ประวัติและปฏิปทา พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
(Mitsuo Gavesako)

วัดป่าสุนันทวนาราม
ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี



๏ อัตโนประวัติ

เป็นที่ทราบกันดีว่า เจ้าประคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) อดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ท่านคือเอกอุพระกรรมฐานสายมหานิกาย ที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในหลายประเทศ ทั้งยุโรปและอเมริกา ปัจจุบันหลวงพ่อชามีทายาทธรรมถึง ๑๑๗ สาขาเป็นสักขีพยาน

จำเพาะวัด สาขาลำดับที่ ๑๑๗ ของวัดหนองป่าพง เพชรแท้แดนปลาดิบ “พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก” พระภิกษุชาวญี่ปุ่น เจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ยังทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมเป็นกิจวัตร ศิษย์ท่านไซร้มีทั้งคนไทยและคนต่างแดน

พระอาจารย์มิตซูโอะ มีนามเดิมว่า มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ ณ จังหวัดอีวาเต้ ประเทศญี่ปุ่น จบการศึกษาระดับไฮสคูล (ปวช. หรือ มศ. ๕) สาขาเคมี ณ จังหวัดโมริโอก้า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสำเร็จการศึกษา ท่านทำงานเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งแล้ว จึงออกเดินทางสัญจรรอนแรมจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อแสวงหาสัจธรรมของชีวิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยได้ท่องเที่ยวเพื่อศึกษาชีวิต สังคม ประเพณี และวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ ในตะวันออกกลาง เช่น อินเดีย, เนปาล, อิหร่าน และในยุโรป เป็นเวลา ๒ ปีเศษ แล้วเปลี่ยนความตั้งใจที่จะไปแอฟริกา วกกลับสู่อินเดีย

พ.ศ. ๒๕๑๗ เมื่อเดินทางถึงพุทธคยา ประเทศอินเดีย ท่านจ้องมองเห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ ก็ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และประจักษ์ขึ้นมาในใจว่า “นี่คือสิ่งที่แสวงหา สัจจะความจริงอยู่ภายในกายกับใจของเรานี้เอง ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ ทุกคนทุกชีวิตสามารถพ้นทุกข์ได้” ท่านจึงหยุดการแสวงหาจากภายนอก เข้าสู่การแสวงหาภายใน

จากนั้นท่าน ก็ได้ไปฝึกโยคะอยู่ที่สำนักโยคีแห่งหนึ่งในประเทศอินเดียนั่นเอง และก็เริ่มมีประสบการณ์โยคะบ้าง ท่านเกิดความพอใจ คิดว่าจะเป็นโยคีอยู่ที่อินเดียตลอดชีวิต แต่บังเอิญวีซ่าหมด มีคนแนะนำให้เดินทางมาประเทศไทย ต่อมาก็มีผู้แนะนำท่านให้ไปกราบหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านก็ได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อตั้งแต่บัดนั้น

๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ขณะอายุ ๒๓ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๓ เดือนก็พยายามแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม ทีแรกเพื่อนก็พาไปดูวัดที่ภาคใต้ ๓-๔ วัด เป็นวัดที่มีชาวต่างชาติไปปฏิบัติกัน แต่ท่านดูแล้วก็ยังไม่รู้สึกตกลงใจ หลังจากนั้นก็มีคนแนะนำให้ไปจังหวัดอุบลราชธานี ให้ไปหาหลวงพ่อชา ตอนนั้นก็มีพระชาวอินเดียที่พูดภาษาไทยได้พาไป นั่งรถทัวร์จากกกรุงเทพมหานครไปถึงจังหวัดอุบลราชธานี แล้วท่านก็ยืนงงๆ อยู่ว่าจะไปวัดหนองป่าพงได้อย่างไร

ณ วัดหนองป่าพง ท่านได้พบกับพระฝรั่งชื่อเขมธัมโม ซึ่งก็เข้ามาช่วยแนะนำ เมื่อฉันจังหันเสร็จแล้วท่านสุเมโธและพระฝรั่งอีก ๔-๕ รูป ก็พาไปหาหลวงพ่อชาที่กุฏิ เมื่อบอกความประสงค์ที่จะมาขอปฏิบัติที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อชาซักถามว่ามาจากไหน มายังไง แล้วก็ถามชื่อ พระอาจารย์มิตซูโอะ ตอบว่า ชื่อ “ชิบาฮาชิ” (ชื่อมิตซูโอะ แต่ธรรมเนียมญี่ปุ่นจะใช้นามสกุลเป็นชื่อแนะนำตัวเอง) หลวงพ่อชาท่านก็จำเทียบเคียงเป็นภาษาไทยว่า สี่บาทห้าสิบ นับจากวันนั้นหลวงพ่อชาก็เรียกพระอาจารย์มิตซูโอะสั้นๆ ว่า “สี่บาทห้า” มาตลอด

“คำสอนข้อแรกที่หลวงพ่อชาสอน คือ เราต้องอดทน”

ครั้น เมื่อได้พบกับหลวงพ่อชาแล้ว ท่านเกิดความรู้สึกซาบซึ้งในหลักธรรมและข้อวัตรปฏิบัติ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา ขณะอายุได้ ๒๔ ปี โดยมีเจ้าประคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระราชภาวนาวิกรม (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง รูปปัจจุบัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระวิฑูรย์ จิตฺตสัลโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “คเวสโก” (อ่านว่า คะ-เว-สะ-โก ) ซึ่งแปลว่า “ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง” (seeker) ถือได้ว่าท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์รุ่นแรกที่หลวงพ่อชาอุปสมบทให้ จึงเรียกว่าเป็นสัทธิวิหาริกรุ่นแรกของหลวงพ่อชา

๏ ลำดับการจำพรรษา

จากนั้นได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อ ชาตลอดระยะเวลา ๕ ปี แต่ในช่วงเข้าพรรษา ได้จำพรรษาอยู่ตามวัดสาขาของหลวงพ่อชา ภายในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้คือ

พรรษาที่ ๑ ได้จำพรรษาที่วัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ

พรรษา ที่ ๒ ได้จำพรรษาที่วัดป่านานาชาติ ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ โดยมีพระอาจารย์สุเมโธ (ปัจจุบันคือพระราชสุเมธาจารย์) เป็นหัวหน้าคณะ

พรรษาที่ ๓ ได้จำพรรษาที่วัดป่าสุภัทราวาส (วัดป่าสุภัทราราม บ้านคำชะอี ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร)

พรรษาที่ ๔ ได้จำพรรษาที่วัดถ้ำแสงเพชร (วัดศาลาพันห้อง) ต.หนองมะแซว อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

พรรษาที่ ๕ ได้จำพรรษาที่วัดก่อนอก ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ

พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๔ เข้าห้องกรรมฐานเก็บอารมณ์ที่วัดสังฆทาน (หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ) ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นเวลา ๒ ปี

พ.ศ. ๒๕๒๕ ธุดงค์และปฏิบัติธรรมที่ประเทศอินเดีย

พ. ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๘ ปฏิบัติธรรมที่วัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติ พร้อมทั้งอุปัฏฐากรับใช้หลวงพ่อชาขณะท่านอาพาธ ร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์หลวงพ่อชา เป็นเวลา ๓ ปี

พ.ศ. ๒๕๒๙ เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๔ ปี หลังจากมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔

๏ สัทธิวิหาริกรุ่นแรกของหลวงพ่อชา

ท่านเป็นสัทธิวิหาริกรุ่นแรก ของหลวงพ่อชา ได้จำพรรษาที่วัดหนองป่าพง และได้อุปัฏฐากดูแลหลวงพ่ออย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานด้วยความเคารพบูชาอย่าง สูง รวมทั้ง ท่านอยู่ในคณะผู้บุกเบิกวัดป่านานาชาติ ซึ่งมีพระอาจารย์สุเมโธ (ปัจจุบันคือพระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) หรือเจ้าคุณโรเบิร์ต เจ้าอาวาสวัดอมราวดี เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ) เป็นหัวหน้าคณะ

ตลอดระยะเวลาที่ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ใน ประเทศไทยนั้น ท่านบำเพ็ญเพียรมาหลายรูปแบบ และธุดงค์มาแล้วหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่อุดมสมบูรณ์และที่ทุรกันดาร ในประเทศไทยท่านได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการธุดงค์เพื่อหาความสงบวิเวกไปตามภาค ต่างๆ ท่านได้รู้จักและเห็นความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วทุกภาค ทั้งรู้สึกสำนึกในความศรัทธา ความเสียสละ และความเคารพของคนไทยที่มีต่อพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีส่วนทำให้ท่านยิ่งเร่งทำความเพียรมากขึ้น

การที่พระอาจารย์ มิตซูโอะ ได้มาประเทศไทย และได้บวชเป็นศิษย์ชาวต่างชาติท่านหนึ่งของเจ้าประคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) นั้น เป็นเรื่องที่ “เป็นไปเอง” ตั้งแต่เด็กๆ ท่านคิดเสมอว่า “อะไรคือชีวิตที่น่าพอใจ...ชีวิตน่าจะมีอะไรที่มีคุณค่ามากกว่านี้...”

๏ การเดินธุดงค์ในประเทศญี่ปุ่น

ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ พระอาจารย์มิตซูโอะ พร้อมลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุชาวญี่ปุ่นอีกองค์หนึ่งชื่อ พระญาณรโต ได้ออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเดินธุดงค์จากสนามบินนาริตะ ถึง PEACE MEMORIAL PARK เมืองฮิโรชิมา การเดินธุดงค์ครั้งนี้ใช้เวลาทั้งหมด ๗๒ วัน เป็นการเดินทางด้วยเท้ากว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร

ตลอดทางได้โปรดศรัทธา ญาติโยมทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นไปด้วย โทรทัศน์ของญี่ปุ่นติดตามถ่ายภาพทำสารคดีออกอากาศ เป็นการเผยแผ่พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้อย่างดี รวมการเดินทั้งหมดประมาณ ๒ ล้าน ๒ แสนก้าว หลังจากนั้นท่านจึงได้อยู่จำพรรษา ณ วัด SHINAGAWA-JI ในกรุงโตเกียว

การเดินธุดงค์ครั้งนี้ พระอาจารย์มิตซูโอะ และพระญาณรโต ตั้งใจเดินเพื่อเป็นการระลึกถึงสันติภาพของโลก และตลอดการเดินธุดงค์นั้นท่านยังคงเคร่งครัดต่อพระวินัยโดยไม่มีการยืดหยุ่น คือการไม่ถือเงิน และการฉันมื้อเดียวด้วยการอาศัยอาหารที่ได้จากการบิณฑบาตหรืออาหารที่มีผู้ จัดถวาย นอกจากนั้นพระภิกษุทั้ง ๒ รูป ยังได้สมาทานการเดินธุดงค์โดยไม่มีการนั่งรถ นับตั้งแต่สนามบินนาริตะจนถึงเมืองฮิโรชิมา

ดังนั้นระหว่างการเดินทาง ท่านได้ประสบและพบเห็นกับสิ่งต่างๆ มากมาย ที่ทำให้ท่านหวนระลึกได้ว่าสันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในโลกได้ ก็ต่อเมื่อชาวโลกทั้งหลายละความเห็นแก่ตัว โดยการให้ทาน ๑๐ ประการเป็น “ทานจักร” แล้วสังคมของเรา โลกของเรา ก็จะมีแต่ความสงบสุขและความร่มเย็นโดยไม่ต้องสงสัย

ในประเทศ ญี่ปุ่น เด็กๆ และเยาวชนได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นสมบัติอันมีค่า เพราะชาวญี่ปุ่นถือว่าเด็กและเยาวชนคือทรัพยากรที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ในอนาคต และด้วยความปรารถนาที่จะเห็นเด็กไทยมีโอกาสเหมือนเด็กญี่ปุ่นบ้าง พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก จึงได้ปรารภปัญหาดังกล่าวรวมทั้งความประสงค์ในการสงเคราะห์เด็กๆ ของไทยแก่ญาติโยมชาวญี่ปุ่น ซึ่งท่านเหล่านั้นเมื่อได้ฟังแล้วก็ยินดีสนับสนุนในการจัดหาทุนเพื่อโครงการ นี้กันอย่างเต็มที่ โดยเริ่มแรกได้ถวายทุนมาเป็นจำนวนเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท

๏ จัดตั้งมูลนิธิมายา โคตมี

ดังนั้น ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เมื่อพระอาจารย์มิตซูโอะ ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทย ท่านจึงได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความดำริของท่านและการสนับสนุนจากสาธุชน ชาวญี่ปุ่นให้ศรัทธาญาติโยมชาวไทย อาทิเช่น คุณสิริลักษณ์ รัตนากร, คุณวิชา มหาคุณ, คุณสุขสันต์ จิรจริยาเวช และคุณดารณี บุญช่วย ฟัง ท่านทั้ง ๔ เห็นดีและสนับสนุนในกุศลเจตนาของพระอาจารย์ และมีความเห็นว่าน่าจะได้ดำเนินการในรูปของมูลนิธิ

ในที่สุดด้วย ความร่วมมือจากทุกฝ่าย คุณสุขสันต์ จิรจริยาเวชและผู้ช่วยคือคุณสุกัญญา รัตนนาคินทร์ จึงได้เริ่มจัดตั้งและจดทะเบียนมูลนิธิจนแล้วเสร็จเป็นมูลนิธิมายา โคตมี ในวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยมีคุณมนูญ เตียนโพธิ์ทอง อนุเคราะห์สถานที่ให้เป็นที่ตั้งของมูลนิธิ

ชื่อของมูลนิธิ “มายา โคตมี” นั้น มาจากพระนามของพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา และพระนางปชาบดีโคตมี พระน้านาง ซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระมารดาทั้ง ๒ พระองค์ ที่ได้ทรงทะนุถนอมเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะจนเติบใหญ่ กระทั่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและคุณประโยชน์อันหาค่ามิได้แก่ชาวโลก ตราบเท่าทุกวันนี้

สำหรับตราสัญญลักษณ์ของมูลนิธินั้น เนื่องจากมูลนิธิมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการ ศึกษาและจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนในชนบท พระอาจารย์มิตซูโอะจึงเห็นควรที่จะอัญเชิญพระรูปของพระพุทธองค์ปางประสูติ ประทับยืนบนดอกบัว เบื้องหน้าของวงล้อแห่งทานจักร ๑๐ ประการ อันเป็นหัวใจของมูลนิธิ เป็นสัญญลักษณ์ของมูลนิธิ โดยล้อมรอบด้วยวงกลม ๒ ชั้น ซึ่งภายในวงกลมด้านบนมีชื่อภาษาไทยว่า “มูลนิธิมายา โคตมี” ด้านล่างเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า “MAYA GOTAMI FOUNDATION”

ทั้งนี้ เพื่อให้ตราสัญญลักษณ์เป็นนิมิตหมายว่า การที่เราทั้งหลายร่วมมือร่วมใจกันหมุนทานจักร ๑๐ ประการนี้ จะยังผลให้เด็กและเยาวชนในอุปการะของมูลนิธิฯ เติบโตขึ้นเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้มีความรู้ ความเฉลียวฉลาด มีกิริยามารยาทงดงาม มีจิตใจที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมเช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ ฉะนั้น

ปัจจุบัน ที่ทำการมูลนิธิมายา โคตมี ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๓๗๘ อาคารสงเคราะห์ สาย ๒๐ ก. แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๒๐ โทรศัพท์ ๐๒-๖๗๖-๓๔๕๓, ๐๒-๖๗๖-๔๓๒๓ โทรสาร ๐๒-๒๘๖-๘๖๙๐ E-mail address : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน , อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

๏ สร้างวัดป่าสุนันทวนาราม

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ นางสุนันท์ บุษสาย คหบดีชาวจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่และครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนมากภายในจังหวัด กาญจนบุรี มีความศรัทธาในปฏิปทาและข้อวัตรอันเคร่งครัดของพระธุดงค์สายวัดป่า (สายหลวงพ่อชา สุภัทโท) ผู้ซึ่งออกเดินธุดงค์รอนแรมอยู่ในป่าเขาบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี

จึง ได้ถวายที่ดินประมาณ ๕๐๐ ไร่ ซึ่งหมดสภาพป่า และทำไร่อ้อยมาประมาณ ๒๐ ปี ณ บริเวณบ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อจัดตั้งวัด ทั้งนี้ เพื่อพระสงฆ์จะได้มีเสนาสนะ และชาวบ้านจะได้มีโอกาสเข้าวัดปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระธุดงค์สายวัดป่า อีกทั้ง เมื่อมีพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเข้าไปพำนักจำพรรษาอยู่ จะสามารถยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์ในบริเวณดังกล่าวได้อีกด้วย

พระอาจารย์มิตซูโอะ ผู้ได้บวชบำเพ็ญเพียรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ออกเดินธุดงค์มาแล้วหลายแห่ง ทั้งที่อุดมสมบูรณ์และทุรกันดาร และเป็นผู้ซึ่งอยู่ในคณะผู้บุกเบิกวัดป่านานาชาติ ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งสำนักสงฆ์ ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ “วัดป่าสุนันทวนาราม” ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ด้วยเจตนารมณ์ในการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมแก่พุทธศาสนิกชนในละแวกนั้นและละแวก ใกล้เคียง ตลอดจนเพื่อให้ราษฎรรู้จักหวงแหนและร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ และสัตว์ป่า ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างวัดป่าให้เป็นวัดป่าอย่างแท้จริง

ด้วย ข้อวัตรอันเคร่งครัดและเรียบง่ายของความเป็นพระป่าของพระอาจารย์มิตซูโอะ ทำให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก

การสถาปนาสำนักสงฆ์วัดป่าสุนันทวนารามบนพื้นที่ดังกล่าว เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะสถาบันวัดได้เข้าไปเป็นอุปสรรคต่อการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ ด้วยความเพียรไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคของคณะผู้บุกเบิกนำโดยพระอาจารย์มิตซูโอะ จึงสามารถพัฒนาพื้นดินซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมด้วยการทำไร่อ้อย จนกระทั่งเป็นพื้นที่ซึ่งเขียวชอุ่มไปด้วยต้นไม้ยืนต้นน้อยใหญ่ มีเสนาสนะอันสมควรแก่สำนักสงฆ์ได้แก่ ศาลาปฏิบัติธรรม โรงฉัน และที่พักสำหรับพระภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ตามสมควร

พ.ศ. ๒๕๔๕ กองทัพบกได้มอบที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งติดต่อกับเขตวัดป่าสุนันทวนารามจำนวน ๑๒ ไร่ ให้ใช้เพื่อสร้างวัดได้ และได้ประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ชื่อ “วัดสุนันทวนาราม” เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ และแต่งตั้งพระมิตซูโอะ คเวสโก เป็นเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ในการนี้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาเสด็จฯ เป็นองค์ประธานประกอบพิธีตัดลูกนิมิต ผูกพัทธสีมาพระอุโบสถ ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ และทรงปลูกต้นสาละเป็นที่ระลึก ณ สวนสาละ บริเวณทางเข้าวัด

วัดป่าสุนันทวนารามจึงได้สถาปนาเป็นวัดโดย สมบูรณ์ และดำรงสถานภาพเป็นวัดสาขาลำดับที่ ๑๑๗ ของวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เป็นเจ้าอาวาส นับแต่นั้นเป็นต้นมา

๏ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้จัด อบรมสมาธิวิปัสสนากรรมฐานแบบ “อานาปานสติ” ที่วัดป่าสุนันทวนาราม เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๙-๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ รวม ๙ วัน และได้มีการจัดอบรมเป็นระยะๆ ตั้งแต่นั้นมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

เมื่อวัดป่า สุนันทวนารามจัดตั้งเป็นวัดสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ท่านได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาจนเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไป โดยจัดอบรมสมาธิวิปัสสนากรรมฐานแบบ “อานาปานสติ” แก่พุทธศาสนิกชน ปีละ ๖ ครั้งๆ ละ ๘-๙ วัน รวมไม่ต่ำกว่า ๓๗ ครั้ง อีกทั้ง ยังรับเป็นวิทยากรจัดฝึกอบรมตามคำขอของทางราชการ ทั้งข้าราชการตำรวจ ทหาร ข้าราชการฝ่ายปกครอง คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจน คณะศรัทธาญาติโยมและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ตามโครงการธรรมศึกษาสัญจรวัดสุนันทวนาราม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบัน ปีละประมาณ ๕,๐๐๐ คน

ในส่วนของหนังสือธรรมะที่รวบรวมธรรมบรรยายของท่านนั้น มีจำนวนกว่า ๒๗ เล่ม อาทิเช่น หนังสือธรรมไหลไปสู่ธรรม, พลิกนิดเดียว, ทุกข์เพราะคิดผิด, ทุกขเวทนา, ผิดก่อน-ผิดมาก, ผิดก่อน-ผิดมาก, สอนคนขี้บ่น, ปัญหา ๑๐๘ (๑)-(๔), อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑-๓, ชั่วโมงแห่งความคิดดี, เหตุสมควรโกรธ...ไม่มีในโลก, The Seven Practices for a Healthy Mind, สติเป็นธรรมเอก และ A Fragrance of Dhamma เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเทป-ซีดี-วีซีดี รวบรวมธรรมบรรยายและแนวทางการปฏิบัติธรรม จำนวนมากมายหลายชุด ทั้งภาคภาษาไทยและอังกฤษ ตลอดจน มีการเผยแผ่ธรรมทางอินเตอร์เน็ต ในเว็บไซต์วัดป่าสุนันทวนาราม http://www.watpahsunan.org/ อีกด้วย

๏ งานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

งานอนุรักษ์ธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมก็เป็นหัวใจสำคัญ นับตั้งแต่เริ่มเข้าไปจัดตั้งวัดป่าสุนันทวนาราม ท่านได้มีบทบาทในการอนุรักษ์ป่าไม้ อาทิ ได้กำหนด “เขตอภัยทาน” ขึ้นภายในพื้นที่วัดและพื้นที่ต่อเนื่อง, เข้าร่วมโครงการของกรมป่าไม้ภายใต้ชื่อ “พระสงฆ์ช่วยงานด้านป่าไม้” ตั้งแต่วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา, ปลูกป่าและรักษาสภาพแวดล้อม พื้นที่กว่า ๕,๖๐๐ ไร่ มีต้นไม้เบญจพรรณ ๑๐๐,๐๐๐ ต้น และอื่นๆ อีกกว่า ๕๐,๐๐๐ ต้น

ด้วยปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติอันงดงามและน่าศรัทธาเลื่อมใส ของท่านและคณะสงฆ์ เป็นสาเหตุสำคัญของการหยุดยั้งการทำลายป่า ส่วนการล่าสัตว์ได้บรรเทาลงอย่างมาก

พ.ศ. ๒๕๔๔ ร่วมมือกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี จำนวนพื้นที่ ๒๐๐ ไร่

พ.ศ. ๒๕๔๕ ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปลูกป่าจำนวนพื้นที่ ๑๐๐ ไร่ แล้วนำพื้นที่ซึ่งปลูกป่านี้ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เข้าร่วมในโครงการปลูกป่า ๑ ในจำนวน ๙ ป่า ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา โดยปลูกป่าต้นสาละ (ต้นสาละอินเดีย, Sal of India) อันเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติ จำนวนพื้นที่ ๔๐ ไร่

นอกจากเป็นพระนัก อนุรักษ์แล้ว พระอาจารย์มิตซูโอะท่านยังให้ความรู้แก่ชาวบ้าน โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในโครงการชุมชนร่วมใจรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพชีวิต รักษาระบบนิเวศ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

๏ งานส่งเสริมการศึกษา

ด้วยเมตตาธรรมและเล็งเห็นความสำคัญของการ ศึกษาของเยาวชน ตลอดจนเพื่อตอบแทนบุญคุณชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดกาญจนบุรี ที่อุปัฏฐาก จึงก่อตั้งมูลนิธิมายา โคตมี ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ จัดสรรทุนการศึกษาแก่เยาวชนด้อยโอกาสในชนบท เป็นทุนการศึกษาแบบต่อเนื่องตั้งแต่มัธยมจนจบอุดมศึกษา ซึ่งได้มาจากผู้มีจิตศรัทธาในปฏิปทาของท่านทั้งจากพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาว ญี่ปุ่น นับถึงปีพ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๑๓ ปีแล้ว ได้มอบทุนการศึกษาไปแล้วจำนวน ๓,๓๒๓ ทุน

กิจกรรมที่มูลนิธิมายา โคตมี ให้ความสำคัญ คือการอบรมจริยธรรม ตลอดจนอบรมความรู้เกี่ยวกับปัญหาร้ายแรงของสังคมปัจจุบัน คือปัญหายาเสพติด โรคเอดส์ และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก่นักเรียนรับทุนของมูลนิธิฯ ทุกปี ปีละประมาณ ๖-๗ วัน ถือเป็นภารกิจสำคัญของผู้รับทุน

อีกทั้งสนับสนุนจักรยานเพื่อเป็น ยานพาหนะไปโรงเรียนแก่เยาวชนด้อยโอกาสในท้องถิ่นชนบทที่บ้านพักอาศัยอยู่ ห่างไกลจากโรงเรียน ในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดกาญจนบุรี รวม ๑,๕๙๔ คัน ให้เงินสมทบเพื่อผลิตวัตถุดิบ เช่น ทุนในการปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เพาะเห็ด เพื่อเป็นอาหารกลางวันแก่โรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานี ๔๖ โรงเรียน และจังหวัดกาญจนบุรี ๒ โรงเรียน

ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนไทย-ญี่ปุ่น จากโรงเรียนสำโรงวิทยาคาร จ.อุบลราชธานี กับโรงเรียนอิชิโนเอะ และโรงเรียนไทรโยคมณี-กาญจน์วิทยา จ.กาญจนบุรี กับโรงเรียนโอโตเบะ ได้มีการเดินทางแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างอาจารย์และนักเรียนเพื่อ เสริมสร้างประสบการณ์ ความรู้จักคุ้นเคย เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยาวชนของทั้งสองประเทศ

ชาวอุบลราชธานีได้อุปัฏฐากท่านและพระอาจารย์องค์อื่นๆ ด้วยใจศรัทธา ท่านพูดถึงชาวบุ่งหวายและชาวบ้านก่อนอกว่า “เหมือนเป็นพ่อแม่พี่น้องของอาตมา ได้อุปการะเลี้ยงดูอาตมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร” และนี่คือที่มาของมูลนิธิมายา โคตมี ที่ท่านริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อช่วยเหลือให้ทุนการศึกษา และจัดอบรมจริยธรรมให้เยาวชนด้อยโอกาสในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ ซึ่งการให้ทุนการศึกษาได้ขยายออกไปยังอีกหลายจังหวัดของประเทศไทยในเวลาต่อ มา


๏ ผลงานและเกียรติคุณดีเด่น

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ถวายโล่เชิดชูเกียรติคุณในฐานะเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดกาญจนบุรี สาขามนุษยศาสตร์ จึงถือได้ว่าท่านเป็นเพชรแท้จากแดนปลาดิบ ศิษย์ธรรมสายหลวงพ่อชา สุภัทโท ผู้อุทิศถวายตนเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘