หลวงพ่อตอบปัญหา ตอนที่ 17


โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียง จาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
คำถาม:อยาก กราบเรียนถามหลวงพ่อครับว่า ศีลข้อ4นี้ ทุกคนจะบอกว่า รักษากันยาก ครับ โดยเฉพาะพ่อค้าอย่างพวกกระผมนะครับ อยากกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า มีทางใดบ้างที่จะสามารถรักษาศีลข้อนี้ให้บริสุทธิ์ได้ครับ
คำตอบ:เจริญพร ...คุณโยมถามถูกคนเลยนะ ก่อนที่หลวงพ่อจะมาบวช หลวงพ่อเป็น Salesman เก่านะ ต้องว่าอย่างนี้ก่อน อยู่ในยุทธจักรทางการค้ามาพอสมควร แล้วก็พบด้วยตัวเองว่าเอาจริงๆแล้ว พวกพ่อค้าที่ค้าของเป็นหลักเป็นฐาน ค้าการค้าใหญ่ๆ ยิ่งระดับโลก ระดับชาติอะไรอย่างนี้ พวกนี้จะยิ่งไม่โกหก
ถ้าโกหกแสดงว่า...การค้าจิ๊บจ๊อย ซึ่งมันก็พอสมกับคนจิ๊บจ๊อย คนกระจอก เอาดีไม่ได้ หรือไม่หวังที่จะเอาดีกับการค้าจริงๆ อันนี้ยังต้องตอบอย่างนี้ก่อนนะ
เอาล่ะ...เราก็เห็นๆกันว่าสินค้าในท้องตลาด ในที่สุดแล้วมันสู้กันด้วยอะไรบ้าง
1.ถ้าสู้กันจริงๆก็ สู้กันด้วยคุณภาพ
2.กับ สู้กันด้วยการบริการ อันนี้หนักหน่อย
3.แล้วสุดท้ายจึงค่อยมา
สู้กันด้วยราคา นี่ชัดเจนเลย
ส่วน ว่า จะมีบางครั้งบางช่วงบางคราว เป็นเรื่องของแฟชั่น หรือแบบอะไรต่ออะไรที่จะเอามาสู้กัน ก็จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพก็แล้วกัน หรือลด แลก แจก แถม ก็เป็นบางครั้งบางคราว โดยในที่สุดแล้วก็ต้องบอกว่า ความจริงใจนั่นแหละ มีคุณค่าที่สุด
มนุษย์เรานี่ แปลก ไม่ว่าลูกรัก เมียรัก ผัวรัก เพื่อนรัก อะไรก็ตามที จะรักกันได้ ตราบที่พบว่า ยังมีความจริงใจกัน ถ้าหมดความจริงใจกันแล้วล่ะก็ ต่อให้เป็นเทวดาก็หมดรัก ดีไม่ดีจะเป็นศัตรูกันเอาด้วย
ความจริงใจนั่นแหละ จะทำให้คนเรานี่คบกันยืด รักกันนาน เพราะฉะนั้น คนที่บอกว่า ศีลข้อที่4 รักษายาก...มันฟ้อง...ฟ้องตั้งแต่
1.ขออภัยเถอะ...สันดาน คือ อุปนิสัยที่ติดตัวมาข้ามชาติ เพาะมาไม่ดี จึงมีความเห็นผิดอย่างนั้น
2.หรือข้ามชาติ ก็ฝึกตัวมาดี แต่ว่า...
ชาตินี้ตั้งแต่เกิดมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยจะดี อยู่ท่ามกลางคนโกหกเสียแล้ว มันก็เลยพลาดไป
3.หรือทั้งๆที่สิ่งแวดล้อมแต่เดิมก็ดีอยู่ แต่ตัวเองได้รับประสบการณ์ที่ไม่ค่อยจะดี อาจจะเป็นคนซื่อแต่ไปเจอกับคนโกงคนเกเรเข้า เลยบีบคั้นให้เราไปเป็นอย่านั้น หรือว่า...การบริหารของเราผิดพลาด ก็เลยทำให้เกิดภาวะยอบแยบทางเศรษฐกิจ แล้วก็เลยเอาตัวรอด จากเอาตัวรอดชั่วคราว กลายไปเป็นถาวรไปเสียอีกแล้ว
เอาตัวรอดไปได้แค่ชั่วคราว แต่นิสัยกลายเป็นชั่วถาวร...ไม่คุ้ม
ในแง่ของหลวงพ่อยิ่งทำการค้าขาย ยิ่งต้องเอาความจริง เอาความดี เอาคุณภาพเข้าสู้ พูดง่ายๆ...
เรื่องที่หนึ่ง สัจจะเป็นตัวตั้ง แล้วจะรักกันนาน
เรื่องที่สอง เป็นสิ่งที่ต้องคิดมากเลย เคยเตือนหลายๆคนเขาว่าอย่างนี้...คนโกหกคนอื่น 1ครั้ง มีความจำเป็นจะต้องโกหกตัวเองอย่างน้อย...อย่างน้อยนะ 3ครั้ง ส่วนอย่างมากนับไม่ไหว เป็นยังไง...ก็ก่อนจะโกหกใคร
1.ต้องเตรียมเรื่อง ไม่เตรียมจะเอาอะไรมาโกหก การเตรียมเรื่องนั่นแหละ โกหกตัวเองแล้ว
2.ลงมือพูด พอพูดเสร็จ นั่นแหละ โกหกตัวเอง 2ครั้งแล้ว
3.หลังจากนั้น เจอเขาอีกเมื่อไหร่ก็ต้องโกหกต่อ แม้ ยังไม่ทันเจอ ได้ข่าวว่า เขาจะมาที่นั่นที่นั่น แล้วคงต้องไปเจอกันแน่ ก็ต้องถามตัวเองว่า วันนั้นโกหกว่าอย่างไร ต้องมาทบทวนอีกแล้ว
เป็นอันว่าโกหกคนอื่น 1ครั้ง ต้องตามโกหกตัวเองเบาะๆ 3ครั้ง แต่อย่างมาก Infinity นับไม่ไหว เพราะฉะนั้น ถ้าใครไม่อยากจะต้องโกหกตัวเอง แล้วก็กลายเป็นคนสับสนล่ะก็ ตั้งใจรักษาศีลข้อที่4 ให้ดี
ยิ่ง กว่านั้น เคยสังเกตไหม บางคนอายุ 80ก็แล้ว 90ก็แล้ว ไม่หลงไม่ลืม อายุร้อยเข้าไปแล้ว เคยเจอ...ไม่หลง แต่บางคน 60-70หลงเสียแล้ว ทำไม อายุ 90ไม่หลง 100ไม่หลง...ฟ้องเลย...คนๆนี้ตลอดชีวิตโกหกไม่เป็น เขาจึงไม่มีเรื่องสับสนอยู่ในใจ

แต่พวกที่ 60กว่าไม่ถึง 70หลงแล้ว พวกนี้โกหกทั้งชาติ เพราะฉะนั้น ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากจะเป็นคนหลงคนลืมตอนแก่ๆ ขนาด 90ยังไม่หลงเลยล่ะก็ อย่าไปโกหกนะ
นี่คือโทษของการโกหกเห็นกันชัดๆเลยในชาตินี้
ยังไม่พอ...คนโกหกมากเท่าไหร่ ความเชื่อมั่นในตัวเองก็หดหายไปเท่านั้น ยังไม่พอ...ใครโกหกเก่งๆ ในที่สุด เขาก็ต้องจับจนได้นั่นแหละ มันจะไปโกหกกัน Forever ได้อย่างไร ผลสุดท้าย แม้เด็กหัวเท่ากำปั้นมันก็ยังไม่เคารพ ลูกตัวเอง หลานตัวเอง มันก็ไม่เคารพ แล้วคุณค่าของเรามันจะเหลือตรงไหน
เพราะฉะนั้น จึงมีคำพูดอยู่คำหนึ่ง ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ คืออย่างไร...คือแก่ไปตามวัย มันก็ต้องเป็นผู้ใหญ่...ผู้หลัก คืออย่างไร...คือไม่โกหก...มันถึงจะเป็นหลักได้ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ให้ลูกหลานได้กราบได้ไหว้ อย่าไปโกหกมันเชียวนะ นี่คือโทษ-คุณ ที่เห็นกันชัดๆ โทษของการโกหก คุณของการรักษาศีลข้อที่4 มันเป็นอย่างนี้ แต่ไม่เท่านี้...ใครรักษาศีลดี มันเป็นสัจจะประจำตัว ให้พรใครก็ศักดิ์สิทธิ์
พุทธองค์ตรัสเอาไว้ คน ที่โกหกทั้งรู้ ไม่มีความชั่วอะไรในโลกที่เขาทำไม่ได้ ตรัสหนักขนาดนั้น เพราะฉะนั้น รักษาความดีเอาไว้เถอะ แล้วจะศักดิ์สิทธิ์ข้ามชาติเลย
คำถาม:ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า การค้าขายสมัยนี้ มีการลดแลกแจกแถม เพื่อที่จะเอาชนะคู่แข่ง แบบนี้เป็นการเบียดเบียนซึ่งกันและกันหรือไม่ครับ
คำตอบ:คุณโยม...มันมี 2อย่างนะ คู่แข่ง กับ คู่แค้น ถ้าค้าขายกัน มันก็มีการแข่งกันบ้าง นี่ก็เป็นธรรมดา มันจะลด จะแลก จะแจก จะแถมอะไร ก็เป็นธรรมดา ไม่ว่ากัน แต่ว่าอย่าแกล้งกันต่างหาก ตราบใดที่...
1.เราไม่ได้แกล้งใคร
2.แล้วเราก็ไม่ได้ไปใส่ร้ายป้ายสีใคร
ไม่ แกล้งยังไม่พอ ไม่ใส่ร้ายป้ายสีด้วย เมื่อเราไม่ได้ใส่ร้ายป้ายสีใคร ว่ากันโดยคุณภาพ ว่ากันโดยบริการ ว่ากันโดยทันสมัย ทันแฟชั่น ทันยุค ติกันไม่ได้ แต่ว่าในฐานะที่อยู่กันเป็นเพื่อนร่วมโลก การแข่งการค้า มันเป็นเรื่องของรายได้ มันเรื่องของการยังชีพของเรา นี่เอาชนะกันโดยไม่เสียศีล อย่างนี้ไม่เสียศีล เราไม่ได้กัก เราไม่ได้ตุน เราไม่ได้แกล้ง เราไม่เสียศีล

แต่ว่าเมื่อเราผ่านพ้นของเรามาได้แล้ว เราลอยลำในส่วนของเราแล้ว ส่วนคู่แข่ง มันจะเสีย มันจะหาย มันจะตาย ตรงนี้มันอีกประเด็นหนึ่ง

เพราะว่าเราพ้นไปแล้วเรื่องเสียศีล เราไม่ได้เสีย แต่ว่าเขาจะแย่ เขาจะตาย เขาจะไม่ไหว เขาจะตกต่ำ...
แล้วเขาเป็นคนดีหรือไม่...ถ้าเขาเป็นคนดี ทำไม...ไม่หิ้ว...ไม่ช่วย...ไม่อุ้ม กันขึ้นมา หันหน้าเข้าหากัน ปรึกษากันว่า เป็นอย่างไร จะให้ช่วยอะไรได้บ้าง
ตั้งแต่ ...ยกตัวอย่าง เช่น...ทำเลไม่ดี...จะให้ช่วยอย่างไร...ว่ามา เราจับมือกันเป็นเพื่อนกันดีกว่า พูดง่ายๆ เปลี่ยนจากคู่แข่ง (ไม่ใช่เป็นคู่แค้นนะ นั่นมันหนัก) ให้มาเป็น คู่ค้า...ดีกว่านั้นอีก คือ ทำให้มันเป็น เครือข่าย กันไม่ดีหรือ
เดี๋ยวนี้ การค้า...มันไม่ใช่เฉพาะสู้กันในประเทศเท่านั้น มันต้องสู้ข้ามประเทศแล้ว ถ้าเรายังฟันกันเองอยู่ ในประเทศยังยกไว้ แต่ถ้ายังฟันกันอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ยังฟันกันอยู่ในตลาดเดียวกัน เดี๋ยวเถอะ ต่างประเทศเขาเข้ามา เขาเหยียบตาย
ตอนนี้ก็เห็นๆ กันอยู่แล้วว่า ต่างประเทศเขามาไล่เหยียบอยู่เท่าไหร่แล้ว ทำไมเขาจึงไล่เหยียบเราถึงปานนั้น มันน่าแค้นหยอกอยู่เมื่อไหร่เล่า เขามาไม่กี่คน แต่เขาเหยียบคนไทยทั้งประเทศชักแหงกๆกันอยู่นั่น
ที่เขาเหยียบเอาได้ก็เพราะว่า เราไม่จับมือกัน ถ้า เราจับมือกันเสีย เป็นเครือข่ายกันเสีย พัฒนาคุณภาพร่วมกันเสีย เดี๋ยวเขาก็ต้องหอบเสื่อหอบหมอนกลับบ้านเขาไปเอง ไม่ต้องไปเดินขบวนไล่เขาหรอก เดี๋ยวเขาก็กลับบ้านเขา
หรือ ถ้าไม่กลับ...อย่างนั้นคุณกับฉันมาคุยกัน มาคุยกันดีกว่า...อยากมาค้าที่บ้านฉัน ประเทศฉัน มาแล้วเดี๋ยวฉันเอาของฉันไปค้าไปขายที่ประเทศคุณบ้างนะ เป็นเพื่อนกันไหม

แต่ก่อนที่จะชวนพวกชนิดที่เขาข้ามถิ่นมาเหยียบเราถึงบ้านมาเป็นคู่ค้าด้วยนั้น
มันก็ต้องแสดงฝีมือให้เขาเห็นก่อนว่า เราเข้มแข็งพอ
ก็ อยากจะฝากคุณโยม...เอาเถอะ...วันนี้ ตลาดขายปลีกในเมืองไทยแตกกระสานซ่านเซ็นเหลือเกิน หาทางรวมกันให้ได้เถอะคุณโยม อย่างที่ถามเมื่อครู่นี้ ศีลข้อที่4 ที่หลายคนเขาว่า ถือยาก ก็เพราะว่าไม่คิดจะถือกัน มันถึงรวมกันไม่ได้ ลองรักษาศีลข้อที่4 กันดีๆ มีอะไรว่ากันซื่อๆตรงๆ แล้วมาช่วยกัน แก้ไขกัน พัฒนากัน เดี๋ยวเราก็จับมือกัน
เดี๋ยวพลังแห่งความสามัคคี พลังแห่งสัจจะที่มี...มันรวมกันเข้าไปเมื่อไหร่ แล้วมันปึกแผ่นแน่นหนาขนาดไหน...คิดดู
เลิก โกหก พูดกันจริงๆ สู้กันด้วยคุณภาพ สู้กันด้วยความดี สู้กันด้วยบริการ มีอะไรบกพร่อง ช่วยกันแก้ไข เดี๋ยวเราก็กลายเป็นยักษ์ในประเทศของเราได้ แล้วเดี๋ยวเราก็จะข้ามประเทศได้
คำถาม:หลวงพ่อเจ้าคะ...ลูกเคยไปชวนเพื่อนๆหลายคน มานั่งสมาธิ เพื่อนๆเขาก็บอกว่า ทำไมวิธีการนั่งสมาธิจึงมีหลากหลายวิธีเหลือเกิน แต่ละวิธีก็สอนไม่เหมือนกัน แล้วแต่ละคนที่มาชวนก็บอกว่า วิธีของตัวเองดีที่สุด ในกรณีดังกล่าวนี้ ลูกขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า เราจะมีคำตอบอย่างไร ให้เขาได้พอใจที่สุดเจ้าค่ะ
คำตอบ:คุณ โยม...ในเรื่องของการฝึกสมาธิ จับหลักการให้ได้ก่อนว่า เขาฝึกกันทำไม ถ้าจับหลักการได้แล้ว การจะอธิบายอย่างอื่นง่ายหมด หลักการของการฝึกสมาธิมีสั้นๆว่า การฝึกสมาธิแท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของการรู้จักควบคุมจิตใจตัวเองให้เป็น หลักการมีเท่านี้
ควบคุมใจตัวเองให้เป็น ทำอย่างไร...คือ พยายามที่จะเอาใจเก็บมาไว้ในตัว เพราะธรรมชาติของใจโดยทั่วไปแล้ว หากไม่ใช่เป็นใจที่ถูกฝึกมาดีแล้ว มันชอบเที่ยว มันชอบคิด มีอยู่ 2เรื่องของมัน
1.ชอบเที่ยว เป็น อย่างไร...ตัวเองนั่งอยู่เมืองไทย แต่ใจเที่ยวข้ามไปถึงเมืองจีน...มันไปได้ ตัวเองนั่งอยู่กรุงเทพฯ ใจมันไปเที่ยวถึงหาดใหญ่ ถึงปัตตานี...มันไปได้...นี่มันชอบเที่ยว
2.
ชอบคิด คิด สารพัดเรื่อง ยิ่งอยู่คนเดียวมีเรื่องคิดเยอะเลย แล้วไปสังเกตดู เรื่องที่คิด ยิ่งคิดมาก ยิ่งวุ่นมาก แล้วเรื่องที่คิดเป็นเรื่องนอกตัวทั้งนั้น
ยิ่งปล่อยให้ใจเที่ยวไปด้วย คิดไปด้วย ยิ่งว้าวุ่นหนักเข้าไป
เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้ทำสมาธิ เพื่อแก้ความที่ใจว้าวุ่นของเราด้วยการเอาใจกลับมาไว้ในตัว เมื่อมันเลิกเที่ยว เลิกคิด เลิกว้าวุ่น พอกลับมาตั้งอยู่ในตัวเข้า ใจก็เลยทรงพลังขึ้นมา หลักการมีเท่านี้
แต่ว่าที่มีวิธีเยอะแยะตั้ง 40วิธี ไม่เล็กไม่น้อยตั้ง 40วิธี, 40วิธีนั้นว่าไปแล้วก็มีวิธีหลักอยู่ไม่กี่วิธี นอกนั้นเป็นวิธีเสริม
ที่มีวิธีหลัก วิธีเสริมก็เพราะว่า จริตอัธยาศัยของคนเรามันไม่เหมือนกัน บางคนก็เจ้าโทสะ บางคนก็พุทธิจริต หรือว่าเจ้าปัญญา บางคนก็ง่วงเหงาหาวนอนเก่ง อะไรทำนองนี้ ก็เลยต้องแก้ไขกันไปพอเหมาะพอควร
วิธีที่มีอยู่ เป็นหลักๆ หลวงพ่อว่ามีแค่ 3-5วิธีเท่านั้นในเมืองไทยนี้ นอกนั้นอีก 30กว่าวิธี เป็นเรื่องของวิธีเสริมเพื่อปรับให้พอเหมาะกับจริตของคนเท่านั้น
วิธีหลักๆ คุณโยมไปฝึกสำนักไหนก็ได้ ที่มีครูบาอาจารย์ท่านดูแลอย่างจริงจัง ท่านตั้งสำนักกันมานาน แล้ววิธีที่ท่านนำมาสอน ก็เป็นวิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น ไม่ใช่ท่านคิดเอาเอง
เมื่อเป็นวิธี ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ท่านคิดเอาเอง แล้วท่านก็มีประสบการณ์ในการสอนมานาน ก็เข้าไปหาท่าน ไปตั้งใจฝึกกับท่าน ฝึกกันเสียให้เต็มที่ก่อน
หากว่าเราก็ทำเต็มที่แล้ว แล้วก็มันก็ยังไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าที่ควร ถ้าอย่างนั้น จะลองเปลี่ยนไปสำนักอื่นบ้างก็ได้ แต่ที่ต้องเปลี่ยน ไม่ได้หมายความว่า พระอาจารย์ท่านไม่ดี เพียงแต่ว่า จริตอัธยาศัยของเรามันคงไม่ต้องกับตรงนั้น

แต่ก่อนจะตัดสินว่า มันต้องกับตรงนั้น ไม่ต้องกับตรงนั้น ควรจะเปลี่ยน ไม่ควรจะเปลี่ยน ต้องทุ่มตัวเข้าไปฝึกเสียก่อน
ถ้าเราเป็นคนเหยาะแหยะ...เปลี่ยนไปหมดทุกสำนักแล้วก็ยังเอาดีไม่ได้ นั่นไม่ใช่อาจารย์ไม่ดีเสียแล้ว...เรามันไม่ดีต่างหาก
โดยย่อๆ
1.จับหลักการให้ได้ว่า หลักการของการทำสมาธิ มีอย่างเดียว จะน้อมใจที่ชอบเที่ยวชอบคิด ให้มันกลับมาติดเอาไว้อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ไม่ให้มันเตลิดเปิดเปิงไปที่ไหน ให้มันหยุด มันนิ่งอยู่ที่นั่น หลักการมีอยู่ตรงนี้
2.วิธีการ
ถ้าไม่ได้ผิดไปจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาแล้ว ฝึกไปเถอะ แล้วค่อยๆปรับเอา เดี๋ยวก็ได้
3.
ถ้าให้ปลอดภัยสักหน่อย จะฝึกวิธีไหน...ก็ไปหาพระอาจารย์ที่ท่านถนัดชำนาญวิธีนั้นๆ...ไปเถอะ...เดี๋ยวท่านก็มีคำแนะนำที่พอเหมาะพอสมให้กับเราเอง
แล้วก็ด้วยความ ชำนาญของท่าน ท่านจะพบเองว่า เราเหมาะหรือไม่เหมาะกับวิธีที่ท่านถนัด ถ้าไม่เหมาะ เดี๋ยวท่านก็ส่งต่อไปสำนักอื่นต่อไปอีก ที่ท่านเห็นแล้วว่าน่าจะเหมาะกว่า แล้วเราก็ไปตามที่ท่านแนะ
เมื่อเราทำอย่างนี้ ก็ไม่มีขัดอะไร ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ต้องเตือนตัวเสมอ คือ ไม่ว่าเราจะไปทดลอง ไปฝึกที่ไหน ขอให้ตั้งใจฝึกจริงๆ อย่าไปทำเป็นเล่นๆ นึกถึงคำพูดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสเมื่อวันจะตรัสรู้เอาไว้ให้ดี
เมื่อ วันที่พระองค์จะตรัสรู้ วันนั้น พระองค์อธิษฐานจิต คือหลังจากที่พระองค์ได้ฝึกมาอย่างเต็มที่แล้ว 6ปีเต็มๆ ผ่านสำนักต่างๆมามากแล้ว พระองค์มั่นพระทัยว่า ได้ทดลอง ได้ประสบการณ์มาพอแล้ว วันนี้ เหลือแต่เพียงอย่างเดียว คือ การเอาจริงเท่านั้น พระองค์ทรงตั้งใจจริง เมื่อทรุดองค์ลงนั่งลงไปที่รัตนบัลลังก์แล้ว ทรงอธิษฐานว่า...

แม้เลือดเนื้อในร่างกายจะแห้ง เหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที หากยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณล่ะก็ ไม่ลุกขึ้นหรอก จะประทับนั่งอยู่อย่างนี้ ตายก็ให้มันตายไป
นี่พูดภาษาชาวบ้าน ตายให้มันตายไป ทดลองมาทุกวิธีแล้ว
เรา ก็เหมือนกัน ก่อนจะเปลี่ยนแต่ละวิธี เรามีสิทธิ์จะเปลี่ยน แต่ว่าก่อนจะเปลี่ยน ฝึกกันมาสุดความสามารถ และเมื่อได้หลักการอะไรต่ออะไรเรียบร้อยแล้ว ต่อแต่นี้ไป ฝึกให้จริงๆจังๆ

คำว่า
จริงๆจังๆ หมายถึงขนาดไหน...เอาเถอะ...ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ขนาดเอาเนื้อเลือดแห้งเหือด หายไปก็ตามที...เราคงไม่ต้องถึงขนาดนั้น
จริงจังของเราในที่นี้ อยากจะฝากก็คือ อย่าง น้อย เช้าตื่นขึ้นมา ขอสักชั่วโมงหนึ่ง ก่อนนอนขออีกสักชั่วโมงหนึ่ง ในระหว่างวัน ก็มันต้องทำมาหากินกัน ต้องทำงานทำการกัน ถ้าอย่างนั้นก็ประคองใจเอาไว้ที่ศูนย์กลางกายเอาไว้ให้ดี รู้ตัวว่า มันหนีไปเที่ยวแล้ว...เอากลับมาใหม่...รู้ตัว...ไปอีกแล้ว...เอากลับมาใหม่
ก็สู้กันอย่าง นี้เวลาทำงาน ทำงานไปด้วย ตามมาตามไป ก็ตามสมควร แต่เช้ากับกลางคืนก่อนนอนอย่าให้พลาด ทำอย่างนี้อย่าให้เว้นแต่ละวัน เดี๋ยวก็เห็นหน้าเห็นหลังเองแหละ...คุณโยม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘