หลักฐาน"ธรรมกาย"ทางพุทธศาสนา ( 4 )

จากคัมภีร์ และศิลาจารึก
9. ปฐมสมโพธิกถา ตอนมารพันธปริวรรต ปริเฉทที่ 28 หน้า 509 ความว่า
หลังพุทธปรินิพพานมีพระสาวกองค์หนึ่ง ชื่ออุปคุตต์มหาเถระ เป็นพระอรหันต์ บรรลุอภิญญา 6 มีฤทธานุภาพมาก สามารถปราบพญามารให้ละพยศได้ จนเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย แล้วปรารถนาพุทธภูมิ พระอุปคุตต์มหาเถระ ได้ขอร้องได้ขอร้องให้พญามารเนรมิตพระรูปกายของพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยอัครสาวกซ้ายขวาดังนี้
"ท่านจงได้อนุเคราะห์แก่อาตมา ด้วยสมเด็จพระศาสดา บังเกิดในโลก เสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานเสียแล้ว เราได้เห็นแต่ธรรมกาย บมิได้เห็นซึ่งพระสรีรกาย ท่านจงสงเคราะห์นฤมิตพระรูปกายแห่งพระศาสดาจารย์ พร้อมด้วยอาการทั้งปวงสำแดงแก่เรา ให้เห็นประจักษ์กับทั้งพระอัครสาวกทั้งคู่ให้ปรากฏ…"

ความเห็น : ความนี้แสดงว่า รูปกายนั้นเป็นคนละอย่างกับธรรมกาย รูปกายนั้นเมื่อปรินิพพานแล้วก็จะสลายไปตามกฏของไตรลักษณ์ แต่ธรรมกายเป็นอัตตาที่คงอยู่ในอายตนนิพพานตลอดไป

10. ขุทฺทกนิกาย อปทาน เล่มที่ 32 ข้อ 139 หน้า 443 แปลไว้ใน ขุ.เถร อรรถกถานาคิตเถรคาถา ฉบับมหามกุฏฯ เล่ม 50 หน้า 413 ความว่า
"เรานั่งอยู่ในโรงทานอันกว้างใหญ่ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้เป็นนายกของโลก ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ผู้บรรลุพลธรรม แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ภิกษุสงฆ์ประมาณหนึ่งแสน ผู้บรรลุวิชชา 3 ได้อภิญญา 6 มีฤทธิ์มาก แวดล้อมพระพุทธเจ้า ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส ในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก ไม่มีอะไรเปรียบ ในพระญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ใครได้เห็นพระสัมมาสัมพุทะเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีญาณไม่สิ้นสุดแล้วจะไม่เลื่อมใสเล่า ชนทั้งหลายไม่สามารถเพื่อกำจัดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้ทรงแสดงธรรมกาย และผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระรัตนตรัยอย่างเดียวได้ ใครเล่าเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นแล้วจะไม่เลื่อมใส"

ความเห็น : ความนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าท่านยิ่งใหญ่ด้วยธรรมกาย มีอานุภาพมากก็ด้วยธรรมกาย ไม่ใช่ด้วยรูปกาย และธรรมกายนั่นเองเป็นบ่อเกิดแห่งพระรัตนตรัยแต่เพียงอย่างเดียว หรือเป็นพระรัตนตรัยนั่นเอง โดยตัวธรรมกายเป็น พุทธรัตนะ ดวงธรรมของธรรมกายเป็นธรรมรัตนะ ธรรมกายละเอียดภายในเป็นสังฆรัตนะ และการที่พุทธศาสนาเราสอนให้ยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง หรือที่เรียกว่าไตรสรณคมน์ ก็เพราะว่าธรรมกายนั้นพึ่งได้เพราะ มีอานุภาพ และเป็นนิจจัง สุขัง อัตตา อย่างอื่นพึ่งไม่ได้เพราะล้วนยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา "คมน์ " หรือ "คมน" แปลว่าแล่นไป เข้าไป เข้าถึง ดังนั้น จะเข้าพึ่งพระรัตนตรัยได้ ก็ต้องเข้าถึงธรรมกาย เพราะธรรมกายคือพระรัตนตรัย แม้แค่ระดับธรรมกายโคตรภู (ยังไม่เป็นพระอริยะ) ก็ตาม

11. คัมภีร์ ศรีมาลาเทวี สีหนาถสูตร ความว่า
" บุคคลใดไม่มีความสงสัยว่า ตถาคตเจ้าได้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว และธรรมกายนั้น ย่อมไม่มีการเกิด ไม่มีการแก่ ไม่มีการเจ็บ ไม่มีการตาย คงที่แน่นอน สงบตลอดกาล บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ปราศจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ถึงพร้อมด้วยพุทธคุณทั้งปวง จะนับจะประมาณมิได้ ประหนึ่งเม็ดทรายในท้องพระแม่คงคาฉะนั้น สมบูรณ์ไปด้วยวิมุติญาณทัสสนะ แต่ไม่ปรากฏต่อสายตาของคนทั้งปวง "ธรรมกาย" ของตถาคตเจ้า เมื่อยังไม่พ้นจากกิเลส ย่อมถูกกล่าวถึงในนามของตถาคตครรภะ

ธรรมกายนั้นย่อมเที่ยงแท้แน่นอนที่สุด เป็นสุขล้วนๆ เป็นตัวตนคือ เป็นอัตตาที่แท้จริง บริสุทธิ์ที่สุด ผู้ใดได้เห็นธรรมกายของตถาคตในลักษณะนี้แล้ว ย่อมถือว่าเห็นถูก"

ความเห็น : จากหลักฐานนี้แสดงว่า ความเข้าใจเรื่องธรรมกาย คนในสมัยโบราณต่างก็มีความรู้เรื่องธรรมกายเป็นอย่างดี ขาดแต่ความรู้ในวิธีการเข้าถึงเท่านั้นที่สูญหายไป จากหลักฐานนี้ก็แสดงว่า ธรรมกายนั้นเป็นนิจจัง สุขัง อัตตา เป็นบ่อเกิดของพุทธคุณทั้งปวง มีความบริสุทธิ์ล้วนๆ มีจำนวนพระธรรมกายที่ปรากฏอยู่มากมายจะนับจะประมาณมิได้ในอายตนนิพพาน ธรรมกายเป็นกายในอีกภาวะหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถแลเห็นด้วยตาเปล่าได้ สามารถเข้าถึงได้ และแม้เข้าถึงเข้าก็มิใช่ว่าจะหมดสิ้นอาสวกิเลสในทุกคน หากคนใดที่เข้าถึงได้ (กายธรรมโคตรภู กายธรรมโสดา กายธรรมสกิทาคา กายธรรมอนาคามี) ซึ่งยังไม่หมดกิเลส ก็จะเรียกว่า เป็นตถาคตครรภะ หรือหน่อเนื้อของพระพุทธเจ้า ซึ่งยังไม่ได้เป็นพุทธะ(ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) แต่กำลังเจริญเติบโตเป็นพุทธะในอนาคต ผู้ใดเข้าถึงธรรมกายได้ จึงจะกล่าวได้ว่า เห็นถูก รู้ถูก ตามพระพุทธศาสนา

12. ศิลาจารึก ปราสาทพระขรรค์ (จารึกเป็นภาษาสันสกฤต) แปลได้ความว่า
" พระผู้มีพระภาคประกอบด้วย พระธรรมกาย อันพระองค์ยังให้เกิดขึ้นแล้วอย่างเลิศ ด้วยการสั่งสม (บุญบารมี) ทั้งสัมโภคกาย และนิรมานกาย"

ความเห็น : แม้จารึกนี้จะบ่งบอกว่า เป็นหลักศาสนาพุทธมหายาน แต่ก็เป็นหลักฐานอีกชิ้นที่แสดงว่า การเข้าถึงธรรมกายนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย ผู้ที่สั่งสมบุญบารมีมามากพอเท่านั้น จึงจักบรรลุ และรู้เห็นได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘