วันวิสาขบูชา ตอน วันปรินิพพาน

วิสาขบูชา
ตอน วันปรินิพพาน

“หนฺท ทานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ
ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้ตถาคตจักเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
นี่เป็นพระดำรัสสุดท้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรวบรวมพระโอวาททั้งปวงที่ได้ประทานมาตลอด ๔๕ พรรษานั้นลงในความไม่ประมาท ประทานแด่ภิกษุสงฆ์พุทธบริษัทก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน สืบเนื่องจากเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พญามารได้เข้ามาทูลอาราธนาให้พระองค์ดับขันธปรินิพพาน คือไม่ยอมให้พระองค์ได้ทำหน้าที่โปรดเวไนยสัตว์ แต่พระพุทธองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยมหากรุณาธิคุณได้ตรัสว่า
“ดู ก่อนมารผู้ใจบาป ตราบใดสาวกทั้งหลายของตถาคต คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นพหูสูตทรงจำไว้ได้ซึ่งพระธรรมวินัย ศึกษาและปฏิบัติสืบต่อกันไป แสดงหลักธรรมคำสอนโปรดเวไนยสัตว์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ให้หลุดพ้นสำเร็จมรรคผลนิพพานได้ ยังศาสนาให้แผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศแล้ว ตราบนั้น ตถาคตจะรับอาราธนาท่านเข้าสู่ปรินิพพาน”
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พญาวสวัตตีมารพยายามติดตามคอยหาโอกาสตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา เมื่อประสบโอกาส จึงเข้าไปกราบทูลให้เข้าสู่ปรินิพพานอีก ซึ่งในครั้งนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า
“ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านอย่าได้ทุกขโทมนัสไปเลย อีกไม่ช้าแล้ว ตถาคตก็จักปรินิพพาน นับจากนี้ล่วงไปอีก ๓ เดือนเท่านั้น ตถาคตก็จักเข้าสู่ปรินิพพาน”
พญามารได้ฟังแล้ว ก็เกิดปีติโสมนัส แล้วอันตรธานหายไป ลำดับนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระสติสัมปชัญญะมั่นคง กำหนดปลงพระชนมายุสังขารในวัน “มาฆปุรณมี ณ ปาวาลเจดีย์” ว่า “นับแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจักดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน”
เมื่อพระบรมครูกำหนดปลงอายุสังขารดังนั้น ได้บังเกิดเหตุมหัศจรรย์บันดาลให้แผ่นดินหวั่นไหว พระอานนทเถระเกิดความสงสัย จึงเข้าไปกราบทูลถามเหตุแห่งแผ่นดินไหวนั้น พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า
เหตุให้เกิดแผ่นดินไหวนั้น มี ๘ ประการ คือ
  • ๑. ลมกำเริบ
  • ๒. ท่านผู้มีฤทธิ์บันดาล
  • ๓. พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิตเทวโลกลงสู่พระครรภ์
  • ๔.พระโพธิสัตว์ประสูติ
  • ๕. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
  • ๖.พระตถาคตทรงแสดงพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร
  • ๗. พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขาร
  • ๘. พระตถาคตเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน
ดูก่อนอานนท์ บัดนี้ ตถาคตรับนิมนต์จากพญาวสวัตตีมารให้ดับขันธปรินิพพานและปลงอายุสังขารแล้ว จากนี้ไปอีก ๓ เดือน ก็จะปรินิพพาน เพราะฉะนั้น แผ่นดินจึงไหว”
พระอานนท์กราบทูลวิงวอนขอให้พระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ต่อไปอีกจนสิ้นกัป หนึ่ง เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อความสุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระพุทธองค์ตรัสห้าม แต่พระอานนท์ก็ยังกราบทูลวิงวอนถึง ๓ ครั้ง พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า
“ดูก่อนอานนท์ เธอเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของตถาคตหรือไม่”
“ข้าพระองค์เชื่อ พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนอานนท์ ถ้าเธอเชื่อแล้ว เหตุไฉนจึงมาวิงวอนตถาคตถึง ๓ ครั้งเล่า”
ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังพระองค์ตรัสว่า อิทธิบาทสี่ ผู้ใดเจริญจนชำนาญดีแล้ว ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตยืนยาวตลอดกัปหนึ่งหรือมากกว่านั้นก็ย่อมกระทำได้ อิทธิบาทสี่นั้น พระองค์เจริญแคล่วคล่องชำนาญแล้ว พระองค์ก็สามารถจะดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัปหนึ่งหรือมากกว่าได้ ข้าพระองค์เห็นดังนี้ จึงกราบทูลวิงวอนถึง ๓ ครั้ง พระเจ้าข้า”
“ดู ก่อนอานนท์ ตถาคตทำนิมิตโอภาสให้เธอดูอย่างชัดแจ้งถึง ๑๖ ครั้ง เพื่อให้เธออาราธนาให้ตถาคตดำรงพระชนม์อยู่ แต่เธอก็ไม่รู้ในนิมิตนั้น และไม่ได้อาราธนาวิงวอนตถาคต ถ้าเธอทูลวิงวอนแล้ว ตถาคตก็จะห้ามเพียง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ ตถาคตก็จะรับคำอาราธนานั้น เพราะเธอไม่วิงวอนเสียแต่แรก จึงเป็นความบกพร่องของเธอเอง”
พระบรมศาสดาได้ตรัสเล่าเรื่องนิมิตโอภาสที่ทรงแสดงให้อานนท์ดูถึง ๑๖ ครั้ง แต่เนื่องจากท่านพระอานนท์ถูกพญามารบดบังธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้เอาไว้ ทำให้ท่านลืมอาราธนาไปเสียสนิท อย่างไรก็ตาม พระพุทธองค์ทรงยกใจท่านพระอานนท์ว่า
“ดูก่อนอานนท์ สังขารทั้งหลายมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และดับสูญสลายไปในที่สุด การระงับดับเสียซึ่งชาติและมรณะ คือพระปรินิพพานนั้นเป็นเอกันตบรมสุขอันหาสิ่งอื่นจะเสมอเหมือนมิได้”
ข่าวการปลงอายุสังขารได้แพร่กระจายไปในหมู่ภิกษุสงฆ์ และลือกระฉ่อนไปถึงเหล่าพุทธบริษัท ผู้ที่เป็นปุถุชนอยู่ครั้นได้สดับแล้วก็ตกใจเสียใจร้องไห้ เพราะไม่อยากให้พระพุทธองค์ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกจากไปเร็วนัก ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายต่างก็เกิดธรรมสังเวชว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ แม้แต่สังขารของพระบรมศาสดายังต้องแตกสลายไปในที่สุด
ภายใน ๓ เดือนก่อนการเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ตอบปัญหาแก่เหล่าพุทธบริษัททั้งมนุษย์และเทวดาที่ทยอยมาเข้าเฝ้าจนคลายความ สงสัย ทรงสะสางเรื่องราวทุกอย่างเพื่อให้พระพุทธศาสนาปักหลักมั่นเป็นหลักชัยของ มนุษยชาติตราบนานเท่านาน เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงให้โอกาสแก่สงฆ์ทั้งปวงที่ประชุมกัน ได้ทูลถามข้อข้องใจสงสัยต่างๆ แต่ก็มิได้มีภิกษุองค์ใดกราบทูลถาม พระอานนท์จึงกราบทูลว่า

“ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุแม้เพียงรูปหนึ่ง ที่มีความสงสัยในพระรัตนตรัย ในมรรคและปฏิปทา ไม่มีเลย ข้อนี้นับเป็นสิ่งอัศจรรย์อย่างยิ่ง”
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเห็นว่าเหล่าพระสาวกไม่มีใครสงสัยในธรรมวินัยของพระองค์แล้ว จึงได้ประทานปัจฉิมโอวาทเป็นอมตะวาจาว่า
“ภิกษุ ทั้งหลาย บัดนี้เราผู้ตถาคตจักเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
เมื่อพระบรมศาสดาประทานปัจฉิมโอวาทอันเป็นอมตะวาจาเสร็จสิ้นแล้ว ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ก็มิได้ตรัสอะไรอีกเลยทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้วเข้าจตุตถฌาน และออกจากจตุตถฌานตามลำดับ ครบองค์รูปาวจรสมาบัติ ทรงออกจากฌานที่ ๔ แล้วเข้าอรูปาวจรสมาบัติ ๔ คือ เข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะ เข้าวิญญานัญจายตนะ ออกจากวิญญานัญจายตนะ เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับจิตสังขาร ทรงเข้าอนุปพพวิหารสมาบัติด้วยประการฉะนี้
ณ ที่นั้น ท่านพระอนุรุทธเถระผู้เลิศด้วยทิพยจักษุอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ท่านปรารถนาจะดูการเสด็จปรินิพพานของพระบรมศาสดา จงเข้าสมาบัติตามเสด็จไปทุกห้องแห่งสมาบัตินั้นๆ ส่วนพระอานนท์เห็นพระพุทธองค์สงบนิ่งอยู่ จึงถามพระอนุรุทธเถระว่า
“อนุรุทธ พระบรมครูเข้าสู่พระปรินิพพานแล้วหรือ”
“ยังไม่ปรินิพพาน อานนท์ พระองค์กำลังอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ในนิโรธสมาบัติตามเวลาที่ทรงกำหนดแล้ว ออกจากนิโรธสมาบัติ ย้อนกลับสู่อรูปฌานสี่โดยปฏิโลม แล้วเข้าสู่รูปาวจรฌานทั้ง ๔ โดยปฏิโลมตามลำดับเช่นกัน ครั้นออกจากปฐมฌานแล้ว เข้าทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อออกจากจตุตฌานในครั้งนี้
“พระบรมศาสดาก็..ปรินิพพาน..!!!” ณ เวลาปัจฉิมยามแห่งราตรี ในวันวิสาขปุรณมี ดิถีเพ็ญเดือน ๖ ด้วยประการฉะนี้
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวคาถานี้พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า “สัตว์ ทุกหมู่เหล่า จักทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก พระตถาคตผู้ศาสดา ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้ในโลก เป็นพระสัมพุทธะผู้เปี่ยมด้วยพระสัพพัญญุตญาณเช่นนี้ ยังปรินิพพานแล้ว”
ฝ่ายท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ของทวยเทพได้กล่าวคาถานี้ พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า “สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดาเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุข”
ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระบรมศาสดานั้น ทำให้เราได้ตระหนักว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ แม้กระทั่งตัวของเราเอง ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้
ดูอย่างพระพุทธองค์ผู้เปี่ยมล้นด้วยพุทธบารมีก็ยังต้องถึงวันสุดท้ายของ ชีวิต คือการเสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่เพียงว่าพระพุทธองค์ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในภพสามอีกแล้ว มีแต่ไปเสวยเอกันตบรมสุขในอายตนนิพพานอย่างเดียว พวกเราทั้งหลายจึงไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ควรมุ่งไปแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระที่แท้จริงของชีวิต แสวงหาสิ่งที่จะมาเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ที่คงความเป็นอมตะ เที่ยงแท้ ไม่แปรผัน คือมีลักษณะเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่สุขล้วนๆ เป็นตัวของตัวเองได้ กิเลสอาสวะเข้ามาครอบงำบังคับบัญชาไม่ได้ และการที่จะเข้าไปถึงสิ่งที่เป็นอมตะนี้ได้ ท่านให้เข้าไปทางสายกลาง คือ “มัชฌิมา ปฏิปทา” ที่มีอยู่ภายในตัวของทุกคน ด้วยวิธีการทำใจให้หยุดนิ่ง
โอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา ได้รู้จักหนทางแห่งความหลุดพ้น เพราะฉะนั้น อย่าได้ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่ไร้สาระ ให้รีบประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายใน คือพระรัตนตรัย ที่จะทำให้ชีวิตเราปลอดภัยและมีความสุขไปทุกภพทุกชาติ ตราบวันเข้าสู่พระนิพพาน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘