ประวัติและปฏิปทา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ( 2 )

ลุปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ ปี ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าให้สร้างพระตำหนักใหม่ในวัดมหาธาตุ เพราะทูลกระหม่อมฝ้าพระองค์ใหญ่จะทรงพระผนวชเป็นสามเณร ครั้นทรงพระผนวชแล้วก็เสด็จมาประทับอยู่ พระมหาโตก็ได้เข้าเป็นพระพี่เลี้ยงและได้เป็นครูสอนอักขระขอม ตลอดจนถึงคัมภีร์มูลกัจจายน์ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชมีกิจ พระมหาโตก็ได้อธิบายขยายความแทน เป็นเหตุให้ทรงสนิทคุ้นเคยกันแต่นั้นมา

ครั้น ทูลกระหม่อมเณรทรงลาสิกขานิวัติกลับพระราชวังแล้ว ก็ทรงทำสักการะแก่พระมหาโตยิ่งขึ้น พระมหาโตเลยกว้างขวางยิ่งใหญ่ รู้จักคุณท้าวคุณนางฝ่ายใน ทั้งจ้าวนายฝ่ายนอกมากมาย บ้านขุนนางก็แยะ เมื่อมีงานต้องนิมนต์พระมหาโตมิได้ขาด

จุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศก วันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำทูลกระหม่อมองค์ใหญ่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เสด็จขึ้นไปประทับวัดถมอราย (เปลี่ยนเป็นวัดราชาธิวาส) ภายหลังเสด็จกลับมาประทับ ณ ตำหนักเดิมวัดมหาธาตุ พระมหาโตก็ได้เป็นผู้บอกธรรมวินัยและพระปริยัติธรรมอีก เป็นเหตุให้ทรงคุ้นเคยกันมากขึ้นเพราะมีอัธยาศัยตรงกัน

ในศกนี้ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต ในวันพฤหัสบดีเดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ เสด็จขึ้นเถลิงราชย์ได้ ๑๔ ปี ๑๐ เดือน ศิริพระชนมายุได้ ๕๖ พระพรรษา

ปีนี้พระมหาโตอายุได้ ๔๙ พรรษา ๒๘ พระชนมายุทูลกระหม่อมได้ ๒๑ พระพรรษา

พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงราชย์เปลี่ยนเป็นรัชกาลที่ ๓ ในปีนั้น วันนั้น

ลุ จุลศักราช ๑๑๘๘ ปีจอ อัฐศก สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้เผดียง ทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ ให้ทรงแปลพระปริยัติธรรม ๓ วัน ก็ทรงแปลได้หมด แล้วให้พระมหาโตแปลแก้รำคาญหูเสียบ้าง ท่านเข้าแปลถวาย วันหนึ่งแปลไปได้สักลานกว่า ผู้กำกับการสอบถือพัดยศเข้ามา ท่านก็เลยม้วนหนังสือ ถวายกราบลามาข้างนอกพระราชวัง ใครถามว่า "ได้แล้วหรือขอรับ คุณมหา" ท่านรับคำว่า "ได้แล้วจ้ะ"

ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ ทูลกระหม่อมองค์ใหญ่ไม่สำราญพระหฤทัยในวัดมหาธาตุ จึงทรงกลับมาประทับ ณ พระตำหนักเดิม วัดถมอราย

ใน ศกนี้ พระมหาโตมีอายุ ๕๔ ปี พรรษา ๓๒ ยังรอรักอยู่วัดมหาธาตุ มีผู้บอกข่าวว่าโยมผู้หญิงอยู่ทางเหนือป่วยหนัก ท่านขี่เรือเสาขึ้นไป พร้อมนำเรือสีไปด้วย เพื่อจะพายอวดโยมของท่าน แต่โยมก็ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน ท่านก็ทำฌาปนกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงแบ่งทรัพย์มรดกของโยมแก่บรรดาญาติและหลานๆ ทั่วกัน แล้วที่ยังเหลือเป็นเงินทองก็นำมาถึงอำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง ณ ที่วัดขุนอินทร์ประมูล ท่านก็เอาทรัพย์นั้นออกสร้างพระนอนไว้ มีลักษณะงดงามองค์หนึ่งยาวมาก สร้างอยู่หลายปีจึงสำเร็จ ต่อนั้นท่านก็เป็นพระสงบ มีจิตแน่วแน่ต่อญาณคติ มีวิถีจิตแน่วแน่ไปในโลกกุตรภูมิ ไม่ฟุ้งซ่านโอ่อ่า เจียมตัวเจียมตน เทศน์ได้ปัจจัยมาสร้างพระนอนนั้นจนหมด ท่านทำซอมซ่อเงียบๆ สงบปากเสียงมา ๒๕ ปี ตลอดรัชสมัยของแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้นถึงปี กุน ยังเป็นโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ ปี วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า เวลาค่ำ ๘ ทุ่ม ๕ บาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคต ศิริพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา กับ ๑๑ วัน ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี ๗ เดือน ๒๓ วัน พระมหาโต อายุได้ ๖๔ ปี ๔๒ พรรษา พวกข้าราชการได้ทูลอัญเชิญเสด็จทูลกระหม่อม พระราชาคณะ วัดบวรนิเวศน์วรวิหาร ให้เสด็จนิวัติออกเถลิงราชย์ พระมหาโตเลยออกธุดงค์หนีหายไปหลายเดือน ครั้นทรงระลึกได้ จึงรับสั่งให้หาตัวมหาโตก็ไม่พบ ทรงกริ้วสังฆการี รับสั่งว่า "ท่านเหาะก็ไม่ได้ ดำดินก็ไม่ได้ แหกกำแพงจักรวาลหนีก็ยังไปไม่ได้" จึงรับสั่งพระญาณโพธิออกติดตามก็ไม่พบ รับสั่งว่า "ฉันจะตามเอง"

ครั้น ถึงเดือนเจ็ดปีนั้น มีกระแสร์รับสั่งถึงเจ้าเมือง ฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือ ตะวันตก ตะวันออก ทั่วพระราชอาณาจักร จับพระมหาโตส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ ให้เจ้าคณะเหนือ กลาง ใต้ ตก ออก ออกค้นหามหาโต เลยสนุกกันใหญ่ ทั้งฝ่ายพุทธจักร อาณาจักร แม้จะมีท้องตรารับสั่งเร่งรัดอย่างไรก็ยังเงียบอยู่ เจ้าเมือง เจ้าหมู่ฝ่ายพระร่วมใจกันจับพระอาคันตุกะทุกองค์ส่งยังศาลากลาง คราวนี้พระมหาโตลองวิชาเปลี่ยนหน้า ทำให้คนรู้จักกลับจำไม่ได้ เห็นเป็นพระองค์อื่น ปล่อยท่านไปก็มี (อาคมชนิดนี้ พระอาจารย์เจ้าเรียกว่า นารายณ์แปลงรูป)

ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่า นายด่าน นายตำบล เจ้าเมือง กรรมการ จับพระไปอดเช้าบ้าง เพลบ้าง ตากแดดตากฝน ได้รับความลำบาก ทำทุกข์ทำยากแก่พระสงฆ์คงไม่ดีแน่ จึงแสดงตนให้กำนันบ้านไผ่รู้จัก จึงส่งตัวมายังศาลากลาง เจ้าเมืองมีใบบอกมายังกระทรวงธรรมการ๐ บอกส่งไปวัดโพธิเชตุพนฯ พระญาณโพธิขึ้นไปดูตัวก็จำได้ แล้วคุมตัวลงมาเฝ้า ณ พระที่นั่งอมรินทรท่ามกลางขุนนางข้าราชการ ครั้นเห็นพระญาณโพธินำพระมหาโตเข้าเฝ้า จึงมีพระดำรัสว่า "เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดิน ท่านต้องช่วยฉันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน" แล้วมีพระบรมราชโองการให้กรมสังฆการี วางฎีกา ตั้งพระราชาคณะตามธรรมเนียม

พระ มหาโตก็เข้าไปตามฎีกานิมนต์ จึงทรงถวายสัญญาบัตรตาลิปัตแฉกหักทองขวาง ด้ามงา เป็นพระราชาคณะ ที่พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มีฐานานุกรม ๓ องค์ มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๑ บาท ทั้งค่าข้าวสาร เมื่อออกจากพระบรมราชวังแล้ว ท่านแบกพัดไปเอง ถึงบางขุนพรหมและบางลำภู บอกลาพวกสัปปุรุษที่เคยนับถือ มีเสมียนตราด้วง และพระยาโหราธิบดีเก่า และผู้อื่นอีกมาก แล้วท่านก็กลับมาวัดมหาธาตุ ลาพระสงฆ์ทั้งปวง ลงเรือกราบสีที่ได้รับพระราชทานมาแต่พระพุทธเลิศหล้า ข้ามไปกับเด็กช้างผู้เป็นหลาน ท่านถือบาตร ผ้าไตรและบริขาร ไปบอกพระวัดระฆังว่า "จ้าวชีวิต ทรงตั้งฉันเป็นพระธรรมกิตติ มาเฝ้าวัดระฆังนี่จ้ะ" ท่านแบกตาละปัตพัดแฉก สพายถุงย่ามสัญญาบัตร ไปเก้ๆ กังๆ พะรุงพะรัง

พวกพระนึกขบขัน จะช่วยท่านถือ เจ้าคุณธรรมกิตติก็ไม่ยอม พระเลยสนุกตามมุงดูกันแน่น แห่กันเป็นพรวนเข้าไปแน่นในโบสถ์ บางองค์ก็จัดโน่นทำนี้ ต้มน้ำบ้าง ตักน้ำถวายบ้าง ตะบันหมากบ้าง กิตติศัพท์เกรียวกราวตลอดกรุง คนนั้นมาเยี่ยม คนนั้นก็มาดู เลื่อมใสในจรรยาบ้าง เลื่อมในในยศศักดิ์บ้าง ท่านทำขบขันมาก ดูสนุกเป็นมหรสพโรงใหญ่ทีเดียว บางคนชอบหวยก็เอาไปแทงหวย ขลังเข้าทุกๆ วัน คนก็ยิ่งเอาไปแทงหวยถูกกันมากรายยิ่งขึ้น เลยไม่ขาดคนไปมาหาสู่ บางคนก็ว่าท่านบ้า บางคนก็ตอบว่า "เมื่อขรัวโตบ้า พากันนิยม ชมว่าขรัวโตเป็นคนดี ยามนี้ขรัวโตเป็นคนดี พูดกันบ่นอู้อี้ว่าขรัวโตบ้า" บางวันเขานิมนต์ไปเทศน์ เมื่อจบท่านบอกว่า "เอวํ พังกุ้ย" บ้าง บางวันก็บอกว่า "เอวํ กังสือ" บางวันก็บอกว่า "เอวํ หุนหัน" เล่ากันต่อๆ มาว่า ท่านเทศน์ไม่เว้นแต่ละวัน

ครั้งหนึ่ง ที่วังเจ้าฟ้ามหามาลา กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ มีเทศน์ ไตรมาส ๓ วันยก พระพิมลธรรม (อ้น) ถวายเทศน์ พระธรรมกิตติเป็นผู้รับสัพพี พระพิมลธรรมถวายเทศน์เรื่องปฐมสมโพธิ ปริเฉทลักขณะปริวัตร ความว่า "กาลเทวินทร์ดาบสร้องไห้ เสียใจว่า ตนจะตายไปก่อน ไม่ทันเห็นพระสิทธาตถ์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซ้ำจะต้องเกิดในอสัญญีภพเสียอีก เพราะผลของอรูปสมาบัติเนวะสัญญานาสัญญายะตะนะฌานในปัจจุบันชาติ"

วันที่ ๓ ก็มาถวายอีก พระธรรมกิตติ (โต) ก็ไปรับสัพพีอีก เจ้าฟ้ามหามาลาฯ ทรงรับสั่งถามพระพิมลธรรมว่า "พระคุณเจ้า ฌานโลกีย์นี้ได้ยินว่าเสื่อมได้มิใช่หรือ" พระพิมลธรรมรับว่า "ถวายพระพร เสื่อมได้" ทรงรับสั่งรุกอีกว่า "เสื่อมก็ได้ ทำไมกาลเทวินทร์ไม่ทำให้เสื่อมเสียก่อน บำเพ็ญแต่กามาวจรฌาน ถึงตายก่อนสิทธาตถ์ ก็พอไปเกิดอยู่ในรูปพรหม หรือ ฉกามาพจรชั้นหนึ่งชั้นใด ก็พอจะได้ เหตุใดไม่ทำญาณของตนให้เสื่อม ต้องมานั่งร้องไห้เสียน้ำตาอยู่ทำไม" คราวนี้พระพิมลธรรมอั้นตู้ ไม่สามารถแก้ไขออกให้แจ้งได้ ส่วนพระธรรมกิตติ (โต) เป็นพระรับสัพพี เห็นพระพิมลธรรมเฉย ไม่เฉลยข้อปัญหานั้น จึงออกเสียงเรอดัง "เออ" แล้วบ่นว่า "เราหนอช่างกระไร วัดระฆังอยู่ใกล้ๆ ตรงวังข้ามฟาก เหตุใดไม่ข้ามฟาก ต้องมาฝืนร่างกายทนลำบากจนดึกดื่น ๒ วัน ๓ คืน ดังนี้" แล้วท่านก็นั่งนิ่ง

สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ ก็ทรงจุดเทียน พระพิมลธรรมก็ขึ้นถวายเทศน์จบ ลงจากธรรมาสน์แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ ก็ประเคนเครื่องไทยธรรม พระพิมลธรรมยะถา พระธรรมกิตติรับสัพพี พระพิมลธรรม ถวายพระพรลา เมื่อถึงกำหนดเทศน์อีก พระธรรมกิตติก็ได้รับฎีกาอันเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ นิมนต์เทศน์ต่อจากพระพิมลธรรม ท่านเต็มใจรับและบอกมหาดเล็กให้ไปกราบทูลให้ทรงทราบ

ครั้นวัน ๗ ค่ำ เวลา ๓ ทุ่ม พระธรรมกิตติก็ไปถึงท้องพระโรง สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ เสด็จออก ทรงเคารพปราศรัย แล้วจุดเทียน พระธรรมกิตติขึ้นธรรมาสน์ถวายศีล ถวายศักราช ถวายพระพร แล้วจึงเดินคาถาที่ผูกขึ้นว่า

ววิมลธมฺมสฺส ฯลฯ กสฺมาโส วิโสจตีติ

อธิบาย ความว่า "มหาบพิตรเจ้า มีพระปุจฉา แก่เจ้าคุณพระพิมลธรรมว่า เหตุไฉน กาลเทวินทร์จึงร้องไห้ ควรทำฌานของตนให้เสื่อม ดีกว่านั่งร้องไห้" ดังนี้ ข้อนี้อาตมาภาพ ผู้มีสติปัญญาทราม หากได้รับพระอภัยโทษ โปรดอนุญาตให้แสดง ต่อข้อปุจฉา อาตมาจำต้องแก้ต่างเจ้าคุณพระพิมลธรรม ดังมีข้อความตามพระบาลีที่มีมาในพระปุคคลบัญญัติ มีอรรถกถาฎีกา แก้ไว้พร้อมตามพระคัมภีร์ว่า

กุปฺธมฺโม อกุปฺปธมฺโม

ท่าน แสดงตามคัมภีร์เสียพักหนึ่ง ว่าด้วยฌานโลกีย์เสื่อมได้ในคนที่ควรเสื่อม ไม่เสื่อมได้ในคนที่ไม่ควรเสื่อม ฌานก็เสื่อมไม่ได้ตามบาฬี แล้วอธิบายซ้ำว่า ธรรมดา ฌานโลกีย์เสื่อมได้เร็วก็จริงอยู่ แต่บุคคลผู้เป็นเจ้าของฌานมีความกระหายต่อเหตุการณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจเป็นของใหม่ ของเก่าก็ยังอาลัย สละทอดทิ้งเสียไม่ได้ เพราะเคยเสวยสุขคุ้นเคยกันมานาน ของเก่าคือฌานที่ตนอาศัยสงบอารมณ์ ก็เห็นมีคุณดีอยู่ ของใหม่ตามข่าวบอกเล่ากันต่อมา และคนที่ควรเชื่อได้

ชี้แจง อย่างถี่ถ้วนว่าของใหม่ดีอย่างนั้นๆ แต่อาลัยของเก่าก็มาก จึงทิ้งไม่ได้ ทำไปไม่ได้ จะยึดสองฝ่ายก็ไม่ได้ เพราะของใหม่ไม่คุ้นกัน ไม่เคยเห็นใจกัน ผะอืดผะอมมาก เสียดายของรักก็มี เสียดายของใหม่ คือรู้แน่ว่าพระสิทธาตถ์จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าก็มี แต่แกเสียใจว่าจะตายไปเสียก่อน และเห็นว่าพรหมโลกอยู่ในเงื้อมมือแน่นอน แต่คุณของการพบพระพุทธเจ้านั้นจะทำประโยชน์สุขสมบัติอะไร กาลเทวินทร์ยังไม่รู้ จึงไม่อาจทำฌานให้เสื่อม ทั้งเป็นบุคคลที่เป็นอุปธรรม ยังไม่เป็นคนที่ควรเสื่อมจากคุณธรรมที่ตนได้ ตนถึงด้วย เปรียบเสมือนคนที่ป่วยไข้อยู่ จะกระทำกระปรี้กระเปร่าแข็งแรงคึกคัก กินข้าว กินน้ำอร่อยอย่างคนธรรมดาดีดีนั้นไม่ได้ คนที่ดีดี ผิวพรรณผุดผ่อง จะมารยาทำป่วยไข้ จะนั่งห่มผ้าคลุมกรอมซอมซ่อ พูดกระร่อกระแร่เป็นคนไข้ก็ทำไม่ได้ ทำให้คนอื่นแลเห็นรู้แน่ว่า

คน ที่ทำเป็นไข้นั้น เป็นไข้มารยา ไข้ไม่จริง คนในเห็นคนนอกเป็นสุขสบาย ก็ออกมาเป็นคนนอกไม่ได้ เหตาลัยความคุ้นเคยข้างในอยู่มาก คนนอกเห็นคนในนวยนาฏน้ำนวลผ่องใสด้วยผ้านุ่งห่ม แต่ไม่อาจเป็นคนในกับเขา เพราะเป็นห่วงอาลัยของข้างนอก จะไปเที่ยวชั่วคราวนั้นได้ แต่จะไปอยู่ทีเดียวนั้นไม่ได้ เพราะไม่ไว้วางใจว่าเหตุการณ์ข้างใน จะดีหรือเลวยังไม่แน่ใจ แต่เป็นกระหายอยู่เท่านั้น คนที่มีความสุขสบายอยู่ด้วยเพศบวชมาช้านาน แต่แลเห็นคนที่ไม่บวชเที่ยวเตร่ กินนอน ดู ฟัง เล่นหัวสบาย ไม่มีเครื่องขีดคั่นอะไร บางคราวชาววัดบางคนเห็นดี แต่ไม่อาจออกไป เพราะถ้าออกไปไม่เหมือนเช่นเขา หรือเลวทรามกว่าเขา จะทุกข์ตรมระบมทวีมาก จะเดือดร้อนยิ่งใหญ่มาก ก็เป็นแต่นึกสนุกไม่ออกไปทำอย่างเขา เพราะอาลัยความสุขในการบวชค้ำใจอยู่ ออกไปไม่ได้ เป็นแต่ทำเอะอะฮึดฮัดไปตามเพลง

คนที่ยังไม่เคยบวชนั้น เห็นว่าผู้บวชสบายไม่ต้องกังวลอะไร กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็เที่ยวตามสบาย ไม่ต้องเหงื่อไหลไคลย้อย ไม่ต้องแสวงหาอาหาร มีคนเลี้ยงคนเชิญน่าสบาย คนที่ไม่บวชคิดเห็นดีไปเพ้อๆ เท่านั้น เลยนั่งดูกันไปดูกันมา เพราะยังไม่ถึงคราวจะบวช หรือยังไม่ถึงคราวจะสึก ก็ยังสึกและยังบวชไม่ได้นั่นเอง ข้ออุปมาทั้งหลายดังถวายวิสัชนามานี้ ก็มีอุปมัยเปรียบเทียบด้วยฌานทั้ง ๙ ประการ ที่เป็นธรรมเสื่อมได้เร็วก็จริง แต่ยังไม่ถึงคราวเสื่อม ก็ยังเสื่อมไม่ได้ กาลเทวินทร์ดาบสก็เปรียบดังชาววัด ชาวบ้าน ชาวนอก ชาวใน ต่างเห็นของกันและกัน ไม่อาจแสร้งให้ฌานเสื่อม

ที่ตรงแกร้องไห้ นั้น อาตมาภาพเข้าใจว่า แกร้องไห้เสียดายขันธ์ เพราะแกกล่าวโดยอันยังไม่รู้เท่าทันขันธ์ ว่ามันเป็นสภาพแปรปรวน แตกดังเป็นธรรมดาของมันเอง แต่เวลานั้น โลกยึดถือขันธ์มาช้านาน ที่กาลเทวินทร์เจริญอรูปฌานจนสำเร็จ ก็เพราะคิดรักษาขันธ์ เพื่อมิให้ขันธ์พลันแตกสลายทำลาย จึงพยายามได้สำเร็จความปรารถนาและเสียดายหน้าตา ถ้าชีวิตของแกอยู่มาอีก ๓๖ ปี แกจะได้เจ้าบรรจบประสบคุยกับหมู่พุทธบริษัท และหมู่พระประยูรญาติ และหมู่พุทธมามกะผู้นับถือ แกจะพลอยมีชื่อยกตัวเป็นครูอย่างดีกว่าที่แล้วมา แต่พระอรรถกถาจารย์ท่านไม่ว่าอย่างขรัวโต เห็นท่านว่าเพียงกาลเทวินทร์เสียใจว่าจะตายเสียก่อนเท่านั้น ไม่ทันพระสิทธาตถ์เป็นพระพุทธเจ้าเท่านี้
เรื่อง เทศน์ถวายและเฉลยพระปัญหาถวายสมเด็จ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ ตามที่เรียบเรียงไว้นี้ ได้ฟังมาจากสำนักพระปรีชาเฉลิม (แก้ว) เจ้าคุณพระปรีชาเฉลิม (แก้ว) ได้ฟังมาจากเจ้าคุณปรีชาเฉลิม (เกษ) พระปรีชาเฉลิม (เกษ) เป็นเปรียญ ๖ ประโยค อยู่วัดอรุณราชวราราม ได้เป็นพระรับสัพพี จึงได้ยินเทศนาถวายของเจ้าคุณธรรมกิตติ (โต) ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

ต่อแต่นั้นมา ท่านก็มีชื่อเสียงในทางเทศน์ ตัดทอนธรรมะให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรองสำนวน เพราะเทศน์อย่างคำไทยตรงๆ จะเอาข้อธรรมอะไรแสดง ก็ง่ายต่อผู้ฟังดังประสงค์ อย่างที่ถวายในวังสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา ผู้ฟังชมว่าดี เกิดโอชะในธรรมสวนะได้ง่าย โลกนิยมเทศน์อย่างนี้มาก พระธรรมกิตติแสดงธรรมตามภาษาชาวบ้าน ถือเอาความเข้าใจของผู้ฟังเป็นเกณฑ์ ไม่ต้องร้อยกรอง


ครั้น ถึงปีชวด ฉศก จุลศักราช ๑๑๒๖ ปี ได้ถูกนิมนต์เทศน์หน้าพระที่นั่ง พอเข้าไปถึง พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออก จึงปราศรัยสัพยอก "ว่าไงเจ้าคุณ เขาพากันชมว่าเทศน์ดีนักนี่ วันนี้ต้องลองดู" พระธรรมกิตติ (โต) ถวายพระพรว่า "ผู้ที่ไม่มีความรู้เหตุผลในธรรม ครั้นเขาฟังรู้ เขาก็ชมว่าดี ขอถวายพระพร" พระองค์ทรงพระสรวล แล้วทรงถามว่า "ได้ยินข่าวเขาว่า เจ้าคุณบอกหวยเขาถูกกัน จริงหรือ"

ทูลว่า "ขอถวายพระพร อาตมภาพได้อุปสมบทมา ไม่เคยออกวาจาว่าหวยจะออก ด กวางเหมงตรงๆ เหมือนดังบอก ด กวางเหมงแด่สมเด็จพระบรมบพิตร์พระราชสมภารเจ้าอย่างวันนี้ ไม่ได้เคยบอกแก่ใครเลย"

ได้ทรงฟังแล้วทรงพระสรวลอีก แล้วทรงจุดเทียน พระธรรมกิตติจับตาลปัดแฉกขึ้นธรรมาสน์ เมื่ออาราธนาแล้ว ก็ถวายศีลแล้วถวายศักราช พอถึงปีชวด ท่านก็ย้ำ "ฉศก ฉศก ฉศก ฉศก" สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังทรงพระอักษรอยู่ ได้ทรงฟังปีชวด ฉศก ย้ำๆ อยู่นาน ก็เงยพระพักตรขึ้นพนมหัตถ์รับว่า "ถูกแล้ว ชอบแล้ว เจ้าคุณ" แต่ก่อนกาลที่ล่วงมาแล้ว เดิมเลข ๖ ท้ายศักราช เขียนและอ่านต่อๆ มาว่า "ฉ้อศก" นั้นไม่ถูก แล้วรับสั่งกรมราชเลขาให้ตราพระราชบัญญัติออกประกาศเป็นใบปลิวให้รู้ทั่วกัน ทั่วพระราชอาณาจักรว่า "ตั้งแต่ปีชวด ฉศก เหมือนศกนี้มีเลข ๖ เป็นเศษด้วย ไม่ให้เขียนและอ่านว่า ฉ้อศก อย่าเขียนตัว อ เคียง ไม้ให้เขียนไม้โท ลงไปเป็นอันขาด ให้เขียน ฉ เฉยๆ ก็พอ ถ้าเขียนและอ่านว่า ฉ้อศกอีก จะต้องว่าผู้นั้นผิดและฝ่าฝืน" กรมราชเลขาก็บันทึกและออกประกาศทราบทั่วกัน และนิมนต์ท่านเทศน์ต่อไป

พระธรรมกิตติก็ตั้งคัมภีร์ บอกศักราชต่อจนจบ ถวายพรแล้วเดินคาถาจุณณียบท อันมีมาในพราหมณ์สังยุตตนิกายปาฏิกวรรคนั้น แปลถวายว่า ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่งแกนั่งคิดว่า "สมณํ โคตมํ อุปสงฺกมิตฺวา อิมํ ปณฺหํ ปุจฉามิ อหํ" กูจะเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้ว กูจะถามปัญหากับเจ้าสมณะโคดมดูสักหน่อย "สีสณฺหาตฺวา ปารุปนํนิวาเสตวา คามโตนิกฺขมิตฺวา เชตวน มหาวิการภิมุโข อคมาสิ" แปลว่า โสพฺราหฺมโณ พราหมณ์ผู้นั้น คิดฉะนี้แล้ว แกจึงลงอาบน้ำดำเกล้า โสพฺเภ ในห้วยแล้ว แกออกจากบ้านแก แกตั้งหน้าตรงไป พระเชตวันมหาวิหาร ถึงแล้วแกจึงตั้งข้อถามขึ้นต้น แกเรียกกระตุกให้รู้ตัวขึ้นก่อนว่า "โภ โคตม นี่แนะพระโคดม

ครั้นท่านว่ามาถึงคำว่า "นี่แน่ พระโคดม" เท่านี้แล้ว ก็กล่าวว่า คำถามของพราหมณ์และคำเฉลยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่เป็นประการใด สมเด็จพระบรมบพิตร์เจ้าได้ทรงตรวจตราตริตรองแล้ว ก็ได้ทรงทราบแล้วทุกประการ ดังรับประทานวิสัชชนามา ก็สมควรแก่เวลาแต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการดังนี้ ขอถวายพระพร พอยถาสัพพีแล้ว ก็ทรงพระสรวลตบพระหัตถ์ว่า "เทศน์เก่ง จริง พวกพราหมณ์ที่เขาถือตัวว่าเขารู้มาก เขาแก่มาก เขาไม่ไคร่ยอมเคารพพระพุทธเจ้านัก เขามาคุยๆ ถาม พอแก้รำคาญ ต่อนานๆ เขาก็เชื่อในธรรม เขาก็สำเร็จเป็นพระโสดา ที่ความดำริห์ของพราหมณ์ผู้เจ้าทิฏฐิทั้งหลายเขาวางโตทุกคน เจ้าคุณแปล อหํ ว่า กู นั้น ชอบแท้ทางความดีจริงๆ รางวัลก็ได้รับพระราชทานรางวัล ๑๖ บาท เติมท้องกัณฑ์ ๒๐ บาท รวมเป็น ๓๖ บาท

(เรื่อง ฉศก เรื่องถวายเทศน์อย่างที่เรียบเรียงมานี้ พระปรีชาเฉลิม (แก้ว) เคยเล่าให้ฟังเป็นพื้นจำมีอยู่บ้าง ซึ่งได้สืบถามพระธรรมถาวรอีกท่านก็รับว่า จริง แต่เทศน์ว่าอย่างไรนั้น ลืมไป พระธรรมถาวรว่า แต่ความคิดของพราหมณ์ใช้คำว่า กู กู นี้ ยังจำได้ เจ้าคุณธรรมถาวรเลยบอกต่อไปว่า วันที่ถวายเทศน์ ฉศก นี้ และถวาย ด กวางเหมง ไว้ก่อนขึ้นเทศน์นั้นว่า วันนั้นหวยจำเพาะออก ด กวางเหมง จริงอย่างที่ท่านแก้พระราชกระทู้ว่า ไม่เคยบอกตัวตรงๆ กับใครๆ เหมือนดังบอกสมเด็จพระบรมบพิตรวันนี้ ครั้นถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีชวด ศกนี้เอง ทรงพระมหากรุณาโปรดเลื่อนสมณศักดิ์พระธรรมกิตติ (โต) ขึ้นเป็นพระเทพกวี ราชาคณะผู้ใหญ่ ในตำแหน่งสูง มีนิตยภัตร ๒๘ บาท ค่าข้าว ๑ บาท)

(สิ้นข้อความในประวัติที่เจ้าของท่านเขียนไว้ในฉากที่ ๕ ในฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร ที่ได้คิดวิจารณ์ อนุมานแสวงหาเหตุผลต้นปลาย ตรวจราชประวัติและราชพงศาวดาร ประกอบกับรูปภาพในฉากนี้ ก็สิ้นข้อความในเพียงนี้)

ในประวัติของสมเด็จโต ท่านให้ช่างเขียนๆ วัดระฆัง เขียนรูปบ้านพระยาโหรา รูปเสมียนตราด้วง รูปสมเด็จพระสังฆราช (นาค) รูปพระเทพกวี (โต) รูปวัดอินทรวิหาร รูปวัดกัลยาณมิตร รูปเด็กแบกคัมภีร์ ในงานฉลองวัดทั้ง ๒ และรูปป่าพระพุทธบาท รูปป่าพระฉาย รูปพระอาจารย์เสม รูปพระอาจารย์รุกขมูล รูปเมืองเขมร รูปเสือที่ทางไปเมืองเขมร รูปจ้างเขมร ตั้งแต่ฉากที่ ๑ ถึง ฉากที่ ๑๓ – ๑๔ จะได้สันนิษฐานเป็นเรื่องดังต่อไปนี้

ครั้นออก พรรษาในปีชวด ศกนั้นแล้ว พระเทพกระวี (โต) จึงลงมาจัดการกวาดล้างกุฏิใหญ่ ๕ ห้อง ข้างคลองคูวัดระฆังข้างใต้ แล้วบอกบุญแก่บรรดาผู้ที่มาสันนิบาต ให้ช่วยการทำบุญขึ้นกุฏิ ได้เผดียงสงฆ์ลงสวดมนต์ทั้งวัดที่กุฏินั้น ค่ำวันนั้นมีมหรสพฉลองผู้ที่ศรัทธานับถือ ลือไปถึงไหน ก็ได้มาช่วยงานถึงนั่น บรรดาผู้ที่มานั้นต่างก็หาเลี้ยงกันเอง งานที่ทำคราวนั้นเป็นงานใหญ่มาก เลี้ยงพระถึง ๕๐๐ องค์ ผู้คนต่างนำสำรับคาวหวาน เครื่องไทยทานมาถวายพระเทพกระวีแน่นวัดแน่นวา ครั้นการเลี้ยงพระเลี้ยงคนสำเร็จเรียบร้อย ท่านลงแจกด้ายถักผูกข้อมือคนละเส้น แล้วท่านบอกว่า "ดีนักจ้ะ ลองดูจ้ะ ตามประสงค์"

ครั้นพระเทพกระวี (โต) ขึ้นอยู่บนกุฏิ ๕ ห้องแล้ว ผู้คนก็มาละเล้าละลุมเพื่อจับหวยทุกวัน ครั้นนั้นพระยาโหราธิบดี ทำบุญฉลองสัญญาบัตร พระเทพกวีก็ได้ไปสวดมนต์ไปฉัน ครั้นพระยาโหราธิบดี และเสมียนตราด้วง ปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหม (วัดอินทรวิหาร) สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระเทพกวีก็ได้ไปเทศน์ไปฉันการฉลองวัด เมื่อท่านพระยานิกรบดินทร์สร้างวัดกัลยาณมิตรแล้วก็มีการฉลอง สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระเทพกระวี (โต) ก็ได้ไปฉัน คราวพระยานิกรบดินทร์สร้างโบสถ์วัดเกตุไชโย พระเทพกระวี (โต) ก็ได้ไปเป็นแม่งานฉลองโบสถ์ มีการมหรสพใหญ่ตามภาษาชาวบ้านนอก อำเภอไชโยนั้น มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้ขึ้นไปช่วยงานฉลองโบสถ์วัดเกตุไชโยนั้นมากท่านด้วยกัน

ครั้นกาล ล่วงมา สมเด็จพระวันรัต วัดมหาธาตุ ถึงมรณภาพแล้ว สมเด็จพระวันรัต เซ่ง วัดอรุณ เป็นเจ้าคณะกลาง ครั้งนั้นพระอันดับในวัดระฆังทะเลาะกัน และฝ่ายหนึ่งได้ตีฝ่ายหนึ่งศีรษะแตก ฝ่ายศีรษะแตกได้เข้าฟ้องพระเทพกระวี เจ้าอาวาสๆ ก็ชี้หน้าว่า "คุณตีเขาก่อน" พระองค์หัวแตกเถียงว่า "ผมไม่ได้ทำอะไร องค์นั้นตีกระผม" พระเทพกระวีว่า "ก็เธอตีเขาก่อน เขาก็ต้องตีเธอบ้าง" พระนั้นก็เถียงว่า "เจ้าคุณเห็นหรือ" พระเทพกระวีเถียงว่า "ถึงฉันไม่ได้เห็นก็จริง แต่ฉันรู้อยู่นานแล้วว่า คุณตีเขาก่อน คุณอย่าเถียงฉันเลย" พระองค์ศีรษะแตกเสียใจมาก จึงได้อุตส่าห์เดินลงไปวัดอรุณ เข้าอุทธรณ์ต่อสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) เจ้าคณะกลาง

ส่วนสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) จึงเรียกตัวพระเทพกระวี (โต) ไปชำระตามคำอุทธรณ์ พระเทพกระวี (โต) ก็โต้คำอุทธรณ์และตอบสมเด็จพระวันรัตว่า "ผมรู้ดีกว่าเจ้าคุณอีก เจ้าคุณได้แต่รู้ว่า เห็นเขาหัวแตกเท่านั้น ไม่รู้ถึงเหตุในกาลเดิมมูลกรณี ผมรู้ดีว่า คุณองค์นั้นได้ตีคุณองค์นั้นก่อน และเขาบ่ห่อนจะรู้สึกตัว เขามามัวแต่ถือหัว หัวเขาจึงแตก"

สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ฟังๆ ก็นึกแปลก แยกวินิจฉัยก็ไม่ออก กลับจะเป็นคนถือเอาแต่คำบอก จึงย้อนถามว่า "เจ้าคุณเห็นอย่างไร จึงรู้ได้ว่า พระองค์นี้ตีพระองค์นั้นก่อน แจ้งให้ฉันฟังสักหน่อย ให้แลเห็นบ้าง จะได้ช่วยกันระงับอธิกรณ์"

พระ เทพกระวีว่า "พระเดชพระคุณจะมีวิจารณ์ยกขึ้นพิจารณาแล้ว กระผมก็เต็มใจ อ้างอิงพยานถวาย" พระวันรัตว่า "เอาเถอะ ผมจะตั้งใจฟังเจ้าคุณชี้พยานอ้างอิงมา" พระเทพกระวีจึงว่า "ผมทราบตามพุทธฎีกา บอกให้ผมทราบว่า นหิเวรา นิวปสัมมันติ ว่า เวรต่อเวร ย่อมเป็นเวรกันร่ำไป ถ้าจะระงับเสียด้วยไม่ตอบเวร เวรย่อมระงับ นี่แหละ พระพุทธเจ้าบอกผมเป็นพยาน กระผมว่า เวรต่อเวร มันจึงทำกันได้ ผมเห็นตามคำพระพุทธเจ้าบอกผมเท่านี้ ผมจึงวิจารณ์พิจารณากล้ากล่าวได้ว่า คุณตีเขาก่อน"

สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ชักงงใหญ่ จะเถียงก็ไม่ขึ้น เพราะท่านอ้างพุทธภาษิต จึงล้มเข้าหาพระเทพกระวี (โต) ว่า "ถ้ากระนั้น เจ้าคุณต้องระงับอธิกรณ์ เรื่องนี้ว่า ใครเป็นผู้ผิด ผู้ถูกโทษจะตกกับผู้ใด แล้วแต่เจ้าคุณจะตัดสินเถิด" พระเทพกระวีมัดคำพระวันรัตว่า "พระเดชพระคุณอนุญาตตามใจผม ผมจะชี้โทษคุณให้ยินยอมพร้อมใจกันทั้งคู่ความ ทั้งพิพากษาให้อธิกรณ์ระงับได้ ให้เวรระงับด้วย" สมเด็จพระวันรัตก็อนุญาต

พระ เทพกระวี (โต) ก็ประเล้าประโลมโน้มน้าวกล่าวธัมมิกถา พรรณนาอานิสงค์ของผู้ระงับเวร พรรณนาโทษของผู้ต่อเวร ให้โจทก์จำเลยสลดจิต คิดเห็นบาปบุญคุณโทษ ปราโมทย์เข้าหากัน ท่านจึงแก้ห่อผ้าไตรออกกับเงินอีกสามตำลึง ทำขวัญองค์ที่ศีรษะแตก แยกบทชี้เป็นสามสถาน ผู้ตีตอบเอาเป็นหมดเวร จักไม่ตีใครต่อไป ถ้าขืนไปตีใครอีก จะลงโทษว่าเป็นผู้ก่อเวร ฝืนต่อพระบวรพุทธศาสนา มีโทษหนักฐานละเมิด


ผู้ที่ถูกตีก็ระงับใจไม่อาฆาต ไม่มุ่งร้ายต่อก่อเวรอีก "ถ้าขืนคดในใจทำหน้าไหว้ หลังหลอก เอาฉันเป็นผู้ปกครอง หรือขืนฟ้องร้องกันต่อไป ว่าฉันเอนเอียงไม่เที่ยงธรรมแล้ว จะต้องโทษฐานบังอาจหาโทษผู้ใหญ่ โดยหาความผิดมิได้ ทั้งจะเป็นเสี้ยนหนามต่อพระบวรพุทธศาสนา เป็นโทษใหญ่ร้อนถึงรัฐบาล จะต้องลงอาญาตามรบิลเมืองฯ"

"ฝ่ายฉันเป็น คนผิด เอาแต่ธุระอื่น ไม่สอดส่องดูแลลูกวัด ไม่คอยชี้แจงสั่งสอนอันเตวาสิก สัทธิวาหาริก ให้รู้ธรรมรู้วินัย จึงลงโทษตามพระวินัยว่าไม่ควรย่อมเป็นโทษแท้ ขอคดีเรื่องนี้จงเลิกระงับไปตามวินัยนี้" พระฐานะที่นั่งฟังทั้งมหาบาเรียนและพระอันดับพระคู่ความ ก็สาธุการเห็นดีพร้อมกันอย่างเย็นใจ พระวันรัต (เซ่ง) ก็เห็นดี สงบเรื่องลงเท่านี้ฯ

ครั้งหนึ่งพระวัดระฆัง เต้นด่าท้าทายกันขึ้นอีกคู่ พระเทพกระวี (โต) ท่านเอกเขนกนั่งอยู่นอกกุฏิท่าน ท่านแลเห็นเข้า ทั้งได้ยินพระทะเลาะกันด้วย จึงลุกเข้าไปในกุฏิ จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พาน รีบเดินเข้าไปในระหว่างวิวาท ทรุดองค์ลงนั่งคุกเข่าไปถวายดอกไม้ธูปเทียนพระคู่นั้น แล้วอ้อนวอนฝากตัวว่า "พ่อเจ้าประคุณ พ่อจงคุ้มครองฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่า พ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้แท้ พ่อเจ้าประคุณ ลูกฝากตัวด้วย" เลยพระคู่นั้นเลิกทะเลาะกัน มาคุกเข่ากราบพระเทพกระวีๆ ก็คุกเข่ากราบตอบพระ กราบกันอยู่นั่น หมอบกันอยู่นั่นนานฯ

ครั้งหนึ่งสมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) นิมนต์เข้าไปเทศน์ที่จวน สมเด็จเจ้าพระยาจุดเทียน พระเทพกระวีขึ้นธรรมมาสน์ ครั้นรับศีลเสร็จแล้ว พวกหัวเมืองเข้ามาหาสมเด็จเจ้าพระยา หมอบกันเป็นแถว ส่วนตัวเจ้าพระยานั้นเอกเขนกรินน้ำชาไขว่ห้างกำลังพระเทศน์ พระเทพกวีเลยเทศน์ว่า "สัมมามัวรินกินน้ำชา มิจฉาหมอบก้มประนมมือ" สมเด็จเจ้าพระยาบาดหูลุกเข้าเรือน ส่วนพระเทพกระวีก็ลงจากธรรมาสน์กลับวัดระฆัง ข่าวว่าตึงกันไปนาน

ครั้น สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ถึงมรณภาพแล้ว พระเทพกระวีต้องเป็นผู้ใหญ่นั่งหน้า ครั้งหนึ่งเมื่อมีกิจการฉลองสวดมนต์ในพระบรมมหาราชวัง พระเทพกระวีเป็นผู้ชักนำพระราชาคณะอ่อนๆ ลงมา ครั้นสวดเสร็จแล้วยถา พระรับสัพพีแล้วสวดคาถาโมทนาจบแล้ว พระเทพกวี (โต) จึงถวายอติเรกขึ้นองค์เดียวว่าดังนี้

อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ ทีฆายุโก โหตุ อโรโคโหตุ สุขิโต โหตุ มหาราชา สิทฺธิกิจจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ มหาราชสํ ส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร ดังนี้

สมเด็จพระจอมเกล้าทรงโปรดมาก รับสั่งถามว่า แก้ลัดตัดเติมจะได้บ้างไหม พระเทพกระวี (โต) ถวายพระพรว่า อาตมาภาพได้เปยยาลไว้ในตัวบทคาถา สำหรับสมเด็จบรมพิตรพระราชสมภารเจ้าจะได้ทรงตรอกลง ตามพระบรมราชอัธยาศัยแล้ว สมเด็จพระจอมเกล้าทรงตรอกซ้ำลงตรง ฑีฆายุ อีกบันทัดหนึ่ง ทรงตรอกลงที่หน้าศัพท์ มหาราชสฺส เป็น ปรเมนทรมหาราชวรสฺส นอกนั้นคงไว้ตามคำพระเทพกระวี (โต) ทุกคำ แล้วตราพระราชบัญญัติประกาศไปทุกๆ พระอาราม ให้เป็นขนบธรรมเนียมต้องให้พระราชาคณะผู้นั่งหน้าถวายคาถาอติเรกนี้ก่อน จึงรับ ภาวตุสัพฯ จึงถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่งได้ ตลอดจนการพระเมรุ การถวายพระกฐินทานตามพระอารามหลวง ต้องมีพระราชาคณะถวายอติเรกนี้ทุกคราวที่พระราชดำเนิน จึงเป็นราชประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้แล

ครั้นถึงปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ปี สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเทพกระวี (โต) ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รับหิรัญบัตรมีฐานา ๑๐ มีนิตยภัตร ๓๒ บาท ค่าข้าวสาร ๑ บาทต่อเดือน สมเด็จฯ มีชนมายุ ๗๘ พรรษา ๕๖ ได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีโสกันต์ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โสกันต์คราวนี้มีเทศน์กัณฑ์เขาไกรลาส รวมที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังมาได้ ๑๕ ปี จึงได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงเทพมหานครแล

ครั้ง หนึ่งมีราชการโสกันต์ สังฆการีวางฎีกาว่าย่ำรุ่งถึง แล้วถวายพระพร ถวายชัยมงคลคาถา พระฤกษ์โสกันต์ วางฎีกาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครั้นได้เวลาย่ำรุ่งตรง ท่านก็มาถึง พระมหาปราสาทยังไม่เปิดพระทวาร สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็มานั่งอยู่บนบันไดพระมหาปราสาทชั้นบน แล้วท่านก็สวดชัยมงคลคาถาชยันโตโพธิยาลั่นอยู่องค์เดียว สามจบแล้ว ท่านก็ไปฉันข้าวต้มที่ทิมสงฆ์ แล้วท่านก็ไปพักจำวัดในโรงม้าต้น ในพระบรมมหาราชวัง

ครั้นเวลาสามโมงเช้า เสด็จออกจวนพระฤกษ์ สังฆการีประจุ พระราชาคณะประจำที่หมด ยังขาดแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์เดียว เที่ยวตามหากันลั่นไปหมด สมเด็จพระจอมเกล้าทรงกริ้วใหญ่ พวกทนายเลือกสนใจใน บอกต่อๆ กันเข้าไปว่าได้เห็นสมเด็จหายเข้าไปในโรงม้าต้น พวกสังฆการี เข้าไปค้นคว้าอาองค์ท่านมาได้ ช่วยกันรุนก้นดันส่งเข้าไปในพระทวาร ครั้นทอดรพะเนตร์เห็น ก็กริ้วแหว รับสั่งว่า "ถอดๆ ไม่ระวังรั้วงานราชการ เป็นขุนนางไม่ได้ แฉกคืนๆ เร็วๆ เอาชยันโตทีเดียว" ขรัวโตก็เดินชยันโตจนถึงอาสนสงฆ์ ลงเข้าแถวสวด พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงคีบพระเมาฬี พระบรมวงศานุวงศ์ก็คีบ และคีบ แลโกน เป็นลำดับไป ครั้นเสร็จแล้ว ทรงประเคน อังคาสพระสงฆ์ แล้วเสด็จเข้าในพระฉาก

ขรัวโตฉันแล้วก็นั่งนิ่ง เสด็จออกเร่งให้ยถา ขรัวโตก็ยถา แต่ไม่ตั้งตาลิปัด เวลานั้นพระธุระมาก มัวหันพระพักตร์ไปรับสั่งราชกิจอื่นๆ พระพุฒาจารย์ (โต) ก็เดินดุ่มๆ รีบออกไปลงเรือข้ามฟาก พอแปรพักตร์ไปรับสั่งอติเรก จะรีบฯ พระราชาคณะรองๆ ลงมา ก็ไม่มีใครกล้า นิ่งงันกันไปหมด รับสั่งถามว่า "อ้าว สมเด็จหายไปไหน" เขาทูลว่า "ท่านกลับไปแล้ว" "อ้าวพัดยังอยู่ ชรอยจะทำใจน้อยไม่เอาพัดไป เร็ว เอาพัดไปส่ง เอาตัวมาถวายอติเรกก่อน" สังฆการีรีบออกเรือตามร้องเรียก "เจ้าคุณขอรับ นิมนต์กลับมาก่อน มาเอาพัดแฉก"

ท่านร้องตอบมาว่า "พ่อจะมาตั้งสมเด็จกลางแม่น้ำได้หรือ" สังฆการีว่า "รับสั่งให้หา" ท่านก็ข้ามกลับมา เข้าทางประตูต้นสน ดุ่มๆ ขึ้นมาบนพระปราสาท แล้วรับสั่งให้ถวายอติเรกเร็วๆ ฯ ทูลว่า ขอถวายพระพร ถวายไม่ได้ฯ" รับสั่งถามว่า "ทำไมถวายไม่ได้ฯ" ทูลว่า "ขอถวายพระพร เหตุพระราชบัญญัติตราไว้ว่า ให้พระราชาคณะถวายอติเรก บัดนี้ อาตมาภาพกลายเป็นพระอันดับแล้ว จึงไม่ควรถวายอติเรก ขอถวายพระพรฯ" รับสั่งว่า "อ้อ จริงๆ เอาสิ ตั้งกันใหม่" กรมวังออกหมายตั้งสมเด็จ บอกวิเสศเลี้ยงพระอีก สังฆการีวางฎีกา เอาพระชุดนี้ก็ได้ วิเสศทำไม่ทัน ก็ทำแต่น้อย ก็ได้เพียง ๕ องค์ ศุภรัตน์เตรียมผ้าไตรตั้ง และพระไตร พระชยันโต แล้วเสด็จ พวกสังฆการีวางฎีกาพระชุดโสกันต์กำหนดเวลา เลยกลับไม่ได้

ครั้นเวลา ๕ โมง เสด็จออกทรงประเคน พระฉันแล้ว (ประกาศตั้งสมเด็จ) ทรงประเคนหิรัญบัตร ประเคนไตร บาตร ตาลิปัด ย่าม พระชยันโต คราวนี้สมเด็จยกไตรแพรครอง กลับเข้ามาอนุโมทนาแล้วถวายอติเรก ถวายพระพรลา เป็นอันเสร็จการไปคราวหนึ่งฯ

ครั้งหนึ่ง เข้าไปฉันในพระบรมราชวัง ได้ทรงประเคนไตรแพร ท่านก็นำไตรแพรนั้น เช็ดปาก เช็ดมือ ยุ่งไปหมด รับสั่งทักว่า "ไตรเขาดีดี เอาไปเช็ดเปรอะหมด" ท่านตอบว่า "อะไรถวายได้ ผ้าเช็ดมือถวายไม่ได้ อาตามภาพก็ต้องเอาผ้าไตรของอาตมาเอง เช็ดอาตมาเอง เป็นอันได้ บริโภคของทายกแล้ว ไม่เป็นสัทธาเทยสินิบาตฯ

ครั้งหนึ่งเข้าไปฉันใน พระบรมมหาราชวังอีก ถวายเงินองค์ละ ๒๐ บาท สมเด็จทำดีใจ รวบเงินใส่ย่ามกราว ทรงทักว่า "อ้าว พระจับเงินได้หรือ" "ขอถวายพระพร เงิน พระจับไม่ได้ แต่ขรัวโตชอบ" เรื่องแผลงๆ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์นี้ตั้งแต่เป็นพระธรรมกิตติ มาจนเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ต่อหน้าพระที่นั่งเสมอมา แต่ก็ทรงอภัย ซ้ำพระราชทานรางวัลอีกด้วย ถึงวันรวบเงินนี้ ก็รางวัลอีก ๓๐ บาท รวบใส่ย่ามทันที ครั้นหิ้วคอนย่ามออกมา คนนั้นล้วงบ้าง คนนี้ล้วงบ้าง จนหมดย่าม ท่านคุยพึมว่า "วันนี้รวยใหญ่ๆ" ฯ

ครั้นคราวหนึ่ง นักองค์ด้วง เจ้าแผ่นดินเขมร กลุ้มพระหฤทัย มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดให้เผดียงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ให้ออกไปแสดงธรรมโปรดนักองค์ด้วง ณ เมืองเขมร คราวนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์ ถึงกับบ่นที่วัดระฆังว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าก็ไม่ใช่โง่ แต่ว่าใช้ขรัวโตไม่ได้ สมเด็จพระจอมเกล้าฉลาดว่องไว กลับมาได้ใช้ขรัวโตฯ

ครั้นถึงวัน กำหนด ท่านก็พาพระฐานา ๔ รูป ไปลงเรือสยามูปสดัมภ์ เจ้าพนักงานไปส่งถึงเมืองจันทบุรี แล้วขึ้นเกวียนไปทางเมืองตราด ไปถึงหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่ง แขวงเมืองตราดนั้น เป็นตำบลที่มีเสือชุมมาก มันเผ่นเข้าขวางหน้าเกวียน เวลารอนๆ จวนค่ำ คนนำทางหน้าเกวียนสมเด็จ จดพลองเล่นตีกับเสือ เจ้าเสือแยกเขี้ยว หื้อใส่ รุกขนาบ คนถือพลองถอยหลังทุกที จนถึงหน้าเกวียนสมเด็จ คนหน้าเกวียนยกเท้ายันคนถือพลองไว้ไม่ให้ถอยฯ
สมเด็จ พระพุฒาจารย์ ท่านเห็นเสือมีอำนาจดุมาก ท่านจึงบอกว่า เสือเขาจะธุระฉันคนเดียวดอกจ้ะ ฉันจะพูดจาขอทุเลาเสือสักคืนในที่นี้ ครั้นแล้วท่านก็ลง ส่งเกวียน ส่งคนให้ไปคอยอยู่ข้างหน้า ท่านก็นอนขวางทางเสือเสีย เสือก็นั่งเฝ้าท่านคืนหนึ่ง เสือก็ไปไหนไม่ได้ จะไปไล่คนอื่นก็ไปไม่ได้ ต้องเฝ้ายามสมเด็จยันรุ่ง ครั้นเวลาเช้า ท่านเชิญเสือให้กลับไป แล้วท่านลาเสือว่า ฉันลาก่อนจ้ะ เพราะมีราชกิจใช้ให้ไปจ้ะ ว่าแล้วท่านก็เดินตามเกวียนไปทันกัน แล้วท่านเล่าให้พระครูปลัดฟัง (พระครูปลัดคือพระธรรมถาวร เดี๋ยวนี้) พวกครัวก็หุงต้มเลี้ยงท่าน เลี้ยงกันเสร็จแล้ว ก็นิมนต์สมเด็จขึ้นเกวียนคนลาก ท่านไม่ชอบวัวควายเทียมเกวียน

ครั้น ไปถึงเมืองพระตบอง ข้าหลวงฝ่ายสยามบอกการเข้าไปถึงกรมเมืองเมืองเขมร กรมเมืองทราบแล้ว นำความทูลนักองค์ด้วง เจ้าเมืองเขมรฯ ทรงทราบ แล้วสั่งคนนำแคร่ ออกไปรับสมเด็จเข้าไปถึงในวัง กระทำความเคารพ ปฏิสันฐาน ปราศรัยปรนนิบัติแก่สมเด็จเป็นอันดี แล้วรับสั่งให้จัดการเลี้ยงดูข้าหลวง และผู้คนที่เชิญสมเด็จมานั้น แล้วจัดที่พักที่อยู่ให้ตามสมควร ครั้นเวลาเช้า จัดแจงตั้งธรรมาสน์ บอกกล่าวพระยาพระเขมร แล้วเจ้านายฝ่ายเขมรตลอด พ่อค้าคฤหบดีเขมร ให้มาฟังธรรมของสมเด็จจอมปราชญ์สยาม สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม รับสั่งโปรดให้สมเด็จพระพุฒาจารย์มาโปรดเขมร เขมรทั้งหลายต่างยินดีเต็มใจ พร้อมใจกันมาฟังเทศนาสมเด็จทุกตัวคน

คั้นเพลแล้ว ก็อาราธนาให้ขึ้นเทศน์ สมเด็จก็เลือกเฟ้นหาธรรมะนำมายกขึ้นแสดง ชี้แจงและแปลแก้ไขเป็นภาษเขมร ให้พวกเขมรเข้าใจต่อตลอดมา ถึงพระมหากรุณาธิคุณของกรุงสยามด้วย เชื่อมกับศาสนปศาสน์ และพระรัฐปศาสน์ให้กลมเกลียวกลืนกัน เทศน์ให้ยึดโยงหยั่งถึงกัน ชักเอาเหตุผลตามชาดกต่างๆ พระสูตรต่างๆ ทางพระวินัยต่างๆ อานิสงส์สันติภาพ และอานิสงส์สามัคคีธรรม นำมาปรุงเป็นเทศนากัณฑ์หนึ่ง ครั้นจบลงแล้ว นักองค์จันทร์มารดานักองค์ด้วง ได้สละราชบุตร ราชธิดา บูชาธรรม และสักการะด้วยแก้วแหวนเงินทอง ผ้าผ่อน และขัชกะโภชาหาร ประการต่างๆ เขมรนอกนั้นก็เลื่อมใส เห็นจริงตามเทศนาของสมเด็จทุกคน แลต่างก็เกิดความเลื่อมใสในองค์เจ้าประคุณสมเด็จ

สมเด็จพระ พุฒาจารย์ จึงได้ฝากนางธิดา กุมารีไว้กับมารดา เจ้านักองค์ด้วง รับมาแต่เจ้าชายกุมารคนเดียว นักองค์ด้วงเจ้าเมืองเขมรจึงจัดการส่งสมเด็จ มีเกวียนส่งเข้ามาจนถึงเมืองตราด เจ้าเมืองตราดจัดเกวียนส่งมาถึงเมืองจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีจัดเรือใบ เรือเสาส่งเข้ามาถึงกรุงเทพพระมหานคร จอดหน้าวัดระฆังทีเดียว

ครั้น รุ่งเช้า สมเด็จพระพุฒาจารย์จึงเข้าในพระบรมมหาราชวัง เสด็จออกรับและทรงสดับรายงาน การที่ไปและการที่ถึง และเจ้าเขมรยินดีรับรองเลื่อมใส ได้เทศน์โปรดด้วยข้อนั้น นำข้อนั้นเทียบข้อนั้น ให้เจ้าเขมรเข้าใจด้วยนัยอย่างนั้น ลงมติอย่างนั้นตลอดเสนาเขมรทั่วกัน เขมรบูชาธรรมพลีบรรณาการมาอย่างนั้นเท่านั้น ของเท่านั้นๆ ให้ทรงถวายโดยละเอียดทุกประการ

สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบรายงานของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) บรรยายถวาย เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ทรงนิยมชมเชยความสามารถของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงทรงยินดีถวายเครื่องกัณฑ์ที่ได้มานั้น จงเป็นสรรพสิทธิของเจ้าคุณทั้งหมด ทั้งทรงปวารณาว่าเจ้าคุณประสงค์สิ่งอะไร พอที่โยมจะอนุญาตได้ โยมก็จะถวาย แล้วก็เสด็จขึ้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็กลับวัดระฆัง

ครั้นหายเหนี่อยสองสามวัน จึงเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เสด็จออกรับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ขอถวายพระพร ขอพระบรมราชานุญาตที่ดินที่วัดเกตุไชโยเท่านั้นว่า ขอพระราชานุญาตสร้างพระใหญ่นั่งหน้าตัก ๘ ว่า ไว้ในอำเภอไชโย ขอให้ทรงพระกรุณารับสั่งเจ้าเมือง กรมการวัด ให้มีพระราชลัญจกรประทับ รับสั่งว่าดีแล้ว จึงเป็นแบบอย่างที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน ต้องมีบัตรพระราชลัญจกรอนุญาตแล้วจึงเป็นวิสุงคาม ทรงพระกรุณาโปรดมีใบพระบรมราชานุญาต ประทับตราแผ่นดิน ถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เลยตราพระราชบัญญัติวิสุงคามสีมาต่อไปในคราวนั้นเป็นลำดับกันมา

สมเด็จ จึงจำหน่ายเครื่องกัณฑ์เทศน์จากเมืองเขมรลงเป็นอิฐเป็นปูน เป็นทราย เป็นค่าแรงคนงาน เป็นทุนรองงาน ขึ้นไปจัดการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ณ ที่ริมวัดเกตุไชโย เจ้าเมืองกรมการก็มารางวัดที่ตามที่มีท้องตราบังคับ ราชบุรุษทั้งปวงให้สมเด็จนำชี้ที่ สมเด็จก็ชี้หมดทั้งวัด และชี้ที่สร้างพระวิหารวัดเกตุ สำหรับคลุมองค์พระ และชี้ที่ฐานสุกะชี ชี้ที่สร้างองค์พระ ราชบุรุษก็วัดตามประสงค์ ชี้ที่โบสถ์ด้วย ชี้ที่อุปจารทั้งหมดด้วย รวมเนื้อที่วัดเกตุไชโยมีประมาณแจ้งอยู่ในบัญชีหรดารของหลวงเสร็จแล้ว

เมื่อ กำลังสร้างพระใหญ่องค์นี้ พระยานิกรบดินทร์ และอำมาตย์ราชตระกูลราษฎร พ่อค้าแม่ค้า คฤหบดี และสมเด็จพระจอมเกล้า สมเด็จพระปิ่นเกล้า และแขก ฝรั่ง เขมร ลาว มอญ จีน ก็ได้เข้าส่วนด้วยมากบ้างน้อยบ้าง สร้างอยู่นานเกือบสามปีจึงสำเร็จ จึงได้ถวายวัดไชโยเป็นวัดหลวง พระราชทานนามว่า วัดเกตุไชโย แปลว่า พระธงชัย วัดธงไชย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง

มีอธิบายว่า รถต้องมีธงที่งอนรถ เป็นที่ปรากฏประเทศเมืองหลวงว่า ราชรัฐต้องมีธงทุกประเทศ ทุกชาติ ทุกภาษา พระศาสนาก็ควรมีธงประกาศให้เทวดา มนุษย์ รู้ว่าประเทศนี้นับถือพระพุทธศาสนา จึงสมมติพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้เป็นประดุจดังธงไชย ให้ปลิวไปปลิวมาปรากฏทั่วกัน เหตุนั้น เทพยดาผู้มีฤทธิ์ จึงเข้าสถิตในองค์พระปฏิมากร จึงได้ศักดิ์สิทธิ์ลือขจรทั่วนานาทิศาภาคย์ คนหมู่มากเส้นสรวงบวงบน ให้คุ้มกันรักษา ช่วยทุกข์ร้อนยากจน

บางคน บางคราวก็ได้สมมาตร์ปรารถนา จึงมีผู้สักการบูชามิได้ขาด เป็นด้วยอำนาจสัจจาธิษฐานของสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทุกพระองค์ ทรงปณิธานไว้อย่างหนึ่ง เป็นไปด้วยความสัจความจริงที่ดีที่แท้ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านแน่วแน่อยู่ในเมตตากรุณา หวังว่าจะให้เป็นประโยชน์แลความสุขสวัสดิมงคลแก่ปัจฉิมชนิกชน แต่บรรดาที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้บูชาได้หยั่งน้ำใจแน่วแน่ลงไปถึงคุณพระพุทธเจ้าว่า มีพระคุณแก่สัตว์โลกพ้นประมาณ พระจึงบันดาลเปล่งแสงออกด้วยอำนาจเทวดารักษา แสดงอิทธิฤทธิ์ออกรับเส้นสรวงบวงบนของคนที่ตั้งใจมาจริง จึงให้สำเร็จประโยชน์สมคิดทุกสิ่งทุกประการ

แหละในระหว่างการสร้าง พระนั้น ท่านได้ขึ้นไปดูแลกิจการต่างๆ อยู่เสมอ ได้ตั้งพระสมุห์ไว้องค์หนึ่ง ชื่อพระสมุห์จั่น พระสมุห์จั่นได้เล่าให้ใครๆ ฟังอยู่เสมอว่า ได้ถามสมเด็จดูว่า พระโพธิสัตว์นั้นจะรู้จักได้อย่างไร สมเด็จก็ชูแขนของท่านว่า จงคลำดูแขนขรัวโต ครั้นพระสมุห์และใครๆ คลำแขนก็เห็นเป็นกระดูกท่านเดียว

ครั้งหนึ่งท่านตั้งขรัวตาขุนเณร เป็นพระวัดชีปะขาว เป็นที่พระอุปัชฌาย์ เมื่อแห่จากวัดมาวัดเกตุไชโยแล้ว นั่งพร้อมกันบนอาสน์สงฆ์ สมเด็จเจ้าโต อุ้มไตรเข้าไปกระแทกลงที่ตักขรัวตาขุนเณรแล้วออกวาจาว่า ฉันให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์หนาจ๋า พระอื่นก็เศกชยันโตโพธิยาฯ

ขรัวตา ทองวัดเกตุไชโยเล่าว่า ท่านได้ทันเห็นสมเด็จ ฝังตุ่มใหญ่ไว้เหนือพระโตแล้วเอาเงินใส่ไว้ ๑ บาท เอากระเบื้องหน้าวัดปิดหลุมไว้ ครั้งหนึ่งท่านขึ้นไปตรวจงานที่วัดเกตุไชโย ท่านป่าวร้องชาวบ้านมาช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระบนศาลา ท่านแจกทานของท่านคนละเหรียญฬศ ๑ ในรัชกาลที่ ๔ กับผ้าขาวคนละฝ่ามือจนทั่วกันหมดทุกคน ครั้นตอนสุดที่พระแล้วท่านขึ้นไปที่วัดเกตุไชโย สัปปรุสเอาแคร่คานหามลงไปรับท่าน ครั้นท่านนั่งมาบนแคร่แล้ว สองมือเหนี่ยวแคร่ไว้แน่น ปากก็ว่าไปไม่หยุด หมาเขาดีๆ จ้ะ อย่าให้เขาตกหนาจ๊ะ เขาเป็นของหลวงหนาจ๊ะ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านทำแปลกๆ ทำขันๆ พูดแปลกๆ พูดขันๆ แต่พูดทำแล้ว แล้วไม่ยักซ้ำร่ำไป ได้ปรากฏทันตาเห็น ทันหู ได้ยินแต้วๆ แว่วๆ อยู่จนทุกวันนี้ เมื่อการสร้างพระเสร็จถวายเป็นวัดหลวงแล้ว ทรงรับเข้าทะเบียนแล้ว ท่านอยู่ในกรุงเทพก็ไม่มีเวลาว่างเปล่าสักวันเดียว มีผู้คนไปมาหาสู่ไม่ขาดสาย จนท่านต้องนำปัสสาวะสาดกุฏิบ้าง เอาทาหัวบ้างจนหัวเหลือง ต้องมาพักผ่อนอารมณ์ในป่าช้าผีดิบวัดสระเกษ เป็นที่สำราญของท่านมาก จนพวกวัดสระเกษหล่อรูปท่านไว้ปรากฏจนทุกวันนี้

กุฏิ เก่าเขาสร้างถวายท่านหลังหนึ่ง ท่านเขียนภาษิตไว้ในกุฏินี้บทหนึ่งยาวมาก จำได้บ้าง ๒ วรรค ท่านว่า "อย่าอวดกล้ากับผี อย่าอวดดีกับความตาย" บางวันก็ไปผ่อนอารมณ์อยู่ในวัดบางขุนพรหม มีคนแถบนั้นนิยมนับถือท่านมาก บางรายถวายที่สวนเข้าเป็นที่วัดก็มาก เต็มไปทั้ง ๔ ทิศ ทางตะวันตกถึงแม่น้ำ ซึ่งเป็นวัดทั้ง ๒ อยู่ในบัดนี้ ฝั่งเหนือจดคลอง ตะวันออกก็เป็นพรมแดนกับบ้านพาน บ้านหล่อ พระนคร เป็นวัดกลางสวน ท่านจึงสร้างพระ คิดจะสร้างพระปางโปรดยักษ์ตนหนึ่งในป่าไม้ตะเคียน ท่านคิดจะทำพระนั่งบนตอไม้ตะเคียนใหญ่ ท่านจึงเตรียมอิฐ ปูน ทราย ช่างก่อ แต่เป็นการไม่เร่ง ท่านก่อตอไม้นี้ขึ้นก่อน แล้วก่อขาพระเป็นลำดับขึ้นไป อนุมานดูราวๆ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๑๒๒๙ ปี ทำพระพิมพ์ ๓ ชนิด สามชั้นนั้น ๘๔๐๐๐ องค์ ทำด้วยผลบ้าง ลานจานเผาบ้าง กระดาษว่าวเขียนยันต์เผาบ้าง ปูนบ้าง น้ำมันบ้าง ชันบ้าง ปูนแดงบ้าง น้ำลายบ้าง เสลดบ้าง เมื่อเข้าไปมองดูคนตำ คนโขลก มีจาม มีไอขึ้นมา ท่านก็ บอกว่าเอาใส่เข้าลงด้วย เอาใส่เข้าลงด้วย แล้วว่าดีนักจ้ะ ดีนักจ้ะ เสร็จแล้วตำผสมปูนเพ็ชร กลางคืนก็นั่งภาวนาไปกดพิมพ์ไป ตั้งแต่ยังเป็นพระเทพกระวี จนเป็นพระพุฒาจารย์ พระยังไม่แล้ว ยังอีก ๘ หมื่น ๔ พัน ที่สาม กับที่สี่

ครั้นถึงปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ ปี ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลายามกับ ๑ บาท นาฬิกา สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระชนมายุศม์ได้ ๖๔ พรรษา เถลิงถวัลยราชได้ ๑๗๖ เดือน กับ ๑๔ วัน เวลานั้นอายุสมเด็จได้ ๘๑ ปี เป็นสมเด็จมาได้ ๓ ปีเศษ

เมื่อสมเด็จ ทราบแน่ว่า สมเด็จพระจอมเกล้าสวรรคตแล้ว ท่านเดินร้องไห้รอบวัด เดินบ่นไปด้วยร้องไห้ไปด้วยว่า สิ้นสนุกแล้วๆ ครั้งนี้ๆ สิ้นสนุกแล้ว เดินร้องไห้โฮๆ รอบวัดระฆัง ดังจนใครๆ ได้ยิน ครั้นสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเถลิงถวัลยราชสืบสันตติวงศ์แล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงทำพระพิมพ์ ๕ ชั้น ๗ ชั้น ๙ ชั้น ขึ้นอีก ตั้งใจจะถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พิมพ์แล้วครั้งก่อนนั้น ได้แอบบรรจุไว้ในพระเกตุไชโยหมด แล้วพิมพ์พระ ๕ ชั้น ๗ ชั้น ๙ ชั้น รวมกันให้ได้ ๘๔๐๐๐ เท่ากับพระธรรมขันธ์ กำลังพิมพ์อยู่

วิธีกระทำ เช่นครั้งก่อน แปลกแต่เสกข้าวในบาตร์ใส่ด้วย จานหนังสือใส่บาตรไปด้วย ไปบิณฑบาตรก็จานหนังสือไปด้วย แล้วทำผงลงตัวเขียนยันต์ ตำปูนเพ็ชรพิมพ์ไปทุกวันๆ กลางวันไปก่อเท้าพระวัดบางขุนพรหม เจริญทิวาวิหารธรรมด้วย ดูช่างเขียนออกแบบกะส่วนให้ช่างเขียนๆ ประวัติของท่านขึ้น ที่ผ่านมาแล้วแต่ต้นจนจบตลอด จนท่านนมัสการพระพุทธบาท ตั้งแต่เป็นพระมหาโตมา จนเป็นพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ยังขึ้นพระพุทธบาทตามฤดูเสมอ เมื่อครั้งทูลกระหม่อมพระ คือสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่วัดถมอราย (ราชาธิวาส) ยังทรงซักถามพระมหาโตว่า ท่านเชื่อพระบาทลพบุรีเป็นของแท้หรือ พระมหาโตทูลว่า เป็นเจดีย์ที่น่าประหลาด เป็นที่ไม่ขาดสักการะ

ครั้น เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ยังเป็นมหาโต ในแผ่นดินพระนั่งเกล้า ทูลกระหม่อมพระยังเป็นพระราชาคณะเจ้าอาวาสวัดถมอราย ได้นิมนต์พระมหาโตไปสนทนาด้วยเป็นทางที่จะชวนเข้าหมู่ รับสั่งถามว่า มีบุรุษสองคน เป็นเพื่อนเดินทางมาด้วยกัน คนทั้งสองเดินมาพบไหมเข้า จึงทิ้งปอที่แบกมาเสีย เอาไหมไป อีกคนหนึ่งไม่เอา คงแบกเอาปอไป ท่านจะเห็นว่าคนแบกปอดีหรือคนแบกไหมดี

มหาโตทูลเฉลยไปอีกทางหนึ่ง ว่า ยังมีกระต่ายสองตัว ขาวตัวหนึ่ง ดำตัวหนึ่ง เป็นเพื่อนร่วมหากินกันมาช้านาน วันหนึ่งกระต่ายสองตัวเที่ยวและเล็มหญ้ากิน แต่กระต่ายขาวเห็นหญ้าอ่อนๆ ฝั่งฟากโน้นมีชุม จึงว่ายน้ำข้ามฟากไปหากินฝั่งข้างโน้น กระต่ายดำไม่ยอมไป ทนกินอยู่ฝั่งเดียว แต่นั้นมา กระต่ายขาวก็ข้ามน้ำไปหาหญ้าอ่อนกินฝั่งข้างโน้นอยู่เรื่อย วันหนึ่งขณะที่กระต่ายขาวกำลังว่ายน้ำข้ามฟาก บังเกิดลมพัดจัด มีคลื่นปั่นป่วน กระแสน้ำเชี่ยวกราก พัดพาเอากระต่ายขาวไป จะเข้าฝั่งไหนก็ไม่ได้ เลยจมน้ำตายในที่สุด ส่วนกระต่ายดำก็ยังเที่ยวหากินอยู่ได้ไม่ตาย ฝ่าธุลีพระบาทลองทำนายว่ากระต่ายตัวไหนดี


(ทั้งสองเรื่อง นัยอันนี้ เชิญออกความเห็นเอาเอง)

เมื่อ ใน แผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยายคุ้น ท้าวแฟง เก็บตลาดเอาผลกำไรได้มาก แกรู้ว่าในหลวงทรงโปรดผู้ทำบุญสร้างวัด แกจึงสร้างวัดด้วยเงินรายได้ของแก สร้างเป็นวัดที่ในตรอกแฟง พระนคร ครั้นสร้างวัดแล้ว แกทูลขอพระราชทานนาม ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานนามว่า วัดคณิกาผล

แกจึงนิมนต์มหาโตไปเทศน์ฉลอง มหาโตเทศน์ว่า เจ้าภาพคิดเพื่อเหตุเช่นนี้ ทำด้วยผลทุนรอนอย่างนี้ย่อมได้อานิสงส์สลึงเฟื้อง เช่นตากับยาย ฝังเงินเฟื้องไว้ที่ศิลารองหน้าบันได เงินสลึงเฟื้องหนีไปเข้าคลังเศรษฐี ไปติดอยู่กับเงินก้อนใหญ่ของเศรษฐี ตาจึงขุดตามรอยที่เงินหนีเข้าไปจนถึงบ้านเศรษฐี เศรษฐีจึงห้ามมิให้ขุด ตาก็จะขุดให้ได้ อ้างว่าจะขุดตามเงินอ้ายน้อยไปหาอ้ายใหญ่ เศรษฐีจึงถามว่า อ้ายน้อยคืออะไร ตาก็บอกว่า อ้ายน้อยคือเงินที่เทวดาให้ผมสลึงเฟื้อง

เศรษฐี มั่นใจว่า เงินในคลังมีแต่ก้อนใหญ่ๆ ทั้งนั้น เงินย่อยหามีไม่ จึงท้าตาว่า ถ้าขุดตามได้เงินสลึงเฟื้อง เราจะทำขวัญให้ตา หนักเท่าตัว ถ้าขุดตามไม่ได้จะเอาเรื่องกับตา ฐานเป็นคนร้ายบุกรุก ตาก็ยินยอม เลยขุดต่อไปได้พบเงินสลึงเฟื้อง คลานเข้าไปกอดกับเงินก้อนใหญ่ของเศรษฐีอยู่ เศรษฐีก็ยอมให้ตาปรับตามที่ตกลงกันไว้ ครั้นเอาตัวตาขึ้นชั่ง ก็ได้น้ำหนักเพียงแค่สลึงเฟื้อง ตามที่เทวดาเคยชั่งให้ ด้วยผลบุญที่ทำไว้น้อย ตั้งมูลไว้ผิดฐาน ดังเจ้าของวัดนี้สร้างลงไปจนแล้ว เป็นการดี แต่ฐานบุญไม่ถูกบุญใหญ่ ผลจึงใหญ่ไปไม่ได้ คงได้สลึงเฟื้องของเศษบุญเท่านั้น

เจ้าของวัดขัดใจโกรธหน้าแดง แกเกือบจะด่าเสียอีก แต่เกรองเป็นหมิ่นประมาท แกประเคนเครื่องกัณฑ์ กระแทกๆ กังกุกกักใหญ่ แกก็ขึ้นไปเชิญเสด็จทูลกระหม่อมพระมาประทานธรรมบอกอานิสงค์บ้างต่ออีกกัณฑ์ ทูลกระหม่อมทรงแสดงถึงจิตของบุคคล ที่ทำกุศลว่า ถ้าทำด้วยจิตผ่องใสไม่ขุ่นมัว จะได้ผลมาก ถ้าทำด้วยจิตขุ่นมัวย่อมได้ผลน้อย ดังเช่นสร้างวัดนี้ ด้วยเรื่องขุ่นมัวทั้งนั้น แต่ท่านหาโตท่านชักนิทานเรื่องทุกคะตะบุรุษที่เคยทำกุศลเศร้าหมองไว้แต่ปุ เรชาติ ครั้นมาชาตินี้ ได้อัตตภาพเป็นมนุษย์เหมือนเขา แต่ยากจนจึงได้ไปอ้อนวอนขอเงินเทวดาที่ต้นไม้ใหญ่ เทวดารำคาญจึงชั่งตัวบุรุษนั้นแล้วให้เงินตามน้ำหนัก ครั้นจะให้น้อยก็จะว่าแกล้งให้ ครั้นจะให้มากก็ไม่เห็นมีบุญคุณควรจะได้มาก เทวดาจึงชั่งตัวให้เขาจะได้สิ้นธุระต่อว่าต่อขาน ชั่งให้ตามน้ำหนักตัว เป็นอันหมดแง่ที่จะค้อนติงต่อว่า

เรื่องนี้ในฎีกาพระอภิธรรมพระ ฎีกาจารย์ท่านแต่งไว้ทำฉากให้พระมหาโตตัดสินบุญรายนี้ ว่าได้ผลแห่งบุญจะอำนวยเพียงเล็กน้อย คือท่าน แบ่งผลบุญเป็น ๘ ส่วน คงได้ผลแต่ ๓ ส่วน เหมือนเงิน ๑ บาท แปดเฟื้อง โว่งเว้าหายไปเสีย ๕ เฟื้อง คือ ๕ ส่วน คงได้แต่ ๓ ส่วน นี่ยังดีนักทีเดียว ถ้าเป็นความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว คงจะตัดสินให้ได้บุญเพียงสองไพเท่านั้น ในการสร้างวัดด้วยวิธีคิดในใจไว้แต่เดิมเท่านี้ มีดีเท่านี้ เอวัง ก็มี

(เทศน์ ๒ กัณฑ์นี้ ควรผู้สดับคิดวินิจฉัยเอาเอง)

อนึ่ง ในแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แต่เมื่อครั้งยังเป็นพระเทพกระวี ได้เคยเทศน์คู่กับพระพิมลธรรม (ถึก) วัดพระเชตุพนเสมอ เป็นคู่เทศน์ที่เผ็ดร้อนถึงอกถึงใจคนฟัง จนความทราบถึงพระกรรณสมเด็จพระจอมเกล้า ทรงนิมนต์เจ้าคุณทั้ง ๒ เข้าไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวังครั้งหนึ่ง สมเด็จพระจอมเกล้าทรงติดเงินพระราชทานให้สลึงเฟื้อง พระเทพกระวีไหวทัน หันมาบอกพระพิมลธรรมว่า เจ้าถึกจ๋า เจ้าถึก เจ้าถึกรู้หรือยังฯ พระพิมลธรรมถามว่า จะให้รู้อะไรอีหนาฯ อ้าว ท่านเจ้าถึกยังไม่รู้ตัว โง่จริงๆ แฮะฯ

ท่านเจ้าถึกถามรุกใหญ่ว่า จะให้รู้อะไรอีก นอกคอกเปล่าๆ พระเทพกระวีว่า จะนอกคอกทำไม เรามาเทศน์กันวันนี้ ในวังมิใช่หรือฯ รับว่า ในวังนั่นซีฯ ก็ในวัง ในคอก ในกำแพงด้วยซ้ำรู้ไหมหละฯ รู้อะไรนะฯ จงรู้เถิด จะบอกให้ว่า ท่านเจ้าถึกนั้น หัวล้านมีศรี ฝ่ายพระเทพกระวีนั้นหัวเหลือง สมเด็จพระบรมบพิตร จึงทรงติดให้สลึงเฟื้อง รู้ไหมฯ พอหมดคำ ก็ ฮาครืนแน่นคึกบนพระที่นั่ง เลยให้รางวัลองค์ละ ๑๐ บาท พ่อจงเอาเงินนี้มาแบ่ง จงจัดแจงให้เข้าใจ พ่อถึกหัวล้าน พ่อโตหัวเหลือง เป็นหัวละเฟื้องสองไพฯ ได้อีกฮา ได้องค์ละ ๑๐ บาท คราวนี้เจ้าจอมคิกคักกันเซ็งแซ่ คุณเฒ่าคุณแก่ยิงเหงือกยิงฟัน อ้าปากกันหวอไปหมด สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงพระสรวล แล้วถวายธรรมเทศนาปุจฉา วิสัชนาสืบไปจนจบฯ

ครั้งหนึ่งเมื่อยังเป็น พระเทพกระวี ได้เข้าไปฉันบนพระที่นั่งแล้วยถาจบ สมเด็จพระจอมเกล้า ทรงสัพยอกว่า ทำไมจึงไปให้เปรตเสียหมด คนผู้ที่ทำจะไม่ให้บ้างหรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ยถาใหม่ว่า ยถา วาริ วหา ปุราปริม ปุเรนฺติสาครํ เอว เมวอิโตทินนํ ทายกานํ ทายิกานํ สพฺเพสํ อุปกปฺปติ รับสั่งว่า ยถาอุตตริ สัพพีอุตตรอย แล้งทรงรางวัล ๖ บาท สมเด็จเข้าวังทีใด อะไรมิอะไรก็ขยายให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้รางวัลทุกคราวฯ

การจะ นิมนต์ สมเด็จไปเทศน์ ถ้ากำหนดเวลาท่านไม่รับ ถ้าไม่กำหนดเวลาท่านรับทุกแห่ง ตามแต่ท่านจะไปถึง คราวหนึ่งเขานิมนต์ท่านไปเทศน์ที่วัดหนึ่งในคลองมอญ สมเด็จไปถึงแต่เช้า เจ้าภาพเลยต้องจัดให้มีเทศน์พิเศษขึ้นอีกกัณฑ์หนึ่ง เพราะกำหนดเอาไว้ว่า จะมีเทศน์คู่ ตอนฉันเพลแล้ว เมื่อสมเด็จไปถึงก่อนเวลา เลยต้องนิมนต์ให้เทศน์เป็นพิเศษเสียก่อนกัณฑ์หนึ่ง พอ ๔ โมงกว่า พระพิมลธรรม (ถึก) คู่เทศน์ก็ไปถึง สมเด็จก็หยุดลง ฉันเพล

ครั้น ฉันแล้วก็ขึ้นเทศน์ สมเด็จถามท่านเจ้าถึก ท่านเจ้าถึกติด เลยนิ่ง สมเด็จบอกกล่าวสัปปรุสว่า ดูนะดูเถิดจ๊ะ ท่านเจ้าถึกเขาอิจฉาฉัน เขาเห็นฉันเทศน์ ๒ กัณฑ์ เขาเทศน์ยังมิได้สักกัณฑ์ เขาจึงอิจฉาฉัน ฉันถามเขา เขาจึงไม่พูด ถามไม่ตอบ นั่งอม..... ได้ยินว่าทายกเขาจัดเครื่องกัณฑ์ให้ท่านเจ้าถึก ได้เท่ากับ ๒ กัณฑ์ เครื่องเท่ากันแล้ว ท่านเจ้าถึก จึงถามบ้างว่า เจ้าคุณ โทโสเป็นกิเลสสำคัญ พาเอาเจ้าของต้องเสียทรัพย์ เสียชื่อเสียงเงินทอง เสียน้องเสียพี่ เสียที่เสียทาง เสียอย่างเสียธรรมเนียม เสียเหลี่ยมเสียแต้ม เพราะลุแก่อำนาจโทโส ให้คุณให้ทุกข์แก่เจ้าของมากนัก ก็ลักษณะแรก โทโสจะเกิดขึ้น เกิดตรงที่ไหนก่อนนะขอรับ ขอให้แก้ให้ขาว

สมเด็จ นั่งหลับ กรนเสียด้วย ทำเป็นไม่ได้ยินคำถาม ท่านเจ้าถึกก็ถามซ้ำอีก ๒-๓ ครั้ง สมเด็จก็นั่งเฉย ท่านเจ้าถึกชักฉิว ตวาดแหวออกมาว่า ถามแล้วไม่ฟัง นั่งหลับใน ท่านเจ้าถึกตวาดซ้ำไป สมเด็จตกใจตื่น แล้วด่าออกไปด้วยว่า อ้ายเปรต อ้ายกาก อ้ายห่า อ้ายถึกกวนคนหลับฯ

ท่านเจ้าถึกมีพื้นฉิว อยู่ก่อนแล้ว ครั้นถูกด่าเสียเกียรติในที่ประชุมชนเช่นนั้น ก็ชักโกรธ ชักฉิว ลืมสังวร จึงจับกระโถนปามาตรงสมเด็จ สมเด็จนั่งภาวนากันตัวอยู่ กระโถนไพล่ไปโดนเสาศาลา กระโถนแตกเปรี้ยงดัง สมเด็จเทศน์ผสมซ้ำ แก้ลักษณะโทโสว่า สัปปรุสดูซิ เห็นไหมๆ เจ้าคุณพิมลธรรมองค์นี้ ท่านดีแต่ชอบคำเพราะๆ แต่พอได้ยินเสียงด่า ก็เกิดโทโสโอหัง เพราะ อนิฐารมณ์ รูปร่างที่ไม่อยากจะดู มากระทบนัยน์ตา เวียงที่ไม่น่าฟังมากระทบหู กลิ่นที่ไม่น่าดมมากระทบจมูก รสที่ไม่น่ากินมากระทบลิ้น สัมผัสความกระทบถูก มากระทบถึงกาย ความคิดที่ไม่สมคิดผิดหมายมากระทบใจ ให้เป็นมูลมารับ เกิดสัมผัสชาเวทนาขึ้นภายใน สำรวมไม่ทันจึงดันออกข้างนอก ให้คนอื่นเขารู้ว่าโกรธ ดังเช่นเจ้าคุณพิมลธรรม เป็นตัวอย่าง

ถ้า เขายอท่านว่า พระเดชพระคุณแล้วท่านยิ้ม พอเขาด่าก็โกรธ โทโสเกิดในทวาร ๖ เพราะถูกกระทบกระเทือนสิ่งที่เป็นอนิฐารมณ์ไม่พอใจ ก็เกิดโกรธ แต่โทโสก็ไม่มีอำนาจกดขี่เจ้าของเลย เว้นแต่เจ้าของโง่ เผลอสติ เช่นพระพิมลธรรมถึกนี้ โทโสจึงกดขี่ได้ ถ้าฉลาดแล้ว ระวังตั้งสติไม่พลุ่มพล่าม โทโสเป็นสหชาติเกิดกับด้วยจิต ไม่ได้ติดอยู่กับใจ ถึงเป็นรากเหง้าเค้ามูลก็จริง แต่เจ้าของไม่นำพา หรือคอยห้ามปรามข่มขู่ไว้ โทโสก็ไม่เกิดขึ้นได้ เปรียบเช่นพืชพันธุ์เครื่องเพาะปลูก เจ้าของอย่าเอาไปดอง อย่าเอาไปแช่ อย่าเอาไปหมักในที่ฉำแฉะแล้ว เครื่องพืชพันธุ์ เพาะปลูกทั้งปวงไม่ถูกขึ้นแล้วงอกไม่ได้ โทโสก็เช่นกัน ถ้าไม่รับให้กระทบถูกแล้ว โทโสก็ไม่เกิดขึ้นได้ ดูแต่ท่านเจ้าถึกเป็นตัวอย่าง ตัวท่านเป็นเพศพระ ครั้นท่านขาดสังวรท่านก็กลายเป็นพระ กระโถนเลยพลอยแตกโพละ เพราะโทโสของท่าน ท่านรับรองยึดถือทำให้มูลแฉะชื้น จงจำไว้ทุกคนเทอญ
มี รายหนึ่ง นิมนต์ท่านเจ้าคู่นี้ไปเทศน์ ท่านก็ใส่กัน เป็นต้นว่า สมเด็จเจ้าโต ท่านเทศน์บอกสัปปรุสว่า รูปไปเทศน์กลางทุ่งนา ยังมีหมาตัวหนึ่ง เจ้าของเขาเรียกว่าอ้ายถึก อ้ายถึกมันแฮ้ใส่อาตมา อาตมาไม่มีอะไรจะสู้อ้ายถึก หมา มีแต่หุบบานๆ สู้มันจ๊ะ หุบบานไม่ใช่อื่นหยาบคายหนาจ๋า คือฉันเอาร่มนี่เอง กางบานแล้วหุบเข้าจ๊ะ หุบบานๆ แล้วหมาหนี

ครั้งหนึ่ง เข้าบิณฑบาตเวรในหระบรมมหาราชวัง พอถึงตรงบันทรง เสื่อกระจูดลื่นแทบขะมำ แต่ท่านหลักดี มีสติสัมปชัญญะมาก ท่านผสมก้มลงจับมุมเสื่อ เต้นตามเสื่อตุ้บตั้บไป สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงทำพระสุรเสียง โอ่ะ โห่ะๆๆ เจ้าคุณหลักดี เจ้าคุณหลักดี ทรงชมฯ

ครั้ง หนึ่ง ไปเทศน์บ้านขุนนางผู้หนึ่ง พอบอกศักราชแล้วคุยขึ้นว่า วันนี้เสียงคล่องเทศน์กุมารก็ได้ ขุนนางผู้นั้นเลยให้เทศน์ทำนองกุมาร ข่าวว่าเพราะดี หญิงชอบ ครั้งหนึ่งเขานิมนต์ไปเทศน์ที่ศาลาบ้านหม้อ อ.บางตะนาวศรี กัณฑ์ชูชก ท่านไปถึงยามสาม เขาไปนอนกันหมด ท่านไปถึงให้คนแจวตีกลองตูมๆ ขึ้นแล้ว ท่านเทศน์ชูชกไปองค์เดียว ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาฟังท่านยันรุ่ง

ครั้งหนึ่งไปเทศน์ที่บ้าน ขุนนางที่อยู่ริมน้ำ เขาตั้งธรรมาสน์เทศน์ ยังไม่มา ท่านจอดเรือถือคัมภีร์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ว่า อด อด อด อดๆ อยู่นาน แล้วลงธรรมาสน์ไป

ครั้งหนึ่ง ไปทอดกฐินทางอ่างทอง ไปจอดนอนท้ายเกาะใหญ่ ท่านจำวัดบนโบสถ์วัดท่าซุง คนเรือนอนหลับหมด ขโมยล้วงเอาเครื่องกฐินไปหมด ท่านดีใจยิ้มแต้ แล้วกลับลงมา ชาวบ้านถามว่า ท่านทอดแล้วหรือ ท่านตอบว่าทอดแล้วจ้ะ แบ่งบุญให้ด้วย แล้วท่านเลยซื้อหม้อบางตะนาวศรีบรรทุกเต็มละ ใครถามว่าเจ้าคุณซื้อหม้อไปทำไมมาก ท่านตอบว่า ไปแจกชาวบางกอกจ๊ะ แล้วแจวลัดเข้าคลองบางลำภู ไปออกคลองโอ่งอ่าง คลองสะพานหิน เลยออกไปแม่น้ำ แล้วขึ้นวัดระฆัง วันนั้น หวยออก ม หันหุนเชิด คนคอยหวยถูกกันมาก แต่กินหู้หมด ท่านแจกหม้อหมดลำ ถ้าบ้านไหนนิมนต์เทศน์ท่านรับ กำหนดเวลาไม่ได้ ที่แห่งหนึ่ง เจ้าของเขาหลับแล้ว ท่านไปนั่งเทศน์ที่ประตูบ้านก็มี หัวบันไดบ้านก็มีฯ

อนึ่งการ บิณฑบาตไม่ขาด ท่านชอบไปจอดเรือในคลองบางนกแขวก พวกเข้ารีตมาก แล้วท่านออกบิณฑบาตตอนเช้า พวกเข้ารีตเข้าใจว่ามาขอทาน เขาใส่ข้าวสาร หมูดิบ ท่านก็มานั่งเคี้ยวข้าวสาร กับหมูดิบ

บางทีไปเทศน์ทางคลอง บางนกแขวก ท่านนอนจำวัด หลับไป พอบ่ายสองโมงตื่น ท่านถามคนแจวเรือว่าเพลหรือยัง เขาเรียนว่าเพลแล้วขอรับ ท่านถามว่าเพลที่ไหนจ๊ะ เขาเรียนว่าเพลที่วัดล่างขอรับกระผม

ท่าน อ้อนวอนเขาว่า พ่อคุ้น พ่ออย่าเห็นกับเหน็ดกับเหนื่อย พ่อช่วยพาฉันไปฉันเพลที่วัดตีกลองเพลสักหน่อยเถอะจ๊ะ นึกว่าช่วยชีวิตฉันไว้ คนเรือแจวกลับลงไปอีก สามคุ้งน้ำถึงวัดที่ตีกลอง ท่านขึ้นไปขออนุญาตสมภารเจ้าวัด สมภารยอมปูเสื่อที่หอฉันใกล้กับกลอง แล้วคนเรือยกสำรับกับข้าวขึ้นไปประเคนท่าน ท่านก็ฉัน สมภารมาคอยดูแล พระเด็กๆ แอบดู เจ้าพวกเด็กวัด ก็กรูเกรียวมาห้อมล้อม บ้างตะโกนกันว่า พระกินข้าวเย็นโว้ย เด็กบางคนเกรียวเข้าไปบอกผู้ใหญ่ถึงบ้าน เขาพากันออกมา บ้างมีส้มขนมกับข้าวลูกไม้ ก็ออกมาถวายเป็นอันมาก ฉันไม่หวาดไม่ไหว เลยเลี้ยงเด็กเลี้ยงคนเรืออิ่มแต้ตามกัน

(บางทีท่านอาจเห็นในตติย คัณฐีฎีกา แก้โภชนะมีบาลีว่า "อัญญตฺร รตฺติยา มาภุญชติ" แปลว่า ให้เจ้าภิกษุขบฉันในเวลากาล ตั้งแต่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้น จนถึงดวงอาทิตย์ตก ยังเห็นดวง เรียกว่ากาล ถ้าค่ำคืน เรียกว่าวิกาล ฉันกลางวันนี้ เป็นบัญญัติเพิ่มเติม เมื่อครั้งแผ่นดินพระพิมลธรรม ในกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่)

อนึ่งจรรยาอาการของสมเด็จพระ พุฒาจารย์โต พระองค์นี้ ประพฤติอ่อนน้อมยำเกรงผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ ถ้าแบกพระคัมภีร์เรียน สามเณรแบกคัมภีร์เรียน หากท่านไปพบกลางถนนหนทาง ท่านเป็นต้องหมอบก้มลงเคารพ ถ้าพระเณรไม่ทันพิจารณา สำคัญว่าท่านก้มตนเคารพตน และก้มตอบเคารพตอบท่าน ทีนั้นเถอะไม่ต้องไปกัน ต่างคนต่างหมอบกันแต้อยู่นั่นเอง

ตั้งแต่ท่านรับสมณศักดิ์เป็นที่ พระธรรมกิตติ จนกระทั่งเป็นพระเทพกวี ได้มีความผิดครั้งหนึ่ง เมื่อเทศน์ถึงตั้งกรุงกบิลพัสดุ์ และตั้งวงศ์สักยราช ในพระปฐมโพธิ ปริจเฉทที่ ๑ นั้น แต่ในสมัยใช่กาลจะเทศน์พระปฐมโพธิปริจเฉทที่ ๑ ไม่ใช่กลางเดือน ๖ ท่านก็นำไปเทศน์ถวายว่า เมื่อตั้งกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว จึงนำบุตรกษัตริย์ในวงศ์เดียวกันมาเสก แต่กษัตริย์องค์แรกได้นำพระขนิษฐานารีมาอภิเษก ตามลัทธิคติของพวกพราหมณ์ที่พากันนิยมว่าแต่งงานกันเองไม่เสียวงศ์ จนเป็นโลกยบัญญัติสืบมาช้านาน จนถึงกษัตริย์โอกากะวงศ์รัชกาลที่ ๑ รวมพี่น้อง ๗ องค์ เจ้าชาย ๓ เจ้าหญิง ๓ ออกจากเมืองพระราชบิดามาตั้งเป็นราชธานี ขนานนามว่ากรุงกบิลพัสดุ์ ตามบัญญัติของกบิลฤๅษี ต่อนี้ไปก็แต่งงานราชาภิเษก พี่เอาน้อง น้องเอาพี่ เอากันเรื่อยไม่ว่ากัน เห็นตามพราหมณ์เขาถือมั่นว่าอะสมภินนะวงศ์ ไม่แตกพี่แตกน้อง แน่นแฟ้นดี บริสุทธิ์ไม่เจือไพร่ คราวนี้เลียนอย่างมาถึงประเทศใกล้เคียงมัชฌิมประเทศก็พลอยเอาอย่างกันสืบๆ มา จนถึงสยามประเทศก็เอาอย่าง เอาพี่เอาน้องขึ้นราชาภิเษกและสมรสกันเป็นธรรมเนียมมา

สมเด็จพระ จอมเกล้าฯ ไม่พอพระราชหฤทัย ไล่ลงธรรมาสน์ไป ไป ไป ไปให้พ้นพระราชอาณาจักร ไม่ให้อยู่ในดินแดนของฟ้า ไปให้พ้น พระเทพกวีออกจากวัง เข้าไปนอนในโบสถ์วัดระฆังออกไม่ได้นาน ใช้บิณฑบาตบนโบสถ์ ลงดินไม่ได้ เกรงผิดพระบรมราชโองการ ครั้งถึงคราวถวายพระกฐิน เสด็จมาพบเข้ารับสั่งว่า อ้าวไล่แล้วไม่ให้อยู่ในราชอาณาจักรสยาม ทำไมยังขืนอยู่อีกล่ะ ขอถวายพระพร อาตมาภาพไม่ได้อยู่ในพระราชอาณาจักร อาตมาภาพอาศัยอยู่ในพุทธจักร ตั้งแต่วันที่มีพระราชโองการ อาตมาภาพไม่ได้ลงดินของมหาบพิตรเลย ก็กินข้าวที่ไหน ไปถานที่ไหน ขอถวายพระพร บิณฑบาตบนโบสถ์นี้ฉัน ถานในกระโถน เทวดาคนนำไปลอยน้ำ

รับสั่งว่า โบสถ์นี้ไม่ใช่อาณาจักรสยามหรือ ถวายพระพรว่า โบสถ์เป็นวิสุงคาม เป็นส่วนหนึ่งจากพระราชอาณาจักร กษัตริย์ไม่มีอำนาจขับไล่ได้ ขอถวายพระพร

ลงท้าย ขอโทษฯ แล้ว ทรงถวายกฐิน

ครั้นเสร็จการกฐินแล้ว รับสั่งว่า อยู่ในพระราชอาณาจักรสยามได้ แต่วันนี้เป็นต้นไป

(เหตุนี้แหละ ทำให้พระเทพกวี คิดถวายอดิเรก ทั้งเป็นคราวหมดรุ่นพระผู้ใหญ่ด้วย)

ครั้น เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์แล้ว ท่านก็ยิ่งเป็นตลกมากขึ้น คอยไหวพริบในราชการแจจัดขึ้น ยิ่งกว่าเป็นพระเทพกวี ดูเหมือนคอยแนะนำเป็นปุโรหิตทางอ้อม

ครั้งหนึ่งไปสวดมนต์ที่วังกรม เทวาฯ วังเหนือวัดระฆัง พอพายเรือไปถึงท้ายวัง เกิดพายุใหญ่ ฝนตกห่าใหญ่ เม็ดฝนโตโต คลื่นก็จัด ละลอกก็จัด สมเด็จพระพุฒาจารย์เอาโอต้นเถามาใบหนึ่ง แล้วจุดเทียนติดปากโอแล้วลอยลงไป บอกพระให้คอยดูด้วยว่าเทียนจะดับเมื่อใด พระธรรมถาวรเล่าว่า เวลานั้นท่านเป็นที่พระครูสังฆวิชัย ได้เป็นผู้ตั้งตาคอยตามดู แลเห็นเป็นแต่โอโคลงไปโคลงมา เทียนก็ติดลุกแวบวาบไปจนสุดสายตาเลยหน้าวัดระฆังก็ยังไม่ดับ

และ ท่านเข้าบ้านแขก บ้านจีน สวนใหญ่ๆ เดินได้สบายไม่ต้องเกรงสุนัขที่เขาเลี้ยงนอนขวางทาง ท่านต้องก้มให้สุนัข แล้วยกมือขอทางเจ้าสุนัข ว่าขอดิฉันไปสักทีเถิดจ๊ะ แล้วก้มหลีกไป ไม่ข้ามสุนัข จะดุเท่าดุอย่างไร จะเป็นสุนัขฝรั่งหรือสุนัขไหหลำก็ไม่แห้ ไม่เห่าท่าน นอนดูท่านทำแต่ตาปริบๆ มองๆ เท่านั้น โดยสุนัขที่ปากเปราะๆ ก็ไม่เห่า ไม่ห้ามท่าน

ครั้งหนึ่ง สมโภชพระราชวังบนเขามไหสวรรค์ เมืองเพชรบุรี สังฆการีวางฎีกาท่านไปเรือญวน ๔ แจว ออกทางปากน้ำบ้านแหลม เวลานั้นทะเลเป็นบ้า คลื่นลมจัดมาก ชาวบ้านอ่าวบ้านแหลมช่วยกันร้องห้ามว่า เจ้าประคุณอย่าออกไป จะล่มตาย ท่านตอบไปว่า ไปจ๊ะ ไปจ๊ะ ท่านออกยืนหน้าเก๋ง เอาพัชนีใบตาลโบกแหวกลมหน้าเรือ ลูกคลื่นโตกว่าเรือท่านมาก บังเรือมิด แต่ทางหน้าเรือคลื่นไม่มี ลมก็แหวกทางเท่ากับแจวในลำท้องร่อง น้ำเรียบแต่น้ำข้างๆ กระเซ็นบ้าง เพราะคลื่นเข้าข้างเรือทั้งสองโตเป็นตลิ่งทีเดียว พระธรรมถาวรเล่าว่า เวลานั้นท่านเป้นพระครูปลัดไปกับท่านด้วย ได้เห็นน่าอัศจรรย์ ใจท่านหายๆ ดูไม่รู้จะคิดเกาะเกี่ยวอะไร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านยืนโบกพัดเฉย คนก็แจวเฉยเป็นปกติ จนเข้าปากน้ำเมืองเพชร ท่านจึงเข้าเก๋งเอนกาย ชาวปากอ่าวเมืองเพชรเกรงบารมีสมเด็จท่านมาก ยกมือท่วมๆ หัว สรรเสริญคุณสมบัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตลอดจนเจ้าขุนนางที่ตามเสด็จคราวนั้นว่า เจ้าพระคุณสำคัญมาก แจวฝ่าคลื่นลมกลางทะเลมาได้ตลอดปลอดโปร่งปราศจากอุทอันตราย

สมเด็จ พระพุฒาจารย์ (โต) ว่างราชการและว่างเทศนา ท่านก็อุตส่าห์ให้คนโขลกปูนเพชรผสมผงและเผาลาน โขลกกระดาษว่าวเขียนยันต์อาคมต่างๆ โขลกปนกันไป จัดสร้างเป็นพระพิมพ์ผง

ใน ปีฉลู สัปตศก ๑๒๒๗ ปีนั้นเอง สมเด็จพระปวเรนทราเมศร์มหิศเรศร์รังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบวรราชวัง (วังหน้า) เสด็จสวรรคต ในพระที่นั่งอิศเรศร์ ณ วัน..... เดือนยี่ เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลที่ ๔ เถลิงราชย์ ได้อุปราชาภิเศก ๑๔ ปี กับ ๓ เดือน พระชนม์ ๕๗ กับ ๔ เดือน ประกอบโกศตั้งบนพระเบญจา ในพระที่นั่งอิศเรศร์ฯ นั้น

สมเด็จพระจอม เกล้าฯ เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในพระบวรศพ แต่พอเสด็จถึงพระทวารพระที่นั่งนั้น พวกพระสวดพระอภิธรรม ๘ รูปท่านตกใจ เกรงพระบรมเดชานุภาพ ท่านลุกวิ่งหนีเข้าแอบในพระวิสูตร (ม่าน) ที่กั้นพระโกศ ทรงทราบแล้วกริ้วใหญ่ แหวๆ ว่า ดูซิ ดูซิ ดูถูกข้า มาเห็นข้าเป็นเสือ เป็นยักษ์ เอาไว้ไม่ได้ ต้องให้มันสึกให้หมด รับสั่งแล้วทรงพระอักษรถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ส่งให้พระธรรมเสนา (เนียม) นำลายพระราชหัตถ์เลขามาถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รับจากสังฆการีมาอ่านดูแล้ว ท่านก็จุดธูป ๓ ดอก แล้วจี้ที่กระดาษว่างๆ ลายพระหัตถ์นั้น ๓ รู แล้วส่งให้พระธรรมเสนานำมาถวายคืนในเวลานั้นฯ

ครั้นพระธรรมเสนาทูล เกล้าถวาย ทรงทอดพระเนตรเห็นรูกระดาษไหม้ ไม่ลามถึงตัวหนังสือ ก็ทรงทราบธรรมปฤษณา จึงรับสั่งว่า "อ้อ ท่านให้เราดับราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นไฟ ๓ กอง งดที งดที เอาเถอะๆ ถวายท่าน พระธรรมเสนาไปเอาตัวพระสวดมานั่งประจำที่ให้หมด แล้วทรงแนะนำสั่งสอนระเบียบจรรยาในหน้าพระที่นั่ง ให้พระรู้ระเบียบรับเสด็จ แต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้ฯ"

ครั้นถึง เดือน ๑๑ - ๑๒ ลอยกระทงหลวง เสด็จลงประทับบนพระที่นั่งชลังคะพิมาณ (ตำหนักแพ) พร้อมด้วยฝ่ายในเป็นอันมาก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แจวเรือข้ามฟากฝ่าริ้วเข้ามา เจ้ากรมเรือตั้งจับเรือแหกทุ่น รับสั่งถามว่าเรือใคร เจ้ากรมกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รับสั่งว่า เอาเข้ามานี่ ครั้นเจ้ากรมเรือ ดั้ง นำเรือสมเด็จฯ เข้าไปถวาย นิมนต์ให้นั่งแล้วรับสั่งว่าไปไหน ทูลขอถวายพระพร ตั้งใจมาเฝ้า ทำไมถึงเป็นสมเด็จเจ้าแล้ว เหตุใดต้องแจวเรือเอง เสียเกียรติยศแผ่นดิน ทูล ขอถวายพระพร อาตมภาพทราบว่า เจ้าชีวิตเสวยน้ำเหล้า สมเด็จเจ้าก็ต้องแจวเรือ อ้อ จริง จริง การกินเหล้าเป็นโทษ เป็นมูลเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติยศแผ่นดินใหญ่โตทีเดียว ตั้งแต่วันนี้ไป โยมจะถวายพระคุณเจ้า จักไม่กินเหล้าอีกแล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์เลย ยถาสัพพี ถวายอติเรก ถวายพระพรลา รับสั่งให้ฝีพายเรือดั้งไปส่งถึงวัดระฆัง

เรื่องราว ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) กระทำ และเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตามที่มีผู้เล่าบอกออกความให้ฟังนั้นหลายร้อยเรื่อง ได้เลือกคัดจดลงแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านผู้ฟัง จะเป็นหิตานุหิตสารประโยชน์แก่บุคคลชั้นหลังๆ ที่นับถือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) และจะได้ประกอบเกียรติคุณของท่านไว้ให้เป็นที่ระลึกของคนชั้นหลังๆ จะยกขึ้นเล่าให้เป็นเรื่องหลักฐานบ้าง พอเป็นความดำริตามภูมิรู้ภูมิเรียน ภูมิปัญญาของสุตวาชน สุตะถามะชน ธัมมฑังสิกชน เพื่อผู้แสดงความรู้ ใครเป็นพหูสูตร ออกความเห็นเทียบเคียงคัดขึ้นเจรจาโต้ตอบกัน บุคคลที่ใคร่แสดงตนว่าช่างพูด ถ้าหากว่าอ่านหนังสือน้อยเรื่อง หรืออ่านแล้วไม่จำ หรือจำแล้วไม่ตริตรองตาม หรือ ตริตรองแล้วแต่ไม่วิจารณ์ วิจารณ์มีบ้าง แต่ไม่มีญาณเครื่องรู้ผุดขึ้น ก็เป็นพหูสูตไม่ได้ เพราะขาดไร้เครื่องรู้ไม่ดูตำรา

เหตุนี้ท่านจึงยกย่องบำรุงตำราไว้ มาก สำหรับเป็นเครื่องรู้ เครื่องเห็น เครื่องเทียบ เครื่องทาน เครื่องเรียนต่างๆ ไว้เป็นปริยัติศาสนา แต่เรื่องของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์นี้ไม่มีกวีใดจะเรียบเรียงให้เป็นเรื่องราวเลย เป็นแต่เล่าสู่กันฟัง พอหัวเราะแก้รำคาญ คนละคำสองคำ แต่ไม่ใคร่ตลอดเรื่องสักคนเดียว ข้าพเจ้าจึงอุตริอุตส่าห์สืบสาวราวเรื่องของท่านรวบรวมไว้ แล้วนั่งเรียงเป็นตัวร่างเสียคราวหนึ่ง ตรวจสอบอ่านทวนไปมาก็อีกคราวหนึ่ง อ่านทานแล้วขึ้นตัวหมึก นึกรวบรัดเรื่องราวของท่านไว้อีกคราวหนึ่ง กินเวลาช้านานราวๆ สองเดือน ยังจะต้องเสนอเรื่องนี้ต่อเจ้านายใหญ่ๆ ให้ทรงตรวจอีกก็หลายวัน จะต้องขออนุญาตสมุห์กรมพระนครบาลก็อีกหลายวัน ต้องพิมพ์จ้างอีกก็หลายสิบบาท กลายเวลาด้วย

จะขอรวบรัดตัดความ เบ็ดเตล็ดของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ออกเสียบ้าง จะบรรยายเรียบเรียงไว้ แต่ข้อที่ควรอ่าน ควรฟัง ควรดำริ เป็นคติปัญญาบ้าง แห่งละอัน พันละน้อยต่อข้อความหลัง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระปรเมนทร์มหามงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านได้ประพฤติคุณงามความดี ดำรงตบะเดชะชื่อเสียงกระเดื่องเฟื่องฟุ้งมาในราชสำนักก็หลายประการ ในสงฆ์สำนักก็หลายประการ จนท่านมีคนนับถือลือชาปรากฏ ตลอดสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ เวลายาม ๑ กับ ๑ บาท สิริพระชนม์ ๖๔ เสวยราชสมบัติได้ ๑๗ ปี กับ ๖ เดือน ๑๔ วัน อายุสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ ๘๑ ปี รับตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์มาได้ ๔ ปี สิ้นรัชกาลที่ ๔ นี้

ครั้น ถึงรัชกาลที่ ๕ คือ สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเถลิงราไชยสุริยสมบัติ เป็นบรมกษัตริย์ครอบครองสยามรัฐอาณาจักร ในเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ วันพุธ ปีมะโรง ศกนั้น พึ่งเจริญพระชนมายุได้ ๑๕ ปี ๗ เดือน ๙ วัน


สมเด็จ พระพุฒาจารย์ (โต) ท่านจุดเทียนเล่มใหญ่ เข้าไปในบ้านสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) คือ สมเด็จพระประสาท ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เอาคัมภีร์หนีบรักแร้ ตาลปัตรทำหางเสือ จุดเทียนเล่มใหญ่เข้าไปที่บ้าน สมเด็จพระประสาทในเวลากลางวันแสกแสก เดินรอบบ้านสมเด็จพระประสาท (คลองสาร) สมเด็จพระประสาทอาราธนาขึ้นบนหอนั่งแล้วว่า โยมไม่สู้มืดนักดอกเจ้าคุณ อนึ่งโยมนี้มีใจแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนาแน่นอนมั่นคงเสมอ อนึ่งโยมทะนุบำรุงแผ่นดินโดยเที่ยงธรรม และตั้งใจประคับประคองสนองพระเดชพระคุณโดยตรง โดยสุจริต คิดถึงชาติและศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นที่ตั้งตรงอยู่เป็นนิตย์ ขอเจ้าคุณอย่าปริวิตกให้ยิ่งกว่าเหตุ นิมนต์กลับได้

ครั้งหนึ่ง หม่อมชั้นเล็ก ตัวโปรดของสมเด็จพระประสาทถึงอนิจกรรมลง สมเด็จพระประสาทรักหม่อมชั้นมาก ถึงกับโสกาไม่ค่อยสร่าง จึงใช้ทนายให้ไปอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ไปเทศน์ดับโศก ให้ท่านฟัง ทนายก็ไปอาราธนาว่า ฯพณฯ หัวเจ้าท่านให้อาราธนาพระเดชพระคุณ ไปแสดงธรรมแก้โศก ให้ ฯพณฯ ท่านฟังขอรับกระผมในวันนี้ เพลแล้วขอรับกระผม

สมเด็จ พระพุฒาจารย์ (โต) รับว่า จ๊ะ เรื่องเทศน์แก้โศกนั้น ฉันยินดีเทศน์นักจ๊ะ ฉันจะไปจ๊ะ ครั้นถึงเวลา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ลงเรือกราบสี ไปถึงบ้านสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์นั่งที่บัญญัติพาสน์

ฝ่าย สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ออกรับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ปฏิสัณฐานแล้วจุดเทียน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ขึ้นธรรมาสน์ ให้ศีลบอกศักราชแล้วถวายพร แล้วเริ่มนักเขปบทเป็นทำนองเส้นเหล้าในกัณฑ์ชูชกว่า "ตะทากาลิงคะรัฏเฐ ทุนนะวิฏฐะพราหมณวาสี ชูชโกนามพราหมโณ ฯลฯ ตัสสอทาสิ" แปลความว่า "ตะฑากาเล ในกาลเมื่อสมเด็จพระบรม สองหน่อชินวงศ์วิศนุเวทฯ ว่าความพระคลัง ที่สมเด็จพระประสาทแต่งขึ้นนั้น พอกล่าวถึงกำเนิดชูชกของท่านว่า ผูกขึ้นใหม่ ขบขันคมสันมากกว่าความพระคลัง เพราะแหล่นอกแบบ ต้องขำอยู่เอง และแลเห็นความเป็นจริงเสียด้วย คราวนี้สมเด็จพระประสาทก็ยิ้มแป้น พวกหม่อมๆ เหล่านั้น และคนผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้เด็ก ทนาย ข้าราชการ ฟังเป็นอันมาก ก็พากันยิ้มแป้นทุกคน

พอถึงแหล่ขอทาน แหล่ทวงทอง แหล่พานาง คราวนี้ถึงกับหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง ถึงกับเยี่ยวรดเยี่ยวราดก็มีบ้าง ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาก็หัวเราะ ถึงกับออกวาจาว่าสนุกดีจริง ขุนนางและทนายหน้าหอ พนักงานเหล่านั้น ลืมเกรองสมเด็จพระประสาท สมเด็จพระประสาทก็ลืมโศกถึงหม่อมเล็ก ตั้งกองหัวเราะกิ๊กก๊ากไปทั้งบ้าน เทศน์ไปถึงแหล่ยิง แหล่เชิญ แหล่นำทาง แหล่จบ ก็จบกัน ลงท้ายเหนื่อยไปตามๆ กัน รุ่งขึ้นที่บ้านนั้นก็พูดลือกันแต่ชูชก สมเด็จเทศน์ ฝ่ายสมเด็จพระประสาทก็ลืมโศก ชักคุยแต่เรื่องความชูชกตรงนั้นผู้นั้นๆ แต่ง ไม่มีใครร้องไห้ถึงหม่อมเล็กมานาน

ครั้นล่วงมาอีกปีหนึ่ง สมเด็จพระประสาท จัดการปลงศพหม่อมเล็ก จึงใช้ให้ทนายไปนิมนต์สมเด็จฯ มาเทศนาอริยสัจหน้าศพ ทนายไปถึงสมเด็จฯ ที่วัด แล้วก็กราบเรียนว่า ฯพณฯ ให้อาราธนาพระเดชพระคุณไปแสดงธรรมหน้าศพพรุ่งนี้ เพลแล้ว ขอรับกระผม
ฝ่าย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านจึงถามว่า จะให้ฉันเทศน์เรื่องอะไรจ๋า ทนายลืมคำอริยสัจเสีย ไพล่ไปอวดดีเรียนท่านว่า ให้เทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แจ้งชัดแล้วว่าเขาลืม และท่านก็ยิ้มแล้วรับว่า ๑๒ นักษัตรนั้นฉันเทศน์ดีนักจ้ะ ไปเรียนท่านเถิดว่า ฉันรับแล้วจ้ะ

ครั้น ถึงวันกำหนดการตั้งศพหม่อมเล็ก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ไปถึงบ้าน ฯพณฯ ท่านขึ้นบนหอ พอสมเด็จเจ้าพระยาออกหน้ามุข ขุนนางเจ้านายที่เข้าฝากตัว แลจีนเถ้าแก่ เจ้สัว เจ้าเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือมาประชุมในงานนี้มาก สมเด็จพระประสาททายทักปราศรัยบรรดาผู้ที่มา แล้วเข้ากระทำอัญชลี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แล้วท่านกล่าวชักชวนบรรดาผู้ที่มานั้นให้ช่วยกันฟังเทศน์แล้ว

สมเด็จ พระประสาทจุดเทียนธรรมาสน์เบิกธรรมะ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ให้ศีล บอกศักราช ขอเจริญพระเสร็จแล้ว ท่านก็เริ่มเทศน์กล่าวนิกเขปคาถาบทต้นขึ้นว่า มูสิโก อุสโภ พยัคโฆ สะโส นาโค สัปโป อัสโส เอฬโก มักกุโฏ สุนักโข สุกโร สังวัจฉโร ติวุจจเตติ ท่านแปลขึ้นทีเดียวว่า ชวด หนู ฉลู วัว ขาล เสือเถาะ กระต่าย มะโรง งูใหญ่ มะเส็ง งูเล็ก มะเมีย ม้า มะแม แพะ วอก ลิง ระกา ไก่ จอ หมา กุน หมู นี่แหละ เป็นชื่อของปี ๑๒ เป็นสัตว์ ๑๒ ชนิด โลกบัญญัติให้จำง่าย กำหนดงาย ถ้าไม่เอาสัตว์ ๑๒ ชนิดมาขนานปี ก็จะไม่รู้ปี กี่รอบ

ทีนี้สมเด็จ เจ้าพระยา แลไปดูทนายผู้ไปนิมนต์ ขึงตาค้อนไปค้อนมา ทำท่าจะเฆี่ยนทนายผู้ไปนิมนต์ ผิดคำสั่งของท่าน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ชี้แจงอยู่ด้วยเรื่อง ๑๒ นักษัตรง่วนอยู่ ท่านรู้ในกิริยาอาการของสมเด็จเจ้าพระยาว่าไม่พอใจทนาย ในการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง คำบัญชาการ

ท่านจึงย้อนเกร็ด กล่าวคำทับ ๑๒ สัตว์ ให้เป็นอริยสัจจธรรมขึ้นว่า ผู้นิมนต์เขาดี มีความฉลาด สามารถจะทราบประโยชน์แห่งการฟังธรรม เขาจึงขยายธรรมออกไปให้กว้างขวาง เขาจึงนิมนต์รูปให้สำแดง ๑๒ นักษัตร ซึ่งเป็นต้นทางพระอริยสัจจ์ พระอริยสัจจ์นี้ล้ำลึกสุขุมมาก ยากที่ผู้ฟังเผินๆ ถ้าจะฟังให้รู้ ให้เข้าใจจริงๆ แล้ว ต้องรู้นามปีที่ตนเกิด ให้แน่ใจก่อนว่าตนเกิดแต่ปีชวด ถึงปีชวด และถึงชวดอีก เป็น ๓ ชวด ๓ หนู รวมเป็นอายุที่ตนเกิดมานั้น คิดรวมได้ ๒๕ ปี เป็นวันที่ ๑ เรียกว่า ปฐมวัย

ในปฐมวัยต้นชั้นนี้ กำลังแข็งแรง ใจก็กล้าหาญ ความทะยานก็มาก ความอยากก็กล้า ถ้าเป็นลูกผู้ดีมีเงิน มีหน้าที่ประกอบกิจการงาน มีที่พึ่งพักอิง สถานที่อาศัย ถ้าเป็นลูกพลคนไพร่ไร้ทรัพย์ กับไม่มีที่พึ่งพาอาศัยสนับสนุนค้ำจุน ซ้ำเป็นผู้มีสติปัญญาน้อย ด้อยอ่อนในการเรียนการรู้ คราวนี้ก็ทำหน้าเศร้าสลด เสียใจ แค้นใจตัวเองบ้าง แค้นใจบิดามารดา หาว่าตั้งฐานะไว้ไม่ดี จึงพาเขาลำบาก ตกทุกข์ได้ยากต้องเป็นหนี้เป็นข้า อายุยี่สิบห้าแล้วยังหาชิ้นดีอะไรไม่ได้

คราว นี้ชาติทุกข์ในพระอริยสัจจ์เกิดปรากฏแก่ผู้ได้ทุกข์เพราะชาติ ความเกิดคราวนี้ ยังมีอีก คนหนึ่งเกิดขึ้นในปีฉลู แล้วถึงฉลูอีก แล้วถึงฉลูอีก รวม ๕ รอบ นับไปดูจึงรู้ว่า ๖๐ ปี จึงรู้ตัวว่าแก่ คนในปูนชรา ตาก็มัว หัวก็มึน หูก็ตึง เส้นเอ็นก็ขัด ท้องไส้ก็ฝืด ผะอืดผะอม ทีนี้ความตงิดว่า เรารู้ตงิด แก่เราชราอายุถึงเท่านี้ๆ เป็นส่วนเข้าใจว่า ชราทุกข์ถึงเราเข้าแล้ว จะกำหนดได้ก็เพราะรู้จักชื่อปีเกิด ถ้าไม่รู้ชื่อปีเกิดก็ไม่รู้ตัวว่าแก่เท่านั้นเอง เพราะใจอันเป็นอัพยากฤตจิต ไม่รู้แก่ ไม่รู้เกิด จะรู้ได้ก็ต้องตนกำหนดหมายไว้จึงรู้ การที่จะกำหนดหมายเล่า ก็ต้องอาศัยจำปีเกิด เดือนเกิด วันเกิดของตนก่อน จึงจะกำหนดทุกข์ให้เข้าใจเป็นลำดับปีไป เหตุนี้จึงกล่าวว่า ๑๒ นักษัตร เป็นต้นทางของพระอริยสัจจ์ ถ้าไม่เดินต้นทางก่อน ก็จะเป็นผู้หลงทาง ไปไม่ถูกที่หมายเท่านั้น แล้วท่านจึงสำแดงพระอริยธรรม ๔ สัจจ์ โดยปริยายพิจิตรพิสดาร

พระอริยสัจจ์ที่ท่านแสดงในครั้งนั้น มีผู้ได้จำนำลงพิมพ์แจกกันอ่านครั้งหนึ่งแล้ว ในประวัติเรื่องนี้จะไม่มีเทศน์ เพราะไม่ประสงค์จะสำแดงพระอริยสัจจ์ ประสงค์จะเขียนแต่ประวัติข้อที่ว่าผู้นิมนต์ลืมคำสั่งสมเด็จเจ้าพระยา ไพล่ไปบอกสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ว่าเทศนา ๑๒ นักษัตร ท่านจึงวิสัชนาตามคำนิมนต์ ครั้นท่านเห็นไม่ชอบกล นายจะลงโทษบ่าวฐานเปลี่ยนแปลงคำสั่งคำบัญชา ท่านจึงมีความกรุณา เทศน์ยกย่องคำผิดของบ่าวขึ้นให้เป็นความดี จึงเทศนาว่า ๑๒ นักษัตร ๑๒ ปีนี้ เป็นต้นทางของพระอริยสัจจ์ ควรบุคคลจะรู้ก่อน รวมความว่า ท่านเทศน์ทุกขสัจจ์แล้ว เทศน์สมุทัยอริยสัจจ์ แล้วเทศน์มรรคอริยสัจจ์ จบลงแล้ว ใจสมเด็จเจ้าพระยาก็ผ่องแผ้ว ไม่โกรธทนายผู้นิมนต์พลาด ทนายคนนั้นรอดไป ไม่ถูกด่า ไม่ถูกเฆี่ยน เป็นอันแล้วไป

ครั้นเข้า ฤดูบวชนาค ท่านก็บวชนาคเสมอทุกวัน มีผู้เลื่อมใสนิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั่งที่พระอุปัชฌาย์ และท่านได้ประทานบรรพชาอุปสมบทแก่หม่อมเจ้าทัส อันเป็นพระบุตรสุดพระองค์ ในพระราชวงศ์ วังกรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ ก็ทรงพระผนวชในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง หม่อมเจ้าพระทัส พระองค์นี้ ภายหลังได้เป็นพระราชาคณะที่หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นหม่อมเจ้าพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร หม่อมเจ้าพระธรรมเจดีย์ (ทัส) พระองค์นี้ได้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ผู้เรียบเรียงเรื่องนี้ด้วย ภายหลังทรงเลื่อนจากพระธรรมเจดีย์ ขึ้นเป็นหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดโพธิ์ (เชตุพน) รับพระสุพรรณบัฏในรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพพระมหานคร

ครั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ชราภาพมากแล้ว ท่านไปไหนมา เผอิญปวดปัสสาวะ ท่านออกมาปัสสาวะกรรมหลังเก๋งข้างท้าย แล้วโยงโย่โก้งโค้งข้ามพนักเก๋งเรือกลับเข้าไปในเก๋ง พอถึงกลางพระองค์ จำเพาะคนท้ายทั้ง ๔ ออกแรงกระทุ่มแจวพร้อมกันส่งท้ายเข้า สมเด็จท่านยันไม่อยู่เพราะชราภาพมาก เลยล้มลงไปหน้าโขกกระดานเรือปากเจ่อ ท่านก็ไม่โกรธไม่ด่า ท่านอุตส่าห์ขยับลอดศีรษะออกจากเก๋ง เหลียวหลังไปว่ากับคนท้ายว่า

พ่อจ๋า พ่ออย่าเข้าใจว่าพ่อมีแรงแต่พ่อคนเดียวหนาจ๋า คนอื่นเขาจะมีแรงยิ่งกว่าพ่อก็คงมีจ๊ะ ว่าแล้วก็ยงโย่กลับเข้าเก๋งไปจำวัดอีก คราวนี้หม่อมราชวงศ์เจริญ บุตรหม่อมเจ้าทัพ ในกรมเทวาฯ เป็นศิษย์นั่งหน้าเก๋งไปด้วยจึงได้ยิน หม่อมราชวงศ์องค์นี้ ภายหลังได้เป็นสามเณร เป็นหม่อมราชวงศ์สามเณรเปรียญ ๖ ประโยค ภายหลังได้อุปสมบทในสำนักหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ ภายหลังเลื่อนเป็นพระราชาคณะ ที่พระราชพัทธ เจ้าอาวาสวัดท้ายตลาด ภายหลังเลื่อนเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆัง ภายหลังเลื่อนเป็นหม่อมราชวงศ์พระพิมลธรรม ภายหลังเลื่อนเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดระฆัง รับพระสุพรรณบัฏทุกคราวในรัชกาลที่ ๕

ต่อไปนี้จะได้กลับกล่าวถึง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อีกว่า ครั้นถึงปีมะเมีย โทศก จุลศักราช ๑๒๓๒ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพฯ ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) มีการประชุมนักปราชญ์ทุกชาติ ทุกภาษา ล้วนเป็นตัวสำคัญๆ รอบรู้การศาสนาของชาตินั้น

สมเด็จเจ้าพระยา ให้ทนายอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปแสดงเผยแผ่ความรู้ในสิ่งที่ถูกที่ชอบ ด้วยการโลกการธรรมในพุทธศาสนาอีก๓ษาหนึ่งในชาติของสยามไทย ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ยินคำอาราธนา จึงรับสั่งว่า ฉันยินดีแสดงนักในข้อเข้าใจ ทนายกลับไปกราบเรียนสมเด็จพระประสาทว่า สมเด็จฯ ที่วัดรับแสดงแล้ว ในเรื่องแสดงให้รู้ความผิดถูกทั้งปวงได้

พอ ถึงวันกำหนด สมเด็จฯ ที่วัดระฆังก็ไปถึง นักปราชญ์ทั้งหลายยอมให้นักปราชญ์ของไทยออกความเห็นก่อนในที่ประชุม ปราชญ์และขุนนางทั้งปวงก็มาฟังประชุมด้วย สมเด็จพระประสาทจึงอาราธนาสมเด็จฯ ที่วัดระฆังขึ้นบัลลังก์ แล้วนิมนต์ให้สำแดงทีเดียว

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ออกวาจาสำแดงขึ้นว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณา พึงทุ้มๆ ครางๆ ไปเท่านี้นาน กล่าวพึมพำสองคำนี้สักชั่วโมงหนึ่ง สมเด็จพระประสาทลุกขึ้นจี้ตะโพกสมเด็จฯ ที่วัด แล้วกระซิบเตือนว่า ขยายคำอื่นให้ฟังบ้าง

สมเด็จพระ พุฒาจารย์ (โต) ก็เปล่งเสียงดังขึ้นกว่าเดิมอีกชั้นหนึ่ง ขึ้นเสียงว่า พิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณา ฯลฯ ว่าอยู่นานสักหนึ่งชั่วโมงอีก สมเด็จพระประสาทลุกขึ้นมาจี้ตะโพกสมเด็จฯ ที่วัดอีก ว่าขยายคำอื่นให้เขาฟังรู้บ้างซิ

สมเด็จฯ ที่วัดเลยตะโกนดังกว่าครั้งที่สองขึ้นอีกชั้นหนึ่งว่า พิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณาพิจารณา มหาพิจารณา อธิบายว่า การของโลกก็ดี การของชาติก็ดี การของศาสนาก็ดี กิจที่จะพึงกระทำต่างๆ ในโลกก็ดี กิจควรกระทำสำหรับข้างหน้าก็ดี กิจควรทำให้สิ้นธุระทั้งปัจจุบันและข้างหน้าก็ดี สำเร็จกิจเรียบร้อยดีงามได้ ด้วยกิจพิจารณาเป็นชั้นๆ พิจารณาเป็นเปลาะๆ เข้าไปตั้งแต่หยาบๆ และปูนกลางๆ และชั้นสูง ชั้นละเอียด พิจารณาให้ประณีตละเมียดเข้า จนถึงที่สุดแห่งเรื่อง ถึงที่สุดแห่งอาการ ให้ถึงที่สุดแห่งกรณี ให้ถึงที่สุดแห่งวิธี ให้ถึงที่สุดแห่งประโยชน์ ยืดยาว

พิจารณาให้รอบคอบทั่วถึงแล้ว ทุกๆ คนจะรู้จักประโยชน์คุณเกื้อกูลตน ตลอดทั้งเมื่อนี้เมื่อหน้า จะรู้ประโยชน์อย่างยิ่งได้ ก็ต้องอาศัยกิจพิจารณา เลือกฟั้นคั้นหาของดี ของจริงเด่นเห็นชัด ปรากฏแก่คน ก็ด้วยการพิจารณาของคนนั่นเอง ถ้าคนใด สติน้อย ถ่อยปัญญา พิจารณาหาเหตุผล เรื่องราว กิจการงาน ของโลก ของธรรม แต่พื้นๆ ก็รู้ได้พื้นๆ ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาเป็นอย่างกลาง ก็รู้เพียงชั้นกลาง ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง ในข้อนั้นๆ อย่างสูงสุด ไม่หลับหูหลับตา ไม่งมงายแล้ว อาจจะเห็นผลแก่ตน ประจักษ์แท้ แก่ตนเอง ดังปริยายมาทุกประการ จบที

ครั้นจบแล้วท่านลงจากบัลลังก์ ก็ไม่มีนักปราชญ์ชาติอื่นๆ ภาษาอื่นๆ มีแขกแลฝรั่งเป็นต้น ก็ไม่อาจออกปากขัดคอ คัดค้านถ้อยคำของท่านสักคน อัดอั้นตู้หมด สมเด็จเจ้าพระยาก็พยักหน้า ให้หมู่นักปราชญ์ในชาติทั้งหลายที่มาประชุมคราวนั้นให้ขึ้นบัลลังก์ ก็ต่างคนต่างแหยง ไม่อาจนำออกแสดงแถลงในที่ประชุมได้ ถึงต่างคนต่างเตรียมเขียนมาก็จริง แต่คำของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครอบไปหมด จะยักย้ายโวหาร หรือจะอ้างเอาศาสดาของตนๆ มาแสดงในที่ประชุมเล่า

เรื่อง ของตัวก็ชักจะเก้อ จะต่ำจะขึ้นเหนือความพิจารณาที่สมเด็จฯ ที่วัดระฆังกล่าวนั้นไม่ได้เลย ลงนั่งพยักหน้าเกี่ยงให้กันขึ้นบัลลังก์ ใครก็ไม่อาจขึ้น สมเด็จพระประสาทเองก็ซึมทราบได้ดี เห็นจริงตามปริยายของทางพิจารณา รู้ได้ตามชั้น ตามภูมิ ตามกาล ตามบุคคลที่ยิ่งและหย่อน อ่อนและกล้า จะรู้ได้ก็ด้วยการพิจารณา ถ้าไม่พิจารณา ก็หาความรู้ไม่ได้เลย ถ้าพิจารณาต่ำ หรือน้อยวันพิจารณา หรือน้อยพิจารณา ก็มีความรู้น้อย ห่างความรู้จริงของสมเด็จฯ ที่วัดทุกประการ วันนั้นก็เป็นอันเลิกประชุมปราชญ์ ต่างคนต่างลากลับ

ก็ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์นี้ พูดธรรมสากัจฉากันในที่สมภารต่างๆ ถ้ามีผู้ถาม ถามขึ้นว่า คำที่เรียกว่า นิพพานๆ นั้น บางคนเป็นนักแปล ก็แปลตามศัพท์ ว่า ดับ บ้าง ออกจากเครื่องร้อยรัด บ้าง แปลว่าเกิดแล้วไม่ตายบ้าง ตายแล้วไม่มาเกิดบ้าง ดับจากกิเลสบ้าง ดับไม่มีเศษเป็นนิรินทพินาสบ้าง เลยไม่บอกถิ่นฐานเป็นทางเดียวกัน จะยังกันและกันให้ได้ความรู้จักพระนิพพานเป็นเงาๆ หรือรู้รางรางบ้างก็ทั้งยาก จึงพากันหารือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ในเรื่องใคร่รู้จักนิพพาน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านว่าท่าก็ไม่รู้แห่ง แต่จะช่วยชี้แจงอุปมาเปรียบเทียบให้รู้และเข้าใจเอาเอง ตามเหตุแลผล เทียบเทียมได้บ้างว่า นิพพานจะรู้ได้อย่างไร ท่านอุปไมยด้วยหญิงสองคนพี่น้องจ้องคิดปรารภปรารมภ์อยู่แต่การมีผัว อุตส่าห์อาบน้ำทาขมิ้น นุ่งผ้าใหม่ ผัดหน้า หวีผมแปร้ ก็ประสงค์ความรักให้เกิดกับชายผู้แลเห็น จะได้มาสู่ขอเป็นสามีเท่านั้น ครั้นล่วงมาก็สบโชคสบช่องของคนพี่สาว มีผู้มีชื่อมีหน้ามาขอ ได้ตกลงแต่งงานร่วมห้องร่วมหอกันแล้ว หญิงผู้ที่เป็นนางน้องสาวก็มาเยี่ยม แล้วตั้งหน้าวิงวอนเซ้าซี้ซักถามว่า พี่จ๋า การที่พี่หลับนอนกับผัวนั้น มีรสมีชาติครึกครื้นสนุกสนานชื่นบานเป็นประการใด จงบอกให้ฉันรู้บ้าง นางพี่สาวก็ไม่รู้แห่งจะนำความรื่นรมย์สมสนิทด้วยสามีนั้น ออกมาตีแผ่เปิดเผยให้น้องสาวสม รู้ตาม เห็นตามในความรื่นรมย์แห่งโลกสันนิวาสได้ นางพี่สาวก็ได้แต่บอกว่า น้องมีผัวบ้างน้องจะรู้เอง ไม่ต้องถามเอาเรื่องกับพี่หรอก

ครั้น อยู่มาไม่ช้านาน นางผู้เป็นน้องสาวได้สามีแล้ว ไปหาพี่สาวๆ ถามว่าการหลับนอนรมย์รื่นชื่นใจกับผัว น้องมีความรู้สึกว่าเป็นเช่นไร ลองเล่าบอกออกความให้พี่เข้าใจบ้างซี แม่น้อง นางน้องสาวฉอเลาะตอบพี่สาวทันทีว่า พี่ไม่ต้องเยาะ ไม่ต้องเยาะ และพี่น้องคู่นั้นก็นั่งสำรวล หัวเราะกันตามฐานที่รู้รสสังวาสเสมอกัน ข้ออุปมานี้ฉันใดก็ดี พระโยคาวจรกุลบุตร มีความมุ่งหมายจะออกจากชาติจากภพ เบื่อหน่ายโลกสันนิวาส เห็นว่าเป็นหม้อต้มหรือเรือนอันไฟไหม้ คิดจะออกจะหนีให้พ้น ก็ทำความพยายามแข็งข้อ ถกเขมรจะเผ่นข้ามให้พ้นจากหม้อต้มสัตว์ และเรือนไฟอันไหม้ลุกลาม

ก็ เตรียมตัวทำศีลให้บริสุทธิ์ ปราศจากโทษเศร้าหมอง ทำสมาธิตั้งใจตรง จงใจทำสัมมะถะกัมมัฏฐาน ทำปัญญาให้เป็นวิปัสสนาญาณอย่างยิ่งยอด ตัดสังโยชน์ให้ขาดเด็ดแล้วด้วยมีดคมกล้า กล่าวคือ โคตรภูญาณ อนุโลมญาณ มรรคญาณ ทำช่องให้เวิ้งว้างเห็นแสงสว่างปรากฏพระโยคาวจรกุลบุตรก็กำหนดดวงจิต จิตวางอารมณ์วางสัญญา วางอุปาทานเครื่องยึดถือ ทำลายเครื่องกั้นทั้ง ๕ ละวางได้ขาด ประกอบองค์ ๕ คือ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกกคตา ฟอกใจ คราวนี้ก็กอปรด้วยวิสุทธิ ๗ เมื่อวิสุทธิ ๗ ประการผุดขึ้นแล้ว พระโยคาวจรกุลบุตรก็มาละวิตก ละวิจารณ์ ละปิติ ละสุข ละเอกกคตา เหลือแต่อุเบกขาญาณ ดำเนินไปอุเบกขาญาณ มีองค์ ๖ ประการ เป็นพื้น มโนธาตุ ก็กลายเป็นอัพยากฤตไม่ติดบุญ ไม่ติดบาป ต่อไป จะยังมีลมหายใจหรือหมดลมหายใจ มโนธาตุก็ตั้งอยู่ตามตำแหน่ง ไม่เข้าสิงในเบญจขันธ์ต่อไป เรียดว่า ธรรมธาตุ บริสุทธิ์จำเพาะตน เรียกว่า พระนิพพาน ท่านผู้ใด ผู้ถึง ท่านรู้กันว่าเป็นเอกันตบรมสุข ไม่ระคนปนด้วยทุกข์ต่อไป ท่านไม่ต้องซักถามเซ้าซี้ เช่นหญิงทั้ง ๒ ดังสำแดงมา (จบสากัจฉา)


(จงตริตรองตามความเรียบเทียบแลกอปรธรรมะต่างๆ ตามความแนะนำมา ก็จะเห็นพระนิพพานได้บ้าง)

ใน ปลายปีมะเมีย โทศก นี้มา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มีลายลิขิตแจ้งแก่กรมสังฆการีว่า จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกเป็นสมเด็จพระราชาคณะกิตติมศักดิ์ ด้วยเหตุชราทุพพลภาพ ไม่สามารถรับราชการเทศน์แลสวดฉันในพระบรมราชวังได้ ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตตกเป็นพระมหาเถรกิตติมศักดิ์ และได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้าพระ (ทัส) ในกรมสมเด็จพระราชวังหลัง ขึ้นเป็นพระราชาคณะรองเจ้าอาวาส พระราชทานพระสุพรรณบัฏมีราชทินนามว่า หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ มีฐานา ๓ รูป มีนิตยภัตรเดือนละ ๑๖ บาท ค่าข้าวสาร / บาท เป็นผู้ช่วยบัญชาการกิจการวัดระฆังต่อไป

ฝ่ายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตั้งแต่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ปลดชรายกเป็นสมเด็จพระราชาคณะกิตติมศักดิ์แล้ว ท่านก็คลายอิสริยยศ บริวารยศ แบกตาลิปัดเอง พายเรือบิณฑบาตเอง จนเป็นที่คุ้นเคยกับอีกา กาจับบ่ากินอาหารกับท่าน จนท่านพูดกับกาที่ประตูอนงคลีลา (ประดูดิน) กาตัวหนึ่งบอกว่าจะไปวัดมหาธาตุ กาตัวหนึ่งว่าจะไปท่าเตียน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ว่า ไปท่าเตียนดีกว่าไปวัดมหาธาตุ เพระคนเขาทิ้งหัวกุ้งหัวปลาหมักหมมไว้มาก ที่วัดมหาธาตุถึงมีโรงครัวก็จริง แต่ทว่าคนเขาเก็บกวาดเสียหมดแล้วจ้ะ

เวลาจำวัดอยู่ในกุฏิของท่าน ที่วัดระฆังนั้น เจ้าขโมยเจาะพื้นกุฏิล้วงเอาข้างของที่วางเกลื่อนไว้ เจ้าหัวขโมยล้วงไม่ถึง ท่านก็เอาไม้เขี่ยของนั้นๆ เข้าไปให้ใกล้มือขโมย เจ้าขโมยลักเข็นเรือใต้กุฏิ ท่านก็เปิดหน้าต่างสอนขโมยว่า เข็นเบาๆ หน่อยจ้ะ ถ้าดังไป พระท่านได้ยินเข้า ท่านจะตีเอาเจ็บเปล่าจ้ะ เข็นเรือบนแห้งต้องเอาหมอนรองข้างท้ายให้โด่งก่อนจ้ะ ถึงจะกลิ้งสะดวกดี เรือก็ไม่ช้ำไม่รั่วจ้ะ เลยเจ้าขโมยเกรงใจไม่เข็นต่อไป

ครั้นเมื่อ นางนาค บ้านพระโขนง เขาตายทั้งกลม ปีศาจของนางนาคกำเริบ เขาลือกันต่อมาว่า ปีศาจนางนาคมาเป็นรูปคน ช่วยผัววิดน้ำเข้านาได้ จนทำให้ชายผู้ผัวมีเมียใหม่ไม่ได้ ปีศาจนางนาคเที่ยวรังควานหลอนหลอก คนเดินเรือในคลองพระโขนงไม่ได้ ตั้งแต่เวลาเย็นตะวันรอนๆ ลงไป ต้องแลเห็นปีศาจนางนาคเดินห่มผ้าสีบ้าง โหนตัวบนต้นโพธิ์ต้นไทรบ้าง พระสงฆ์ในวัดพระโขนงมันก็ล้อเล่น จนกลางคืนพระภิกษุสามเณรต้องนอนรวมกัน ถ้าปลีกไปนอนองค์เดียว เป็นต้องถูกปีศาจนางนาครบกวน จนเสียงกร๊อกแกร๊กอื่นๆ ก็เหมาว่าเป็นปีศาจนางนาคไปหมด พวกหมอผีไปทำเป็นผู้มีวิเศษตั้งพิธีผูกมัดเรียกภูตมัน มันก็เข้ามานั่งแลบลิ้นเหลือกตาเอา เจ้าหมอต้องเจ๊งมันมาหลายคน จนพวกแย่งพวกชิงล้วงลัก ปลอมตัวเป็นนางนาค หลอกลวงเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านกลัวนางนาค เลยมุดหัวเข้ามุ้ง ขโมยเก็บเอาของไปสบาย ค่ำลงก็ต้องล้อมต้องนั่งกองกันยันรุ่งก็มี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านรู้เหตุปีศาจนางนาคกำเริบเหลือมือหมอ ท่านจึงลงไปค้างที่วัดมหาบุศ ในคลองพระโขนง พอค่ำท่านก็ไปนั่งอยู่ปากหลุม แล้วท่านเรียกนางนาคปีศาจขึ้นมาสนทนากัน ฝ่ายปีศาจนางนาคก็ขึ้นมาพูดจาตกลงกันอย่างไรไม่ทราบ ลงผลท้ายที่สุดท่านได้เจาะเอากระดูกหน้าผากนางนาคที่เขาฝังไว้มาได้ แล้วท่านมานั่งขัดเกลาจนเป็นมัน ท่านนำขึ้นมาวัดระฆัง ท่านลงยันต์เป็นอักษรไว้ตลอด เจาะเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ไปไหนท่านก็เอาติดเอวไปด้วย ปีศาจในพระโขนงก็หายกำเริบซาลง เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ) ยังเป็นสามเณรอยู่ในกุฏิ

สมเด็จ พระพุฒาจารย์ (โต) นางนาคได้ออกมารบกวน ม.ร.ว.เณรๆ ก็ฟ้องสมเด็จฯ ว่า สีกามากวนเขาเจ้าข้า สีกามากวนเขา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านร้องว่า นางนาคเอ๊ย อย่ารบกวนคุณเณรซี ปีศาจนั้นก็สงบไป นานๆ จึงออกมารบกวน ครั้นท่านชรามากแล้ว ท่านจึงมอบปั้นเหน่งกระดูกหน้าผากนางนาค ประทานไว้กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ มอบหม่อมราชวงศ์สามเณรเจริญให้ไปอยู่กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ด้วย นานๆ นางนาคออกมาหยอกเย้าหม่อมราชวงศ์สามเณรเจริญ หม่อมราชวงศ์สามเณรเจริญต้องร้องฟ้องหม่อมเจ้าพระพุทธบาทฯ ๆ ต้องทรงกริ้วนางนาคว่า เป็นผู้หญิงยิงเรืออย่ามารบกวน คุณเณรจะดูหนังสือหนังหา เสร็จกริ้วแล้วก็เงียบไป (เรื่องนี้สำหรับเจ้านายหม่อมราชวงศ์วังหลังเล่าให้ฟัง)

ส่วน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตั้งแต่ปลดภาระการวัดการสอน ให้หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์แล้ว ส่วนตัวท่านก็ไปตามสบาย กับรีบทำพระพิมพ์ ดูให้คนโขลกปูนเพชรและนั่งพิมพ์ไป บางทีก็ไปเยี่ยมป่าช้าวัดสระเกศ เช้าก็บิณฑบาต ได้อะไรก็ฉันไปพลาง บางทีเที่ยวสะพายบาตรไป ใครใส่เวลาไหน ท่านก็ฉันฉลองศรัทธาเวลานั้น บางทีก็ไปนั่งในโลหะปราสาทวัดราชนัดดาราม ไปคุยกับหลวงพ่อรัต วัดเทพธิดารามบ้าง แล้วถูกคอ บางทีไปดูช่างเขียนประวัติของท่านที่ผนังโบสถ์วัดบางขุนพรหมใน ดูให้ช่างก่อๆ พระโต ก่อขึ้นไปถึงพระโสณี (ตะโพก) ถึงหน้าขึ้นพระบาท ก็ขึ้นนมัสการพระพุทธบาทเสมอทุกปี จนพวกลพบุรี สระบุรีนับถือ เอาน้ำล้างเท้าท่านไปเก็บไว้รักษาฝีดาษดีนัก จนตลอดมาถึงพระโตวัดเกตุไชโยก็ศักดิ์สิทธิ์ ในการรดน้ำมนต์รักษาฝีดาษดี ชาวเมืองอ่างทองนับถือมากจนตราบเท่าทุกวันนี้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ขึ้นนมัสการพระพุทธบาทคราวใด เป็นต้องมีไตรไปพาดที่หัวนาคตีนกระได แล้วนิมนต์พระชัดบังสุกุลโยมผู้หญิงของท่านที่เมืองพิจิตรทุกคราว ว่านิมนต์บังสุกุลโยมฉันด้วยจ้ะ พระจ๋า แล้วเลยไปนมัสการพระฉาย เขามันฑกบรรพตด้วย จนกระเหรี่ยงดงนับถือมากเข้าปฏิบัติ ท่านไปกับอาจารย์วัดครุฑ อาจารย์อื่นๆ บ้าง กลับมาแล้วก็มาจำวัดสบายอยู่ ณ วัดบางขุนพรหมในเป็นนิตยกาล
และ พระพิมพ์ที่วัดบางขุนพรหมในนั้น เสมียนตราด้วง ขอเอาพิมพ์ของท่านไปพิมพ์ปูนแลผงของเสมียนตราด้วง ทำตามวุฒิของเสมียนตราด้วงเอง ชาวบ้านบางขุนพรหมปฏิบัติอุปฐาก บางทีขึ้นพระบาท หายเข้าไปในเมืองลับแลไม่กลับ คนลือว่าสมเด็จถึงมรณภาพแล้วก็มี ทางราชการเอาโกศขึ้นไป ท่านก็ออกมาจากเมืองลับแล พนักงานคุมโกศต้องเอาโกศเปล่ากลับมาหลายคราว

ครัน ถึง ณ วันเดือน ๕ ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ ปี เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพพระมหานครฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปดูการก่อพระโตที่วัดบางขุนพรหมใน ก็ไปอาพาธด้วยโรคชราภาพ ๑๕ วัน ก็ถึงมรณภาพ บนศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหมใน ในเวลาปัจจุบันสมัยวันนั้น สิริรวมชนมายุ ๘๔ บริบูรณ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามมาได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ รับตำแหน่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์มาได้ ๗ ปีบริบูรณ์ ถ้าจะนับปีทางจันทรคติก็ได้ ๘ ปี นับอายุทางจันทรคติก็ได้ ๘๕ ปี เพราะท่านเกิดปีวอก เดือน ๖ รอบที่ ๗ ถึงวอกรอบที่ ๘ เพียงย่างขึ้นเดือน ๕ ท่านก็ถึงมรณภาพ คิดทดหักเดือน ตามอายุโหราจารย์ ตามสุริยคตินิยม จึงเป็นอายุ ๘๔ ปีบริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้

คำนวณอายุผู้ เรียบเรียงเรื่องนี้ได้ ๗ ขวบยังไม่บริบูรณ์ คือหลักเหลือ ๖ ปีกับ ๓ เดือน เวลาที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ยังอยู่นั้น ผู้เรียงเรื่องนี้ยังอยู่กับคุณเฒ่าแก่กลิ่น ในตึกแถวเต๊ง แถบข้างทิศใต้ ทางออกวัดพระเชตุพน ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน คุณกลิ่นเฒ่าแก่เคยพาขึ้นไปรับพระราชทานเบี้ยจันทร เบี้ยสูรย์ คือเงินสลึงจากพระราชหัตถ์สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็สองคราว ได้เคยฟังเทศน์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็สองคราว ได้เคยเข้านมัสการท่านก็สองคราว ท่านผูกมือให้ที่พระที่นั่งทรงธรรม ยังจำได้ว่ามีต้นกาหลงใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง

ครั้งเมื่อสมเด็จพระ พุฒาจารย์ (โต) ถึงมรณภาพ ที่ศาลาใหญ่ ในวัดบางขุนพรหมใน แล้วได้รับพระราชทานน้ำสรงศพ ไตรครอง ผ้าขางเย็บถุง โกศ กลองชนะ อภิรมย์ สนมซ้าย ฝีพาย เรือตั้งบรรทุกศพ เมื่อเจ้านาย ขุนนาง คุณเฒ่าแก่ พวกอุปฐาก พวกอุบาสิกา ประชาชน ชาวบ้านบางขุนพรหม ปวงพระสงฆ์ สรงน้ำสมเด็จเจ้าโตแล้ว สนมก็กระสันตราสังศพ บรรจุในโกศไม้ ๑๒ เสร็จแล้วก็ยกลงมาที่ท่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝีพายหลวงพายลงมาตามลำแม่น้ำ เรือตามก็ตามหลายแม่น้ำ ส่งศพกระทั่งถึงหน้าวัดระฆัง ตั้งศพบนฐานเบ็ญจาสองชั้น มีอภิรมย์ ๖ คัน มีกลองชนะ ๒๔ จ่าปี่ จ่ากลองพร้อม มีพระสวดพระอภิธรรม มีเลี้ยงพระ ๓ วัน เป็นของหลวง

วัน เมื่อศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มาถึงวัดระฆังวันนั้น ผู้คนมาส่งศพ รับศพ นมัสการศพนั้นแน่นอัด คับคั่ง ทั้งผู้ดี ผู้ไพร่ พลเมืองไทย จีน ลาว มอญ ชาวละคร เขมร พราหมณ์ พระสงฆ์ทุกๆ พระอาราม เด็กวัด เด็กบ้าน แน่นไปเต็มวัดระฆัง พระครูปลัดสัมภิพัฒน์ (ช้าง) คือพระธรรมถาวรราชาคณะ ที่มีอายุ ๘๘ ปี มีตัวอยู่ถึงวันเรียบเรียงประวัติเรื่องนี้ ได้ตักพระพิมพ์แจกชำร่วยแก่บรรดาผู้มาส่งศพ สักการะศพ เคารพศพนั้น แจกทั่วกัน คนละองค์สององค์ ท่านประมาณราว สามหมื่นองค์ที่แจกไป และต่อๆ มาก็แจกเรื่อย จนถึงวันพระราชทานเพลิง และยังมีผู้ขอ และแจกให้อีกหลายปี จนพระหมด ๑๕ กระถางมังกร เดี๋ยวนี้จะหาสักครึ่งก็ไม่มี แต่มีจำเพาะตนๆ

และ ปั้นเหน่งซึ่งเป็นกระดูกหน้าผากของนางนาคพระโขนงนั้น ตกอยู่กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระธรรมเจดีย์ ได้เป็นเสด็จอุปัชฌาย์ของผู้เรียงประวัติเรื่องนี้ ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัศ) ไปครองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงได้มอบปั้นเหน่งกระดูกหน้าผากนางนาคพระโขนงให้กรรมสิทธิ์ไว้แก่ พระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ) เจ้าอาวาสวัดระฆัง แต่ครั้งดำรงตำแหน่งพระพิมลธรรมนั้น (ได้ยินแว่วๆ ว่า ปั้นเหน่งนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ถวาย ฯลฯ แล้ว)

และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ถึงมรณภาพแล้ว
ล่วงมาถึงปีมะเมีย โทศก จุลศักราช ๑๒๙๒ ปี
พุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๒๓ ปี
รัตนโกสินทร์ศักราชถึง ๑๔๙ ปี

อายุ รัชกาลที่ ๕ เสวยราชย์ ๔๓ ปี
รัชกาลที่ ๖ เสวยราชย์ ๑๕ ปี
รัชกาลที่ ๗ เสวยราชย์ ๖ ปี

คิด แต่ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ ปี มาถึงปีมะเมีย โทศกนี้ จึงรวมแต่ปีมรณภาพนั้นมาถึงปีมะเมียนี้ได้ ๖๑ ปี กับเศษเดือนวันแลฯ (ได้ลงมือเรียบเรียง แต่วันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓)

พระธรรมถาวร (ช้าง) บอกว่า คำแนะนำกำชับสอน ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้น ดังนี้

คุณรับเอาฟันฉันไว้ ดียิ่งกว่า ๑๐๐ ชั่ง ๑๐๐๐ ชั่ง คุณจะมีความเจริญเอง

คุณใคร่มีอายุยาว คุณต้องไหว้คนแก่

คุณใคร่ไปสวรรค์ นิพพาน และมีลาภผล คุณหมั่นระลึกถึง

พุทธ พุทธา พุทเธ พุทโธ พุทธํ อรหํ พุทโธ อิติโสภควา นะโมพุทธายะ

ถึงเถรเกษอาจารย์ผุ้วิเศษของเจ้าสามกรมว่าดี ก็ไม่พ้น พุทธะ พุทธา พุทเธ พุทธํ พุทโธ อรหํ พุทโธ

ต่อแต่นี้ไป จะขอกล่าวถึงเรื่องพระโต และเรื่องวัดบางขุนพรหมใน ตำบลบางขุนพรหม พระนครนี้สักเล็กน้อย พอเป็นที่รู้จักกันไว้บ้าง

เดิม วัดบางขุนพรหมในนี้ เป็นวัดเก่าแก่นาน แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี หรือจะก่อนนั้นก็ไม่แน่ใจ วัดนี้เป็นวีดกลางสวน อยู่ดอนมาก ใครเป็นผู้สร้างก็ไม่ปรากฏนาม หรือชาวสวนแถวนั้นจะพร้อมใจกันสร้างไว้ คนเก่าเจ้าทิฏฐิในการถือวัด ว่าวัดเราวัดเขา ดังเคยได้ยินมา ก็ไม่สู้แน่ใจนัก แต่เป็นวัดเก่าแก่จริง โบสถ์เดิมเป็นเตาเผาปูนกลายๆ มีกุฏิฝากระแชงอ่อน มีศาลาโกรงเกรง แต่ลานวัดกว้างดี มีต้นไม้ใหญ่มาก ครึ้มดี มีลมเหนือ ลมตะวันตก ลมตะวันออก พัดโกรก ตรงกรองส่งเข้าสู่โบสถ์และลานวัดเย็นละเอียดดี

เมื่อตั้ง เป็นราชธานีแล้วในฝั่งนี้ ถึงรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ พระองค์เจ้าอินทร์ในพระราชวังบวร ได้ทรงพระศรัทธาปฏิสังขรณ์ เปลี่ยนแปลงทรงโบสถ์ เป็นรูปท้องพระโรงงามมีผึ่งผายอ่าโถง ยาว ๕ ห้อง มีมุข ๒ ข้าง ก่ออิฐถือปูนเสร็จและสร้างศาลา ขุดคลอง เหนือใต้วัด หลังวัด หน้าวัดเป็นเขตคัน ทำกุฏิสงฆ์ ซ่อมถานเรียบร้อย ฉลองแล้วทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระกระแสรับสั่งว่า ผู้ที่ถวายของตนเข้าเป็นวัดหลวงนั้น จำเพาะเจ้าของเป็นพระยาพานทอง ถ้าเป็นเจ้าต้องได้รับพระราชทานพานทองก่อน จึงถวายวัดเป็นวัดหลวงได้ ซึ่งพระองค์เจ้าอินทร์ก็ยังหาได้รับพระราชทานพานทองไม่ ได้พานทองแล้วจึงควรถวายวัดของเธอเป็นวัดหลวงได้ วัดนี้ก็คงเป็นวัดราษฎร์ วัดเจ้าอินทร์ บางขุนพรหม

ครั้นถึงปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ ปี มีราชการสงครามกับเจ้าอนุเวียงจันทร์ พระองค์เจ้าอินทร์ เจ้าของวัดบางขุนพรหมนี้ ได้โดยเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ ขึ้นไปปราบขบถเมืองเวียงจันทร์ มีชัยชนะกลับมาแล้ว ได้รับพระราชทานพานทองเป็นบำเหน็จความชอบในการสงครามนั้น แล้วพระองค์เจ้าอินทร์จึงทูลเกล้าฯ ถวายวัดนี้เป็นวัดหลวงอีกครั้งหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตำรวจราชองครักษ์และกรมเมืองมาสำรวจชัยภูมิสถานที่ ของวัดนี้ ตลอดถึงทางพระราชดำเนินในการถวายพระกฐินทานด้วย เจ้าพนักงานทำรายงานถวายตลอด แต่ทางพระราชดำเนินนั้นขัดต่อทางราชการหลายประการ เพราะวัดตั้งอยู่กลางสวนทั้ง ๔ ทิศ ไม่สะดวกแก่ราชบริพารที่จะโดยเสด็จ จึงมิได้ทรงรับเข้าบัญชีเป็นวัดหลวง

พระองค์เจ้าอินทร์ก็ทรงทอด ธุระวัดนั้นเสีย ไม่นำพา วัดก็ชำรุดทรุดโทรมลงอีก และพระองค์เจ้าอินทร์ก็มาสิ้นพระชนม์ไปด้วย จึงท่านพระเสมียนตราด้วง ได้มีศรัทธาสละที่สวนขนัดทางหน้าวัด ตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดขึ้นไปถึงกำแพงวัด แถบหน้าวัดทั้ง ๒ ในปัจจุบันนี้จนจดวัด ถวายเป็นกัลปนาบ้าง เป็นหน้าวัดบ้าง เป็นสมบัติของวัดบางขุนพรหม ด้วยพระเสมียนตราด้วงนิยมนับถือ ฟังคำสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงได้อุทิศที่บ้านที่สวนออกบูชาแก่พระรัตนตรัยในเนื้อที่ๆว่าแล้วนั้น พระเสมียนตราด้วงและสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงได้ช่วยกันปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมใน ท่านเสมียนตราด้วงก็ถึงอนิจกรรม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ถึงมรณภาพ สมภารวัดแลทายกก็ทำโลเลร่องแร่ง ผลประโยชน์ของวัดก็เสื่อมทรามหายไป วัดก็ทรุดโทรมรกเรื้อ ภิกษุที่ประจำในวัดก็ล้วนรุ่มร่ามเลอะเทอะ เป็นกดมะตอทั้งปทัด


ครั้น พระมหานครมาสู่ความสะอาดรุ่งเรืองงาม จึงดลพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๕ นั้น ให้ทรงสถาปนาพระหมานคร ตัดถนนสัญจรให้โล่งลิ่วตลอดถึงกันหลายชั้นหลายทาง ทะลุถึงกันหมดทุกสายทั้ง ๔ ทิศติดต่อกันไป ทางหน้าวัดบางขุนพรหมก็ถูกตัดถนนด้วย ช่วยเพิ่มพระบารมี ทางริมน้ำก็ถูกแลกเปลี่ยนที่ ทรงสร้างวังลงตรงที่นั้น ๒ วัง ที่ใหม่ของหลวงที่พระราชทานให้แก่วัดบางขุนพรหมนั้นเดี๋ยวนี้ ก็ได้ยินว่าหายไป ไม่ปรากฏแก่วัดบางขุนพรหม และชาวบ้านเหล่านั้น ช่วยกันพยุงวัดนี้มาด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวบ้าง ผลประโยชน์ของวัดเกิดในกัลปนาบ้างช่วยกันเสริมสร้างพระโตองค์นี้มานานก็ไม่ รู้จักจะแล้วได้

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านพระครู เป็นพระธรรมยุติกนิกายมาคิดสถาปนาพระโตองค์นี้เปลี่ยนแปลงเป็นพระยืนห้าม ญาติ พอเป็นองค์ขึ้นสมมุติว่าแล้ว นัดไหว้กัน ไม่ช้าเท่าไรก็เกิดวิบัติขึ้นแต่ผู้ต้นคิด เพราะผิดทางกำหนดในบทหนังสือปฐม ก กา ว่าขืนรู้ผู้ใหญ่เครื่องไม่เข้าการ เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้น ท่านประพฤติกาย วาจา ใจ เป็นผู้ใหญ่แท้ ท่านสร้างพระนั่งตอตะเคียนโปรดยักษ์ พระปางนี้ไม่มีใครๆ สร้างไว้เลย แต่สยามฝ่ายเหนือลงมา ก็หามีผู้สร้างขึ้นไว้ไม่ ท่านจึงคิดตั้งใจแลสร้างไว้ให้ครบ ๑๐๘ ปาง แต่อายุและโอกาสไม่พอแก่ความคิด พระจึงไม่แล้ว ท่านพระครูมาขืนรู้ ท่านจึงไม่เจริญ กลับเป็นคนเสียกล เป็นคนทรุดเสื่อมถึงแก่ต้องโทษทางอาญา ราชภัยบันดาลเป็นเพราะโลภเจตนาเป็นเค้ามูล จึงพินาศวิบากผลปฏิสังขรณ์อำนวยไม่ทัน

วิบากของโลภแลความลบหลู่ ดูหมิ่นผู้ใหญ่ ขืนรู้ผู้ใหญ่แรงกว่า อำนวยก่อน จึงเป็นทิฐิธรรมเวทนียกรรมแท้ กลับเป็นบุคคลลับลี้ หายชื่อหายหน้าไม่ปรากฏ เหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านก่อสร้างสิ่งซึ่งเป็นถาวรวัตถุชิ้นใดๆเป็นการเกี่ยวแก่พระพุทธศาสนาแล้ว ท่านไม่มีแยบคาย คนอื่นๆ ตรงต่อพระพุทธศาสนา ตรงต่อพระมหากษัตริย์ ตรงต่อชาติ อาจทำให้ประโยชน์ โสตถิผลให้แก่ชุมชนเป็นอันมาก ดังสำแดงมาแล้วแต่หนหลัง

และวัดบางขุนพรหมในนี้นั้น สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหารได้สืบเค้าเงื่อนได้ทราบเหตุการณ์บ้างว่า เดิมพระองค์เจ้าอินทร์ซ่อมแซมก่อสร้างเป็นหลักฐานไว้ก่อน สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น) วัดบวรนิเวศ ได้ขนานนามวัดนี้ให้ชื่อว่า วัดอินทรวิหาร (แปลว่าวัดเจ้าอินทร์) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ นั้นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ (ถ้าผู้มีทรัพย์มีอำนาจ มีกำลัง มีอานุภาพ ได้มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นพระนั่งบนตอตะเคียน ตามประสงค์ของสมเด็จเจ้าโตได้ และทำยักษ์คุกเข่าฟังพระธรรมเทศนา ได้ลุสำเร็จปฐมมรรค หายดุร้าย ไม่เบียดเบียนมนุษย์ ไม่เบียดเบียนพระภิกษุสงฆ์สามเณรต่อไป ผู้แปลงใหม่ คงมั่งคั่งสมบูรณ์ พูนพิพัฒน์สถาพร ประเทศก็จะรุ่งเรือง ปราศจากวิหิงสาอาฆาต พยาธิก็จะไม่บีฑาเลย)

ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงเรื่องราวของสมเด็จพระ พุฒาจารย์ (โต) นี้ ได้ทรงจำและเสาะสางสืบค้นฉบับกะรุ่งกะริ่ง และได้อาศัยพึ่งพิงท่านผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุเล่ากล่าวสืบๆ มาจนติดอยู่ในสมองของข้าพเจ้า และได้ถือเอาคำของเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช้าง) ผู้มีอายุราว ๘๘ ปีบ้าง อนุมัติดัดแปลงบ้าง ประมาณบ้าง สันนิษฐานบ้าง วิจารณ์บ้าง เทียบศักราชในพงศาวดารบ้าง บรมราชประวัติแห่งสยามบ้าง พอให้สมเหตุสมผล ให้เป็นต้นเป็นปลาย พิจารณาในรูปภาพที่ฝาผนังในโบสถ์วัดอินทรวิหารบ้าง ได้ยกเหตุผลขึ้นกล่าว ใช้ถ้อยคำเวยยากรณ์ เป็นคำพูดตรงๆ แต่คงจะไม่เหมือนสมเด็จพระเป็นแน่ เพราะคนละยุค คนละคราว คนละสมัย

และข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าคงไม่ผิด จากความเป็นจริง เพราะข้าพเจ้าใช้คำตามหลัก เป็นคำท้าวคำพระยา คำพระสงฆ์ คำบ้านนอก คำราชการ คำโต้ตอบทั้งปวงนั้น ข้าพเจ้าเขียนเองตามหลักของการแต่งหนังสือ แต่คำทั้งปวงเห็นว่าสมเหตุสมผลแล้วจึงเขียนลง แต่คงไม่คลาดจากความจริง ถ้าว่าไม่ได้ยินกับหู ไม่ได้รู้กับตา มากล่าวเล่าสู่กันฟัง คล้ายกับเล่านิทาน เหมือนเล่าเรื่องศรีธนนชัย เรื่องไกรทอง เรื่องขุนช้างขุนแผน เรื่องอะไรทั้งหมด ที่เรียกว่านิทานแล้ว ธรรมดาต้องมีต่อมีเติม มีตัด ไม่ให้ขัดลิ้นขัดหู แต่ไม่ผิดหลักแห่งความจริง เพราะสิ่งที่จริง มีปรากฏเป็นพยานของคำนั้นๆ

ถ้า หากว่าอ่านรูดรูด ฟังรูดรูด ไม่ยึดถือเรื่องราว ก็เห็นมีประโยชน์เล็กน้อย แก่ผู้อ่านผู้ฟังบ้าง คือสอนพูด ถึงเป็นคนโง่ คนบ้านนอก ก็รู้การเมืองได้บ้าง ไม่เซอะซะต่อไป นักโต้ตอบก็จะได้ทราบหลักแห่งถ้อยคำ นักธรรมะก็พอสะกิดให้เข้าใจธรรมะบ้าง นักเชื่อถือก็จะได้แน่นแฟ้นเข้าอีก นักสนุกก็พอเล่าหัวเราะแก้ง่วงเหงา ถ้าจะถือว่าหนังสือแต่งใหม่ก็ดีเหมือนกัน ถ้าท่านเห็นถ่องแท้ว่าผิดพลาด โปรดฆ่ากาแต้มต่อตัดเติมได้ให้ถูกต้องเป็นดี

นี่แหละหนาท่านทานบดี ที่มีน้ำใจเลื่อมใสศรัทธาเชื่อถือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้อุตส่าห์มาประชุมกันไหว้กราบสักการะพระเกตุไชโยใหญ่โต ในอำเภอไชโยนี้ทุกปีมา พระพุทธปฏิมากรองค์นี้หนา ก็เป็นพระของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ขอพระบรมราชานุญาตแล้วก่อสร้างไว้ ท่านได้เชิญเทวดาฟ้าเทวดาดินเป็นผู้เฝ้าพิทักษ์รักษาป้องกันภัยอันตราย ไม่ให้มีแก่พระของท่าน ถึงถาวรตั้งมั่นมาถึงปีนี้ได้นานถึง ๖๐ ปีเศษล่วงมา ก็ด้วยอำนาจสัตยาธิษฐานของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ผู้มีสัตย์ มีธรรม ทั้งกอปรกายกรรม วาจีกรรม มโนกรรม เป็นฝ่ายบุญฝ่ายกุศล ทั้งระคนข้องอยู่ในภูมิรู้ ภูมิเมตตา ภูมิกรุณา เอ็นดูแก่อาณาประชาชนนิกร ท่านตั้งใจให้ความสุขอันสุนทร และให้สุขสโมสรแก่นิกรประชาชนทั่วหน้ากัน ท่านหวังจะให้มีแต่ความปรีดิ์เปรมเกษมสันต์สารภิรมย์ ให้สมแก่ที่ประเทศเป็นเขตพระบวรพุทะศาสนารักษาพระรัตนตรัยให้ไพบูลย์ ต่อตั้งศาสนาไว้มิให้เสื่อมสูญ เศร้าหมอง ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องสนองพระเดชพระคุณพระพุทธเจ้า อันได้ทรงฟักฟูมใฝ่เฝ้าฝากฝังตั้งพระศาสนาไว้

เป็นของบริสุทธิ์ สำหรับพุทธเวไนย พุทธสาวก พุทธมามะกะ พุทธบาท พุทธบิดามารดา แห่งพระพุทธเจ้า จะได้ตรัสไปข้างหน้าในอนาคตกาล นิกรชนจะได้ชวนช่วยกันรักษาศีลบำเพ็ญทาน ทำแต่การบุญ ผู้สละ ผู้บริจาคจะได้เป็นทุนเป็นเสบียงทางผลที่ทำไว้จะมิได้ระเหิดเริศร้างจางจืด ชืดเชื้อ หรือยากจนแค้นเต็มเข็ญเป็นไปในภายหน้า จะได้ทวีมีศรัทธากล้าปัญญาแหลมหลักอัครภูมิ วิจารณ์จะเกิดบุญจิตุกามยตาญาณหยั่งรู้หยั่งเห็นพระอริยสัจจะธรรม จะได้นำตนให้ข้ามพ้นจากวัฏฏะสงสารได้ก็ต้องอาศัยกุศลวัตรภูมิ ภูมิรู้ ภูมิปฏิบัติในปัจจุบันชาตินี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้สำเร็จความสุขความดี ความงามตามวาสนาบารมีในกาลภายภาคหน้า

เพราะเหตุนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงได้ชะโลชะลอ หล่อศรัทธาปสันนา ของพระพุทธศาสนิกชนไว้ใหญ่อะโข ตั้งพระไว้จะได้ระลึกนึกถึงพระพุทโธได้ง่ายๆ ต่างคนต่างจะได้ไหว้นมัสการบูชาทุกวันทุกเวลาราตรีปีไป จะได้สมดั่งพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาสั่งสอนไว้แก่พระสารีบุตรอุตต องค์สาวกว่า "อตีตังนานวาคะเมยยะ นัปปฏิกังเข อะนาคะตังยทะตี ตัมปหินันตัง อัปปัตตัญจะอะนาคะตัง ปัจจุบันปันนัญจะโยธัปมัง ตัตถะ ตัตถะวิปัสสะติ อะสังหิรังอะสังกุปปัง ตังวิทธามะนุพรูหะเย อัชเชวะกิจจะมาตับปัง โกชัญญามะระณังสุเว นะหิโนสังคะรันเตนะ มัจจุนา เอวัง วิหาริมาตาปิง อะโหรัตตะมะตันทิตัง ตังเวภัทเทกะรัต สันโตอาจิขะเตมุนีติ"

แปล ความตามพระคาถาทั้ง ๔ คาถานี้ว่า บุคคลไม่พึงตามไปถึงเหตุการณ์ที่ล่วงไปแล้ว๑ บุคคลไม่พึงหวังจำเพาะเหตุผลข้างหน้า อันยังไม่มาถึง บุคคลใดย่อมเห็นชัดเห็นแน่ว่า ธรรมะ คือ คุณงามความดีในปัจจุบันทันตานี้แล้ว ย่อมทำประโยชน์ในเหตุการณ์นั้นๆเถิด อะสังหิรัง อะสังกุปปัง ไม่พึงย่อหย่อน ไม่พึงคืนคลายเกียจคร้านพึงจำเพาะเจาะจงผลประโยชน์นั้นๆ ให้เจริญตามๆ เป็นลำดับไป พึงทำกิจการงานของตนให้เสร็จสุขสำเร็จเสียในวันนี้ จะเฉี่อยชาราข้อละทิ้งกิจการงานให้นานวันนั้นไม่ได้ โกชัญญามรณังสุเว ใครเล่าจะพึงรู้ว่าความตายจะมาถึงในวันพรุ่งนี้ นะหิโนสังคะรันเตนะ มหาเสเนนะมัจจุนา ความผัดเพี้ยนผ่อนผันของเราทั้งหลายไม่มีต่อด้วยความตายอันมีเสนาใหญ่นั้น คนผู้เห็นภัยมฤตยูราชตามกระชั้นแล้ว ไม่ควรทุเลาวันประกันพรุ่ง ว่าพรุ่งนี้เถอะ มะเรื่องเถอะ เราจึงจะกระทำไม่พึงย่อหย่อนเกียจคร้านอย่างนี้ จะรีบร้อนกระทำเสียให้แล้วจึงอยู่ทำไปทั้งกลางวันและกลางคืน ตังเวภัทเทกะรัตโตติ สันโตอาจิกขะเตมุนี นักปราชญ์ผู้รู้ผู้สงบระงับแล้ว ท่านกล่าวบอกว่า บุคคลผู้หมั่นเพียรกระทำนั้น ว่าเป็นบุคคลมีราตรีเดียวเจริญด้วยประการดังนี้

ถ้าจะอธิบายตาม ความในพระธรรมเทศนาในพระคาถาที่แปลมาแล้วนี้ ให้เข้าใจตามภาษาชาวบ้าน ต้องอธิบายดังนี้ว่า คำหรือเรื่องหรือสิ่งหรือเหตุการณ์ก็ตาม ถ้ามันล่วงเลยไปเสียแล้ว มันสายไปเสียแล้ว มันบ่ายไปเสียแล้ว เรียกว่าอดีต ล่วงไปแล้ว อย่าให้ไปตามคิดตามหาถึงมัน จะทำความเสียใจให้ ท่านจึงสอนไม่ให้ตามคิด สุภาษิตก็ว่าไว้ว่า อย่าฟื้นสอยหาตะเข็บให้เจ็บใจ อย่าตามคิดถึงมัน ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เสีย และดีกว่า ถึงเรื่องราวเหตุผลข้างหน้า หรือมีคนมีผู้กล่าวมาส่อถึงเหตุผลข้างหน้าว่าเมื่อนั้นเมื่อนั่น จะให้นั่น จะให้นั่นทำนั่นทำนั่นให้ กล่าวอย่างนี้เรียกว่าอนาคตเหตุ ท่านว่าอย่าพึ่งจำนง อย่าหวังใจ อย่าวางใจในการข้างหน้า จะเสียใจอีก จะเหนื่อยเปล่าด้วย เพราะไม่จริง ดังว่า

สุภาษิตก็ว่า ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นรอกโก่งกระสุนหน้าไม้ สายกระสุนจะล้า ด้ายกระสุนจะอ่อน คนเราถ้าเชื่อการข้างหน้า ทำไปเพราะหวังและสำคัญมั่นหมายมุ่งหมายว่าจริงใจ ถ้าไปถูกหลอกถูกล่อเข้าจะเสียใจ แห้งใจอ่อนใจ เหนื่อยเปล่า เหตุนี้ ท่านจึงสอนว่า อย่าหวังการข้างหน้า ในปัจจุบันชั่ววันหนึ่งๆ นี่แหละควรพึงกระทำให้เป็นผลประโยชน์ไว้สำหรับเกื้อกูลตน ทำบุญทำกุศลไว้สำหรับตนประจำตัวไว้สม่ำเสมอทุกวัน ทุกเวลา ถึงโดยว่าข้างหน้า ภพหน้า โลกหน้าจะมีหรือไม่มีเราก็ไม่วิตก เพราะเราไม่ทำความผิด ความชั่ว ความบาปไว้ เราไม่เศร้าไม่หมอง

เมื่อ เราทำตนให้บริสุทธิ์ เรารับจ้างเขาทำงาน ทำตนให้มีคนรักคนนับหน้าถือนาม เราก็ไม่หวาดไม่ไหวต่อการขัดสน เรารับทำให้เขาแล้วตามกำหนด เจ้างานก็ต้องให้ค่าจ้างรางวัลเราตามสัญญา ถ้าเราจะขอรับเงินค่าจ้างล่วงหน้า นายจ้างก็ไม่รังเกียจหยิบให้เราทันทีทันงาน เพราะนายจ้างเชื่อว่าเราหมั่นทำงานของท่านจริงไม่ย่อหย่อนผ่อนผัดวัน ถ้าว่าเป็นงานของเราเอง รีบทำให้แล้ว ไม่ผัดเพี้ยนเปลี่ยนเวลา ก็ยิ่งได้ผลความเจริญ เมื่อการงานเงินของเราพอดี พอแล้ว พอกิน พอใช้ เราก็มีโอกาสมีช่องที่จะแสวงหาคุณงามความดี ทำบุญทำกุศล สวดมนต์ไหว้พระได้ตามสบายใจ

เมื่อเราสบายใจไม่มีราคีความขัดข้อง หมองใจ ไม่เศร้าหมองใจแล้ว เราก็ยิ่งมีสง่าราศีดีขึ้น เป็นที่ชื่นตาของผู้ที่เราจะไปสู่มาหา ผู้รับก็ไม่กินแหนงรังเกียจรำคาญ เพราะตนของเราบริสุทธิ์ ไม่รบกวนหยิบยืมให้เจ้าของบ้านรำคาญใจ ทำได้ดังนี้แหละจึงตรงต่อพุทธศาสนา ตรงกับคำในภัทธกรัตคาถาว่า ตํ เวภัทเธกะรัตโตติ ว่าคนทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ ดังสำแดงมาจึงมีนามกล่าวว่า ผู้นั้นมีราตรี คืนเดียวเจริญ
ถ้าเป็นบรรพชิตเล่า ก็จงทำให้เจริญ คืออย่าเกียจอย่าคร้าน การเล่าการเรียน การประพฤติ การปฏิบัติ การสงเคราะห์ตระกูล ชอบด้วยธรรมวินัย อย่าประทุษร้ายตระกูลให้ผิดต่อธรรมวินัย ให้ชอบด้วยพระราชกฤษฎีกากฎหมายบ้านเมืองท่าน สำหรับวันหนึ่งๆ แล้ว ก็อาจได้รับความยอย่องนับถือลือชา มีสักการะสัมมานะเสมอไปตามสมควร พระมหามุนีก็ทรงชี้ชวนให้นิยมชมว่า ตํ เวภัทเธกะรัตโต ว่าท่านผู้นั้น มีราตรีเดียวเจริญ บุคคลใด ถ้าถูกพระอริยเจ้าผู้เป็นอริยนักปราชญ์สรรเสริญแล้ว ก็หวังเถอะว่า คงมีแต่ความสุข ความเจริญทุกวันทุกเวลา หาความทรุดเสื่อม บ่มิได

ถ้า ยิ่งเป็นผู้เข้าใกล้ไหว้กราบ นมัสการบูชาสักการะ เชื่อมั่นถือมั่นในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ช่วยกันพร้อมใจกัน นมัสการสักการบูชาพระโตของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างไว้เป็นฐานเช่นนี้ ผู้บูชาสักการะนมัสการ ก็ได้ชื่อว่ากตัญญูกตเวทีต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน เหตุว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสกำชับกับพระอานนท์เถระเจ้าไว้ว่า ผู้ใดเลื่อมใสประสาทะศรัทธา ใคร่บูชาพระตถาคตด้วยความซื่อสัตย์ กตเวที

" ปฏิมาโพธิรุกขาถูปาจะชินะธาตุโย จตุราสีติ สหัสสธัมมักขันธาสุเหสิตา" ให้บุคคลนั้นบูชาสักการะนอบน้อม พร้อมด้วยกาย วาจา ใจ ให้ลึกซึ้ง แล้วบูชาซึ่งปฏิมากร ๑ ไม้พระมหาโพธิ์ที่นั่งตรัสรู้ ๑ พระสถูปเจดีย์ที่บรรจุเครื่องพุทธโภคและอุทเทศเจดีย์ที่ทำเทียมไว้ ซึ่งพระสารีริกธาตุของพระศาสดา คือกระดูกของพระพุทธเจ้า ๑ พระคัมภีร์ที่บรรจุพระธรรมขันธ์ แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ๑ วัตถุทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นที่สมควรสักการบูชาของผู้ที่มุ่งหมายนับถือ เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ ทานมัย ๑ ศีลมัย ๑ ภาวนามัย ๑ ทิฏฐุชุมัย ๑ อปัจจายนมัย ๑ ไวยาวัจจมัย ๑ เทศนามัย ๑ ปัตติทานมัย ๑ ปุญญัตตานุโมทนามัย ๑ สะวนมัย ๑

ทั้ง ๑๐ ประการนี้ บังเกิดเป็นที่ตั้งของบุคคลผู้ที่ไหว้นพเคารพบูชา เมื่อทำเข้า บูชาเข้า ฟังเข้า แสดงเข้า ขวนขวายเข้า อ่อนน้อมเข้า ให้ทานเข้า ภาวนาเข้า เห็นตรงเข้า เพราะอาศัยเหตุที่พระเกตุไชโยนี้ ก็เป็นบุญล้ำเลิศประเสริฐวิเศษ เห็นทันตาทันใจก็มี ปรากฏเป็นหลายคนมาแล้ว ถ้าได้สร้างเรื่องราวประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ให้เรื่องนี้ไว้สำหรับเป็นความรู้ ไว้สำหรับบ้านเรือน สืบบุตรหลานเหลนหลนไปอีกก็ได้ชื่อว่า กตัญญูรู้พระคุณพระพุฒาจารย์ (โต) เหมือนได้นั่งใกล้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้บุญเพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้สุขสวัสดีมงคลเพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้สดับตรับฟังเพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้รู้จักศาสนาแน่นอน เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

เหตุนี้ ควรแล้วที่สาธุชนทั้งปวง จะช่วยกันสร้างประวัติเรื่องของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไว้เชิดชูเฉลิมพระเกียรติคุณของท่าน เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์โน้น เป็นพระควรอัศจรรย์ควรรู้ควรฟัง จรรยา อาการ กิริยา ท่าทาง พูด เจรจาโต้ตอบ ปฏิบัติ ก่อสร้าง แปลกๆ ประหลาดกว่าพระสงฆ์องค์อื่นๆ เทียมหรือเหมือนหรือยิ่งด้วยวุฒิปาฏิหาริย์ต่างๆ ไม่ใคร่จะมีใครรู้จักทั่วแผ่นดินเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไม่ใคร่จะเคยได้ยินเป็นแต่ธรรมดาเรียบๆ ก็พอมีบ้าง

ถ้าท่านได้ช่วย กันสร้างเรื่องประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไว้อ่านรู้ดูฟัง สำหรับบ้านเรือน และตู้หนังสือของท่านแล้ว ท่านจะมีอานิสงส์ ทำให้ท่านผ่องแผ้วพ้นราคี จะมีแต่ทางสุขสวัสดี เท่ากับมียันต์ชื่อว่ามหามงคล จะกำจัดอุปทวันตรายแลภัยจัญไรเป็นต้น ไม่มีมายายีบีฑาท่านได้เลย สมด้วยพระบารมีท่านรำพันเฉลยไว้ว่า "สัพพิเรวะสมาเสถะ สัพพิกุพเพถะสัณฑวิง สะตังธัมมะ ภิญญายะ สัพพะทุกขาปะมุจจติ" ดังนี้ มีความว่า ให้บุคคลพึงนั่งใกล้ด้วยสัปปุรุษคนดีพร้อม ๑ ให้บุคคลพึงทำความคุ้นเคยรักใคร่ไต่ถามสนทนาด้วยท่านผู้เป็นสัปปุรุษ คนดี ๑ ได้ฟังคำชี้แจงของสัปปุรุษอย่างแน่นอนก็จะรู้เท่า รู้ธรรม ของสัปปุรุษคนดีพร้อม ย่อมพ้นทุกข์ยากลำบากทั้งปวง

สมเด็จพระ พุฒาจารย์ (โต) องค์โน้น ท่านเป็นสัปปุรุษเที่ยงแท้ผู้หนึ่ง เพราะตั้งแต่ต้นจนปลาย ท่านมิได้เบียฬตนและเบียฬผู้อื่น ให้ได้ความทุกข์ยากลำบากเลยแม้สักคนเดียวตั้งแต่เกิดมาเห็นโลกจนตลอดวัน มรณภาพ จนถึงปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ก็ยังมีพระโตตั้งไว้ให้เป็นที่ไหว้บูชา แก่บรรดาพุทธศาสนิกชนคนทุกชั้นได้รำพันนับถือไม่รู้วาย ควรที่ท่านทายกทั้งหลายจงพร้อมกันสร้างหนังสือประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้นไว้คนละเล่มเทอญ

จบบันทึกประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จพระ พุฒาจารย์ (โต) ฉบับของมหาอำมาตย์ตรีพระยาทิพยโกษา ซึ่งเป็นฉบับที่รวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ได้รวบรวมขึ้นปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ตามคำโคลงตอนท้ายดังนี้

ประวัติคัดข้อย่อ คำขาน
สมเด็จพุฒาจารย์ เจอดไว้
โต, นามชื่อเดิมจาน จารึก เรื่องมี
เชิญอ่านเชิญฟังให้ ท่องแท้แปลความฯ
ลงมือที่สิบห้า กรกฏ
วันที่สามกันย์หมด แต่งแก้
พ.ศ. ล่วงกำหนด สองสี่ เจ็ดตรี
เดือนหนึ่งมีเศษแท้ สิบเก้าวันตรงฯ

ได้ จัดพิมพ์ขึ้นตามข้อความเดิมในต้นฉบับทุกประการ โดยมิได้แก้ไขในเรื่องศักราช วัน เดือน ปี เลย ขอท่านผู้อ่านจงพิจารณ์ค้นคว้าเปรียบเทียบและตัดสินความถูกต้องเหมาะสมเอา ด้วยตนเองต่อไปเทอญ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘