จุดประกาย..ลีนุกซ์แอปพลิเคชั่น

"ถ้าคุณคิดจะศึกษา เล่น ใช้งาน หรือตั้งใจจะเริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์บนลีนุกซ์แล้วล่ะก็ นี่คือบทความที่คุณไม่ควรพลาด" ใน ขณะที่กระแสความตื่นตัวในเรื่องคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดในบ้านเรากำลังได้รับ ความสนใจอยู่ในขณะนี้จนเกิดโครงการคอมพิวเตอร์ ราคาประหยัดขึ้นมากมายหลายโครงการ ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์นับว่าเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของเครื่องที่ผู้ผลิต จำหน่ายนำมาใช้ นอกจากจะลดต้นทุน และราคาจำหน่ายลงได้ ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำซอฟต์แวร์เสรีมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับวงการไอที่ในบ้านเรามี คำถามต่อมาว่า ในบรรดาคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดที่จำหน่ายออกไปเหล่านั้น จะมีซักกี่เครื่องที่จะติดตั้งเจ้าลีนุกซ์เป็นได้ตลอดอายุการใช้งาน? หลายๆ ท่านให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันทำนองว่า แค่รับเครื่องกลับไปไม่กี่วันก็ลงวินโดวส์ (เถื่อน) กันหมดแล้ว ให้นึกถึงสภาพของเจ้าเพนกวิ้นน้อยโดนหน้าต่างบานใหญ่ ๆ ทับจนแบนก็ได้ครับ โดย ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เขียนรู้สึกเห็นใจผู้ใช้ระดับโฮมยูส ทั่วไปมากที่สุด ที่จะต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษเพื่อใช้งานระบบปฏิบัติการที่เค้าเรียก กันว่า "ลีนุกซ์" จึงไม่แปลกใจเลยที่ทางออกจะเป็นการเลือกใช้ระบบปฏิบัติการอื่นมาแทนที่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้ระบบปฏิบัติการ
ลีนุกซ์ลงไปอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านั้น ก็เหมือนการยัดเยียดให้ผู้บริโภคต้องยอมรับในขณะที่ยังไม่มีความพร้อมใด ๆ ทั้งสิ้น
ความ พร้อมที่ผู้เขียนพูดถึงนี้ หากมองในมุมกว้าง ๆ จะแบ่งออกเป็น 3 ความพร้อม คือ หนึ่งความพร้อมของตัวระบบปฏิบัติการที่เรียกสั้น ๆ กันว่า โอเอส ( OS : Operating System ) สองความพร้อมของโปรแกรมใช้งาน หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า แอปพลิเคชั่น ( Application Software ) และความพร้อมสุดท้ายคือ ความพร้อมในเรื่องการสนับสนุนการใช้งาน ( Technical Support ) ด้วยความไม่พร้อมทั้งสามด้านนี้เป็นสาเหตุทำให้ลีนุกซ์กลายเป็นจำเลยในความ ผิดที่ไม่ได้ก่อขึ้นเอง และกลายเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการในที่สุด คล้ายคดีของนักการเมืองบางท่านที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เลย
เตรียมความพร้อมหรือยัง

จากความพร้อมที่สำคัญทั้ง 3 ส่วนที่กล่าวมา ส่วนที่หนึ่งคือ โอเอส เป็นปัจจัยสำคัญทางเทคนิคเป็นส่วนใหญ่ และเป็นเรื่องที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องรับรู้หรือเกี่ยวข้องด้วยน้อยมาก ( ภาษาเทคนิคเรียกว่า Transparent to User ) เพราะในมุมมองของผู้ใช้แล้ว ขอให้เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ของฉันขึ้นมาให้เป็นปรกติทุกวัน เวลาจะติดตั้งอุปกรณ์ หรือโปรแกรมอะไรใหม่ก็ให้ทำได้ง่าย ๆ หน่อย ไม่แฮงค์บ่อย มีระบบความช่วยเหลือบ้าง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วในระดับเริ่มต้น ส่วนลูกเล่นอื่น ๆ เช่น การปรับแต่งเดสทอป ใช้งานอินเตอร์เน็ต ฯลฯ. แท้จริงแล้วถือว่าอยู่ในส่วนที่สองทั้งหมด ดังนั้นส่วนที่หนึ่งนี้จึงตกอยู่ที่ผู้สร้าง
โอเอสต้องรับภาระเองซึ่งไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นงานที่ต้องทำปรกติอยู่แล้ว
ส่วนความพร้อมที่สาม หรือการสนับสนุนทางเทคนิคแก่ผู้ใช้ อันนี้เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน แต่ไม่เร่งด่วนนัก สามารถเสริมสร้างทีละเรื่องเป็นลำดับไปได้ เช่น การจัดทำตำรา เอกสาร คู่มือการใช้ การจัดฝึกอบรมแก่ผู้ใช้งาน การสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค ฯลฯ. ความพร้อมนี้จะเสร็จสมบูรณ์ได้จำเป็นต้องอาศัยนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ ความร่วมมือจากหลายฝ่าย และการจัดการที่มีคุณภาพ


พลังขับดันที่แท้จริงคือแอปพลิเคชั่น

อันที่จริงหากจะถามผู้ใช้ว่าจริง ๆ พวกเขาต้องการอะไรจากคอมพิวเตอร์ คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้น
แอปพลิเคชั่น หรือโปรแกรมประยุกต์ใช้งานอันจะช่วยสนองความต้องการของพวกเขาได้โดยตรง ซึ่งผู้เขียนตั้งประเด็นไว้เป็น ความพร้อมที่สองนั่นเอง ทั้งนี้เนื่องมาจากแอปพลิเคชั่นคือผลลัพธ์ที่ผู้ใช้สามารถสัมผัสได้ สามารถคาดหวัง และรับผลประโยชน์จากมันได้นั่นเอง
หากจะเปรียบเทียบการใช้งานซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ก็เหมือนการรับประทานอาหาร ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการก็เหมือนกับโต๊ะอาหาร จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ส่วนแอปพลิเคชั่นก็เหมือนอาหารคาวหวาน เครื่องดื่มนา ๆ ชนิด ที่ผู้รับประทานจะสรรหามาเองตามความต้องการ จะสังเกตเห็นได้ว่า สิ่งของที่ใช้บนโต๊ะอาหารมักจะมีรูปแบบที่ไม่แตกต่างอะไรกันมากนัก ในขณะที่อาหารและเครื่องดื่มกลับมีจำนวนมากมาย สารพัดแบบ ให้เลือกดื่มกินกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด
ความสำเร็จของการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในมุมมองของผู้ใช้ก็คือ การที่มีซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นที่ตรงกับความต้องการ มีชนิดประเภทหลากหลายให้เลือกใช้ เหมือนกับไปจ่ายตลาดเลือกซื้อเลือกหาอาหารมารับประทานได้ตามใจชอบ ในทางกลับกันความสำเร็จของผู้ที่ต้องการผลักดันให้มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ มากยิ่งขึ้น ( ได้แก่ กระทรวงไอซีที , NECTEC ) ก็จะต้องให้ความสำคัญในด้านซอฟต์แวร์
แอปพลิเคชั่นมากกว่าสิ่งที่เป็นพื้นฐานอย่างเช่นโอเอส


ใบเบิกทางสู่ความสำเร็จ

ย้อนมองกลับไปในอดีต คอมพิวเตอร์พีซีที่ชื่อว่า Apple II ซึ่งมีระบบปฏิบัติการ ( ความพร้อมที่หนึ่ง ) ที่ไม่สมควรที่จะเรียกว่าเป็นระบบปฏิบัติการเลยด้วยซ้ำไปหากเปรียบเทียบกับ โอเอสในปัจจุบัน เพราะใช้งานยากมาก เช่น ต้องการบูตโปรแกรมจากแผ่นซีดีรอมต้องใช้คำสั่งว่า PR# 6 แต่ด้วยนโยบายที่เปิดเผยรายละเอียดทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ระบบอย่างเต็มที่ ละเอียดถึงไอซีแต่ละตัวบนแผงวงจร แผนผังการจัดหน่วยความจำ รูทีนในหน่วยความจำรอมโดยละเอียด ในรูปของคู่มือและตำราหลายร้อยเล่ม ( เกิดเป็นความพร้อมที่สาม ) จึงทำให้เกิดความพร้อมที่สอง คือ แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ขึ้นนับหมื่นรายการจากซอฟต์แวร์เฮาส์ทั่วโลก เฉพาะเกมส์เพียงอย่างเดียวก็มีมากมายจนเล่นไม่ไหวซะแล้ว ทำให้ Apple II เป็นพีซีที่แพร่หลายมากที่สุดในโลกยุคนั้น นั่นคือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ระบบคอมพิวเตอร์ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องอาศัยพลังจากแอปพลิเคชั่น เป็นแรงพลักดัน ไม่เฉพาะ Apple II เท่านั้น IBM PC ในยุคถัดมาที่ใช้ดอสเป็นโอเอสก็เดินตามร่องรอยความสำเร็จนี้เช่นกัน


การเติบโตของลีนุกซ์แอปพลิเคชั่น

หากตัดอุปสรรคปัญหาบางประการของตัวระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ หรือความพร้อมที่หนึ่งออกไป มาพิจารณาเฉพาะซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นกันแล้ว ลีนุกซ์เป็นโอเอสที่มีซอฟต์แวร์ให้เลือกใช้อยู่มากมาย ถึงแม้จะยังไม่ครอบคลุมการใช้งานครบทุกด้านก็ตาม เนื่องจากลีนุกซ์เป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่มีการเผยแพร่รายละเอียดกันผ่าน สื่ออินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ดังนั้นจึงมีความรวดเร็วในการขยายตัวมากกว่า แต่คุณภาพของเอกสารที่เผยแพร่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้การผลิตซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ออกมาจะมีปริมาณมาก แต่คุณภาพไม่สูงนัก เช่น หากต้องการโปรแกรมสำหรับชมภาพยนตร์จากแผ่นวีซีดี จะพบว่ามีโปรแกรมเป็นจำนวนมากที่ผลิตออกมาให้ดาวน์โหลดใช้งานกันอย่างอิสระ แต่ในจำนวนโปรแกรมเหล่านั้นจะมีโปรแกรมที่มีคุณภาพดีเพียง 2-3 โปรแกรมเท่านั้น ต่างจากโปรแกรมในฝั่งวินโดวส์ที่จะพบโปรแกรมดี ๆ ได้ในสัดส่วนที่มากกว่า
ในขณะที่ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นบางโปรแกรมที่มีการพัฒนามานาน มีทีมผู้พัฒนาที่มีประสบการณ์มากก็จะมีคุณภาพดีเช่นกัน และได้รับความนิยมสูง จนแทบจะเป็นเพียงโปรแกรมเดียวที่จะใช้งานกัน เช่น โปรแกรมเว็บเซิร์ฟเวอร์ ( Web Server ) จะเป็นโปรแกรมอื่นไปไม่ได้นอกจากอาปาเช่ ( Apache ) เป็นต้น ซึ่งก็มีข้อดีเพราะเป็นการรวบรวมเอาโปรแกรมเมอร์อาสาสมัครที่ชำนาญเฉพาะทาง และมีเป้าหมายในการพัฒนาโปรแกรมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ศูนย์กลางของการเผยแพร่ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ของลีนุกซ์ จะอยู่ที่ http://www.freshmeat.net ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ค้นหาโปรแกรมแอปพลิคชั่นที่ต้องการได้ด้วยเครื่องมือค้นหา ที่ดีเยี่ยม และสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมไปใช้งานได้ฟรี โดยที่มีการอัพเดตโปรแกรมต่าง ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 20 โปรแกรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของแอปพลิเคชั่นของลีนุกซ์ยังคงเกิดขึ้นใหม่และ มีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา


บทบาทลีนุกซ์ในฐานะเซิร์ฟเวอร์

การประยุกต์ใช้งานในด้านการเป็นเซิร์ฟเวอร์ของระบบเครือข่าย ลีนุกซ์ได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว โดยสามารถทำได้เป็นอย่างดี และเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มผู้ดูแลระบบเครือข่ายอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะในระดับโครงสร้างพื้นฐานทางระบบเครือข่าย ( Network Infrastructure ) หรือ งานบริการเครือข่ายธรรมดาๆ ลีนุกซ์ได้เข้ามาทดแทนและช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก ด้วยการทำงานที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ ระบบงานประเภทนี้ ได้แก่
- โปรแกรมช่วยจัดการเดสทอป ( Desktop Manager ) หรือโปรแกรมที่เป็นหน้าจอติดต่อกับผู้ใช้ซึ่งจะปรากฏขึ้นเองทุกครั้งที่ เริ่มเปิดเครื่องขึ้นมาแล้ว ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์จะใช้โปรแกรมชื่อ Explorer แต่ในลีนุกซ์จะมีเดสทอปที่นิยมใช้กัน 2 โปรแกรม คือ GNOME และ KDE สำหรับลีนุกซ์ค่ายอื่น ๆ อาจจะมีเดสทอปอื่น ๆ อีกก็ได้
- File Manager หรือโปรแกรมจัดการเกี่ยวกับไฟล์และไดเร็คทอรี่ ในวินโดวส์จะใช้โปรแกรม Explorer ส่วนเดสทอปแบบ GNOME จะใช้โปรแกรม Nautilus และ KDE จะใช้โปรแกรม Konqueror ซึ่ง File Manager เหล่านี้สามารถแปรสภาพไปเป็น Viewer ชนิดต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกัน เช่น สามารถเปลี่ยนไปทำหน้าที่เป็นเว็บบราวเซอร์ได้หากผู้ใช้ต้องการให้แสดงเว็บ เพจหรือเว็บไซต์
- โปรแกรมช่วยโทรออกสู่อินเตอร์เน็ต ในวินโดวส์มีโปรแกรม Dial-up Networking ส่วนลีนุกซ์นิยมใช้โปรแกรม KPPP หรือ RH PPP
- โปรแกรมเว็บบราวเซอร์ ในวินโดวส์มีโปรแกรม Internet Explorer ส่วนลีนุกซ์มีโปรแกรม Mozilla ,Galeon ,Konqueror
- โปรแกรมรับส่งอีเมล์ ในวินโดวส์มีโปรแกรม Outlook และ Outlook Express ส่วนลีนุกซ์นิยมใช้โปรแกรม Mozilla Mail ,Kmail ,Evolution
- โปรแกรมชุดสำนักงาน ในวินโดวส์นิยมใช้โปรแกรม MS Office ส่วนในลีนุกซ์นิยมใช้ Koffice ,OpenOffice ,OfficeTLE ,ปลาดาว
- โปรแกรมดูหนังวีซีดี ดีวีดี ในวินโดวส์นิยมใช้โปรแกรม MS Media player ,PowerDVD ส่วนลีนุกซ์นิยมใช้โปรแกรม Xine ,Mplayer ,VideoLANClient
- โปรแกรมฟังเพลง ในวินโดวส์นิยมใช้โปรแกรม WinAmp ส่วนลีนุกซ์นิยมใช้โปรแกรม XMMS
- โปรแกรมตกแต่งภาพ ในวินโดวส์นิยมใช้โปรแกรม Adobe Photoshop ส่วนลีนุกซ์นิยมใช้ Gimp
- โปรแกรมดูภาพบิตแมพ ในวินโดวส์นิยมใช้โปรแกรม ACDSee ส่วนลีนุกซ์นิยมใช้โปรแกรม gThumb
- โปรแกรมเขียนแผ่นซีดีรอม ในวินโดวส์นิยมโปรแกรม Nero burning rom ส่วนลีนุกซ์นิยมใช้โปรแกรม XCDroast
- โปรแกรมบีบอัดไฟล์ ในวินโดวส์นิยมใช้โปรแกรม WinZip ส่วนลีนุกซ์นิยมโปรแกรม File-Roller
ตัวอย่างที่ยกมานี้คงจะมากพอที่จะช่วยให้ท่านผู้อ่านเห็นว่าแอปพลิเคชั่น สำหรับงานด้านเดสทอปของลีนุกซ์ก็มีให้เลือกใช้งานทดแทนวินโดวส์ได้เช่น เดียวกัน เพียงแต่ชื่อและหน้าตาของโปรแกรมจะแตกต่างออกไปบ้างเท่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวกันบ้าง แต่ก็คงไม่ยากจนเกินไปหากตั้งใจจะใช้งานกันจริงๆ


จะนำแอปพลิเคชั่นของวินโดวส์มาใช้ในลีนุกซ์ได้หรือเปล่า

ด้วยโครงสร้างของระบบที่แตกต่างกันมาก แอปพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อรันบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์จึงไม่สามารถ รันบนลีนุกซ์ได้โดยตรง แต่คำถามเช่นนี้ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และมีความพยายามที่จะทำให้เป็นจริงขึ้นอยู่เสมอ ดังจะได้เห็นจากโปรเจคที่ชื่อ WINE ( http://www.winehq.org ) ที่สร้างโปรแกรมขึ้นเพื่อให้สามารถรันโปรแกรมของวินโดวส์ได้จากสภาพแวดล้อม ของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ซึ่งสามารถใช้งานได้ดีกับแอปพลิเคชั่นที่ไม่ต้องการไลบรารี่ใด ๆ เป็นพิเศษ
และยังพัฒนาต่อยอดไปถึงโปรเจคชื่อ WINEX ( http://www.transgamers.com ) ซึ่งพัฒนาให้สามารถติดตั้ง และรันเกมส์ของวินโดวส์ที่ต้องการ DirectX ได้มากมายหลายเกมส์ แต่ก็ต้องแลกกับการใช้ทรัพยากรของฮาร์ดแวร์อย่างมาก ประกอบกับเทคโนโลยีของเกมส์และฮาร์ดแวร์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วทำให้ความ พยายามของ WINEX ดูจะอ่อนแรงไปตามกาลเวลา


แล้วมีโปรแกรมที่ใช้ได้ทั้งบนลีนุกซ์และวินโดวส์หรือเปล่า?

ในทางกลับกันผู้พัฒนาโปรแกรมรุ่นใหม่หลายกลุ่มที่มีแนวคิดที่แตกต่างออกไป จากนักพัฒนาโปรแกรมรุ่นก่อนๆ ในเมื่อลงแรงสร้างโปรแกรมใดขึ้นมาแล้วก็จะเขียนโปรแกรมนั้นให้ทำงานได้ใน หลายๆ
แพลตฟอร์ม โดยสร้างส่วนของโปรแกรมให้แยกออกเป็นชั้นๆ เรียกว่า เลเยอร์ ( Layer ) โปรแกรมชั้นใดที่เกี่ยวข้องกับฮาร์ดแวร์หรือระบบปฏิบัติการก็จะมีส่วนที่ ติดต่อได้กับหลายระบบ และแยกเอาส่วนที่ทำงานร่วมกันได้ไปเป็นโค๊ดส่วนกลางโปรแกรมเหล่านั้นก็จะ สามารถทำงานได้กับฮาร์ดแวร์และระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันได้ เรียกว่า ยิงนัดเดียวได้นกหลายตัวเลย นอกจากนี้โปรแกรมเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะพัฒนาโดยมีนโยบายที่จะเป็นซอฟต์แวร์ เสรีมากขึ้นอีกด้วย
ดังนั้นสำหรับผู้ใช้งานวินโดวส์ที่ต้องการลดละเลิกการกระทำที่เป็นการละเมิด ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ก็น่าจะลองนำซอฟต์แวร์ประเภทนี้มาใช้งานดูบ้างอาจจะเจอ โปรแกรมที่ถูกใจ และสร้างความภาคภูมิใจได้ไม่น้อยที่มีส่วนช่วยลดการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนลงได้ ถึงแม้จะทำได้เล็กน้อยก็ยังดี ตัวอย่างของโปรแกรมที่สามารถใช้งานได้ทั้งลีนุกซ์และวินโดวส์ ได้แก่ VideoLAN Client ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่เป็นโปรแกรมเล่นภาพยนตร์จากแผ่นวีซีดี/ดีวีดีที่มี ให้เลือกใช้ได้ทั้งบนลีนุกซ์และวินโดวส์ สามารถหาดาวน์โหลดมาใช้ได้ที่ http://www.videolan.org


ออกเดินทางก่อน.. ถึงจุดหมายก่อน

เมื่อพูดถึงการใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชั่นนานาชนิดของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ แล้ว ณ เวลานี้หลายๆ คนยังตั้งตัวอยู่ในสภาวะ Wait and See คือ เฝ้ารอคอยเวลาที่ซอฟต์แวร์เหล่านี้จะเป็นที่ยอมรับในสังคมส่วนใหญ่ หรือไม่ก็รอคอยให้เกิดปรากฏการณ์บางอย่างขึ้น เพื่อจะได้จับเอาเจ้าลีนุกซ์กับพลพรรคของมันติดตั้งลงไปในเครื่องเดสทอปของ ยูสเซอร์ซะที เหตุการณ์เช่นนั้นอาจจะเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่มีทางเป็นจริงเลยก็ได้ แต่สิ่งเกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือ ขณะนี้มีแต่คนที่ Wait and See อยู่เต็มไปหมด จึงไม่มีการเริ่มต้นใช้งานกันอย่างจริงจัง นานๆ ก็จะเกิดคลื่นกระทบฝั่งซักครั้งแล้วจางหายไปเช่นเดิม
บทความนี้ผู้เขียนได้นำเสนอแนวทางการนำระบบปฏิบัติการลีนุกซ์และบรรดาแอปพลิ เคชั่นทั้งหลายมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งที่ฝากไว้พิจารณาก็คือ
สำหรับท่านที่เป็นยูสเซอร์ ถ้าวันนี้คุณต้องเลือกระหว่างโปรแกรมเถื่อนที่คุณคุ้นเคยกับโปรแกรมเสรีที่ เพียงพอต่อการใช้งาน คุณคิดจะลองโปรแกรมเสรีบ้างมั๊ย ?
สำหรับท่านที่เป็นผู้บริหารระบบสารสนเทศ ท่านคิดว่าระบบงานส่วนใดบ้างที่ลีนุกซ์สามารถรองรับได้ และจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว ?
สำหรับท่านที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการด้านคอมพิวเตอร์และไอที ท่านพร้อมหรือยังที่จะสร้างเสริมโครงสร้างของระบบที่ท่านดูแลอยู่ด้วยแอปพลิ เคชั่นและเครื่องมือจากสังคมโอเพ่นซอร์ส
สำหรับท่านที่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ท่านมองเห็นหรือยัง? ว่าโมเดลการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สจะนำท่านไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร บ้าง?
บนเส้นทางไกลที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก และอุปสรรคนานับประการ จะนำมาซึ่งสิ่งท้าทายยิ่งกว่า และความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ ในโลกของลีนุกซ์แอปพลิเคชั่นเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่รอให้คุณพิสูจน์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘