หลวงพ่อตอบปัญหา ตอนที่ 16


โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียง จาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
คำถาม:หลวงพ่อ ครับ ทหารตำรวจที่มีหน้าที่ป้องกันประเทศชาติ บางครั้งปราบปรามโจรผู้ร้ายจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นการกระทำบาปด้วยความจำเป็น อยากกราบเรียนหลวงพ่อว่า บาปกรรมที่เกิดขึ้นนี้น้อยกว่าการทำปาณาติบาตทั่วไปหรือไม่ครับ
คำตอบ:คุณโยม...การที่บาปมากบาปน้อย เอาหลักง่ายๆแบบชาวบ้านก็แล้วกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ชัด เมื่อจิตขุ่นมัว ไม่ผ่องใส ทุคติเป็นที่ไป นี่เป็นหลักเกณฑ์ที่พระองค์ตรัสเอาไว้ ในขณะที่ตรงกันข้าม เมื่อจิตผ่องใส สุคติเป็นที่ไป
พูดง่ายๆ การจะไปนรกจะไปสวรรค์ จะบาปมากบาปน้อย ขึ้นอยู่กับความขุ่นมัวของจิตใจกับความผ่องใสของจิตใจนี่เอง ไม่ว่าการฆ่านั้นจะด้วยเหตุอะไรก็ตาม เมื่อเวลาไปลงมือฆ่ากัน ไปประกอบเหตุกัน จิตขุ่นมัวมากเท่าไหร่ก็บาปมากเท่านั้น ถ้าขุ่นมัวน้อยเท่าไหร่ บาปก็น้อยเท่านั้น อันนี้เป็นกฎเกณฑ์
จากกฎเกณฑ์ตรง นี้...เราก็มาดูก็แล้วกัน...ความที่ต่อสู้ป้องกันตัว แล้วก็ไม่ได้โกรธ ไม่ได้เคืองกัน แต่ว่าเมื่อถูกบุกรุก ถูกรุกรานเข้ามา ทหารเป็นรั้วของประเทศชาติยังไงก็ต้องสู้ สู้เพื่อประเทศชาติด้วย สู้เพื่อชีวิตของตัวเองด้วย
แต่ในขณะที่สู้นั้น ถ้าสู้ด้วยความเคียดแค้น สู้ด้วยความฮึกเหิม ตรงนี้แน่นอนใจขุ่นมัวหนัก ตรงนี้ไม่ค่อยจะดี
แต่ว่าสู้เพราะจนใจจริงๆ ต้องสู้ ปล่อยเอาไว้ไม่ได้ เดี๋ยวบ้านเมืองอยู่ไม่ได้ จะต้องเข่นต้องฆ่ากันไป...แต่...ใครที่พอยั้งมือได้ก็ยั้ง ควรจะตายมากก็เลยตายน้อย ควรจะตายน้อยก็แค่บาดเจ็บ อะไรทำนองนั้นล่ะก็
ตรง นี้ก็คงจะขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แล้วก็ขึ้นอยู่กับสภาพ จิตใจของทหารท่านนั้น ตำรวจท่านนั้น เป็นเรื่องของรายบุคคล อันนี้ก็เป็นกรณีที่1
กรณีที่2 ที่จะต้องมาพิจารณาตามกันไปอีกก็คือ พอทำไปแล้ว รู้สึกอย่างไร ถ้ารู้สึกว่า...มันสะใจจริงๆ...ถ้าอย่างนี้ใจขุ่นหนักเลย คือ นอกจากใจขุ่นแล้ว ยังดีใจกับความขุ่นนั้นเข้าไปด้วย อันนี้แทบจะมืดสนิทกัน...ตรงนี้ก็บาปมากหน่อยนะ เพราะดีใจกับบาปกรรมที่ตัวทำ
แต่ ตรงกันข้าม...เราก็ไม่อยากจะทำ แต่ว่าถ้าไม่ทำ ไม่ฆ่า มันก็ฆ่าเรา และบ้านเมืองก็อยู่ไม่ได้ มันก็ต้องฆ่ากันไป...เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากไม่ได้ดีใจกับการฆ่านั้นแล้ว
ยังคิดว่าจะทำ อย่างไรเพื่อสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก มาหาทางช่วยกันแก้ไข มาหาทางช่วยกันป้องกัน อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก เพราะแค่นี้ใจเราก็แย่แล้ว เพราะถึงอย่างไรก็มนุษย์ด้วยกัน

ที่ร้ายที่สุด ที่เขาลุยเข้ามานั้น มาลุยจะฆ่าทหาร จะลุยเข้ามาฆ่าตำรวจนั้น บางทีพวกนี้ถูกหลอกมาด้วย ถูกหลอก กันมากี่ทอดกี่ชั้นก็ไม่รู้ ถูกจ้างถูกวานมา หรือบางทีก็ถูกมอมเมามาด้วย อาจจะมอมเมาด้วยยาเสพติด หรืออะไรก็ตามที
นึกเรื่องนี้แล้ว...แทนที่จะดีใจกับการเข่นฆ่า ก็นึกเมตตาสงสารว่า เราไม่อยากจะทำ แต่ว่ามันจนใจต้องทำ แล้วก็มาหาทางคิดป้องกันกันต่อไป
ถ้าอย่างนี้...ใจประเภทนี้...ถามว่า บาปนั้นมีหรือไม่...ตอบว่า มี...แต่ไม่เท่าประเภทแรก
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อฆ่ากันไปเรียบร้อยแล้ว...ส่งโรงพยาบาล...ส่งวัด...ส่งเมรุ ก็แล้วแต่ เรียบร้อยแล้ว นอกจากมาหามาตรการป้องกันแก้ไขกันในภายหน้าแล้ว
ก็มีเรื่องฝากไว้อีก คือ ทำบุญทำทานอุทิศส่วนกุศลอะไรกันได้ก็ทำไปเถอะ กรวดน้ำให้ไปเลยว่า ที่ทำมาก็ไม่อยากจะทำหรอกนะ
และ ยิ่งกว่านั้น ถ้าจะให้ดี หลังจากทำบุญทำทานเรียบร้อยแล้ว ขอฝากไว้ก็แล้วกัน เรื่องอะไรร้ายๆนั้น จบแล้วให้มันจบไป อย่าไปหมั่นนึกถึงมัน มันมีหลักอยู่ นึกถึงบาป นึกเมื่อไหร่ บาปมันก็จะโตขึ้น ใจก็ขุ่นมัวมากขึ้น นึกถึงบุญ ใจก็จะใส ใสอยู่เท่าไหร่ แล้วก็ใสขึ้นมาอีก
เพราะฉะนั้นฝากเลย เมื่อเรื่องไม่ค่อยจะดีนั้น มันจบไปแล้ว วางมาตรการแก้ไขจบเรียบร้อยแล้ว อย่าไปนึกถึงมันอีก ลบภาพนั้นทิ้งเสีย...ลบอย่างไร
ประการที่1.ลบด้วยการไม่พยายามจะนึกถึงมัน
ประการที่2.นึกภาพดีๆ เข้ามาแทน นึกภาพดีๆ เข้ามาแทนนึกอย่างไร...ก็นึกเรื่องบุญเรื่องกุศลที่เราทำ ถ้าจะให้ดี หมั่นทำสมาธิทุกคืน นึกถึงองค์พระ นึกถึงดวงแก้วใสๆ ให้เกิดขึ้นกลางกาย กลางใจ นึกไปเรื่อยๆ เป็นการเปลี่ยนโปรแกรมใหม่ให้กับชีวิตของเรา อย่างนี้บาปไม่มีสิทธิ์โตขึ้น มีแต่บุญจะโตวันโตคืน...เจริญพร
คำถาม:หลวงพ่อครับ...กรณีที่ผู้พิพากษาสั่งลงโทษผู้ต้องหาถึงขั้นตัดสินประหารชีวิต กรณีนี้ผู้พิพากษาท่านไม่ได้ลงมือเอง ท่านจะผิดศีลข้อที่1 ด้วยหรือไม่ครับ
คำตอบ:คุณ โยม...ในเรื่องของการลงโทษคนตามกฎหมาย นี่เป็นเรื่องของกฎหมายบ้านเมือง และในเรื่องของกฎหมายนี้ ต้องทำความเข้าใจอีกนิดหนึ่งด้วย กฎหมายยังมีกฎหมายแม่ กฎหมายลูก
กฎหมายลูกก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายแม่ ถ้าลูกว่าผิด แต่แม่ว่าไม่ผิดก็ เป็นว่าไม่ผิด ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายแม่
คุณโยม...แต่ว่ากฎหมายลูกกฎหมายแม่ มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ตั้งกันขึ้นมา ส่วนว่าผิดศีลหรือไม่ผิดศีล นั่นมันกฎแห่งกรรม อย่ามาปนกันนะคุณโยม ถ้าปนกันเมื่อไหร่ พลาดเมื่อนั้น
กฎหมาย มนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้นมาตามวาระ ตามเทศะ บางประเภทด้วยกรณีตัดสินเรื่องเดียวกัน อาจจะเหมือนกัน ไม่เหมือนกัน แต่ว่าในเรื่องของ กฎแห่งกรรม แล้ว...ไม่ว่าเรื่องการตัดสินหรือการฆ่านั้นๆ จะเกิดตรงไหนในโลกก็ตาม คุณโยม...มันผิดทั้งนั้น เพราะว่ากฎแห่งกรรมนั้น เป็นกฎของจักรวาล มันไม่ใช่กฎของบ้านเมืองใดบ้านเมืองหนึ่ง
ดวงอาทิตย์ที่ ประเทศจีน ประเทศไทย ประเทศฝรั่ง เห็น มันดวงเดียวกัน ดวงอาทิตย์ที่คนต่างศาสนาเห็น มันดวงเดียวกัน เพราะฉะนั้นความรู้สึกนึกคิดหรือว่าความร้อนแรงมันก็ระดับ เดียวกัน ไม่เปลี่ยน
ขณะนี้ เมื่อเราพูดถึงกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ดูเหมือนว่าผู้พิพากษาท่านไม่ผิด ท่านไม่ผิดโดยกฎหมาย เพราะกฎหมายอนุญาตท่าน แต่ถึงอย่างไรก็เข้าข่ายฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตามกฎแห่งกรรม
กฎเกณฑ์ในเรื่องของฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในศีลข้อที่1 ว่าอย่างไร
1.สัตว์นั้นมีชีวิต
2.รู้ด้วยว่ามีชีวิต
3.มีจิตคิดจะฆ่า
4.ลงมือฆ่า
5.ได้ตายสมใจนึก
เมื่อไหร่ก็ตาม เมื่อได้มีการสั่งฆ่ากันขึ้นแล้ว และได้ฆ่าเสร็จสรรพแล้ว ใครมีส่วนไหนใน 5ขั้นตอนนี้ ก็รับเอาไป...ชัดเจนดีนะ
แต่ว่า มันก็มีข้อคิดกัน บางอย่างผ่อนหนักเป็นเบาได้...ผ่อนหนักเป็นเบาทำอย่างไร...อย่างกรณีที่กล่าวมาแล้วว่า
ประการที่1.เราก็ไม่ได้ยินดีด้วยกับการที่จะต้องฆ่านั้นๆ
ประการที่2.คน ที่ถูกสั่งฆ่า มันก็รู้ตัวนะว่ามันทำผิดจริง มันยอมรับด้วยว่า มันทำผิด มันยอมรับว่ามันเลว แล้วก็มันก็ไม่ได้ผูกพยาบาทกับผู้พิพากษา
อย่างนี้ผิดก็ผิด แต่พอเบาหน่อย

แต่ถ้า...มันเองมันว่ามันไม่ผิด ทั้งๆที่จริงมันผิด แล้วมันก็จองเวรด้วย ถ้าอย่างนี้คงจะได้ตามล้างตามผลาญกันอีกหลายชาติ อันนี้ชัดๆนะคุณโยมนะ
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้า ในกรณีที่ไปตัดสินผิดคนเข้า คนไม่ผิดแต่หลักฐานเท็จที่ไปมัดเขา เลยทำให้ต้องตัดสินให้กลายเป็นคนผิดไป ตรงนี้มันจะยิ่งหนักเข้าไปอีก
ก็ขอฝากเอาไว้เป็นข้อคิด ตำรวจก็ตาม ทหารก็ตาม ท่านผู้พิพากษาก็ตาม อย่าปนกันระหว่างกฎหมายกับกฎแห่งกรรม ถ้าเมื่อไหร่พูดถึงกฎแห่งกรรม ผิดคือผิด ขึ้นอยู่กับบุญกับบาป
ส่วนว่ากฎหมาย มันเป็นเรื่องของคนมาช่วยกันกำหนดกันขึ้นมา เพราะฉะนั้นก็ขอให้ระมัดระวังเรื่องนี้ให้ดี
และอาตมาก็อยากจะแถมไว้ด้วยว่า ไม่ว่าตำรวจ ไม่ว่าทหาร ไม่ว่าท่านผู้พิพากษา ท่านมารับภาระตรงนี้...นี่มันปลายเหตุ... ปลายเหตุอย่างไร...เขาทำกรรมกันมาเรียบร้อย เขาก่อเวรกันมาเรียบร้อย เขาทำ ผิดพลาดกันมาแล้ว ท่านผู้พิพากษา ท่านนั่งอยู่บนบัลลังก์ เขาฆ่ากันมาเรียบร้อย เขาทำเหตุกันมาแล้ว แล้วมาสั่งให้ท่านไปสั่งฆ่าอีกทีหนึ่ง ตรงนี้กฎหมายจะว่าอย่างไร อาตมาไม่เกี่ยว แต่อยากจะพูดว่า ขณะนี้เราทำกันที่ปลายเหตุ
ถ้าต้นเหตุนะ ทั้งทหาร ทั้งตำรวจ ทั้งท่านผู้พิพากษา มาช่วยกันคิดอย่างนี้ดีกว่าว่า ทำอย่างไรจะเอาธรรมะ จะเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในจิตใจคน ดูเผินๆว่า ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน

ความจริงเป็นหน้าที่ของคนไทยทั้งชาติ ไปช่วยกันคิด ช่วยกันวางมาตรการตัดไฟต้นลมตรงนั้น ถ้ามันถึงคราวจะต้องฆ่า ต้องฟันกัน ก็ให้...
1.น้อยหน่อย
2.บางทีอาจจะผ่อนหนักเป็นเบาได้...เป็นอย่างไร คือ แทนที่จะต้องฆ่าก็เอาแค่จำคุกตลอดชีวิตเถอะ

เพราะอะไร...เพราะว่า ใครๆก็ไม่มีสิทธิที่จะฆ่าใคร เพราะเราไม่ได้ให้ชีวิตเขาขึ้นมา เมื่อเราไม่ให้ชีวิตเขามา แล้วเราไปฆ่าเขา กรณีไหนมันก็บาปทั้งนั้น จองเวรกันไม่รู้จบ
ยิ่งกว่า นั้น ฆ่าเจ้าคนผิดลงไปแล้ว เจ้า Number1...ตายไปแล้ว เดี๋ยว Number2 Number3 Number4 ก็ตามมา...ทำไมมันตามมา...ก็ยังไม่ได้แก้ไขนิสัยสันดานของไอ้เจ้ารุ่นหลัง ให้ดี มันก็มีแต่การฆ่าไม่รู้จบอยู่นั่นแหละ คุณโยม...มาช่วยกันนะ
หลวงพ่ออยากจะฝากอีกนิดหนึ่ง คนที่บาปมากๆเลยนะ ในเมื่อเกิดมีความจำเป็นต้องตัดสินประหารชีวิตขึ้นมาแล้ว คือผู้ที่ออกกฎหมายเอง ไม่ ว่าผู้ที่ออกกฎหมายชุดนั้นๆ คนนั้นๆ ตายไปแล้วนานเท่าไหร่ก็ตาม เมื่อมีการสั่งประหารตามกฎหมายที่เขาออกเอาไว้ นี้ แม้ตัวเองตกนรกอยู่แล้ว บาปก็เพิ่มขึ้น ตกนรกหนักเข้าไปอีก
เพราะฉะนั้น ใครจะออกกฎหมายเกี่ยวกับการฆ่ากัน...คิดให้เยอะ ประหารชีวิต...คิดกันให้เยอะนะ เพราะใครๆ ก็ไม่มีสิทธิ์ฆ่าใคร เนื่องจากไม่มีใครเป็นผู้สร้างชีวิตให้ใคร
คำถาม:หลวงพ่อเจ้าคะ...การที่คนเรามีนิสัยเห็นแก่ตัว เกิดมาจากสาเหตุอะไรเจ้าคะ แล้วถ้าเจอเพื่อนร่วมงานประเภทนี้ ลูกควรจะวางตัวอย่างไรดีเจ้าคะ
คำตอบ:คุณโยม...พวกเห็นแก่ตัวนี่น่าเห็นใจ มันมีอยู่ 3 สาเหตุใหญ่ๆด้วยกัน
สาเหตุแรก เป็นสันดานติดตัวข้ามชาติมา... อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อมาแกล้งด่า แกล้งประจานกันนะ คำว่า สันดาน พจนานุกรมพูดชัด สันดาน คือ นิสัยที่ติดตัวข้ามภพข้ามชาติมา มันติดข้ามชาติมาแล้ว เกิดขึ้นมันก็เป็นเลย ถ้าเจอประเภทนี้หนักหน่อย
สาเหตุที่สอง เกิดมาจากสิ่งแวดล้อมไม่ดี คือ เกิดจากสาเหตุจากชาตินี้ ตั้งแต่การเลี้ยงดูสมัยเด็กๆ จากพ่อแม่ยากจน หรือพ่อแม่ไม่ยากจน แต่ว่าการ ดูแลไม่ดี ก็เลยทำให้ลูกๆ อาจต้องแย่ง อาจจะต้องชิง อาจต้องทุบต้องตีกัน สิ่งเหล่านี้นี่เอง ในที่สุดก็ค่อยๆ เพาะขึ้นมา แล้วก็กลายมาเป็นนิสัยเห็นแก่ตัว
สาเหตุที่สาม เลยไปกว่านั้นอีก ตรงนี้ไม่ใช่เพราะการเลี้ยงดูหรือสิ่งแวดล้อมคนรอบข้างไม่ดี แต่ตัวเขาเองไม่ดี...เป็นอย่างไร...บริหารงาน บริหารเงินไม่เป็น ผลสุดท้าย...นี่พูดถึงผู้ใหญ่แล้วนะ...ผลสุดท้ายเศรษฐกิจฝืดเคือง ก็เลยมาเป็นต้นเหตุให้ เป็นคนเห็นแก่ได้ เป็นคนเห็นแก่ตัวเข้ามาอีก
ตรงนี้มันต้องมองภาพกันชัดๆว่า ที่คุณโยมไปเจอคนเห็นแก่ตัวนั้น ตามดูหน่อยว่า มันเห็นแก่ตัว ประเภทไหน ไม่อย่างนั้นแก้ไม่ถูก
เพราะว่า เราเคยเจอกันมาแล้วทั้งโลก เคยมีบันทึกกันทุกประเทศ เช่นเศรษฐีนะ ไม่ใช่ยากจน...เป็นเศรษฐีแต่มันเห็นแก่ตัว เคยมีเรื่องปรากฏอีกเหมือนกัน ภรรยาเศรษฐี ลูกเศรษฐี รวยแสนจะรวย แต่เข้า Supermarket ไปขโมยของในร้านเขา...นี่ไม่ใช่นิสัยแล้ว...นี่สันดานข้ามชาติ
เมื่อเรามองพอได้ภาพรวมๆแล้วว่า ความเห็นแก่ตัวเกิดจาก
1.สันดานข้ามชาติมาเลย ตรงนี้แทบว่าจะหมดทางแก้กัน แต่เอาล่ะ...ลองฝืนใจดู ลองฝืนใจแก้ดู
2.
การเลี้ยงดูที่ไม่ดี สิ่งแวดล้อมตั้งแต่เล็กไม่ดี
พวกนี้ก็มีทางแก้
3.
บริหารงาน บริหารเงินไม่เป็น
นิสัยเห็นแก่ตัวประเภทนี้เพิ่งมาเกิดทีหลัง ตรงนี้หนทางแก้ พอมากสักหน่อย
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้เป็นหลักไว้ พวกเห็นแก่ตัวนี้ พระองค์ตรัสเอาไว้ว่า เป็นกิเลสประเภทอยู่ในตระกูลโลภะ แต่ว่าจะโลภะ หรือโลภ หนักไปหน่อย มันก็เลยออกมาเป็นสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา
ทีนี้ ในที่ทำงานที่คุณโยมต้องเจอ...คุณโยม เมื่อมันเป็นที่ทำงาน จะบอกว่า...ถ้าอย่างนั้นจับแกย้ายไป...มันก็ไม่ได้ เราจะย้ายเอง เอาตัวออกไป...ก็ไม่แน่จะมีตำแหน่งให้หรือไม่
เราก็ย้ายไม่ ได้ มันต้องอยู่กันเสียแล้ว เมื่อต้องอยู่กับคนพาล ปู่ย่าตาทวดให้ข้อคิดไว้อย่างนี้ก่อน ให้ข้อระวังก่อน ว่าอย่างไร...ท่องบทคาถานี้ไว้ให้ดี
1.ทนนะลูก ทนไปเถอะ นี่ข้อแรกเลย
2.
ทำตัวเหมือนอย่างกับคนผิงไฟ
คือ มันหนีไม่ได้แล้ว...เป็นอย่างไร...เหมือนคนผิงไฟ หน้าหนาวมันหนาว ไม่เข้าใกล้เตาผิงมันก็หนาว แต่เข้าใกล้นัก มันไม่ใช่ผิงนะ มันย่างนะ เดี๋ยวพองนะ เดี๋ยวสุกนะ ก็ต้องมองกันตรงนี้ให้ดี
คุณโยม...หนี กันไม่พ้น ก็เว้นวรรคให้ดี แล้วก็ทนกันไป และในขณะที่ทนกันไปนี่เอง ตีกรอบในเรื่องวินัยให้ดี ใช้วินัยเป็นเส้นแบ่งพรมแดนกัน มีขอบมีเขต วินัย จะเอาวินัยในเรื่องเวลา หรือวินัยในเรื่องการเงิน วินัยในเรื่องอะไรก็ตามที่เราจะต้องทำงานร่วมกันล่ะก็ ตีกรอบในเรื่องวินัยนั้นๆให้ดี
เมื่อเราตีกรอบวินัยเอาไว้ดี ก็นั่นแหละ ไม่ใกล้ไม่ไกลแค่เตาผิง ไม่ใช่เตาย่าง นะคุณโยมนะ
จากนั้น ก็ดูก็แล้วกัน ค้นให้ได้ สังเกตให้ได้ว่า ที่มาของนิสัยของเขานั้น อยู่ในกลุ่มไหนที่ว่ามาแล้ว แล้วก็แผ่เมตตา แล้วหาวิธีแก้กันเป็นเปราะๆไป
เปราะแรก ประเภทที่ใช้เงินไม่เป็น เดี๋ยวสอนวิธีบริหารงาน บริหารเงิน ก็ลงตัว
เปราะที่สอง ยากขึ้นมาหน่อย ประเภทที่การเลี้ยงดูไม่ดี
ต้องใช้เวลาปรับสิ่งแวดล้อม แผ่เมตตาให้เยอะ แล้วก็นึกว่า
เลี้ยงลูกก็แล้วกันนะ แก้ไขกันไป
เปราะที่สาม ถึงขนาดหนักๆ...ประเภทที่เป็นสันดานติดตัวข้ามชาติมา
ก็คงจะต้องปล่อยให้หลวงพ่อท่านจัดการ ถ้าหลวงพ่อท่านเทศน์แล้วก็ยังเอาไม่อยู่ คงให้ยมบาลเทศน์แทนก็แล้วกันนะ
มันคงได้อย่างนี้แหละคุณโยม แล้วต้องยอมรับกันว่า คนที่จะแก้สิ่งเหล่านี้ได้เด็ดขาด ต้องเป็นผู้ที่หมดกิเลส เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระเถระที่ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมจริงๆ อย่างเรามันยากหน่อย...คุณโยม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘