หลักฐาน"ธรรมกาย"ทางพุทธศาสนา ( 2 )

จากคัมภีร์ และศิลาจารึก
1. คัมภีร์ขุทฺทกนิกาย อุทาน ปรมตฺถโชติกา มงฺคลสุตฺตวณฺณนา ฉบับมหาจุฬาฯ หน้า 95 กล่าวว่า
"ทรงหักราคะ หักโทสะ หักโมหะ ไม่มีอาวะ ทรงหักบาปธรรมได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า ภควา
ก็แล ความถึงพร้อมแห่งพระรูปกายของพระองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระบุญลักษณะนับร้อย เป็นอันท่านแสดงด้วยความที่ทรงมีภาคยะคือบุญ ความถึงพร้อมแห่ง พระธรรมกาย เป็นอันท่านแสดงด้วยความที่ทรงหักโทสะได้แล้ว"

ความเห็น : ความนี้แสดงว่า การเป็นพระพุทธเจ้าจะต้องถึงพร้อมทั้งรูปกายอันมี ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการและอนุพยัญชนะอีก 80 ประการ และต้องเข้าถึงธรรมกาย อันเป็นธรรมขันธ์ ซ้อนอยู่ภายใน กายเบญจขันธ์(รูปกาย) ซึ่งเป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรมด้วย จึงจะทำลายกิเลสอาสวะได้ และเป็นพระพุทธเจ้าที่สมบูรณ์

2. คัมภีร์ ขุท์ทกนิกาย อิติวุตฺตกะ อรรถกถา ปรมตฺถทีปนี อคฺคปฺปสาทสุตฺตวณฺณนา ฉบับมหาจุฬาฯ หน้า 320-321 ความว่า
"แม้โดยความหมายว่า ไม่มีผู้เสมอเหมือน เพราะพระสัมมาพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เอง เป็นผู้เสมอโดยพระคุณทางรูปกาย และพระคุณทางธรรมกายกับพระสัมมาพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ผู้ไม่เสมอเหมือนกับสรรพสัตว์"

ความเห็น : ความนี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าผู้มีคุณที่ไม่อาจมีใครเสมอเหมือนได้ ประกอบด้วยคุณสองประการคือ พระคุณทางรูปกายและพระคุณทางธรรมกาย และพระคุณทั้งสองประการนี้เสมอกับพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ในอดีต กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ล้วนเข้าถึงธรรมกาย และมีรูปกายเหมือนๆกัน

3. ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ฉบับบาลี ปี 2525 หน้า 92 ความว่า
"ดูก่อน วาเสฐะ อันว่า คำว่า ธรรมกาย ก็ดี พรหมกาย ก็ดี ธรรมภูติ ผู้ที่เป็นธรรมก็ดี หรือ พรหมภูตะ ผู้ที่เป็นพรหมก็ดี นี่แหละเป็นชื่อของเราตถาคต"

ความเห็น : คำว่า ธรรมกาย คือชื่อของพระพุทธเจ้า ดังคาถาที่ว่ามานี้ ดังนั้น เราไม่ควรเอาคำว่า ธรรมกาย ไปพูดในทาง ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือล้อเล่น ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม

4. คัมภีร์ ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตก อรรถกถาปรมตฺถทีปนี สงฺฆาฏิกณฺณสุตฺตวณฺณนา ฉบับมหาจุฬา หน้า 334 ความว่า "ภิกษุนั้น เมื่อไม่บำเพ็ญปฏิปทาที่เรากล่าวแล้วให้สมบูรณ์ ก็ชื่อว่า เป็นผู้อยู่ไกลเราตถาคตทีเดียว เราตถาคตก็ชื่อว่า อยู่ไกลเธอเหมือนกัน ด้วยคำนี้พระองค์ทรงแสดงว่า การเห็นพระตถาคตเจ้า ด้วยมังสจักษุก็ดี การอยู่รวมกันทางรูปกายก็ดี ไม่ใช่เหตุ(ของการอยู่ใกล้) แต่การเห็นด้วยญาณจักษุเท่านั้น และการอยู่รวมกันด้วยธรรมกายต่างหาก เป็นประมาณ ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมก็ไม่เห็นเราตถาคต

ในคำว่า ธมฺมํ น ปสฺสติ นั้น มีอธิบายว่า โลกุตรธรรม 9 อย่างชื่อว่าธรรม ก็เธอไม่อาจจะเห็นโลกุตรธรรมนั้นได้ ด้วยจิตที่ถูกอภิชฌา เป็นต้นประทุษร้าย เพราะไม่เห็นธรรมนั้น เธอจึงชื่อว่า ไม่เห็น ธรรมกาย สมจริงตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนวักกลิ เธอจะมีประโยชน์อะไร ด้วยกายอันเน่าเปื่อยนี้ที่เธอได้เห็นแล้ว ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นก็เห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นก็เห็นธรรม ดังนี้ และว่าตถาคตเป็นธรรมภูต เราตถาคตเป็นพรหมภูตดังนี้ และว่าเป็น ธรรมกาย บ้าง เป็นพรหมกายบ้าง ดังนี้เป็นต้น "

ความเห็น : ความนี้แสดงว่า มังสจักษุหรือตาเนื้อ ไม่สามารถเห็นธรรมกายได้ และการที่จะเห็นธรรมกายได้นั้น ก็ต้องเห็นด้วยญาณจักษุเท่านั้น และการที่กล่าวว่าผู้ใดไม่เห็นธรรมย่อมไม่เห็นตถาคต แสดงว่า "ธรรม" ในที่นี้ หมายถึง ธรรมกาย นั่นเอง และท่านยังเรียกธรรมกายภายในตัวของทุกๆคนว่าเราตถาคต แสดงว่า ธรรมกายนั้น นอกจากจะเป็นชื่อของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นตัวตนของพระพุทธเจ้าอีกด้วย ซึ่งตรงนี้จะตรงกับหลักคำสอนของศาสนาเซ็นที่ว่า ทุกๆ ชีวิตมีความเป็นพุทธะ อยู่ภายใน ที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่ง "พุทธะ" ในความหมายของเซ็น แท้จริงก็คือ "ธรรมกาย" นั่นเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘