คำถาม : ธรรมกาย เป็นแค่นิมิต

คำตอบ : คำถามนี้เป็นอีกคำถามนึง ที่มักจะได้ยินได้ฟังกันมาก โดยเฉพาะจากสายการปฏิบัติธรรมสายหนึ่ง ที่สอนให้ปล่อยวางต่อนิมิต ทั้งหมด เพราะถือว่า นิมิตเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้น ไม่ใช่ของจริงของจังอะไร เมื่อปฏิบัติไปจนจิตเกิดสมาธิ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของจิต ที่จะต้องเกิดนิมิต เป็นดวงสว่างบ้าง เป็นความสว่างบ้าง ขึ้นเสมอ

ตามแนววิชชาธรรมกายแล้ว ดวงสว่างนั้นเรียกว่า "ดวงปฐมมรรค" หรือ "ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน" ดวงธรรมดวงแรกนี้ เป็น ปากทางเข้าไปสู่กายภายใน จนถึงนิพพาน เป็นทางเอกสายเดียวเท่านั้นไม่มีสอง เรียก เอกายนมรรค ดังนั้นแม้ปฏิบัติจนได้ ดวงสว่างติดที่กลางกายตลอดเวลา แต่ไม่ดำเนินจิตสู่ภายใน ก็ไม่สามารถเข้าถึง "ธรรมกาย" และเข้าถึงนิพพานได้ ก็ยังต้องกลับมา เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ต่อไปอีกจนกว่า จะบรรลุ ธรรมกายอรหัตต์ จึงจะถือว่าเสร็จกิจทางพระพุทธศาสนา

ซึ่งดวงธรรม ที่ได้ จะบริสุทธิ์ ใสสว่าง มั่นคง มีขนาดอย่างเล็กเท่ากับดวงดาวในอากาศ อย่างใหญ่เท่ากับดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ย่อได้ ขยายได้ ติดแน่นที่ศูนย์กลางกายตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในอริยาบทใด ดวงธรรมนั้นก็จะไม่ใช่นิมิตอีกต่อไป เป็นดวงธรรมที่มีอยู่จริงภายใน เหมือนกับกายต่างๆ หรือธรรมกาย

ซึ่งตรงนี้หลายๆ ท่านอาจจะสับสน เพราะว่าวิธีปฏิบัติสมาธิตามแนววิชชาธรรมกาย ตอนแรกก็ใช้วิธี ใช้ใจนึกน้อมเป็นนิมิต เข้าไปก่อน จึงทำให้บางท่านที่ศึกษาเพียงผิวเผินนึกว่า วิชชาธรรมมาย มีเพียงแค่นั้น คงหลงติดอยู่กับนิมิตแค่นั้น นั่งไปเพราะอยากได้นิมิตคงจะไม่มีอะไร ความจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องนึกนิมิตก็ได้ จะใช้วิธีการวางใจไว้เฉยๆ ที่ศูนย์กลางกายอย่างเดียวก็ได้ เมื่อใจเป็นสมาธิ ผลที่ได้ก็จะเหมือนกัน คือ ได้ดวงปฐมมรรค

แต่วิธีวางใจไว้เฉยๆ ใจจะเป็นสมาธิได้ช้า ส่วนวิธีนึกนิมิตน้อมไปก่อนใจจะเป็นสมาธิได้เร็ว แต่มีข้อเสียคือ หากใจไม่นิ่งพอ จะเกิดความลังเลสงสัยว่า ดวงสว่างที่เห็นนั้น เป็น "นิมิต" หรือ "ดวงธรรม" แต่ถ้าใจสงบนิ่งดีแล้ว ก็จะรู้ได้เองว่า เป็น ดวงธรรม ที่ไม่ใช่นิมิตอีกต่อไป

เมื่อสามารถเข้าถึงดวงธรรมหรือ "ปฐมมรรค" แล้ว ก็ให้ดำเนินจิตเข้าไปสู่ภายใน ก็จะพบกับกายในกาย ไปตามลำดับ ตามที่ได้อธิบายไปแล้ว จนถึง "ธรรมกาย" ซึ่งธรรมกายนั้น เป็นกายที่เป็น "ธรรมขันธ์" ที่มีชีวิตจิตใจ สามารถพูดคุยสนทนากับเราได้ ผู้ที่ได้เข้าถึงก็จะรู้ได้ด้วยตัวเอง ว่าไม่ใช่นิมิตแต่อย่างใด

เปรียบเทียบเหมือนกับ ภาพที่เราเห็น ระหว่างภาพที่เห็นจริงๆ กับภาพที่เห็นในฝัน เราก็สามารถแยกแยะได้ว่า เหตุการณ์ภาพใหนเห็นในฝัน เหตุการณ์ภาพใหนเห็นในชีวิตจริง หรือเปรียบเหมือนกับเรา เจอเสือในป่า เราก็รู้ได้เองเช่นกันว่า นั่นเป็นเสือจริงหรือเสือปลอมหรือเป็นแค่ภาพถ่าย ผู้ที่เข้าถึงธรรมกายก็เช่นเดียวกัน ก็จะรู้เห็นได้ด้วยตนเองเช่นกัน ส่วนผู้ที่เข้าไม่ถึงแล้วสรุปว่า ไม่มี หรือ ไม่จริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ดังนั้น สิ่งที่เห็นจริง บางอย่างจึงไม่ใช่ของจริง แต่ก็ไม่ใช่ว่า สิ่งที่เห็นจริงทุกอย่าง จะเป็นของไม่จริงไปเสียทั้งหมด มิฉะนั้นแล้ว ตาของเรา เราก็เชื่อถืออะไรไม่ได้เลยเหมือนกัน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘