หลวงพ่อตอบปัญหา ตอนที่ 24


โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียง จาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
คำถาม:กราบ นมัสการหลวงพ่อ ด้วยความเคารพอย่างสูงนะคะ ลูกมีปัญหาที่จะกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า เมื่อเวลาลูกเข้าไปชวนเพื่อนนักธุรกิจด้วยกันมาเข้าวัด เขามักจะปฏิเสธ เพราะเขามองเห็นว่า ศาสนาสอนให้คนรักสันโดษและปล่อยวาง ซึ่ง ไม่เข้ากับชีวิตของนักธุรกิจนะคะ ลูกอยากกราบขอคำอธิบายจากหลวงพ่อ เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดเหล่านี้ด้วยค่ะ
ตอบ:ความจริงคำว่า “สันโดษ” แปลว่า “พอใจในสิ่งที่ควรมี ควรได้” อะไรไม่ควรมี ไม่ควรได้ ก็อย่าไปพอใจมัน ทีนี้...ถ้าตัวเขามีความรู้ มีความสามารถ มีความดีพอ จะได้อะไรในทางที่ถูก ที่ต้อง ที่ควร จะรวยได้เท่าไหร่ๆ พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงห้าม แต่ว่าความเข้าใจผิดตรงนี้แหละ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าวัดไป
ก่อนอื่นคุณโยมต้องรู้ว่า ธรรมชาติของคน โดยเฉพาะนักธุรกิจ นักธุรกิจทั้งหลายในโลก เป้าหมายของเขา เป้าหลัก คือ อยากรวย แล้วพวกที่รวยแล้ว ส่วนมากก็จะมีเป้าที่สองตามมาอีกด้วย คือ อยากดัง อยากรวย...อยากดัง เป็นเรื่องหลักๆของนักธุรกิจ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ห้ามรวย ส่วนมากมักเข้าใจผิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามรวย ความจริงท่านไม่ได้ห้าม ยิ่งกว่านั้นยังตรัส “โทษของความจน” อีก ด้วย อยู่ทางโลก ถ้าจน เป็นโทษนะ ตั้งแต่...ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน แม้การกู้หนี้ยืมสินก็เป็นทุกข์ กู้หนี้ยืมสินมาแล้วก็ต้องจ่ายดอกเบี้ย จ่ายดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีดอกเบี้ยจะจ่าย ก็โดนทวง การโดนตามทวงก็เป็นทุกข์ นี่เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นทราบความจริงไว้ด้วย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้ามนักธุรกิจ หรือใครทั้งหลายในโลกรวยเลย
ยิ่งกว่านั้น ยังทรงสอน “หัวใจเศรษฐี” ไว้ ด้วยว่า ถ้าใครอยากจะเป็นเศรษฐีล่ะก็ พระองค์มีวิธีให้เป็นเศรษฐีทั้งชาตินี้ เศรษฐีทั้งชาติหน้า ทรงสอนให้รวยข้ามชาติทีเดียว...จนข้ามชาติ...พระองค์ไม่เคยทรงสอน แต่ว่าที่พระองค์ทรงตำหนินั้น ทรงตำหนิประเภทรวยในทางที่ไม่ชอบ พูด ง่ายๆ คือ รวยด้วยมิจฉาอาชีวะ อย่างนี้พระองค์ทรงตำหนิ เพราะว่าจะเป็นหนทางให้ตกนรก จะเป็นหนทางให้ไม่สมหวัง คือ หวังจะรวยแต่ว่าจะจนเสียก่อน นั่นประการหนึ่ง หรือรวยสมใจนึก แต่ว่าก็ต้องร้อนใจในบั้นปลายชีวิต หรือไม่ร้อนใจในบั้นปลายชีวิต ก็ต้องไปตกนรกเสียด้วยซ้ำ นั่นอีกประการหนึ่ง
ที่เรียกว่า “มิจฉาอาชีวะ” เป็น อย่างไร...ยกตัวอย่าง อาทิ ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ (เช่น ค้าข้าทาส เป็นต้น) ค้ายาพิษ ค้ายาเสพติด ค้าสัตว์เอาไปฆ่า อย่างนี้เป็นมิจฉาอาชีวะ รวมทั้งอาชีพต้องห้ามต่างๆในทางกฎหมายบ้านเมืองด้วย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเห็นโทษของการรวยแบบชนิดผิดศีลผิดธรรมนั่นเองว่า “มันจะเดือดร้อนทั้งชาตินี้ ชาติหน้า” จึงทรงห้าม
ทีนี้ เมื่อเรารู้หลักอย่างนี้แล้ว ชวนเขาเข้าวัด นั่นแหละดี ไม่ว่าเขารวยแล้วหรือยังไม่รวย ถ้ารวยแล้วในทางที่ผิด ก็จะได้ให้พระเตือนว่า “หยุดซะ” แล้วรีบทำความดีเป็นการแก้ไข เพระได้ทำผิดพลาดไปแล้ว ไปรวยในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร
หากเขายังไม่ รวย แล้วไปทำผิดๆ พลาดๆ ก็ตั้งต้นใหม่ เตรียมไปรวยเยอะๆ ข้างหน้า ตามวิธีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้ พระองค์ได้ทรงสอนหัวใจหรือหลักธรรมสำคัญทีเดียวที่จะให้เป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่แค่เงินล้าน แต่เป็นนักธุรกิจพันล้าน หมื่นล้าน พระองค์ทรงสอนให้ทีเดียว มีหลักธรรมอยู่ 4ข้อง่ายๆ ดังนี้
1.หาเป็น คือ ฉลาดหาทรัพย์ในทางที่ถูกที่ควร และฉลาดในการที่จะปิดนรกอีกด้วย
2.รักษาเป็น หาทรัพย์มาได้เท่าไหร่ หากรักษาไม่เป็นล่ะก็ มันก็เหมือนเอาชะลอมไปตักน้ำ หรือเอาเข่งไปตักน้ำ ตักมาเท่าไหร่ก็ไม่เหลือ
3. ข้อนี้น่าสนใจมากๆ คือ ทรงสอนให้สร้างเครือข่ายให้เป็น เครือข่ายนักธุรกิจ เครือข่ายขายตรง หรือเครือข่ายทางการค้า ที่มีกันในปัจจุบันนี้ พุทธองค์ทรงสอนเมื่อ 2,500ปีมาแล้ว ทรงใช้คำว่า “กัลยาณมิตตตา” คือ สร้างเครือข่ายคนดีให้เป็น ไม่ ใช่สร้างเครือข่ายโจร ไม่ใช่สร้างเครือข่ายมาเฟีย ถ้าสร้างเครือข่ายคนดี ให้มาร่วมประกอบธุรกิจ ทั้งรวยด้วย ทั้งเปิดสวรรค์ เปิดนิพพานให้ตัวเองด้วย ถ้าสร้างเครือข่ายมาเฟีย ตกนรกแน่ แถมจะติดตารางตอนยังเป็นๆเสียอีกด้วย
4.ใช้เป็น คือ ใช้เป็น...ในการดำเนินชีวิตแล้วยังไม่พอ ต้องใช้เป็น...ในการหาบุญข้ามภพข้ามชาติไปด้วย
คุณโยมรีบไปบอก เพื่อนของคุณโยมที่เป็นนักธุรกิจว่า “เข้าวัดซะเร็วๆนะ” แล้วจะได้ไปเติมเต็ม คือ รวยทั้งทรัพย์ รวยทั้งศีล รวยทั้งธรรม ถ้ารวยทั้งทรัพย์ ทั้งศีล ทั้งธรรม อย่างนี้มันถึงจะคุ้ม เพราะมันเป็นการรวยข้ามภพ รวยข้ามชาติ ไม่ต้องตกนรก ไม่ต้องไปหวาดผวากฎหมาย เป็นการรวยอย่างถูกต้อง รวยด้วยศีล รวยด้วยธรรม รวยด้วยธุรกิจของเราเอง อย่างนี้ มันถึงจะสมกับที่เกิดมาในเมืองพุทธ...ช่วยตามพวกเขามาเร็วๆนะ
คำถาม:หลวงพ่อ เจ้าคะ ลูกอยากจะกราบเรียนถามหลวงพ่ออีกประการหนึ่งนะคะว่า ทำไมในปัจจุบันนี้ นักธุรกิจทั่วไป มักจะนิยมอ่านตำราบริหารงานของฝรั่ง ลูกกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ในพุทธศาสนา เรามีหลักคำสอนซึ่งเกี่ยวกับการบริหารงานบ้างหรือไม่เจ้าคะ
ตอบ:เจริญพร ...ความจริงในเรื่องของการบริหารงานนั้น ตำรับตำราทางโลก ว่าที่จริงของเขาก็ไม่เลวหรอก เพียงแต่ว่ามันยังไม่สมบูรณ์ ที่ว่าไม่สมบูรณ์มันเป็นอย่างไร กล่าวคือ การบริหารทางโลก มักมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จเป็นหลัก ที่เรียกว่าความสำเร็จเป็นหลัก คือ มุ่งประโยชน์ของตนเองเป็นหลักนั่นเอง
พอมุ่งประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก มันก็เข้าทำนองที่เราเรียกว่า “มุ่งวัตถุเป็นหลัก จนกระทั่งลืมทางด้านจิตใจกันไป” เพราะ ว่าพอมุ่งเอาความสำเร็จ ซึ่งมนุษย์ส่วนมากมุ่งที่ความร่ำรวยอีกนั่นแหละ มุ่งที่ความเด่น ความดังอีกนั่นแหละ ส่วนใครจะกระทบอย่างไรก็ช่าง ขอให้เราได้รวย ได้เด่น ได้ดังมาเสียก่อน นี้ก็เป็นแนวทางการบริหารทางโลก ตามตำรับตำราในยุคปัจจุบันนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงทราบดีว่า ความจริงแล้ว มนุษย์เกิดมาทำไม คือ เกิดมาสำหรับสร้างบุญ สร้างบารมี เกิดมาเพื่อแก้ไขตัวเอง มี ข้อผิดพลาดอยู่อย่างไร ติดตัวข้ามภพข้ามชาติมา แก้เสียให้หมดในชาตินี้ แล้วก็ขณะที่กำลังทำมาหากิน ซึ่งแน่นอน เพราะเรื่องการทำมาหากินนั่นแหละ ทำให้ต้องบริหารงาน อันนั้น อันนี้ อันโน้น ขึ้นมา
ใน ระหว่างทำมาหากินอยู่นี่เอง ก็ถือโอกาสปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ยิ่งๆขึ้นไป สร้างความดี สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองยิ่งๆขึ้นไป พูดง่ายๆ สายตาของพระพุทธศาสนา มองว่า “มนุษย์ ทั้งหลาย เกิดมาเพื่อสร้างบารมี เพื่อสร้างความดี เพื่อแก้ไขตัวเองเป็นหลัก ส่วนว่าเรื่องความรวย เรื่องความสำเร็จแบบโลกๆนั้น เป็นแค่ของแถม” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมองโลก ทรงมองพวกเรา อย่างนี้
เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงมุ่งเน้นให้เรานั้น ขณะ ที่บริหารไป ก็อย่ามุ่งแค่ Material หรืออย่ามุ่งแค่ประโยชน์ตน ประโยชน์ทางวัตถุเท่านั้น แต่ให้คำนึงถึงประโยชน์ท่าน ประโยชน์ทั้งตนและท่าน ทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจไปพร้อมๆกัน ที่ เรียกว่าประโยชน์ทางด้านจิตใจ คือ อย่างที่บอก คือ แก้ไขนิสัยใจคอของตัวเอง ที่ไม่ดีให้แก้ไขไปซะ และเพิ่มพูนบุญกุศลให้กับตัวเองให้มากยิ่งขึ้น
เมื่อพระองค์ ทรงมองอย่างนี้ แล้วมุ่งหวังที่จะให้พวกเราทำอย่างนี้ จึงขอแนะนำว่า...ลูกเอ๊ย...จะทำมาหา กินอะไร จะบริหารงานอย่างไร เห็นช่องทางจะร่ำรวยในทางที่ไม่ผิดศีลไม่ผิดธรรมล่ะก็...ทำไปเถอะ ไม่ว่าหรอก จะบริหารงานขนาดส่วนตัว หรือทำกันเป็นองค์กร ทำเป็นบริษัทใหญ่ๆ หรือในระดับประเทศก็ทำไปเถอะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรง ตำหนิ
แต่ ให้คำนึงว่า งานทุกชิ้นนั้นจะต้องเพิ่มพูนศีลธรรมให้กับตัวเอง เพิ่มพูนศีลธรรมให้กับ เพื่อนร่วมงาน เพิ่มพูนศีล เพิ่มพูนธรรม ให้กับสังคมและประเทศชาติ อีกทั้งไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย นี่คือเป้าใหญ่ใจความของการบริหารงาน ซึ่ง ชาวพุทธได้ถูกอบรมบ่มนิสัยมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
เมื่อเราถูก อบรมกันมาอย่างนี้ บางทีเราจึงมักจะละเลยที่จะไปแก้ไขปรับปรุงในเรื่อง ขั้นตอนทางเทคโนโลยี หรือไปผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการบริหาร บางทีทำให้การบริหารทางด้านวัตถุล้าหลังไป แต่ว่ามีความก้าวหน้าทางด้านจิตใจมาก กล่าวคือ ทำงานไปด้วย ก็มีน้ำจิตน้ำใจกันไปด้วย ในระหว่างนั้นก็ทำทานไป ก็เพิ่มพูนจิตเมตตาไปให้กับเพื่อนร่วมงาน ใครตกทุกข์ได้ยาก ก็มีกรุณาหอบหิ้วลากจูงกันไป ที่จะปลดกันง่ายๆ ตัดลอยแพกันง่ายๆ ไม่มี มีแต่ประคับประคองกันไปให้ถึงที่สุดทีเดียว
ยิ่ง ไปกว่านั้น ทำงานไปด้วยก็พยายามที่จะสร้างความสามัคคีธรรม ให้เกิดขึ้นในบ้านในเมือง ในหมู่คณะ ทำทานไปก็ได้บุญไป ทำทานไปก็ชักชวนกัน เดี๋ยวก็ทอดผ้าป่า เดี๋ยวก็ทอดกฐิน เดี๋ยวก็ช่วยกันสร้างสาธารณประโยชน์ เอาความรวย เอาความสำเร็จที่ได้นั้น เป็นฐานในการสร้างคุณงามความดี รวยมาเท่าไหร่ ก็ใช้ไปทำบุญทำทาน ทำงานหนักเท่าไหร่ กลายเป็นเพิ่มความเมตตากรุณาแก่กัน เพิ่มความหนักแน่นมั่นคงให้กับจิตใจไปด้วย ถือว่าสิ่งเหล่านี้ เมื่อได้มาแล้วมันคุ้มยิ่งกว่าสมบัติพันล้าน หมื่นล้าน หรือมหาสมบัติท่วมฟ้าท่วมโลกเสียอีก
เพราะฉะนั้นขอฝากไว้กับท่านผู้ชมรายการทุกคนนะ...ลูกนะ จะทำงานอะไรก็ทำไป จะบริหารงานยังไง จะวิธีไหนก็ไม่ว่า แต่จำไว้ บริหารไป ต้องให้ศีลธรรมประจำใจมีแต่เพิ่มพูน ที่ จะตกหล่น มีโอกาสจะตกนรก อย่าไปทำเข้า ส่วนว่าเมื่อศีลธรรมเพิ่มพูนขึ้น มากขึ้น มากขึ้นในระหว่างนั้น มันอาจจะต้องใช้จ่ายมากขึ้นไปบ้าง ก็ช่างประไร ในเมื่อไม่ถึงกับขาดทุนขาดรอน กำไรหย่อนลงไปสักหน่อย แต่ภูมิศีล ภูมิธรรม เพิ่มขึ้นมาตั้งเยอะ...ยอมเถอะลูก...อย่างนี้แล้วจะประสบความสำเร็จข้ามภพ ข้ามชาติอีกเหมือนกัน
คำถาม:หลวงพ่อ เจ้าคะ เนื่องจากลูกทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งต้องดูแลลูกน้องเยอะ อยากจะกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นนักบริหารที่สามารถครองใจให้ลูกน้องรักได้เจ้าค่ะ
ตอบ:ครองใจคนความจริงไม่ยาก ขอให้เราครองใจของเราให้ได้ก่อน ครองใจของตนเองได้แล้ว จึงค่อยครองใจคน ตรงนี้จำไว้ให้ดี ในการครองใจของตนเองเป็นอย่างไร...ครองใจของตนเองให้ได้ คือ ครองใจของเราให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา ถ้าครองใจให้ผ่องใสได้ตลอดเวลาแล้ว...ถ้าอย่างนั้นครองใจคนก็ไม่ยาก
ทีนี้ที่ถามว่า “ครองใจลูกน้องจะทำอย่างไร” ดูศัพท์คำนี้ให้ดี ดูศัพท์คำว่า “ลูกน้อง” ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเรามีหลายรูปแบบ เรามีคำหลายคำ ตั้งแต่คำว่า “พนักงาน” คำว่า “คนงาน” คำว่า “คนรับใช้” หนักเข้าไปก็ “ข้าทาส” แย่หนักเข้าไปก็ “ขี้ข้า” คำประเภทนี้ปู่ย่าตาทวดเราไม่ใช้ ถือว่าเป็นคำที่จิกหัวเรียก อย่างเช่น คำว่า “ขี้ข้า” คำว่า “ข้าทาส” อย่างนี้...จิกหัวเรียก...หมดความเป็นคน
แต่ว่า...ให้มีจิตเมตตา มองกันด้วยว่า เขากับเราก็เป็นมนุษย์ด้วยกัน แล้ว การที่เขามาอยู่กับเรา เป็นบุคคลที่มาช่วยผ่อนแรง มาช่วยเราทำมาหากิน เราได้เขาเป็นแรงกาย ส่วนเราออกแรงสติปัญญา...อย่างนี้ ถ้าจะว่าไป ก็เหมือนมือกับซ้ายมือขวา หรือว่าเท้าหน้ากับเท้าหลัง อะไรอย่างนี้...ถ้าอย่างนี้พอไปด้วยกันได้
ทีนี้เมื่อเราจะครองใจลูกน้องของเรา ขั้นต้น...ให้มองคำว่า “ลูก” กับคำว่า “น้อง” คือ ใครมาอยู่กับเรา ก็ให้ความเมตตา เรารักความสุข ความสะดวก ความสบายอย่างไร คนอื่น...เขาก็เป็นคน เขาก็รักความสุข ความสะดวก ความสบายเหมือนเรา เพียงแต่ว่าวันนี้เรามีฐานะดีกว่าเขา มีความรู้ความสามารถมากกว่าเขา เอาล่ะ...เขายอมเรา...ยอมอะไร...ก็ยอมมาอยู่ใต้บังคับบัญชาของเรา
เมื่อมาอยู่ใต้ บังคับบัญชาของเราแล้ว เราถือว่าเขาเป็นคนหรือไม่ ถ้าถือว่าเขาเป็นคน แต่เป็นแค่คนก็เป็นคนรับใช้ คนงาน ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรา หรือถือว่าเขาไม่ใช่คนแล้ว...เขาอยู่ต่ำกว่าเราแล้ว เป็น...ไอ้ขี้ข้า...ไอ้ข้าทาส...อย่างนี้หมดสัมพันธไมตรีเลย
แต่ว่า...เออ...มาอยู่กับเราถือมันเหมือนลูก ถือมันเหมือนน้อง...อย่างนี้ใช้ได้...เออ...นี่ “ลูกน้อง” กล่าว คือ เหมือนลูก แต่ว่าเป็นลูกชนิดที่ต้องจ่ายเงินจ่ายทอง หรือเป็นลูกจ้างก็ยังดี จะลูกน้องหรือลูกจ้างก็เอาล่ะ เท่ากับเรายอมรับว่าเขาเป็นคน มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนเช่นเดียวกับเรา แต่เขาด้อยโอกาสกว่าเรา เราก็ให้โอกาสเขาซิ อย่าไปดูถูกดูหมิ่นเขา คิดว่า...มาช่วยกันทำกิน ไม่ใช่ทาสไม่ใช่ขี้ข้า
ขอแนะนำวิธีครองใจผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนี้
1.มีจิตเมตตากับเขา คือ สอนงานให้ หากเขารู้ไม่เท่าเรา เราก็สอนงานให้ เมื่อเขาเป็นงานแล้ว ก็ใช้งานให้พอเหมาะพอสม เราก็ได้งาน เขาก็ได้เงิน เท่านั้นยังไม่พอ สอนงานให้แล้ว ใช้งานพอเหมาะพอสมแล้ว ก็อบรมศีลธรรมให้เขาด้วย... อบรมทำไม...เออ...เขาด้อยโอกาสในชาตินี้ ชาติหน้า...ถ้าเขามีศีลมีธรรมติดตัวไปด้วย...อย่างนี้ไม่ด้อยโอกาสแล้ว... เขาจะได้โอกาสนะ...ยกระดับให้เขาได้
2. เมื่อให้จิตเมตตาขนาดนี้ สอนงานให้ ใช้งานเหมาะพอสม อบรมศีลธรรมไปด้วยแล้ว...ตอนเจ็บ ตอนป่วย ตอนไข้ ก็รักษาเขา อย่าไปทอดทิ้งเขา คือ มีความกรุณาให้กับเขา นั่นเอง พูดง่ายๆ ถึงคราวดีก็ใช้ ถึงคราวไข้ก็รักษา เจ็บไข้ได้ป่วยจะเป็นจะตาย ก็หอบหิ้วกันไปไม่ทิ้งกัน เรียกว่า “เอาใจซื้อใจกัน”
3.มีมุทิตาจิต คือ ถ้าคนไหน ฝีมือเขาดี ก็ต้องส่งเสริมกัน เขาใช้คำว่า “ใครมันดีกว่าก็ต้องส่งเสริมให้มันก้าวหน้าไป” อย่า ไปกัก อย่าไปกั๊ก อย่าไปกดมันเอาไว้ ถ้าเอาแต่พวกของตัว เอาแต่ลูกหลานของตัว ฝีมือดีไม่ดี ก็ยกกันขึ้นมา อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ตรงนี้มันเรื่องงาน ก็ว่ากันตามงาน ก็ถือเหมือนลูกเหมือนหลาน เหมือนน้องแล้วนี่ ให้เขาเลย...มีฝีมือแล้ว Promote กันขึ้นไปยกกันขึ้นไป อย่าเอาคำว่า “คนอื่น” อย่าเอาคำว่า “ญาติ” มาปนเปกัน ตรงนี้ทุกคนถือว่าจะเป็นญาติหรือไม่ญาติ ก็คือ “เพื่อนร่วมงาน” เมื่อ เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นพี่ร่วมงาน เป็นน้องร่วมงานกันแล้ว อย่าไปเกี่ยงว่าเป็นสายเลือดหรือไม่ใช่สายเลือด ใครมีฝีมือดีกว่าก็ต้องส่งเสริมให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป คือ มีมุทิตาจิตกับเขา ไม่กั๊กไม่กันไว้
ในเวลาเดียวกัน ใครมันย่ำแย่ ฝีมือมันยังไม่ถึง เมื่อเขาก็บ่ายหน้ามาพึ่งเราแล้ว อย่าไปทอดอย่าไปทิ้งเขาเลย อย่างน้อยที่สุด ถ้าพบว่ามันยังมีแววรักดี มันมีแววซื่ออยู่ล่ะก็ ใครล้าหลังก็ลากก็จูงกันไป ไม่ทอดไม่ทิ้ง
ถ้าทำกันอย่างนี้ ครองใจคนได้ ถ้าไม่อย่างนั้น ใช้อำนาจบาตรใหญ่ได้แต่งาน เขาก็ได้แต่เงิน เราก็ได้แต่งาน แต่ว่าไม่ได้ใจ ถ้าให้ได้ใจกันล่ะก็...ก็ต้องเข้าไปครองใจกันอย่างนี้แหละ ถือว่าเขาเป็นลูก ถือว่าเขาเป็นน้อง แล้วประคับประคอง สร้างงาน สร้างบุญ สร้างความดีกันไป

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘