ประวัติและปฏิปทา หลวงพ่อพูล อตฺตรกฺโข

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อพูล อตฺตรกฺโข

วัดไผ่ล้อม
ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
๏ ภูมิหลังชาติกำเนิด

เกจิยอดนิยม
นครปฐมอาคมขลัง
ที่สุดแห่งความดัง
เปี่ยมพลังบารมี
งานเสกไม่เคยพลาด
งานราษฎร์ไปทุกที่
แจกจ่ายให้ “ของดี”
ล้วนมีประสบการณ์
ดังไกลข้ามขอบฟ้า
ฮือฮาเรื่องเล่าขาน
โดดเด่นเห็นผลงาน
ลูกหลานได้ยลยิน
พระแท้ที่โดนใจ
ผู้ให้จนกายสิ้น
แสงทองส่องแผ่นดิน
วิตามินเสริมใจ
ชาตินี้หรือชาติหน้า
ยากหาพระองค์ไหน
ศักดิ์สิทธิ์ติดตรึงใจ
กราบไหว้ไม่รู้ลืม

“พระมงคลสิทธิการ” หรือ “หลวงพ่อพูล อตฺตรกฺโข” มีนามเดิมว่า พูล ปิ่นทอง เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2455 ตรงกับปีชวด ร.ศ.131 เป็นปีที่ 3 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 6 ณ บ้านเลขที่ 75 หมู่ 3 ต.ดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมดรวม 10 คน บิดาชื่อ นายจู ปิ่นทอง มารดาชื่อ นางสำเนียง ปิ่นทอง

โยมบิดา-โยม มารดาได้ช่วยกันเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนให้ ด.ช.พูล ปิ่นทอง เป็นคนดี อยู่ในโอวาท และอยู่ในศีลในธรรม ซึ่งอุปนิสัยของเด็กคนนี้คือ เป็นผู้มีจิตใจเมตตาโอบอ้อมอารี จริงใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อทั้งเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ชอบช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ต้องรอให้ร้องขอ และอุปนิสัยที่เด่นชัดที่สุด คือ เป็นคนเงียบๆ พูดน้อย ด้วยเหตุนี้ทำให้ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า “ต่อไปในภายภาคหน้า หนูน้อยผู้นี้จะเติบใหญ่ภายใต้ร่มกาสาวพัตร์ เป็นสุดยอดอริยสงฆ์ที่ผู้คนกราบไหว้ทั้งแผ่นดิน”


๏ การศึกษาหาความรู้

เมื่อ อายุถึงเกณฑ์ ด.ช.พูล ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดห้วยจระเข้ อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน ด้วยความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร จึงสามารถอ่านออกเขียนได้แตกฉานกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน กระทั่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในปี พ.ศ.2471

แต่ด้วยชาติ ตระกูลที่ถือกำเนิดในครอบครัวชาวสวนผลไม้ ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไรมากมาย กอปรกับมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันถึง 10 คนทำให้ ด.ช.พูล ไม่ได้ศึกษาต่อเพราะต้องออกมาช่วยงานทางบ้าน แต่เพราะเป็นคนสนใจใฝ่รู้ จึงได้ฝึกการอ่านและเขียนอักขระขอม และวิชาแพทย์แผนโบราณจนมีความเชี่ยวชาญ จากปู่แย้ม ปิ่นทอง (ผู้เป็นปู่แท้ๆ) ฆราวาสผู้มีภูมิรู้ในเรื่องไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และการแพทย์แผนโบราณ

จวบจนถึงวัยหนุ่มฉกรรจ์ นายพูลผู้มีอุปนิสัยนิ่งเงียบ ไม่ค่อยพูดค่อยจาและรักสันโดษ มีความชอบวิชาการต่อสู้ตามแบบฉบับลูกผู้ชาย จึงฝึกฝนและศึกษาศิลปะแม่ไม้มวยไทย จนมีความชำนาญและเป็นนักมวยฝีมือดีคนหนึ่ง ว่างจากซ้อมเชิงมวยแล้ว ว่างจากทำไร่ไถนา ก็จะไปหัดเล่นลิเกกับครูจันทร์ คณะแสงทอง แต่ใจไม่รักลิเก ฝึกได้ระยะหนึ่งก็เบื่อ

กระทั่งอายุครบเกณฑ์ทหาร ท่านได้ทำหน้าที่พลเมืองดีของชาติ ด้วยการเข้ารับราชการเป็นทหาร สังกัดทหารม้ารักษาพระองค์ เมื่อปี พ.ศ.2477 (กองบัญชาการเดิมอยู่ที่สะพานมัฆวาน กรุงเทพมหานคร ตรงกับช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7) หลังครบกำหนด 1 ปี 6 เดือนจึงปลดประจำการ โดยได้รับยศเป็นนายสิบตรี มีเงินเดือนขณะนั้นเดือนละ 2 บาท สร้างความภูมิใจให้ท่านเป็นอย่างมาก

หลวงพ่อ พูลมักเล่าประสบการณ์สมัยเป็นทหารให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาฟังอย่างสนุกสนาน ท่านภูมิใจในชีวิตทหาร ให้ช่างวาดภาพแต่งเครื่องแบบเต็มยศไว้เป็นอนุสรณ์ วันนี้ภาพนี้ยังติดอยู่ในกุฏิหลวงพ่อที่วัดไผ่ล้อม “ชีวิตทหารมีแต่เรื่องสนุก หลวงพ่อ...ชอบเล่าให้ศิษย์ฟัง อายุกว่า 90 ปี ท่านก็มีความจำดี เล่ากี่ครั้ง...กี่รอบ...ก็ไม่มีพลาด”


๏ สู่ร่มกาสาวพัตร์

หลัง ปลดจากทหารประจำการแล้ว จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อทดแทนคุณบิดามารดา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2480 ตรงกับขึ้น 12 ค่ำ ปีฉลู ณ พัทธสีมาวัดพระงาม อ.เมือง จ.นครปฐม โดยมีพระครูอุตรการบดี (หลวงปู่สุข ปทุมสุวณฺโณ) เจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม เจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดมณี เจ้าอาวาสวัดพระงาม อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์ปุ่น เจ้าอาวาสวัดลาดปลาเค้า อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อตฺตรกฺโข”

หลัง บวชแล้วพระพูลได้พำนักอยู่ที่วัดพระงาม ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยด้วยความพากเพียร จนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมตรี เมื่อ พ.ศ.2482 ที่วัดพระงามแห่งนี้ ท่านได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์พระเถระชื่อดังหลายรูปด้วยกัน อาทิ หลวงพ่อพร้อม, หลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เป็นต้น

ในระหว่างนี้เอง พระพูลได้ให้ความสนใจการศึกษาด้านการเจริญสมาธิจิต ฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน ควบคู่กับการศึกษาวิชาจากคัมภีร์ต่างๆ อย่างคร่ำเคร่ง โดยฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อพร้อม พระเถระชื่อดังแห่งวัดพระงาม พระเกจิอาจารย์รุ่นสงครามอินโดจีน ผู้ทรงคุณในด้านการสร้างพระปิดตาเนื้อทอง ด้วยพื้นฐานวิชาคาถาอาคมซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากปู่แย้ม ตั้งแต่สมัยเยาว์วัย จึงทำให้ท่านสามารถเจริญพุทธาคมได้รุดหน้าอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน พระพูลได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของ “หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ” แห่งวัดดอนยายหอม ต.ดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม สุดยอดแห่งบูรพาจารย์แห่งแผ่นดินเมืองนครปฐม โดยเฉพาะหลวงพ่อเงินนั้นได้ให้ความเมตตาแก่ท่านเป็นพิเศษ ให้คำแนะนำสั่งสอนเรื่องการเจริญสมาธิภาวนา การเขียนอักขระเลขยันต์ ปลุกเสกวัตถุมงคล และวิชาอาคมต่างๆ อย่างไม่ปิดบังและไม่หวงวิชาแต่อย่างใด

เมื่อได้รับคำแนะนำสั่งสอนจนเกิดความมั่นใจแล้ว หลวงพ่อพูลจึงออกธุดงควัตรไปตามป่าเขาลำเนาไพร มุ่งหน้าไปทางลพบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก แสวงหาความวิเวกอยู่พื้นที่ภาคเหนือ เพื่อลดละกิเลส อานิสงส์การธุดงควัตรทำให้ท่านมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ สมาธิจิตสูง

๏ ด้วยเนื้อนาบุญ

ใน ปี พ.ศ.2486 วัดไผ่ล้อมเกิดขาดเจ้าอาวาสปกครองวัด เนื่องจากเจ้าอาวาสแต่ละรูปไม่อยู่ในศีลในธรรมแห่งเพศบรรพชิต อยู่ปกครองวัดได้ไม่นานก็ต้องลาสิขาไป สร้างความเอือมระอาจนชาวบ้านหมดศรัทธาไม่ใส่บาตรทำบุญ ทำให้วัดไผ่ล้อมกลายเป็นวัดร้าง สมัยนั้นวัดไผ่ล้อมมีสภาพเป็นเพียงวัดเก่ารกร้าง เดิมทีเป็นป่าไผ่ชาวมอญ ที่รัชกาลที่ 4 เกณฑ์เป็นแรงงานบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ ใช้เป็นที่พัก บรรยากาศของวัดร่มรื่นเหมาะแก่สมณปฏิบัติธรรม

กระทั่งผู้นำและชาว บ้านกลุ่มหนึ่งฉุกคิดว่ายังมีพระสงฆ์รูปหนึ่ง มีวัตรปฏิบัติที่หมดจดงดงาม จำพรรษาอยู่ที่วัดพระงาม นามว่า พระพูล อตฺตรกฺโข จึงพากันไปกราบนมัสการพระพูล ให้ย้ายมาประจำพรรษาอยู่ที่วัดไผ่ล้อม เพื่อกอบกู้วัดพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยเข้ารับตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2492

สมัยท่านรักษาการเจ้าอาวาส เห็นว่าวัดไผ่ล้อมยังไม่มีอุโบสถ จึงปรึกษากับพระเถระผู้ใหญ่และญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา ดำเนินการสร้างอุโบสถ โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2490 กระทั่งเสร็จสมบูรณ์เป็นพระอุโบสถหลังแรก ในปี พ.ศ.2492 หลังจากนั้นท่านก็พัฒนาวัดต่อไป บุกเบิกถางป่าไผ่ จนได้สร้างศาลาการเปรียญในปี พ.ศ.2535 จากนั้นวัดไผ่ล้อมมีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าตามลำดับ ด้วยบุญบารมีของหลวงพ่อพูล ทั้งนี้ หลวงพ่อพูลเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในเมตตามหานิยม และด้านการปลุกเสกพระขุนแผน-กุมารทอง จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ

วัดมีโบสถ์มี ศาลาการเปรียญ ไม่ช้าวัดไผ่ล้อมก็ได้โรงเรียนพระปริยัติธรรม ญาติโยมยิ่งหลั่งไหลเข้ามาทำบุญ บำเพ็ญศีลสมาธิ และศึกษาปฏิบัติธรรม ก็ได้ช่วยสร้างเสนาสนะต่างๆ จากกุฏิสองสามหลัง ก็เพิ่มขึ้นมาจนเต็มพื้นที่ จำนวนพระภิกษุสามเณรเข้ามาจำพรรษาก็มากขึ้น

ต้นปี พ.ศ.2539 อุโบสถหลังเก่าเริ่มทรุดโทรมมาก ประกอบกับน้ำก็ท่วมบ่อยๆ จึงได้สร้างอุโบสถเฉลิมพระเกียรติหลังใหม่ ปลายปีก็สร้างศาลากลางน้ำ ศาลากลางน้ำเป็นบ่อน้ำ ญาติโยมใช้กันมาตั้งแต่โบราณ ท่านเลยปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ต่อมาดำเนินการสร้างฌาปนสถานไร้มลพิษ พร้อมศาลาอเนกประสงค์ไว้ใช้ในพิธีต่างๆ ในวัด ซึ่งดำเนินการรุดหน้าไปมาก

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้อุปถัมภ์สร้างโรงเรียนวัดไผ่ล้อม (พูลประชาอุปถัมภ์) เพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับเยาวชนด้วย

ต่อ มาสวนอายุวัฒนมงคล 90 ปี ถูกสร้างขึ้นใช้เป็นที่สำหรับญาติโยมได้พักผ่อนจิตใจ เดินดูต้นไม้ พูดคุยกับต้นไม้ “ต้นไม้ทุกต้น มีธรรมะของพระพุทธเจ้า” หลวงพ่อพูลสอนเป็นปริศนา

นับเป็นบุญของชาวบ้านโดยแท้ เพราะหลังจากหลวงพ่อพูลได้เข้ามาปกครองวัดไผ่ล้อม ท่านก็ให้ความสงเคราะห์ชาวบ้าน ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็เข้าหาท่านได้ทุกคน สร้างความศรัทธาให้ญาติโยมทั้งใกล้และไกล หากใครมีความเดือดเนื้อร้อนใจ พวกเขาจะพากันมากราบขอบารมีหลวงพ่ออยู่เนืองๆ จนท่านกลายเป็นศูนย์รวมแห่งความรักความศรัทธา มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ และต่างกล่าวขวัญถึงหลวงพ่อของเขาว่าเป็นพระอริยสงฆ์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตา


๏ หลวงพ่อคือผู้ให้


วัตรปฏิบัติ อย่างหนึ่งที่ศิษยานุศิษย์ได้สัมผัสหลวงพ่อพูล มากว่าครึ่งศตวรรษ คือท่านเป็นพระสงฆ์ที่ไม่สะสมกิเลส ไม่สนใจชื่อเสียงเงินทอง และลาภยศสรรเสริญ จตุปัจจัยไทย ทานที่สาธุชนได้บริจาคมา ท่านไม่เคยสะสม มีเท่าไหร่ท่านก็นำไปบริจาคสร้างวัตถุสร้างความเจริญไว้แก่วัดไผ่ล้อม จนเกิดความเจริญรุ่งเรือง แลดูสวยงามสบายตา เหมาะสมที่จะเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา นอกจากนี้ยังขจรขจายไปถึงชุมชนรอบๆ วัด ทั้งสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เรียกว่าใครที่มาขอให้ท่านช่วย หลวงพ่อไม่เคยขัด รวมทั้งกิจนิมนต์ต่างๆ ไม่ว่าใกล้-ไกลท่านก็เมตตาไปให้ แม้สุขภาพร่างกายจะไม่ค่อยเอื้ออำนวยนักก็ตาม

คนเขามาให้เราช่วยก็ ต้องช่วยเขาไปมันได้บุญ หลวงพ่อมักพร่ำสอนลูกศิษย์อยู่เนืองๆ แม้วัยและสังขารจะร่วงโรยไปตามกาลเวลา จวบจนอายุ 93 ปี แต่ในฐานะเจ้าอาวาส หลวงพ่อพูลได้ใช้ความรู้ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้กับคณะสงฆ์เป็นอย่างดี ไม่มีขาดตกบกพร่อง ท่านปกครอง ลูกวัดให้อยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ใครมาอยู่กับหลวงพ่อ ห้ามขี้เกียจ ต้องหมั่นสวดมนต์เจริญสมาธิวิปัสสนา ปัดกวาดอาสนะ กุฏิ และพัทธสีมา ให้สะอาดสวยงาม เหตุนี้เองจึงทำให้พุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมาที่วัดไผ่ล้อม

หลวงพ่อ พูลถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเมตตามหานิยม ที่ชาวนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียงนับถือเลื่อมใส เป็นหนึ่งในพระครูสี่ทิศผู้พิทักษ์องค์พระปฐมเจดีย์ ในสมณศักดิ์ “พระครูปุริมานุรักษ์” (ประจำทิศตะวันออก) ร่วมกับ พระครูทักษิณานุกิจ (ประจำทิศใต้) คือ หลวงพ่อเสงี่ยม วัดห้วยจระเข้, พระครูปัจฉิมทิศบริหาร (ประจำทิศตะวันตก) คือ หลวงพ่อชิด วัดม่วงตารส และพระครูอุตรการบดี (ประจำทิศเหนือ) คือ หลวงพ่อศรีสุข วัดปฐมเจดีย์ฯ

จากวัดรกร้าง วัดไผ่ล้อมกลายเป็นวัดพัฒนา เป็นศูนย์กลางของชุมชนมีผู้คนหนาแน่น แต่ปัญหาของชุมชนที่เจริญก็มักมีปัญหายาเสพติดตามมา หมดปัญหาเรื่องเสนาสนะที่เป็นวัตถุ หลวงพ่อพูลก็ต้องรับภาระแก้ปัญหาคน

“ระยะ หลังเงินบริจาคที่หลวงพ่อได้ ส่วนใหญ่ใช้ในเรื่องยาเสพติด บางส่วนท่านช่วยจังหวัดจัดซื้อเครื่องตรวจสอบยาเสพติด เมื่อท่านรู้ว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนมีปัญหาติดยาเสพติด ท่านก็ให้เงินใช้ในการรณรงค์ต้านยาเสพติด ท่านบอกว่ารู้ว่าลูกหลานติดยาแล้ว ท่านก็กลุ้มใจนอนไม่ค่อยหลับ” นี่คือภารกิจล่าสุดของหลวงพ่อพูล ซึ่งเริ่มมีคนเรียกท่านว่า เทพเจ้าแห่งวัดไผ่ล้อม

ด้วยความเป็นศิษย์กตัญญูกตเวทีต่อ บูรพาจารย์ ในวันวิสาขะ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี หลวงพ่อจะจัดพิธีไหว้ครู เพื่อรำลึกพระคุณอาจารย์ทั้งหลาย ในทุกวันพระจะนิมนต์พระสงฆ์ภายในวัดมารับสังฆทาน เพื่ออุทิศกุศลผลบุญให้บรรพชนและครูบาอาจารย์ ตลอดทั้งเจ้ากรรมนายเวร โดยปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นประจำ



๏ ลำดับสมณศักดิ์

เนื่องในวโรกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 12 ส.ค. พ.ศ.2547 พระครูปุริมานุรักษ์ (หลวงพ่อพูล อตฺตรกฺโข) วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระมงคลสิทธิการ” ในฐานะพระสงฆ์ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระศาสนาและประเทศชาติเป็นกรณีพิเศษ สร้างความปลาบปลื้มแก่คณะศิษยานุศิษย์อย่างหาที่สุดมิได้
๏ สังขารนี้ไม่เที่ยง

แม้ อายุขัยเพิ่มมากขึ้น แต่หลวงพ่อพูลไม่เคยว่างเว้นการปฏิบัติศาสนกิจ กลางวันจะฝึกสมาธิ ภาวนาจิต แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง อันเป็นหนทางแห่งการไม่ยึดติดวัตถุจนเกิดกิเลส

เวลาเช้าจรดบ่าย จะแบ่งเวลาให้ญาติโยมที่มาหาได้พูดคุยปรับทุกข์ สนทนาข้อธรรมะ รวมทั้งการรักษาผู้เจ็บป่วยด้วยวิชาแพทย์แผนโบราณ เป็นการสงเคราะห์ผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็น โดยไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะแต่อย่างใด

การที่หลวงพ่อต้อง ตรากตรำทำงานหนัก ทั้งงานราษฎร์ งานหลวง ไม่เคยขาดตกบกพร่อง ไม่ได้มีเวลาพักผ่อน จนสังขารล่วงโรยมีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง เจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยครั้ง ต้องวนเวียนเข้าออกแต่โรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คร่างกายอยู่เป็นนิจ แต่ไม่มีใครได้ยินท่านบ่นว่าเหนื่อยล้าสักคำ นี่คงเป็นพราะผลแห่งการฝึกฝนเจริญสมาธิวิปัสสนากรรมฐานมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ กระทั่งวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2547 หลวงพ่อได้ล้มป่วยลงอีกครั้ง คราวนี้คณะศิษยานุศิษย์ใกล้ชิดนำท่านเข้าตรวจเช็คร่างกาย ณ โรงพยาบาลนครปฐม คณะแพทย์ได้ลงความเห็นว่าท่านควรพักรักษาตัวที่ตึกสงฆ์

จนถึง วันที่ 31 ธันวาคม ในปีเดียวกัน คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้จัดพิธีฉลองสมณศักดิ์พัดยศที่ “พระมงคลสิทธิการ” ถวายหลวงพ่อ ณ วัดไผ่ล้อม ซึ่งขณะนั้นอาการของหลวงพ่อยังไม่ดีขึ้น ศิษยานุศิษย์จึงได้พาไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล โดยได้อยู่ในการดูแลของนายแพทย์วิวัฒน์ สุรางค์ศรีรัฐ และนายแพทย์มิตร รุ่งเรืองวานิช ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าหลวงพ่อมีอาการลิ้นหัวใจรั่ว และน้ำท่วมปอด

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2548 นายไชยา สะสมทรัพย์ ส.ส. จังหวัดนครปฐม และพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ได้ย้ายหลวงพ่อไปรักษาตัวยังโรงบาลสมิติเวช กรุงเทพมหานคร โดยอยู่ในการดูแลของนายแพทย์รังสรรค์ รัตนปราการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ซึ่งขณะนั้นหลวงพ่อก็ยังมีอาการระบบลิ้นหัวใจรั่ว และน้ำท่วมปอด ต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู และทำการฟอกไต เพื่อให้ระบบต่างๆ กลับมาดังเดิม


๏ สัญญาก็คือสัญญา

ตลอด เวลาแห่งการเจ็บไข้ได้ป่วย หลวงพ่อพูลยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เจริญพระพุทธมนต์กำเนิดจิตเป็นสมาธิเพื่อระงับความเจ็บปวด ดังนั้นจึงไม่มีใครเคยได้ยินท่านเอ่ยปากบ่นว่าเจ็บปวดใดๆ เลย แต่เนื่องจากสภาพสังขารที่เกิดชราภาพมากแล้ว อาการจึงไม่ดีขึ้นมีแต่ทรงกับทรุด ตลอดเวลาที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงบาลสมิติเวช หลายต่อหลายครั้งที่อาการของท่านทรุดลงหนัก ขนาดแพทย์ยังกล่าวว่าหมดปัญญารักษาแล้ว แต่เมื่อศิษย์ใกล้ชิดเข้าไปกระซิบที่ข้างหูท่านว่า “หลวงพ่ออย่าลืมสัญญาน่ะ” ท่านจะพยักหน้าเข้าใจ และนิ่งสงบเข้าสู่สมาธิ กำหนดจิตภาวนาจนอาการพ้นขีดอันตรายทุกครั้ง

สัญญาใจที่หลวงพ่อพูล ได้ให้ไว้แก่ลูกศิษย์มีอยู่ 2 ข้อ คือ ข้อแรกคือ ท่านรับปากว่าจะอยู่เป็นประธานพิธีอธิษฐานปลุกเสกพระเครื่อง รุ่นพระขุนแผน-กุมารทอง ที่ทางวัดสร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยมาสร้างเมรุปลอดมลพิษ ที่ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 35 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อพูลต้องการมอบให้กับชาวเมืองนครปฐมที่ท่านรัก เนื่องจากท่านตระหนักเล็งเห็นว่า เวลาวัดไผ่ล้อมมีการจัดงานเผาศพ ฝุ่นและควันได้ฟุ้งกระจายไป สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชาวบ้านใกล้เคียง ท่านจึงมีดำริให้ก่อสร้างเมรุปลอดมลพิษขึ้น แม้ต้องใช้ทุนทรัพย์มหาศาล แต่เพื่อสาธารณประโยชน์หลวง พ่อไม่เคยเสียดาย

สัญญาอีกข้อหนึ่งคือ ท่านรับปากไว้ตั้งแต่ปีก่อนว่าจะอยู่เป็นประธานพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ ที่ทางวัดไผ่ล้อมจัดขึ้นทุกวันวิสาขบูชาเป็นประจำต่อเนื่องนานนับสิบปี ซึ่งพิธีนี้ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากบรรดาพุทธศาสนิกชน ศิลปิน นักร้อง นักแสดงชั้นนำของเมืองไทย เข้าร่วมพิธีอย่างคับคั่ง และในปี พ.ศ.2548 นี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ทุกคนก็ต่างหวังว่าจะได้รับความเมตตาจากหลวงพ่ออีกครั้ง แม้นในใจลึกๆ แล้วจะหวั่นวิตกว่าอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ตาม


๏ ปาฏิหาริย์มีจริง

กว่า 4 เดือนที่หลวงพ่อต้องนอนอยู่บนเตียงคนป่วย โดยไม่มีวี่แววว่าอาการจะดีขึ้น คณะศิษยานุศิษย์ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งจะเกิดปาฏิหาริย์ให้หลวงพ่อหายจาก อาการเจ็บไข้ได้ป่วย แต่รอแล้วรอเล่าทุกคนแทบหมดกำลังใจ

และเมื่อ วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2548 ที่ผ่านมา ก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นจริงๆ เมื่อจู่ๆ อาการหลวงพ่อพูลก็กลับกระเตื้องดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา จนแพทย์ผู้ให้การรักษาเองยังแปลกใจและอนุญาตให้หลวงพ่อพูลออกจากโรงพยาบาล กลับสู่วัดไผ่ล้อม

ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม หลวงพ่อก็ได้ร่วมประกอบพิธีพุทธาภิเษกพระขุนแผน-กุมารทอง ตามที่ได้รับปากไว้ แม้ท่านจะนอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย ซึ่งทางวัดได้จัดสร้างห้องผู้ป่วยไอซียู พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัยไว้ในกุฏิของท่านเป็นการเฉพาะ โดยทางคณะศิษยานุศิษย์ได้โยงสายสิญจน์จากปะรำพิธีที่อยู่กลางแจ้งหน้าอุโบสถ ไปยังกุฎิของหลวงพ่อ และให้ท่านถือไว้จนเสร็จพิธี

ต่อมาเมื่อวัน เสาร์ที่ 21 พฤษภาคม เวลา 6 โมงเช้า ก่อนหน้าพิธีไว้ครูบูรพาจารย์ 1 วัน ปรากฏว่าหลวงพ่อพูลเกิดอาการหน้ามืดและขับถ่ายเป็นมูกเลือด อาการได้ทรุดลงอีกครั้ง จนต้องรีบนำท่านส่งโรงพยาบาลสมิติเวช อย่างกะทันหัน แพทย์ตรวจพบว่าท่านเกิดอาการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร มีเลือดออกในกระเพาะอาหารอย่างมาก และไม่สามารถทำการผ่าตัดได้เพราะร่างกายอ่อนแอ อาจละสังขารในวันเดียวกันนี้

แต่แล้วปาฏิหาริย์ครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นโดยเมื่อช่วงเย็นวันเดียวกัน อาการของหลวงพ่อก็กระเตื้องขึ้นมาอีกครั้ง แม้แต่แพทย์เองก็รู้สึกประหลาดใจว่า ทำไมชายชราอายุร่วมร้อยปีสามารถต่อสู้กับโรคร้ายและความเจ็บปวดทรมานได้ถึง เพียงนี้ ด้านคณะศิษยานุศิษย์ที่ทราบข่าวก็ปลาบปลื้มดีใจเป็นอย่างมาก ที่ยังมีหลวงพ่ออยู่เป็นมิ่งขวัญ และมีกำลังใจที่จะจัดงานใหญ่ให้สำเร็จลุล่วงในวันรุ่งขึ้นตามที่ตั้งใจไว้
๏ จิตสงบสู่สมาธิ

อากาศยามเช้าวัน อาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2548 สดใสไร้เมฆฝน พุทธศาสนิกชนต่างหลั่งไหลมาสู่วัดไผ่ล้อม เพื่อร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันวิสาขบูชา นอกจากนี้ยังถือโอกาสร่วมพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ประจำปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

กระทั่งตกสายแดดกล้า เหล่าศิลปินดารา นักร้อง นักแสดงชื่อก้องฟ้าเมืองไทยกว่า 50 ชีวิต ได้เดินทางมาร่วมพิธีอย่างพร้อมเพียง โดยมีพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม (ในขณะนั้น) ศิษย์เอกของหลวงพ่อพูล เป็นผู้ประกอบพิธีให้ ซึ่งพิธีดำเนินไปอย่างราบรื่นไร้อุปสรรค แม้ฟ้าฝนก็ยังเป็นใจส่งเมฆครึ้มมาปกคลุมบริเวณวัดให้เกิดความร่มเย็น แต่ไร้ซึ่งเมฆฝนสักหยด ขณะเดียวกันที่โรงบาลสมิติเวช หลวงพ่อพูลได้กำหนดจิตเจริญสมาธิภาวนา สวดมนต์อยู่บนเตียงผู้ป่วยอย่างเงียบๆ โดยไม่แสดงอาการเจ็บปวดใดๆ ให้เห็น


๏ วาระสุดท้ายแห่งชีวิต

หลัง เสร็จพิธีช่วงบ่าย คณะศิษยานุศิษย์ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่า หลวงพ่อทรุดหนักมากเกินกว่าที่แพทย์จะเยียวยารักษาได้แล้ว ทุกคนจึงรีบเดินทางไปให้เร็วที่สุดเพื่อให้ทันดูใจเป็นครั้งสุดท้าย และเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ภาพที่ศิษย์ทุกคนได้เห็นคือ ร่างของชายชราวัยเฉียดร้อยที่นอนสงบนิ่งอยู่บนเตียง แม้ร่างกายภายนอกดูผ่ายผอม แต่ใบหน้ากับเอิบอิ่มด้วยบุญญาบารมีฉายแววแจ่มชัด และไม่ปรากฏอาการทุรนทุรายจากความเจ็บป่วยภายในให้เห็นแม้แต่น้อย จิตใจท่านเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว แกร่งเกินกว่าคนวัยนี้จะทำได้

หลวงพ่อ ได้กำหนดจิตเข้าญาณสมาธิตามลำดับชั้น ภายในห้องไอซียูเงียบสงัด ไม่มีใครพูคุยกันเพราะทุกคนต่างตกอูย่ในภวังค์ มีเพียงเสียงดัง ต๊อด...ต๊อด...จากเครื่องวัดสัญญาณชีพ ที่ยังแสดงให้รู้ว่าหลวงพ่อพูลท่านยังมีลมหายใจอยู่ แต่ก็เริ่มเสียงแผ่วเบาลงเรื่อยๆ คล้ายๆ จะบอกว่า ร่างนี้กำลังจะแตกดับไปตามธรรมชาติในเวลาอันใกล้


๏ ถึงเวลาละสังขาร

จนกระทั่ง เวลา 14.55 น. ของวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2548 เสียงเครื่องวัดสัญญาณชีพสงบลง ปลุกศิษย์ทุกคนให้ตื่นจาภวังค์กลับสู่โลกความเป็นจริง เพื่อให้รับรู้ว่าหลวงพ่อพูลได้ละสังขารมรณภาพจากพวกเขาไปอย่างสงบแล้ว ในวันวิสาขบูชา ด้วยโรคกระเพาะอาหารติดเชื้อและเสียเลือดในกระเพาะอาหารอย่างเฉียบพลัน ทิ้งไว้เพียงธรรมคำสั่งสอนและคุณงามความดีที่สั่งสมมาตลอด 93 ปีแห่งอายุขัย พรรษา 68

แม้ตระหนักดีว่าทุกสรรพชีวิต ทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น ย่อมดำรงอยู่ และท้ายสุดต้องดับไป แต่ ณ ห้วงเวลานี้ศิษย์ทุกคนก็ยังไม่หลุดพ้นกิเลสทั้งมวล ต่างก้มลงกราบร่ำไห้แทบเท้าหลวงพ่ออันเป็นที่เคารพรักอย่างไม่อาย ไม่เว้นแม้ แต่แพทย์และพยาบาลก็ร่วมประสานเสียงสะอื้นไห้ดังระงมไปทั่ว เนื่องจากอาลัยรักในตัวหลวงพ่ออย่างสุดซึ้ง เพราะตลอดเวลาที่ท่านรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ท่านได้มีความเมตตากรุณาแก่ทุกคน จนเป็นที่ประจักษ์แก่ใจแล้วว่า นาม พูล อตฺตรกฺโข ศิษย์แห่งตถาคตผู้นี้ ได้เจริญรอยตามแนวทางพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ อย่างหมดจดงดงาม

ตลอดเวลาที่ผ่านมาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต หลวงพ่อได้อุทิศตนแล้วแด่บวรพระพุทธศาสนา ทุ่มเทด้วยแรงกาย แรงใจ แรงสติปัญญา ช่วยเหลือผู้ยากไร้มิเคยขาด ที่สำคัญท่านพ้นวังวนของกิเลสและตัณหาทั้งปวง มุ่งแผ่เมตตาธรรมโดยถ้วนหน้าแก่ทุกชีวิตที่เข้ามาพึ่งใบบุญ โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ สายตาของท่านมองทุกคนด้วยความเท่าเทียม ทุกคนจึงได้รับการปฏิบัติจากหลวงพ่ออย่างดีมาโดยตลอด หลวงพ่อพูลเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดพระธรรมวินัย ด้วยความสมถะท่านจะนิ่ง พูดน้อย จนได้รับสมญา “พระจริงต้องนิ่งใบ้”


๏ พลังศรัทธาหลั่งไหล

คณะ สงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้อัญเชิญศพหลวงพ่อพูล กลับมาตั้งบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาปุริมานุสรณ์ (พูล อตฺตรกฺโข) วัดไผ่ล้อม ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2548 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และหีบทองทึบตั้งหน้าศพพระมงคลสิทธิการหรือหลวงพ่อพูล ก่อนนำร่างของท่านบรรจุใส่โลงทำด้วยไม้สักทองคำ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้บูชา

ขณะที่ศิษยานุศิษย์ทั่ว ประเทศทราบข่าวการมรณภาพของท่านจากสื่อมวลชนทุกแขนง ที่ได้นำเสนอข่าวอย่างพร้อมเพียง มหาชนนับหมื่นหลั่งไหลกันมาที่วัดไผ่ล้อมด้วยอาการเศร้าสลด มองไปมุมไหนก็มีแต่คนร้องไห้ตาแดงก่ำ บางคนถึงกับสะอึกสะอื้นปิ่มว่าจะขาดใจ...สิ่งนี้คงเป็นภาพที่สื่อให้เห็นถึง ความรักที่คนมีต่อหลวงพ่อพูลได้อย่างแจ่มชัด

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘