หลวงพ่อตอบปัญหา ตอนที่ 21


โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียง จาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
คำถาม:หลวงพ่อ เจ้าคะ ในฐานะที่เป็นแม่ ก็พยายามสอนลูกให้ทำความดี แต่เด็กสมัยนี้ต้องการเหตุผลค่ะ ก็จะย้อนถามกลับมาว่า แล้วแม่มีอะไรเป็นเครื่องวัดว่า อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว ซึ่งลูกก็ตอบไม่ค่อยถนัดนัก ก็ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อนะคะ คำว่า กรรม มีความหมายว่าอย่างไร และคนเราทำกรรมได้กี่ทางคะ และจะมีอะไรเป็นเครื่องตัดสินคะ
คำตอบ:เจริญพร...คำถามแรก คำว่า “กรรม” คืออะไร
ความจริงคำว่า “กรรม” เป็น คำในภาษาพระพุทธศาสนา แต่ถ้าแบบชาวบ้าน กรรม คือ การกระทำของเรานี่เอง แต่ละคนก็มีการกระทำในชีวิตประจำวันด้วยกันทั้งนั้น ทุกอิริยาบถที่เราทำ ไม่ว่าทำด้วยการพูด ทำด้วยการคิด ทำด้วยมือของเราก็ตามที
แต่ว่า ความหมายของกรรมที่ลึกไปกว่าการกระทำทั่วๆไป คือ อะไรก็ตาม ถ้าทำด้วยความตั้งใจ ถือว่าเป็นกรรม ถ้าไม่ตั้งใจ ไม่ถือว่าเป็นกรรม
ถ้าถามว่า คนเรา ทำกรรมได้กี่ทาง...ชัดเจนเลย ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าหญิง ไม่ว่าชาย คนเราทำกรรมได้ 3ทางด้วยกัน คือ
ประการที่1.กรรมทางกาย จะ เอามือไปทำ จะเอาเท้าไปทำ หรือเอาทั้งตัวนี้ไปทำ เช่น เอาหัวไปโขกพื้นสักโป๊กหนึ่ง ก็จัดว่าเป็นกรรม เพราะตั้งใจจะโขก จะโขกเพราะโกรธก็เป็นกรรม จะโขกเป็นลักษณะคำนับอย่างที่บางชนชาติเขาทำกัน นั่นก็เป็นกรรม เพราะทำด้วยความตั้งใจ 10นิ้วของเรายกมือพนมไหว้กราบผู้ที่มีคุณธรรม นี้ก็เป็นกรรม จัดเป็นกรรมดี แต่ว่า 10นิ้วอีกเหมือนกัน รวบกำเข้าเป็นกำปั้น แล้วไปต่อยเขาโครมครามเข้า มันก็เป็นกรรม แต่ว่าเป็นกรรมชั่ว
ประการที่2.กรรมทางวาจา ถ้า ตั้งใจชมใครตามความเป็นจริงว่า เขาดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ก็จัดว่าเป็นกรรมดีของเรา แต่ในทำนองกลับกัน ถ้าตั้งใจด่าใคร ก็เป็นกรรม แต่ว่าเป็นกรรมเสียของเรา เป็นกรรมชั่วของเรา จัดเป็นกรรมทางวาจา แต่ว่าคนหลับ นอนละเมอ ไม่เป็นกรรม เพราะว่าไม่ได้ตั้งใจ ไม่ถือสาหาความกัน หรือคนไข้เพ้อ จะเพ้อชมใคร จะเพ้อว่าใคร ติใครก็ตามที ไม่จัดว่าเป็นกรรม เพราะไม่มีความตั้งใจ ไม่มีเจตนา
ประการที่3.กรรมทางใจ เป็นกรรมทางความคิดนั่นเอง คิดรักใครก็เป็นกรรม คิดเกลียดใคร ชังใครก็เป็นกรรม คิดอิจฉาตาร้อนใครก็เป็นกรรม แค่คิดก็เป็นแล้ว
ตรงนี้เอง เมื่อจะตัดสินว่า กรรมที่เราทำนี้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ถ้าจะเอามาตรฐานของใครมาวัดนั้นคงยากเหมือนกัน ก็ต้องเอามาตรฐานของผู้รู้ เอามาตรฐานตัวเราเองมันก็คงไม่ใช่
เมื่อครั้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ มีผู้สงสัยเช่นเดียวกับที่คุณโยมสงสัย, เด็กก็สงสัยว่า ที่เรียกว่ากรรมดีเป็นอย่างไร กรรมชั่วเป็นอย่างไร พระองค์ตรัสตอบไว้อย่างชัดเจน แต่ตรัสตอบแบบให้เด็กเข้าใจ ดังนี้
กรณีที่1.ทำอะไรแล้ว เดือดร้อนเขา เดือดร้อนเรา นั่นเป็นกรรมชั่วแน่นอน
กรณีที่2.ทำอะไรก็ตาม ถ้าเดือดร้อนเรา แต่สบายใจเขา ก็ยังจัดเป็นกรรมชั่วอยู่ดี เช่น เขาแย่งของของเรา แกล้งเรา เขาสนุกแต่เราเดือดร้อน ถ้าอย่างนั้นกรรมชั่ว
ในทำนองเดียวกัน เราเย็นใจ สบายใจ แต่เขาเดือดร้อนใจ เช่น เราไปแกล้งเขา ถ้าอย่างนั้นจัดเป็นกรรมชั่ว
กรณีที่3.ทำอะไรแล้ว ไม่ร้อนเขาไม่ร้อนเรา ตรงกันข้าม เย็นทั้งเขา เย็นทั้งเรา นั่นคือ กรรมดี
นี่คือที่พระองค์ทรงตอบเด็ก
เวลาพระองค์ทรงตอบผู้ใหญ่ พระองค์ทรงตอบอีกลักษณะหนึ่ง ผู้ใหญ่มีความคิดมากกว่า ไกลกว่า พระองค์ทรงตอบว่า ทำอะไรแล้ว ต้องร้อนใจในภายหลัง อย่าทำ มันเป็นกรรมชั่ว
แม้เมื่อเริ่มต้นรู้ว่ามันสนุก มันสบาย มันสะดวก แต่ตอนท้ายมันลงท้ายด้วยความเดือดร้อน นั่นแหละกรรมชั่ว อย่าไปทำ เช่น ตอนจะกินเหล้า เริ่มต้นสนุก แต่ตอนท้ายส่งเสียง “โอกอาก โอกอาก” คลานกันเสียแล้ว อาเจียนกันเสียแล้ว หรือตีกันเสียแล้ว
เพราะฉะนั้น ทำอะไรต้องร้อนใจในภายหลัง จัดเป็นกรรมชั่ว
แต่ถ้า ทำอะไรแล้ว ไม่ต้องร้อนใจในภายหลัง จัดเป็นกรรมดี เช่น เด็กตั้งใจเรียนหนังสือตั้งแต่ต้นปี ทั้งทำการบ้าน ทั้งอ่านทั้งท่อง ไม่มีเวลาไปเที่ยว แม้จะเหนื่อย แต่ว่าปลายปีเขาสอบได้ เขามีความเข้าใจดี อย่างนี้เป็นกรรมดี พระองค์ก็ทรงให้ข้อคิดอย่างนี้
ทีนี้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่การศึกษาหย่อนสักหน่อย พระองค์ทรงตีกรอบให้เลย โดยไม่ต้องคิดมาก กล่าวคือ
กรรมชั่วทางกาย
ฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม
ดื่มน้ำเมา เสพยาเสพติด
กรรมชั่วทางวาจา ตั้งแต่
พูดเท็จ
พูดคำหยาบ
พูดส่อเสียด
พูดเพ้อเจ้อ ประเภท น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง
กรรมชั่วทางใจ
คิดโลภ อยากได้ของเขา
คิดพยาบาท จองล้างจองผลาญเขา
คิดเห็นผิดเป็นชอบ
คิดโง่ๆ
คิดอิจฉาริษยา
ถ้าจะให้ชัดเจนยิ่งกว่านี้ สำหรับนักปราชญ์ บัณฑิต หรือนักฝึกสมาธิ พระองค์ก็ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า ทำอะไรแล้วใจมันขุ่นมัว นั่นคือ กรรมชั่วมาแล้ว ถ้าทำอะไรแล้วใจใส ยิ่งทำยิ่งใส นั่นคือ กรรมดีมาแล้ว กรรมชั่ว กรรมดี ตัดสินกันอย่างนี้
คุณโยมค่อยๆ อธิบายให้ลูกฟังก็แล้วกัน ไม่ทราบเหมือนกันว่า ลูกของคุณโยมอายุเท่าไหร่ ไปปรับให้พอเหมาะก็แล้วกัน
คำถาม:ขอกราบเรียนถามหลวงพ่ออีกข้อหนึ่งนะเจ้าคะ คำว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มีความหมายว่าอย่างไรเจ้าคะ ขอความกรุณาหลวงพ่อช่วยขยายความให้ชัดเจนด้วยนะเจ้าคะ และคนในปัจจุบันนี้มักจะเข้าใจว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป อะไรทำให้เขามีความเข้าใจผิดๆ เช่นนั้นเจ้าคะ
คำตอบ: เจริญพร...ก็คงเป็น 2ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” หมายถึงอะไร
ถ้าจะพูดให้เต็ม “ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี” คือ เป็นความสุข เป็นความเจริญ “ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว” คือ ได้ผลในเชิงลบ เป็นความเดือดร้อน เป็นความตกทุกข์ได้ยาก ทั้งทางกาย ทางใจ
เจาะลึกเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ดังที่กล่าวไปแล้วว่า คนเราทำกรรมได้ 3ทาง เพราะฉะนั้น ทำกรรมดี ไม่ว่า กรรมดีทางกาย ทางวาจา ทางใจ เมื่อทำกรรมดีแล้ว ผลแห่งกรรมดีนั้นต้องออกมาแน่นอน แต่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน คงต้องว่ากันเป็นเรื่องๆไป
ยกตัวอย่าง ทำกรรมดีด้วยการขยันหมั่นเพียรในการเรียนหนังสือของเด็ก ผลแห่งกรรมดีมาแน่นอน คือ มีความเข้าใจในเรื่องที่เรียน มีความฉลาดเฉลียวเพิ่มขึ้น และทำให้เด็กคนนั้นมีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้น นี้เป็นผลของกรรมดี
แต่ว่าในทำนอง กลับกัน ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว เป็นอย่างไร ถ้าขี้เกียจเรียนหนังสือ ขี้เกียจทำการบ้าน ขี้เกียจที่จะเข้าครัวไปช่วยแม่ทำกับข้าว เพราะฉะนั้นเรียนก็ไม่ดี ทำกับข้าวก็ไม่เป็น นอกจากทำกับข้าวไม่เป็นแล้ว ช่วยแม่ไม่ได้ ก็เลยต้องกินข้าวสายๆหน่อย แล้วทำให้ไปโรงเรียนไม่ค่อยจะทัน นี่จัดว่าเป็นกรรมชั่วที่เด็กคนนั้นจะพึงได้รับ
ทำดี ต้องได้ดี ทำชั่ว ต้องได้ชั่ว นี่คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนในประเด็นแรก
ประเด็นที่สอง สาเหตุที่ทำให้คนสับสน เข้าใจผิดว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”
ความสับสนในทำนองนี้ เกิดขึ้นหลายกรณี
กรณีแรก คนคนนั้นไม่เข้าใจว่า “ที่เรียกว่ากรรมดีเป็นอย่างไร”
อาตมาได้เจอมา หลายครั้งแล้ว เขาบอกว่า “เขาทำดีแล้วไม่ได้ดี” จึงถามไปว่า “ทำอะไรบ้าง” ก็ได้คำตอบว่า “โธ่...รับใช้รินเหล้าให้เจ้านายกินไม่เคยขาดเลยเชียว นายยังไม่รักเลย เมาทีไร เตะทุกทีเลย” (เขาคิดว่าทำกรรมดี แต่ความจริงสิ่งที่เขาทำนั้น คือ กรรมชั่ว)
คือ คนในกรณีแรกนี้ แยกไม่ออกว่า “ทำดีทำชั่วเป็นอย่างไร”
กรณีที่สอง คนคนนั้น แม้จะแยกออกว่า อย่างนี้คือทำดี อย่างนั้นคือทำชั่ว แต่ว่าเป็นประเภทใจร้อน คือ ทำดีแล้ว ก็อยากจะให้ผลดีออกมาทันที
ในการทำความดี องค์ประกอบประการแรก คือ คนเราทำความดี ต้องให้ ถูกดี ด้วย คือ ถูกประเด็นเรื่องนั้นจริงๆ เหมือนอย่างที่เคยอยู่ในวงนักธรรมะก็ชอบพูดกัน ของทุกอย่างมันจะมีจุดดีของมัน
ขอยกตัวอย่าง เช่น การซักเสื้อซักผ้าก็มีจุดดีของการซักเสื้อซักผ้า กล่าวคือ เสื้อที่เราใส่นั้น จุดที่เปื้อนมากที่สุดคือแถวคอ แถวปก กับแถวปลายแขนเสื้อ จะเปื้อนมากหน่อย ถ้าเราขยี้ให้ทั่วตัวเสื้อ แต่ไม่ได้ขยี้ที่คอ ที่ปก อย่างนี้ ไม่ถูกดี
แต่ ถ้าเราขยี้ที่คอ ขยี้ที่ปก ให้เรียบร้อยก่อน แล้วที่อื่นก็พอประมาณ อย่างนี้ ถูกดี
แม้จะ ถูกดี แล้ว ยังจะต้องมี องค์ประกอบประการที่สอง คือ ถึงดี ด้วย เช่นในการซักเสื้อดังกล่าว ควรจะขยี้สัก 30ครั้ง ถ้าเราขยี้แค่ 10ครั้ง อย่างนี้ยังไม่ ถึงดี เพราะฉะนั้นมันไม่เกลี้ยงหรอก
พูดง่ายๆ งานทุกชิ้น เมื่อทำแล้ว อย่าทำแบบผักชีโรยหน้า ทำแล้วก็ต้องทำกันเต็มกำลัง แล้ว ผลดีจะออก
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งที่ ถูกดี ถึงดี แล้ว แต่ก็ต้องมี องค์ประกอบประการที่สาม คือ พอดี ด้วย อย่าให้มันเกินไป เช่น จากตัวอย่างเดิม เราควรจะขยี้ 30ที แต่เราขยี้เผื่อเหนียวไปสัก 100ที...เสื้อขาด ไม่ได้ใส่
ดังนั้น ทำอะไรต้องรู้จักพอประมาณ เกินกำลังก็ไม่ได้ เดี๋ยวเสียหาย น้อยไปก็ไม่ถึงจุดดี ทำแล้วต้องให้ ถูกดี ถึงดี พอดี จึงจะได้ดี แต่ทั้งที่ ถูกดี ถึงดี พอดี
องค์ประกอบสำคัญประการที่สี่ คือ เวลา อย่างที่ว่าไว้ “ให้เวลามันด้วย”
แต่ที่เกิดความ สับสนก็คือ ในขณะที่รอเวลาให้ผลแห่งกรรมดีออก มันอาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี ในระหว่างนั้นเอง กรรมชั่วในอดีตมันตามมาทัน มันมาออกผลก่อน
เราจึงรู้สึก ว่า กำลังทำดีอยู่ ทำไมต้องมาเดือดร้อนด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้งๆที่เรื่องนี้เราทำมานานแล้ว มันควรจะจบๆไปแล้ว (แต่มันไม่จบ มันเพิ่งมาออกผล) จึงกลายเป็นว่า ขณะที่กำลังทำความดีอยู่ มีผลเสียหายเกิดขึ้นเสียแล้ว มันเกิดจากความชั่วในอดีต
จึงทึกทักเอาว่า “ทำดีกลับได้ชั่ว” แต่ความจริงแล้ว ทำดีต้องได้ดี แต่ว่าผลดีของกรรมดีนั้น ยังไม่ทันออก มาถูกตัดรอนด้วยกรรมชั่วในอดีตเสียก่อน
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อได้จังหวะของกรรมดี กรรมดีนั้นออกผล มันก็จะได้ความชื่นใจในภายหลังอีกเหมือนกัน
คนที่ใจร้อน ไม่รอสอบสวนทวนต้นปลาย จึงเข้าใจผิดกันไป มีหลายคนบอกว่า “อย่างนี้ ก็ให้เมื่อทำกรรมดี ก็ให้ได้ผลปุ๊บ ทำกรรมชั่วก็ให้ได้ผลปั๊บไปเลย มันน่าจะยุติธรรมดีนะ ไม่ต้องรอเวลา” หลวงพ่อก็ว่าดีนะ แต่มีบางอย่างที่อยากจะเตือน
ยกตัวอย่างก็ แล้วกัน ถ้าทำทานแล้ว ให้รวยทันที...อย่างนี้ดี แต่ว่า ถ้าโกหกแล้ว ให้ฟันหักทันที หลวงพ่อสงสัยว่า “ผู้ที่นั่งชมอยู่นี่ จะมีฟันเหลือคนละกี่ซี่ก็ไม่รู้” หลวงพ่อว่า “การให้เวลากันบ้าง มันก็ยุติธรรมดี ก็ฝากไว้เป็นข้อคิดด้วยนะ”
คำถาม:หลวงพ่อเจ้าคะ อยากทราบว่า สังคมของเรา ขณะนี้เรามีคนจนอยู่มาก เราควรจะช่วยเหลือคนจน หรือทำบุญกับพระสงฆ์ดีเจ้าคะ
คำตอบ:พูดง่ายๆ คำถามของคุณโยมนี้ กำลังจะถามว่า “การสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล น่าจะดีกว่าการสร้างวัด ใช่หรือไม่”
คำถามประเภทนี้คล้ายๆ จะถามว่า “เสื้อกับกางเกง อันไหนสำคัญกว่ากัน” ความจริงมันสำคัญด้วยกันทั้งคู่นะ ใส่เสื้อไม่ได้นุ่งกางเกงนี่ยุ่งเหมือนกัน นุ่งกางเกงไม่ใส่เสื้อ ก็ยุ่งอีกเหมือนกัน
โดยรวมก็คือ ในเรื่องของการทำบุญกับวัด การสร้างวัดต่างๆ หรือในเรื่องของการสังคมสงเคราะห์ ก็คือการทำทานกับคน ทำบุญกับคน นั่นเอง สองอย่างนี้ต้องทำคู่กันไป
ถ้าถามว่า โรงเรียน คือ สถานที่สำหรับทำอะไร
คำตอบ โรงเรียน คือ สถานที่ที่จะสอนให้คนเราฉลาด...ฉลาดเรื่องอะไร...ฉลาดในเรื่องเทคโนโลยีด้าน Material พูดอย่างง่ายๆ คือ ฉลาดในเรื่องของเทคโนโลยีทางด้านวัตถุ หรือฉลาดในเรื่องของการทำมาหากิน
ส่วนวัด คือ สถานที่ที่จะสอนให้คนเราฉลาดเหมือนกัน แต่ฉลาดในเรื่องด้านจิตใจ หรือฉลาดในด้านเทคโนโลยีทางใจ
ถ้าถามว่า โรงพยาบาล มีไว้ทำอะไร
ตอบสั้นๆ โรงพยาบาลมีไว้สำหรับรักษาทางกายเป็นหลัก
วัดก็มีหน้าที่คล้ายๆโรงพยาบาล คือ รักษาโรคทางใจ
จากที่กล่าวมา เรามาพิจารณากัน
1.โรงเรียน
โรงเรียน ทางโลก ให้ความรู้ทางโลก หรือให้เทคโนโลยีทางโลกนั้น...ให้ไปเถอะ...ดี แต่ต้องระวัง เพราะว่าตั้งแต่โบราณแล้ว เขาได้พิสูจน์กันมากมายแล้วว่า ความรู้ทางด้านวิชาการ หากว่าเกิดกับคนพาล มีแต่นำความพินาศ นำความฉิบหายมาให้ เพราะว่า คนพาลจะเอาความรู้นั้น ไปใช้ในทางที่ผิด อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง
ยกตัวอย่าง ไปเรียนวิชาวิศวะฯมา ถ้าเอามาก่อสร้างบ้านเรือน มาสร้างเครื่องยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ มันก็ดี แต่ถ้าความรู้ชนิดนี้ มันไปตกอยู่กับมือโจร ตกอยู่ในมือของคนที่ขาดศีลขาดธรรม คนเหล่านั้นจึงนำเอาความรู้ทางด้านวิศวะฯไปทำระเบิดมาทำลายกัน
ตรงนี้เองจึงมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า ถ้าอย่างนั้นสร้างโรงเรียนเมื่อไหร่ ควรจะอยู่ใกล้วัด หรือว่า โรงเรียนกับวัดอยู่ในที่เดียวกัน ซีก นี้ไว้สอนคน สอนนักเรียนให้มีความรู้ทางโลก นั่นซีกโรงเรียน อีกซีกของบริเวณนั้น สร้างวัด เอาไว้อบรมศีลธรรมให้ลูกหลานของเรา ถ้าอย่างนี้ ความรู้คู่กับศีลธรรม
แต่โบราณมาแล้ว สมัยปู่ย่าตาทวดของเรา โรงเรียนกับวัดอยู่คู่กัน เพราะฉะนั้น ลูกโตขึ้นมา เด็กโตขึ้นมา ก็ได้ทั้งความรู้แล้วก็ได้ทั้งความดี คือ มีศีลธรรมมากำกับ หรือว่าทั้งเก่งทั้งดี
ปัจจุบันนี้พอโรงเรียนออกไปจากวัด ลืมเอาโบสถ์ติดไปด้วย ทำให้ไม่มีอาคารสำหรับอบรมศีลธรรมให้โดยเฉพาะ แล้วเราก็มานั่งบ่นกันว่า เด็กยกพวกตีกัน เพราะฉะนั้น โรงเรียนกับวัดต้องสร้างไปด้วยกัน
2.โรงพยาบาล
โรคที่เกิดกับมนุษย์มี 2ประเภท
1.โรคประจำสังขาร คือ หนีไม่พ้น ได้แก่โรคแก่ โรคเจ็บ โรคตาย โรคประเภทนี้ โรงพยาบาลถือว่า ไม่หนักหนาสาหัส รักษาได้อยู่แล้ว เป็นของธรรมดา
2.โรคแส่หามาเอง คือ กินเหล้ามาก็ได้หลายโรค เที่ยวกลางคืน เที่ยวคืนเดียวก็ได้อีกตั้งหลายโรค โกหกเขาก็ได้อีกหลายโรค ไปปล้น ไปคดไปโกงเขา ก็ได้อีกหลายโรค โรคเครียด โรคอะไรอีกสารพัด ตามมา เพราะแส่หามาทั้งนั้น
โรคแส่หามาเองนี้ มาจากไหน...มาจากผิดศีล นั่นแหละ จึงต้องมี “เมาไม่ขับ” ความจริง “ไม่เมาเสียก็จบ แล้วก็ขับรถกันไป”
แล้ว จะแก้อย่างไรสำหรับโรคที่แส่หามาเอง ก็ไปที่วัด สร้างวัดไว้ให้ดี นิมนต์หลวงพ่อ หลวงพี่ที่ชำนาญมาประจำไว้ที่วัดนั่นแหละ ให้ท่านอบรมศีลให้ อบรมธรรมะให้ ศีลและธรรมที่ท่านให้จะกลายเป็นวัคซีนป้องกันโรคแส่หามาเอง
เพราะฉะนั้น ทั้งสร้างโรงพยาบาล ทั้งสร้างวัด ก็ต้องสร้างไปด้วยกัน
ดังนั้น คุณโยม...มีเงินมีทอง ก็มาช่วยกัน สังคมสงเคราะห์ จะไปสร้างโรงเรียนก็แบ่งไป สร้างโรงพยาบาลก็แบ่งไป อีกส่วนหนึ่งเอามาสร้างวัด เอามาบำรุงวัด เอามาบำรุงสงฆ์ นั่นแหละจะเป็นความสุข ความเจริญของประเทศชาติบ้านเมืองไทยของเรา รวมทั้งของโลกด้วย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘