้าใจได้ยากหรือไม่ลึกซึ้ง เพราะท่านบอกให้ตนพึ่งตนเอง หากตนเองไม่มีแล้วจะไปพึ่งได้อย่างไรกัน อาจารย์ยุคหลังๆ เลยเอาไปใช้แต่ในความหมายทางโลกคือ ให้ขยันทำงาน พึ่งพาลำแข้งของตัวเอง ให้ทำบุญด้วยตนเองเพราะเวลาทุกข์หรือตายล้วนไม่สามารถพึ่งใครได้ ฯ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ความหมายที่ลึกซึ้งจริงๆ คือ ท่านกล่าวถึง "พระธรรมกาย" ซึ่งเป็นรัตนะภายใน เป็นพระรัตนตรัย อันเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ของมนุษย์ เทวดา พรหม ทั้งหลาย เพราะธรรมกายนั้นเป็น นิจจัง (เที่ยงแท้) สุขัง (เป็นสุข) อัตตา (เป็นตัวตนที่แท้จริง) ซึ่ง "ตน" ในคาถา มีสองคำ คือ "ตน" แรก กับ "ตน" หลัง เป็นคนละตนกัน "ตน" แรกใน "ตนนั่นแหละ" หมายถึง ตนแท้ ซึ่งคือ ธรรมกาย ส่วน "ตน" หลังใน "เป็นที่พึ่งแห่งตน" หมายถึง ตนสมมุติ หรือกายที่อยู่ในภพ ท่านบอกว่า ตนแท้นั่นแหละเป็นที่พึ่งของตนเทียม นั่นเอง

ส่วนอีกคาถานึงคือ "อตฺตทีปา อตฺตสรณา นาญฺญสฺสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา นาญฺญสฺสรณา - มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่" ตนในที่นี้ก็หมายถึง "ธรรมกาย" เช่นกัน เพราะสิ่งที่จะพึ่งได้ ต้องเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ถาวร เป็นตัวของตัวเอง เหมือนคนกำลังจะจมน้ำ ได้ขอนไม้ ได้แพมาก็เกาะไว้ หรือหากขึ้นบนเกาะได้ ก็ปลอดภัย เพราะเกาะให้ที่พึ่งพิงได้ ส่วนธรรมหมายถึง "ดวงธรรม" ที่ทำให้เป็นธรรมกายซึ่งอยู่ในธรรมกายอีกทีหนึ่ง ดวงธรรมกับธรรมกายเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน "ดวงธรรม" ก็ต้องอยู่ในธรรมกาย "ธรรมกาย" ก็ต้องอาศัยดวงธรรม "ตน" กับ "ธรรม" จึงเป็นคนละอย่างกัน แต่อาศัยซึ่งกันและกันอยู่ ดังนั้น หากตนไม่มีแล้ว พระพุทธเจ้าก็คงจะไม่แนะนำให้มาเป็นที่พึ่งเป็นแน่แท้

หากที่อธิบายมาทั้งหมด ยังมีบางท่านไม่เข้าใจอยู่ก็จะอธิบาย โดยการเปรียบเทียบ ในทางวิทยาศาสตร์ดังนี้

สำหรับท่านที่เรียนวิทยาศาสตร์มาบ้าง คงจะพอเข้าใจในเรื่อง "ธาตุ" กับ "สารประกอบ" มาบ้าง เป็นที่รู้กันว่า สารประกอบ คือ สสารที่ประกอบด้วยธาตุมากกว่าหนึ่งชนิด เช่น น้ำ (H2O) เป็นสารประกอบที่ประกอบขึ้นจาก ไฮโดรเจน (H) กับออกซิเจน (O) รวมตัวกัน ซึ่งสารประกอบที่เป็นสสารปรุงแต่งนี้ จะไม่เสถียร คือ มันจะไม่สามารถคงสภาพอยู่ได้นาน อาจแตกตัว กลับไป เป็น ธาตุเดิม คือ โฮโดรเจน หรือ ออกซิเจนได้ทุกเมื่อ ส่วนธาตุ ออกซิเจนกับไฮโดรเจน ไม่สามารถแตกตัวเป็นธาตุอะไรได้อีก เพราะเป็นธาตุบริสุทธิ์คือมีความเสถียรแล้ว

จะเห็นได้ว่า สิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้น หรือ ปรุงแต่งขึ้น ย่อมไม่ใช่สิ่งที่คงทนถาวร เพราะไม่ใช่ตัวตนของตัวเอง เหมือนกับ เบญจขันธ์ ที่เป็น สังขตธรรม เป็นธาตุธรรมที่ปรุงแต่ง จึง ตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง (ไม่เที่ยงแท้) ทุกขัง (คงสภาพอยู่ไม่ได้) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง) เหมือนดังเช่นสารประกอบที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ส่วน ธาตุที่เป็นธาตุแท้ (ไม่ได้ประกอบขึ้นจากธาตุใด) ล้วนมีความเสถียร คงทนถาวร เหมือนกับ ธรรมกาย ที่เป็น อสังขตธรรม หรือ ธาตุธรรมที่ไม่ปรุงแต่ง จึงไม่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ เป็น นิจจัง (เที่ยงแท้) สุขัง (ทนสภาพอยู่ได้) อัตตา (เป็นตัวของตัวเอง) นี่เป็นตัวอย่างที่เทียบเคียงด้วย ตรรกกะ(Logic) อย่างเดียวกัน ว่า ทำไมธรรมกาย ที่เป็น อสังขตธรรม จึงเป็น อัตตา

จึงขอสรุปอีกครั้งว่า "อนัตตา" แปลว่า "ไม่ใช่ตัวตน" ไม่ใช่ "ไม่มีตัวตน" (ความหมายต่างกันมาก) และ "ธรรมกาย" คือ ตัวตนที่แท้จริงของทุกๆ คน เป็น อัตตา เป็น ที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของทุกคน ที่สามารถ เข้าถึงได้ หากรู้วิธีการที่ถูกต้อง และมีความมานะพยายาม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘