ธรรมกายคืออะไร

ธรรมกาย คือกายภายในที่มีอยู่ในกายของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่จำกัดว่าจะเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม ล้วนต่างมีธรรมกายอยู่ภายในทั้งสิ้น แต่ภพภูมิที่สามารถเข้าถึง ธรรมกาย ได้นั้น จะต้องเป็นเวไนยสัตว์ที่อยู่ในสุขคติภูมิเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าถึงได้

ซึ่งการจะเข้าถึงธรรมกายได้นั้น จะว่ายากก็ยาก แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่มนุษย์คนหนึ่งจะเข้าถึงได้ เพียงแต่ต้องรู้ ขั้นต้นสองประการคือ หนึ่ง ต้องรู้ว่าธรรมกายนั้นอยู่ที่ไหน และสอง ต้องรู้วิธีที่จะเข้าถึง ให้ได้เสียก่อน ธรรมกายนั้นไม่ได้อยู่ บนท้องฟ้า บรรยาอากาศ หรือภพภูมิวิเศษ ที่ไหน แต่อยู่ภายในของตัวเราเองทุกๆ คน ซึ่งไม่ว่าท่านจะปฏิเสธหรือยอมรับ หรือไม่ก็ตาม ธรรมกาย ซึ่งเป็นของที่มีอยู่แล้ว ในตัวท่าน ก็ยังคงอยู่เป็นเช่นนั้นนั่นเอง เหมือนหัวใจ กระเพาะ ลำไส้ ของท่าน แม้มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (หากมิได้ผ่าท้อง) สิ่งเหล่านั้น ก็มีอยู่แล้ว ธรรมกาย ก็เช่นเดียวกัน เป็นกายที่ละเอียดซ้อนอยู่ในกายเนื้อเป็นชั้นๆไป ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่สามารถเห็นด้วยญาณทัสสนะ เมื่อเข้าถึงธรรมกาย ก็เป็นในทำนองเดียวกัน

สถานที่สถิตของ ธรรมกาย ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ ได้ค้นพบมาอีกครั้งและนำมาเผยแผ่ จนปัจจุบันมีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายทั้งภายในและต่างประเทศ ได้สอนไว้ว่า ธรรมกาย ท่านสถิตอยู่ที่ ศูนย์กลางกายของเรานี่เอง ศูนย์กลางกายคืออะไร หากกล่าวในทางวิทยาศาสตร์ ศูนย์กลางกายก็คือ จุด CG (Center of Gravity จุดศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง) ของร่างกายเรานั่นเอง ซึ่งเป็นจุดที่สมดุล (Balance) ที่สุด หากกล่าวตามทฤษฎีที่หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนไว้ ศูนย์กลางกายก็คือ ฐานที่ตั้งของใจ ฐานที่ 7 ตำแหน่งคือ จุดตัดกลางกายเหนือสะดือ 2 นิ้วมือ (ศึกษาเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ วิธีการปฏิธรรมตามแนววิชชาธรรมกาย มีภาพประกอบ) หากกล่าวด้วยคำบาลีดังที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ ก็คือ "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือที่แปลว่า เส้นทางสายกลางนั่นเอง ซึ่งจริงๆ คำๆนี้ มีความหมายทั้งด้านหยาบและละเอียด ทางหยาบคือการปฏิบัติตน ไม่ให้สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่งจนเกินไป คือ ไม่ใช่ทั้ง อัตตกิลมถานุโยค (การทรมานกาย) หรือ กามสุขัลลิกานุโยค (การใช้ชีวิตเพลิดเพลินอยู่ในกามคุณ 5) ส่วนทางละเอียดก็คือเส้นทางสายกลางอันเป็นทางไปสู่อายตนนิพพานหรือที่อยู่ของธรรมกายนั่นเอง

ดังนั้นการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เป้าหมายก็เพื่อจะได้มาสอนสั่งเวไนยสัตว์ที่มีอินทรีย์แก่กล้าให้เข้าถึง ธรรมกาย เมื่อเข้าถึงธรรมกายได้แล้ว ก็ใช้ญาณของธรรมกายนั้นขจัดกิเลสจนหมดสิ้น จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนพอเข้าถึงธรรมกายแล้วจะเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ธรรมกายเองก็มีหลายระดับตั้งแต่ธรรมกายโคตรภู (กึ่งกลางระหว่างปุถุชนกับพระอริยะเจ้า) ธรรมกายโสดาบัน ธรรมกายสกิทาคามี ธรรมกายอนาคามี และสุดท้ายคือธรรมกายพระอรหันต์ ซึ่งกายที่มีความบริสุทธิ์กว่าก็อยู่ซ้อนในกายที่หยาบกว่า ไปเรื่อยๆ อันมีจำนวนกายมากมายนับไม่ถ้วนและไม่สิ้นสุด ซึ่งตรงกับของคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตาม สติปัฏฐาน 4 คือ การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้าไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด จากกายหนึ่งก็ไปอีกกายหนึ่ง เข้าไปเรื่อยๆ เหมือนการวิ่งผลัดที่ส่งไม้ต่อไปกันเป็นทอดๆ ยิ่งกายที่อยู่ลึกเข้าไปเท่าไร ความละเอียด ความบริสุทธิ์ ความสุข ก็มากขึ้นเท่านั้น

ส่วนเมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว จะใช้ญาณของธรรมกายในการขจัดกิเลสออกไป โดยการทำวิปัสสนา พิจารณาอริยสัจ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 ปฏิจสมุปบาท 12 ส่วนทำอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ เพราะเป็นวิชชาขั้นสูง ซึ่งป่วยการที่จะนำมาพูดคุยหากผู้ฟังยังเข้าไม่ถึงธรรมกาย และประการสำคัญผมเองก็ตอบไม่ได้ด้วย

ส่วนวิธีเข้าถึง จักได้ขยายความในหัวข้อวิธีปฏิบัติต่อไป แต่จะขอกล่าวคร่าวๆ ในที่นี้ว่า การจะเข้าถึงนั้นจะต้องวางใจให้เป็นสมาธิที่ศูนย์กลางกาย จนเห็นนิมิต ชัดเจน กลมใสสว่าง ซึ่งนิมิตนั้นจะเป็นคนละอันกับนิมิตที่เรานึกขึ้นตอนแรก นิมิตนี้จะ กลม ใส สว่าง ทั้งหลับตาลืมตา ยืน เดิน นั่งนอน นิ่งแน่นไม่คลอนแคลนติดที่ศูนย์กลางกาย นิมิตนี้ เรียกว่า ดวงธรรมเบื้องต้น เป็นปากทางสู่พระนิพพานและกายภายใน เรียกว่า "ดวงปฐมมรรค" หน้าที่ของผู้ปฏิบัติไม่ต้องทำอะไรนอกจากหยุดนิ่งอย่างเดียว ดังที่หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนไว้ว่า "หยุด คือ ตัวสำเร็จ" นั่นเอง ไม่ต้องคิด พิจารณาในหมวดธรรมใดๆ ทั้งสิ้น จากนั้นพอถูกส่วนเข้า จิตก็จะดำเนินไปสู่กายภายใน ไปตามลำดับ จาก

1. กายมนุษย์
2. กายมนุษย์ละเอียด
3. กายทิพย์
4. กายทิพย์ละเอียด
5. กายรูปพรหม
6. กายรูปพรหมละเอียด
7. กายอรูปพรหม
8. กายอรูปพรหมละเอียด
9. กายธรรมโคตรภู
10. กายธรรมโคตรภูละเอียด
11. กายธรรมโสดาบัน
12. กายธรรมโสดาบันละเอียด
13. กายธรรมสกิทาคามี
14. กายธรรมสกิทาคามีละเอียด
15. กายธรรมอนาคามี
16. กายธรรมอนาคามีละเอียด
17. กายธรรมอรหัตต์
18. กายธรรมอรหัตต์ละเอียด
รวมทั้งสิ้น 18 กาย นี้เป็นแผนผังของทุกๆ ชีวิต ที่มีอยู่ภายในตัวของทุกๆ คน ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน มีความเชื่ออย่างไร เด็กหรือผู้ใหญ่ หากปฏิบัติถูกต้อง สามารถเข้าถึงได้ทั้งสิ้น ไม่สามารถให้ใครมาช่วยให้เข้าถึงได้ ต้องรู้เห็นด้วยตนเองเท่านั้น ดังคำสรรเสริญพระธรรมคุณที่ว่า เป็น "ปัจจตัง" รู้ได้เฉพาะตน ใครไม่เห็นก็ไม่รู้

โดยกายที่ 1 - 8 ยังเป็นกายที่อยู่ในภพสาม ล้วนยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง) เป็นสังขตธาตุ สังขตธรรม (ธาตุธรรมที่ยังปรุงแต่ง) เป็นเบญจขันธ์ จึงยังไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้ เพราะดวงตาของกายเหล่านั้น ยังไม่ใช่ ธรรมจักษุ จึงยังไม่เห็นสภาพธรรมไปตามความเป็นจริง

ส่วนกายธรรมหรือธรรมกาย ตั้งแต่กายที่ 9 ถึงกายที่ 18 เป็นกายที่หลุดพ้นจากภพสาม เป็น นิจจัง(เที่ยงแท้) สุขัง(เป็นสุข) อัตตา(เป็นตัวตนที่แท้จริง) เป็นอสังขตธาตุ อสังขตธรรม (ธาตุธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง) เป็นธรรมขันธ์ที่มีชีวิตจิตใจ กายท่านประกอบขึ้นด้วย 84,000 ธรรมขันธ์อัดแน่นเป็นก้อนกาย กายท่านจึงเป็นธาตุธรรมที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ใสยิ่งกว่าแก้วยิ่งกว่าเพธร มีความสว่างนับจะประมาณไม่ได้ เป็นกายที่ประกอบไปด้วยญาณและธรรมจักษุ การเจริญวิปัสสนา จึงต้องใช้ธรรมกายในการพิจารณาเท่านั้น การใช้กายอื่นๆ นอกจากนี้ไม่อาจเรียกว่า วิปัสสนาได้ เพราะวิปัสสนาแปลว่าการเห็นแจ้ง เห็นวิเศษ เป็นการเห็นที่ไม่ปกติธรรมดา การใช้กายมนุษย์พิจารณาธรรมจึงไม่ใช่การเห็นวิเศษแต่อย่างใด เพราะเป็นการนึกคิดเอา เป็นแค่การปลงอนิจจัง ให้จิตเกิดการเบื่อหน่ายได้เพียงแค่ระดับหนึ่งหรือชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น กิเลสไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ถูกกดไว้เท่านั้น เมื่อใดที่มีสิ่งไปกระตุ้นกิเลสก็จะฟุ้งขึ้นมาอีกได้

ธรรมกายนั้น ท่านเป็นกายที่งดงาม ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน 32 ประการ พร้อมทั้ง อนุพยัญชนะอีก 80 ประการ อยู่ในอริยาบทนั่งสมาธิบัลลังก์หันหน้าไปทางเดียวกับตัวเราตลอดเวลา ลักษณะเหมือนกายเนื้อพระพุทธเจ้าทุกประการ แต่เป็นกายแก้ว บนจอมกระหม่อมมีเกศเป็นรูปดอกบัวตูม เป็นรัตนะภายในที่มีชีวิต เป็นพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งอันสูงสุดของชาวพุทธ ตรงนี้เป็นข้อสังเกตว่า ทำไมพระพุทธรูปในสมัยโบราณ จึงมีเกศเป็นดอกบัวตูม เพราะความเป็นพระพุทธเจ้านั้นท่านไม่ได้เป็นด้วย กายเนื้อของสิตธัตถะที่บำเพ็ญบารมีอย่างยิ่งยวดตลอดระยะเวลา 6 ปี แต่ความเป็นพระพุทธเจ้า เกิดขึ้นจากการเข้าถึงธรรมกายอรหัตต์นั่นเอง ดังนั้นการปั้นพระพุทธรูปเพื่อแสดงการบูชาพระพุทธเจ้าจึงแสดงด้วยกายของ "ธรรมกาย" ส่วนการที่ต่อมามีการปรับปรุงไปเป็นเกศเปลวเพลิงก็เนื่องจากว่า การเข้าถึงธรรมกายได้สูญหายไปเป็นระยะเวลายาวนาน ปฏิมากรยุคต่อมาเมื่อไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีเกศบัวตูม เมื่อหาคำตอบไม่ได้จึงได้เปลี่ยนไปเป็นเปลวเพลิง ซึ่งมีความหมายถึงความสว่างของฉัพพรรณรังสีหรือพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป

และเมื่อใดที่สามารถเข้าถึงกายธรรมอรหัตต์และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวท่านที่เป็น วิราคธาตุวิราคธรรม (ธาตุธรรมที่ปราศจากราคะ) แล้ว เมื่อนั้น เป็นอันเสร็จกิจทางพุทธศาสนา ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เมื่อละสังขารแล้วธรรมกายจะถูกดูดเข้าไปอยู่ในอายตนนิพพานร่วมกับพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ ที่ได้เข้านิพพานล่วงหน้าไปก่อนแล้วมากมายนับไม่ถ้วน เสวยวิมุติสุข เข้านิโรธ มีความสุขอย่างยิ่ง ดังคำพระว่า "นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง "

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘